ปัญหาจริยธรรมทางวิชาชีพของประเทศไทย : เน้นด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ในการศึกษาแพทย์ของเราที่สร้างผู้เชี่ยวชาญขึ้นมากเกินไปนี้ เราสอนนักศึกษาแพทย์จากร่างกายของคน เราไม่ได้สอน ความเป็นมนุษย์ ของ คน ที่เราพูดกันว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์นั้น เราไม่ได้สอนว่าความเป็นมนุษย์นี้มาจากไหน แต่เราสอนเรื่องของร่างกาย เรื่องของโรค ฉะนั้น ในขณะนี้แพทย์ส่วนใหญ่ขาดแนวความคิดในเรื่องของการผสมผสานความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์จะต้องเกิดขึ้นจากหลายสิ่งหลายอย่าง ปัญหาการแพทย์ก็ เช่นเดียวกัน เราอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการแพทย์สาธารณสุขนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยทางร่างกาย จิตใจ สังคม และวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เกิดปัญหามีลักษณะผสมผสานกัน แต่แพทย์พิจารณาเฉพาะเรื่องปัญหาร่างกายและจิตใจ
 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิทูร อึ้งประพันธ์ 

ในปัจจุบันนี้ ปัญหาจริยธรรมในวิชาชีทางการแพทย์นั้นมีแนวโน้มว่าจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคิดว่าเป็นเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เพราะว่าในปัจจุบันนี้การแพทย์และสาธารณสุขได้มีการขยายบทบาทกว้างขวางขึ้น ไปกว่าแต่ก่อน แต่เดิมนั้นจริยธรรมทางการแพทย์เป็นเรื่องของผู้ป่วยกับแพทย์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการให้บริการในการที่จะรักษา (Health Care) เพียงส่วนเดียวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันบทบาทของแพทย์ได้ขยายวงกว้างขึ้น เพราะว่านอกจากจะดูแลทางด้านผู้ป่วยแล้ว ยังดูแลทางด้านของการป้องกันโรค นอกจากนั้นยังไปเกี่ยวข้องกับความไม่สมบูรณ์ของผู้ป่วยบางอย่าง เช่น การเสริมสวย การรักษาคนไม่มีลูกให้มีลูกขึ้นมา เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีที่ไม่เป็นตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นบทบาทของแพทย์ตรงส่วนนี้ก็ขยายวงกว้างไปกว่าเดิม ในเรื่องของการรักษาโรคอย่างเดียวก็ขยายวงกว้างออกไปอีกมาก ดังนั้น ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาทางด้านจริยธรรมขึ้น

ปัญหาทางด้านจริยธรรมที่เราจะมาพิจารณากันในเรื่องของวิชาชีพทางการแพทย์นั้นคงจะต้องมองได้ 3 ประการ ด้วยกันคือ ประการแรก เป็นเรื่องของความสัมพันธ์หรือว่าผลประโยชน์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ในประเด็นเรื่องนี้โดยตรงที่จะต้องพิจารณากันก็คือ ผลประโยชน์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยนั้นจะขัดกันอยู่ตลอดเวลา ประการที่สอง คือ ระหว่างผลประโยชน์ของผู้ป่วยกับรัฐหรือชุมชน (Community) และประการที่สาม คือ ผลประโยชน์ของแพทย์กับชุมชนในฐานะที่แพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งในผลประโยชน์ทั้งสามส่วนนั้นทำให้เกิด ปัญหาทางจริยธรรมขึ้น

แต่เดิมมาในเรื่องของจริยธรรมเกี่ยวกับผลประโยชน์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยนั้น ถ้าเรามองในเรื่องของวิชาชีพดั้งเดิม เราจะพบว่าในแนวความคิดทางวิชาชีพดั้งเดิมนั้น แพทย์ประกอบวิชาชีพเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะฉะนั้นแพทย์ได้รับค่าตอบแทนในอดีตนั้นแพทย์คงไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ เป็นเงินเป็นทองมากมายนัก ดังนั้นวิชาชีพแพทย์ในอดีตอยู่ได้ด้วยค่าตอบแทนเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อการดำรงชีพ แต่ในปัจจุบันนี้ แนวความคิดในการประกอบวิชาชีพเปลี่ยนแปลงไป วิชาชีพแพทย์นั้นมิได้เป็นเรื่องของแพทย์ต่อผู้ป่วยโดยตรงแต่เพียงอย่าง เดียวแล้ว ในปัจจุบันนี้ในแง่ของวิชาชีพแพทย์ก็ดี การใช้เครื่องมือแพทย์ก็ดี การใช้ยาก็ดี ล้วนมีเรื่องของธุรกิจอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ซึ่งธุรกิจอุตสาหกรรมเหล่านี้หวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหลัก

ปัญหาสำคัญก็คือว่า ในทางการแพทย์แต่เดิมมานั้นไม่หวังเรื่องของประโยชน์ จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเพียงเพื่อดำรงชีพเท่านั้น และจะหวังผลประโยชน์ต่อผู้ป่วย หวังการบริการให้ผู้ป่วย ประเด็นนี้เป็นหลักสำคัญ แต่ถ้าเมื่อมาเปลี่ยนเป็นธุรกิจแล้ว ธุรกิจหวังผลประโยชน์เป็นเบื้องต้น เพราะฉะนั้นตรงนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาประโยชน์ขัดกันระหว่างแพทย์กับผู้ ป่วย ระหว่างวิชาชีพแพทย์กับผู้ป่วย นอกจากนั้นระบบการให้บริการทางการแพทย์ในปัจจุบันก็พัฒนาจากการให้บริการ ส่วนบุคคล เช่น ในอดีตแพทย์ไปรักษาคนเป็นคน ๆ ไป หรือว่าแพทย์บริการเฉพาะส่วนของแพทย์ ปัจจุบันได้มีการตั้งเป็นรูปของบริษัท เป็นรูปของกลุ่มบุคคล ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Enterprise ซึ่งหวังผลประโยชน์เป็นเรื่องหลัก

ดังนั้น จึงเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผลประโยชน์ของผู้ประกอบวิชาชีพกับผล ประโยชน์ของผู้ป่วย และนี่คือปัญหาพื้นฐานซึ่งทำให้เกิดข้อโต้แย้ง ในปัจจุบันนี้มีข่าวอยู่เสมอว่าโรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลแพง แนวความคิดในเรื่องผลประโยชน์นั้น ผู้ที่ลงทุนย่อมหวังประโยชน์ที่จะได้รับให้มากที่สุด ขณะเดียวกันผู้ที่รับบริการหรือผู้ป่วยก็คิดว่า แพทย์ยังต้องได้รับค่ารักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เหมือนดังที่เป็นมาในอดีต แต่สภาวะดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้เองก็มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น มีปัญหาต่าง ๆ ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในอดีตจะเห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ทำในรูปบริษัทจริง ๆ นั้นมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิทางศาสนาต่าง ๆ แนวความคิดในเรื่องของการที่จะหากำไรต่าง ๆ นี้ก็มีน้อย

ในปัจจุบันนี้ แนวความคิดด้านธุรกิจเข้ามาแทรกแซงวงการแพทย์ เกิดมีโรงพยาบาลเอกชนที่ดำเนินการในรูปของบริษัททั้งในประเทศไทยและในต่าง ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการลงทุนสร้างโรงพยาบาล ถือเป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง และโดยเฉพาะในการลงทุนด้านห้องทดลองวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Lab Investment) เป็นธุรกิจของเอกชน มีการเปิดตรวจคนไข้กันมากมายหลายแห่ง โดยคิดค่าตรวจแบบบวกกำไรเข้าไปด้วย ซึ่งมีผลกระทบตามมา แล้วขณะนี้ลักษณะการแพทย์ธุรกิจเช่นนี้กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย รักกันว่า “ บริษัทสุขภาพ ” กำลังจะมาติดต่อขยายธุรกิจดังกล่าวกับโรงพยาบาลเอกชนกว่าสิบแห่งในประเทศไทย ซึ่งต่อไปจะเป็นปัญหายิ่งขึ้น เพราะเป็นการแน่นอนว่า ถ้ามีการลงทุนในลักษณะนี้ก็จะต้องหวังผลกำไรที่จะเอาไปแบ่งปันผลประโยชน์

นอกจากนั้น ในขณะนี้จะเห็นได้ว่า บริษัทโรงพยาบาลในประเทศไทยนั้นได้เข้าไปขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นลักษณะของบรรษัทมหาชน ซึ่งต้องมีผลกำไรอย่างแน่นอน เพราะถ้าไม่มีผลกำไรก็ไม่มีผู้ใดซื้อหุ้น ผลกำไรดังกล่าวจะต้องมาจากการบริการ ประเด็นนี้เป็นจุดเริ่มต้นซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันในระหว่างผล ประโยชน์ของผู้ป่วย และผลประโยชน์ของผู้ให้บริการ ในเมื่อผู้ให้บริการเปลี่ยนจากแพทย์มาเป็นบริษัท บริษัทก็จ้างแพทย์ไว้เป็นลูกน้องหรือเป็นคนที่ให้บริการ เกิดปัญหาขึ้นว่าแพทย์จะปฏิบัติอย่างไรในฐานะตัวกลาง เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของผู้ป่วยให้ดีที่สุด และให้เป็นประโยชน์ที่สุด แต่ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องการกำไรมากที่สุดด้วย ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหากับแพทย์ในการให้บริการ เป็นตัวอย่างของการขัดผลประโยชน์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์

