การโคลนมนุษย์ : ปัญหากฎหมายและจริยธรรม นันทน อินทนนท์ (ผู้พิพากษาประจําสํานักงานศาลยุติธรรมศาลภาษีอากรกลาง) และ ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ (รองศาสตราจารย์ประจําสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) บทบัณฑิตย์ เล่มที่ ๕๗ ตอน ๑ มีนาคม ๒๕๔๔ หน้า ๖๖-๘๕ ปรับปรุงขึ้นจากเอกสารประกอบการสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง "พุทธศาสนากับโคลนนิ่ง" ณ โรงแรมชะอํามารีน่ารีสอร์ท วันที่ ๑๐-๑๑ มีนาคม ๒๕๔๔ จัดโดยศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย *** บทนํา การกําเนิดของลูกแกะ "ดอลลี่" เมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๖ นับเป็นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ที่สําคัญอีกก้าวหนึ่งของมนุษย์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าถือเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถทําสําเนาพันธุกรรม ของสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมได้สําเร็จ ปรากฏการณ์นี้ได้สร้างความหวังแก่กลุ่มคนจํานวนหนึ่งที่ไม่สามารถ มีบุตรได้ด้วยวิธีการตามธรรมชาติว่า การทําสําเนาพันธุกรรมในลักษณะเช่นนี้ อาจสามารถนํามาใช้กับมนุษย์ เพื่อช่วยให้ความต้องการมีบุตรเป็นไปได้ตามความประสงค์ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเห็นว่า เทคนิค ที่ใช้ในการทําสําเนาพันธุกรรมของดอลลี่สามารถนํามาประยุกต์ใช้ในการบําบัดรักษาโรค หรือความผิดปกติ ทางพันธุกรรมบางชนิดได้ แต่ในทางกลับกันสังคมส่วนหนึ่งกลับมีความเห็นว่า การนําเทคนิคในการทําสําเนา พันธุกรรมของดอลลี่มาใช้กับมนุษย์นั้น เป็นการฝ่าฝืนหลักศาสนาและจริยธรรมอย่างรุนแรง และการทํา สําเนาพันธุกรรมมนุษย์จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งต่อมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากกรรมวิธีเช่นว่านี้ ครอบครัวของบุคคลนั้น และต่อสังคมโดยรวม บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทําสําเนาพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะพยายามแยกแยะความแตกต่างระหว่างการทําสําเนาพันธุกรรมมนุษย์ ตลอดจน ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในทางจริยธรรม และกฎหมายที่เกิดขึ้น โดยจะนําเสนอทั้งแนวความคิดในการสนับสนุน และคัดค้านการทําสําเนาพันธุกรรมมนุษย์ และจะได้วิเคราะห์ถึงปัญหาในเชิงกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากการทําสําเนามนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในสิ่งมีชีวิต อันจะนํามาซึ่งบทสรุปในตอนท้ายต่อไป ๑. พัฒนาการของการทําสําเนาพันธุกรรม คําว่า "การโคลน" (cloning) หรือการทําสําเนาพันธุกรรมนั้น เป็นคําศัพท์ที่มาจากภาษากรีก ซึ่งหมายความถึง กิ่งก้าน หรือสาขา (twigorbranch) [๑] การทําสําเนาพันธุกรรมไม่ใ่ช่้เรื่องใหม่สําหรับ มนุษย์ เพราะในอดีตที่ผ่านมามนุษย์รู้จักการทําสําเนาพันธุกรรมอย่างง่าย ๆ เช่น การตอนกิ่ง หรือ การปักชําในพืชบางชนิด ต้นพืชที่ได้มาจากกรรมวิธีเหล่านี้จะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกับ ต้นเดิมทุกประการ แต่ความรู้เหล่านี้ก็ได้ถูกนําไปใช้เพื่อการขยายพันธุ์พืชเท่านั้น ต่อมาเมื่อวิทยาการ ทางวิทยาศาสตร์ในระดับโมเลกุลมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์มีความต้องการ ในการเพิ่มปริมาณเซลล์ของพืช เพื่อนําไปใช้ในการทดลอง ความพยายามในการโคลนเซลล์และยีน ของพืชจึงมีมากขึ้นด้วย และในที่สุดการโคลนเซลล์ของพืชก็มาประสบความสําเร็จในช่วงปลาย คริสตทศวรรษที่ ๕๐ โดยการทําสําเนาพันธุกรรมของพืชนี้ทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นได้ในห้องปฏิบัติการ [๒] อย่างไรก็ดี แม้ว่าการโคลนเซลล์ของสิ่งมีชีวิตจะประสบความสําเร็จด้วยดีในพืช แต่กรรมวิธี ดังกล่าวก็ไม่อาจนําไปใช้ได้ดีนักกับสัตว์หรือมนุษย์ เหตุผลหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นอุปสรรคต่อการโคลนเซลล์ ของมนุษย์คือ เซลล์ของมนุษย์นั้นมีความสามารถในการแบ่งตัวในช่วงระยะเวลาอันจํากัดเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเซลล์หนึ่งเซลล์ใดได้มีการแปรรูป (differentiation) ไปทําหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดแล้ว เซลล์นั้น ก็ไม่สามารถกลับมาทํางาน (reprogram) ในหน้าที่เดิมได้อีก [๓] แต่ในราว ค.ศ.๑๙๖๐ กลับปรากฏว่า John Gurdon นักสัตววิทยา จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด สามารถที่จะโคลนสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งคือ "กบ" ได้สําเร็จ โดยการนํานิวเคลียสจากเซลล์ลําไส้เล็ก (intestinalcell) ของกบตัวหนึ่งมาใส่แทนที่นิวเคลียส ของไข่อีกใบหนึ่ง จากการทดลองนี้พบว่า ไข่ใบดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตเป็นลูกกบได้ และมีลักษณะ ทางพันธุกรรมเหมือนกับต้นแบบทุกประการ [๔] อย่างไรก็ดี ความแตกต่างระหว่างการเจริญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครึ่งบกครึ่งน้ำ (amphibian) กับมนุษย์ก็มีความแตกต่างกัน เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสามารถเจริญเติบโตได้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แต่สําหรับมนุษย์การเจริญพันธุ์ต้องอาศัยครรภ์ของมารดาซึ่งมีความสลับซับซ้อนกว่ามาก ความพยายาม ในการโคลนสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนม (mammal) จึงได้เริ่มต้นอย่างจริงจังนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และในที่สุดเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๑๙๙๖ ดร.เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) แห่งสถาบันวิจัยรอสลิน ประเทศสก็อตแลนด์ ก็ได้ทําการโคลนสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกได้สําเร็จ [๕] "ดอลลี่" เป็นลูกแกะที่เกิดขึ้นมาจากเทคนิคในการโคลนสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "การถ่ายโอนนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย" (somaticcellnucleartransfer) เซลล์ร่างกายนี้เป็นเซลล์ ที่มีโครโมโซมสองชุด ซึ่งมีความแตกต่างจากเซลล์สืบพันธุ์ (germcell) ที่จะมีโครโมโซมเพียงชุดเดียว ด้วยเทคนิคดังกล่าวนี้ ดร.เอียน วิลมุต ได้นําเซลล์เต้านมของแกะตัวเมียหน้าขาวตัวหนึ่ง มาแยกเป็น เซลล์เดี่ยว หลังจากนั้นได้เลี้ยงเซลล์นี้โดยให้อาหารในปริมาณที่จํากัด กระบวนการนี้ทําให้เซลล์นั้น เข้าสู่สภาวะหนึ่งเรียกว่า "Go" หลังจากนั้น จึงได้นํานิวเคลียสของเซลล์ดังกล่าว ใส่เข้าไปในเซลล์ไข่ ของแม่แกะอีกตัวหนึ่งที่ได้ถูกนําเอานิวเคลียสออกไปแล้ว เมื่อมีการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าก็สามารถ ทําให้นิวเคลียสหลอมรวมกับไข่ดังกล่าว เกิดการแบ่งตัว และสามารถกลับมาทําหน้าที่เดิมได้อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาจึงได้มีการนําเซลล์ไข่นั้นเข้าไปฝากในครรภ์ของแม่แกะเพื่อการเจริญพันธุ์ต่อไป [๖] ดังนั้น ดอลลี่จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกที่ถูกโคลนขึ้นมาจากเซลล์ร่างกาย [๗] แม้ว่าในทางทฤษฎีแล้วดอลลี่ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกจําลองลักษณะทางพันธุกรรมของ สิ่งมีชีวิตต้นแบบ แต่ในความเป็นจริงแล้วดอลลี่มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตต้นแบบบางประการ กล่าวคือ ประการแรก ดอลลี่กําเนิดมาจากเซลล์ไข่ที่มี cytoplasm และ mitochondrial DNA แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตต้นแบบ ประการที่สอง ในขณะที่มีการรวมตัวระหว่างนิวเคลียสที่มาจาก เซลล์ร่างกายกับไข่นั้น อาจมีชิ้นดีเอ็นเอบางส่วนแตกหักทําให้ลักษณะทางพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไป และประการที่สาม สภาวะในครรภ์อาจมีผลต่อลักษณะทางพันธุกรรมของดอลลี่ได้ ความสําเร็จของดอลลี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นความสําเร็จที่เกิดจาก ความพยายามมากกว่า ๒๓ ปี ของ ดร.