น้อง ๆ หลายท่านอาจมีปัญหาในการออกเสียงคำในภาษาไทย เช่น คำว่า สิทธิ บางคนอ่านว่า สิด แต่บางคนอ่านว่า สิด- ทิ ซึ่งบทที่ ๑๓ นี้ จะช่วยแก้ปัญหาในการอ่านของน้อง ๆ ได้ค่ะ
การอ่านคำที่มาจากภาษาอื่น
คำในภาษาไทยมีที่มาจากหลายภาษา ส่วนมากจะมาจากภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ซึ่งมีหลักในการอ่านดังนี้
๑. ไม่อ่านออกเสียงสระในคำที่มีตัวสะกด เช่น
ธาตุ (ทาด) สมบัติ (สม-บัด) ชาติ (ชาด)
เกตุ (เกด) ปฏิวัติ (ปะ-ติ-วัด) ญาติ (ยาด)
เมรุ (เมน) ปฏิบัติ (ปะ-ติ-บัด)
๒. คำที่มีมากกว่า ๑ พยางค์ มักจะออกเสียง อะ ในตัวสะกดของพยาค์แรก เช่น
วิทยุ (วิด-ทะ-ยุ) สัตวา (สัด-ตะ-วา) กัลบก (กัน-ละ-บก)
อัศวิน (อัด-สะ-วิน) รัตนา (รัด-ตะ-นา) ศิลปะ (สิน-ละ-ปะ)
อุทยาน (อุด-ทะ-ยาน) หัสดี (หัด-สะ-ดี) ศาสนา (สาด-สะ-นา)
กัลบก (กัน-ละ-บก)
๓. อ่านเรียงพยางค์ คือ ออกเสียงสระ อะ ในพยางค์ที่ไม่มีรูปสระ เช่น
กาฬปักษ์ (กา-ละ-ปัก) เจตคติ (เจ-ตะ-คะ-ติ) คีตศิลป์ (คี-ตะ-สิน)
ตาลปัตร (ตา-ละ-ปัด) คมนาคม (คะ-มะ-นา-คม) กรณี (กะ-ระ-นี)
ตาลปัตร (ตา-ละ-ปัด) คีตกวี (คี-ตะ-กะ-วี) มูรธา (มู-ระ-ทา)
ศิลปกรรม (สิน-ละ-ปะ-กำ)
๔. คำบางคำอ่านได้ ๒ แบบ ซึ่งอาจจะออก หรือไม่ออกเสียงสระเชื่อมระหว่างคำก็ได้ เช่น
ปรปักษ์ (ปอ-ระ-ปัก / ปะ-ระ-ปัก) ปรโลก (ปอ-ระ-โลก / ปะ-ระ-โลก)
บุรพบท (บุบ-พะ-บท / บุ-ระ-พะ-บท) พสกนิกร (พะ-สก-นิ-กอน / พะ-สก-กะ-นิ-กอน)
โฆษณา (โคด-สะ-นา / โค-สะ-นา) มูลค่า (มูน-ละ-ค่า / มูน-ค่า)
๕. คำที่มีตัวการันต์ จะไม่ออกเสียงตัวการันต์ เช่น
พักตร์ (พัก) พงศ์ (พง) ทัศน์ (ทัด)
วิจารณ์ (วิ-จาน) ปกรณ์ (ปะ-กอน)
การอ่านคำที่มีตัวการันต์ โดยทั่วไปคำที่มีตัวการันต์จะเป็นคำที่รับมาจากภาษาอื่น
ถ้าคำนั้นมาจากภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตจะทำให้เป็นตัวการันต์ ทั้งนี้เพื่อลดจำนวนพยางค์ให้น้อยลงเหมือนคำไทย ซึ่งเป็นคำพยางค์เดี่ยว เช่น สิง ห์ โอษ ฐ์ สวัส ดิ์ เล่ ห์ เกม ส์
ถ้าคำนั้นมาจากภาษาทางตะวันตก จะใช้การันต์เพื่อรักษารูปศัพท์เดิมของคำนั้นไว้
เช่น คอลัมน์ (column) เมล์ (mail) ฟิล์ม (film)
อย่างไรก็ตาม คำที่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตซึ่งฆ่าอักษรตัวสุดท้ายไม่ให้ออกเสียงได้นั้น บางครั้งก็ฆ่าถึงสอง หรือสามตัวอักษรก็ได้ เช่น
ฆ่าหนึ่งตัว รม ย์ ธรร ม์
ฆ่าสองตัว กาญ จน์ ลัก ษณ์
ฆ่าสามตัว ลัก ษมณ์
การอ่านคำประสมและคำสมาส ให้สังเกตดูความหมายของคำเป็นสำคัญ ดังนี้
๑. ถ้าเป็นคำประสม คือ ความหมายของคำจะอยู่ที่คำนามข้างหน้า ส่วนคำหลังทำหน้าที่ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น จึงไม่ต้องอ่านออกเสียงสระต่อเนื่องระหว่างคำนั้น เช่น
จิตใจ (จิด-ใจ) รสทิพ (รด-ทิบ) ทวยเทพ (ทวย-เทบ)
ญาติมิตร (ยาด-มิด) ชนชาติ (ชน-ชาด)
๒. ถ้าเป็นคำสมาส คือ ความหมายของคำจะอยู่ที่คำนามข้างหลัง ส่วนคำหน้าทำหน้าที่ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น จึงต้องอ่านออกเสียงเชื่อมระหว่างคำ (แบบคำสมาส) โดยออกเสียงสระที่พยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น
จิตเวช (จิด-ตะ-เวด) ทิพรส (ทิบ-พะ-รด) เทพบุตร (เทบ-พะ-บุด)
ญาติวงศ์ (ยาด-ติ-วง) ราชการ (ราด-ชะ-กาน) ราชโอรส (ราด-ชะ-โอ-รด)
