ผลกระทบด้านจริยธรรมของการศึกษาวิจัย STEM CELL ดร. นเรศ ดำรงชัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ *** stem cell หรือที่ในภาษาไทยอาจแปลได้ว่า เซลล์ต้นกำเนิด หรือเซลล์ต้นตอ คือ เซลล์ชนิดหนึ่งในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ที่มีความสามารถพิเศษในการสร้างเซลล์เฉพาะทางที่จะ เจริญเติบโต (differentiate) ต่อไป และอาจกลายเป็นเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะในที่สุด stem cell มีทั้งที่เป็นเซลล์จากตัวอ่อน (embryonic stem cells – ES cells) และที่มาจาก ตัวโตเต็มวัย (adult stem cells) ซึ่งในกรณีหลังนี้โดยทั่วไปเซลล์จะถูกกำหนดชะตากรรม (fate) แล้ว ว่าจะกลายไปเป็นเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะกลุ่มใด (multipotent) หรือเฉพาะเจาะจงชนิดใด (unipotent) และไม่สามารถเปลี่ยนได้ (แต่ขณะนี้เริ่มพบว่าอาจมีข้อยกเว้นแล้วในบางกรณี) ต่างจากเซลล์จาก ตัวอ่อนที่ยังคงความสามารถในการเติบโตต่อไปเป็นเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะได้มากชนิดกว่า (pluripotent) หรือสร้างได้ทั้งตัว (totipotent) ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น คาดว่าสามารถอาศัยความสามารถพิเศษนี้ของ stem cell ประยุกต์ใช้เพื่อสร้างเนื้อเยื้อหรืออวัยวะสำหรับซ่อมแซมหรือเป็นอะไหล่สำหรับร่างกายส่วนที่ ไม่ทำงานเป็นปกติ เช่น ประสาท หัวใจ หรือเครื่องในอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้หลักการของ การทำโคลน (cloning) ในการสร้าง embryonic stem cell ก็จะช่วยให้สามารถนำเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ ที่ได้นั้นมาปลูกถ่ายให้กับคนไข้ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จากความคาดหวังในการประยุกต์ใช้ในเชิงแพทย์สาขาที่มีความต้องการสูงเช่นนี้ ทำให้เป็น เป้าหมายของการวิจัยที่ได้รับความสนใจมากที่สุดหัวข้อหนึ่งในระยะหลายปีมานี้ และมีความก้าวหน้า ไปเร็วเท่า ๆ กับที่ในหลายประเทศเริ่มมีความห่วงกังวลในเรื่องการควบคุมดูแลให้กระบวนการวิจัยด้านนี้ มีความถูกต้องตามครรลองของจริยธรรม สถานภาพของการศึกษาวิจัย stem cell ในโลก แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักมานานแล้ว แต่ความเข้มข้นของการวิจัยเกี่ยวกับ stem cell ในโลกเพิ่งจะ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่เกิน 3-4 ปีมานี้ โดยสังคมโลกได้เริ่มจับตามองคุณประโยชน์หรือการประยุกต์ ใช้เทคนิคการโคลนนิ่งในทางสร้างสรรค์ เพื่อสร้างอวัยวะทดแทนเพื่อปลูกถ่ายให้แก่ผู้ที่สูญเสียอวัยวะ บางส่วนไปเมื่อประมาณต้นปี 1998 ครั้งที่มีผลงานตีพิมพ์จากนักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Advanced Cell Technologies (ACT) กล่าวถึงการนำเซลล์มนุษย์มาหลอมรวมกับไข่ของวัวเพื่อสร้างตัวอ่อน แล้วนำ stem cell มาเพาะเลี้ยงได้สำเร็จ โดยพยายามจะกระตุ้นให้กลายเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะสำหรับ นำไปปลูกถ่ายเชิงการแพทย์ ครั้งนั้นนิตยสารของโลกหลายฉบับเช่น TIME หรือ Business Week ต่างก็ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องวิธีการในการสร้างอวัยวะทดแทนนี้ วิธีการของ ACT คือ นำไข่ที่ปราศจากนิวเคลียสของวัวซึ่งหาได้ง่าย ผสมกับเซลล์ที่โตเต็มที่แล้ว ของคน ตัวอ่อนที่ได้จากกระบวนการนี้จะมีสารพันธุกรรมของคน แต่ไม่สามารถโตเต็มที่ได้และจะฝ่อไปเอง แต่ก่อนหน้านั้นผู้วิจัยได้ดึงเอาเซลล์จาก inner cell mass ของระยะตัวอ่อน (blastocyst) นี้ออกมาเพาะเลี้ยง ในห้องทดลองให้กลายเป็น cell line ได้สำเร็จ ในขณะนั้นคาดว่าเมื่อต้องการสร้างเนื้อเยื่อส่วนไหนก็เลือก กระตุ้นด้วยวิธีการหรือตัวกระตุ้นที่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้ได้เนื้อเยื่อหรือได้กระทั่งอวัยวะตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ถูกต่อต้านมาก เนื่องจากประชาชนทั่วไปเมื่อได้ทราบข่าวนี้ต่างก็เข้าใจว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ทำโคลนนิ่งมนุษย์ผสมกับวัว