พันธุกรรมมนุษย์กับคุณภาพคน พระไพศาล วิสาโล วัดป่ามหาวัน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ *** ในทางการแพทย์ การศึกษาในเรื่องพันธุกรรมมนุษย์นั้นเจริญก้าวหน้าไปเร็วมาก และ มีผลกระทบอย่างรวดเร็ว รุนแรงต่อคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการเจาะจงมาตรการในเชิงจริยธรรมต่าง ๆ อาจจะไม่ทันการณ์หรือล้าสมัย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อรักษาโรค อาจจะ เป็นได้ว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าอาจจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะการบำบัดยีนพัฒนาไปไกลมาก จนกระทั่งมาทดแทนการปลูกถ่ายอวัยวะ เราจึงควรพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการศึกษา พันธุกรรมมนุษย์อย่างใกล้ชิด และทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จริยธรรมสืบเนื่องจากเทคโนโลยีการแพทย์ มีปัญหา 2 ประการ คือ ๑. ปัญหาในเชิงจริยธรรมที่เกิดขึ้นโดยตรง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยชัดเจน เช่น การทำแท้ง เป็นการเกิดปัญหาและมีความชัดเจนว่าถูกหรือผิดจริยธรรม การที่ไปยุ่งเกี่ยวทำให้ชีวิตตกร่วงไป การทำให้ ผู้ป่วยตายอย่างสงบ หรือว่าทดลองกับมนุษย์โดยไม่ยินยอม อันนี้เป็นปัญหาโดยชัดเจน ซึ่งไม่ใช่ประเด็น ในที่ประชุมในวันนี้ ๒. ปัญหาที่เป็นผลสืบเนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าว เรื่องนี้เป็นเรื่องยากเพราะเราไม่สามารถ ทำนายได้ว่าจะเกิดผลทางจริยธรรมอย่างไรบ้างจากการกระทำของเรา เนื่องจากความรู้ของเรานั้นมักจะ มีความจำกัดอยู่เสมอ เช่นการรักษาทารกด้วยเนื้อเยื่อหรือเซลล์ต้นตอ (stem cell) เป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยรักษา โรค แต่ผลที่ตามมาก็คืออาจจะส่งเสริมการแท้ง หรือปัญหาด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่เพียงแต่นำไปสู่ การซื้อขายอวัยวะ แล้วก็คนจนเป็นเหยื่อเท่านั้น แต่ในหลาย ๆ กรณีถึงกับมีการฆ่ากันเพื่อเอาอวัยวะ ไปปลูกถ่าย รักษาโรคให้คนรวย มีปัญหาทางจริยธรรมตามมา อันเนื่องมาจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ความรู้และองค์ความรู้ทางพันธุกรรม มีผลต่อจริยธรรม การหามาตรการกำกับการปฏิบัติว่าจะใช้หรือปฏิบัติอย่างไร เช่น การทำ genetic test หรือ genetic screening จะทำอย่างไร จะนำมาใช้อย่างไร จะนำมาใช้ในการปฏิบัติกับผู้ที่มียีนไม่ดี หรือว่า จะใช้อย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว การพิจารณาเพียงเท่านี้อาจจะยังไม่เพียงพอ เราควรมองไปถึงอีกระดับหนึ่ง ถึงตัวความรู้และองค์ความรู้ทางพันธุกรรมเอง ซึ่งมีผลต่อจริยธรรมอย่างมาก ประการแรก เรายังมีความรู้ไม่มากพอและไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอะไรจาการกระทำนั้นบ้าง เช่น ถ้าหากว่ามีการผลิตเด็ก GM ซึ่งทำให้มีสารพันธุกรรมที่แปลกปลอม ไม่ใช่ของพ่อหรือของแม่เด็ก เรายังไม่รู้ถึงปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในร่างกายและมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เรารู้น้อยมากและ ก็ผิดพลาดอยู่เสมอ การที่เกิดปัญหาเอเลี่ยนสปีชี่ส์ (alien species) คือการเอาสิ่งมีชีวิตแปลกปลอม ไปไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น เอากระต่ายไปออสเตรเลีย หรือเอาหนูไปที่ฮาวาย เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง เรามักรู้ทีหลังเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ชี้ว่าความรู้ของเรามีจำกัด เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เราก็เคย เชื่อว่าคนที่ปัญญาอ่อน หรือเป็นโรควิกลจริตนั้นเป็นผลทางพันธุกรรมและสามารถจะถ่ายทอดไปสู่ ลูกหลานได้ เพราะฉะนั้นจะต้องทำหมัน จึงได้เกิดกฎหมายทำหมันกับคนประเภทนี้ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ในสวีเดน ญี่ปุ่นและเยอรมัน แม้กระทั่งในอเมริกา 30 ปีที่แล้วก็ยังมีกฎหมายอย่างนี้อยู่ในบางรัฐ และก็มีการทำหมันกับคนเป็นจำนวนมาก แต่เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่าไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป อันนี้เป็นความรู้ ที่มีอยู่จำกัด