http://www.duangden.com
หอภาพยนตร์ส่วนพระองค์
(Royal Private Film Archive)
 


***

นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ตราบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๖๐ ปี ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อขจัดทุกข์แก่ประชาราษฎรโดยมิได้ทรงย่อท้อต่ออุปสรรค และความยากลำบาก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เพียงทอดพระเนตรในทุกข์สุขของประชาชนผ่านสายพระเนตรอันยาวไกลเท่านั้น หากแต่ประเทศไทย และพสกนิกรของพระองค์ได้ถูกบันทึกไว้ในแผ่นฟิล์มส่วนพระองค์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ ดำเนินการถ่ายทำโดย ฝ่ายภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง ซึ่งได้เริ่มมีการถ่ายทำภาพยนตร์ม้วนแรก และเก็บสะสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๖,๐๐๐ ม้วน สำหรับฟิล์มภาพยนตร์เหล่านี้ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี ขนาด ๑๖ มิลลิเมตร โดยแต่ละม้วนมีความยาวประมาณม้วนละ ๔๐ นาที ซึ่งกล่าวได้ว่า หากนำมาฉายต่อเนื่องกัน จะกินเวลาฉายนานถึงราว ๔ เดือน นอกจากนี้ ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งเกือบทั้งหมดเป็นฟิล์มต้นฉบับที่มิได้มีการจัดทำสำเนาไว้

ย้อนกลับไปเมื่อ ๕๖ ปีที่แล้ว ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่พสกนิกรชาวไทยได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ส่วนพระองค์ โดยการฉายภาพพระราชพิธีบนจอภาพยนตร์ กล่าวคือ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ วังสระปทุม คณะทำงานขนาดเล็กจากฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ (His Majesty’s Personal Film Production Department) ได้ทำการบันทึกพระราชพิธีลงบนแผ่นฟิล์มสีขนาด ๑๖ มม. จากนั้น อีกหนึ่งอาทิตย์ถัดมา คือ วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งนับเป็นอีกวาระหนึ่งที่คณะทำงานฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ได้เก็บรายละเอียดของเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งลงบนม้วนฟิล์มโกดัก ต่อมาในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ปีเดียวกันนี้ หรือสองอาทิตย์นับจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ชาวกรุงเทพฯ ได้แห่กันไปโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เพื่อชมภาพยนตร์เกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญทั้งสองพระราชพิธี ซึ่งตัดต่อ ลำดับภาพ และบรรยายโดยฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์

จากการศึกษาเรื่องการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ ทำให้ทราบว่า ภาพยนตร์ส่วนพระองค์อย่างน้อยอีก ๑๖ เรื่อง ได้รับการฉายในโรงภาพยนตร์ไทยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งภาพยนตร์ดังกล่าว ได้แก่ คลิปภาพยนตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายทำด้วยพระองค์เองในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, การประกาศพระประสูติกาลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, ชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งฉายให้เห็นภาพทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งในขณะนั้นยังทรงพระเยาว์อยู่ ทรงกำลังอ่านและวาดภาพ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์ที่เป็นทางการ ซึ่งถ่ายทำโดยคณะทำงานฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ เกี่ยวกับการเสด็จเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย รวมทั้งการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงทอดพระเนตรภาพยนตร์ใหม่ทุกเรื่องก่อนที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ สำหรับการฉายในกรุงเทพฯ จะมีการประชาสัมพันธ์การเข้าฉายของภาพยนตร์ส่วนพระองค์ด้วยการให้รถปิคอัพขับไปรอบกรุงเทพฯ และกระจายข่าวทางลำโพง นอกจากนี้ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์หลายเรื่องที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ จะมีจำนวนผู้เข้าชมสูงมาก ดังจะเห็นได้จากการที่ขายบัตรเข้าชมได้มากกว่าภาพยนตร์ฮอลลิวูดและภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่นๆ ที่เข้าฉายในเวลาเดียวกัน ซึ่งการนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์เรื่องใหม่ออกฉาย เป็นสิ่งที่ผู้ชมเฝ้ารอกันอย่างมาก กระนั้นก็ตาม แม้ว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจะทำรายได้มหาศาล แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชทานเงินรายได้ทั้งหมดจากการฉายภาพยนตร์ให้แก่องค์การสารณกุศลทุกครั้ง ภายหลังออกจากโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ได้ถูกนำออกฉายในอีกหลายจังหวัด ซึ่งการนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉายในพื้นที่ห่างไกล ส่วนมากแล้วเป็นการฉายกลางแจ้ง หรือฉายในโรงเรียน และโรงพยาบาล โดยจะไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้ สามารถดึึงดูดผู้ชมได้เป็นจำนวนมากเสมอ

