แนวคิดของศาสนาอิสลามที่มีต่อจริยธรรมทางการพยาบาล

“ทำอย่างไรความทุกข์ทรมานของการเจ็บป่วยจะรู้และเข้าใจกันนัก ช่างรู้กันน้อยเหลือเกิน” ทั้ง นี้ย่อมต้องอาศัยการตระหนักในบทบาทของพยาบาลที่มีต่อผู้ป่วย เช่น การตระหนักของแม่ต่อสมาชิกในครอบครัว หรือการตระหนักของมนุษย์อันมีผลต่อเพื่อนมนุษย์ พยาบาลย่อมปฏิบัติบทบาทให้เกิดความสุขร่วม พร้อมสุขภาพดีถ้วนหน้าของประชาชนได้สำเร็จ นั่นคือ พยาบาลยึดหลักการพยาบาลบนพื้นฐานจรรยาบรรณวิชาชีพซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ ศาสนาอิสลาม ด้วยความมั่นในความเชื่อว่า “มุสลิมที่แข็งแรงนั้นย่อมเป็นที่รักของพระเจ้ามากกว่ามุสลิมที่อ่อนแอ”
 

รองศาสตราจารย์ ฟาริดา อิบราฮิม 

ถ้าใครเชื่อว่าศาสนาคือธรรมนูญของชีวิต และยังเชื่อว่าการศึกษาคือการปูทางเพื่อการดำรงชีวิตที่ปกติสุขให้ได้มาซึ่ง โลกียทรัพย์ และจริยทรัพย์แล้ว ผู้นั้นย่อมมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา และการศึกษาในการสร้างคนให้มีความสมบูรณ์และเจริญงอกงามในองค์รวมคือ ทั้งกายภาพ จิตสังคม และจิตวิญญาณ สามารถสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่สะอาดและสงบให้กับชีวิตและโลกมนุษย์

การศึกษาใน ระดับวิชาชีพย่อมต้องกำหนดองค์ความรู้ในทางวิชาชีพให้แก่ผู้ซึ่งจะปฏิบัติ วิชาชีพนั้น ๆ กำหนดแนวทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างคนให้มีความเจริญทั้งในทางวัตถุธรรม วินัยธรรม และศีลธรรม ซาบซึ้งในความงามตามธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา พร้อมกันไป การศึกษาวิชาชีพยังกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้บริการแก่สังคม และให้สามารถรับใช้สังคมด้วยความซื่อสัตย์ อดทน และขยันหมั่นเพียร พิทักษ์สิทธิของผู้ปฏิบัติวิชาชีพเอง และสิทธิของบุคคลในสังคมในการรับบริการที่มีคุณภาพของวิชาชีพนั้น การ ศึกษาในระดับวิชาชีพเพื่อสร้างบุคลากรในวิชาชีพใดก็ตามย่อมต้องสอดใส่ จรรยาบรรณของวิชาชีพไว้ให้สมาชิกของวิชาชีพได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติต่อตนเอง และสังคม จรรยาบรรณของวิชาชีพจึงต้องอิงหลักธรรมของศาสนา เพื่อสร้างความรู้สึกตระหนักในบทบาทที่สังคมมนุษย์พึงปฏิบัติต่อเพื่อน มนุษย์ตามที่วิชาชีพกำหนด

จรรยาบรรณวิชาชีพการพยาบาลจะกำหนดหน้าที่ของพยาบาลต่อประชาชน ต่อสังคม และประเทศชาติ ต่อวิชาชีพ ต่อผู้ร่วมวิชาชีพ และผู้ประกอบวิชาชีพอื่น และที่สำคัญที่สุดคือตนเอง จรรยาบรรณดังกล่าวจะช่วยให้พยาบาลประกอบกิจแห่งวิชาชีพ โดยยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในด้านการประกอบกิจวิชาชีพและส่วนตัว พัฒนาแนวคิดให้กว้าง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยสติ รอบรู้ เชื่อมั่น และวิจารณญาณอันรอบคอบด้วยความเต็มใจ และเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสามารถให้บริการด้วยความตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยึดความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชน เก็บรักษาเรื่องส่วนตัวไว้เป็นความลับ ให้การวินิจฉัยและแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยแก่บุคคล ครอบครัว และชุมชน และป้องกันภยันตรายที่จะมีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้พยามบาลต้องตระหนักในหน้าที่ ความรับผิดชอบตามหลักการแห่งวิชาชีพ รักษามาตรฐานการปฏิบัติการพยาบาล ธำรงไว้ซึ่งสิทธิอันชอบธรรมในการประกอบวิชาชีพ และเผยแพร่ชื่อเสียงและคุณค่าของวิชาชีพแก่สังคม โดยมุ่งประกอบกิจแห่งวิชาชีพเพื่อประโยชน์สุข และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยถ้วนหน้า ในการปฏิบัติภารกิจของวิชาชีพ พยาบาลยังต้องเคารพในสิทธิและหน้าที่ของผู้ร่วมงานทั้งในทีมการพยาบาลและทีม สุขภาพ รักษาสัมพันธภาพอันดี ให้ความร่วมมือและยอมรับในความต้องการพื้นฐานของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับผู้บริการ

