http://www.duangden.com
พระราชประวัติ การครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๖๐ ปี
 


***

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

***

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช [เมื่อบรมราชาภิเษกแล้วเปลี่ยนเป็น “ อดุลยเดช ”] พระโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อัฐมรามาธิบดินทร์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล อัฐมรามาธิบดินทร์ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ทรงได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เนื่องจากยังมีพระราชภาระด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อในวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์ แทนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม

ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช ได้เสด็จนิวัตประเทศไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ศกเดียวกัน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ” ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า

“ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศ ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณ ถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร ได้ทรงหาทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ดีขึ้น พระราชทานคำแนะนำแก่ราษฎรและหน่วยงานต่าง ๆ ให้ดำเนินการ จนปัจจุบันกลายมาเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวนกว่า ๒,๐๐๐ โครงการ ซึ่งเริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรอย่างไม่เป็นทางการเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทำให้เกิดโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรก คือ โครงการสร้างถนนเข้าหมู่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดาได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคอย่างสม่ำเสมอตลอดมา อาจกล่าวได้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรดังกล่าว เป็นผลดีแก่เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณอันล้ำเลิศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงสามารถพระราชทานโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาทุกด้านได้อย่างนุ่มนวลและตรงประเด็น โดยทุกโครงการมีจุดมุ่งหมายให้ชาวชนบทมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองได้ มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์มากที่สุดโดยไม่สูญเปล่า ลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด และพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สิ่งแวดล้อม อุปนิสัย และจิตใจของคนในพื้นที่นั้นๆ ตัวอย่างเช่น ทรงแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาในภาคเหนือ ซึ่งเป็นการทำลายต้นน้ำ ลำธาร เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมและต่อสุขภาพอนามัยของชาวเขาเอง รวมทั้งเป็นอันตรายแก่เศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้ง โครงการหลวง เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพุทธศักราช ๒๕๑๒ เพื่อทดลองปลูกพืชเมืองหนาว ทั้งไม้ผล ไม้ดอก ปัจจุบันประสบผลสำเร็จอย่างสูง ทำให้ชาวเขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จึงเลิกปลูกฝิ่น ไม่ตัดไม้ทำลายป่า คนไทยได้บริโภคพืชผักเมืองหนาวในราคาย่อมเยา ทำให้โครงการหลวงได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ สาขาความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๑ และทรงแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร โดยพระราชทานพระราชดำริให้สร้างถนนลอยฟ้าพระบรมราชชนนี และขยายสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักคิด นักค้นคว้า แล้วทรงอธิบายถ่ายทอดให้ผู้อื่นทราบ ทรงเป็นครูที่ดี และมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนชาวไทยมีการศึกษาและมีความรู้ในการประกอบอาชีพ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิชาการสมัยใหม่ได้ ดังนั้น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในช่วงแรก ส่วนมากจะเป็นโครงการด้านการศึกษา ทรงจัดตั้งโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่เรียกว่า โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ทรงตั้ง โรงเรียนร่มเกล้า อีกหลายแห่ง โรงเรียนในราชสำนัก เช่น โรงเรียนจิตรลดา และ โรงเรียนไกลกังวล โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น โรงเรียนราชวินิต โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย สำหรับเด็กยากจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนให้จัดตั้ง โรงเรียนในวัด ตามแบบโบราณ ซึ่งมีวัดเป็นศูนย์กลางการเรียน จัดการสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาและอาราธนาพระเป็นครู โครงการพระดาบส เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๑๙ เพื่อให้การศึกษาฟรีด้านวิชาชีพต่างๆ แก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดเพศ วัยวุฒิ ความรู้ และฐานะ นอกจากนั้น ยังพระราชทานพระราชดำริให้ตั้ง มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อสนองตอบนโยบายให้การศึกษาตลอดชีวิต ผู้ที่สนใจสามารถติดตามศึกษา
ได้ด้วยความเสมอภาคและคุณภาพเท่าเทียมกัน

