เว็บไซต์นายร้อยไทย
บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร
 
© คำอธิบาย การแสดงวิธีทำ และข้อคิดเห็นทั้งหมด
ในเว็บเพจนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
หากจะนำไปเผยแพร่ซ้ำ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด
ต้องได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก webmaster@thaicadet.org
 
บทที่ ๖ ชนิดของประโยคในภาษาไทย
 

 

 
เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.

          ในบทที่ ๕ เราได้ทราบแล้วว่า ประโยค คือ ถ้อยคำหรือข้อความที่มีใจความครบบริบูรณ์ มีเนื้อความชัดเจน จนทราบได้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร โดยทั่วไปประโยคจะประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ภาคประธาน และภาคแสดง

           สำหรับประโยคในภาษาไทย แบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ

๑. ประโยคความเดียว ( เอกรรถประโยค)

๒. ประโยคความรวม (อเนกรรถประโยค)

๓. ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค)

 

ประโยคความเดียว ( เอกรรถประโยค)

           คือ ประโยคที่มีใจความสมบูรณ์เพียงใจความเดียว โดยมุ่งกล่าวถึงสิ่งใจสิ่งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ประโยคความเดียวจึงมีประธาน และกริยาเพียงตัวเดียวเสมอ (อาจมีกรรม หรือส่วนขยายก็ได้) เช่น

 

รูปประโยคความเดียว

ภาคประธาน

ภาคแสดง

ฝนตก

ฝน

ตก

ปลาโลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ปลาโลมา

เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ข้าวเหนียวเป็นอาหารของคนไทยอีสาน

ข้าวเหนียว

เป็นอาหารของคนไทยอีสาน

เด็กชอบกินลูกกวาด

เด็ก

ชอบกินลูกกวาด

ฉันอยากเป็นทหาร

ฉัน

อยากเป็นทหาร

 

ประโยคความรวม (อเนกรรถประโยค)

            คือ ประโยคที่รวมเอาประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมเข้าด้วยกัน โดยมีคำสันธานเชื่อมให้ประโยคต่อเนื่องกัน (ประโยคความเดียว + คำสันธาน + ประโยคความเดียว)

           โดยประโยคความเดียว หรือประโยคย่อย จะมีใจความสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อแยกประโยคออกจากกันแล้วก็ยังสามารถเข้าใจได้

 

ประโยคความรวม

ประโยคความเดียว (ประโยคย่อย)

คำสันธาน (คำเชื่อม)

ประโยคความเดียว (ประโยคย่อย)

คุณพ่อกับคุณแม่ไปทำงาน

คุณพ่อไปทำงาน

กับ

คุณแม่ไปทำงาน

ป้าทำกับข้าวและฟังวิทยุ

ป้าทำกับข้าว

และ

ป้าฟังวิทยุ

หัวหน้านักเรียนเป็นคนดีเพื่อน ๆ จึงรักเขา

หัวหน้านักเรียนเป็นคนดี

จึง

เพื่อน ๆ รักเขา

เธอจะกินข้าวสวยหรือจะกินข้าวเหนียว

เธอจะกินข้าวสวย

หรือ

เธอจะกินข้าวเหนียว

พี่อยากเป็นทหารแต่น้องอยากเป็นตำรวจ

พี่อยากเป็นทหาร

แต่

น้องอยากเป็นตำรวจ

 

ประเภทของประโยคความรวม

           ๑. ประโยคความรวมที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน (อันวยาเนกรรถประโยค) เนื้อความของประโยคหน้า และประโยคหลังที่นำมารวมกันจะมีเนื้อความที่คล้อยตามกัน โดยมีสันธานเชื่อม ได้แก่ คำว่า “ และ, กับ, แล้ว...จึง, ครั้น...จึง, ครั้น...เมื่อ, ถ้า...ว่า, ทั้ง...และ, พอ...ก็, แล้ว...ก็, เมื่อ...ก็” เช่น

 

ประโยคความรวม

ที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน

ประโยคความเดียว (ประโยคย่อย)

คำสันธาน (คำเชื่อม)

ประโยคความเดียว (ประโยคย่อย)

พออ่านหนังสือจบฉันก็เข้านอน

อ่านหนังสือจบ

พอ...ก็

ฉันเข้านอน

เขาเป็นคนดีและเธอก็เป็นคนดี

เขาเป็นคนดี

และ

ฉันเป็นคนดี

พ่อกับแม่ต้องดูแลเอาใจใส่ลูก

พ่อต้องดูแลเอาใจใส่ลูก

กับ

แม่ต้องดูแลเอาใจใส่ลูก

ครั้นสอบเสร็จฉันก็รอฟังผลด้วยใจจดจ่อ

ฉันสอบเสร็จ

ครั้น...ก็

ฉันรอฟังผลด้วยใจจดจ่อ

พอได้กินยาฉันก็หายป่วย

ฉันได้กินยา

พอ...ก็

ฉันหายป่วย

 