สิ่งที่กำหนดในจรรยาบรรณวิชาชีพการพยาบาล สะท้องถึงความจำเป็นในการต้องปลูกฝังจริยธรรมให้แก่พยาบาลให้ตระหนักในบทบาท ของตนเอง และปฏิบัติบทบาทได้ด้วยความเต็มใจเพื่อเคารพสิทธิของตนเองและบุคคลอื่น ต้องสอดใส่ความรู้ในด้านความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของมนุษย์ ซึ่งทุกคนย่อมไขว่คว้าให้มีความสมบูรณ์ในความต้องการพื้นฐานดังกล่าว เพื่อความสงบสุขของชีวิต พยาบาลจึงต้องเรียนชีวิต เริ่มด้วยการตรวจสอบและแสวงหาตนเอง ดังคำกล่าวของไนติงเกล “ท่านไม่มีอะไรนอกจากตรวจสอบบุคลิกลักษณะของท่านเอง พระเจ้าจะทรงช่วยผู้ที่รู้จักมองตนเองอยู่เสมอ” การสำรวจตนเพื่อศึกษาความพร้อมของตนเองในการที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชีวิต ของผู้อื่น การมองชีวิตอย่างถ่องแท้ต้องสามารถมองเห็นมิติของชีวิตอย่างครบถ้วน ทั้งด้านกายภาพ จิตสังคม และจิตวิญญาณดังกล่าว วิทยาศาสตร์กายภาพจะให้ความเข้าใจชีวิตในส่วนของกาย พฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา และสังคมวิทยา จะให้ความเข้าใจชีวิตในส่วนของจิตสังคม ส่วนจิตวิญญาณของมนุษย์ซึ่งเป็นตัวควบคุมพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่บอกความต้องการทางกายภาพ หรือความต้องการทางจิตสังคมก็ตาม ต้องพัฒนาได้ด้วยหลักธรรมของศาสนา ความพร้อมในองค์รวม ทั้งกายภาพ จิตสังคม และวิญญาณจะช่วยให้พยาบาลสามารถปฏิบัติภารกิจของวิชาชีพเพื่อสนองความต้อง การของตนเอง ควบคุมตนเอง และดูแลตนเองให้เกิดปกติสุขได้ การพยาบาลจึงเป็นภารกิจของมนุษย์ที่ต้องปฏิบัติต่อมนุษย์ให้เกิดปกติสุขทั้ง กับตนเองและเพื่อนมนุษย์ในลักษณะของสองแขนอันทรงพลัง ที่จะลูบหลังให้กับผู้ซึ่งต้องการความช่วยเหลือ และลูบไหล่ตนเองให้เกิดสุขสมบูรณ์พร้อมกันไป

การปฏิบัติภารกิจตามบทบาทหน้าที่ของพยาบาลต้องอาศัยการพัฒนาจริยธรรมให้เกิดความพร้อม ทางจิตวิญญาณ ที่จะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ อดทน เสียสละ โดยไม่รู้สึกฝืนใจ มีความพร้อมในกายภาพและจิตสังคม คือมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ ไม่มีปัญหาสุขภาพ เพราะต้องมีความแข็งแกร่งที่จะเผชิญกับปัญหาสุขภาพกายและจิตของผู้อื่นได้ อย่างไม่ย่อท้อ ต้องมีสติปัญญาที่เพียงพอเพื่อเรียนรู้ปัญหาชีวิตทั้งชีวิตของผู้รับบริการ มีพลังความสามารถในการเรียนรู้และฝึกฝนด้านเทคโนโลยีทางการรักษา และการพยาบาลเพื่อสนองความต้องการทั้งหมดของบุคคลได้อย่างเหมาะสม จัดวางตัวบุคคลได้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และสร้างสภาพแวดล้อมให้สะอาดและสงบสำหรับบุคคล

