เว็บไซต์นายร้อยไทย
บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร
 
© คำอธิบาย การแสดงวิธีทำ และข้อคิดเห็นทั้งหมด
ในเว็บเพจนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
หากจะนำไปเผยแพร่ซ้ำ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด
ต้องได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก webmaster@thaicadet.org
 
บทที่ ๑๓ การอ่านออกเสียงคำในภาษาไทย
 

 

 
เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.

          น้อง ๆ หลายท่านอาจมีปัญหาในการออกเสียงคำในภาษาไทย เช่น คำว่า “สิทธิ” บางคนอ่านว่า “สิด” แต่บางคนอ่านว่า “สิด- ทิ” ซึ่งบทที่ ๑๓ นี้ จะช่วยแก้ปัญหาในการอ่านของน้อง ๆ ได้ค่ะ

การอ่านคำที่มาจากภาษาอื่น

          คำในภาษาไทยมีที่มาจากหลายภาษา ส่วนมากจะมาจากภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ซึ่งมีหลักในการอ่านดังนี้

          ๑. ไม่อ่านออกเสียงสระในคำที่มีตัวสะกด เช่น

ธาตุ (ทาด) สมบัติ (สม-บัด) ชาติ (ชาด)

เกตุ (เกด) ปฏิวัติ (ปะ-ติ-วัด) ญาติ (ยาด)

เมรุ (เมน) ปฏิบัติ (ปะ-ติ-บัด)

          ๒. คำที่มีมากกว่า ๑ พยางค์ มักจะออกเสียง อะ ในตัวสะกดของพยาค์แรก เช่น

วิทยุ (วิด-ทะ-ยุ) สัตวา (สัด-ตะ-วา) กัลบก (กัน-ละ-บก)

อัศวิน (อัด-สะ-วิน) รัตนา (รัด-ตะ-นา) ศิลปะ (สิน-ละ-ปะ)

อุทยาน (อุด-ทะ-ยาน) หัสดี (หัด-สะ-ดี) ศาสนา (สาด-สะ-นา)

กัลบก (กัน-ละ-บก)

          ๓. อ่านเรียงพยางค์ คือ ออกเสียงสระ อะ ในพยางค์ที่ไม่มีรูปสระ เช่น

กาฬปักษ์ (กา-ละ-ปัก) เจตคติ (เจ-ตะ-คะ-ติ) คีตศิลป์ (คี-ตะ-สิน)

ตาลปัตร (ตา-ละ-ปัด) คมนาคม (คะ-มะ-นา-คม) กรณี (กะ-ระ-นี)

ตาลปัตร (ตา-ละ-ปัด) คีตกวี (คี-ตะ-กะ-วี) มูรธา (มู-ระ-ทา)

ศิลปกรรม (สิน-ละ-ปะ-กำ)

          ๔. คำบางคำอ่านได้ ๒ แบบ ซึ่งอาจจะออก หรือไม่ออกเสียงสระเชื่อมระหว่างคำก็ได้ เช่น

ปรปักษ์ (ปอ-ระ-ปัก / ปะ-ระ-ปัก) ปรโลก (ปอ-ระ-โลก / ปะ-ระ-โลก)

บุรพบท (บุบ-พะ-บท / บุ-ระ-พะ-บท) พสกนิกร (พะ-สก-นิ-กอน / พะ-สก-กะ-นิ-กอน)

โฆษณา (โคด-สะ-นา / โค-สะ-นา) มูลค่า (มูน-ละ-ค่า / มูน-ค่า)

๕. คำที่มีตัวการันต์ จะไม่ออกเสียงตัวการันต์ เช่น

พักตร์ (พัก) พงศ์ (พง) ทัศน์ (ทัด)

วิจารณ์ (วิ-จาน) ปกรณ์ (ปะ-กอน)

 

การอ่านคำที่มีตัวการันต์ โดยทั่วไปคำที่มีตัวการันต์จะเป็นคำที่รับมาจากภาษาอื่น

          ถ้าคำนั้นมาจากภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตจะทำให้เป็นตัวการันต์ ทั้งนี้เพื่อลดจำนวนพยางค์ให้น้อยลงเหมือนคำไทย ซึ่งเป็นคำพยางค์เดี่ยว เช่น สิง ห์ โอษ ฐ์ สวัส ดิ์ เล่ ห์ เกม ส์

          ถ้าคำนั้นมาจากภาษาทางตะวันตก จะใช้การันต์เพื่อรักษารูปศัพท์เดิมของคำนั้นไว้

เช่น คอลัมน์ (column) เมล์ (mail) ฟิล์ม (film)