อักษรศาสตร์ (อัก-สอน-ระ-สาด)
คำยกเว้น : มีบางคำที่พยางค์แรกมาจากภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต แต่พยางค์หลังเป็นคำไทย ซึ่งเป็นลักษณะของคำประสม เวลาอ่านให้ออกเสียงเชื่อมระหว่างคำแบบคำสมาส เช่น
เทพเจ้า (เทบ-พะ-เจ้า) ราชวัง (ราด-ชะ-วัง) พลเรือน (พน-ละ-เรือน)
กรมวัง (กรม-มะ-วัง) ผลไม้ (ผน-ละ-ไม้)
การอ่านคำที่มีเสียง อะ กึ่งมาตรา
ปกติคำไทยที่มีมากกว่า ๑ พยางค์ เราสามารถอ่านได้ตรงตัว
เช่น จุกจิก (จุก-จิก) บากบั่น (บาก-บั่น) รุกราน (รุก-ราน)
แต่มีคำไทยเดิมบางคำที่ออกเสียงตัวสะกด โดยมีเสียง อะ กึ่งมาตรา (หรือ ออกเสียงอะ ไม่เต็มเสียง) เช่น ตุ๊กตา (ตุ๊ก-กะ-ตา) จักจั่น (จัก-กะ-จั่น) ชักเย่อ (ชัก-กะ-เย่อ) ซอมซ่อ (ซอม-มะ-ซ่อ) สัปหงก (สับ-ปะ-หงก) รอมร่อ (รอม-มะ-ร่อ) สัปหงก (สับ-ปะ-หงก) ชุกชี (ชุก-กะ-ชี) สัปเหร่อ (สับ-ปะ-เหร่อ)
การอ่านคำพ้อง
คำพ้องมี ๒ ชนิด คือ คำพ้องรูป และคำพ้องเสียง แต่คำที่มีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านออกเสียงคือคำพ้องรูป (คำที่เขียนเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกัน และความหมายก็ต่างกันไปด้วย)
เช่น เพลา (เพ-ลา / เพลา) เสมา (เส-มา / สะ-เหมา) สระ (สะ-หระ / สะ) แหน (แน๋ / แหน) เขมา (เข- มา / ขะ- เหม่า)
การอ่านตัว ฤ
๑. ออกเสียงเป็น ริ
- เมื่อเป็นพยางค์หน้าของคำที่มีตัวสะกด เช่น ฤทธิ์ (ริด)
- เมื่อประสมกับตัว ก ด ต ท ป ศ ส เช่น กฤตยา (กริด - ติ- ยา) ตฤน (ตริน) กฤษณะ (กริด- สะ- นะ)
ทฤษฎี (ทริด - สะ- ดี) สฤษฎิ์ (สะ- หริด)
๒. ออกเสียงเป็น รึ
- เมื่ออยู่โดด ๆ ในคำประพันธ์ เช่น ฤ จะมี, ฤ จะอด
- เมื่อเป็นพยางค์หน้าของคำ และมีตัวสะกด เช่น ฤคเวท (รึ - คะ- เวด)
- เมื่อเป็นพยางค์หน้าของคำ แต่ไม่มีตัวสะกด เช่น ฤชา (รึ - ชา) ฤดี (รึ- ดี) ฤดู (รึ- ดู) ฤษี (รึ- สี)
- เมื่อประสมกับตัว ค น พ ม ห เช่น คฤหบดี (คะ - รึ- หะ- บะ- ดี) คฤหัสถ์ (คะ- รึ- หัด) คฤหาสน์ (คะ- รึ- หาด) นฤบาล (นะ - รึ- บาน) พฤติการณ์ (พรึ- ติ- กาน)
๓. ออกเสียง เรอ มีคำเดียวคือ ฤกษ์ (เริก)
การอ่านคำประพันธ์
คำบางคำในบทประพันธ์จะต้องอ่านออกเสียงให้ผิดไปจากปกติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเสียงสัมผัสที่คล้องจองกันตามข้อบังคับของคำประพันธ์ การอ่านชนิดนี้เรียกว่า การอ่านเอื้อสัมผัส เช่น
ข้อขอเคารพ อภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา
คำว่า อภิวันท์ อ่านว่า อบ-พิ-วัน เพื่อให้สัมผัสกับคำว่า เคารพ (คำว่า อบ สัมผัสกับ รพ )
การอ่านตัวเลข มีวิธีการอ่าน ดังนี้
๑.) การอ่านจำนวนเลขตั้งแต่ ๒ หลักขึ้นไป ถ้าเลขตัวท้ายเป็นเลข ๑ ให้ออกเสียงว่า "เอ็ด"
เช่น ๑๑ สิบ-เอ็ด
๒๑ ยี่-สิบ-เอ็ด
๑๐๑ ร้อย-เอ็ด , หฺนึ่ง-ร้อย-เอ็ด
๑๐๐๑ พัน-เอ็ด , หฺนึ่ง-พัน-เอ็ด
๒๕๐๑ สอง-พัน-ห้า-ร้อย-เอ็ด
๒.) การอ่านตัวเลขที่มีจุดทศนิยม
๑. ตัวเลขหน้าจุดทศนิยม ให้อ่านแบบจำนวนเต็ม ตัวเลขหลังจุดทศนิยม ให้อ่านแบบเรียงตัว
เช่น ๑.๒๓๕ หฺนึ่ง-จุด-สอง-สาม-ห้า
๕๑.๐๘ ห้า-สิบ-เอ็ด-จุด-สูน-แปด
๒. ตัวเลขที่เป็นเงินตรา หรือ หน่วยนับ ให้อ่านตามหน่วยเงินตรา หรือ หน่วยนับนั้น ๆ
เช่น ๕.๘๐ บาท ห้า-บาด-แปด-สิบ-สะ-ตาง