ธรรมะในศาสนาอิสลามจะให้ข้อปฏิบัติในด้านการวางตัว การเป็นแบบอย่างของความสะอาด ความตระหนักในบทบาทของตนเอง ต่อสังคม และการดูแลเรื่องสุขภาพ ทั้งในด้านความสะอาดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อขจัดโรคทั้งหลายด้านสุขภาพส่วน บุคคล ด้านโภชนาการ อนามัยสิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยา การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ สุขภาพจิต ตลอดจนเพศศึกษา การนำธรรมะในศาสนาอิสลามมาใช้เพื่อสร้างพยาบาลให้มีความสมบูรณ์ทั้งในด้าน ความรู้ ความสามารถปฏิบัติ และคุณธรรมจริยธรรมจึงมีความเป็นได้ได้สูงสุด

ในการพัฒนาจริยธรรมศาสนาอิสลามจะสร้างความศรัทธาเป็นประการแรก เริ่มด้วยการศรัทธาต่อพระเจ้า ต่อกฎกำหนดสภาวะของธรรมชาติ ต่อคัมภีร์ ซึ่งใช้เป็นธรรมนูญของชีวิต ต่อศาสดา ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่คัมภีร์และเป็นแบบอย่างจริยาวัตรสำหรับมนุษย์ในการ ประพฤติปฏิบัติ และต่อชีวิตในโลกหน้า จากความศรัทธาดังกล่าวนำมาสู่การปฏิบัติศาสนกิจต่อระเจ้าตามคำสั่งสอนของ ศาสดา การปฏิบัติต่อตนเอง และต่อเพื่อนมนุษย์ จากการปฏิบัติตามคำสั่งสอนด้วยความศรัทธา ถ้ากระทำด้วยความเข้าใจ ด้วยสติ ด้วยปัญญา จะเกิดความนึกคิดในเหตุผล เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งในข้อเท็จจริงทั้งหลายซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่ มนุษย์พึงเรียนรู้ และปฏิบัติต่อกันให้เกิดปกติสุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น สร้างความรู้สึกรัก เมตตา ให้อภัย และเสียสละซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และปัจจัยดังกล่าวก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่พยาบาลจะต้องมีอยู่อย่างมาก ถ้าไม่เช่นนั้นพยาบาลก็ไม่สามารถประกอบกิจกรรมการพยาบาลให้ประสบความสำเร็จ แก่สังคมและให้ความสุขสงบแก่ตนเองได้

สิ่งที่ควบคู่กับพยาบาลคือความสะอาด พยาบาลเป็นแบบอย่างของความสะอาด ตั้งแต่การแต่งกาย การวางตัว และการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลทั้งหมด ตั้งแต่การทำให้สะอาดปราศจากเชื้อ จนกระทั่งการดูแลในกิจวัตรประจำวันให้ผู้ป่วยมีร่างกายสะอาดและสุขสบาย ศาสนาอิสลามเน้นความสะอาดดังกล่าวของศาสดา “ ความสะอาดเป็นครึ่งหนึ่งของความศรัทธา” และ “พระเจ้าทรงรักผู้ชำระตนให้สะอาด” และ “แปรงฟันทำให้ปากสะอาดทำให้พระเจ้าทรงโปรด ” พยาบาล ต้องสะอาดตั้งแต่เสื้อผ้า ผม เล็บ และร่างกายที่ปรากฏภายนอก ตลอดจนจิตใจที่เป็นตัวกำหนดความประพฤติภายนอกต้องสะอาด พร้อมจะให้ความรัก เมตตา แก่มวลชน พยาบาลต้องดูแลสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล ตลอดจนหอผู้ป่วย และรอบ ๆ ตัวผู้ป่วยให้สะอาดเช่นเดียวกัน ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล กล่าวถึงความสะอาดไว้ตรงกับหลัดของศาสนาอิสลามคือ “การรักษาความสะอาด คือ สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นการพยาบาลที่ดี” และ “งานของพยาบาลเป็นงานที่ละเอียดรอบคอบ เปี่ยมด้วยจิตใจอันร่าเริง มีความสุข มีความหวัง และเป็นมิตร”

ในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ศาสนาอิสลามจะให้หลักการรักษาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ฟัน ผม หนวด เครา ใบหน้า มือ เท้า อวัยวะเพศ ตลอดจนการแต่งกาย ดังคำกล่าวของศาสดา “เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านตื่นนอน จงอย่าเอามือจุ่มลงในภาชนะจนกว่าจะล้างมันเสียก่อนสามครั้ง...” และ “ท่านศาสดาได้ดื่มนมแล้วท่านบ้วนปากและกล่าวว่าที่จริงแล้วในนมมีไขมันอยู่” ในด้านการรักษาพยาบาล ศาสนาอิสลามเน้นให้ทุกคนรับการรักษาที่ถูกต้องดังคำกล่าว “พระเจ้าไม่ประทานโรคใดลงมานอกจากพระองค์ได้ประทานยารักษาโรคนั้นมาด้วย”

ในด้านการกีฬา การออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหวก็ได้รับการส่งเสริมจากศาสดา ท่านศาสดานิยมการวิ่งแข่ง เดินแข่ง และขี่ม้าแข่ง และส่งเสริมให้ผู้ใกล้ชิดได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการ สุขภาพ พยาบาลมีหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายตามสมรรถภาพโดยไม่ขัดกับ การเจ็บไข้ การเคลื่อนไหวผู้ป่วยเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด และป้องกันแผลกดทับถือเป็นหน้าที่ของพยาบาลเช่นเดียวกัน ไนติงเกลได้กล่าวถึงการเกิดแผลกดทับเนื่องจากการเคลื่อนไหวดังนี้ “ แผลกดทับเมื่อเกิดเวลาใดก็ตามไม่ใช่อาการของโรค แต่เป็นอาการของพยาบาล” คือ เป็นความบกพร่องของพยาบาลที่ไม่ได้ดูแลให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหวจนเกิดแผลกด ทับ

อิสลามส่งเสริมการพักผ่อน “พระเจ้าคือผู้ทรงเบิกรุ่งอรุณ และทรงทำให้กลางคืนเป็นการพักผ่อน” และ “ส่วนหนึ่งแห่งความเมตตาของพระเจ้าคือทรงบันดาลกลางคืนและกลางวันเพื่อได้พักผ่อนแสวงหาความโปรดปรานและกตัญญู” ไนติงเกลเน้นการดูแลรักษาอากาศให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดังนี้ “ความสะอาดและอากาศบริสุทธิ์ไม่ใช่ให้ชีวิต แต่มันเป็นชีวิตนั่นเอง” ทั้งนี้เพราะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายพักผ่อนได้ พยาบาลจึงต้องดูแลรักษาความสะอาดและการถ่ายเทอากาศให้เป็นไปด้วยดี ให้ผู้ป่วยพักผ่อนได้สบาย ไนติงเกลยังเน้นการจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วยปล่อยวาง และสดชื่น เช่นให้จัดเตียงหันออกสู่หน้าต่างเพื่อผู้ป่วยจะได้มองเห็นใบไม้และธรรมชาติ ให้เกิดความเพลิดเพลิน “ หน้าที่ประการแรกของพยาบาลคือจัดห้องในสภาวะที่ผู้ป่วยนอนพักได้ ”

ในด้านโภชนาบำบัดดูแลสมุนไพรเพื่อการรักษาโรค มีคำกล่าวว่าท่านศาสดาได้ไปเยี่ยมผู้ฟื้นไข้ด้วยข้าวสาลีและผักต้มพร้อมกล่าว “จงรับประทานสิ่งนี้เพราะมันเป็นประโยชน์แก่ท่าน” ทางการพยาบาล พยาบาลจะต้องดูแลให้ผู้ป่วยได้รับอาหารที่เหมาะสมกับสภาพการเจ็บไข้ พยาบาลอาจส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างเหมาะสมในการรับประทานหรือทาภายนอก ถ้าพยาบาลได้ศึกษาค้นคว้าและมีความรู้อย่างดีในเรื่องสมุนไพรดังกล่าว ศาสนาอิสลามยังเน้นอาหารที่ควรบริโภคและที่ควรหลีกเลี่ยงโดยมุ่งสุขภาพเป็น สำคัญดังโองการ “มนุษย์เอ๋ยจงบริโภคอันเป็นที่อนุมัติจากที่มี ณ แผ่นดิน” และ “พระองค์ทรงห้ามสูเจ้าเพียงแต่สัตว์ที่ตายเอง เลือดที่ไหลออก สุกร และสัตว์ที่ถูกเอ่ยนามอื่นจากพระนามของพระเจ้า” และ “แท้จริงศาสดาได้ห้ามจากการกินสัตว์ดุร้ายที่มีเขี้ยวงาทุกชนิด” ในการดื่มน้ำได้ห้ามการดื่มน้ำขณะที่รับประทาน เพราะจะทำให้น้ำย่อยเจือจางอาหารไม่ย่อย

ในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ศาสนาอิสลามส่งเสริมความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทียบกับการพยาบาลในทัศนะของไนติงเกลคือ การจัดสภาพแวดล้อมให้ธรรมชาติเป็นผู้เยียวยารักษา การดูแลสภาพแวดล้อมให้พ้นจากมลพิษ ซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์ต้องปฏิบัติ เพื่อได้อยู่อาศัยในที่ที่สะอาด ปลอดโปร่ง คำกล่าวของศาสดาที่ส่งเสริมความสะอาดของน้ำคือ “ผู้ใดในหมู่ พวกท่านจงอย่าถ่ายปัสสาวะลงในน้ำซึ่งอยู่นิ่งซึ่งไม่ไหล แล้วไปอาบน้ำในนั้น” ... และ “พวกท่านจงทำความสะอาดรอบบ้านของท่าน” ... และ “ไฟนี้เป็นศัตรูของท่าน ดังนั้น เมื่อจะนอนจงดับฟืนไฟป้องกันตัวของท่าน” และ “เมื่อมุสลิมใดปลูกพืชแล้วต่อมามนุษย์ได้กินมัน สัตว์ และนกที่กินมันจะเป็นกุศลทานสำหรับเขาจนถึงวันสิ้นโลก” และ “หญ้าของมันจะต้องไม่ถอน สัตว์ป่าของมันจะต้องไม่ไล่ต้อน และสิ่งเก็บตกของมันก็ไม่มีการเก็บเอาไว้นอกจากสำหรับผู้ประกาศหาเจ้าของ” พอมองเห็นการเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทัศนะของอิสลาม ซึ่งสอดคล้องกับการอนามัยสิ่งแวดล้อมในทัศนะของพยาบาลเพื่อดำรงไว้ซึ่ง สุขภาพดังคำกล่าว “ระหว่างที่ชายคนหนึ่งกำลังเดินอยู่ตามทาง เขาได้พบกิ่งหนามอยู่บนทางสัญจรนั้น เขาจึงนำมันออกไปพ้นทางสัญจร พระเจ้าทรงขอบคุณเขา และอภัยโทษให้กับเขา”

อิสลามยังเน้นในการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ ตั้งแต่การห้ามเลี้ยงสัตว์ที่นำโรค ดังคำกล่าวของ ศาสดา “ผู้ใดเลี้ยงสุนัขไว้ การงานของเขาจะลดถดถอยลงทุกวัน ยกเว้นแต่เลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าไร่นาเพื่อสุนัขเฝ้าฝูงสัตว์” ห้ามการอพยพเคลื่อนย้ายขณะมีโรคระบาด “พวกท่านอย่านำผู้ที่ป่วยมากาผู้ที่สุขภาพดี” ... “เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้นในแผ่นดิน ท่านทั้งหลายอย่าเข้าไปในแผ่นดินนั้น และเมื่อมันได้เกิดขึ้นมนแผ่นดินใดโดยที่ท่านก็อยู่ในแผ่นดินนั้น ท่านทั้งหลายอย่าหนีมันออกจากจากแผ่นดินนั้น” เกี่ยวกับการป้องกันโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น เอดส์ ถ้าปฏิบัติตามหลักการอิสลามก็จะปลอดภัย เช่น ในเรื่องการห้ามรักร่วมเพศ และสื่อที่ทำให้เกิดรักร่วมเพศ กามห้ามการร่วมเพศขณะมีประจำเดือน การร่วมเพศทางทวารหนัก การเป็นโสเภณี หรือสำส่อนทางเพศ การห้ามสิ่งเสพติด และสิ่งมึนเมาทุกชนิด ถ้าปฏิบัติและหลีกเลี่ยงดังคำห้ามทั้งหลาย โรคเอดส์ก็ไม่ระบาด และเป็นปัญหาคุกคามภาวะสุขภาพอนามัยของโลกได้เช่นทุกวันนี้