เอียน วิลมุต และไม่ใช่ความสําเร็จที่เกิดขึ้นโดยง่าย ดังจะเห็นได้จากจํานวนไข่ที่ถูกผสมนั้นมีถึง ๒๗๗ ฟอง แต่มีไข่เพียง ๒๙ ฟอง เท่านั้น ที่สามารถพัฒนาไปจนถึงระยะบลาสโตซิส (Blastocyststage) และมีเพียง "ดอลลี่" เท่านั้น ที่มีสภาพสมบูรณ์ ส่วนไข่ที่เหลือกลับพบว่าไม่สามารถเจริญต่อไปได้ [๘] หรือมีการเจริญเติบโต อย่างผิดปกติ หรือผิดรูปร่างไปหลังจากการกําเนิดของดอลลี่ไม่นานนัก นอกจากกรณีของแกะดอลลี่ นักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศก็ได้ประกาศความสําเร็จ ในการโคลนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น หนู [๙] ลูกวัว [๑๐] หรือแม่กระทั่งตัวอ่อนของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกจํานวนหนึ่งที่ประกาศว่า พร้อมที่จะทําการโคลนมนุษย์ให้แก่ ผู้ที่มีบุตรยาก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการพิจารณาความเหมาะสมในการโคลนมนุษย์ทั้งในระดับ ประเทศ และระดับนานาชาติในเวลาต่อมา ๒. ประเภทของการทําสําเนาพันธุกรรมมนุษย์ โดยทั่วไปแล้ว การโคลนมนุษย์อาจจําแนกได้ตามกระบวนการ (procedure) และ ตามวัตถุประสงค์ (purpose) ของการโคลนนั้น ซึ่งหากแบ่งประเภทของการโคลนมนุษย์ ตามกระบวนการการโคลนมนุษย์ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ การโคลนโดยใช้ตัวอ่อน (Embryo cloning) การโคลนประเภทนี้ เป็นการใช้เซลล์ของตัวอ่อนมนุษย์มาเป็นวัตถุดิบ ในการโคลน ส่วนการโคลนอีกประเภทหนึ่งคือ การโคลนโดยใช้ดีเอ็นเอของตัวเต็มวัย (Adult DNA cloning) ซึ่งหมายความถึงการนําเอาเซลล์ที่มีการแบ่งตัวจนกลายเป็นตัวเต็มวัย แล้วมาใช้ในการโคลน เทคนิคการถ่ายโอนนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายที่ถูกใช้กับแกะดอลลี่ ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการโคลนประเภทนี้ การโคลนมนุษย์อาจแบ่งตามวัตถุประสงค์สุดท้ายของการโคลนเช่นกัน ซึ่งหากจําแนก ตามวัตถุประสงค์การโคลนมนุษย์อาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ "เพื่อการบําบัดรักษา" (the rapeutic cloning) กับ "การโคลนเพื่อการสืบพันธุ์์" (reproductive cloning) การโคลนทั้งสองประเภทนี้จะใช้กรรมวิธีในการโคลนที่เหมือนกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็คือ การนํานิวเคลียสของเซลล์ร่างกายมาถ่ายโอนเข้าไปแทนที่นิวเคลียสของไข่ ไข่ที่ถูกผสม (fertilizedeggs) นี้ จะถูกเลี้ยงไปจนถึงระยะบลาสโตซิส ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ ๕ วัน หลังจาก การปฏิสนธิ แต่การโคลนเพื่อการบําบัดรักษานั้นจะไม่มีการนําเอาไข่ดังกล่าวกลับเข้าไปในครรภ์ ของมารดา หรือสิ่งมีชีวิตใดก็ตาม [๑๑] ส่วนการโคลนเพื่อการสืบพันธุ์นั้น จะมีการนําไข่นั้นกลับเข้าไป ฝังตัวที่ผนังมดลูก เพื่อให้เจริญเติบโตต่อไป การโคลนทั้งสองประเภทดังกล่าวจึงมีจุดมุ่งหมาย และ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันซึ่งจะได้อธิบายโดยละเอียดต่อไป ๒.๑ การโคลนเพื่อการบําบัดรักษา ในปัจจุบันวงการแพทย์พยายามค้นคิดหาวิธีการการบําบัดรักษาโรคด้วยวิธีการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และเป็นที่เชื่อกันว่าโรคบางชนิดที่เกิดจากการทํางานผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งของ เซลล์นั้น สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้โดยการนําเซลล์ที่สามารถทํางานได้อย่างเป็นปกติเข้าไป ทดแทน เช่น การนําเซลล์สมองใส่เข้าไปเพื่อบําบัดรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคพาร์คินสัน หรือการนําเซลล์ที่ทําหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อใส่เข้าไปในร่างกายเพื่อให้สร้างเนื้อเยื่อทดแทน ในกรณีที่ ผู้ป่วยมีบาดแผลพุพองจากไฟไหม้ เป็นต้น [๑๒] การบําบัดรักษาด้วยวิธีการนี้จึงจําเป็นต้องใช้เซลล์เริ่มต้น (stemcells) ซึ่งสามารถทําหน้าที่ต่าง ๆ กันได้นั้นมาใช้ในการบําบัด แต่อุปสรรคที่สําคัญก็คือ เมื่อร่างกายของมนุษย์ได้รับเซลล์แปลกปลอมเข้ามาในร่างกายบุคคลนั้นก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน ทําให้การบําบัดรักษาไม่สามารถประสบความสําเร็จได้ง่ายนัก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว จึงมีความจําเป็นที่จะต้องทําให้เซลล์เริ่มต้นสามารถเข้ากันได้ (compatible) กับร่างกายของผู้รับการบําบัด เทคโนโลยีการโคลนจึงถูกนํามาใช้ โดยการนํานิวเคลียส ของไข่ที่ได้รับการบริจาคออก แล้วนํานิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายของผู้รับการบําบัดใส่เข้าไปแทนที่ หลังจากนั้น จะต้องเลี้ยงให้ไข่ที่ได้รับการผสมนั้นให้เจริญเติบโตต่อไป ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตได้ในระยะหนึ่ง จะต้องมีการนําเซลล์เริ่มต้นออกจากตัวอ่อน เพื่อนําไปใช้ในการบําบัดรักษาหรือปลูกถ่ายต่อไป การบําบัดโดยใช้เซลล์เริ่มต้นมีผลกระทบต่อจริยธรรม อย่างน้อยที่สุดสองประการ คือ ประการแรก การบําบัดด้วยวิธีนี้จะต้องมีการทดลองในตัวอ่อนของมนุษย์ และเมื่อมีการนําเซลล์เริ่มต้น ออกมาจากตัวอ่อนนั้น ก็จะทําให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ซึ่งเปรียบเสมือนการทําลาย ตัวอ่อนนั้นเอง และประการที่สอง การอนุญาตให้มีการบําบัดโดยเซลล์ร่างกาย จะทําให้มีการลักลอบ นําตัวอ่อนที่ได้มาจากการโคลนใส่กลับเข้าไปยังมดลูก เพื่อการฝังตัวและเกิดเป็นมนุษย์ต่อไป มนุษย์ ที่เกิดขึ้นนี้จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับต้นแบบทุกประการ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ๒.๒ การโคลนเพื่อการสืบพันธุ์ ในช่วง ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่าน มาเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ (reproductive technology) ได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อปี ค.ศ.