๘.๖๕ ดอลลาร์ แปด-ดอน-ล่า-หก-สิบ-ห้า-เซ็น
๓.๕๘ เมตร สาม-เมด-ห้า-สิบ-แปด-เซ็น-ติ-เมด
๒.๒๐๕ กิโลกรัม สอง-กิ-โล-กฺรำ- สอง-ร้อย- ห้า-กฺรำ
๓.) การอ่านตัวเลขที่แสดงมาตราส่วน หรือ อัตราส่วน
เช่น ๑:๑๐๐, ๐๐๐ หฺนึ่ง-ต่อ-แสน หรือ หฺนึ่ง-ต่อ-หฺนึ่ง-แสน
๑:๒:๔ หฺนึ่ง-ต่อ-สอง-ต่อ-สี่
๔.) การอ่านตัวเลขบอกเวลา
๑. การอ่านชั่วโมงที่ไม่มีจำนวนนาที
เช่น ๐๕.๐๐ น. หรือ ๐๕:๐๐ น. ห้า-นา-ลิ-กา
๒๔.๐๐ น. หรือ ๒๔:๐๐ น. ยี่-สิบ-สี่-นา-ลิ-กา
๐๐.๐๐ น. หรือ ๐๐:๐๐ น. สูน-นา-ลิ-กา
๒. การอ่านชั่วโมงกับนาที
เช่น ๑๑.๓๕ น. หรือ ๑๑:๓๕ น. สิบ-เอ็ด-นา-ลิ-กา-สาม-สิบ-ห้า-นา-ที
๑๖.๓๐ น. หรือ ๑๖:๓๐ น. สิบ-หก-นา-ลิ-กา-สาม-สิบ-นา-ที
๓. การอ่าน ชั่วโมง นาที และวินาที
เช่น ๗:๓๐:๔๕ เจ็ด-นา-ลิ-กา-สาม-สิบ-นา-ที-สี่-สิบ-ห้า-วิ-นา-ที
๐๒:๒๘:๑๕ สอง-นา-ลิ-กา-ยี่-สิบ-แปด- นา-ที-สิบ-ห้า-วิ-นา-ที
๔. การอ่านเวลาที่มีเศษของวินาที ตัวเลขหลังจุดทศนิยมที่เป็นเศษของวินาที
ให้อ่านเรียงตัว
เช่น ๘:๐๒:๓๗.๘๖ แปด-นา-ลิ-กา-สอง-นา-ที-สาม-สิบ-เจ็ด-จุด-แปด-หก-วิ-นา-ที
๑๐-๑๔-๒๔.๓๗ สิบ-นา-ลิ-กา-สิบ-สี่-นา-ที-ยี่-สิบ-สี่-จุด-สาม-เจ็ด-วิ-นา-ที
๕.) การอ่านเลขหนังสือราชการ นิยมอ่านเรียงตัว
เช่น หนังสือที่ รถ ๐๐๐๑/๑๐๒ ลว. ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๘
อ่านว่า หฺนัง-สือ-ที่ รอ-ถอ สูน-สูน-สูน-หฺนึ่ง ทับ หฺนึ่ง-สูน-สอง ลง-วัน-ที่ สิบ ตุ-ลา-คม พุด-ทะ-สัก-กะ-หฺราด สอง-พัน-ห้า-ร้อย-สาม-สิบ-แปด
หนังสือที่ ศธ ๐๐๓๐.๐๑/๕๙๗ ลว. ๘ พ.ย. ๒๕๓๔
อ่านว่า ห ฺนัง-สือ-ที่ สอ-ทอ สูน-สูน-สาม-สูน-จุด-สูน- หนึ่ง-ทับ ห้า-เก้า-เจ็ด-ลง-วัน-ที่ แปด พ รึด-สะ-จิ-กา-ยน-พุด-ทะ-สัก-กะ- ห ฺราด สอง-พัน-ห้า-ร้อย-สาม-สิบ-สี่
๖.) การอ่านเลข ร.ศ. ที่มีการเทียบเป็น พ.ศ. กำกับ
เช่น ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)
อ่านว่า รัด-ตะ-นะ-โก-สิน-สก ร้อย-สิบ-สอง-ต ฺรง-กับ-พุด-ทะ-สัก-กะ- ห ฺราด สอง- พัน-สี่-ร้อย-สาม-สิบ-หก
หรือ รอ-สอ ร้อย-สิบ-สอง ตฺรง-กับ พอ-สอ สอง-พัน-สี่-ร้อย-สาม-สิบ-หก
(เพิ่มข้อความ ตรงกับ เพื่อให้ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น)
หรือ รัด-ตะ-นะ-โก-สิน-สก ร้อย-สิบ-สอง-ว ง- เล็ บ- เปิด-พุ ด- ท ะ- สั ก- กะ- ห ฺราด-สอง -พัน-สี่-ร้อย-สาม-สิบ-หก-วง-เล็บ-ปิด
หรือ รอ-สอ-ร้อย-สิบ-สอง-วง-เล็บ-เปิด-พอ-สอ-สอง-พัน-สี่-ร้อย-สาม- สิบ-หก-วง-เล็บ-ปิด
๗.) การอ่านบ้านเลขที่
บ้านเลขที่ที่มีเครื่องหมายทับ "/" และบ้านเลขที่ที่ไม่มีเครื่องหมายทับ "/" มีหลักการอ่านเหมือนกัน คือ บ้านเลขที่ซึ่งมีตัวเลข ๒ หลัก ให้อ่านแบบจำนวนเต็ม ถ้ามีตัวเลข ๓ หลักขึ้นไป ให้อ่านแบบเรียงตัวหรือแบบจำนวนเต็มก็ได้ ส่วนตัวเลขหลังเครื่องหมายทับ "/" ให้อ่านเรียงตัว
เช่น บ้านเลขที่ ๑๐ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ สิบ
บ้านเลขที่ ๔๑๔ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ สี่-หฺนึ่ง-สี่ หรือ บ้าน-เลก-ที่ สี่-ร้อย-สิบ-สี่
บ้านเลขที่ ๕๖/๓๔๒ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ ห้า-สิบ-หก ทับ สาม-สี่-สอง
บ้านเลขที่ ๖๕๗/๒๑ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ หก-ห้า-เจ็ด ทับ สอง-ห ฺนึ่ง หรือ
