http://www.duangden.com
พระบรมราโชวาทแก่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม-ศาลทหาร
 


***

เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๖.๔๒ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม จำนวน ๑๒๘ คน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทว่า

" บ้านเมืองจะต้องมีความยุติธรรม หมายความว่า คนจะปฏิบัติตัวตามใจชอบไม่ได้ ต้องทำตามกฎเกณฑ์ หรือว่าของกฎหมายก็ได้ หรือต้องเป็นตามความดี กฎเกณฑ์ของความดี และความดีนั้นก็คือทำอะไรที่ตรงไปตรงมา ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน ต่อประชาชน โดยเฉพาะทุกคนที่มีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ต้องมีกฎเกณฑ์ ต้องมีขื่อมีแป ถ้าไม่มีขื่อมีแปแล้ว ประเทศชาติก็ล่มจม อันนี้สำคัญที่ต้องมีผู้พิพากษาที่ต้องมีความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งของผู้พิพากษาไม่ใช่ง่าย เพราะว่ามีคนที่ไม่ค่อยดี คือหมายความว่าไม่ค่อยสุจริต ก็หาทางที่จะหลบเลี่ยงกฎหมาย หลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ หลบเลี่ยงความดีเพื่อความดีของตัว ฉะนั้นท่านต้องรักษาความเข้มแข็งของคำปฏิญาณนี้

ซึ่งถ้าพูดถึงง่ายๆ ก็ไม่ยาก เพราะความดีนั้นเป็นสิ่งที่ง่าย แต่ว่าทำไมมันยาก เพราะมีอคติ หมายความว่าคนเราอยากที่จะทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมาก แต่ท่านได้ปฏิญาณว่าท่านจะไม่หลงในอคติ ซึ่งเป็นของดีมาก ถ้าไม่หลงในอคติก็ทำไม่ยาก ฉะนั้นถ้าท่านรักษาสิ่งที่ท่านได้เปล่งวาจานี้ก็จะทำได้ง่าย เพราะถ้าเราไม่หลงในอคติก็ไม่ยากที่จะทำดี ถ้าทำดีแล้วทุกคนก็ได้รับประโยชน์ ในการรักษาความดีบางอย่างอาจจะไม่ง่าย เพราะว่ามีคนที่ไม่ใช่หลงในอคติ มีคนที่อยากจะไปในทางที่ไม่ถูก อยากจะไปในทางที่เป็นอคติ เขาพยายามที่จะหลอกลวงตลอดเวลา ท่านต้องเข้มแข็ง ความเข้มแข็งของผู้พิพากษาจะต้องรักษาไว้ตลอดชีวิต "

จากนั้นเวลา ๑๗.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล . อ . บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำตุลาการศาลทหารสูงสุด ตุลาการศาลทหารกลาง ตุลาการศาลทหารกรุงเทพฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ โอกาสนี้พระราชทานพระบรมราโชวาทว่า

การปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคตินั้น เป็นหน้าที่สำคัญของนายทหารทุกคน และโดยเฉพาะตุลาการที่จะต้องรักษาความยุติธรรมของหน้าที่ ท่านเป็นทหารก็จะต้องรักษาความดีอยู่เป็นธรรมดา และยิ่งเป็นตุลาการก็ยิ่งสำคัญเพราะว่าทหารถือว่ามีอาวุธ แต่ความยุติธรรมของตุลาการ ก็เท่ากับเป็นอาวุธอีกอย่าง ถ้าท่านรักษาความดีของตุลาการก็จะไม่ต้องใช้อาวุธที่ประหัตประหาร ฉะนั้น ท่านได้ปฏิบัติปฏิญาณตนก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเป็นการยืนยันว่าท่านมีหน้าที่และหน้าที่ท่านจะสำคัญมากสำหรับประเทศชาติ จะทำให้ประเทศชาติมีความสุขความสงบอยู่ตลอด ไม่จำเป็นที่ประหัตประหารกัน ฉะนั้น ท่านก็ต้องรักษาคำปฏิญาณนี้โดยเด็ดขาด โดยเข้มแข็ง เพราะว่าส่วนมากเป็นความลำบากที่จะรักษาความยุติธรรม เพราะว่าความยุติธรรมนี้หมายความว่า จะต้องรักษา จะต้องเสียสละ เพราะว่าโดยมากคนเราก็ชอบที่จะเอาเปรียบ ถ้าเอาเปรียบคนก็ไม่เก่ง ไม่ได้เป็นความยุติธรรม ฉะนั้น ท่านจะต้องรักษาไม่ให้คนอื่นเอาเปรียบ ถ้ามีคนเอาเปรียบคนอื่น จะทำให้บ้านเมืองไปไม่รอด ก็ขอให้ท่านดูแลความยุติธรรม ไม่ใช่ในกองทัพท่านเอง แต่ว่าทั่วไป จะได้ไม่ต้องประหัตประหารกัน ก็ขอให้ท่านสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ยุติธรรม เพื่อความสงบสุขของทุกส่วนของประเทศ และเพื่อทุกส่วนของประเทศมีความสงบสุข บ้านเมืองทั้งหมดนี้ ก็จะเป็นสุขและมีความสามารถที่จะรักษาอธิปไตย รักษาความดีของประเทศ

ประเทศไทยอยู่เย็นเป็นสุขมานาน แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็รู้สึกว่าคนเขาจะเอาเปรียบกัน ในการเอาเปรียบกันไม่ดี จะต้องให้มีคนไม่เอาเปรียบ รักษาความสงบสุขต่อไป ขอให้ท่านมีความสำเร็จดีในงานของท่าน และมีความเข้มแข็ง รักษาความยุติธรรม ไม่ใช่ในกองทัพท่านเอง แต่ทั่วไป ให้คนเขาไว้ใจว่าทหารเป็นผู้ที่รักษาความยุติธรม เราช่วยกันรักษาความดีของประเทศชาติ ทหารจะมีชื่อเสียง รักษาชื่อเสียงไว้ดีๆ ฉะนั้นขอให้ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งและขอให้ท่านมีความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่และมีความสำเร็จในงานทุกอย่างของทหาร และขอให้ท่านมีความดีอยู่ในตัว รักษาความดีนี้ตลอดไป จนกระทั่งทำให้กองทัพไทยรักษาชื่อเสียงไว้ได้ ถ้ากองทัพไทยรักษาชื่อเสียงไม่ได้ดี ก็จะมีใครมาทำอันตรายได้ ฉะนั้นต้องให้เข้าใจว่า กองทัพจะรักษาประเทศชาติได้ ไม่ใช่ด้วยอาวุธประหัตประหาร แต่ว่าด้วยความดี ขอให้ท่านประสบความสำเร็จในงานการของท่าน และขอให้ท่านมีความสุขในความสำเร็จนี้ ขอจงมีความเจริญ และขอให้มีความเข้มแข็งที่จะปฏิบัติหน้าที่ทุกด้าน

***

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑๐๘๗๔

 
 
 
© Webpage Designed by thaicadet.org // Last Updated. Saturday 30 July, 2011 2:16 PM