๑๙๗๘ ลูอิส บราว์น เป็นเด็กหญิงคนแรกที่เกิดขึ้นมา การปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro fertilization หรือ IVF) จวบจนปัจจุบันมีการประมาณการกันว่า มีเด็กที่เกิดขึ้นจากการผสมเทียมด้วยวีธีการต่าง ๆ เป็นจํานวนกว่า ๔๐,๐๐๐ คน คู่สมรสที่มีบุตรยาก มักจะได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป เช่น หากฝ่ายหญิงมีความผิดปกติในท่อนำไข่ (fallopiantube) แพทย์จะใช้วิธีการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ส่วนผู้หญิงที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ ด้วยตนเองได้เนื่องจากความผิดปกติของมดลูก ก็อาจเลือกใช้วิธีให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทน (surrogacy) แต่หากความผิดปกติเกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายชายอยู่ในภาวะอสุจิน้อยกว่าปกติ แพทย์อาจใช้วิธีการ ฉีดสเปอร์มเดี่ยวเข้าไปในไข่ (intracytroplasmic Sperm injection) อย่างไรก็ดีแม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะมีความก้าวหน้ามากก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้ การตั้งครรภ์ประสบความสําเร็จในกรณีที่ฝ่ายหญิงอยู่ในภาวะปราศจากไข่ หรือฝ่ายชายอยู่ในภาวะ เป็นหมันอย่างสมบูรณ์ ในกรณีเช่นนี้จะต้องมีการขอรับบริจาคไข่ หรือเชื้ออสุจิแล้วแต่กรณี ซึ่งหากต่อมามีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ก็จะทําให้ทารกที่เกิดมานั้นไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม กับฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ที่มีความผิดปกติดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง จึงเป็นที่มาของความพยายามในการโคลนมนุษย์อย่างจริงจัง แต่ด้วยความต้องการของมนุษย์ที่เป็นไปอย่างไม่มีขอบเขตจํากัด ความต้องการในการโคลนมนุษย์ จึงได้ขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ การโคลนมนุษย์เนื่องจากคู่สมรสอยู่ในภาวะมีบุตรยาก การโคลนเช่นนี้จะเป็นไปเพื่อช่วยเหลือ คู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น หากสามีไม่สามารถมีบุตรได้เนื่องจาก อยู่ในภาวะเป็นหมันถาวร ก็จะมีการนําเอาเซลล์ร่างกายของชายคนดังกล่าวมาสกัดเอานิวเคลียสออก แล้วนําไปใส่แทนนิวเคลียสของฝ่ายหญิง เมื่อเกิดการปฏิสนธิก็จะนําไข่ฟองดังกล่าวกลับเข้าไปฝังตัว ในมดลูกของหญิงคนนั้นต่อไป หรือหากหญิงคนนั้นไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยตนเองได้ ก็อาจนําไข่ฟอง ดังกล่าวไปฝากไว้ในครรภ์ของหญิงอีกคนหนึ่ง ด้วยวิธีการนี้จะทําให้เด็กที่เกิดมามีลักษณะทางพันธุกรรม เหมือนกับพ่อของเด็กนั้นทุกประการ และจะได้รับ mitochondrial DNA มาจากฝ่ายแม่ ซึ่งจะทําให้ ขจัดปัญหาว่าเด็กที่เกิดมาจะไม่มีความสัมพันธ์กับพ่อหรือแม่ของเด็กคนนั้นได้ อันจะแตกต่างไปจาก การรับบุตรบุญธรรม หรือการขอรับบริจาคเชื้ออสุจิจากบุคคลอื่น การโคลนเนื่องจากความต้องการในการทดแทนบุคคลอันเป็นที่รัก การโคลนในกรณีนี้ อาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น คู่สมรสคู่หนึ่งได้สูญเสียบุตรไปเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม คู่สมรสคู่นั้น จึงต้องการที่จะได้บุตรคนใหม่ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับบุตรคนเดิมทุกประการ ดังนั้น หากมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของบุตรที่เสียชีวิตไป ก็จะมีการนําเอามาใช้ในการโคลนต่อไป การโคลน ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นในกรณีอื่นอีกก็ได้ เช่น การโคลนสามีหรือภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ว่าจะมี วัตถุประสงค์ที่จะสมรสกับมนุษย์ที่ถูกโคลนขึ้นมาใหม่หรือไม่ก็ตาม หรืออาจเป็นการโคลนบิดาหรือ มารดาหรือญาติสนิทที่เสียชีวิตไปแล้วก็ได้ การโคลนเนื่องจากความต้องการมีบุตรของกลุ่มรักร่วมเพศ การโคลนในลักษณะนี้มีสาเหตุ จากการที่กลุ่มรักร่วมเพศไม่สามารถมีบุตรได้ตามปกติ ตัวอย่างเช่น พวกเลสเบี้ยนจะใช้นิวเคลียส จากเซลล์ร่างกายของเลสเบี้ยนคนหนึ่ง มาผสมกับไข่ของเลสเบี้ยนอีกคนหนึ่ง เป็นต้น แต่สําหรับ กลุ่มเกย์นั้น การโคลนอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เพราะยังจะต้องขอรับบริจาคไข่จากบุคคลภายนอก เพื่อให้การโคลนสําเร็จไปได้ การโคลนเพื่อนําอวัยวะหรือเซลล์มาใช้ในการปลูกถ่าย การโคลนเช่นนี้จะเป็นไปเพื่อนําอวัยวะ ของมนุษย์ที่ถูกโคลนมาใช้ในอนาคต ไม่ว่าจะมีความต้องการอวัยวะในขณะที่มีการโคลนหรือไม่ก็ตาม เช่น คู่สมรสคู่หนึ่งมีบุตรที่ป่วยต้องได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow) มิฉะนั้นเด็กคนนี้จะถึงแก่- ความตาย ในไม่ช้าคู่สมรสคู่นี้จึงตัดสินใจที่จะนําเซลล์ร่างกายของบุตรคนดังกล่าวมาใช้ในการโคลน เมื่อเด็กที่เกิดมาจากการโคลนเติบโตขึ้นก็จะนําไขกระดูกมาใช้ในการปลูกถ่ายได้ หรือมิฉะนั้นการโคลน อาจเกิดขึ้นแม่ขณะนั้นจะยังไม่มีความต้องการอวัยวะก็ตาม เช่น เศรษฐีคนหนึ่งอาจต้องการโคลนร่างกาย ของตนเองไว้ เพื่อในอนาคตข้างหน้าหากตนเจ็บป่วยต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ก็จะสามารถนําอวัยวะ จากมนุษย์ที่ถูกโคลนมาใช้ในการปลูกถ่ายได้ในทันที การโคลนเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติทางพันธุกรรม ในกรณีนี้มักจะเกิดกับกลุ่มบุคคลหนึ่ง ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม และต้องการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้บุตรของตนมีความผิดปกติทางพันธุกรรม อีกต่อไป เช่น คู่สมรสคู่หนึ่งเป็นพาหะของความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดเดียวกัน โอกาสที่คู่สมรสนี้ จะมีบุตรที่เกิดความผิดปกติจะมีโอกาสเท่ากับหนึ่งในสี่ ปรากฏว่าคู่สมรสคู่นี้มีบุตร ๒ คน คนหนึ่ง มีความผิดปกติ แต่อีกคนหนึ่งไม่มีความผิดปกติ หากคู่สมรสคู่นี้ต้องการมีบุตรอีกคนหนึ่ง แต่ไม่ต้องการ ที่จะมีความเสี่ยงที่บุตรคนที่สามจะมีความผิดปกติ ก็อาจจะเลือกวิธีการโคลนบุตรที่ไม่มีความผิดปกติก็ได้ ในบางกรณีครอบครัวหนึ่งมีความผิดปกติทางพันธุกรรมโดยไม่ทราบสาเหตุทั้งครอบครัว ยกเว้นสมาชิก ในครอบครัวคนหนึ่ง ครอบครัวนี้ก็อาจจะเลือกโคลนบุคคลนั้น เพื่อมิให้มีความผิดปกติทางพันธุกรรมกับ ตระกูลนั้นอีกต่อไปก็ได้ การโคลนเพื่อการสืบพันธุ์ที่มีวัตถุประสงค์อื่นแฝง การโคลนประเภทนี้แม่จะเป็นไปเพื่อต้องการ ให้ได้มนุษย์ขึ้นมาก็ตาม แต่ก็จะมีวัตถุประสงค์อื่นแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงอํานาจบารมีของ ผู้โคลน เพื่อใช้เป็นกําลังทหาร หรือเพื่อการศึกษาวิจัย ยกตัวอย่างเช่น ซัดดัม ฮุดเซน อาจต้องการที่โคลน ตัวของเขาเองขึ้นมา เพื่อปกครองประเทศอิรักต่อไป หรืออาจโคลน อาร์โนลด์ ชวาสเนกเกอร์ เพื่อเป็น ทหารในการต่อสู้กับอเมริกา เศรษฐีอาหรับคนหนึ่งอาจต้องการโคลน ซินดี้ ครอฟอร์ด เพื่อต้องการนํามา เป็นภรรยาในอนาคต เป็นต้น รูปแบบของการโคลนที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอาจเป็นเพียงสิ่งที่เพ้อฝันกันอยู่ในปัจจุบัน แต่อาจจะ ประสบความสําเร็จขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ก็ได้ สังคมส่วนหนึ่งได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจาก เทคโนโลยี และการนําเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์จึงได้พยายามคัดค้านโดยเห็นว่าการโคลนจะก่อให้เกิด ผลกระทบทั้งทางร่างกาย และจิตใจแก่มนุษย์ที่เกิดจากการโคลน สภาพของครอบครัวอาจเปลี่ยนวิถีชีวิต ไปจากเดิม เพราะสถาบันครอบครัวจะถูกทําลายลงจากความสับสนของสถานะของมนุษย์ที่ถูกโคลน ดังกล่าว และหากไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด มนุษย์จะถูกใช้อย่างเป็นแค่เพียงวัตถุเท่านั้น ซึ่งจะส่ง ผลกระทบต่อสังคมในอนาคต ในส่วนต่อไปจะกล่าวถึงผลกระทบทางจริยธรรมที่เกิดขึ้น โดยจะเน้นไปที่การโคลนมนุษย์ เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น เนื่องจากเป็นปัญหาที่ยังมีข้อโต้เถียง และอยู่ในความสนใจของผู้คนจํานวนมาก ๓.