ทำให้ตีความว่าเป็นเรื่องผิดจริยธรรมและถูกต่อต้านอย่างมาก ต่อมาแนวโน้มการวิจัยจึงเริ่มหันไปในสองทิศทาง แนวทางแรกคือการใช้กระบวนการโคลน เช่นเดิมแต่เลือกใช้ไข่ของมนุษย์เองแทนที่จะใช้ไข่ของวัว แนวทางที่สองคือการขอรับตัวอ่อนจาก ห้องปฏิบัติการคลีนิคผสมเทียม ซึ่งแต่ละครั้งจะมีการทำตัวอ่อนและต้องทิ้งตัวอ่อนที่เผื่อเหลือและไม่ใช้ อีกต่อไปเป็นปกติอยู่แล้ว แนวทางที่สองนั้นแม้ว่าจะได้ stem cell มาใช้สำหรับวิจัย แต่เมื่อถึงขั้นตอน การนำไปใช้ก็คงต้องกลับมาใช้วิธีการแรกอยู่ดี เพราะจะต้องทำการโคลนเพื่อให้ได้เนื้อเยื่อที่ไม่ถูก ต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของผู้รับรายเดียวกันขณะนี้มีคณะนักวิจัยอย่างน้อย 3 กลุ่มในโลก ที่สามารถพัฒนาเซลล์มนุษย์สำหรับเลี้ยงได้ต่อเนื่อง (established cell line) จาก stem cell ซึ่งทั้งหมด ก็ได้มาจากตัวอ่อนมนุษย์นั่นเอง การวิจัยกำลังมุ่งไปที่การหาเงื่อนไขที่จะกระตุ้นให้เซลล์เหล่านั้น กลายเป็นเนื้อเยื่อเฉพาะอย่างที่ต้องการ ขณะนี้แม้ว่าจะเริ่มมีผลการวิจัยออกมาในเชิงให้ความหวังว่า การกระตุ้นเซลล์ให้แบ่งตัวเป็นเนื้อเยื่อที่ต้องการนั้นพอจะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่เป็นการง่ายที่จะสร้าง กลุ่มเซลล์ที่มีความบริสุทธิ์เพียงพอสำหรับการรักษาด้วยเซลล์ (cell therapy) นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าที่ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อยู่ได้แก่ Douglas Melton แห่ง Harvard University, Oliver Brustle แห่ง University of Bonn ในเยอรมัน, Peter Andrews แห่ง University of Sheffield, James Thomson แห่ง University of Wisconsin, Madison, และทีมนักวิจัยของบริษัท Geron Corp. ในแคลิฟอร์เนีย สถานภาพของการศึกษาวิจัย stem cell ในประเทศไทย ในประเทศไทยนั้น มีกลุ่มที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ stem cell ที่เป็นที่ทราบชัดก็คือกลุ่มของ มหาวิทยาลัยมหิดล จากการสอบถามพบว่าขณะนี้ (มีนาคม 2544) อยู่ในระหว่างการจัดเตรียมข้อเสนอ โครงการ และหารือภายใน ก่อนที่จะนำเสนอยังสภาวิจัยแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยตระหนักดี ถึงปัญหาทางจริยธรรมอันอาจเกิดขึ้นจากงานวิจัยนี้ จึงหันไปเน้นการศึกษาวิจัย stem cell ของสัตว์ เช่น วัว ซึ่งผู้วิจัยบางท่านมีประสบการณ์ด้านนี้มานับสิบปีแล้ว ในอีกด้านหนึ่งนั้นผู้วิจัยก็จะอาศัยการใช้ adult stem cell เช่น เซลล์จาก peripheral blood เพื่อนำไปสู่การสร้างเนื้อเยื่อมนุษย์ ส่วน embryonic stem cell นั้นคาดว่าจะใช้ cell line ของมนุษย์ในการวิจัยไปก่อน ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องจริยธรรมของการศึกษาวิจัย stem cell ไม่ว่าในกรณีใด หากมีการสร้างตัวอ่อนเพื่อนำเซลล์จากตัวอ่อนมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การทำลาย ตัวอ่อนนั้นภายหลัง ก็จะประสบปัญหาการต่อต้านจากกลุ่มผู้มีแนวความคิดอนุรักษ์ชีวิต ว่าเป็นการหยุดยั้ง โอกาสในการเติบโตของชีวิต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผิดหรือล่อแหลมในเชิงจริยธรรม แม้ว่าตัวอ่อนที่นำมาใช้ จะอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาเป็นชีวิตและในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ถือว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ในกรณีที่เป็นการนำตัวอ่อนมาจากคลีนิคผสมเทียมซึ่งตัวอ่อนเหล่านั้นก็จะถูกทำลายอยู่ดี ก็อาจเป็นสิ่ง ที่ยอมรับได้แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ว่าสถานะของตัวอ่อน (moral status of embryo) ควรเป็นอย่างไร นั่นคือ ควรจะเริ่มนับว่าตัวอ่อนเป็นมนุษย์และมีสิทธิมนุษยชนครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่เมื่อไหร่ ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้คนจำนวนมากเป็นห่วงว่า กระบวนการโคลนมนุษย์ซึ่งขณะนี้ดำเนินไป เพื่อการนำเซลล์มาบำบัดรักษา (therapeutic cloning) หากไม่มีการควบคุมดูแลที่ดีพอ อาจจะนำไปสู่ การโคลนเพื่อสร้างตัวมนุษย์ขึ้นมาใหม่ให้เหมือนกับต้นแบบ (reproductive cloning) ซึ่งยังเป็นที่ยอมรับ กันโดยทั่วไปว่า ไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในสังคมมนุษย์ปัจจุบัน มีวิธีการหลีกเลี่ยงปัญหาเชิงจริยธรรมเหล่านี้ไหม? ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มกำลังพยายามค้นหาแนวทางการวิจัยที่จะดำเนินต่อไปได้ โดยไม่มีปัญหาเชิงจริยธรรมเหล่านี้ ทั้งปัญหาที่มีแล้วและยังไม่มีแต่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยการเลือกทางเลือกที่สาม นั่นคือการเลือกศึกษา adult stem cell ที่ยังเหลือความสามารถเพียง ในระดับ multipotent อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยล่าสุดพบว่า มีเค้าว่าจะสามารถหมุนความสามารถของ adult stem cell ให้ย้อนกลับไปแบ่งตัวแบบ pluripotent ได้อีกโดยไม่ต้องใช้ตัวอ่อน แนวปฏิบัติหรือมาตรการทางกฎหมายที่ควบคุมการวิจัยเกี่ยวกับการโคลนและ stem cell ในโลกการวิจัยเรื่อง stem cell จะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จเร็วแค่ไหน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ กฎระเบียบที่ถูกบัญญัติขึ้นมาควบคุมการวิจัยสาขานี้ด้วย ว่าจะควบคุมเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน ในทางตรงข้ามหากไม่มีมาตรการทางกฎหมายใด ๆ เลยก็ย่อมเป็นการสร้างสภาวะที่ล่อแหลม ต่อการเกิดความรู้สึกในเชิงต่อต้านของสาธารณชนได้ รวมทั้งอาจมีการวิจัยที่มีลักษณะที่ฝืนจริยธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ผลที่ไม่คาดคิดและไม่พึงประสงค์ของสังคม แนวทางของ UNESCO ในระดับสากล องค์การ UNESCO ได้จัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมชีวการแพทย์ (International Bioethics committee - IBC) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิจาก สาขาต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 35 คน โดยให้มีหน้าที่พิจารณาประเด็นและแง่มุมต่างๆ ทางจริยธรรมเกี่ยวข้องกับ การศึกษาวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านชีววิทยาและการแพทย์ และให้ข้อเสนอแก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางร่วมกันในระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดมาตรการ ในการส่งเสริมเพื่อให้สังคมต่าง ๆ มีความรู้ความเข้าใจและวิธีคิด รวมทั้งหาข้อสรุปร่วมกันในประเด็นทาง จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางชีวการแพทย์และการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยในการแก้ปัญหา สุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วโลกให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง IBC ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อสรุป ทางด้านจริยธรรมที่พึงกระทำเกี่ยวข้องกับการวิจัยในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการวิจัยเกี่ยวกับ stem cell ด้วย รายงานของคณะทำงานว่าด้วย ประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับการวิจัยเกี่ยวกับ stem cell ของ UNESCO ที่แต่งตั้งขึ้นโดย IBC นี้ได้พิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับการใช้ตัวอ่อน (embryo) ของมนุษย์ เป็นแหล่งของ stem cell สำหรับการศึกษาวิจัย (รวมทั้งการใช้ประโยชน์ต่อไปเมื่อผลการวิจัย ประสบผลสำเร็จ) เลขานุการคณะทำงานประกอบด้วย Mr. Alexander McCall Smith ซึ่งเป็นอาจารย์ ทางกฎหมายจากสก็อตแลนด์ ร่วมกับ Mr. Michel Ravel ซึ่งเป็นนักพันธุศาสตร์จากอิสราเอล คณะทำงานชุดนี้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจให้ชัดเจนได้ยาก เพราะมีความเห็นที่แตกต่างกัน อย่างสุดขั้วทั้ง 2 ทาง ข้อสรุปสำคัญหนึ่งคือ คณะทำงานเห็นว่าการวิจัยโดยใช้เซลล์ต้นตอที่มาจากตัวอ่อน (embryonic stem cell - ES cell) เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคเป็นสิ่งที่สมควรทำ แต่การตัดสินใจ ในแต่ละประเทศคงขึ้นอยู่กับการถกเถียงและการตัดสินใจของสังคมโดยรวมในประเทศนั้น