http://www.duangden.com
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี
 


***

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี พระราชนิพนธ์เพลง แลกเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด และทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย รวมทั้งทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ (Wey-brecht) โดยทรงเรียนเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และสเกลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค ต่อมา จึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส และทรงดนตรีสากล โดยทรงหัดเป่าแซกโวโฟนกับเพลงจากแผ่นเสียงของวงดนตรีที่มีฝีมือ เช่น John Hodges และ Sidney Bechet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญจึงทรงเป่าสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี ทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz มาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเปต รวมทั้งเปียโนและกีตาร์ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลงและเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลง เมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ทรงพระราชนิพนธ์เพลง "แสงเทียน" เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกและจนถึงปัจจุบัน มีเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ทุกเพลงล้วนมีทำนองไพเราะ ประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อร้อง ซึ่งมีคตินานัปการ และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ในยามที่บ้านเมืองไม่สงบสุข ก็พระราชทานเพลงปลุกใจเพื่อเป็นกำลังใจแก่ ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ มิให้เกิดความย่อท้อในการทำความดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อตนเองและต่อสังคม ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ความบันเทิง สารประโยชน์ และข่าวสารต่าง ๆ แก่ประชาชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์กับนิสิตนักศึกษา โดยเสด็จฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งเป็นสื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกับนานาประเทศได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พระปรีชาสามารถด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศ จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๐๗ สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตร และสมาชิกกิตติมศักดิ์ลำดับที่ ๒๓ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมนามาภิไธย "ภูมิพลอดุลยเดช" ปรากฏอยู่บนแผ่นจำหลักหินของสถาบัน ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุด และเป็นชาวเอเชียแต่เพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงนี้ พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ชื่นชมไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น นักดนตรีต่างประเทศทั่วโลกก็ชื่นชม และยอมรับในพระอัจฉริยภาพนี้

นอกจากทรงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลง และทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็น "ครูใหญ่" สอนดนตรีแก่แพทย์ ราชองครักษ์ และข้าราชบริพารใกล้ชิดซึ่งเล่นดนตรีไม่เป็นเลย จนเล่นดนตรีเป็น สามารถบรรเลงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ได้ ต่อมา จึงได้เกิด "วงสหายพัฒนา" มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์หัวหน้าวง

ในด้านดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพะราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทย และนาฏศิลป์ไทย ไว้ให้อยู่คู่กับชาติไทยตลอดไป โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้ นักดนตรีไทยช่วยกันรักษาระดับเสียงของดนตรีไทยไว้ เพื่อเป็นมาตรฐานของวงดนตรีไทยรุ่นหลัง ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือ "โน้ตเพลงไทยเล่ม ๑" เพื่อให้เป็นหลักฐานและมาตรฐานต่อไป และทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าบันไดเสียงของดนตรีไทย โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโประเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีครองประธานครูโขนละคร และต่อกระบวนรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์สูงสุดในวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ไทยอีกด้วย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอนุรักษ์ศิลปะของไทย เพื่อให้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นคีตกวีแห่งจักรีวงศ์พระองค์นี้ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" แม้ด้านดนตรีก็มิได้เว้น.

๒๔๘๙

แสงเทียน

๒๔๘๙

ใกล้รุ่ง

๒๔๙๐

ชะตาชีวิต

๒๔๙๐

ดวงใจกับความรัก

๒๔๙๑

มาร์ชราชวัลลภ

๒๔๙๒

เทวาพาคู่ฝัน

๒๔๙๒

มหาจุฬาลงกรณ์

๒๔๙๒

พรปีใหม่

๒๔๙๒

แก้วตาขวัญใจ

๒๔๙๒

คำหวาน

๒๔๙๒

อาทิตย์อับแสง

๒๔๙๕

ยิ้มสู้

๒๔๙๕

รักคืนเรือน

๒๔๙๕

มาร์ชธงไชยเฉลิมพล

๒๔๙๕

ยามค่ำ

๒๔๙๗

ลมหนาว

๒๔๙๗

ศุกร์สัญลักษณ์

๒๔๙๗

เมื่อโสมส่อง

๒๔๙๘

Oh I Say !

๒๔๙๘

สายฝน

๒๔๙๘

Can't You Ever See

๒๔๙๘

ยามเย็น

๒๔๙๘

Lay Kram Goes Dixie

๒๔๙๘

ค่ำแล้ว

๒๕๐๐

สายลม

๒๕๐๐

ไกลกังวล (เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย)

๒๕๐๑

แสงเดือน

๒๕๐๒

ฝัน (เพลินภูพิงค์)

๒๕๐๒

แผ่นดินของเรา

๒๕๐๒

มาร์ชราชนาวิกโยธิน

๒๕๐๒

ภิรมย์รัก

๒๕๐๒

Nature Waltz

๒๕๐๒

The Hunter

๒๕๐๒

Kinari Waltz

๒๕๐๒

พระมหามงคล

๒๕๐๕

ยูงทอง

๒๕๐๘

ในดวงใจนิรันดร์

๒๕๐๘

เตือนใจ

๒๕๐๘

ไร้จันทร์ (ไร้เดือน)

๒๕๐๘

เกาะในฝัน

๒๕๐๙

เกษตรศาสตร์

๒๕๑๔

ความฝันอันสูงสุด

๒๕๑๘

แว่ว

๒๕๑๙

เราสู้

๒๕๑๙

เรา-เหล่าราบ ๒๑

๒๕๒๒

Blues for Uthit

๒๕๓๗

รัก

๒๕๓๘

เมนูไข่

 

ที่มา : แผ่นซีดีชุด "ดนตรีจากพระราชหฤทัยสู่ปวงชน" จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำแผ่นซีดีเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ (๕ ธันวาคม ๒๕๔๒)

Google
 

 

 
 
 
© Webpage Designed by thaicadet.org // Last Updated. Tuesday 26 July, 2011 11:05 PM