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งในช่วงนี้แต่ละครัวเรือนเริ่มมีโทรทัศน์ไว้ใช้เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์จึงเริ่มนำฟิล์มภาพยนตร์ข่าวในพระราชสำนักออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งในขณะนั้นมีสถานีโทรทัศน์เพียงสองสถานีเท่านั้น โดยภาพยนตร์ส่วนพระองค์เรื่องสุดท้ายออกฉายในโรงภาพยนตร์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้มีภาพงานเลี้ยงจบภาคการศึกษา ณ โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี กำลังทรงศึกษาอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งภาพการเสด็จประพาสอิหร่าน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๒ ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งจะได้รับอนุญาตให้ส่งคณะถ่ายทำของตนไปบันทึกภาพพระราชพิธีต่างๆ แต่ทว่าฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งมีที่ทำการในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ก็ยังคงทำการมาจนถึงทุกวันนี้

กว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมา ฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์มิได้เพียงแค่บันทึกภาพพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น แต่ยังได้ให้ภาพกว้างของประเทศไทยจากมุมมองอันหาใดเปรียบมิได้ กล่าวคือ มุมมองของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย ภาพของหมู่บ้านต่างๆ ที่ห่างไกล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเยี่ยมเยือน ซึ่งไม่ว่าภาพเหล่านั้นจะถ่ายทำโดยองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือคณะถ่ายทำของพระองค์ก็ตาม แต่แผ่นฟิล์มเหล่านี้ได้บันทึกรายละเอียดของภูมิทัศน์ในเชิงภูมิศาสตร์ และในทางจิตใจของประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ

ด้วยเหตุที่ ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ ถือเป็นสมบัติและมรดกอันล้ำค่าของชาติ เนื่องจากเป็นภาพบันทึกอันเชื่อได้ว่าเป็นภาพยนตร์ส่วนบุคคลที่มีปริมาณมากที่สุดในโลก ตลอดจนเป็นการเก็บบันทึกในช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก อีกทั้งภาพยนตร์เหล่านี้มิได้บันทึกแต่เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินของไทย และรัชสมัยของพระองค์เท่านั้น หากแต่เป็นการบันทึกประชาชนชาวไทย บ้านเมือง สังคมไทย พระเจ้าแผ่นดินหรือพระประมุขของนานาประเทศ และประชาชนทั่วโลก ซึ่งเป็นการบันทึกคาบเกี่ยวอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า ๖๐ ปี เป็นต้น ดังนั้น หากไม่ดำเนินการอนุรักษ์ ซ่อมแซม ดูแล และเก็บรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการก็จะทำให้ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์เหล่านั้นเสื่อมสลายไปก่อนเวลาอันสมควร เช่นเดียวกับฟิล์มเก่าโดยทั่วไปซึ่งองค์ประกอบทางเคมีจะเสื่อมลงจากสภาพการจัดเก็บ การใช้งาน ความร้อน ความชื้น และการทำลายแห่งเวลา

กระนั้นก็ตาม เนื่องจากภารกิจหลักของฝ่ายภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง คือ การผลิตหรือถ่ายทำภาพยนตร์ มิได้ทำหน้าที่ในด้านการอนุรักษ์ หรือดูแลเก็บรักษาอย่างเป็นระบบ ในขณะที่การอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ เทคโนโลยี บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณที่เหมาะสม

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่ง ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ และเนื่องจากฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งเหล่านี้ถือเป็นสมบัติส่วนพระองค์ ดังนั้น คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรษา ๒๕๕๐ จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ทั้งหมดไปดำเนินการตรวจสภาพเพื่อซ่อม บำรุง รักษา และสงวนไว้ ตามวิธีการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อทำนุบำรุงรักษาเป็นสมบัติของชาติสืบต่อไป ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ดำเนินการต่อไป โดยในส่วนของงบประมาณในการดำเนินการนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ มอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ได้ว่าจ้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบ

สำหรับการดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกรอบการดำเนินงาน คือ เป็นโครงการของรัฐบาลเพื่อร่วมงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยกำหนดงานต้องเรียบร้อยและสามารถเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ได้ภายในเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ อีกทั้งการดำเนินการต้องสมพระเกียรติ และมีความเหมาะสม นอกจากนี้ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ต้องเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพคล่องตัว มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ระบบบริหารจัดการ และงบประมาณ ซึ่งการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประหยัด และคุ้มค่า

จากการทำงานของคณะทำงานสำรวจและจัดทำโครงร่างการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ โดยมีรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายจาดุร อภิชาตบุตร เป็นประธานคณะทำงาน ในเบื้องต้นได้รายชื่อฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑๗ ชุด ดังนี้
ชุดที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๙๓) ชุดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส-พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ชุดที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๙๓) ชุดส่วนพระองค์
ชุดที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๙๖) ชุดส่วนพระองค์
ชุดที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๙๗) ชุดส่วนพระองค์
ชุดที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๙๘) ชุดเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ภาคอีสาน
ชุดที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๙๙) ชุดทรงผนวช
ชุดที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๐๑) ชุดเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ภาคเหนือ
ชุดที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๐๒) ชุดเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ภาคใต้
ชุดที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๐๓) ชุดเสด็จฯ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม
ชุดที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๐๓) ชุดเสด็จฯ อเมริกา อังกฤษ เยอรมนีชุดที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๙๖) ชุดส่วนพระองค์
ชุดที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๐๔) ชุดเสด็จฯ ยุโรป ๖ ประเทศ (โปรตุเกส สวิสฯ เดนมาร์ค นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี)
ชุดที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๐๔) ชุดเสด็จฯ ยุโรป ๕ ประเทศ (เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ลักเซมเบอร์ก เนเธอร์แลนด์)
ชุดที่ ๑๓ (พ.ศ.๒๕๐๕) ชุดเสด็จฯ ปากีสถาน และส่วนพระองค์
ชุดที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๐๕) ชุดเสด็จฯ มาลายา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
ชุดที่ ๑๕ (พ.ศ.๒๕๐๖) ชุดเสด็จฯ ญี่ปุ่น จีน (ไต้หวัน)
ชุดที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๕๐๗) ชุดเสด็จฯ ออสเตรีย ฟิลิปปินส์ และส่วนพระองค์
ชุดที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๑๐) ชุดเสด็จฯ อเมริกา อิหร่าน แคนาดา

อาคารเก็บรักษาและอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ หรือหอภาพยนตร์ส่วนพระองค์ (Royal Private Film Archive) มีลักษณะเป็นอาคารถาวร ซึ่งมีความส่งางามสมพระเกียรติ มีความปลอดภัยสูง มีระบบต่างๆ ตามมาตรฐานสากล เพื่อสำหรับใช้เก็บบำรุงรักษาฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ ตลอดจนเพื่อรองรับฟิล์มที่รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตมาเพื่อบำรุง รักษา และอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติชาติตลอดไป

หอภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้ จะตั้งอยู่ภายในบริเวณสนามเสือป่า พระราชวังดุสิต เป็นอาคารสูง ๕ ชั้น มีเนื้อที่ใช้สอยประมาณ ๑,๕๐๐ ตารางเมตร โดยออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้การควบคุมอุณหภูมิเป็นไปอย่างเหมาะสมในการเก็บรักษาฟิล์มให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ผู้ดำเนินการก่อสร้างคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล้อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน ๙๘,๕๘๗,๖๙๓.๖๒ บาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๖ เดือน หรือ ๑๘๐ วัน