ๆ และแต่ละ ประเทศควรจะมีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวางและเปิดเผย และที่สำคัญควรจะมีการพูด ให้ชัดเจนถึงฐานะของตัวอ่อน (moral status of the embryo) ในบริบทของแต่ละประเทศ และแม้จะมี ข้อตกลงว่าไม่มีปัญหาที่จะทำวิจัยได้ รัฐก็ยังจำเป็นจะต้องออกกฎเกณฑ์และมีมาตรการการควบคุมอย่าง เข้มงวด และพ่อแม่ของตัวอ่อนก็ควรจะได้รับทราบและเห็นชอบกับการศึกษาวิจัยนั้น ๆ ในทางเทคนิคนั้นการวิจัยในด้านนี้มุ่งที่จะได้เนื้อเยื่อเพื่อใช้สำหรับบำบัดรักษา (therapeutic tissue) โดยอาจใช้ตัวอ่อนที่มาจากการบริจาคจากการทำแท้ง (aborted fetuses) หรือ ตัวอ่อนที่เหลือจากการผสมเทียม (embryo left-overs) หรือมิฉะนั้นก็โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า therapeutic cloning แต่ความเห็นที่แตกต่างกันส่วนใหญ่มาจากจุดยืนทางศาสนา ทว่าแต่ละศาสนา แม้กระทั่งแคธอลิค ก็มีความหลากหลายในวิธีคิดและวิธีมองในเรื่องนี้ การพิจารณาประเด็นทางจริยธรรม ชีวการแพทย์จึงควรจะมองหาทางออกที่เหมาะสมมากกว่าการขีดเส้นแบ่งที่ตายตัว โดยธรรมชาติไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว (fertilized eggs) มีประมาณ 10% เท่านั้นที่ฝังตัวและ เจริญเติบโตเป็นทารกในที่สุด ผู้ที่ทำการผสมเทียม (IVF) เองก็พยายามที่จะเพิ่มอัตราการฝังตัวและ เจริญเติบโตเป็นทารกได้ และวิธีหนึ่งคือการเลือกเฉพาะตัวอ่อนที่ค่อนข้างแน่ใจว่าจะเจริญเติบโตได้ หลังจากดูในห้องทดลองแล้ว 8 วัน นอกจากนี้ยังมีเทคนิคที่จะตรวจหายีนก่อโรคเพื่อขจัดตัวอ่อนที่มียีน ก่อโรคที่ไม่ต้องการ ในหลายสังคมเห็นว่ากระบวนการนี้ (pre-impletation diagnosis) ดีกว่าการทำแท้ง ภายหลัง แม้ฝรั่งเศสจะเคยห้ามการทำเทคนิคนี้ แต่ต่อมาก็แก้กฎหมายให้ทำได้ ในสเปนที่เป็นประเทศ แคธอลิคก็อนุญาตให้ทำได้เช่นกัน อนึ่ง การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเพื่อบำบัดรักษาในปัจจุบันมีอยู่บ้างแต่ใช้เนื้อเยื่อ (tissue) จากศพ เช่น กรณีการปลูกถ่าย b cell ที่ผลิต insulin ซึ่งทำในแคนาดาและได้ผลพอสมควร นอกจากนี้ในทาง ปฏิบัติการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเพื่อบำบัดรักษาน่าจะมีปัญหาจริยธรรมน้อยกว่าการใช้ปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งต้อง อาศัยการยอมรับว่าคนไข้ที่สมองตายถือว่าเสียชีวิตแล้ว เพราะในกรณีนั้นแพทย์ต้องทำผ่าตัดเอาอวัยวะ ออกจากร่างกายคนไข้ในขณะที่อวัยวะนั้นยังทำงานอยู่ จึงจะนำไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายได้ ซึ่งโดยทั่วไป กรณีเหล่านี้ต้องได้รับฉันทามติล่วงหน้า (informed consent) จากเจ้าของอวัยวะหรือญาติพี่น้อง คณะทำงานฯเสนอว่า การแก้ปัญหาทางจริยธรรมของการวิจัยหรือใช้ประโยชน์จาก ES ก็น่าจะแก้ได้ด้วยการใช้วิธีแจ้งขอฉันทามติล่วงหน้าเช่นกัน นอกจากนี้หากไม่ใช้ประโยชน์จากตัวอ่อน ที่ได้จากการทำ IVF แล้ว embryo เหล่านั้นก็ไม่สามารถไปใช้ประโยชน์หรือจะไม่มีการนำไปฝัง ในมดลูกให้เติบโตเป็นทารกได้ ในภาพรวมการวิจัยเพื่อค้นพบการใช้ประโยชน์จาก stem cells จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์ ในวงการแพทย์อย่างมากมายและควรหามาตรการมาควบคุมไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมมากกว่า การเอาค่านิยมว่าด้วยฐานะของ embryo มาสกัดกั้นไม่ให้เกิดการวิจัย ต่อข้อคิดเห็นในรายงานฉบับนี้ คณะกรรมการ IBC ได้เสนอความเห็น/มุมมอง เพิ่มเติมดังนี้ ๑. ให้คณะทำงานเพิ่มข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจุดยืนของศาสนาคริสต์ (คาธอลิค) ซึ่งได้มี ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีทั้งข้อสรุปว่าด้วยฐานะของ embryo และความเห็น เกี่ยวกับการวิจัยโดยใช้ ES ๒. การอ้างอิงข้อปฏิบัติทางกฎหมาย น่าจะมีการพิจารณาให้กว้างขวางรวมข้อตกลงนานาชาติ เช่น American convention on human life ซึ่งยอมรับโดยประเทศในทวีปอเมริการวม 25 ประเทศที่ ยอมรับว่าชีวิตเริ่มเมื่อเกิด conception และการดูกฎหมายประเทศต่างๆ ก็ควรดูให้มากกว่าแค่กฎหมาย ของประเทศอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ๓. ข้อสรุปที่เขียนในรายงานไม่ได้เขียนชัดเจนว่าคณะทำงานเห็นว่าการวิจัยโดยใช้ ES cell เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ทางจริยธรรม จึงขอให้คณะทำงานเขียนข้อสรุปนี้ให้ชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งนี้คณะทำงาน ควรจะมีข้อสรุปและเหตุผลที่ชัดเจนเพื่อแสดง leadership ของ IBC ไม่ใช่แค่สรุปข้อเท็จจริงว่าด้วยมุมมอง ต่าง ๆ จากจุดยืนและแนวโน้มของการถกเถียงในแต่ละประเทศ แม้คณะทำงานจะมีข้อสรุปว่า การวิจัยโดย ใช้ ES cell ยอมรับได้ แต่ก็ไม่ให้เหตุผลสนับสนุนชัดเจน กลับปล่อยให้แต่ละประเทศตัดสินใจเองก็เหมือน ปัดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคณะกรรมการระดับนานาชาติ เสมือนหนึ่งว่าประเทศต่าง ๆ อาจทำอะไรก็ได้ ๔. ข้อสรุปของรายงานนี้ที่พยายามจะประนีประนอมเพื่อให้การวิจัยดำเนินไปได้นั้น อาจจะ ขัดแย้งกับ Universal Declaration on Human Genome ซึ่งระบุว่าการวิจัยใด ๆ แม้จะมุ่งผลทางการแพทย์ ก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และกรณีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่คณะทำงานน่าจะได้ลองพิจารณา แง่มุมต่าง ๆ ภายใต้บริบทของ Declaration ดังกล่าวและให้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากกว่าจะเพียงรวบรวมข้อมูล และความเห็นที่แตกต่างไว้ในรายงาน ๕. ในทางเทคนิคในอนาคต ปัญหาเรื่องของ ES cell น่าจะหายไป เพราะการวิจัยจะมุ่งไปใช้ adult stem cell มากกว่า และปัญหาเรื่อง status ของตัวอ่อนก็จะหมดไป แต่ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ adult stem cell จะตามมาและคณะทำงานควรจะพยายามมองในมุมนี้ด้วย ๖. มีอดีตสมาชิก IBC ที่เป็นแพทย์เสนอความเห็นว่าข้ออ้างของนักวิจัยและข้อสรุปในรายงานว่า การวิจัยด้านนี้จะมีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมหาศาล เป็นข้อกล่าวอ้างที่เกินจริง เพราะความก้าวหน้า ทางการแพทย์นั้นเป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยผู้คนจำนวนมากมายไม่ใช่เพียงด้านใด ด้านหนึ่งโดยสรุป คณะกรรมการ IBC ต้องการมีจุดยืนที่ชัดเจนและดูเหมือนผู้ที่เสนอส่วนใหญ่จะเห็น แตกต่างจากข้อสรุปของคณะทำงาน (ที่เสนอว่าการวิจัยโดยใช้ ES cell เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ทางจริยธรรม) แต่ส่วนใหญ่จะไม่แสดงความเห็นตรง ๆ แต่อ้างแนวคิดต่าง ๆ ทางศาสนาว่าควรจะได้รวบรวมและพิจารณา ไปร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับฐานะของตัวอ่อนว่าเทียบเท่ากับบุคคลที่มีชีวิตหรือไม่อย่างไร แนวทางของแต่ละประเทศ สำหรับมาตรการทางกฎหมายที่เริ่มมีขึ้นในบางประเทศแล้วจนถึงปัจจุบันนี้ พอยกตัวอย่างได้เช่น ๑. สหภาพยุโรป เดิมทีนั้นสภายุโรป (European Parliament) ได้คัดค้านการโคลนตัวอ่อน มนุษย์เพื่อการบำบัดรักษาทางการแพทย์ (therapeutic cloning) โดยกล่าวว่าการกระทำเช่นนี้ ไม่ต่างไปจากการโคลนเพื่อการขยายพันธุ์ (Reproductive cloning) และขอให้มีกฎลงโทษต่อผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ว่ากรณีใดๆ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2000 ได้มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงกันอย่างจริงจัง ต่อกรรมาธิการยุโรป (European Commission - EC) เนื่องจากมีการพิจารณาว่า งานวิจัยดังกล่าวจะเป็น การปฏิรูปทางการแพทย์ ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตของมนุษย์ต่อไป จึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานยุโรปในเรื่อง Ethics in Science and New Technology (EGE) เพื่อจัดทำรายงาน วัตถุประสงค์เบื้องต้นก็เพื่อแนะแนว ทางในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างและขอบเขตการทำวิจัยของกรรมาธิการฯ เอง แต่คาดว่าผลสรุปที่ได้ จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมด ต่อมาหลังจากได้มีการทำประชาพิจารณ์หลายครั้ง รายงานก็ได้สรุปว่า