พุทธศักราช ๒๕๐๘ ทรงฟื้นฟูการพระราชทาน ทุนเล่าเรียนหลวง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเยาวชนที่เรียนดีให้ได้ไปศึกษาในประเทศตะวันตก เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาชาติบ้านเมือง ทรงตั้ง มูลนิธิภูมิพล และ มูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อพระราชทานทุนการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรีในสาขาต่างๆ รวมทั้งทุนการศึกษาอื่นๆ ทรงให้ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันจัดทำ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ฯ เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชน

นอกจากด้านการศึกษาแล้ว ปัญหาด้านสาธารณสุขยังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ เมื่อ ๕๐ ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หน่วยแพทย์หลวง ตรวจรักษา ผู้เจ็บป่วย ผู้ที่ป่วยหนักจะถูกส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร โดยทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล และถ้าเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว จะพระราชทานค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย ทรงอธิบายวิธีใช้ยาเพิ่มเติม และทรงพระอักษรอธิบายการใช้ยาอย่างละเอียดแก่ราษฎร พระราชทานสิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อสุขภาพของชาวชนบท เช่น มุ้ง ในพื้นที่ที่มีโรคมาเลเรียชุกชุม พระราชทานเกลือ ในบริเวณที่ขาดไอโอดีน ในพุทธศักราช ๒๕๐๘ พระราชทาน เรือเวชพาหน์ แก่สภากาชาดไทย เพื่อให้บริการแก่ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำที่ห่างไกล พุทธศักราช ๒๕๑๓ พระราชทาน หน่วยทันตแพทย์เคลื่อนที่ ไปให้บริการราษฎรที่ยากจนในชนบทห่างไกล ได้พระราชทานทรัพย์เป็นเงินทุน โปลิโอสงเคราะห์ เพื่อจัดหายา อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ รักษาผู้ป่วยด้วยโรคโปลิโอให้ช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง ทรงสร้าง อาคารมหิดลวงศานุสรณ์ เพื่อเป็นศูนย์ผลิตวัคซีน BCG พระราชทานเครื่องผลิตวัคซีนและทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยหาวิธีสร้างเครื่องกลั่นน้ำเกลือใช้เองในประเทศเพื่อลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอหิวาตกโรค ทรงก่อตั้ง สถาบันราชประชาสมาศัย เพื่อปราบโรคเรื้อนอย่างครบวงจร พระมหากรุณาธิคุณด้านสุขภาพดังกล่าวนี้เป็นที่ประจักษ์ ดังนั้น ในพุทธศักราช ๒๕๓๕ องค์การอนามัยโลกจึงทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญ Health-for-All Gold Medal แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อประเทศไทยประสบภัยพิบัติจากพายุโซนร้อนแฮเรียต ในพุทธศักราช ๒๕๐๕ ทรงเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลและสิ่งของทางสถานีวิทยุ อ.ส. ทำให้ได้รับเงินบริจาคจำนวนมาก เมื่อมีเงินเหลือ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้ง มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่คนที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ และตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ขึ้นในทุกภูมิภาค เพื่อรับบุตรธิดาของผู้ประสบภัย เด็กกำพร้าและเด็กยากจนเข้าศึกษาเล่าเรียนโดยรับพระราชทานทุนการศึกษาสงเคราะห์ต่อเนื่องจนจบการศึกษาตามความสามารถ มีหลายคนจบการศึกษาระดับปริญญาโท และบางคนกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัยใน ๖ จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นอย่างมาก เริ่มจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๓๐ ล้านบาท ให้มูลนิธิฯ นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากนั้น ทั้งสมาคม มูลนิธิ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้ร่วมกันบริจาคเงินและสิ่งของผ่านทางมูลนิธิฯ เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิฯ จัดสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เพิ่มขึ้น ๔ โรงเรียนที่จังหวัด พังงา กระบี่ ภูเก็ต และระนอง ทำให้ปัจจุบันมีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั้งสิ้น ๓๙ โรงเรียน นอกจาก ด้านการศึกษาแล้ว ยังทรงห่วงใยปัญหาเฉพาะหน้าของราษฎรผู้ประสบภัยที่ขาดแคลนน้ำบริโภค เพราะแหล่งน้ำในพื้นที่กลายเป็นน้ำเค็มหมด ได้พระราชทาน

พระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาประสานกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความช่วยเหลือขุดเจาะบ่อบาดาล และแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการบรรทุกน้ำลงพื้นที่แจกจ่ายแก่ผู้เดือดร้อน พระราชทาน หนังสือคลื่นยักษ์สึนามิ คลื่นอภิมหาภัย ให้มูลนิธิชัยพัฒนาพิมพ์เผยแพร่ เพื่อให้ความรู้ถึงสาเหตุของการเกิด วิธีป้องกัน สร้างความเข้าใจพื้นฐาน แก่ประชาชนในการเตรียมตัวรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เนื่องจากอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของประชากรไทยในชนบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับ เช่น ให้มีการสร้างถนนเพื่อขนส่ง ผลผลิตทางการเกษตรได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ทรงจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและมีพระราชดำริให้ศึกษา ทดลองเพื่อหาเทคโนโลยีที่ใหม่ๆ เพื่อให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติในระยะแรกทรงใช้สวนจิตรลดาเป็น สถานที่ทดลองโครงการส่วนพระองค์ในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ครบวงจร เมื่อทรงทดลองจนได้ข้อมูล เพียงพอแล้ว จะพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ

ต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อทรงศึกษาทดลองด้านการเกษตรตามสภาพภูมิศาสตร์และสังคมที่ต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค รวม ๖ ศูนย์ ศูนย์การศึกษาดังกล่าวมีลักษณะเป็น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้าไปศึกษา ดูงาน ฝึกอบรม แล้วนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม

ทฤษฎีใหม่ เป็นระบบการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำที่ถูกต้องเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนเป็นอีก วิธีการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เกษตรกรไทย ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย ให้ สามารถดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีน้ำใช้ตลอดปี มีข้าวบริโภคทั้งปี มีพืชผัก ผลไม้อื่นๆ บริโภคหมุนเวียนกันไป รวมทั้งมีอาหารโปรตีนจากสัตว์ที่เลี้ยงไว้ หากเหลือจากการบริโภคในครอบครัว ก็นำไปจำหน่ายได้

น้ำ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทรัพยากรน้ำไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทรงแก้ปัญหาน้ำน้อยในฤดูแล้ง โดยพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างอ่างเก็บน้ำฝ่ายทดน้ำ ขุดลอก พัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ สร้างสระเก็บน้ำประจำหมู่บ้าน และสำหรับโครงการขนาดให ญ่ที่ใช้งบประมาณสูง เช่น การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ จะพระราชทานพระราชดำริให้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า คือ นอกจากจะใช้กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ยังใช้เป็นเหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย

ในฤดูร้อนพุทธศักราช ๒๕๔๘ ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยราชการจัดทำ ฝนหลวง ตามวิธีการที่พระองค์ทรงดัดแปลงจากวิธีการที่ทำในต่างประเทศ และทรงทดลองจนได้ผลสำเร็จมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๒ เป็นต้นมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษที่อำเภอ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๘ โดยพระองค์ทรงเป็นผู้บัญชาการและ ควบคุมการปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศด้วยพระองค์เอง ทรงติดตามปัญหาภัยแล้งอย่างใกล้ชิด ตลอดเวลา ฐานปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง ๙ ฐานได้ลงมือปฏิบัติการพร้อมกันเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๘ ปรากฏว่า มีฝนตกหนัก ๑๐ จังหวัดในภาคอีสานและภาคตะวันออก และได้ปฏิบัติการต่อเนื่องอีกหลายครั้ง สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้ราษฎรได้เป็นอย่างมาก มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นและลดพื้นที่ประสบภัยแล้งลงได้มาก อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชบายให้ปฏิบัติการต่อจนกว่าน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำธรรมชาติจะมีน้ำเกินร้อยละ ๘๐ ของปริมาณความจุของเขื่อนเพื่อจะได้มีน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำใช้เพื่อการเกษตรกรรมได้ตลอดปี ๒๕๔๘ และเพื่อป้องกันปัญหาฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้งเช่นปี ๒๕๔๗ ด้วย