          อย่างไรก็ตาม คำที่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตซึ่งฆ่าอักษรตัวสุดท้ายไม่ให้ออกเสียงได้นั้น บางครั้งก็ฆ่าถึงสอง หรือสามตัวอักษรก็ได้ เช่น

ฆ่าหนึ่งตัว รม ย์ ธรร ม์

ฆ่าสองตัว กาญ จน์ ลัก ษณ์

ฆ่าสามตัว ลัก ษมณ์

 

การอ่านคำประสมและคำสมาส ให้สังเกตดูความหมายของคำเป็นสำคัญ ดังนี้

          ๑. ถ้าเป็นคำประสม คือ ความหมายของคำจะอยู่ที่คำนามข้างหน้า ส่วนคำหลังทำหน้าที่ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น จึงไม่ต้องอ่านออกเสียงสระต่อเนื่องระหว่างคำนั้น เช่น

จิตใจ (จิด-ใจ) รสทิพ (รด-ทิบ) ทวยเทพ (ทวย-เทบ)

ญาติมิตร (ยาด-มิด) ชนชาติ (ชน-ชาด)

          ๒. ถ้าเป็นคำสมาส คือ ความหมายของคำจะอยู่ที่คำนามข้างหลัง ส่วนคำหน้าทำหน้าที่ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น จึงต้องอ่านออกเสียงเชื่อมระหว่างคำ (แบบคำสมาส) โดยออกเสียงสระที่พยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น

จิตเวช (จิด-ตะ-เวด) ทิพรส (ทิบ-พะ-รด) เทพบุตร (เทบ-พะ-บุด)

ญาติวงศ์ (ยาด-ติ-วง) ราชการ (ราด-ชะ-กาน) ราชโอรส (ราด-ชะ-โอ-รด)

อักษรศาสตร์ (อัก-สอน-ระ-สาด)

          คำยกเว้น : มีบางคำที่พยางค์แรกมาจากภาษาบาลี – ภาษาสันสกฤต แต่พยางค์หลังเป็นคำไทย ซึ่งเป็นลักษณะของคำประสม เวลาอ่านให้ออกเสียงเชื่อมระหว่างคำแบบคำสมาส เช่น

เทพเจ้า (เทบ-พะ-เจ้า) ราชวัง (ราด-ชะ-วัง) พลเรือน (พน-ละ-เรือน)

กรมวัง (กรม-มะ-วัง) ผลไม้ (ผน-ละ-ไม้)

 

การอ่านคำที่มีเสียง อะ กึ่งมาตรา

          ปกติคำไทยที่มีมากกว่า ๑ พยางค์ เราสามารถอ่านได้ตรงตัว

เช่น จุกจิก (จุก-จิก) บากบั่น (บาก-บั่น) รุกราน (รุก-ราน)

          แต่มีคำไทยเดิมบางคำที่ออกเสียงตัวสะกด โดยมีเสียง อะ กึ่งมาตรา (หรือ ออกเสียงอะ ไม่เต็มเสียง) เช่น ตุ๊กตา (ตุ๊ก-กะ-ตา) จักจั่น (จัก-กะ-จั่น) ชักเย่อ (ชัก-กะ-เย่อ) ซอมซ่อ (ซอม-มะ-ซ่อ) สัปหงก (สับ-ปะ-หงก) รอมร่อ (รอม-มะ-ร่อ) สัปหงก (สับ-ปะ-หงก) ชุกชี (ชุก-กะ-ชี) สัปเหร่อ (สับ-ปะ-เหร่อ)

 

การอ่านคำพ้อง

          คำพ้องมี ๒ ชนิด คือ คำพ้องรูป และคำพ้องเสียง แต่คำที่มีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านออกเสียงคือคำพ้องรูป (คำที่เขียนเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกัน และความหมายก็ต่างกันไปด้วย)

เช่น เพลา (เพ-ลา / เพลา) เสมา (เส-มา / สะ-เหมา) สระ (สะ-หระ / สะ) แหน (แน๋ / แหน) เขมา (เข- มา / ขะ- เหม่า)

 

การอ่านตัว ฤ

          ๑. ออกเสียงเป็น ริ

- เมื่อเป็นพยางค์หน้าของคำที่มีตัวสะกด เช่น ฤทธิ์ (ริด)

- เมื่อประสมกับตัว ก ด ต ท ป ศ ส เช่น กฤตยา (กริด - ติ- ยา) ตฤน (ตริน) กฤษณะ (กริด- สะ- นะ)

ทฤษฎี (ทริด - สะ- ดี) สฤษฎิ์ (สะ- หริด)

          ๒. ออกเสียงเป็น รึ

- เมื่ออยู่โดด ๆ ในคำประพันธ์ เช่น ฤ จะมี, ฤ จะอด

- เมื่อเป็นพยางค์หน้าของคำ และมีตัวสะกด เช่น ฤคเวท (รึ - คะ- เวด)

