http://www.duangden.com
งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี
 
 

บทความโดย : ดร.วิษณุ เครืองาม

***

เมื่อ ๖๐ ปีก่อน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ การสืบราชสมบัติเป็นไปตาม มาตรา ๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๙ (๘) แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ ประกอบกับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของรัฐสภาซึ่งประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในค่ำวันเดียวกันนั้น

ประกาศของรัฐบาลได้แจ้งให้ประชาชนทราบ ความตอนหนึ่งว่า

“ จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพล อดุลยเดช ได้ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
ปรีดี พนมยงค์
นายกรัฐมนตรี ”

ณ บัดนั้น วันที่ ๑ ของปีที่ ๑ แห่งรัชกาลที่ ๙ ก็ได้เริ่มขึ้น แต่แม้จะมีการขึ้นครองราชย์และนับเป็นวาระเริ่มของการเป็นพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายแล้วก็ตาม จำเป็นต้องประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีด้วย ในโอกาสที่ เหมาะสมเช่นเมื่อทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว บางรัชกาลก็ทรงผนวชเสียก่อน หรือจัดงาน ถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ในพระบรมโกศเป็นที่เรียบร้อยเพื่อให้ราษฎรออกทุกข์และจัดงานรื่นเริงได้ บางรัชกาลถึงกับให้จัดให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการจัดอย่างย่อเพื่อให้สอดคล้องกับโบราณ ราชประเพณี ต่อเมื่อได้เวลาอันสมควรจึงจัดอย่างใหญ่เต็มพิธีอีกครั้งดังเช่นในสมัยรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖

ในรัชกาลปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ยังไม่ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ (พระชนมพรรษายังไม่เต็ม ๒๐ พรรษา) และต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบกับยังมิได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน พระบรมโกศ การจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงรั้งรอมาจนถึงวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงได้จัดขึ้นซึ่งต่อมาเรียกว่า “ วันฉัตรมงคล ” แต่การนับปีแห่งรัชกาลได้ดำเนินมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ นับถึงบัดนี้จึงเป็นปีที่ ๖๐

ตามธรรมเนียมสากลจะมีการฉลองการครบรอบในโอกาสต่างๆ เช่น การฉลอง ครบรอบอายุ ครบรอบสมรส ครบรอบการอยู่ในตำแหน่ง เป็นต้น รอบละ ๒๕ ปี ถ้าครบรอบ ๒๕ ปีแรก เรียกว่า “ สมโภชเงิน ” ( Silver Jubilee ) ครบรอบ ๕๐ ปี เรียกว่า “ สมโภชทอง ” ( Golden Jubilee ) ครบรอบ ๗๕ ปี เรียกว่า “ สมโภชเพชร ” ( Diamond Jubilee ) เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็เคยจัดงานตามธรรมเนียมนี้ คือ งาน “ สมโภชเงิน ” เรียกว่า “ รัชดาภิเษก ” (รัชดา แปลว่า เงิน) ต่อมาเมื่อครบ ๕๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็มีงาน “ สมโภชทอง ” เรียกว่า “ กาญจนาภิเษก ” (กาญจนา แปลว่า ทอง) ครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบ็ธที่สอง แห่งอังกฤษ และเจ้าชายเรนิเยร์แห่งโมนาโก ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ก็ได้มีงานสมโภชทอง เช่นกัน บัดนี้ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงครองสิริ ราชสมบัติครบ ๖๐ ปี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานตามที่รัฐบาลขอพระราชทาน มีชื่องานว่า “ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ” ไม่ใช่ “ สมโภชเพชร ” หรือ “ พัชราภิเษก ” ดังที่บางคนเรียก เพราะยังไม่ครบ ๗๕ ปี และไม่เรียกว่า “ ครบรอบ ๖๐ ปี ” เพราะธรรมเนียมไทยไม่ถือว่า ๖๐ ปี เป็นรอบ ด้วยไทยถือรอบนักษัตรคือรอบละ ๑๒ ปี การฉลองครบ ๖๐ ปี เป็นการอนุโลมตามธรรมเนียมสากลโดยถือว่าเป็นวาระที่มีมาถึงก่อนครบ ๗๕ ปี ซึ่งยังอยู่อีกไกล แต่อันที่จริง หากอนุโลมแบบไทยว่าครบห้ารอบนักษัตรก็จะได้เวลา ๖๐ ปี เช่นกัน เพียงแต่ถ้าใช้คำว่า “ ครบรอบ ” ก็ควรระบุว่า “ ครบห้ารอบ ” ไม่ใช่ครบรอบ ๖๐ ปี