งานวิจัยชนิดนี้มีความชอบธรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และมีแนวโน้มแล้วที่จะเกิด ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อการเปลี่ยนถ่ายเซลล์ร่างกาย (somatic cell) แต่ได้สรุปว่า การวิจัยจะต้อง ทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง และเห็นว่าการสร้างตัวอ่อนเพื่อใช้เปลี่ยนถ่ายเซลล์ ยังไม่ถึงเวลาอันควร ในขณะนี้ และในทางปฏิบัตินั้นจะต้องหาวิธีที่สอดคล้องต่อข้อสรุปดังกล่าวเพื่อให้การทำงานวิจัยสามารถ ดำเนินต่อไปได้ โดยได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน (เช่น การใช้ตัวอ่อนที่เหลือทิ้งจากคลีนิค ผสมเทียม และการใช้ adult stem cells) ๒. สหรัฐอเมริกา แม้ว่า National Institutes of Health (NIH) จะได้ออกแนวปฏิบัติ (guidelines) สำหรับการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ pluripotent stem cells ของมนุษย์เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2000 แต่นักวิจัยที่รับทุนของรัฐบาลกลางสหรัฐก็จะยังไม่สามารถเริ่มงานวิจัยดังกล่าวได้จนกว่า จะถึงประมาณเดือนมีนาคม ค.ศ. 2001 เป็นอย่างเร็ว แนวปฏิบัติของ NIH จะอนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับทุนของ NIH ใช้ stem cell จากตัวอ่อนในการวิจัยได้ก็ต่อเมื่อได้มีการพิจารณาทบทวนด้านจริยธรรม อย่างระมัดระวังเกี่ยวกับการวิธีการได้มาซึ่งเซลล์เหล่านั้นเสียก่อน ซึ่งคณะกรรมการ Human Pluripotent Stem Cell Review Group ของ NIH มีกำหนดจะประชุมกันอีกครั้งในเดือนเมษายน ค.ศ. 2001 เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอรับทุนวิจัยที่จะมีเข้ามา ซึ่งรัฐบาลของนาย George W. Bush มีแนวโน้มอาจไม่ สนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับ ES cells เนื่องจากนาย Bush มีท่าทีต่อต้านการให้ทุนของ NIH ในเรื่องนี้มา ตั้งแต่ต้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็คาดว่าจะมีความเคลื่อนไหวในสภา Congress เพื่อผลักดันการวิจัยให้ดำเนิน ต่อได้ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนการวิจัยด้านนี้ นำโดยวุฒิสมาชิก Arlen Specter ผู้ที่เคยเสนอร่างกฎหมายให้ NIH สนับสนุนการได้มาและการวิจัย ES cells แต่ไม่ผ่านวุฒิสภา ซึ่งคาดว่านาย Specter จะเสนอร่าง กฎหมายนี้อีกในรัฐบาลชุดนี้ ๓. ฝรั่งเศส รัฐบาลได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับชีวจริยธรรม (Bioethics) ต่อรัฐสภา เพื่อให้ อนุญาตให้ใช้ตัวอ่อนของมนุษย์ในการวิจัย stem cell ข้อที่น่าสังเกตคือ ร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ห้าม การโคลนตัวอ่อนมนุษย์เพื่อสร้าง stem cell สำหรับนำมาใช้ในการวิจัย แม้ว่าเรื่องนี้ได้มีการสรุปโดย คณะที่ปรึกษาของสหภาพยุโรปแล้วว่า เป็นเรื่องที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร (ข้อ 1.) ร่างกฎหมายที่ยื่นเสนอ ต่อรัฐสภานี้ชี้เน้นให้เห็นว่า เทคโนโลยีนี้มีความจำเป็นและไม่ควรถูกห้ามไปเสียทั้งหมด เพราะผลดี จากการนำงานวิจัยดังกล่าวไปใช้คือ ร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายจะไม่ต่อต้านต่อเซลล์หรือ เนื้อเยื่อที่ได้รับจากตัวอ่อนที่ได้จากการโคลน เดิมทีกฎหมาย Bioethics ของฝรั่งเศสปี 1994 นั้นอนุญาต ให้วิจัยตัวอ่อนที่เหลือใช้จากการทำปฎิสนธิในหลอดทดลองซึ่งจะถูกทำลายลงอยู่ดี โดยมีกฎว่าต้องเป็น ตัวอ่อนที่มีอายุน้อยกว่า 6-7 วัน ต้องได้รับการยินยอมจากผู้เป็นพ่อแม่เสียก่อน และใช้ในกรณีที่ไม่มี ทางเลือกอื่นเท่านั้น ร่างกฎหมายที่ยื่นใหม่นี้จะเป็นการเพิ่มเติมประเด็นเรื่องการทำโคลนเข้าไปใน กฎหมายเดิม คาดว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านรัฐสภาได้ยาก เพราะว่าในรัฐสภาของฝรั่งเศสส่วนใหญ่เป็น พวกอนุรักษ์นิยมและสังคมนิยม ผู้ที่ต่อต้านก็จะโต้เถียงว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่ออนุสัญญาชีวจริยธรรม ยุโรป ซึ่งฝรั่งเศสได้ลงนามไปแล้ว ๔. ญี่ปุ่น รัฐสภาได้ออกกฏหมายห้ามการใช้เทคโนโลยีโคลนนิ่งมนุษย์เพื่อการสืบพันธุ์ (reproductive