ผลกระทบทางจริยธรรม การโคลนมนุษย์ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมตามมา เริ่มตั้งแต่ปัญหาว่ามนุษย์สามารถ ที่จะถูกโคลนได้หรือไม่ การโคลนมนุษย์เป็นการกระทําที่สมควรหรือไม่ เหตุใดจะต้องมีการโคลนมนุษย์ การโคลนจะเป็นไปโดยมีข้อจํากัดหรือไม่อย่างไร สิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ ที่ถูกโคลนจะเป็นเช่นใด สังคมโดยรวมจะได้รับผลกระทบจาก การโคลนมนุษย์หรือไม่อย่างไร ในปัญหาเหล่านี้หลายฝ่ายได้แสดงความเห็น และวิพากษ์วิจารณ์การโคลนมนุษย์อย่างกว้างขวาง ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการโคลนมนุษย์เป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม เพราะมีการใช้มนุษย์เป็นเครื่องทดลอง มนุษย์ที่ถูก โคลนจะขาดอัตตลักษณ์ทางพันธุกรรม (genetic identity) เพราะมนุษย์ที่ถูกโคลนขึ้นจะมีลักษณะทาง พันธุกรรมเหมือนกับต้นแบบทุกประการ และมนุษย์เช่นนี้จะถูกปฏิบัติเหมือนกับเป็นแค่เพียงวัตถุเท่านั้น ฝ่ายนี้จึงมีความเห็นว่าไม่ควรจะอนุญาตให้มีการโคลนมนุษย์ในทุกกรณี อย่างไรก็ดีมีผู้เห็นว่าการโคลนมนุษย์เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง สิทธิ เช่นว่านี้ก็คือสิทธิ ในเสรีภาพของการเจริญพันธุ์ (Right to reproductive freedom) สังคมควรจะให้ความเคารพต่อสิทธิ เช่นว่านี้ และไม่ควรที่จะเข้าไปแทรกแซง ฝ่ายที่สามมีความเห็นว่า การโคลนมนุษย์ไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในทุกกรณี แต่กฎหมาย ควรที่จะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการโคลนมนุษย์อย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้มีการโคลนมนุษย์ ได้ในบางกรณี กรณีที่ฝ่ายนี้มีความเห็นว่าควรอนุญาตให้มีการโคลน ได้แก่ กรณีที่คู่สมรสที่ไม่สามารถ มีบุตรได้ โดยการโคลนนั้นต้องไม่มีวัตถุประสงค์ที่ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีด้วย ในส่วนนี้จะแยกพิจารณา ข้อโต้แย้งดังกล่าวออกเป็น ๓ ระดับ คือ ผลกระทบในระดับบุคคล ในระดับครอบครัว และในระดับสังคม ๓.๑ ผลกระทบในระดับบุคคล ฝ่ายที่มีความเห็นคัดค้านการโคลนมนุษย์มีความเห็นว่า การโคลนมนุษย์จําเป็นที่จะต้องมี การทดลองในตัวอ่อนเป็นจํานวนมาก และจะส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ถูกโคลน เนื่องจากการโคลนนั้น จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย (physicalharm) และอันตรายแก่จิตใจ (psychological harm) ต่อบุคคล ที่ถูกโคลนนั้น ในกรณีเกี่ยวกับอันตรายต่อร่างกายของบุคคลนั้น ฝ่ายนี้ได้ยกตัวอย่างของการโคลน แกะดอลลี่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก กล่าวคือ ในจํานวนไข่ ๒๗๗ ฟอง ที่ถูกโคลนนั้น มีไข่เพียง ๒๙ ฟอง ที่เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน และมีเพียงดอลลี่เท่านั้นที่เจริญเติบโตต่อมาได้ ส่วนที่เหลือปรากฏว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้น ดังนั้นหากนํากรรมวิธีการโคลนนี้มาใช้กับมนุษย์ ก็จะทําให้มีการทําลายตัวอ่อน เป็นจํานวนมาก และไม่อาจคาดเดาได้ว่ามนุษย์ที่เกิดจากกรรมวิธีการโคลนนี้ จะมีความผิดปกติทาง พันธุกรรมเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด เพราะเซลล์ร่างกายที่ถูกนํามาใช้ในการโคลนนั้น อาจมีดีเอ็นเอ ที่แตกหักหรือเสื่อมไปตามสภาพได้ หากพิจารณากรณีของดอลลี่จะเห็นว่า มีการนําเซลล์ร่างกายของ แกะอายุ ๖ ปี มาใช้ในการโคลน ขณะที่อายุของแกะทั่วไปจะมีประมาณ ๑๑ ปี ซึ่งต่อมาปรากฏส่วนปลาย ของโครโมโซม (telomere) ของดอลลี่หดตัวลงสั้นกว่าปกติ [๑๓] สิ่งนี้อาจแสดงว่าอายุขัยเฉลี่ย (lifespan) ของดอลลี่อาจสั้นกว่าแกะปกติก็ได้ ดังนั้น หากนํากรรมวิธีนี้มาใช้กับมนุษย์ก็จะทําให้ อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ที่ถูกโคลนสั้นลงด้วยเช่นกัน ในทางกลับกันฝ่ายที่สนับสนุนการโคลนเห็นว่า การที่เทคโนโลยีนี้ยังไม่มีความสมบูรณ์ เพียงพอไม่ใช่เหตุผลที่สมควรนํามาห้ามการโคลนมนุษย์ โดยอ้างว่าจากประสบการณ์ของแกะดอลลี่ ซึ่งให้กําเนิดลูกแกะชื่อ "บอนนี่" [๑๔] ในปี ค.ศ.๑๙๙๘ ได้แสดงให้เห็นว่าแกะดอลลี่มีพัฒนาการ ที่เป็นปกติ นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์นั้นจําเป็นจะต้องมีความเสี่ยงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการบําบัดรักษาโรค หรือแม้่กระทั่งเทคโนโลยีการปฏิสนธินอกร่างกายที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบันก็มีความเสี่ยง และ มีการทดลองในตัวอ่อนเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีความจําเป็นที่จะต้องทําการศึกษาค้นคว่าต่อไป เพื่อให้กรรมวิธีการโคลนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่คัดค้านได้โต้แย้งว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการบําบัดรักษาโรคนั้นแตกต่าง ไปจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการโคลนมนุษย์ เพราะความเสี่ยงในการบําบัดรักษาโรคเป็นการกระทํา ที่เป็นไปเพื่อช่วยชีวิตของผู้ป่วย ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ แลกเปลี่ยนกับอันตราย ที่อาจเกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงจากการโคลนนั้นเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ที่ถูกโคลน โดยไม่ปรากฏว่า มีประโยชน์กับบุคคลนั้นแม่แต่น้อย จะเห็นได้ว่าฐานความคิดของทั้งสองฝ่ายมีความขัดแย้งกันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ก็เนื่องจาก ทั้งสองฝ่ายมีความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นของชีวิตที่แตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า ชีวิตของมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อมีการปฏิสนธิ ดังนั้น เมื่อมีการทดลองและทําลายตัวอ่อนจึงเป็น การกระทําความผิดทั้งต่อกฎหมายและศีลธรรม แต่อีกฝ่ายเห็นว่าชีวิตของมนุษย์เริ่มต้นเมื่อคลอด ออกมาเป็นทารกเท่านั้น การทําลายตัวอ่อนจึงไม่มีความผิด แต่อย่างไรแนวความคิดทั้งสองนี้ เป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งกันมาเป็นเวลานานแล้ว และไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหาข้อสรุปเป็นที่ยุติ สําหรับข้อโต้แย้งที่ว่าการโคลนจะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจต่อบุคคลที่ถูกโคลนนั้น ฝ่ายที่คัดค้านการโคลนเห็นว่า การโคลนจะทําให้บุคคลที่ถูกโคลนมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับ ต้นแบบทุกประการ ซึ่งจะทําให้บุคคลนั้นขาดอัตตลักษณ์ และจะถูกคาดหวังจากผู้ที่โคลนบุคคลนั้นขึ้นว่า บุคคลที่ถูกโคลนนี้จะมีรูปร่าง หน้าตา สติปัญญา ความสามารถ และอุปนิสัยเหมือนกับต้นแบบทุกประการ ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วมนุษย์ที่ถูกโคลนขึ้นจะมีความแตกต่างทางกายภาพกับต้นแบบบ้างไม่มากก็น้อย สภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่จะทําให้บุคคลที่ถูกโคลนมีความแตกต่างกับต้นแบบทางความคิด อุปนิสัย และสภาพจิตใจ จึงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์ที่ถูกโคลนจะเป็นไปดังที่ถูกคาดหวัง นอกจากนี้หากการโคลน เกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์อื่น ก็จะเป็นการกระทบต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ถูกโคลน