เว็บไซต์นายร้อยไทย
บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร
 
© คำอธิบาย การแสดงวิธีทำ และข้อคิดเห็นทั้งหมด
ในเว็บเพจนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
หากจะนำไปเผยแพร่ซ้ำ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด
ต้องได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก webmaster@thaicadet.org
 
บทที่ ๘ กลุ่มคำ และหน้าที่ของกลุ่มคำ
 

 

 
เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.

          กลุ่มคำ หรือวลี หมายถึง ข้อความที่เกิดจากการนำคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมาเรียงติดต่อกัน

และทำให้เกิดคำที่มีความหมายซึ่งสามารถเป็นที่เข้าใจได้ แต่ “คำ หรือวลี” จะยังไม่ได้ใจความสมบูรณ์เหมือนประโยค ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ

คำ

กลุ่มคำ / วลี

ประโยค

พ่อค้า

พ่อค้าขายส่ง

พ่อค้าขายส่ง มักขายสินค้าราคาถูก

กำแพง

กำแพงเมืองจีน

กำแพงเมืองจีน มีความยาวหลายร้อยกิโลเมตร

นั่ง

นั่งร้องไห้

เด็กนั่งร้องไห้อยู่ใต้ต้นไม้

โรงเรียน

โรงเรียนเตรียมทหาร

ความฝันของเด็กผู้ชายคือการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร

นก

นกเขาชวา

มานะส่งนกเขาชวาเข้าร่วมการแข่งขัน

 

จากตัวอย่างข้างต้น น้อง ๆ จะเห็นว่า

          ๑. คำ และวลีแตกต่างกันที่ขนาด เพราะ “ คำ” คือเสียงที่เปล่งออมาแล้วมีความหมายอาจมีพยางค์เดียว หรือหลายพยางค์ก็ได้ ส่วน “ วลี” มีตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป จึงมีความหมายมากกว่า “ คำ”

          ๒. วลี และประโยคต่างกันที่ใจความ เพราะ “ วลี” มีใจความอย่างเดียวเหมือนกับ “ คำ” นอกจากนี้แล้ว “ วลี” ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ ประโยค”

          ๓. “ประโยค” เป็นส่วนที่ใจความสมบูรณ์ที่สุด เพราะมีทั้งภาคประธาน และภาคแสดง ในณะที่ “ คำ” และ “ วลี” อย่างที่บอกไปค่ะว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ ประโยค” เท่านั้น

 

ลักษณะของกลุ่มคำ

          ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คือ คำแต่ละคำจะมีเพียงรูปเดียว ไม่ว่าจะทำหน้าที่ใดในประโยคก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากภาษาอังกฤษที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อบอกหน้าที่ของแต่ละคำ เช่น “ กิน” ในขณะที่ภาษาอังกฤษจะมี eat, eating, will eat

 

          การสังเกตชนิด และหน้าที่ของคำในภาษาไทย ให้พิจารณาจากการเรียงลำดับคำ และความหมายเป็นสำคัญ เพราะ คำ ๆ เดียวกัน อาจทำหน้าที่เป็นกลุ่มคำ คำประสม หรือประโยคก็ได้ ดูตัวอย่างต่อไปนี้

๑. ปากกา

- ปากกาตัวที่เกาะบนต้นไม้มีสีขาว

ปากกา ในที่นี้หมายถึง ปากของกาซึ่งเป็นนกชนิดหนึ่ง (ปากกา เป็น กลุ่มคำ)

- ปากกาด้ามนี้ราคาแพง

ปากกา ในที่นี้หมายถึง เครื่องมือในการเขียนหนังสือ (ปากกา เป็น คำประสม)

๒. ลูกเสือ

- ลูกเสือตัวนี้ซนมาก

ลูกเสือ ในที่นี้หมายถึง ลูกของเสือซึ่งเป็นสัตว์ป่า (ลูกเสือ เป็น กลุ่มคำ)

- ลูกเสือเป็นวิชาบังคับของเด็กผู้ชาย

ลูกเสือ ในที่นี้หมายถึง กิจกรรมที่โรงเรียนกำหนดให้นักเรียนเข้าร่วม (ลูกเสือ เป็น คำประสม)

๓. พัดลม

- เขา พัดลมไล่ควันที่อบอวนในเตาถ่าน

พัด เป็นกริยา / ลม เป็นกรรม (พัดลม เป็น กลุ่มคำ)

- เขาชอบนอนเปิด พัดลม

พัดลม ในที่นี้หมายถึง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้เกิดลม (พัดลม เป็น คำประสม)

๔. ข้าวเย็น

- เขาชอบกินข้าวร้อนมากกว่า ข้าวเย็น

ข้าวเย็น ในที่นี้หมายถึง ข้าวที่หุงไว้นานแล้ว (ข้าวเย็น เป็น กลุ่มคำ)

- ฉันกิน ข้าวเย็นเวลา ๒๐.๐๐ น.