สำหรับบุคคลากรที่มาปฏิบัติงานในการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์นี้ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีความรับผิดชอบในงานที่ทำ และมีความจงรักภักดีต่อในหลวงอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น การคัดเลือกผู้ที่จะมาปฏิฺบัติงานจึงมีความละเอียดรอบคอบในทุกด้าน เพื่อให้บุคลากรที่เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติอย่างแท้จริง สำหรับบุคคลากรผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่าย ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบ วิเคราะห์สภาพฟิล์มภาพยนตร์ที่มีอาการเสื่อมสภาพ ค้นคว้าวิจัยเพื่อการบำบัดรักษาฟิล์ม และควบคุมคุณภาพของการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ และนักจดหมายเหตุ สาขาภาพยนตร์ ปฏิบัติงานเป็นภัณฑารักษ์ภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ ควบคุมดูแลการจัดเก็บ และพัฒนาข้อมูลเพื่อจัดทำเครื่องมือช่วยค้น เป็นต้น และเนื่องจากการดำเนินการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ฟิล์มฯ จะต้องมีการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ระบบงาน วิธีการทางเทคนิคโดยเฉพาะ จึงได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดส่งบุคลากรที่มีความสามารถและเชีี่ยวชาญเป็นการเฉพาะมาช่วยงาน ได้แก่ บุคคลกรของ บริษัท กันตนาวีดิโอ โปรดักชั่น จำกัด และเจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

นอกจากนี้ ยังจะได้มีการจัดหาผู้เชี่ยวชาญชาวออสเตรีย คือ นางบริจิตต์ เปาโลวิช เพื่อทำสัญญาจ้างให้มาปฏิบัติงานในประเทศไทย เป็นเวลา ๑๒ เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๐ เป็นต้นไป เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกอบรมและถ่ายทอดวิชาการให้แก่บุคคลากรในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่ง ฝึกเจ้าหน้าที่ให้สามารถในการดูแล ตรวจสภาพ และซ่อมสงวนฟิล์มภาพยนตร์ที่มีอาการเสื่อมสภาพ

ในส่วนของการจัดเตรียมการขนย้ายฟิล์มและระบบงานนั้น เนื่องจากฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์เป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับฟิล์มดังกล่าวจะต้องดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบในทุกด้าน กล่าวคือ การขนย้ายฟิล์มฯ จากสวนจิตรลดา ไปยังหอภาพยนตร์แห่งชาติ จำเป็นต้องมีแผนการดำเนินงานอย่างละเอียดรอบคอบในทุกขั้นตอน เพื่อความปลอดภัยในการขนย้าย

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการการสร้างหอภาพยนตร์ส่วนพระองค์นั้น นอกจากจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ของโลก ที่มีการอนุรักษ์ภาพยนตร์และภาพนิ่งของพระมหากษัตริย์แล้ว ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์จะได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่เก็บรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อประกอบการศึกษา ค้นคว้า เผยแพร่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตรอันงดงามและน่าชื่นชม รวมทั้งวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ในอดีตของไทย ตลอดจนสาธารณชน และประชาชนชาวไทยทั้งในและต่างประเทศสามารถศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาวไทยตลอดมา และเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศไทยสามารถสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งได้ตามมาตรฐานสากล และยั่งยืน ทั้งนี้เพราะมีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์มรดกโสตทัศนวัสดุแห่งอาเซียน (ASEAN Center of Audio-Visual Heritage Restoration) หอภาพยนตร์แห่งชาติ ประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งศูนย์นี้จะสามารถให้บริการอนุรักษ์ภาพยนตร์แก่หอภาพยนตร์ของประเทศสมาชิกในภูมิภาคในราคาที่ต่ำว่ากท้องตลาด และให้การฝึผอบรมแก่บุคลากรของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอีกด้วย

ขณะนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เตรียมความพร้อมในการสร้างอาคารเก็บรักษาและอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์เรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเก็บรักษาและอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๐ เวลา ๐๙.๓๐ น. โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ พร้อมทั้งได้เชิญคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ คณะกรรมการดำเนินการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมเป็นเกียรติในพิธีวางศิลาฤกษ์ดังกล่าวด้วย

***

ข้อมูลอ้างอิงจาก
-
บทความของ คุณก้อง ฤทธิ์ดี ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เรื่อง .......... ฉบับประจำวันที่ ... ธันวาคม ๒๕๔๙
- บันทึกการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ข่าว สปน. ข่าวที่ ๑๑๑/๒๕๕๐ วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐, พิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเก็บรักษาและอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่งส่วนพระองค์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๒๕๕๐.

***

 
 
 
© Webpage Designed by thaicadet.org // Last Updated. Saturday 30 July, 2011 2:03 PM