มนุษย์กำหนดธรรมชาติแห่งชีวิต บุญ หรือ บาป ? *** ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "ศาสนา" เป็นสิ่งหนึ่งที่คอยยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์เราตั้งแต่ไหน แต่ไรมาแล้วไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตามที่มีอยู่ในโลกนี้ต่างก็พร่ำสอนให้คนเป็นคนดี ปฏิบัติตนอยู่ ในทำนองคลองธรรมกันทั้งนั้นอาจจะมีส่วนน้อยที่แบ่งแยกตนออกไปเป็นลัทธิ มีความเชื่อผิดแผก ไปบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็เน้นให้คนเห็นความสำคัญของการดำรงตนเป็นคนดีของครอบครัวและสังคม แต่ในภาวะปัจจุบันที่โลกมีแต่เทคโนโลยีล้ำหน้าไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ทางการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ล้ำหน้า เสียจนคนก้าวตามแทบไม่ทัน นำความเปลี่ยนแปลงหลากหลายประการมาสู่ชีวิตมนุษย์ โดยเริ่ม ตั้งแต่สมัยแรก ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถล่วงรู้ว่า "ยีน" (Gene) หรือหน่วยพันธุกรรมเป็นหัวใจหลัก ของการควบคุมการแสดงออกของลักษณะต่าง ๆ ในสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ และมนุษย์ ทั้งยังสามารถวิเคราะห์ถึงโครงสร้างของยีนได้อย่างกว้างขวาง และสามารถสังเคราะห์ชิ้นส่วนยีนรวมถึง ถ่ายฝากยีนของสิ่งมีชีวิตหนึ่งให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นได้หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ "พันธุวิศวกรรม" (Genetic Engineering) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำการเคลื่อนย้ายยีนจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หนึ่งไปสู่ สิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์หนึ่ง ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มในสร้างสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ที่มียีนลูกผสมแบบใหม่ ในคุณลักษณะแบบใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฏในธรรมชาติมาก่อน ด้วยความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงคุณลักษณะ ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ให้ดีกว่าเดิม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม สนองความต้องการของมนุษย์ ในด้านการอุปโภคและบริโภคที่สูงขึ้น เช่น การพัฒนาพันธุ์สัตว์ การปรับปรุงพันธุ์พืชให้ต้านทานโรคและ แมลง การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีคุณภาพผลผลิตดี การพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนที่ไม่เคยทำได้ในยุค ก่อนหน้านี้ ทว่า นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนว่าการนำเทคโนโลยีชีวภาพเหล่านี้ มาใช้ จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ ผลผลิตจะมีพิษภัยต่อสุขภาพคนและสัตว์หรือไม่ ยีนเหล่านี้ จะมีโอกาสกลายพันธุ์เป็นยีนก่อโรคหรือไม่ ยีนเหล่านี้จะมีโอกาสหลุดรอดออกไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นได้ หรือไม่ ฯลฯ เพราะฉะนั้นความเชื่อทางศาสนาจึงก้าวมามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้มุมมองผลกระทบ ทางเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นหลักสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยแสดงถึงมิติแห่งการรับรู้ และกำหนดขอบเขต การยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของสังคม เพราะความเชื่อทางศาสนานั้นมักเป็นความเชื่อที่อยู่บนรากฐาน