ประการที่สอง ประเด็นซึ่งแพทย์ในปัจจุบันแตกต่างจากการแพทย์ในอดีตก็คือ ในปัจจุบันนี้การแพทย์เป็นระบบผู้ชำนาญ (Specialization) ในขณะนี้มีผู้ชำนาญหลายสิบสาขา โดยแบ่งตามระบบอวัยวะของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะในอดีตเมื่อแพทย์รักษาโรคผู้ใด จะรักษาทั้งตัวคนผู้นั้น แต่ปัจจุบันเมื่อมีการแบ่งระบบผู้ชำนาญแล้ว ผู้ชำนาญจะรับผิดชอบในส่วนของเขาเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ป่วยคนเดียวอาจรักษาโดยแพทย์ 3-4 คน ซึ่งแต่ละคนก็จะรับผิดชอบในส่วนที่เป็นความชำนาญของตนเท่านั้น จึงเกิดปัญหาว่าใครจะดูแลรับผิดชอบปัญหาทั้งหมดของผู้ป่วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ มีผู้เขียนจดหมายไปที่แพทยสภาบอกว่ามีเด็กคนหนึ่งเป็นโรค เด็กคนนี้ได้รับการผ่าตัดนอนอยู่โรงพยาบาลประมาณ 3-4 เดือน ใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ทั้งหมด 8 คน หมดเงินหลานแสนบาท แล้วตายในที่สุด อย่างนี้เป็นต้น ไม่มีใครรับผิดชอบชีวิตของเขาทั้งสิ้น แพทย์แต่ละคนจะดูแต่ปอด ดูแต่หัวใจ ดูแต่สมอง แต่ไม่มีใครรับผิดชอบในชีวิตของผู้ป่วยในส่วนรวม เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในส่วนของทั้งร่างกายก็ขาด ตอนไป ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมขึ้น และเป็นปัญหาซึ่งอาจจะแก้ไขได้ยาก

นอกจากนี้ ในการศึกษาแพทย์ของเราที่สร้างผู้เชี่ยวชาญขึ้นมากเกินไปนี้ เราสอนนักศึกษาแพทย์จากร่างกายของคน เราไม่ได้สอน ความเป็นมนุษย์ ของ คน ที่เราพูดกันว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์นั้น เราไม่ได้สอนว่าความเป็นมนุษย์นี้มาจากไหน แต่เราสอนเรื่องของร่างกาย เรื่องของโรค ฉะนั้น ในขณะนี้แพทย์ส่วนใหญ่ขาดแนวความคิดในเรื่องของการผสมผสานความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์จะต้องเกิดขึ้นจากหลายสิ่งหลายอย่าง ปัญหาการแพทย์ก็ เช่นเดียวกัน เราอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการแพทย์สาธารณสุขนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยทางร่างกาย จิตใจ สังคม และวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เกิดปัญหามีลักษณะผสมผสานกัน แต่แพทย์พิจารณาเฉพาะเรื่องปัญหาร่างกายและจิตใจ

ยิ่งไปกว่านี้ ระบบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็ทำให้เกิดการแยกปัญหาของร่างกายและจิตใจ ออกจากกัน เนื่องจากว่าเรามีจิตแพทย์เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์บางคนจึงไม่สนใจจิตใจของผู้ป่วย พอพูดถึงเรื่องปัญหาจิตใจก็จะส่งผู้ป่วยไปหาจิตแพทย์ ซึ่งอันที่จริงนั้น ผู้ป่วยทุกคนมีปัญหาทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วการที่แพทย์จะปัดปัญหาไปให้จิตแพทย์นี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ถ้าแพทย์ทุกคนขาดความเข้าใจในเรื่องปัญหาทางจิตใจ จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะโรคหลายอย่างมีความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดช่องว่างในการที่จะดูแลผู้ป่วยทำให้ผลประโยชน์ของผู้ป่วยได้รับการ กระทบกระเทือน