ข้าวเย็น ในที่นี้หมายถึง ข้าวที่รับประทานในเวลาเย็น (ข้าวเย็น เป็น คำประสม)

- ข้าว เย็นมากแล้วต้องอุ่นใหม่

ข้าว เป็นประธาน เย็น เป็นกริยา (ข้าวเย็น เป็น ประโยค)

 

ลองพิจารณา “ คำ” และ “ กลุ่มคำ” ต่อไปนี้ค่ะ จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

คำ

กลุ่มคำ/วลี

แก้ว

แก้วมังกร แก้วหน้าม้า แก้วสารพัดนึก

ไม้

ไม้หน้าสาม ไม้เรียว ไม้ถูพื้น

ผ้า

ผ้าป่าสามัคคี ผ้าขี้ริ้วห่อทอง ผ้าไหมสุรินทร์

เหนือ

เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือจริง เหนือใต้ออกตก

ฉลาด

ฉลาดเฉลียว ฉลาดแกมโกง ฉลาดแสนกล

 

          จากคำที่พี่ยกตัวอย่างมาให้ดูนี้ จะเห็นว่า “ กลุ่มคำ/วลี” มีความหมายเพิ่มมากขึ้นกว่า “ คำ” แต่อย่างไรก็ตาม “ กลุ่มคำ/วลี” ยังไม่มีความหมายที่สมบูรณ์เหมือนกับ “ ประโยค” นั่นเองค่ะ

 

หน้าที่ของกลุ่มคำ กลุ่มคำทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำทั้ง ๗ ชนิด ดังนี้

          ๑. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เหมือนคำนาม (นามวลี) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำนาม คือ เป็นประธาน เป็นกรรม เป็นส่วนเติมเต็ม เป็นส่วนขยายคำนาม และเป็นคำเรียกขาน เช่น

กลุ่มคำ/วลี

เมื่อใช้ในประโยค

หน้าที่ของวลีในประโยค

โรงเรียนเตรียมทหาร

โรงเรียนเตรียมทหาร มีนักเรียนหลายร้อยคน

เป็นประธาน

ฟุตบอประเพณี

จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ร่วมแข่งขัน ฟุตบอลประเพณี

เป็นกรรม

เรือนไทยโบราณ

ศาลาหลังนั้นคือเรือนไทยโบราณ

เป็นส่วนเติมเต็ม

ดอกบัวสีชมพู

ภาพถ่ายดอกบัวสีชมพูมีคนขโมยไปแล้ว

เป็นส่วนขยายคำนาม

ตอนเช้าวันอาทิตย์

ฉันไปทำบุญที่วัดตอนเช้าวันอาทิตย์

เป็นส่วนขยายตัวแสดง

ประชาชนทั้งหลาย

ประชาชนทั้งหลาย ถึงเวลาแล้วที่เราต้องต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น

เป็นคำเรียกขาน

 

          ๒. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เหมือนคำสรรพนาม (สรรพนามวลี) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำสรรพนาม คือ เป็นประธาน เป็นกรรม เป็นส่วนเติมเต็ม และเป็นคำเรียกขาน เช่น

กลุ่มคำ/วลี

เมื่อใช้ในประโยค

หน้าที่ของวลีในประโยค

เธอทุกคน

เธอทุกคน ต้องตั้งใจฟังครูอธิบาย

เป็นประธาน

เราทุกคน

เขาไม่พอใจเราทุกคน

เป็นกรรม

พวกท่านทั้งหลาย

บุคคลที่จะสอบได้คือพวกท่านทั้งหลาย

เป็นส่วนเติมเต็ม

ท่านผู้มีเกียรติ

ท่านผู้มีเกียรติ กรุณาอยู่ในความสงบ

เป็นคำเรียกขาน

 

          ๓. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เหมือนคำกริยา (กริยาวลี) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำกริยา คือ เป็นประธาน เป็นตัวแสดง (กริยา) เป็นส่วนขยายคำนาม และเป็นส่วนขยายตัวแสดง เช่น

กลุ่มคำ/วลี

เมื่อใช้ในประโยค

หน้าที่ของวลีในประโยค

บ่นพึมพำ

บ่นพึมพำ เป็นลักษณะของผู้สูงอายุ

เป็นประธาน

นั่งเหม่อลอย

ผู้ชายคำนั้นนั่งเหม่อลอย

เป็นตัวแสดง

เที่ยวเมืองไทย

คุณแม่อ่านสารคดีเที่ยวเมืองไทย

เป็นส่วนขยายคำนาม

ชักแม่น้ำทั้งห้า

เธอพูดชักแม่น้ำทั้งห้าตลอดเวลา

เป็นส่วนขยายตัวแสดง

 

          ๔. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เหมือนคำวิเศษณ์ (วิเศษณ์วลี) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำวิเศษณ์ คือ เป็นส่วนขยายคำนาม เป็นส่วนขยายคำสรรพนาม เป็นส่วนขยายตัวแสดง เป็นส่วนขยายคำวิเศษณ์ เช่น