 

พระมหากษัตริย์ในโลก

ประเทศทั้งหลายในโลกนี้ย่อมมีประมุข (Head of State) เป็นหัวหน้าสูงสุดทั้งสิ้น แม้ว่าการเรียกชื่อตำแหน่ง การเข้าสู่ตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ตลอดจนความรับผิดชอบในการปกครองจะแตกต่างกันไป บางประเทศมีประมุขแบบ “ ประธานาธิบดี ” ในขณะที่บางประเทศมีประมุขแบบ “ พระมหากษัตริย์ ” แม้แต่ประมุขแบบพระมหากษัตริย์ ในแต่ละประเทศก็มีประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมาย และการออกพระนามก็ ไม่เหมือนกัน คำศัพท์กลางๆ ที่ใช้เรียกประมุขแบบนี้ได้แก่ “ พระมหากษัตริย์ ” หรือถ้าเป็น บุรุษก็เรียกว่า “ สมเด็จพระราชาบดี ” ถ้าเป็นสตรีก็เรียกว่า “ สมเด็จพระบรมราชินี ” ส่วนประเทศที่มีประมุขเช่นนี้ เรียกว่า “ ราชอาณาจักร ” (Kingdom)

ราชอาณาจักรทั้งหลาย ณ กาลปัจจุบัน มี ๒๙ ประเทศ ได้แก่

ทวีปเอเชีย ไทย มาเลเซีย ญี่ปุ่น บรูไน เนปาล ภูฐาน กัมพูชา
  โอมาน จอร์แดน กาตาร์ อาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน
  คูเวต ซาอุดีอาระเบีย ซามัว ตองกา
   

ทวีปยุโรป

อังกฤษ สเปน ลักเซ็มเบอร์ก นอร์เวย์ เนเธอแลนด์

  สวีเดน เดนมาร์ก โมนาโก เบลเยียม ลิกเต็นสไตน์
   
ทวีปแอฟริกา โมร็อกโก สวาซิแลนด์ เลโซโท

พระมหากษัตริย์ในแต่ละประเทศมีระยะเวลาครองราชย์ที่ต่างกัน ที่จริงก็ไม่มีเหตุจะนำมาเปรียบเทียบเพื่อนับอาวุโสแต่ประการใด แต่ความสำคัญในเรื่องนี้คือ การอยู่ในตำแหน่งนานย่อมแสดงถึงพระราชประสบการณ์ในการเจริญพระราชสัมพันธไมตรีระหว่างพระราชวงศ์ซึ่งส่งผลให้เกิดไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และประชาชนต่อ ประชาชน เพราะพระมหากษัตริย์ย่อมดำรงพระราชสถานะยาวนานผ่านพ้นอายุสมัยของรัฐบาล ที่มีเวลาจำกัดและเปลี่ยนแปลงบ่อย อีกทั้งไม่ได้ทรงมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งอาจทำ ให้ได้นโยบายที่ไม่คงที่ถาวร และมีโอกาสสร้างความขัดแย้งได้ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ในอดีต พระมหากษัตริย์ของหลายประเทศเคยดำรงอยู่ในราชสมบัติเป็น เวลานาน โดยเฉพาะเมื่อทรงครองราชย์ตั้งแต่พระชนมพรรษาไม่มากนัก เช่น สมเด็จพระเจ้า หลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ ฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่น แต่เมื่อมาถึงกาลสมัยในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า ในบรรดา พระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์อยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงดำรงสิริราช สมบัติเป็นเวลายาวนานที่สุดจนถึงบัดนี้ คือ ๖๐ ปี

 