บ้าน-เลก-ที่ หก-ร้อย-ห้า-สิบ-เจ็ด ทับ-สอง- ห ฺนึ่ง
กลุ่มตัวเลขที่มีเลข ๐ นำหน้า อ่านเรียงตัวเสมอ
เช่น บ้านเลขที่ ๐๘๖๔/๑๑๐๘ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ สูน-แปด-หก-สี่-ทับ-หฺนึ่ง-หฺนึ่ง-สูน-แปด
๘.) การอ่านรหัสไปรษณีย์
รหัสไปรษณีย์ เป็นกลุ่มตัวเลขที่กำหนดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้ทราบถึงปลายทางของสิ่งที่ส่งทางไปรษณีย์ และใช้แทนรายละเอียดพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้การคัดแยกและส่งต่อสิ่งของทางไปรษณีย์ไปยังปลายทางเป็นไปด้วยความถูกต้องและรวดเร็ว
รหัสไปรษณีย์ประกอบด้วยตัวเลข ๕ ตัว ตัวเลข ๒ ตัวแรกหมายถึงจังหวัด ส่วนตัวเลข ๓ ตัวหลัง หมายถึงที่ทำการไปรษณีย์ของจังหวัดนั้น ๆ เช่น รหัสไปรษณีย์ ๓๒๑๙๐ ตัวเลข ๓๒ หมายถึงจังหวัดสุรินทร์ ส่วนเลข ๑๙๐ หมายถึงที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งรับผิดชอบการนำจ่ายสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ในพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์
การอ่านเลขรหัสไปรษณีย์ให้อ่านตัวเลขแบบเรียงตัว
เช่น รหัสไปรษณีย์ ๓๒๑๙๐ อ่านว่า สาม-สอง-ห ฺนึ่ง-เก้า-สูน
๙.) การอ่านเลขแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์
๑. แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้อ่านหมายเลขประจำหมวดกับตัวอักษรบอกหมวดก่อน แล้วจึงอ่านตัวเลขแบบเรียงตัว ตามด้วยชื่อจังหวัดที่จดทะเบียน
เช่น เลขทะเบียน ๕ช-๒๔๓๗ กรุงเทพมหานคร
อ่านว่า ห้า-ชอ-ช้าง สอง-สี่-สาม-เจ็ด ก ฺรุง-เทบ-มะ-หา-นะ-คอน
๒. แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ นั้น ให้อ่านตัวเลขรหัสแสดงประเภทรถยนต์ก่อน แล้วจึงอ่านตัวเลขแบบเรียงตัว ตามด้วยชื่อและรหัสจังหวัดที่จดทะเบียน
เช่น เลขทะเบียน ๘๐-๒๔๓๗ กรุงเทพมหานคร ๐๑
อ่านว่า แปด-สูน สอง-สี่-สาม-เจ็ด-ก ฺรุง-เทบ-มะ-หา-นะ-คอน-สูน-ห ฺนึ่ง
๑๐) การอ่านหมายเลขโทรศัพท์
การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ แต่เดิมกำหนดให้อ่านเลข "๒" ว่า "โท" เพื่อให้เสียงอ่านเลข "๒" กับเลข "๓" แตกต่างกัน เนื่องจากหมายเลขโทรศัพท์ประกอบด้วยตัวเลขหลายตัว บางครั้งอาจมีเลข ๒ และ ๓ อยู่เรียงกันหลายตัว เสียงอ่านเลข ๒ กับเลข ๓ มีเสียงใกล้เคียงกัน ปัจจุบันระบบโทรศัพท์พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาก จึงให้อ่านหมายเลขโทรศัพท์ "๒" ว่า สอง หรือจะอ่านว่า "โท" ก็ได้
๑. หมายเลขโทรศัพท์ในประเทศ
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ทั่วประเทศ ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยกำหนดรูปแบบเลขหมายใหม่เพื่อรองรับการใช้งานเบื้องต้น ๙๐ ล้านเลขหมาย รวมหมายเลขรหัสทางไกล หรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่เดิมเข้ากับหมายเลขโทรศัพท์ เป็นหมายเลข ๙ หลัก
การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งเดิมจะอ่านหมายเลขรหัสทางไกล หรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อนแล้วจึงอ่านหมายเลขโทรศัพท์ ปัจจุบันการเขียนและการอ่านหมายเลขโทรศัพท์ตามระบบที่เปลี่ยนใหม่ เป็นดังนี้
ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเดิมมีรหัสทางไกล ๐๒ เขียนดังนี้
หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๓๑ ๓๒๓๔*
อ่านว่า หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน-สอง-ห้า-สาม-หฺนึ่ง สาม-สอง-สาม-สี่ หรือ
หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน-โท-ห้า-สาม-หฺนึ่ง สาม-โท-สาม-สี่
หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๖๔๓ ๕๑๕๑-๒๒
อ่านว่า หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน-สอง-หก-สี่-สาม ห้า-หฺนึ่ง-ห้า-หฺนึ่ง ถึง สอง-สอง
ในต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเดิมมีรหัสทางไกล (๐๓๒) เขียนดังนี้
หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๓๒๒๑ ๑๒๓๔
อ่านว่า หฺฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน สาม-สอง-สอง-หฺนึ่ง หฺนึ่ง-สอง-สาม-สี่ หรือ
หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน สาม-โท-โท-หฺนึ่ง หฺนึ่ง-โท-สาม-สี่
หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีรหัส ๐๑ ๐๙ ๐๖ เขียน
ดังนี้ ๐ ๑๕๕๓ ๐๗๔๓ ๐ ๙๕๕๓ ๐๗๔๓ ๐ ๖๕๕๓ ๐๗๕๓
การอ่านให้อ่านเช่นเดียวกับโทรศัพท์ภายในประเทศ
๒. หมายเลขโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
หมายเลขโทรศัพท์ระหว่างประเทศจะประกอบด้วยเครื่องหมาย "+" ซึ่งเป็นเครื่องหมายรหัสทางไกลต่างประเทศ ( International Prefix) เพื่อให้ทราบว่าในการเรียกทางไกลต่างประเทศต้องหมุนหรือกดรหัสทางไกลต่างประเทศก่อน ตามด้วยตัวเลขที่เป็นรหัสประเทศ รหัสเมือง และหมายเลขโทรศัพท์ ตามลำดับ แบ่งเป็น ๒ ประเภท
๒.๑ การเรียกออกต่างประเทศ
รหัสเรียกออกทางไกลต่างประเทศสำหรับประเทศไทย คือ ๐๐๑ และ ๐๐๗ ซึ่งเป็นรหัสเรียกออกทางไกลต่างประเทศเฉพาะประเทศมาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา
เช่น ๐๐๑ + ๓๓ ๘๘ ๓๗๑-๖๙๑
อ่านว่า ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด สูน-สูน-หนึ่ง ระ-หัด-ปฺระ-เทด สาม-สาม
ระ-หัด-เมือง แปด-แปด หฺมาย-เลข-โท-ระ-สับ สาม-เจ็ด-หนึ่ง-หก-เก้า-หฺนึ่ง
๐๐๗ + ๙๕-๑ ๒๒๑๘๘๑
อ่านว่า ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด สูน-สูน-เจ็ด เก้า-ห้า
หฺนึ่ง สอง-สอง-หฺนึ่ง-แปด-แปด-หนึ่ง หรือ ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด สูน-สูน-เจ็ด เก้า-ห้า หฺนึ่ง โท-โท-หฺนึ่ง-แปด-แปด-หฺนึ่ง
๒.๒ การเรียกเข้าจากต่างประเทศ
รหัสเรียกเข้าทางไกลจากต่างประเทศ คือ ๖๖
เช่น ๖๖ ๒๒๘๒ ๒๒๖๙
อ่านว่า ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด หก-หก สอง-สอง-แปด-สอง สอง-สอง-หก-เก้า
หรือ ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด หก-หก โท-โท-แปด-โท โท-โท-หก-เก้า
โทรศัพท์ระบบบริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ ( audiotex) ซึ่งมีเลขจำนวน ๑๐ ตัวประกอบด้วย ตัวเลขกลุ่มแรก ๔ ตัว เป็นรหัสบอกระบบ กลุ่มที่สอง จำนวน ๓ ตัว เป็นรหัสของเจ้าของกิจการนั้น และกลุ่มที่สามมีจำนวน ๓ ตัว เป็นรหัสประเภทการบริการ การเขียนหมายเลขโทรศัพท์ระบบนี้ ให้เขียนแยกเป็น ๓ กลุ่ม การอ่านให้อ่านแบบเรียงตัว
เช่น ๑๙๐๐ ๑๑๑ ๐๐๐
อ่านว่า หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ- หฺนึ่ง-เก้า-สูน-สูน หฺนึ่ง-หฺนึ่ง-หฺนึ่ง สูน-สูน-สูน