ทรงแก้ไข ปัญหาน้ำท่วมขัง ในฤดูฝน โดยมีโครงการระบายน้ำจากพรุบาเจาะ จังหวัด นราธิวาส เป็นโครงการต้นแบบ ทำให้ได้พื้นที่เกษตรกรรมกลับคืนมาเป็นจำนวนมาก และได้พระราชทาน พระราชดำริให้จัดทำโครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำก่อสร้างทางผันน้ำ ปรับปรุงคลองระบายน้ำในพื้นที่ลุ่ม

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๖ และ ๒๕๓๘ ได้เกิดน้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานความช่วยเหลือทุกวิถีทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ทรงพระดำเนินลุยไปในน้ำท่วมขังที่เน่าเสีย ทรงยืนพระบาทแช่น้ำเป็นเวลานานใน เวลากลางคืน ต้องทรงใช้ไฟฉายส่องเพื่อทอดพระเนตรแผนที่ประกอบพระราชวินิจฉัย ทรงถูกแมลง กลางคืนรบกวน ถูกยุงกัดพระวรกาย แต่พระองค์มิได้ทรงย่อท้อ ทำให้ทรงสามารถแก้ปัญหาได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น ได้พระราชทานพระราชดำริ โครงการแก้มลิง เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังให้ลงสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้นโดยสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นคลองต่างๆ สร้างสถานีสูบน้ำ ขุดลอกขยายคลองเพื่อรวบรวมน้ำจากพื้นที่ทางตอนบนมาเก็บไว้ แล้วระบายออกอ่าวไทยตามจังหวะขึ้นลงของน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก และการสูบน้ำที่เหมาะสมสอดคล้องกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ ปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยวิธีธรรมชาติ เช่น ที่บึง มักกะสัน ในกรุงเทพมหานคร ทรงใช้ผักตบชวาและแสงแดดบำบัด ที่อำเภอหนองหาร จังหวัดสกลนคร ทรงใช้พืชน้ำของท้องถิ่นเป็นตัวกรองน้ำเสียส่วนที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการทอลองวิจัยการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะ มูลฝอย และรักษาสภาพป่าชายเลน เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นผลงานประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สามารถใช้บำบัดน้ำเสีย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในพุทธศักราช ๒๕๓๖ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และของโลกที่พระมหากษัตริย์ทรงได้รับสิทธิบัตรนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมเสมอ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสมดุลของทรัพยากรป่า ดิน และน้ำ เช่น ทฤษฎีป่าเปียก เป็นแนวพระราชดำริที่จะป้องกันไฟไหม้ในฤดูแล้ง ทำให้ป่าคงความชุ่มชื้น และรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารไว้ไม่ให้เหือดแห้งไป ทรงอนุรักษ์ป่าชายเลน เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและ เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำและพืชหลายชนิด ทฤษฎีแกล้งดิน เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในภาคใต้ เป็นการ พัฒนาดินให้สามารถปลูกพืชได้อีก โดยทำให้ดินเปียกและแห้งสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน กระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศแล้วปล่อยกรดกำมะถันออกมาจนดินเปรี้ยวจัด ในที่สุด จากนั้น จึงทำกาควบคุมดินโดยควบคุมระบบน้ำใต้ดิน ใช้วัสดุปูนผสมในดินใช้น้ำชะล้าง ตลอดจนเลือกปลูกพืชที่เหมาะสม ทฤษฎีการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินโดยหญ้าแฝก เป็นเทคโนโลยีง่ายๆ และประหยัด แต่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมจนเป็นที่ยอมรับ จากนานาประเทศ สมาคมด้านการป้องกันการพังทลายของดินระหว่างประเทศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลในฐานะที่เป็นนักอนุรักษ์ดินและสภาพแวดล้อมที่มีผลงานยอดเยี่ยมในเรื่องการอนุรักษ์

สิ่งประดิษฐ์ที่ทรงคิดขึ้นเพื่ออนุรักษ์พัฒนาแหล่งน้ำในบรรยากาศ ได้แก่ เครื่องดักหมอก ที่ทรงใช้วัสดุในท้องถิ่นที่ราคาถูก หาง่าย ดักหมอกที่ล่องลอยในอากาศให้กลายเป็นหยดน้ำลงสู่ดิน หล่อเลี้ยงต้นไม้ให้งอกงามได้

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงคิดค้นและนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเหล่านี้ คณะรัฐมนตรีโดย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี จึงประกาศเฉลิมพระเกียรติพระองค์ในฐานะพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๓