ในด้านสุขภาพจิต อิสลามเน้นการส่งเสริมสุขภาพจิตตนเองและผู้อื่น ด้วยการสร้างมนุษยสัมพันธ์โดยเน้นการทำความดี การรักษาสัจจะ การมีจรรยาบรรณในการพูดทักทาย เดินนั่ง การอดทน และให้อภัย การควบคุมตนเองและดำเนินชีวิตในสายกลาง การสร้างความรักความเป็นพี่น้อง การบริจาคทาน การเมตตาในมวลมนุษย์ ตลอดจนความละอายต่อบาป การทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และการปฏิบัติตนให้ถูกต้องทั้งในด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ ความรับผิดชอบ การปฏิบัติบทบาท การเผยแพร่ศาสนา การขอพร และตั้งจิตอธิษฐานต่อพระเจ้าเมื่อประสบทุกข์เดือดร้อน การคบเพื่อน การวางตนในระหว่างเพื่อหญิงและชาย การเลือกคู่ครอง การครองเรือน การอบรมเลี้ยงดูบุตร จนถึงการดำรงชีวิตในโลกนี้เพื่อความสงบสุขในปรโลก และการกลับไปหาพระเจ้าเมื่อชีวิตดับในโลกนี้

เมื่อศึกษาหลักการอิสลามในการดำรงชีวิต เพื่อสุขภาพตามที่กล่าวมาทั้งหมดย่อมมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างจริยธรรมกับ การดำรงชีวิตเอสุขภาพในทัศนะอิสลามได้ดี ถ้าจริยธรรมคือแนวทางปฏิบัติเพื่อความสุขของตนเองและสังคม ความสุขของมนุษย์ย่อมมาจากการที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพวิญญาณ การที่สมบูรณ์ย่อมนำมาสู่จิตใจที่สดชื่น และจิตใจทีดีงามย่อมรักษากายได้เพราะกายและจิตแยกจากกันได้ยาก ฟรอเรนซ์ ไนติงเกลเน้นพยาบาล “ให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วย แต่ไม่ใช่ให้การพยาบาลโรคหรือการพยาบาลความเจ็บไข้” นั่นคือ ให้ดูแลคนในความเป็นองค์รวมของเขา ถ้าพยาบาลมีความรู้ดีว่า “สาเหตุ 6 ประการของความเจ็บไข้คือความสกปรก น้ำดื่ม อาหาร ความชื้น ความแห้งแล้ง และการกำจัดน้ำเสีย” และพยาบาลรู้ดีว่าจะ “ช่วยประชาชนให้รู้จักช่วยตัวเองด้วยยกการสอนให้มีการปฏิรูปและมีแรงจูงใจด้วยตนเอง” หลังจากทำความเข้าใจกับความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยอันเนื่องมาจากการเจ็บไข้ ดังคำห่วงใยของไนติงเกลที่ว่า “ทำอย่างไรความทุกข์ทรมานของการเจ็บป่วยจะรู้และเข้าใจกันนัก ช่างรู้กันน้อยเหลือเกิน” ทั้ง นี้ย่อมต้องอาศัยการตระหนักในบทบาทของพยาบาลที่มีต่อผู้ป่วย เช่น การตระหนักของแม่ต่อสมาชิกในครอบครัว หรือการตระหนักของมนุษย์อันมีผลต่อเพื่อนมนุษย์ พยาบาลย่อมปฏิบัติบทบาทให้เกิดความสุขร่วม พร้อมสุขภาพดีถ้วนหน้าของประชาชนได้สำเร็จ นั่นคือ พยาบาลยึดหลักการพยาบาลบนพื้นฐานจรรยาบรรณวิชาชีพซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ ศาสนาอิสลาม ด้วยความมั่นในความเชื่อว่า “มุสลิมที่แข็งแรงนั้นย่อมเป็นที่รักของพระเจ้ามากกว่ามุสลิมที่อ่อนแอ”

***
ที่มา : วริยา ชินวรรโณ, บรรณาธิการ. (2536). นานาทรรศนะเกี่ยวกับจริยธรรม. ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

THAI CADET

 

© 2547-2565. All Right Reserved by THAI CADET   TEL./LINE : 0959429193

Made with Pingendo Free  Pingendo logo