cloning) ยกเว้นในบางกรณีที่ต้องใช้เพื่อการวิจัยพื้นฐาน เช่น สร้างตัวอ่อนเพื่อใช้ในการวิจัย stem cell เห็นได้ชัดว่าเป็นแนวทางเดียวกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เหตุผลก็คือประเทศเหล่านี้ยอมรับ เรื่องความสำคัญของเทคโนโลยีโคลนนิ่งที่ใช้ในการต่อสู้กับโรคและส่งเสริมสุขภาพมนุษย์ให้ดีขึ้น ข้อที่ต่างกับฝรั่งเศสก็คือ กฏหมายของญี่ปุ่นได้ผ่านการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (Diet) แล้ว ใจความคือมิให้มีการปลูกถ่ายไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว (หรือตัวอ่อน) โดยฝังในผนังมดลูกของคนและ สัตว์ในกรณีที่ตัวอ่อนเกิดขึ้นโดยเทคนิคดังต่อไปนี้คือ ๑.) เกิดจากการโอนถ่ายเซลล์ของมนุษย์เข้ามาใส่ไข่ของมนุษย์ ๒.) จากการหลอมรวมเซลล์ของมนุษย์กับไข่ของสัตว์หรือ ๓.) ในกรณีกลับกัน ๔.) ตัวอ่อนที่ได้จากการหลอมเซลล์ตัวอ่อนระยะต้นไม่ว่าจะเป็นของมนุษย์หรือสัตว์ อย่างละครึ่งมารวมกัน (chimera embryos) โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกตัดสินจำคุกถึง 10 ปีขึ้นไป หรือถูกปรับ เป็นเงิน 90,000 ดอลลาร์ จุดสำคัญคือกฏหมายมิได้ห้ามไม่ให้ "สร้าง" ตัวอ่อนดังกล่าว นักวิจัยของญี่ปุ่น ผู้หนึ่ง ได้ให้ความเห็นว่า กฏหมายนี้สมเหตุสมผล ซึ่งจะทำให้การวิจัยพื้นฐานดำเนินต่อไปได้ ๕. อังกฤษ เดิมที ส.ส. จากอ๊อกซ์ฟอร์ดได้เสนอร่างเอกสารสนับสนุนการวิจัยดังกล่าวต่อรัฐบาล แต่ถูกคัดค้านว่า การสร้างตัวอ่อนเพื่อการวิจัย เป็นการผิดจริยธรรม เนื่องจากงานวิจัยนี้จะเป็นก้าวแรกที่จะ นำไปสู่การโคลนเพื่อการขยายพันธุ์มนุษย์อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สมาชิกในรัฐสภาบางคนก็คัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า มีเวลาจำกัดในการพิจารณาเอกสารฉบับนั้น ส่วนในประชาคมนักวิทยาศาสตร์ (scientific community) นำโดย Royal Society ก็มีข่าวว่า มีการล็อบบี้เพื่อให้ตั้งกฎหมายอนุญาตการทำวิจัย ES cells แต่ล่าสุดนี้ (ปลายมกราคม ค.ศ. 2001) สภาผู้แทนราษฎร (House of the Commons) ได้อนุมัติร่าง กฎหมายที่อนุญาตให้นักวิจัยใช้เซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ในการวิจัย stem cell ได้ และร่างกฎหมายนี้ก็ได้ ผ่านสภาขุนนาง (House of the Lords) แล้ว ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงกฎหมายเดิมที่ออกเมื่อปีค.ศ. 1990 ที่ยอมให้ใช้ตัวอ่อนอายุไม่เกิน 14 วัน ในการศึกษาหาสาเหตุของโรคทางพันธุกรรม โดยกฎหมายใหม่ จะขยายขอบเขตของการวิจัยให้ครอบคลุมถึงการคิดค้นวิธีบำบัดรักษาได้ด้วย แม้ว่าจะมีผู้ต่อต้านแนวทาง ของกฎหมายนี้ว่า จะเป็นการนำไปสู่การ "ล้ำเส้นทางจริยธรรม" โดยโคลนมนุษย์ขึ้นมาจริง ๆ ในที่สุด แต่ผู้สนับสนุนก็ยังมองว่า เมื่อเทียบกับสหรัฐซึ่งรัฐบาลไม่มีกฎหมายควบคุมการวิจัยในภาคเอกชน กฎหมายนี้จะช่วยให้มีการควบคุมดูแลที่เข้มงวดได้ดีกว่า โดยผู้วิจัยจะต้องยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับ ใบอนุญาต (license) และผู้ที่ฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษทางอาญารวมทั้งอาจถูกจำคุกด้วย ๖. เยอรมัน ค่อนข้างไม่เห็นด้วยและเรียกร้องให้มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ adult stem cell ให้ถึงที่สุด ก่อนที่จะหันมาใช้วิธีการโคลนเพื่อสร้างตัวอ่อน อย่างไรก็ตามแม้ว่ากฎหมายของเยอรมัน จะห้ามการวิจัยที่ทำอันตรายต่อตัวอ่อน แต่ก็ไม่ได้ห้ามการนำเข้า ES cells ที่มีการจัดทำมาแล้ว Oliver Brustle นักวิจัยผู้กำลังนำเข้าเซลล์ดังกล่าวเพื่อศึกษาวิจัยคาดว่ากฎหมายของเยอรมันคงจะไม่ เปลี่ยนในเร็ววันนี้ ๗. จีน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของจีนได้ประกาศเมื่อปี ค.