ประการที่สาม เนื่องจากเรามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคมากยิ่งขึ้น และเทคโนโลยีก็มีมากขึ้นด้วย จึงมีปัญหาในเรื่องของการตัดสินใจในการรักษา แต่เดิมมาแพทย์เป็นผู้ตัดสินใจแทนผู้ป่วยทุกอย่าง แพทย์จะรักษาอย่างไรก็เป็นเรื่องของแพทย์ แต่ปัจจุบันนี้ได้มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งแพทย์เองก็อาจจะรับรู้ไม่หมด เพราะว่ามีเทคโนโลยีเฉพาะโรค (Specialty) เกิดขึ้นมาก เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีในการรักษาโรคแต่ละโรคก็อาจจะมีความคาบเกี่ยวกันบ้าง เช่น ในการรักษาโรคบางอย่างอาจจะเป็นการรักษาทางผ่าตัด บางอย่างก็เป็นการรักษาทางรังสี ตัวอย่างเช่น โรคนิ่ว ในปัจจุบันนี้รักษาโรคโดยการผ่าตัดก็ได้ โดยอุลตร้าซาวด์ก็ได้

ปัญหาที่ตามมาจากการที่มีการคาบเกี่ยวในเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับการรักษาโรคก็คือ ใครเป็นคนตัดสินใจเกี่ยวกับผู้ป่วย ถ้าหากเป็นแพทย์ผ่าตัดก็บอกว่าผ่าตัดดี แพทย์ทางรังสีก็บอกว่าฉายแสงดี ประเด็นนี้เองทำให้เกิดปัญหาขึ้น การจะให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจบางครั้งอาจจะมีปัญหา เพราะแพทย์เองอาจจะไม่มีความความรู้อย่างทั่วถึงเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือแนวความคิดใหม่ ๆ ฉะนั้นในปัจจุบันนี้การตัดสินใจต่าง ๆ คงจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ป่วย เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ป่วยควรจะต้องได้รับรู้มากยิ่งขึ้น เพราะการตัดสินใจว่าจะรับการรักษาหรือไม่ เป็นหน้าที่ของผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ แพทย์จะต้องบอกความจริงทุกอย่างต่อผู้ป่วย ปัญหานี้ทำให้เกิดทฤษฎีที่เรียกว่า Informed Consent การตัดสินใจมิได้อยู่ที่แพทย์อีกต่อไป แต่อยู่ที่ผู้ป่วย เพราะว่าผู้ป่วยนั้นเป็นผู้ที่รับรู้ปัญหาของเขาดี แล้วเขาต้องรับความเห็นต่าง ๆ แล้วตัดสินใจ

นอกจากปัญหาส่วนตัวของผู้ป่วยแล้ว ก็มีปัญหาเศรษฐกิจเกี่ยวข้องอยู่ด้วย คือ รักษาอย่างใดแพงหรือถูกกว่ากัน เขาจะจ่ายได้หรือไม่ ประเด็นนี้เป็นเรื่องซึ่งผู้ป่วยจะต้องมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นถ้าแพทย์รักษาผู้ป่วยแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา บางครั้งอาจจะเป็นเพราะแพทย์อาจจะให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่น แพทย์บางคนไปซื้อเครื่องสลายนิ่วมา แล้วโฆษณาว่า เครื่องนี้สลายนิ่วได้ดี คนไข้คิดว่าเป็นการดีที่รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด จึงไปรักษา แต่แล้วก็ไม่หาย เกิดปัญหาฟ้องร้องว่าเป็นการหลอกลวงหรือไม่ ขณะนี้มีกรณีส่งมาที่แพทยสภากรณีหนึ่ง ซึ่งกำลังพิจารณากันอยู่

การรักษาโรคในลักษณะนี้เป็นการหลอกลวงผู้ป่วยหรือไม่ ผู้ป่วยสมควรไปรักษาโดยใช้เครื่องมือดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นโรคเช่นนี้ การรักษาด้วยเครื่องมืออาจจะไม่ได้ผลเท่าใดนัก

ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องสามารถพิจารณาว่าตนเองมีอาการอย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจ เราะถ้าให้แพทย์ตัดสินใจแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความลำเอียงขึ้น เกิดปัญหาว่าไม่มีใครพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ป่วยได้ดีเท่ากับตัวของผู้ป่วย เอง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์จะต้องบอกเล่าแก่ผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น เพราะถ้าหากว่าไม่บอกก็จะเกิดข้อขัดแย้งขึ้น อาจจะมีการฟ้องร้องตามมา ประเด็นนี้ก็จะมีผลทางกฎหมายต่อไป

***
ที่มา : วริยา ชินวรรโณ, บรรณาธิการ. (2536). นานาทรรศนะเกี่ยวกับจริยธรรม. ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

THAI CADET

 

© 2547-2565. All Right Reserved by THAI CADET   TEL./LINE : 0959429193

Made with Pingendo Free  Pingendo logo