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาในด้านภาษาอย่างยิ่ง ทรงสามารถในภาษา อังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้เทียงเท่าเจ้าของภาษา รวมทั้งภาษาสันสกฤต ทรงแปลหนังสือหลายเรื่อง เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และ ติโต เป็นภาษาไทย ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง Buddhist Economics ซึ่งทรงนำสาระบางตอนมาจาก Small is Beautiful ของ อี เอฟ ชูมัคเกอร์ พระมหาชนก ซึ่งทรงนำมาจากชาดกเรื่องหนึ่งในพุทธประวัติ เรื่องทองแดง ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยง

ในขณะที่ทั่วโลกใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานและศึกษาหาความรู้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการทรงงานต่างๆ เช่นกัน ทรงใช้โปรแกรม Fontastic ออกแบบตัวอักษรภาษาไทยและอักษรภาษาอังกฤษขนาดต่าง ๆ ต่อมา ทรงออกแบบอักษรเทวนาครี และทรงออกแบบอักษรไทย-อังกฤษ ชื่อ ภูพิงค์ และ ทักษิณ สำหรับคอมพิวเตอร์แมคอินทอช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชสมัญญาว่า “อัครศิลปิน” เนื่องจากทรงพระปรีชาสามารถ ในด้านศิลปวัฒนธรรมหลายแขนง และทรงนำพระอัจฉริยภาพ เหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศตลอดมา โดยเฉพาะพระอัจฉริยภาพด้าน ดนตรี เป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีนานาชาติ กระทั่งเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๓ สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น สมาชิกกิตติมศักดิ์ ลำดับที่ ๒๓ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยและสากลที่มีท่วงทำนองไพเราะลึกซึ้งไว้ถึง ๔๘ เพลง พระองค์ทรงนำดนตรีเป็นเครื่องกระชับสัมพันธไมตรีกับนานาชาติได้อย่างดียิ่ง นอกจากนั้น ยังเป็นเครื่องผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์กับนิสิตนักศึกษาไว้ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และพระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น จิตรกร ด้วยเช่นกัน พระองค์ได้ทรงงานด้านจิตรกรรมไว้เป็นจำนวนมาก ในด้าน ประติมากรรม ทรงปั้นพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รูปปั้นผู้หญิงคุกเข่า พระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระบูชาสำหรับพระราชทานไปประดิษฐานไว้ ณ ศาลากลางจังหวัดต่างๆ และพระพิมพ์ส่วนพระองค์ทรงโปรดการ ถ่ายภาพ มาแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์จะทรงสะพายกล้องถ่ายรูปเพื่อทรงบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ใช้ประโยชน์ในการทรงงานเสมอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรด งานช่าง มาแต่ทรงพระเยาว์เช่นกัน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๗ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบ จึงทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง หลายลำ และทรงใช้เรือใบที่ทรงต่อลงแข่งขันในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ พุทธศักราช ๒๕๑๐ ซึ่งจัดการแข่งขันในประเทศไทย ในครั้งนั้นพระองค์ทรงเป็นผู้ชนะเลิศกีฬาเรือใบประเภทโอเคคู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ในฐานะที่ทรงเป็น อัครราชศาสนูปภัมภก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทรงวางพระองค์อย่างเหมาะสม เป็นที่เคารพของปวงศาสนิกชนถ้วนหน้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมรับคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จในงานสำคัญของศาสนาต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทรงเป็น พุทธมามกะ ทรงพระผนวช ในพุทธศักราช ๒๔๙๙ ทรงประกอบพระราชพิธีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา อย่างเต็มพระกำลัง ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในการก่อสร้างพุทธมณฑล วัดญาณสังวรารามและวัดพระรามเก้า ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทรงอุปถัมภ์พระสงฆ์ ทรงเลื่อมใส ศรัทธา และศึกษาพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ จัดการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และพระราชพิธี สถาปนาสังฆปริณายกแห่งสังฆมณฑล ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ และ ๒๕๐๘ ตามลำดับ