การนับเวลา ๖๐ ปี

ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ยังไม่เคยมีสมเด็จ พระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงดำรงสิริราชสมบัตินานถึง ๖๐ ปี ที่นับว่ายืนยาวมากคือรัชสมัย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีระยะเวลา ๔๒ ปี (๒๔๑๑-๒๔๕๓) ซึ่งเมื่อทรงครองราชย์เสมอด้วยพระมหากษัตริย์ในอดีต หรือเสมอด้วยรัชสมัยของพระบรมราชบุพการีก็จะมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองเสียคราวหนึ่ง เรียกว่า “ รัชมังคลาภิเษก ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเคยตรัสว่า “ เพื่อขออภัยที่แซงท่านไป ” การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี จึงนับเป็นเหตุพิเศษ เฉพาะในส่วนของประวัติศาสตร์ไทยอีกสถานหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองโดย เริ่มเขตงานย้อนไปตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๙

แม้วันครบ ๖๐ ปี จะเป็นวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่การที่ถอยการเริ่ม งานไปถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เพราะเมื่อทรงรับราชสมบัติในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ นั้น บรรดาพระราชกำหนดกฎหมายอันตราขึ้นในขณะนั้นจำเป็นต้องระบุปีแห่งรัชกาล ในคำปรารภหรือคำนำ ซึ่งระบุว่า “ เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบัน ” และเพื่อป้องกันความสับสน พอขึ้นวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ก็ระบุว่า “ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน ” ทั้งที่ยังไม่ครบรอบปี เมื่อไล่เรียงมาอย่างนี้ทุกปี ครั้งถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ก็เป็น “ เป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน ” ดังนั้น การเริ่มเขตงานจึงต้องเริ่ม (โดยนิตินัย) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ และถ้าคูคำปรารภพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็จะพบข้อความว่า “ เป็นปีที่ ๖๑ ในรัชกาลปัจจุบัน ” แต่พอนับแบบวันชนวัน เดือนชนเดือน ปีชนปี (โดยพฤตินัย) การครบ ๖๐ ปี จะตรงกับวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ วันดังกล่าวจึงเป็นหัวใจของการเฉลิมฉลอง

 

การเตรียมงาน

เมื่อพูดว่าเขตของงานเริ่มมาปีเศษแล้ว คำถามมีว่าเหตุใดบรรยากาศก่อนหน้านี้ จึงเงียบเหงา ความจริงการเริ่มเขตงานใน พ.ศ. ๒๕๔๘ ก็เพื่อให้เตรียมงาน เตรียมงบประมาณ เตรียมโครงการ ซึ่งก็มีการจัดในหลายส่วนไปแล้ว ดังที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประธานองคมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาล ฎีกาเป็นที่ปรึกษา และมีการประชุมไปแล้วหลายครั้ง ที่สำคัญคือต้องรอพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องตราสัญลักษณ์ของงาน บัดนี้ กรมศิลปากรได้ออกแบบและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจนมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาแล้ว ตราสัญลักษณ์นี้ให้ทำติดบนธงพื้นเหลือง อาคารสถานที่ แผ่นปิดกาว (สติ๊กเกอร์) หรือปกหนังสือได้ แต่ถ้าใช้ในเชิงพาณิชย์ ให้ขออนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการก่อน

 

กิจกรรมสำคัญ

กิจกรรมสำคัญระดับชาติที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ครั้งนี้ มีหลายอย่าง พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

๑. พระราชพิธี

วันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙

เวลาเย็น ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่ง อม รินทรวินิจฉัย อุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า และพระบรมราชบุพการี

วันศุกร์ที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙

เวลาเช้า ทรงบวงสรวงสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า และเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในนามของพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวาย พระพรชัยมงคลในนามของข้าราชการ ประธานรัฐสภาเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในนาม ของประชาชนชาวไทย และประธานศาลฎีกาเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในนามของข้าราชการฝ่ายตุลาการ ท่ามกลางมหาสมาคม

วันเสาร์ที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙

เวลาเย็น พระราชพิธีสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในพระที่นั่ง อม รินทรวินิจฉัย

วันจันทร์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙

เวลาบ่าย เสด็จออก ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงรับสมเด็จ พระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี ผู้แทนพระองค์ของประมุขนานาประเทศ และคณะทูตานุทูต ผู้แทนองค์การต่างประเทศที่มาเฝ้าฯ ถวายพระพร

