เทคโนโลยีจีโนม อหังการของมนุษย์ (ตอนที่ ๒)

				โดย นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์
				ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ


				***


	การพัฒนาเทคโนโลยีด้านจีโนมนั้นเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสารพันธุกรรม 
(ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมลักษณะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตทุกๆ ชนิด) ในอนาคตอันใกล้นี้การประยุกต์ใช้งาน
ด้านจีโนมจะทำได้อย่างง่ายดายและจะแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การตรวจสารพันธุกรรม
จากเลือด ซึ่งจะทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็วและราคาถูก การทราบข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์นั้นทำให้
การทราบความลับของปัจเจกบุคคลเป็นไปได้ง่ายขึ้นอย่างมาก (เช่น ทราบว่าใครเป็นโรคอะไรบ้าง, 
ร้ายแรงเพียงใด จะถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้หรือไม่, ใครเป็นพ่อ-แม่-ลูก กับใคร หรือมีความสัมพันธ์
ในสายเลือดอย่างไรต่อกัน) ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้อย่างมาก 
ปัจเจกบุคคลมีโอกาสที่จะถูกกีดกันในการทำงาน เนื่องจากทราบผลด้านพันธุกรรมว่ามีโอกาสเป็นโรค
ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือบริษัทประกันอาจจะเรียกค่าประกันสูงเป็นพิเศษในคนที่มีโอกาสเสี่ยงในการ
เกิดโรคสูง 


	รัฐบาลก็อาจใช้ข้อมูลพันธุกรรมของประชาชนในประเทศเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองได้
ข้อมูลพันธุกรรมอาจถูกใช้เพื่อคัดเลือกพันธุ์มนุษย์ เด็กทารกที่เกิดใหม่มีโอกาสที่จะถูกคัดเลือกเอา
ลักษณะหรือเพศที่ต้องการไว้เท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเลือกมีเฉพาะบุตรเพศชายในประเทศจีน 
ซึ่งจะมีผลเสียในด้านสมดุลมนุษย์อย่างรุนแรงในอนาคต ดังนั้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านจีโนม
จึงมีผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ ทั้งในด้านจริยธรรม กฎหมาย และ สังคม ดังนั้น
ประเทศไทยจึงต้องการแนวทางการจัดการที่เหมาะสมก่อนการเกิดปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ในอนาคตอันใกล้นี้


	ระยะที่ 2: 	ระยะเกิดผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีจีโนม (ในปัจจุบันนี้บางประเทศได้เข้าสู่ระยะ
		นี้แล้ว) ในระยะนี้ จะมีผลิตภัณฑ์หลากหลายจากเทคโนโลยีจีโนมเข้าสู่ตลาด
		จำนวนมาก เช่น ยารักษาโรคชนิดที่รักษาได้ผลแม่นยำได้แบบรายบุคคล 
		วัคซีนชนิดใหม่ ๆ พืชและสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ในกรณีประเทศไทย เช่น 
		กุ้งพันธุ์ใหม่ คุณูปการหลักของเทคโนโลยีจีโนมคือ การสร้างต้นแบบที่เป็น
		ทางเลือกสำหรับพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากหลากหลายกว่าเดิมเป็นสิบ 
		เป็นร้อย หรือในที่สุดเป็นพันเป็นหมื่นเท่า 


	อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ วิธีการคัดกรอง คัดเลือกและทดสอบผลิตภัณฑ์ ยังใช้กระบวนการทดสอบ
แบบเดิมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกยา หรือวัคซีน หรือพืช สัตว์พันธุ์ใหม่ก็ตาม การคัดกรอง คัดเลือก
และทดสอบอาจดีขึ้นบ้างเป็น 5-10 เท่า การเพิ่มของต้นแบบที่เป็นทางเลือกมาก ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี
เช่น อเมริกา อังกฤษ และยุโรป จึงอาจต้องการขยายฐานการทดสอบไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา 
ประเทศไทยนั้น อาจจะยังอยู่ในฐานะประเทศกลุ่มที่ถูกทดสอบผลิตภัณฑ์เหล่านั้น การบริหารจัดการและ
นโยบายที่ดีในระดับประเทศจะชี้ทิศทางได้ว่าประเทศไทยจะมีฐานะเป็นเพียงประเทศที่เป็นหนูทดลองหรือ
จะเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทเหล่านั้น ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ หากมีแนวทางการเจรจาต่อรองในระดับ
ประเทศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ 