บางครั้งมีผลต่อจริยธรรมตามมา โดยที่เราไม่คาดคิด ประการที่ 2 ความรู้อันจำกัดนั้นมีขอบเขต สามารถจะใช้ได้กับความจริงที่จำกัดหรือในบริบทใด บริบทหนึ่งเท่านั้น และยังมีสิ่งอื่นๆที่เป็นปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลง บางครั้งมีแนวโน้มว่าเราเอาความรู้ที่มี ไปอนุมานจนกลายเป็นความจริงในทุกกรณี เช่น ค้นพบว่าโรคหลายโรค หรือลักษณะของเราหลายอย่าง เกิดจากยีน ทำให้มีแนวโน้มที่จะสรุปว่าธรรมชาติของมนุษย์ทั้งหมดถูกกำหนดโดยยีน ซึ่งก็นำไปสู่ความคิด ว่าชะตากรรมของเราทั้งหมดขึ้นอยู่กันยีน คนจึงมีความคิดว่าไม่เราสามารถทำอะไรได้ ต้องรอให้แพทย์ มาปรับปรุงยีนอย่างเดียวจึงจะหายป่วย หรืออาจจะนำไปสู่ทัศนะที่ว่ามนุษย์เหลือแค่มิติทางกายภาพ อันที่จริงปัจจัยที่มีผลกระทบกับมนุษย์มีหลายปัจจัย ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า “ภีชะนิยาม” ยีนและ สิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยทางด้านกายภาพ เพราะฉะนั้นเรื่องยีนเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่ง เท่านั้นเอง ที่มีผลกระทบต่อชะตากรรมและปัจเจกบุคคล สิ่งสำคัญที่มีผลกระทบได้อย่างมากที่สุดต่อ ชีวิตมนุษย์อย่างหนึ่งคือ “กรรม” การละเมิดชีวิต ความรู้ทางด้านพันธุกรรม อาจก่อให้เกิด“การละเมิดชีวิต” ซึ่งมีความสำคัญกว่าปัญหา จริยธรรมอื่นๆ เช่น สิทธิในทรัพย์สิน (Property Rights) เช่น สิทธิในข้อมูลพันธุกรรมว่าเป็นของใคร ศักดิ์ศรีของมนุษย์ (Human Dignity) หรือ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) การละเมิดชีวิตอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อความรู้ทางด้านพันธุกรรมถูกนำไปใช้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ในทางธุรกิจหรือในทางการเมือง เช่น ในสมัย100 ปีก่อน มีการทำหมันคนเป็นแสน ๆ เพื่ออ้างว่าจะสร้างเผ่าพันธุ์ดีให้กับมนุษย์เพราะ มีจุดมุ่งหมายในทางการเมือง แต่ว่าเวลานี้มีการนำความรู้ไปใช้ในทางธุรกิจ ทางการค้ามากขึ้น ซึ่งจะมีการละเมิดชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย ปัญหาเรื่องการกำกับการนำความรู้มาใช้ประโยชน์ กระแสการปรับปรุงยีนโดยอาศัยผลประโยชน์ทางธุรกิจกำลังจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ ปัญหา เรื่องการกำกับการนำความรู้มาใช้ประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง อีกไม่นานการกำกับ ดูแลอาจจะพ้นจากอำนาจของการแพทย์ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เทคโนโลยี ก่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ถึงขั้นสุดโต่งอย่างที่เกิดมาแล้วกับวงการศัลยกรรม เสริมทรง ซึ่งเดิมคงเริ่มต้นด้วยเจตนาดี คือช่วยเหลือ ผู้พิการ คนถูกไฟไหม้ คนปากแหว่ง เพดานโหว่ แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นเรื่องของธุรกิจ แล้วทำให้มีผลต่อ ค่านิยมของคน จนกระจายไปจากผู้หญิงไปสู่ในหมู่ผู้ชาย และมีแนวโน้มว่าจะมีการนำไปใช้จนมีการเอารัด เอาเปรียบกันในสังคม เรื่องนี้นอกจากแพทย์แล้วคงต้องอาศัยสังคม กฎหมาย ความรู้ ความเข้าใจ และ จิตสำนึกในคุณค่าของทุกคนช่วยกันพิจารณา ความรู้ทางพันธุกรรมทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม ความรู้ทางพันธุกรรมอาจทำให้ความไม่ยุติธรรมในสังคมมีความรุนแรงมากขึ้น มีการเอารัด เอาเปรียบมากขึ้น เวลานี้ช่องว่างระหว่างสังคมและโลกมีมากอยู่แล้ว genetic technology จะช่วยให้ ช่องว่างระหว่างสังคมแคบเข้าหรือห่างออก จะทำให้สังคมมีความยุติธรรมหรืออยุติธรรมมากขึ้น ขณะที่เราพูดเรื่องการเลือกเพศ โดยใช้ genetic screening คนอีก 800 ล้านคนทั่วโลกยังไม่มีแม้กระทั่ง น้ำดื่มที่สะอาด เหมือนที่เราเคยพูดในอดีตว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้กันครบ แต่ประชาชนในต่างจังหวัดในบางพื้นที่ยังไม่มีน้ำสะอาดใช้ อย่างไรก็ตามเราไม่ควรมองปัญหาเชิงจริยธรรม ในด้านลบหรือปฏิเสธ คือการเบียดเบียน การละเมิดเท่านั้น ต้องมองในเชิงบวกด้วยว่าทำให้เกิดการเอื้ออาทร หรือเปล่า ควรขยายมุมมองไปยังจริยธรรมในเชิงปัจเจกบุคคลและจริยธรรมในเชิงสังคมด้วย *** ที่มา : http://www.thainhf.org/Bioethics/article/genitics.doc