ของการยอมรับในกฎแห่งธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อที่เกี่ยวกับมนุษย์ ผู้เขียนจึงจะได้หยิบยกบางมุมมองและบางประเด็นที่เป็นผลกระทบทางจริยธรรมของ เทคโนโลยีชีวภาพ ให้พอให้เห็นภาพ และลองขบคิดหาคำตอบกันดู โดยประเด็นเหล่านี้หยิบยืมมาจาก รายงานการทบทวนแนวคิดของแต่ละศาสนาหลักในประเทศไทยที่มีต่อเรื่องความก้าวหน้าทางด้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ซึ่งเป็นประเด็นในการทบทวนมุมมองตลอดจนทัศนคติของแต่ละ ศาสนาหลักในประเทศไทยได้แก่ ศาสนาพุทธศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามที่มีต่อการวิจัยทดลอง อันเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมมนุษย์และการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ โดยประเด็นที่ได้กล่าวถึงมีหลายข้อ ด้วยกัน คือ ข้อถกเถียงที่ว่าการวิจัยทดลองเป็นการทำลายชีวิตหรือไม่อย่างไร การวิจัยและทดลอง ก่อให้เกิดการคัดเลือกพันธุ์มนุษย์หรือไม่ สิทธิการรับรู้ข้อมูลในอนาคตจะเป็นอย่างไร สิทธิเหนือข้อมูล พันธุกรรม ผลกระทบต่อระบบการประกันสุขภาพ รวมทั้งผลกระทบต่อการจ้างงาน การวิจัยทดลองเป็นการทำลายชีวิต จะเห็นได้ว่าการทดลองวิจัยบางอย่างในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์โดยตรง เช่น การผสมเทียม หรือการสร้างเด็กหลอดแก้ว ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสร้างมนุษย์คนใหม่ขึ้นมาลืมตาดูโลก แต่จากวิธีการสร้างที่ต้องสร้างตัวอ่อนขึ้นมาหลายๆตัว และเลือกไว้เพียงจำนวนที่ต้องการใช้ ขณะที่ ตัวอ่อนที่เหลือจะต้องถูกกำจัดทิ้งไปในทางศาสนาแล้วถือว่าเป็นการทำลายชีวิตมนุษย์หรือไม่ ตัวอ่อน ถือว่าเป็นหนึ่งชีวิตหรือไม่ นิยามเกี่ยวกับ ชีวิต "มนุษย์" ของแต่ละศาสนาคืออะไร มุมมองต่อเรื่อง การเกิด การตาย การทำลายสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อมนุษย์ของแต่ละศาสนาเป็นอย่างไร การวิจัยและทดลองก่อให้เกิดการคัดเลือกพันธุ์มนุษย์ จากอดีตที่ผ่านมา มนุษย์ต้องประสบกับความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกยุคทุกสมัยต่างก็พยายามหาหนทางในการที่จะกำจัดโรคร้ายเหล่านั้น ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาคิดค้นยารักษาโรคตลอดจนการรักษาด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ ก็ด้วยเป้าหมายเพื่อให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน การพัฒนาเทคโนโลยี ทางพันธุศาสตร์ในปัจจุบัน ก็คืออีกหนทางหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะพัฒนาให้มนุษย์มีความ สมบูรณ์พร้อมที่สุด วิธีการดังกล่าวคือการใช้วิทยาการทางการแพทย์อันสลับซับซ้อน คัดเลือกมนุษย์ ที่มีลักษณะตามที่ต้องการได้ อาทิ เช่น การเลือกให้เป็นเพศหญิงหรือชาย มีความแข็งแรงไม่เป็น โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง ฯลฯ ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้น แพทย์ในปัจจุบันสามารถเลือก ตัวอ่อนให้มีลักษณะต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ ประเด็นการคัดเลือกพันธุ์หรือเพศมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่เรา จะได้ทำการศึกษาถึงแนวคิดของแต่ละศาสนาโดยพิจารณาในหลักสำคัญหลายประการ เช่น ความสำคัญของเพศตามมุมมองของแต่ละศาสนา การเลือกหรือไม่เลือกมีผลอย่างไรทางศีลธรรม บุคคลผู้มีอำนาจในการเลือกหรือกำหนดสิ่งต่าง ๆ ในมุมมองของแต่ละศาสนาคือใคร เป็นต้น สิทธิการรับรู้ข้อมูลและสิทธิเหนือข้อมูล ผลกระทบประการหนึ่งจากการทดลองวิจัยเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่ ค่อนข้างละเอียดอ่อนต่อความเป็นไปในสังคม นั่นก็คือ ผลงานการวิจัยทางด้านพันธุกรรมที่ก้าวหน้า ถึงขั้นที่สามารถตรวจหาดีเอ็นเอ ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคบางชนิดและพบข้อมูลที่สำคัญบางประการ เช่น ทราบรหัสพันธุกรรมชุดที่ควบคุมการเกิดโรค ความสูง ความแข็งแรง ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าข้อมูลเหล่านี้ อาจนำมาซึ่งการเรียกร้องผลประโยชน์หรือการจำกัดการใช้อยู่เพียงกลุ่มคนบางกลุ่ม อันจะทำให้สังคม โดยรวมเกิดความเดือดร้อนประเด็นแนวคิดของแต่ละศาสนาที่มีต่อเรื่องนี้ คือ ข้อมูลทางพันธุกรรมนั้น ทางศาสนาจัดว่าเป็นอะไร ผลแห่งข้อมูลนั้นควรได้รับการดูแลอย่างไรตามความเชื่อทางศาสนาจึงจะไม่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ผลกระทบต่อการประกันสุขภาพและการจ้างงาน ผลกระทบทั้งสองกรณีนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกีดกันและความไม่เสมอภาคในการทำงาน อันเนื่องมาจากนายจ้างอาจได้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของพนักงานที่ได้รับการตรวจเชิงพันธุกรรม มาแล้ว ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงเชิงพันธุกรรมต่อการเกิดโรคได้ ดังนั้นด้วยข้อมูล ข้างต้นอาจเป็นเหตุให้นายจ้างพยายามหลีกเลี่ยงการจ้างบุคลากรที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ หรือ แม้กระทั่งบุคคลที่หายจากโรคที่เจ็บป่วยแล้วก็ตาม ส่วนเรื่องของประกันสุขภาพนั้น กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ ที่มีระบบการประกันสุขภาพที่รับผิดชอบโดยบริษัทเอกชน เนื่องด้วยบริษัทเหล่านั้นมีโอกาสที่จะนำ ข้อมูลจากการตรวจทางพันธุกรรม ไปเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาทำกรมธรรม์ จึงเป็นที่น่าวิตกว่า หากผู้ทำกรมธรรม์มีความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม อาจมีผลให้บริษัทไม่รับทำประกันสุขภาพได้ จึงเป็นประเด็นว่าขอบเขตของคุณธรรมและศีลธรรมของนายจ้างอยู่ที่ไหน รวมถึงสิทธิของผู้ป่วย จะอยู่ที่ไหน คำถามที่ยังรอคำตอบ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่มีความน่าสนใจและคงจะเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น หลักศาสนามีความเห็นอย่างไรกับการยินยอมให้มีการเก็บไข่ สเปิร์ม หรือ ยีนของมนุษย์ไว้ เพื่อใช้ในอนาคต ประเด็นการจัดการเรื่องการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมว่าใครควรมีสิทธิในการ รับรู้บ้างและวิธีการควรเป็นอย่างไร ความเป็นเจ้าของข้อมูลที่เกิดจากการวิจัย และการนำมาใช้ซึ่งข้อมูล ขอบเขตของการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ควรเป็นอย่างไร และควรกระทำกับมนุษย์หรือไม่อย่างไร ฯลฯ ประเด็นข้างต้นคงเป็นสิ่งที่สังคมจะได้หยิบยกขึ้นมาถามความเห็นต่อทางศาสนจักร และ คงต้องร่วมกันหาคำตอบต่อไป เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับผลกระทบต่อสังคมที่จะเกิดขึ้น ในอีกเร็ววันข้างหน้า เมื่อเทคโนโลยีเหล่านั้นมาเยือนกันอย่างที่คิดไว้จริงๆ ***หมายเหตุ: โครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ได้จัดเวทีระดม ความคิดเห็นจาก 3 ศาสนา เรื่อง "แปลงพันธุ์มนุษย์…ผิดจริยธรรม?" ในวันที่ 23 กันยายน 2545 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โปรดติดตามอ่านข้อสรุปจากเวทีได้จาก จดหมายข่าว มสช. ฉบับต่อไป *** ที่มา : http://www.thainhf.org/html/modules.php?name=News&file=article&sid=304