กลุ่มคำ/วลี

เมื่อใช้ในประโยค

หน้าที่ของวลีในประโยค

กล้าหาญชาญชัย

คนกล้าหาญชาญชัยจะทำงานด้วยใจเข้มแข็ง

เป็นส่วนขยายคำนาม

ทุก ๆ คน

เราทุก ๆ คน ควรทำแต่ความดี

เป็นส่วนขยายคำสรรพนาม

ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ

เราเลี้ยงลูกแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ

เป็นส่วนขยายตัวแสดง

ในชั่วพริบตา

โจรขโมยของไปเร็วในชั่วพริบตา

เป็นส่วนขยายคำวิเศษณ์

 

          ๕. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เหมือนคำบุพบท (บุพบทวลี) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำบุพบท คือ เชื่อมกลุ่มคำกริยากับคำนาม เชื่อมกลุ่มคำกริยากับคำสรรพนาม เชื่อมกลุ่มคำกับคำนาม และเชื่อมคำวิเศษณ์กับคำนาม เช่น

กลุ่มคำ/วลี

เมื่อใช้ในประโยค

หน้าที่ของวลีในประโยค

ท่ามกลาง

นักโทษยืนซึมท่ามกลางห้องพิจารณาคดี

เชื่อมกลุ่มคำกริยา กับคำนาม

เฉพาะกับ

คุณครูพูดเสียงดังเฉพาะกับฉันเท่านั้น

เชื่อมกลุ่มคำกริยา กับคำสรรพยาม

ต่อหน้า

การตำหนิต่อหน้าบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

เชื่อมกลุ่มคำ กับคำนาม

ประหนึ่งเป็น

เขาร้องเพลงเพราะประหนึ่งเป็นนักร้องอาชีพ

เชื่อมคำวิเศษณ์ กับคำนาม

 

          ๖. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เหมือนคำสันธาน (สันธานวลี) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำสันธาน คือ เชื่อมประโยคกับประโยค เชื่อมกลุ่มคำนามกับคำกริยา เช่น

กลุ่มคำ/วลี

เมื่อใช้ในประโยค

หน้าที่ของวลีในประโยค

จนกระทั่ง

รักชาติอ่านหนังสือ จนกระทั่งสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้

เชื่อมประโยค กับประโยค

ในขณะที่

การเที่ยวกลางคืนในขณะที่กำลังสอบย่อมไม่เป็นผลดี

เชื่อมกลุ่มคำนาม กับกลุ่มคำกริยา

 

          ๗. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เหมือนคำอุทาน (อุทานวลี) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำอุทาน แต่เนื่องจากคำอุทานไม่ได้ทำหน้าที่ในประโยคเหมือนคำชนิดอื่น ๆ คือไม่ได้ทำหน้าที่ขยายคำนาม ขยายคำกริยา หรือเป็นบทเชื่อมในประโยค อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำอุทานจะไม่ได้ทำหน้าที่ในประโยค แต่สามารถใช้ให้สอดคล้องกับเนื้อความในประโยค

กลุ่มคำ/วลี

เมื่อใช้ในประโยค

โอ้ อนิจจา!

โอ้ อนิจจา ! คนใจร้ายเอาเด็กมานั่งขอทาน

โธ่ กรรมเวร !

โธ่ กรรมเวร ! เพิ่งลืมตามาดูโลกได้ไม่นานก็มาพลันตาย

 

***

ตัวอย่างข้อสอบเก่าเตรียมทหาร

ข้อความที่ขีดเส้นใต้ข้อใดเป็นอุทานวลี (ทบ.๔๕)

ก. เดินยังไงไม่ดูตาม้าตาเรือ

ข. ผมต้องทำอย่างนี้เพื่อความรักของเรา

ค. นายดำวิ่งเร็วราวกับลมพัด

ง. ชาวบ้านชุมชนคลองเตยประสบปัญหายาเสพติด

จ. ทำไมฉันถึงนอนไม่หลับ

“ภาษา” ที่ขีดเส้นใต้ข้อใดหมายถึงการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง (ทบ.๔๐)

ก. สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล

ข. เสียงเป็นองค์ประกอบของภาษา

ค. แกยังเด็กอยู่ค่ะ ยังไม่รู้ภาษา

ง. เขาพูดภาษาอะไรน่ะ จะว่าอังกฤษก็ไม่ใช่ไทยก็ไม่เชิง

จ. เธอพูดอะไรไม่รู้ภาษา ฉันไม่พูดด้วย

***

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สารัตถสัมพันธ์ เล่มที่ ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๒๐๓ ท ๒๐๔ หลักภาษาไทย เล่ม ๒. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ หลักภาษาไทย เล่ม ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

ประวีณา มีชอบธรรม. (๒๕๔๔). ภาษาไทย (บังคับ). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศูนย์หนังสือเมืองไทย.

พรทิพย์ แฟงสุต. (๒๕๔๔). รวมหลักภาษาไทย ม.ต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์

ยศ พนัสสรณ์. (๒๕๓๖). ภาษาไทย ม.ต้น (ฉบับเตรียมสอบ). กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.

วสุณี รักษาจันทร์. หลักภาษาไทย ม.๑. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน

 

Google
 
 
 
 

เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.
© 2012. All Right Reserved by THAI CADET.ORG / Last Updated : Mon, 10 September, 2012 22:31   Bookmark and Share