๒. รัฐพิธี

วันจันทร์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙

เวลาเย็น เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยประมุข และผู้แทนพระองค์ของ นานาประเทศ ไปยังหอประชุมกองทัพเรือ และราชนาวิกยสภา ประทับทอดพระเนตรขบวนเรือพระราชพิธีในลำน้ำเจ้าพระยา เสร็จแล้วทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการอันแสดงถึงพระราช สัมพันธไมตรีระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระราชวงศ์ของนานาประเทศ และโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๓. ศาสนพิธี

มีศาสนพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และศาสนพิธีทรงสถาปนา และเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะรวม ๖๙ รูป อันถือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีด้วย

นอกจากนั้น มีศาสนพิธีทั่วไปที่รัฐบาล วงการศาสนา และประชาชนร่วมกันจัดนอกพระราชพิธีน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เช่น การที่รัฐบาลอุดหนุนให้คณะสงฆ์จัดงานวิสาขบูชาโลกในโอกาสวันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม ศกนี้ ซึ่งจะมีผู้นำทางพุทธศาสนา หลายคนในนานาประเทศมาร่วมชุมนุมถวายพระพร นอกจากนี้ ยังมีการ บรรพชาอุปสมบทหมู่ถวายเป็นพระราชกุศล การเจริญพระพุทธมนต์และแสดงพระธรรมเทศนาทั่วราชอาณาจักรว่าด้วยทศพิธราชธรรม ในศาสนาอื่น ก็มีการบำเพ็ญกุศลถวายในทำนองเดียวกัน เช่น ศาสนาคริสต์ มีการแต่งบทสวดถวายพระพรเป็นพิเศษ ศาสนาอิสลาม มีการสวดถวายพระพร และเชิญบุคคลสำคัญทางศาสนาอิสลามในต่างประเทศมาประชุม ทั้งนี้ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ก็มีการบำเพ็ญกุศลอย่างใหญ่เช่นกัน

๔. พิธี

วันอังคารที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลาค่ำพระราชทานเลี้ยง พระกระยาหารค่ำแก่ประมุขและผู้แทนพระองค์ของนานาประเทศ ณ พระที่นั่งจักรี มหาปราสาทส่วนต่อเติม ซึ่งบัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ”

๕. การดำเนินการอื่น ๆ ที่สำคัญ

๕.๑ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดประจำรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๘

คำว่า “ วัดประจำรัชกาล ” หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง หรือทรงบูรณะโดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นวัดที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นพิเศษ ในรัชกาล โดยเหตุนี้มักมีเหตุประกอบว่า เมื่อรัชกาลนั้น ๆ ล่วงไป และมีการถวายพระเพลิง พระบรมศพแล้วจะเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐานไว้ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปสำคัญใน พระอารามนั้น วัดดังกล่าวได้แก่

วัดประจำรัชกาลที่ ๑ วัดพระเชตุพนฯ

วัดประจำรัชกาลที่ ๒ วัดอรุณราชวรารามฯ

วัดประจำรัชกาลที่ ๓ วัดราชโอรสาฯ

วัดประจำรัชกาลที่ ๔ วัดราชประดิษฐ์ฯ

วัดประจำรัชกาลที่ ๕ วัดราชบพิธฯ

วัดประจำรัชกาลที่ ๖ วัดบวรนิเวศวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ ๗ วัดราชบพิธฯ

วัดประจำรัชกาลที่ ๘ วัดสุทัศนเทพวรารามฯ

นอกจากการบูรณะวัดประจำรัชกาลแล้ว ยังมีการบูรณะวัดสำคัญอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ วัดพระราม ๙ วัดที่มีอายุเก่าแก่กว่า ๖๐ ปี วัดที่เคยเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และมีปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เช่น วัดพระมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัด เชียงราย วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา วัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ตลอดจนมีการบูรณะโบราณสถานบางแห่ง มัสยิดในศาสนา อิสลาม วัดและคริสตจักรในศาสนาคริสต์ วัดญวน ศาลเจ้า และการสร้างสังวาลย์นพรัตน์ถวาย พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก แทนสังวาลย์เดิมที่สูญหายไปแล้วอีกด้วย