โทรศัพท์ระบบบริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์โดยใช้พนักงานรับสาย ( BUG) จะมีเลขจำนวน ๔ ตัว ซึ่งเจ้าของกิจการเป็นผู้กำหนดขึ้นเองเพื่อให้จดจำง่าย ให้เขียนหมายเลขทั้ง ๔ ตัว เป็นกลุ่มเดียวกัน และอ่านตัวเลขแบบเรียงตัว
เช่น ๑๒๑๓ อ่านว่า หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ หฺนึ่ง-สอง-หฺนึ่ง-สาม
๑๑.) การอ่านหมายเลขทางหลวง
แต่เดิมทางหลวงสายสำคัญ ๆ ปรกติใช้ชื่อสกุลของบุคคลที่มีความสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับทางสาย นั้น ๆ เช่น เป็นผู้บุกเบิก ผู้ก่อสร้าง มาตั้งเป็นชื่อถนน แต่เมื่อมีการสร้างทางมากขึ้น การใช้ชื่อสกุลมีความยุ่งยากและสับสน ทั้งไม่สามารถทราบได้ว่าทางสายนั้นอยู่ทางบริเวณภาคใดของประเทศ จึงได้มีการนำระบบหมายเลขมาใช้กำกับทางหลวงต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงสัมปทาน และทางหลวงพิเศษ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
๑. ทางหลวงที่มีเลขหนึ่งตัว หมายถึง ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงพิเศษที่เป็นถนนสายหลัก เชื่อมการคมนาคมระหว่างภาคต่อภาค ได้แก่
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ หรือ ถนนพหลโยธิน เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคเหนือ
ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงราย
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ หรือ ถนนมิตรภาพ เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งต้นที่จังหวัดสระบุรี และไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ หรือ ถนนสุขุมวิท เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่จังหวัดทางภาคกลางรวมถึงชายทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ หรือ ถนนเพชรเกษม เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคใต้
ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดเชียงราย
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดหนองคาย
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดจันทบุรี
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๘ เป็นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ เป็นถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ
๒. ทางหลวงที่มีเลขสองตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงพิเศษที่เป็นสายประธานตามภาคต่าง ๆ เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายอุดรธานี-นครพนม ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕๑ หมายถึง ทางหลวงซึ่งเชื่อมต่อจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี
๓. ทางหลวงที่มีเลขสามตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินสายรอง เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒ หมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายชัยภูมิ-เขมราฐ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๔ หมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคกลางสายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา
๔. ทางหลวงที่มีเลขสี่ตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น เช่น ทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๖ หมายถึงทางหลวงในภาคใต้สายแยกทางหลวงหมายเลข ๔ (ราชกรูด-หลังสวน)
ในการอ่านหมายเลขทางหลวงให้อ่านเรียงตัว ดังนี้
หมายเลขทางหลวง ๒๑ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง สอง-หฺนึ่ง
หมายเลขทางหลวง ๓๑๔ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง สาม-หฺนึ่ง-สี่
การอ่านคำที่มีเครื่องหมายวรรคตอน
ในบทที่ ๑๑ พี่ได้พูดถึงเรื่อง เครื่องหมายวรรคตอน มาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ในการเขียนภาษาไทย แต่ในหัวข้อนี้ พี่จะบอกเล่าถึงวิธีการอ่านเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ เพื่อน้อง ๆ จะได้อ่านเครื่องหมายต่าง ๆ ให้ถูกต้องงัยคะ
๑. การอ่านไปยาลน้อย (ฯ)
ไปยาลน้อยใช้สำหรับละคำยาว ๆ ซึ่งเรารู้จักกันดี โดยจะเขียนแต่คำหน้า และละส่วนท้ายไว้ เวลาอ่านต้องอ่านคำเต็ม เช่น
โปรดเกล้าฯ อ่านว่า โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
น้อมเกล้าฯ อ่านว่า น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม
ฯพณฯ อ่านว่า พะ - นะ- ท่าน
๒. การอ่านไปยาลใหญ่ (ฯลฯ) มีวิธีการใช้ ๒ แบบ คือ
แบบที่ ๑ ใช้สำหรับละข้อความข้างท้าย โดยจะตามหลังข้อความที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ซึ่งข้อความเหล่านั้นยังมีอีกมาก แต่ไม่ได้นำมาแสดงไว้
ฯลฯ ถ้าอยู่หลังข้อความใด ๆ ให้อ่านว่า อื่น ๆ, เป็นต้น, ละ, และอื่น ๆ
เช่น สำนักนายกรัฐมนตรีมีหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ
เวลาอ่านต้องอ่านดังนี้ค่ะ
สำนักนายกรัฐมนตรีมีหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ และอื่น ๆ หรือ
สำนักนายกรัฐมนตรีมีหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น
แบบที่ ๒ ใช้ละคำ หรือข้อความที่อยู่ตรงกลาง โดยเขียนแต่ตอนต้น และตอนจบเอาไว้
ฯลฯ ถ้าอยู่กลางข้อความ ให้อ่านว่า ละถึง
เช่น บรรดานักเรียนพากันสวดมนต์ อิติปิ โส ฯลฯ ภควาติ
เวลาอ่านต้องอ่านดังนี้ค่ะ
บรรดานักเรียนพากันสวดมนต์ อิติปิ โส ละถึง ภควาติ
๓. การอ่านไม้ยมก (ๆ)
ไม้ยมกใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยค เพื่อแสดงการซ้ำคำ ซ้ำความ หรือซ้ำประโยค โดยเวลาอ่านจะอ่านซ้ำคำ ซ้ำคำ หรือซ้ำประโยคที่อยู่ข้างหน้า เช่น
เล็ก ๆ น้อย อ่านว่า เล็ก เล็ก น้อย น้อย
วันหนึ่ง ๆ เธอทำอะไรบ้าง อ่านว่า วันหนึ่ง วันหนึ่ง เธอทำอะไรบ้าง
๔. การอ่านบุพสัญญา หรือบุรพสัญญา ( ?? )
บุพสัญญาใช้เขียนแทนคำหรือข้อความที่อยู่ในบรรทัดเหนือข้างบน เพื่อจะได้ไม่ต้องเขียนซ้ำอีก โดยเวลาอ่านต้องอ่านให้เต็มคำหรือข้อความข้างบน ซึ่งหากคำหรือข้อความยาวสามารถเติมเครื่องหมายบุพสัญญาได้มากกว่า ๑ ตัว โดยจะวางไว้ตรงตำแหน่งใดก็ได้ เช่น
นักเรียนเตรียมทหารขัตติยะ สอบไล่ได้อันดับที่ ๑
สนธิ ๒
ชลิต ๓
เวลาอ่านต้องอ่านให้เต็มว่านักเรียนเตรียมทหารขัตติยะ สอบไล่ได้อันดับที่ ๑
นักเรียนเตรียมทหารสนธิ สอบไล่ได้อันดับที่ ๒
นักเรียนเตรียมทหารชลิต สอบไล่ได้อันดับที่ ๒
๕. การอ่านอักษรย่อ