- เมื่อเป็นพยางค์หน้าของคำ แต่ไม่มีตัวสะกด เช่น ฤชา (รึ - ชา) ฤดี (รึ- ดี) ฤดู (รึ- ดู) ฤษี (รึ- สี)

- เมื่อประสมกับตัว ค น พ ม ห เช่น คฤหบดี (คะ - รึ- หะ- บะ- ดี) คฤหัสถ์ (คะ- รึ- หัด) คฤหาสน์ (คะ- รึ- หาด) นฤบาล (นะ - รึ- บาน) พฤติการณ์ (พรึ- ติ- กาน)

          ๓. ออกเสียง เรอ มีคำเดียวคือ ฤกษ์ (เริก)

 

การอ่านคำประพันธ์

          คำบางคำในบทประพันธ์จะต้องอ่านออกเสียงให้ผิดไปจากปกติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเสียงสัมผัสที่คล้องจองกันตามข้อบังคับของคำประพันธ์ การอ่านชนิดนี้เรียกว่า “ การอ่านเอื้อสัมผัส” เช่น

          ข้อขอเคารพ อภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา

          คำว่า “ อภิวันท์” อ่านว่า อบ-พิ-วัน เพื่อให้สัมผัสกับคำว่า “ เคารพ” (คำว่า “ อบ” สัมผัสกับ “ รพ” )

 

การอ่านตัวเลข มีวิธีการอ่าน ดังนี้

           ๑.) การอ่านจำนวนเลขตั้งแต่ ๒ หลักขึ้นไป ถ้าเลขตัวท้ายเป็นเลข ๑ ให้ออกเสียงว่า "เอ็ด"

เช่น ๑๑ สิบ-เอ็ด

๒๑ ยี่-สิบ-เอ็ด

๑๐๑ ร้อย-เอ็ด , หฺนึ่ง-ร้อย-เอ็ด

๑๐๐๑ พัน-เอ็ด , หฺนึ่ง-พัน-เอ็ด

๒๕๐๑ สอง-พัน-ห้า-ร้อย-เอ็ด

           ๒.) การอ่านตัวเลขที่มีจุดทศนิยม

          ๑. ตัวเลขหน้าจุดทศนิยม ให้อ่านแบบจำนวนเต็ม ตัวเลขหลังจุดทศนิยม ให้อ่านแบบเรียงตัว