เช่น หากเป็นการโคลนเพื่อต้องการที่จะได้อวัยวะของบุคคลที่ถูกโคลน เพื่อใช้ในการปลูกถ่าย หรือเพื่อเป็น ตัวแทนของบุคคลอีกคนหนึ่ง มนุษย์ที่ถูกโคลนนี้ก็จะถูกปฏิบัติในลักษณะเช่นเดียวกับเป็นวัตถุ (object) เท่านั้น ข้อคิดเห็นดังกล่าวได้ถูกคัดค้านจากฝ่ายที่สนับสนุนการโคลนมนุษย์ โดยฝ่ายนี้เห็นว่าสิทธิ ในอัตตลักษณ์ทางพันธุกรรม (Right to genetic identity) เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง [๑๕] ธรรมชาติได้สร้าง มนุษย์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันเป็นจํานวนมาก อัตราส่วนที่มนุษย์ที่เกิดมาจะเป็นแฝดแท้ (identical twins) มีอยู่ถึง ๑ ใน ๖๗ [๑๖] แฝดแท้เหล่านี้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกันมากกว่า มนุษย์ที่ถูกโคลนกับต้นแบบเสียอีก การโคลนมนุษย์แตกต่างจากความเป็นแฝดแท้ เพียงแต่ว่าแฝดแท้ จะมีอายุที่เท่ากัน ส่วนมนุษย์ที่ถูกโคลนจะมีอายุต่างกันกับต้นแบบเท่านั้น มนุษย์ที่ถูกโคลนนี้จะมีสิทธิ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป [๑๗] การนํามนุษย์ที่ถูกโคลนไปใช้ในการ ทดลองหรือนําไปเป็นทาสก็มิใช้ว่าจะไม่เป็นความผิด ผู้เขียนเห็นว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้มีข้อบกพร่องบางประการ การกําเนิดของแฝดแท้ไม่สามารถ นํามาเปรียบเทียบกับการโคลนมนุษย์ได้ เนื่องจากการกําเนิดของแฝดแท้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ แฝดแต่ละคนไม่ได้เป็นแหล่งที่มา (source) ของอีกฝ่ายหนึ่ง และแฝดแต่ละคนก็จะผ่าน กระบวนการเรียนรู้ของตนเองโดยปราศจากต้นแบบ จึงมีอิสระที่จะดําเนินชีวิตของตนเองได้อย่างเสรี แต่การโคลนมนุษย์นั้น จะมีมนุษย์ต้นแบบที่จะถูกถอดสําเนาพันธุกรรมออกมา มนุษย์ที่ถูกโคลนจึงต้อง ถูกคาดหมายว่าจะเป็นอย่างเดียวกับต้นแบบ ไม่ว่าในด้านสติปัญญา หรือความสามารถพิเศษ นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าสังคมจะให้ความคุ้มครองมนุษย์ที่ถูกโคลนเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไปก็ตาม แต่ก็ไม่อาจคุ้มครอง สภาพจิตใจของผู้ที่ถูกโคลนได้ เช่น หากการโคลนเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการปลูกถ่ายอวัยวะ แม้กฎหมายจะให้ความคุ้มครองว่า การบริจาคอวัยวะต้องเป็นไปด้วยความยินยอม ผู้ที่ถูกโคลนขึ้นมาด้วย วัตถุประสงค์ดังกล่าวก็ต้องตกอยู่ในสภาพจํายอมให้ต้องบริจาคอวัยวะ ความยินยอมในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่อาจเป็นความยินยอมที่แท้จริงได้แม่แต่น้อย ๓.๒ ผลกระทบในระดับครอบครัว นอกจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวบุคคลที่ถูกโคลนแล้ว ยังมีประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น จากการโคลนมนุษย์เกี่ยวกับสภาพของครอบครัวของบุคคลนั้นด้วย เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่กําเนิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑๖ (๑) ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งว่า "ชายและหญิงเมื่อเจริญถึงวันสมบูรณ์แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะสมรส และสร้างครอบครัว โดยปราศจากการจํากัดใด ๆ เนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา บุคคลย่อมมี สิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ในระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส" ฝ่ายที่สนับสนุน การโคลนจึงเห็นว่า เสรีภาพในการเจริญพันธุ์เป็นสิทธิของปีจเจกชน ซึ่งรัฐไม่อาจเข้ามาแทรกแซงได้ แต่ฝ่ายที่คัดค้านกลับเห็นว่าเสรีภาพในการเจริญพันธุ์ดังกล่าวนั้นหาได้เป็นไปโดยปราศจากขอบเขตไม่ สังคมอาจเข้ามาจํากัดเสรีภาพเช่นว่านั้นได้ในบางกรณี เช่นร่วมประเวณีระหว่างหญิงชายที่มีบิดามารดา เดียวกัน (incest)ร่วมเพศระหว่างคนกับสัตว์ (bestiality) หรือการมีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้เยาว์ เป็นต้น [๑๘] ดังนั้น อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ที่ถูกโคลน รวมทั้งเหตุผลอื่น ๆ ประกอบ จึงอาจนับได้ว่า สังคมมีความชอบธรรมที่จะห้ามมิให้มีการโคลนมนุษย์ได้ นอกจากนี้ การโคลนมนุษย์ยังจะสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในครอบครัวนั้นด้วย สภาพของ ครอบครัวอาจเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการโคลน เช่น ในกรณีที่มีการโคลนสามีโดยการนํานิวเคลียส ของผู้ชายคนนี้ไปแทนที่นิวเคลียสของไข่ผู้หญิงซึ่งเป็นภรรยา เมื่อมีการกําเนิดของทารกที่ถูกโคลนขึ้นมา จะถือว่าทารกคนนี้เป็นบุตรของผู้ชายคนดังกล่าว หรือเป็นน้องชายฝาแฝดต่างวัยกันเท่านั้น และหากมีการ รับตั้งครรภ์เกิดขึ้น ใครจะถือเป็นแม่ของทารกคนนี้ เพราะเหตุใด กรณีของปัญหาอาจซับซ้อนยิ่งขึ้น ถ้าเป็นการโคลนผู้หญิง เช่น เลสเบี้ยนฝ่ายหนึ่งได้นําเอานิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายของตนเข้าไปผสม กับไข่ของอีกฝ่ายหนึ่ง และให้ฝ่ายหลังนี้ตั้งครรภ์ ในกรณีเช่นนี้ใครจะเป็นบิดาของทารกที่เกิดมาและ หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่า มีการนําไข่ที่ผสมแล้วกลับเข้าไปฝังในมดลูกของฝ่ายแรก ผลของความเป็น บิดามารดาจะเปลี่ยนไปหรือไม่ สิทธิในการโคลนนี้จะมีไปถึงพวกเกย์ ด้วยหรือไม่ ทารกที่เกิดมาจะมี สภาพเช่นใดหากอยู่ในสภาพที่มีบิดาสองคนโดยไม่มีมารดา หรือมีมารดาสองคนโดยไม่มีบิดา และ หากพิจารณากรณีของแกะดอลลี่จะเห็นว่า ได้มีการนําเอาเซลล์เต้านมจากแม่แกะตัวหนึ่งมาเก็บรักษาไว้ ซึ่งในขณะที่มีการโคลนนั้นปรากฏว่า แม่แกะตัวนี้ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้น หากมีการโคลนมนุษย์ในลักษณะ เช่นเดียวกัน กรณีจะเป็นเช่นใดเมื่อปรากฏว่าขณะที่ทารกนั้นเกิดมานั้นบิดาหรือมารดาของทารกนั้น ได้เสียชีวิตไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นหากเป็นการนําเซลล์มาจากซากศพของมนุษย์ ทารกที่เกิดมาจะถือว่า เกิดมาจากซากศพด้วยหรือไม่ ๓.๓ ผลกระทบในระดับสังคม การโคลนมนุษย์จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมสองประการใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ ปัญหา การซื้อขายเซลล์ของมนุษย์ และความหลากหลายทางพันธุกรรมของมนุษย์ (human genetic variation) ในปัญหาประการแรก ฝ่ายที่คัดค้านการโคลนเห็นว่า หากอนุญาตให้มีการโคลนมนุษย์ขึ้น ก็จะก่อให้เกิด การซื้อขายเนื้อเยื่อ เซลล์ หรือดีเอ็นเอในตลาดมืดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการลักลอบเอาเอาสิ่งเหล่านี้ มาจากบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยปราศจากความยินยอมของบุคคลนั้น แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการโคลนกลับเห็นว่า กฎหมายสามารถเข้ามามีบทบาทในการควบคุม มิให้มีการลักลอบนําเอาเซลล์ต้นแบบมาจากบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอมได้ และในอดีตที่ผ่านมา ก็มีการจัดตั้งธนาคารเนื้อเยื่อ หรือธนาคารพันธุกรรมเพื่อเป็นที่เก็บรวบรวมเซลล์สืบพันธุ์ (เช่นเชื้ออสุจิ หรือไข่) ที่ได้รับการบริจาค แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนําเซลล์เหล่านี้ไปใช้อย่างกว่างขวางนัก เพราะมนุษย์ ยังคงมีความต้องการที่จะมีบุตรที่ได้รับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมมาจากทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ ข้อโต้แย้งนี้นับว่ามีเหตุผลพอสมควร แต่พึงระลึกว่าเชื้ออสุจิที่ถูกเก็บไว้ในธนาคารเนื้อเยื่อนั้น เป็นเชื้ออสุจิที่ปกปีดชื่อผู้บริจาคไว้เป็นความลับ คู่สมรสไม่สามารถเลือกได้ว่าต้องการนําเชื้ออสุจิมาจาก บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และการนําเชื้ออสุจิมานั้น ก็เป็นเพียงการนํามาผสมกับไข่ให้เกิดการปฏิสนธิ นอกร่างกายเท่านั้น ทารกที่กําเนิดมาจึงได้รับยีนจากทั้งเชื้ออสุจิและไข่ แต่การโคลนด้วยวิธีการถ่ายโอน นิวเคลียสนั้นเป็นการลอกแบบพันธุกรรมของเซลล์ต้นแบบทั้งหมด ความต้องการของมนุษย์ทั้งสองกรณี จึงอาจมีความแตกต่างกันได้ สําหรับปัญหาประการที่สองเกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้น ฝ่ายที่คัดค้าน การโคลนเห็นว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความสําคัญต่อมนุษยชาติ ที่ทําให้มนุษย์สามารถดํารงอยู่ได้จวบจนถึงปัจจุบัน การโคลนจะเป็นการบั่นทอนความหลากหลาย ทางพันธุกรรมของมนุษย์ เพราะจะมีความพยายามในการโคลนมนุษย์ที่เชื่อกันว่ามีลักษณะทาง พันธุกรรมที่ดีกว่าบุคคลอื่นเท่านั้น และหากมีการโคลนบุคคลที่มีบุตรยากก็จะทําให้ต้องมีการโคลน ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะความมีบุตรยากนั้นเป็นลักษณะทางพันธุกรรมอย่างหนึ่งเช่นกัน และในท้ายที่สุดหากมีโรคระบาดเกิดขึ้น ก็จะทําให้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์สูญสิ้นไปทั้งหมด แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการโคลนกลับมีความเห็นไปในทางตรงกันข้าม โดยเชื่อว่ามนุษย์ที่มีอยู่บนโลก ในปัจจุบันนั้นมีเป็นจํานวนมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่การโคลนจะลดความหลากหลายทางพันธุกรรมของ มนุษย์ลง แต่การโคลนกลับจะช่วยให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมมีมากขึ้น พวกเขาได้ยกตัวอย่าง ความพยายามในการโคลนสัตว์ดึกดําบรรพ์ เช่น ช้างแมมมอธ โดยกล่าวว่าการโคลนสิ่งมีชีวิตที่หายาก จะเป็นการช่วยให้สิ่งมีชีวิตนั้นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากยิ่งขึ้น ๔.บทบัญญัติของกฎหมายและปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการสําเนาพันธุกรรมมนุษย์ หลังจากที่การโคลนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกประสบความสําเร็จเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๖ สังคมทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการโคลนมนุษย์ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยส่วนใหญ่จะมีกฎหมายที่ควบคุมการทดลองในตัวอ่อน (embryo) อย่างเข้มงวด นักกฎหมาย บางส่วนจึงเห็นว่าสามารถที่จะนํากฎหมายนั้นมาบังคับใช้ในการควบคุม หรือห้ามการโคลนมนุษย์ได้ แต่หากพิจารณาในแง่ของเทคนิคทางกฎหมายนักกฎหมายบางส่วนกลับเห็นว่า กฎหมายที่ห้าม การทดลองในตัวอ่อนอาจไม่สามารถครอบคลุมกระบวนการในการโคลนมนุษย์ได้ทั้งหมด เพราะการใช้เทคนิคการถ่ายโอนนิวเคลียสนั้นไม่ได้มีการใช้ตัวอ่อนเป็นตัวทดลอง แต่ใช้เพียง เซลล์ร่างกายกับไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสม (unfertilized eggs) ตัวอ่อนจึงเป็นเพียงผลผลิต ที่ได้รับจากการทดลองนี้เท่านั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีความพยายามหลายครั้งในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อห้าม การโคลนมนุษย์ [๑๙] เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๙๗ป ระธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ได้ประกาศห้าม มิให้หน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวกับการโคลนมนุษย์ คณะกรรมาธิการที่ปรึกษา ด้านชีวจริยธรรมแห่งชาติ (The National Bioethics Advisory Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้คําปรึกษาด้านจริยธรรมที่เกี่ยวความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ ได้สรุปความเห็นว่า การโคลนมนุษย์เพื่อการสืบพันธุ์ในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม และได้เสนอ ให้มีการห้ามการโคลนมนุษย์ไว้เป็นเวลา ๕ ปี สําหรับกฎหมายในระดับมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีหลายมลรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย โรดไอส์แลนด์ และมิชิแกน ที่ห้ามการโคลนมนุษย์ แต่กฎหมายของแคลิฟอร์เนีย และโรดไอส์แลนด์ ได้ห้ามการโคลนมนุษย์เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น แต่ไม่ได้ห้ามการโคลนเพื่อการบําบัดรักษา ซึ่งแตกต่าง จากกฎหมายของรัฐมิชิแกนที่มีการร่างกฎหมายไว้อย่างกว่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการห้ามการโคลนเพื่อการบําบัด รักษาด้วย [๒๐] ในการพิจารณากฎหมายในระดับระหว่างประเทศ หน่วยงานสําคัญที่ได้ริเริ่มพิจารณากฎหมาย เกี่ยวกับการโคลนมนุษย์ก็คือ องค์การยูเนสโก ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ ที่มีหน้าที่ดูแล ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ค.ศ.๑๙๙๓ องค์การยูเนสโกได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง มีชื่อว่า"คณะกรรมาธิการชีวขริยธรรมระหว่างประเทศ" (International Bioethics Committee) เพื่อให้ เป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการร่างข้อตกลงระหว่างประเทศ ในการคุ้มครองจีโนมของมนุษย์ ต่อมาคณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยจีโนมของมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on the Human Genome and Human Rights หรือ Human Genome Declaration) ต่อที่ประชุมใหญ่ขององค์การยูเนสโก และเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ที่ประชุมใหญ่ขององค์การยูเนสโกก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับข้อตกลงฉบับนี้ ตามปฏิญญาสากลฉบับนี้ ข้อ ๑๑ ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า "การปฏิบัติที่ขัดแย้งกับศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์ เช่น การโคลนมนุษย์เพื่อการสืบพันธุ์เป็นสิ่งที่จะกระทํามิได้" และตามบทบัญญัตินี้ องค์การยูเนสโกได้เรียกร้องประเทศสมาชิก และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องให้ร่วมมือกันสร้าง มาตรการที่จําเป็น ที่จะทําให้บทบัญญัติดังกล่าวประสบความสําเร็จ ข้อตกลงนี้จึงถือเป็นเป็นความตกลง ระหว่างประเทศฉบับแรกที่มีบทบัญญัติที่ห้ามการโคลนมนุษย์ไว้อย่างชัดแจ้ง อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า ข้อตกลงฉบับนี้ห้ามมิให้มีการโคลนมนุษย์เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น แต่มิได้บัญญัติไว้ว่าการโคลนเพื่อการ บําบัดรักษาเป็นการกระทําที่ขัดต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเป็นการกระทําที่ต้องห้ามหรือไม่ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถที่จะเปิดโอกาสให้มีการโคลนตัวอ่อนเพื่อใช้ในการบําบัด รักษาได้ หากพิจารณากฎหมายระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคจะเห็นว่า สภาแห่งยุโรป (Council of Europe) ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทดลองในตัวอ่อนมนุษย์ และการโคลนมนุษย์ เช่นเดียวกัน โดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและชีวการแพทย์ (Convention on Human Rights and Biomedicine) [๒๑] ข้อ ๑๘ ได้บัญญัติไว้ว่า หากในประเทศใดที่มีกฎหมายอนุญาตให้มีการทดลอง ตัวอ่อนของมนุษย์นอกร่างกาย กฎหมายนั้นก็จะต้องมีหลักประกันในการให้ความคุ้มครองตัวอ่อนนั้น อย่างพอเพียงด้วย สําหรับการโคลนมนุษย์นั้น สภาแห่งยุโรปได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ เรียกว่า "พิธีสารเพิ่มเติมแห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และชีวการแพทย์เกี่ยวกับการห้ามการโคลนมนุษย์" ซึ่งได้มีการเปิดให้สมาชิกลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๑๙๙๘ โดยข้อ ๑ ของพิธีสารฉบับนี้ได้บัญญัติว่า "การสร้างมนุษย์ที่มีพันธุกรรมเหมือนกับมนุษย์อีกคนหนึ่ง ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้วก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่อาจกระทําได้" ผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความเห็นว่า การโคลนมนุษย์เป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์ เพราะมีการใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือในการทดลองเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น (instrumentalization) และเสนอว่าถึงแม้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีการขจัดปัญหาที่มีการนํามนุษย์เป็น เครื่องมือทดลองได้ ก็ไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมที่จะทําการโคลนมนุษย์ เพราะมนุษย์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการ ตามธรรมชาติย่อมจะมีสิทธิและเสรีภาพในการกําหนดชีวิตของตนเองได้ดีกว่ามนุษย์ที่ถูกโคลนขึ้นมา [๒๒] ในประเทศไทยไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายในการควบคุม หรือห้ามการโคลนมนุษย์ไว้การโคลนมนุษย์ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น แม้ว่าเทคโนโลยีการโคลนในประเทศไทยยังไม่มีความเจริญ ก้าวหน้ามากนัก แต่ก็อาจมีความพยายามในการเข้ามาโคลนมนุษย์ในประเทศไทยก็ได้ เพราะการกระทํานั้น จะไม่ถือเป็นความผิดกฎหมายในประเทศไทยยังมีความล้าหลังความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อยู่มาก ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการปฏิสนธินอกร่างกาย และการรับ ตั้งครรภ์ หากมีการโคลนมนุษย์ในประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็จะมีความทับซ้อนกับปัญหาที่เกิด จากเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ เช่น ปัญหาความเป็นพ่อแม่ของทารก ความยินยอมของผู้ที่เกี่ยวข้อง สิทธิของ ทารกที่จะทราบแหล่งกําเนิดของตนเอง ทั้งนี้ยังรวมไปถึงปัญหาสังคมที่ตามมาจากการโคลนมนุษย์ด้วย ดังนั้น หากสังคมไทยโดยรวมได้รับรู้มีความเข้าใจและแยกแยะปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง ก็จะทําให้ สามารถวิเคราะห์แก่นแท้ของปัญหาได้อย่างถ่องแท้ และจะนํามาซึ่งการแก่ไขปัญหาที่รอบคอบและยั่งยืน ต่อไป ๕.ปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายสิทธิบัตรของประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันได้ห้ามมิให้มีการขอรับสิทธิบัตรในสัตว์ และ สารสกัดจากสัตว์ เช่น ข้อ ๙ (๑) ของพ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติห้ามขอรับสิทธิบัตรสําหรับ การประดิษฐ์ที่เป็นสัตว์ และสารสกัดจากสัตว์ ซึ่งคําว่าสัตว์นี้น่าจะมีความหมายรวมถึงสัตว์ทุกประเภท ทั้งที่เป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นจากปรับปรุงพันธุ์ด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ เช่น การปรับปรุงพันธุ์ด้วยการคัดเลือก สายพันธุ์ (selective breeding) หรือเกิดขึ้นจากการใช้กรรมวิธีทางเทคนิค เช่น กรรมวิธีพันธุ์วิศวกรรม หรือกรรมวิธีโคลนนิ่ง ดังนั้น สัตว์ประดิษฐ์ (transgenic animals) ดังเช่นหนูที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง พันธุกรรมโดยกรรมวิธีถ่ายโอนยีนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Onco-mouse) ย่อมไม่อาจ ขอรับสิทธิบัตรได้ตามกฎหมายไทย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นสารสกัดจากสัตว์ เช่น เซรุ่มป้องกันพิษงู หรือพิษสุนัขบ้าเป็นต้น ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ตามกฎหมายไทย เช่นเดียวกัน กรณีน่าสงสัยว่าบทบัญญัติในข้อ ๙ (๑) ที่ห้ามการขอรับสิทธิบัตรนี้จะนําไปใช้กับการขอรับ สิทธิบัตรในมนุษย์ หรือสารสกัดที่ได้จากร่างกายของมนุษย์หรือไม่ในเรื่องนี้เห็นได้ชัดว่า พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒ ไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งว่ามนุษย์ หรือสารสกัดที่ได้จากร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งต้องห้าม ในการขอรับสิทธิบัตร กรณีจะแปลความได้หรือไม่ว่ากฎหมายสิทธิบัตรไทยไม่ได้ห้ามมิให้มีการคุ้มครอง การประดิษฐ์ดังกล่าว กฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศในปัจจุบัน ได้ผ่อนคลายความเข้มงวดเกี่ยวกับ การขอรับสิทธิบัตรในสัตว์ลง เช่น กฎหมายสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้คุ้มครองการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้อง กับสัตว์ และในกรณีของมนุษย์ แม่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายของประเทศใดที่คุ้มครองสิทธิบัตรในมนุษย์ โดยตรง (เคยมีการขอรับสิทธิบัตรในมนุษย์) แต่กฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ได้ให้การคุ้มครอง การประดิษฐ์ที่ได้มาจากร่างกายของมนุษย์ดังปรากฏในตัวอย่างต่อไปนี้ คําขอรับสิทธิบัตรในแกะชื่อ "่แทรซี่" (Tracy) ซึ่งเป็นแกะที่เกิดจากการตัดแต่งพันธุกรรม โดยมีการนําเอายีนของมนุษย์ใส่เข้าไปในโครโมโซมของแกะ ซึ่งจะทําให้แกะเทรซี่ผลิตโปรตีน ชนิดเดียวกันกับโปรตีนของมนุษย์ ซึ่งด้วยวิธีการเช่นนี้จะสามารถผลิตโปรตีนต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ เช่น อินซูลิน (human insulin) พลาสมิโนเยน แอคติเวเตอร์ส์ (plasminogen activators) เป็นต้น คําขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากร่างกายของมนุษย์ เรียกว่า คําขอ "Relaxin Application" โดยคําขอดังกล่าวเกี่ยวกับยีนมนุษย์ที่สกัดออกมาเพื่อนำไปใช้ในการผลิต ยารีแลคซิน (Relaxin) นั้นเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายของสตรีหลั่งออกมาจากรังไข่ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ในระหว่างคลอดบุตร เฉพาะแต่ในช่วงเวลาใกล้คลอดเท่านั้นที่ร่างกายของสตรีจึงจะหลังฮอร์โมนชนิดนี้ ออกมา ผู้ประดิษฐ์ได้สกัดยีนออกจากเซลล์รังไข่และนําไปใส่ไว้ในจีโนมของแบคทีเรียชนิดหนึ่งซึ่ง เมื่อนําไปเพาะเลี้ยงในห้องทดลองจะทําให้แบคทีเรียที่มีฮอร์โมนรีแลคซินมีจํานวนเพิ่มมากขึ้น ทําให้ สามารถผลิตฮอร์โมนดังกล่าวในระดับอุตสาหกรรม เพื่อนําไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยาได้ การคุ้มครองสิทธิบัตรในมนุษย์ หรือในการประดิษฐ์ที่ได้จากร่างกายของมนุษย์อาจก่อให้เกิด ผลกระทบและปัญหาหลายประการดังนี้ สิทธิบัตรอาจทําให้ผู้ทรงสิทธิมีสิทธิเหนือบุคคลอื่น หรือร่างกายของบุคคลอื่น อันมีลักษณะ เดียวกับการเอาคนลงเป็นทาส (slavery) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้กําหนดห้ามมิให้มี