ทรงฟื้นฟูประเพณีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดย กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในคราวงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า กระบวนพุทธพยุหยาตราทาง ชลมารค พระราชพิธีเสด็จถวายผ้าพระกฐินต้น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและพระราชทานข้าวเปลือกจากนาทดลองในสวนจิตรลดาไปหว่านในพิธี เพื่อให้เกษตรเก็บไปรวมกับเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะหว่านต่อไป

ทรงห่วงใยและสนพระราชหฤทัยใน การใช้ภาษาไทย ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงร่วมอภิปรายกับผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทยของชุมนุมภาษาไทย ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕ ทรงแสดงความห่วงใยการออกเสียงภาษาไทย วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค รวมทั้งการบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ในด้าน ดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้เพลงไทยและดนตรีไทยคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป ได้พระราชทานพระราชดำริให้เครื่อง ปี่พาทย์และวงดนตรีไทยทุกวงปรับมาตราเสียงให้มีระดับเดียวกัน และให้เป็นมาตราเสียงของดนตรีไทย พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือโน้ตเพลงไทย เล่ม ๑ เผยแพร่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บันทึกท่ารำเพลงหน้าพาทย์ตั้งแต่หน้าพาทย์ธรรมดาจนถึง หน้าพาทย์ชั้นสูงเป็นภาพยนตร์ เพื่อเป็นหลักฐานและเป็นแบบท่ารำในอนาคต ทรงประกอบพิธีครอบ ประธานไหว้ครูโขนละครและต่อหน้าพาทย์เพลงองค์พระพิราพ นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังพระราชทานพระราชดำริให้ อนุรักษ์มวยไทย ซึ่งทรงเห็นว่า เป็นกีฬาของนักรบไทยมาแต่ครั้งโบราณ ทรงแสดงให้เห็นว่า กีฬามีประโยชน์ โดยทรงแข่งขันกีฬาด้วยพระองค์เอง และทรงส่งเสริมให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม ในการกีฬาอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ด้านการต่างประเทศ ได้อย่างดียิ่ง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการหลายประเทศ เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี นำประเทศไทยไปสู่ความเข้าใจอันดีของโลก และเพิ่มพูนศักดิ์ศรีของชาติ ทรงเป็นที่ยอมรับนับถือในนานาชาติ

เพราะพระอัจฉริยภาพและพระราชปณิธานที่ทรงใช้ให้เหมาะแก่กาลสมัย พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกร ชาวไทยด้านการพัฒนาชนบทเป็นที่ประจักษ์ ทำให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น อิสราเอล ญี่ปุ่น และไต้หวัน

นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นมาจวบจนบัดนี้ นับได้ ๖๐ ปีบริบูรณ์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุธรรม และธรรมะอื่นๆ ทรงอุทิศ พระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของพสกนิกรชาวไทย โดยไม่มีเวลาหยุดพัก ทรงเป็นมิ่งขวัญแห่งความสามัคคี เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของปวงชนชาวไทย จนอาจกล่าวได้ว่า คราใดที่บ้านเมืองมีปัญหา ประชาชนเกิดความทุกข์ยากเดือดร้อน ระส่ำระสาย ครานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงสยบเรื่องร้าย คลี่คลายเหตุการณ์ให้กลับดีด้วยพระอัจฉริยภาพและพระเมตตาคุณจน ประชาชนเกิดความสุขในเวลาอันรวดเร็ว ปวงชนชาวไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ดังนั้น ในมหามงคลสมัยที่เสด็จดำรงสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ รัฐบาล และประชาชนชาวไทย จึงพร้อมใจกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณ

รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับชื่องานและกำหนดระยะเวลาจัดงานซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ใช้ชื่องานว่า การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ชื่องานและชื่อพระราชพิธีภาษาอังกฤษว่า The sixtieth Anniversary Celebrations of His Majesty's Accession to the Throne เขตงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เริ่มตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ อันเป็นวันขึ้นต้นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน (ตามปฏิทินหลวง) และจะสิ้นสุดในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ หรือให้เลยไปจนสิ้นปี ๒๕๔๙ ก็ได้

***

ที่มา : หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ปีที่ ๗๓, ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๘.

Google
 

 

 
 
 
© Webpage Designed by thaicadet.org // Last Updated. Saturday 30 July, 2011 1:47 PM