การุณยฆาตกับ ร่าง พรบ.ปฏิรูปสุขภาพ. *** ร่างกฎหมายปฏิรูปสุขภาพที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการรับฟังความคิดเห็น และจัดเวที สมัชชาระดมความเห็นตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับเป็นอีกกฏหมายหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเนื้อหาสาระที่ด ีๆ รับรองไว้ หลายเรื่อง เช่นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย (มาตรา ๘-๒๔) การกำหนดว่ารัฐต้องดูแลให้บริการ สาธารณสุขโดยไม่ให้กลายเป็นการหากำไรเชิงธุรกิจ, (มาตรา ๓๑) การกำหนดว่าความมั่นคง ด้านสุขภาพต้องครอบคลุมถึงด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การเมือง ความยุติธรรม เทคโนโยลี ความเชื่อ และวัฒนธรรม,(มาตรา ๓๔) การรับรองประชาชนรวมตัวกันตั้งสมัชชาต่าง ๆ เพื่อเคลื่อนไหว รณรงค์ ในเฉพาะประเด็น หรือเฉพาะท้องถิ่นได้, (มาตรา ๖๔) และที่น่าสนใจ อีกเรื่องคือ การกำหนดว่า การจ่ายเงินด้านสาธารณสุขของประชาชน ต้องเป็นไปตามสัดส่วน ความสามารถในการจ่าย ไม่ใช่จ่ายตามความสามารถตามภาระความเสี่ยง (มาตรา ๙๔ วงเล็บ ๑) สิ่งดี ๆ ที่บรรจุไว้ในร่าง พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่แทรกเป็นยาดำอยู่ในร่าง กฏหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายความคิดของสังคมไทยอย่างมาก นั่นคือ มาตรา ๒๔ ที่รับรอง สิทธิการตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นั่นคือ เรากำลังจะมีกฎหมายที่รับรองเรื่อง การุณยฆาต หรือ Mercy Killing การุณยฆาตคืออะไร การุณยฆาต หมายถึง การกระทำ หรืองดเว้นการกระทำ อย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้บุคคล ที่ตกอยู่ในสภาวะน่าเวทนา เดือดร้อนแสนสาหัส เนื่องจากสภาวะทางร่างกาย หรือจิตใจไม่ปรกติ ขาดการรับรู้เรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น ทำการรักษาให้หายไม่ได้ ดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ก็มีแต่จะสิ้นสภาพ การเป็นมนุษย์ จบชีวิตลงเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน รักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ จำกัดความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ สรุปอย่างง่ายคือ การทำให้ผู้ป่วยตายด้วยเจตนาที่แฝงด้วยเจตนาที่ดี ทำลงไปด้วย ความกรุณาเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมาน การุณยฆาต มีอยู่สองแบบ คือ ๑. การช่วยให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังตายอย่างสงบ (active euthanasia) คือ การที่แพทย์ฉีดยา ให้ยา หรือ กระทำโดยวิธีอื่น ๆ ให้ผู้ป่วยตายโดยตรง การยุติการใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็จัดอยู่ในประเภทนี้ด้วย ๒. การปล่อยให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังตายอย่างสงบ (passive euthanasia) คือ การที่แพทย์ไม่สั่งการรักษา หรือยกเลิกการรักษา ที่จะยืดชีวิตผู้ป่วยที่สิ้นหวัง แต่ยังคงให้การดูแลรักษาทั่วไป เพื่อช่วยลด ความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลง จนกว่าจะเสียชีวิตไปเอง ในต่างประเทศขณะนี้ เริ่มมีการยอมรับกันบ้างในประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ บางรัฐในออสเตรเลีย และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา บางประเทศก็มีระเบียบวางไว้ว่า ต้องยึดถือเจตนา ของผู้ตายเป็นสำคัญ บางประเทศก็ให้อยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้ตัดสินใจแทน และ บางประเทศก็ให้ใช้เป็นคำสั่งศาล การุณยฆาตในสังคมไทย ตามหลักการทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา ใครก็ตามที่กระทำให้คนอื่นตาย ไม่ว่าเจตนา หรือไม่เจตนา ล้วนแต่มีความผิดข้อหาฆ่าคนตายทั้งสิ้น และตามกฏหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็มิได้มีการรับรองเรื่องการุณยฆาต ดังนั้น ก็ต้องนับว่าการุณยฆาต นับเป็นการฆ่าคนตายด้วยเจตนา ในทางปฏิบัติของวงการสาธารณสุขมีการยอมรับเรื่องเหล่านี้ และเป็นเรื่องที่ต้องลักลอบปฏิบัติกัน อย่างเป็นความลับทุกครั้ง เปิดเผยให้คนอื่นรู้ไม่ได้ กล่าวอย่างง่าย ๆ ปัญหาเรื่องการุณยฆาต ก็คล้าย ๆ กับเรื่องปัญหาการทำแท้งเสรี คือ มีการปฏิบัติกันอยู่ตลอดเวลา แต่กฎหมายยังไม่ยอมรับ เพราะเดินตามภาวะความเป็นไปของสังคมไม่ทัน ตามร่าง พรบ. สุขภาพแห่งชาต ิถึงแม้จะไม่ได้เขียนเรื่อง การุณยฆาตไว้อย่างตรง ๆ แต่เขียนไว้เพียงว่ารับรองการตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระบุไว้ชัดเจนเลยว่า ต้องเป็นการแสดงความจำนงจากตัวผู้ป่วยเอง ว่าเลือกที่รับการรักษา หรือยุติการรักษา ที่เป็นเพียง การยืดชีวิตในวาระสุดท้ายของชีวิต เราควรทำอย่างไรกับผู้ป่วยที่ทรมานกับการลุกลามของมะเร็งในระยะสุดท้าย, ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยขั้นโคม่า ที่อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ กับยาเพิ่มความดัน, ผู้ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง ที่ถึงแม้ จะมีชีวิตรอด แต่ก็ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ตกอยู่ในสภาพ "ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง" ต้องอยู่ในลักษณะเหมือนเป็นผักปลา หรือมีชีวิตอยู่อย่างที่นักกฎหมายเรียกว่า ไม่เหลือศักดิ์ศรีของ ความเป็นมนุษย์ ถ้าทำให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ แพทย์อาจต้องรับผิดทางอาญา หรือขัดต่อหลักจริยธรรม มีโอกาสถูกฟ้องฐานฆ่าผู้อื่น แต่ถ้าผู้ป่วยแสดงเจตนาที่ตายของยุติชีวิตของตนเองเพื่อไม่อยากทน ทุกข์ทรมาน แต่แพทย์กลับช่วยในทุกวิถีทาง แพทย์ก็อาจละเมิดสิทธิของผู้ป่วย รวมทั้งสร้างปัญหา ให้แก่ญาติที่ต้องแบกรับภาระเรื่องค่ารักษาพยาบาล ในที่สุดเราคงต้องพิจารณากันให้รอบคอบกับการุณยฆาต หากกระบวนการตัดสินใจ ก่อนลงมือการุณยฆาตคนป่วยผิดพลาด หรือถูกบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่น หรือถูกนำไป เป็นคำอ้างของแพทย์ที่จะยุติการรักษาคนป่วยที่ยากไร้ จะยึดอะไรเป็นมาตรฐานในการแสดงเจตนาที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรี การที่ ร่าง พรบ. สุขภาพแห่งชาติ ได้รับรองสิทธิการตายอย่างมีศักดิ์ศรีว่า ต้องเกิดจากการแสดงความจำนงของ ผู้ป่วยเท่านั้น เท่ากับว่าสิทธิที่จะอยู่หรือตาย เป็นสิทธิส่วนตัวของผู้ป่วยเอง คงจะไม่มีปัญหาอะไร ที่การแสดงความจำนงนั้นผู้ป่วยได้บอกกล่าวไว้ หรือทำหลักฐานเป็นพินัยกรรมไว้ก่อนล่วงหน้า แต่ในทางตรงข้าม โดยทั่วไปของผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ส่วนมากจะอยู่ ภาวะที่ไม่สามารถแสดงความจำนงอะไรได้ คนป่วยที่นอนหลับสลบไสลอยู่ในห้องไอซียูนานนับปี ผู้ป่วยที่พูดไม่ได้ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ และผู้ป่วยที่อยู่สถานะภาพที่เป็นผู้เยาว์ หากตามประเพณีปฏิบัติที่ทราบกันดีอยู่ อำนาจการตัดสินใจว่าจะรักษา หรือไม่รักษา ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ ผู้ที่รู้ดีที่สุดถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย และญาติผู้ที่จะรับผิดชอบ ค่ารักษา การลิดรอนชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งในลักษณะ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และ คงยอมรับกันได้ยาก หากการตัดสินใจว่าจะอยู่ หรือตาย เกิดจากการตัดสินใจของคนอื่นที่มิใช่ ตัวผู้ป่วยเอง และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะสร้างความสับสน และวุ่นวายในปัญหาเชิงจริยธรรมในอนาคต อย่างแน่นอน เช่น กรณีที่ผู้ป่วยเป็นคนมั่งคั่ง มรดกมาก แล้วมีคนรอรับผลประโยชน์หลังการตาย ของผู้ป่วยคนนั้น และจะเลวร้ายยิ่งขึ้นถ้าเกิดการสมยอม ว่าจ้าง ให้แพทย์ช่วยทำการกรุณยฆาต หรือกรณีที่คนป่วยผู้ยากไร้ อยู่ภาวะที่ยากจน แล้วแพทย์ให้ข้อมูลหว่านล้อม โมเม ให้ผู้ป่วยแสดง เจตนาว่าประสงค์ที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อให้ทางโรงพยาบาลได้ประหยัดต้นทุนการรักษา ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยคนนั้นพอมีทางรอดได้ จะปฏิเสธหรือยอมรับให้มี แต่ต้องขยายความ มาตรา ๒๔ ให้รัดกุมขึ้น บทความนี้ คงไม่ชี้นำ หรือฟันธงว่า สมควรยอมรับการมีการุณยฆาตหรือไม่ เพียงแต่อยากให้ข้อมูลคุณผู้อ่าน ให้ช่วยกันพิจารณา ใน ๒ แนวทาง แนวทางที่ ๑ คือ ปฏิเสธแนวคิดนี้ เพราะขัดต่อศีลธรรมอันดี การประหาร ตัดรอนชีวิตผู้หนึ่งผู้ใดเป็นบาป ผิดต่อศีลธรรมอย่างร้ายแรง และอาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้คนไม่ดีแอบอ้างเจตนาผู้ป่วย เพื่อผลประโยชน์ แนวทางที่ ๒ คือ ยอมรับแนวคิดนี้ แต่สมควรจะต้องมีการเพิ่มเติมเนื้อหาสาระในร่าง พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องนี้ การที่รับรองไว้เพียงมาตราเดียว น่าจะเกิดช่องว่างตามมาอีกมาก หรือต้องมีการออก กฎหมายอีกฉบับ เพื่อมาประกอบกับร่าง พรบ. สุขภาพแห่งชาติ ที่ว่าด้วยเรื่องการุณยฆาตเป็นการเฉพาะ ซึ่งมีเนื้อหาที่ต้องมีการวางมาตรการที่รัดกุม รอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ว่าจะเอามาตรฐานใดในการ แสดงเจตนาว่าผู้ป่วยประสงค์ที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลไกในการตรวจสอบเจตนานั้น ว่าเป็นเจตนาที่แท้จริงหรือไม่ ผู้อื่นจะแสดงเจตนาแทนผู้ป่วยได้หรือไม่ ตลอดจนบทกำหนดโทษที่รุนแรง สำหรับคนที่นำเรื่องการุณยฆาตไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หวั่นเกรงเพียงอย่างเดียว คือ หากเรื่องการุณยฆาตเป็นที่ยอมรับกันว่าถูกต้องตามกฎหมาย แล้วต่อไปหากใครที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล จะถูกมั่วนิ่มหลอกให้เซ็นชื่อไว้ล่วงหน้าว่า ประสงค์ที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรี โดยที่ผู้ป่วยเองไม่ทราบว่าตัวเองถูกเขาหลอกให้ลงชื่อไปแล้ว... *** ที่มา : http://www.roiet.go.th/webboard/view.php?128