การเอามนุษย์ลงเป็นทาส (Universal Declaration on Human Rights, Art.4) สํานักงานสิทธิบัตร สหรัฐอเมริกา ได้เคยออกคําประกาศว่า การประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องห้าม มิให้มีการขอรับ สิทธิบัตร เพราะขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ห้ามการค้าทาส [๒๓] นอกจากนี้กฎหมายของประเทศ ตะวันตกยังไม่อนุญาตให้มีการค้าอวัยวะของมนุษย์ เช่น ไต ตับ เลือด ดวงตา ฯลฯ อีกด้วย ผู้ที่คัดค้านระบบสิทธิบัตรมองว่า สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในสิ่งมีชีวิตมีค่าเท่ากับให้มีสิทธิ ในความเป็นเจ้าของในชีวิต (owninglife) สิทธิเด็ดขาดตามกฎหมายสิทธิบัตรจะทําให้ผู้ทรงสิทธิกลายเป็น เจ้าของ มีสิทธิเหนือสายพันธุ์ของชีวิตนั้น ตัวอย่างเช่น หากมีการออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ที่ตัดต่อนํายีนของ สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งใส่เข้าไปในโครโมโซมของสัตว์อีกชนิดหนึ่ง ก็จะทําให้ผู้ประดิษฐ์นั้นกลายเป็นเจ้าของ สัตว์ที่ได้รับการตกแต่งพันธุกรรมนั้น และหากมีนํายีนใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์ สิทธิบัตรจะทําให้ ผู้ทรงสิทธิมีสิทธิเหนือบุคคลดังกล่าว และในกรณีของการโคลน หากการขอรับสิทธิบัตรเป็นการกระทํา เหนือตัวบุคคลผู้ที่ถูกโคลนขึ้นมา ก็จะมีผลเท่ากับเป็นการให้สิทธิทางกฎหมายเหนือมนุษย์ ซึ่งการกระทํา ดังกล่าวจะเป็นการท้าทายต่อบรรทัดฐานทางจริยธรรม และต่อศีลธรรมในสังคมเป็นอย่างมาก ผู้เขียนเห็นว่าการคุ้มครองสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์มิใช้สิ่งที่ถูกต้อง เพราะบุคคล ไม่ควรอาศัยร่างกายของบุคคลอื่นเป็นเครื่องมือแสวงหาผลกําไรให้แก่ตน ไม่มีกฎหมายของประเทศใด ถือว่าร่างกายของมนุษย์เป็นทรัพย์สินที่อาจอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ หรืออาจนําไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ หากมีการให้สิทธิบัตรในมนุษย์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายมนุษย์ ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มี การอ้างสิทธิเป็นเจ้าของมนุษย์ได้ และอาจนําไปสู่การแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากร่างกายของ มนุษย์ในที่สุด บทสรุป สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ล้วนแต่มีศักดิ์ศรีของสายพันธุ์ (species integrity) สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดต่าง มีสิทธิที่จะดํารงเผ่าพันธุ์ของตนตามธรรมชาติ การดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือการทําให้ สิ่งมีชีวิตดํารงอยู่ หรือสืบสานเผ่าพันธุ์โดยวิธีที่ผิดธรรมชาติย่อมมิใช้การกระทําที่ถูกต้อง ตั้งแต่ อดีตกาลมนุษย์มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ธรรมชาติมีบทบาทสําคัญ ในการควบคุมวิถีชีวิตของมนุษย์มาโดยตลอด แต่ด้วยกรรมวิธีทางเทคนิคที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน มนุษย์กลับกลายเป็นฝ่ายควบคุมธรรมชาติ การโคลนมนุษย์นับว่าเป็นการกระทําที่ผิดธรรมชาติ เป็นอย่างมาก ซึ่งการกระทําดังกล่าวนอกจากจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อ และความศรัทธาในสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติของผู้คนแล้ว ก็ยังอาจมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษยชาติในระยะยาวอีกด้วย สิ่งมีชีวิตในโลกไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือมนุษย์ ย่อมมีคุณค่าโดยธรรมชาติ (intrinsic value) ซึ่งคุณค่าโดยธรรมชาตินี้แตกต่างไปจากคุณค่าในเชิงพาณิชย์ หรือคุณค่าในการใช้สอยคุณค่า โดยธรรมชาติ ถือเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล และเป็นปัจจัยสําคัญในการที่สิ่งมีชีวิตนั้น จะประสานความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ความพยายามที่จะโคลนมนุษย์ย่อมเป็นการกระทําที่ทําลาย คุณค่าโดยธรรมชาติของมนุษย์และจะมีผลให้มนุษย์มีคุณค่าเป็นเพียงสิ่งของ (things) ที่แตกต่าง ไปจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย *** ๑. Brennan, J.R., Pattern of Human Heredity: An Introduction to Human Genetics, Prentice Hall, NewJersey, 1985, p.300. ๒. Ibid., p.30. ๓. Bohlin, R. Can Human be Cloned Like Sheep?, 1997 March 7, available at http://www.probe.org/docs/lambclon.htm ๔. Watson, J., Moving Toward the Clonal Man, The Atlantic Monthly, May 1971. ๕. Wilmut ,I. etal., Viable offspring derived from fetal and adult mammalian cells, 385 Nature 810 1997. ๖. National Bioethics Advisory Commission, Cloning Human Being: Report and Recommendations, 1997, p.24. ๗. Wilmut, I., Dolly: the Age of Biologic Control, p.19 in The Genetic Revolution and Human Rights, Justin B. (editor), 1999, Oxford University Press, NewYork. ๘. Bohlin, R., Cloning and Genetics: The Brave New World Closes In, available at http://www.probe.org/docs/clon-gen.htm ๙. Wakayama, T. etal., Full-Term Development of Mice from Enucleated Oocytes Injected with Cumulus Cel lNuclei, 394 Nature 369, 1998, p.369. ๑๐. Kolata, G., Japanese Scientists Clonea Cow, Making Eight Copies, N.Y. Times, Dec. 9, 1998, p.A8, cited in J. Robertson, Two Models of Human Cloning, 1999, 27 HofstraL. Rev. 609. ๑๑. Robertson, J., Two Models of Human Cloning, p.6. ๑๒. Nuffield Council on Bioethics, Stem Cell Therapy: A Discussion Paper, 2000, p.2. ๑๓. Green, R., Clone, Scientific American, Septembe r1999. ๑๔. Ibid. ๑๕. Macklin, R. Human Cloning? Don't just say no, Culture & Ideas, available at http://usnews.com/usnews/issue/97030/10futu.htm ๑๖. Vere, S., The Case for Cloning Humans, in T. Easton (ed.), Taking Side: Science, Technology, and Society, 4th ed., McGraw-Hill, 2000. ๑๗. Robertson, J. Human Cloning and the Challenge of Regulation, The New England Journal of Medicine, 9 July 1998, Vol.339, No.2. ๑๘. Deech, R. Cloning and Public Policy, in Justin B. (ed.), The Genetic Revolution and Human Rights, Oxford University Press, NewYork, 1999, p.97. ๑๙. Feiler, W., Birth of Dolly Raises Patent Issueson Clones, New York Law Journal, March 9, 1998. ๒๐. Robertson, J., Two Models of Human Cloning, p.66. ๒๑. อนุสัญญานี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Convention for the Protection of Human Rights and Dignity of the Human Being with regard to the Application of Biology and Medicine ๒๒. Explanatory Report to the Convention on Human Rights and Biomedicine on the Prohibition of Cloning Human Being, available at http://conventions.coe.int/treaty/en/Reports/Html/1 68.htm ๒๓ Merges, R. P., "Intellectual Property in Higher Life Forms: The Patent System and Controversial Technologies", Maryland Law Review, Vol.47, p.1058. *** ที่มา : http://www.library.judiciary.go.th/article19.php