การใช้อักษรย่อ จะพบมากในหนังสือราชการ หรือหนังสือพิมพ์ค่ะ ซึ่งมีขึ้นก็เพื่อความสะดวกมนการเขียน หรือประหยัดพื้นที่กระดาษ แต่เมื่อเราจำเป็นต้องอ่านออกเสียง ก็ต้องอ่านให้เต็มนะคะ เช่น
ทบ. อ่านว่า กองทัพบก
รร.ตท. อ่านว่า โรงเรียนเตรียมทหาร
กห อ่านว่า กระทรวงกลาโหม
น.ส. อ่านว่า นางสาว
NOTE: น้อง ๆ จะเห็นว่าเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ที่พี่ได้พูดถึงมาในบทนี้ เราจะพบกันมากเวลาอ่านหนังสือภาษาไทย ซึ่งเครื่องหมายวรรคตอนเหล่านี้มีขึ้นก็เพื่อความสะดวกในการเขียนเล่าเรื่อง หรือบรรยายเนื้อหาต่าง ๆ
แต่จำไว้นะคะว่า เมื่อใดก็ตามที่เราต้องอ่านออกเสียงให้คนอื่นฟัง หากพบเครี่องหมายวรรคตอนพวกนี้ เราต้องอ่านคำเต็ม เพราะไม่อย่างนั้น การที่เราอ่านคำย่อ หรือไม่เข้าใจว่าเครื่องหมายดังกล่าวอ่านอย่างไร อาจจะทำให้เราอ่านผิด และอายเพื่อน ๆ ได้ค่ะ
***
ตัวอย่าง
คำประวิสรรชนีย์ข้อใดเขียนผิด (ทบ.๔๕)
ก. ธีรภัทรสวมเสื้อขาดกะรุ่งกะริ่ง
ข. คนขยันขันแข็งจะขมักเขม้นในการทำงาน
ค. ดรรชนีนางมีนิสัยรักความสะดวกสบาย
ง. คดีนี้จะประนีประนอมกับเจ้าทุกข์ได้ไหม
จ. ทิดขามคะยั้นคะยอให้คำปลิวขายที่ดินให้
" ฤ" ในข้อใดออกเสียงได้ ๒ แบบ (ทบ.๔๕)
ก. กฤษณา สฤษฏิ์
ข. ตฤณมัย ฤทธิ์
ค. ทฤษฎี ฤณ
ง. ศฤงคาร ปฤจฉา
จ. พฤนท์ อมฤต
ฑ ในข้อใดอ่านต่างจากข้ออื่น (ทบ.๔๕)
ก. ภัณฑารักษ์ ขัณฑสกร
ข. ปาณฑพ ทัณฑกรรม
ค. ทัณฑฆาต บิณฑบาต
ง. มณฑล มณฑา
จ. มณเฑียร มณโฑ
คำในข้อใดอ่านผิดอักขรวิธี (ทบ.๓๘)
ก. ตำรับ อ่านว่า ตำ หรับ
ข. บำราศ อ่านว่า บำ หราด
ค. กำราบ อ่านว่า กำ หราบ
ง. กำเนิด อ่านว่า กำ เหนิด
คำในข้อใดอ่านผิดอักขรวิธี (ทบ.๓๘)
ก. ภรรยา อ่านว่า พัน ยา
ข. จรรยาบรรณ อ่านว่า จัน ยา บัน
ค. บรรยาย อ่านว่า บัน ระ ยาย
ง. มรรยาท อ่านว่า มัน ยาด
ข้อใดตัว ฤ อ่านออกเสียง /ริ/ ทั้งสองคำ (ทบ.๓๘)
ก. ทฤษฎี นฤนาท
ข. คฤหาสน์ สฤษฎิ์
ค. พฤนท์ กฤษณา
ง. ฤกษ์ ศฤงคาร
คำในข้อใดอ่านถูกต้อง (ทบ.๓๘)
ก. พลความ อ่านว่า พะ ละ ความ
ข. อาชญากรรม อ่านว่า อาด ชะ ยา กำ
ค. อุดมคติ อ่านว่า อุ ดะ มะ คะ ติ
ง. อาสาฬหบูชา อ่านว่า อา สาน หะ บู ชา
คำทุกคำในข้อใด ไม่ใช่คำสมาส แต่นิยมอ่านแบบสมาส (ทบ.๔๒)
ก. มูลค่า ทุนทรัพย์ กลเม็ด
ข. กรมท่า กาฬสินธุ์ กลศาสตร์
ค. ผลไม้ ศักยภาพ ราชการ
ง. พลเรือน ศิลปกรรม ธรรมชาติ
จ. คุณค่า เกษียรสมุทร วรรณวิจักษณ์
***
บรรณานุกรม
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สารัตถสัมพันธ์ เล่มที่ ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๒๐๓ ท ๒๐๔ หลักภาษาไทย เล่ม ๒. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ หลักภาษาไทย เล่ม ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
ประวีณา มีชอบธรรม. (๒๕๔๔). ภาษาไทย (บังคับ). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศูนย์หนังสือเมืองไทย.
พรทิพย์ แฟงสุต. (๒๕๔๔). รวมหลักภาษาไทย ม.ต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์
ยศ พนัสสรณ์. (๒๕๓๖). ภาษาไทย ม.ต้น (ฉบับเตรียมสอบ). กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.
วสุณี รักษาจันทร์. หลักภาษาไทย ม.๑. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด.
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน
|