           ๒. ประโยคความรวมที่มีเนื้อความขัดแย้งกัน (พยติเรเนกรรถประโยค) โดยใช้สันธาน “ แต่, แต่ว่า, แต่ทว่า, ทว่า, แม้, แม้...ก็, กว่า...ก็, ถึง...ก็” เป็นตัวเชื่อม เช่น

 

ประโยคความรวม

ที่มีเนื้อความขัดแย้งกัน

ประโยคความเดียว

(ประโยคย่อย)

คำสันธาน

(คำเชื่อม)

ประโยคความเดียว

(ประโยคย่อย)

ฉันเรียนไม่เก่งแต่มีเพื่อนเยอะ

ฉันเรียนไม่เก่ง

แต่

ฉันมีเพื่อนเยอะ

สมบูรณ์ขาดเรียนบ่อยแต่สอบผ่านทุกครั้ง

สมบูรณ์ขาดเรียนบ่อย

แต่

สมบูรณ์สอบผ่านทุกครั้ง

เขาไปเที่ยวแม้ยังไม่หายป่วย

เขาไปเที่ยว

แม้

เขายังไม่หายป่วย

แม้ผู้ปกครองจะห้ามแต่ฉันก็จะทำ

ผู้ปกครองห้ามฉัน

แม้...ก็

ฉันจะทำ

เพชรเดชเป็นทหารแต่ก้องหล้าเป็นตำรวจ

เพชรเดชเป็นทหาร

แต่

ก้องหล้าเป็นตำรวจ


           
            ๓. ประโยคความรวมที่มีเนื้อความเป็นเหตุเป็นผลกัน (เหตวาเนกรรถประโยค)
โดยใช้สันธาน “ จึง, เพราะ, เพราะเหตุว่า, ดังนั้น...จึง, เพราะ...จึง” เป็นตัวเชื่อม เช่น

 

ประโยคความรวม ที่่มีเนื้อความเป็นเหตุเป็นผลกัน

ประโยคความเดียว (ประโยคย่อย)

คำสันธาน (คำเชื่อม)

ประโยคความเดียว (ประโยคย่อย)

วันนี้รถติดมากฉันจึงมาสาย

วันนี้รถติดมาก

จึง

ฉันมาสาย

ฉันชอบทหารเพราะทหารเป็นผู้เสียสละ

ฉันชอบทหาร

เพราะ

ทหารเป็นผู้เสียสละ

ฉันไม่รักเขาเพราะเขาชอบดื่มเหล้า

ฉันไม่รักเขา

เพราะ

เขาชอบดื่มเหล้า

พี่ชายของฉันเป็นคนขยัน ดังนั้นเขาจึงสอบผ่าน

พี่ชายของฉันเป็นคนขยัน

ดังนั้น...จึง

เขาสอบผ่าน

เพราะเธอไม่อ่านหนังสือเธอจึงไม่เข้าใจ

เธอไม่อ่านหนังสือ

เพราะ...จึง

เธอไม่เข้าใจ

 

           ๔. ประโยคความรวมที่มีเนื้อความให้เลือก (วิกัลปเนกรรถประโยค) โดยใช้สันธาน “ หรือ, มิฉะนั้น, ไม่เช่นนั้น, หรือ...ไม่, หรือไม่ก็, ไม่...ก็” เป็นตัวเชื่อม เช่น

 

ประโยคความรวม ที่มีเนื้อความให้เลือก

ประโยคความเดียว (ประโยคย่อย)

คำสันธาน (คำเชื่อม)

ประโยคความเดียว (ประโยคย่อย)

เธอชอบเดินหรือชอบว่ายน้ำ

เธอชอบเดิน

หรือ

(เธอ) ชอบว่ายน้ำ

ลูกจะอ่านหนังสือหรือจะรดน้ำต้นไม้

ลูกจะอ่านหนังสือ

หรือ

ลูกจะรดน้ำต้นไม้

ทุกคนต้องทำการบ้านมิฉะนั้นก็ต้องไปนอน

ทุกคนต้องทำการบ้าน

มิฉะนั้น

ทุกคนต้องไปนอน

หิวก็หุงข้าวกินเองหรือไม่ก็ไปซื้อที่หน้าปากซอย

หิวก็หุงข้าวกินเอง

หรือไม่ก็

ไปซื้อข้าวที่หน้าปากซอย

เธอจะไปกับฉันหรือจะไปกับเขา

เธอจะไปกับฉัน

หรือ

เธอจะไปกับเขา

 

ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค)

            คือ ประโยคที่รวมเอาประโยคความเดียว ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมกัน และมีคำสันธานเป็นตัวเชื่อม โดยมีประโยคความเดียวหนึ่งประโยคที่เป็นใจความสำคัญ เรียกว่า “ ประโยคหลัก หรือมุขยประโยค”

            ส่วนประโยคอื่น ๆ ทำหน้าที่ขยายประโยคหลัก เรียกว่า “ ประโยคย่อย หรืออนุประโยค”

           ซึ่งประโยคย่อยอาจเป็นประธาน หรือกรรมของกริยา หรืออาจขยายคำใดคำหนึ่งในประโยคหลัก ก็ได้ และเมื่อแยกประโยคความซ้อนออกจากกันแล้ว ประโยคทั้ง ๒ จะมีน้ำหนักหรือความสำคัญไม่เท่ากัน เพราะประโยคหนึ่งเป็นประโยคหลัก และอีกประโยคเป็นประโยคย่อย

 

ประโยคความซ้อน

ประโยคหลัก (มุขยประโยค)

คำสันธาน (คำเชื่อม)

ประโยคย่อย (อนุประโยค)

คุณยายเอ็นดูหลานซึ่งกำพร้าตั้งแต่เล็ก ๆ

คุณยายเอ็นดูหลาน

ซึ่ง

กำพร้าตั้งแต่เล็ก ๆ

คุณพ่อฟังเพลงเอลวิสอันมีลีลาร้อนแรง

คุณพ่อฟังเพลงเอลวิส

อัน

มีลีลาร้อนแรง

พี่ทานยาที่ได้มาจากคุณหมอ

พี่ทานยา

ที่

ได้มาจากคุณหมอ

บุคคลผู้มีอายุครบ ๑๕ ปี ต้องทำบัตรประชาชน

บุคคลต้องทำบัตรประชาชน

ผู้

มีอายุครบ ๑๕ ปี

สมบัติอันล้ำค่าถูกฝังอยู่ที่นี่

สมบัติถูกฝังอยู่ที่นี่

อัน

ล้ำค่า

 

           มาถึงตรงนี้แล้ว ทราบหรือไม่คะว่าประโยคความซ้อนต่างจากประโยคความรวมอย่างไร?

คำตอบก็คือ
           - ประโยคความซ้อนจะมีประโยคหลักที่มีใจความสำคัญเพียงประโยคเดียว
           - ส่วนประโยคความรวมนั้น ประกอบด้วยประโยคที่มีใจความสำคัญด้วยกันทุกประโยค

 

ประโยคย่อย หรืออนุประโยค แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ

           ๑. นามานุประโยค คือ ประโยคย่อยที่ ทำหน้าที่เหมือนคำนาม ทำหน้าที่เป็นประธาน กรรม หรือส่วนเติมเต็มของประโยค ประโยคชนิดนี้มักใช้คำว่า “ ให้, ว่า” หรืออาจไม่มีคำเชื่อมก็ได้ เช่น

 

ประโยคความซ้อน นามานุประโยค

ประโยคหลัก (มุขยประโยค)

คำสันธาน (คำเชื่อม)

ประโยคย่อย (อนุประโยค)

หน้าที่ของประโยคย่อย

เธอพูดให้ฉันดีใจ

เธอพูด

ให้

ฉันดีใจ

ประธาน

ครูเล่าว่าบ้านครูหมาดุ

ครูเล่า

ว่า

บ้านครูหมาดุ

กรรม

ฉันไม่ชอบคนพูดโกหก

ฉันไม่ชอบ

-

คนพูดโกหก

กรรม

ฉันเห็นนักเรียนเล่นซ่อนหา

ฉันเห็นนักเรียน

-

(นักเรียน) เล่นซ่อนหา

กรรม

คนร้ายฆ่าเด็กซ่อนอยู่ในป่ากก

คนร้ายซ่อนอยู่ในป่ากก

-

(คนร้าย) ฆ่าเด็ก

ประธาน

 

           ๒. คุณานุประโยค คือ ประโยคย่อยที่ ทำหน้าที่ขยายคำนาม หรือคำสรรพนาม โดยมีประพันธ- สรรพนาม “ ที่ ซึ่ง อัน” เป็นคำเชื่อม เช่น

 

ประโยคความซ้อน คุณานุประโยค

ประโยคหลัก (มุขยประโยค)

คำสันธาน (คำเชื่อม)

ประโยคย่อย (อนุประโยค)