ศ.1997 ว่ารัฐบาลจีนคัดค้าน การโคลนนิ่งมนุษย์ และห้ามมิให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์มีส่วนร่วมในการวิจัยดังกล่าว แต่ว่าการโคลนนิ่ง เพื่อใช้ในการสร้างอวัยวะอะไหล่สำหรับรักษาทางการแพทย์ไม่ได้ถูกห้าม นอกจากนี้รัฐบาลยังกำลัง ร่างกฏหมายที่จะควบคุมการวิจัยทางพันธุศาสตร์ในพืช สัตว์และมนุษย์ด้วย ๘. ไทย ยังไม่มีแนวปฏิบัติหรือมาตรการทางกฎหมายในเรื่องนี้ ทางด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พูดถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำโคลนและ stem cell ไว้ว่า ในเชิง วิทยาศาสตร์มีประโยชน์โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ในอนาคตอีกสัก 10 ปีหรือกว่านั้น อาจเป็นไปได้ที่ว่า จะมีการโคลนอวัยวะเพื่อทดแทนอวัยวะที่สูญเสียไป และได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขลองพิจารณาถึง การตั้งธนาคารอวัยวะขึ้นสำหรับรองรับความจำเป็นในอนาคต "ปัจจุบันเรามีการบริจาคดวงตากันอยู่แล้ว แต่ต่อไปเราอาจใช้วิธีการโคลนตาของตัวเองไว้เป็นอะไหล่สำรอง โดยรัฐเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณ คล้ายกับการบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมให้ประชาชน ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ลดปัญหาการลักลอบซื้อขายอวัยวะ อย่างกรณีขายไต" ดร. ยงยุทธเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อสนองให้กับคนรวยเท่านั้น แต่ต้องนำมา ใช้บนพื้นฐานของเหตุผลด้วย โดยสรุป ในขณะนี้ยังไม่มีกฎระเบียบระหว่างประเทศใด ๆ ที่ชัดเจนในการควบคุมการวิจัยเกี่ยวกับ stem cell และไม่มีกลไกดูแลในเรื่องจริยธรรมของการวิจัย นอกจากกลไกของ UNESCO และประเทศต่าง ๆ กำลังพยายามจัดทำแนวปฏิบัติหรือกฎหมายของประเทศตนเพื่อควบคุมดูแลในเรื่องนี้ อนึ่ง ในขณะที่โลกกำลังหาทางควบคุมการวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้เซลล์จากตัวอ่อน ความพยายาม ที่จะโคลนมนุษย์ทั้งตัวเริ่มขึ้นแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบพันธุ์ที่ชื่อ Professor Panos Zavos และนาย Severino Antinori แพทย์ผู้ร่วมงานชาวอิตาลี ซึ่งประกาศว่าจะเริ่ม การโคลนมนุษย์ให้กับสามีภรรยาที่มีบุตรยาก โดยคาดว่าจะสร้างเด็กโคลนนิ่งคนแรกได้ในเวลา 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า Zavos เชื่อว่าการโคลนมนุษย์จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต และกล่าวว่าควรจะยอมให้ ทำได้โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ทั้งนี้คลีนิคของเขาจะให้บริการนี้แก่คู่ที่มีบุตรยากหรือไม่สามารถมีบุตรได้ เท่านั้น แผนการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์โดยทันทีว่า เป็นการกระทำที่ไร้จริยธรรม เนื่องจาก เรายังไม่รู้ว่ากระบวนการนี้มีความปลอดภัยในทางแพทย์เพียงพอหรือไม่ และชี้ว่าเป็นการประกาศเพราะ อยากดัง ซึ่งทาง Zavos โต้ว่า เราทราบดีเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแท้ง การเกิดโดย ไม่สมบูรณ์ หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้อุ้มท้อง แต่เขาเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ โดยอ้างว่า ไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นใดที่ไม่ล้มเหลวในครั้งแรก *** เอกสารอ้างอิง 1. New Scientist Online, 16 August 2000. 2. Nature 408, p. 277, 2000. 3. Nature 408, p. 629, 2000. 4. Science 290, pp.1479-1480, 2000. 5. Science 290, pp.1672-1674, 2000. 6. Science 291, p. 23, 2000. 7. Ethical Issues in Human Stem Cell Research Volume III Religious Perspectives, United States National Bioethics Advisory Commission, Rockville, Maryland, June 2000. 8. Legal Regulations on the Advanced Science and Technology / Regulations on Life Science, National Institute of Science and Technology Policy (NISTEP), Science and Technology Agency Japan, April 2000. 9. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, รายงานการประชุม The Seventh Session of the International Bioethics Committee of UNESCO (IBC), Quito, Ecuador, 7-9 November 2000. 10. มติชน, 8 ม.ค. 2544. 11. Washington Post Online, 27 January 2001. *** ที่มา : http://www.thainhf.org/Bioethics/Document/stemcell.doc