๕.๒ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ

รัฐบาลได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยใช้เนื้อที่เกือบทุกฮอล ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ตารางเมตร ระหว่างวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ถึง ๔ มิถุนายน ศกนี้ รวม ๑๐ วัน โดยไม่เก็บค่าผ่านประตู คาดว่าจะมีผู้เข้าชมนับล้านคน นิทรรศการประกอบด้วยส่วนที่เป็นพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชดำริในเรื่อง ต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์สุขของประชาชน มีการเชิญข้าวของเครื่องใช้ที่ทรงใช้ หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแสดง การแสดงสถานการณ์จำลอง เช่น การปลูกป่า การทำฝนเทียม การประหยัดพลังงาน การแสดงมหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ และการจำหน่ายสินค้าตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หนังสือ ภาพถ่าย และของที่ระลึก เป็นต้น

เมื่อเสร็จงานแล้ว จะได้พิจารณาต่อไปว่าควรจัดสิ่งเหล่านี้ไปแสดง ในต่างจังหวัดด้วยหรือไม่ และควรนำสิ่งของที่จัดทำขึ้นใหม่ในครั้งนี้ไปเก็บรักษาไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้ประชาชนได้ชมเป็นการถาวรในโอกาสต่อไป

๕.๓ การจัดงานสโมสรสันนิบาต และถวายพระกระยาหารค่ำ

รัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรง ร่วมงานสโมสรสันนิบาต และถวายพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบรัฐบาล ตามแบบอย่างที่เคยจัด ถวายในโอกาสสำคัญที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอพระบรมราชวินิจฉัยว่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นวันเวลาใด

 

เหตุการณ์หรือสิ่งสำคัญที่มีขึ้นในโอกาสนี้

๑. การเชิญประมุขของนานาประเทศทั้งโลกที่เป็นพระมหากษัตริย์เสด็จมาทรง ร่วมงาน ในปัจจุบันนอกจากประเทศไทยแล้วยังมีประเทศที่มีพระมหากษัตริย์อีก ๒๘ ประเทศ ทุกประเทศได้ทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ และ ไม่เป็นทางการแล้วว่าจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง หรือโปรดให้ผู้แทนพระองค์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชินี มกุฎราชกุมาร หรือพระราชวงศ์ชั้นสูงเสด็จแทน (ยกเว้นซามัว ซึ่งพระชนมายุสูงไม่อาจเสด็จได้) ทั้งนี้ เพื่อทรงแสดงความยินดีและถวาย พระพร อันจะเป็นปรากฏการณ์สำคัญครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การรับเสด็จ และการจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลจึงมีมติให้วันจันทร์ที่ ๑๒ และวันอังคารที่ ๑๓ มิถุนายน เป็นวันหยุดราชการในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม โดยได้แต่งตั้งให้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเตรียมงาน

รัฐบาลได้เตรียมของที่ระลึกถวายในโอกาสนี้ด้วย ถ้าเป็นบุรุษจะถวายภาพจิตรกรรมไทย ถ้าเป็นสตรีจะถวายผ้าคลุมพระอังสะทอพิเศษ

๒. การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อันจะเป็นการแสดงนิทรรสการเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัด มา ซึ่งประชาชนสามารถไปชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขานุการเตรียมการจัดงานครั้งนี้

๓. ขบวนเรือพระราชพิธีในค่ำวันที่ ๑๒ มิถุนายน อันเป็นริ้วกระบวนใหญ่ เต็มอัตราตามโบราณราชประเพณี ก่อนหน้านั้นจะมีการซ้อมใหญ่ซึ่งประชาชนสามารถชมได้ตามสองฝั่ง แม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบให้กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการจัด

๔. การบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุในทุกศาสนา และในทุกภูมิภาค รวมจำนวน ๑๕๑ รายการ ในวงเงินงบประมาณนับพันล้านบาท ซึ่งนับเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ของประเทศเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และจะเป็นอนุสรณ์แห่ง วโรกาสสำคัญนี้สืบไป ทังนี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งให้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานดำเนินการ

๕. ในวโรกาสนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดของที่ระลึกทูลเกล้าฯ ถวายในนามของพสกนิกรชาวไทย ประกอบด้วย พระสังข์อุตราวัฏ (เวียนซ้าย) เลี่ยมทองคำฝังเพชรประดับนพรัตน์ พร้อมด้วยมังสี (พานรอง) ลงยาราชาวดี ฝังเพชร และกล่องเชิญ ตัวสังข์ที่จะถวาย คราวนี้เป็นสายพันธุ์จากทะเลอันดามัน เป็นมงคลวัตถุในพระราชพิธีต่าง ๆ ใช้บรรจุ น้ำพุทธมนต์ หรือเทพมนต์ อันมีความหมายถึงน้ำพระราชหฤทัยยามที่ทรงหลั่งพระราชทาน ทั่วไปไม่เลือกหน้า ยังความชุ่มฉ่ำ และสิริมงคลมาสู่ผู้ได้รับพระราชทาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ เตรียมจัดสรรงบประมาณจำนวน ๑,๐๐๐ ล้านบาท ทูลเกล้าฯ ถวายไว้ในมูลนิธิอานันทมหิดล อันเป็นมูลนิธิแรกที่ทรงตั้งขึ้นในรัชกาลนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์คำนึงถึงสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ด้วย มูลนิธินี้ได้จัดสรรดอกผลส่งนักเรียนไปศึกษาต่อวิทยาการชั้นสูง ณ ต่างประเทศ จนได้กลับมาทำประโยชน์แก่ประเทศชาติแล้วเป็นอันมาก

๖. รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักพระราชวังก่อสร้างส่วนต่อขยายของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทออกไปด้านหลังของพระที่นั่งองค์เดิม โดยจัด งบประมาณแผ่นดินอุดหนุน ซึ่งสำนักพระราชวังได้จัดงบประมาณที่ได้จากค่าเข้าชมวัด พระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวังสมทบด้วย การก่อสร้างใช้สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวัสดุที่ละม้ายของเดิมที่สุด อันนับเป็นการก่อสร้างพระที่นั่งมหาปราสาท องค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน กำหนดแล้วเสร็จใช้จัดงานพระราชพิธีได้ทันเดือนมิถุนายนนี้ โดยมอบหมายให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้อำนวยการรับผิดชอบ บัดนี้ได้พระราชทานชื่อ ว่า “ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ”

 

ประชาชนจะมีส่วนร่วมในงานมหามงคลนี้ได้อย่างไรบ้าง

•  ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ ๙ มิถุนายน ส่วนงานอื่น ๆ สามารถชมได้ทางรายการโทรทัศน์ถ่ายทอดสด

•  ชมการซ้อมใหญ่ ขบวนเรือพระราชพิธี และการแสดงจริง ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙

•  ร่วมรับเสด็จสมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และผู้แทนพระองค์จาก นานาประเทศ ซึ่งบางพระองค์อาจเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปในที่ชุมนุมชน และสถานที่ต่าง ๆ ด้วย

•  ชมการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๙

•  บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลตามความเชื่อของตน และอาจร่วมบริจาค ในการบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถานต่าง ๆ ตามศรัทธา

•  ประดับธงสัญลักษณ์การจัดงานตามบ้านเรือน และอาคารสถานที่ต่าง ๆ

•  ร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล

•  ร่วมซื้อเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำขึ้นเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยเสด็จ พระราชกุศลทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย

•  ชมการแสดงมหรสพสมโภช และงานเฉลิมฉลองซึ่งจัดให้มีขึ้น ทั่วราชอาณาจักร

•  บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และประกอบคุณงามความดีต่อส่วนรวมสนอง พระมหากรุณาธิคุณ และพระบรมราชปณิธานที่จะทรงครองแผ่นดินโดยธรรม

***

ที่มา : หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ปีที่ ๗๔

Google
 

 

 
 
 
© Webpage Designed by thaicadet.org // Last Updated. Saturday 30 July, 2011 12:23 PM