	ระยะนี้จะเป็นช่วงเวลาที่อาจจะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงมาก ในขณะที่ประเทศ
ที่พัฒนาแล้วลงทุนอย่างหนักเพื่อพยายามใช้เทคโนโลยีจีโนมในการสร้างต้นแบบที่เป็นทางเลือก 
ประเทศไทยคงไม่อาจลงทุนแข่งขันในระดับเดียวกันได้ แต่อาจสร้างต้นแบบที่เป็นทางเลือกนี้
จากความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นต้นทุนเดิมของประเทศมาใช้ในการแข่งขัน และยิ่งหากสามารถ
ประยุกต์เทคโนโลยีจีโนมเพื่อสร้างขยายความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพออกไปอีก ก็อาจพอมี
ทางที่จะอยู่ในวิสัยที่แข่งขันได้ข้อพึงระวังคือ การพัฒนาด้านจีโนมจะทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาได้
ประเทศอื่นๆ ก็อาจสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับของดีของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีจีโนม 
การสร้างพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมือนข้าวหอมมะลิคงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ดังนั้นประเทศไทยควรมี
การกำหนดแนวทางการพัฒนาทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องเข้าสู่การแข่งขันต่อยอด
ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ให้ดีขึ้นไปอีก และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาด


	ระยะที่ 3: 	ระยะการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์(ชีวภาพ) และแบบจำลองสิ่งมีชีวิต 
		(electronic organisms) แม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้จะเป็นของที่มีอยู่แล้ว แต่ผลกระทบ
		จากการวิจัยจีโนมจะมีมากจนทำให้เทคโนโลยีของโลกทางด้านนี้ก้าวกระโดดขึ้นไป
		อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีจีโนมจะนำไปสู่ความรู้ด้านชีววิทยาในเรื่องการทำงานของ
		สมอง การควบคุมระบบประสาทและการควบคุมการทำงานของร่างกายมนุษย์ 
		ความรู้เหล่านี้จะหลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีการสร้าง
		หุ่นยนต์เทคโนโลยีการสร้างวัสดุชีวภัณฑ์ให้ใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อมนุษย์ และ
		นาโนเทคโนโลยี แล้วก่อให้เกิดความรู้ขั้นสูงที่ทำให้วิศวกรและนักคอมพิวเตอร์
		สามารถสร้างหุ่นยนต์	ชีวภาพและใส่โปรแกรมการทำงานในลักษณะใกล้เคียงกับ
		มนุษย์ และคงจะดีกว่าในหลาย ๆ ด้าน เช่นความเร็วความแม่นยำ หุ่นยนต์ชีวภาพ
		เหล่านี้จะมีสมองที่มีความสามารถเร็วกว่าสมองมนุษย์ สามารถเข้าถึงข้อมูล
		ในฐานข้อมูลชนิดต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำสูง สามารถสร้างแบบจำลอง
		ของผลิตภัณฑ์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในคอมพิวเตอร์ได้อย่างแม่นยำ


	ระยะที่ 4: 	ระยะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์และมีผลกระทบรุนแรงต่อปัจเจกบุคคลและ
		สังคมโดยรวม การมีแบบจำลองที่แม่นยำของทั้งผลิตภัณฑ์และสิ่งมีชีวิต รวมทั้ง
		สิ่งแวดล้อมต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ จะทำให้การทดสอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยการ
		จำลองเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีราคาถูก นอกจากนั้นก็จะเป็นระยะที่เทคโนโลยีต่างๆ 
		มีความสมบูรณ์สูงมากขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์
		ทำให้มีเทคโนโลยีสำหรับการคัดกรอง คัดเลือก และทดสอบ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ 
		อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาของการรอทดสอบเป็นเวลานาน ในระยะที่ 2 
		ที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงจำนวนมหาศาลไหลเข้าสู่
		ตลาดอย่างต่อเนื่อง 


	ท้ายที่สุดเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าสูงสุดขนาดที่สามารถออกแบบ และสร้างผลิตภัณฑ์
ชีวภาพใหม่ได้เองทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งรวมทั้งการสร้างวัตถุดิบเองที่ไม่เคยมีในธรรมชาติมาก่อนได้ด้วย


				***

ที่มา : http://www.thainhf.org/html/modules.php?name=News&file=article&sid=267