หน้าที่ของประโยคย่อย

เด็กที่นั่งหน้าห้องสอบได้ที่ ๑

เด็กสอบได้ที่ ๑

ที่

นั่งหน้าห้อง

ขยายคำนาม “ เด็ก”

พระที่เทศน์มีความรู้แตกฉาน

พระมีความรู้แตกฉาน

ที่

เทศน์

ขยายคำนาม “ พระ”

ฉันรักเมืองไทยซึ่งเป็นบ้านเกิด

ฉันรักเมืองไทย

ซึ่ง

เป็นบ้านเกิด

ขยายคำนาม “ เมืองไทย”

เด็กที่เล่นอยู่ในห้องถือปืนฉีดน้ำ

เด็กถือปืนฉีดน้ำ

ที่

เล่นอยู่ในห้อง

ขยายคำนาม “ เด็ก”

ฉันชอบทุเรียนที่วางอยู่ในครัว

ฉันชอบทุเรียน

ที่

วางอยู่ในครัว

ขยายคำนาม “ ปากกา”

           ๓. วิเศษณานุประโยค คือ ประโยคย่อยที่ ทำหน้าที่ขยายคำกริยา หรือคำวิเศษณ์ โดยใช้ ประพันธวิเศษณ์ “ ที่ ซึ่ง อัน” หรือคำสันธาน “ เมื่อ, จน, ตาม, เพราะ, ราวกับ, ให้, ทว่า, ระหว่างที่, เพราะเหตุว่า, เหมือน, ดุจ, เสมือน ” เป็นคำเชื่อม เช่น

 

ประโยคความซ้อน วิิเศษณานุประโยค

ประโยคหลัก (มุขยประโยค)

คำสันธาน (คำเชื่อม)

ประโยคย่อย (อนุประโยค)

หน้าที่ของประโยคย่อย

ฉันตื่นนอนเมื่อแม่ปลุก

ฉันตื่นนอน

เมื่อ

แม่ปลุก

ขยายกริยา “ ตื่นนอน”

เธอเดินสง่างามเหมือนหงส์

เธอเดินสง่างาม

เหมือน

หงส์

ขยายกริยา “ เดิน”

ครูไม่สอนเหตุเพราะว่าไปประชุม

ครูไม่สอน

เหตุเพราะว่า

ไปประชุม

ขยายกริยา “ ไม่สอน”

เขาส่งเสียงดังราวกับฟ้าผ่า

เขาส่งเสียงดัง

ราวกับ

ฟ้าผ่า

ขยายคำวิเศษณ์ “ ดัง”

เธอพูดเร็วจนฉันฟังไม่ทัน

เธอพูดเร็ว

จน

ฉันฟังไม่ทัน

ขยายคำวิเศษณ์ “ เร็ว”

 

***

ตัวอย่างข้อสอบเก่าเตรียมทหาร

ประโยคข้อใด ไม่ใช่ประโยคความรวม (ทบ.๔๕)

ก. ปุระชัยเดินทางไปราชการที่เชียงใหม่และลำปาง

ข. ชวลิตอยากเป็นทหาร แต่ทักษิณอยากเป็นตำรวจ

ค. ฉันจะไม่ลืมคำที่คุณพูดวันนี้เลย

ง. ถ้าแม่ไม่ไปคลินิก ก็ต้องไปโรงพยาบาล

จ. เขาหย่าร้างกันเพราะต่างฝ่ายต่างถือทิฐิ

ประโยคความซ้อนข้อใดมีวิเศษณานุประโยค (ทบ.๔๕)

ก. ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นสำนวนที่ทันสมัย

ข. ชาวนาเดือนร้อนเพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาล

ค. เด็กไทยคือหัวใจของชาติ เป็นคำขวัญวันเด็ก

ง. ฉันไม่ชอบคนสวมเสื้อสีแดง

จ. ๓๐ บาท รักษาทุกโรคพ่นพิษ

***

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สารัตถสัมพันธ์ เล่มที่ ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๒๐๓ ท ๒๐๔ หลักภาษาไทย เล่ม ๒. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ หลักภาษาไทย เล่ม ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

ประวีณา มีชอบธรรม. (๒๕๔๔). ภาษาไทย (บังคับ). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศูนย์หนังสือเมืองไทย.

พรทิพย์ แฟงสุต. (๒๕๔๔). รวมหลักภาษาไทย ม.ต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์

ยศ พนัสสรณ์. (๒๕๓๖). ภาษาไทย ม.ต้น (ฉบับเตรียมสอบ). กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.

วสุณี รักษาจันทร์. หลักภาษาไทย ม.๑. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน

 

Google
 
 
 
 

เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.
© 2012. All Right Reserved by THAI CADET.ORG / Last Updated : Mon, 10 September, 2012 22:13   Bookmark and Share