เช่น ๑.๒๓๕ หฺนึ่ง-จุด-สอง-สาม-ห้า

๕๑.๐๘ ห้า-สิบ-เอ็ด-จุด-สูน-แปด

          ๒. ตัวเลขที่เป็นเงินตรา หรือ หน่วยนับ ให้อ่านตามหน่วยเงินตรา หรือ หน่วยนับนั้น ๆ

เช่น ๕.๘๐ บาท ห้า-บาด-แปด-สิบ-สะ-ตาง

๘.๖๕ ดอลลาร์ แปด-ดอน-ล่า-หก-สิบ-ห้า-เซ็น

๓.๕๘ เมตร สาม-เมด-ห้า-สิบ-แปด-เซ็น-ติ-เมด

๒.๒๐๕ กิโลกรัม สอง-กิ-โล-กฺรำ- สอง-ร้อย- ห้า-กฺรำ

           ๓.) การอ่านตัวเลขที่แสดงมาตราส่วน หรือ อัตราส่วน

เช่น ๑:๑๐๐, ๐๐๐ หฺนึ่ง-ต่อ-แสน หรือ หฺนึ่ง-ต่อ-หฺนึ่ง-แสน

๑:๒:๔ หฺนึ่ง-ต่อ-สอง-ต่อ-สี่

          ๔.) การอ่านตัวเลขบอกเวลา

          ๑. การอ่านชั่วโมงที่ไม่มีจำนวนนาที

เช่น ๐๕.๐๐ น. หรือ ๐๕:๐๐ น. ห้า-นา-ลิ-กา

๒๔.๐๐ น. หรือ ๒๔:๐๐ น. ยี่-สิบ-สี่-นา-ลิ-กา

๐๐.๐๐ น. หรือ ๐๐:๐๐ น. สูน-นา-ลิ-กา

          ๒. การอ่านชั่วโมงกับนาที

เช่น ๑๑.๓๕ น. หรือ ๑๑:๓๕ น. สิบ-เอ็ด-นา-ลิ-กา-สาม-สิบ-ห้า-นา-ที

๑๖.๓๐ น. หรือ ๑๖:๓๐ น. สิบ-หก-นา-ลิ-กา-สาม-สิบ-นา-ที

          ๓. การอ่าน ชั่วโมง นาที และวินาที

เช่น ๗:๓๐:๔๕ เจ็ด-นา-ลิ-กา-สาม-สิบ-นา-ที-สี่-สิบ-ห้า-วิ-นา-ที

๐๒:๒๘:๑๕ สอง-นา-ลิ-กา-ยี่-สิบ-แปด- นา-ที-สิบ-ห้า-วิ-นา-ที

          ๔. การอ่านเวลาที่มีเศษของวินาที ตัวเลขหลังจุดทศนิยมที่เป็นเศษของวินาที

ให้อ่านเรียงตัว

เช่น ๘:๐๒:๓๗.๘๖ แปด-นา-ลิ-กา-สอง-นา-ที-สาม-สิบ-เจ็ด-จุด-แปด-หก-วิ-นา-ที

๑๐-๑๔-๒๔.๓๗ สิบ-นา-ลิ-กา-สิบ-สี่-นา-ที-ยี่-สิบ-สี่-จุด-สาม-เจ็ด-วิ-นา-ที

           ๕.) การอ่านเลขหนังสือราชการ นิยมอ่านเรียงตัว

เช่น หนังสือที่ รถ ๐๐๐๑/๑๐๒ ลว. ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๘

อ่านว่า หฺนัง-สือ-ที่ รอ-ถอ สูน-สูน-สูน-หฺนึ่ง ทับ หฺนึ่ง-สูน-สอง ลง-วัน-ที่ สิบ ตุ-ลา-คม พุด-ทะ-สัก-กะ-หฺราด สอง-พัน-ห้า-ร้อย-สาม-สิบ-แปด

 

หนังสือที่ ศธ ๐๐๓๐.๐๑/๕๙๗ ลว. ๘ พ.ย. ๒๕๓๔

อ่านว่า ห ฺนัง-สือ-ที่ สอ-ทอ สูน-สูน-สาม-สูน-จุด-สูน- หนึ่ง-ทับ ห้า-เก้า-เจ็ด-ลง-วัน-ที่ แปด พ รึด-สะ-จิ-กา-ยน-พุด-ทะ-สัก-กะ- ห ฺราด สอง-พัน-ห้า-ร้อย-สาม-สิบ-สี่

          ๖.) การอ่านเลข ร.ศ. ที่มีการเทียบเป็น พ.ศ. กำกับ

เช่น ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)

อ่านว่า รัด-ตะ-นะ-โก-สิน-สก ร้อย-สิบ-สอง-ต ฺรง-กับ-พุด-ทะ-สัก-กะ- ห ฺราด สอง- พัน-สี่-ร้อย-สาม-สิบ-หก

หรือ รอ-สอ ร้อย-สิบ-สอง ตฺรง-กับ พอ-สอ สอง-พัน-สี่-ร้อย-สาม-สิบ-หก

(เพิ่มข้อความ “ ตรงกับ” เพื่อให้ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น)

หรือ รัด-ตะ-นะ-โก-สิน-สก ร้อย-สิบ-สอง-ว ง- เล็ บ- เปิด-พุ ด- ท ะ- สั ก- กะ- ห ฺราด-สอง -พัน-สี่-ร้อย-สาม-สิบ-หก-วง-เล็บ-ปิด

หรือ รอ-สอ-ร้อย-สิบ-สอง-วง-เล็บ-เปิด-พอ-สอ-สอง-พัน-สี่-ร้อย-สาม- สิบ-หก-วง-เล็บ-ปิด

          ๗.) การอ่านบ้านเลขที่

          บ้านเลขที่ที่มีเครื่องหมายทับ "/" และบ้านเลขที่ที่ไม่มีเครื่องหมายทับ "/" มีหลักการอ่านเหมือนกัน คือ บ้านเลขที่ซึ่งมีตัวเลข ๒ หลัก ให้อ่านแบบจำนวนเต็ม ถ้ามีตัวเลข ๓ หลักขึ้นไป ให้อ่านแบบเรียงตัวหรือแบบจำนวนเต็มก็ได้ ส่วนตัวเลขหลังเครื่องหมายทับ "/" ให้อ่านเรียงตัว

เช่น บ้านเลขที่ ๑๐ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ สิบ

บ้านเลขที่ ๔๑๔ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ สี่-หฺนึ่ง-สี่ หรือ บ้าน-เลก-ที่ สี่-ร้อย-สิบ-สี่

บ้านเลขที่ ๕๖/๓๔๒ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ ห้า-สิบ-หก ทับ สาม-สี่-สอง

บ้านเลขที่ ๖๕๗/๒๑ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ หก-ห้า-เจ็ด ทับ สอง-ห ฺนึ่ง หรือ

บ้าน-เลก-ที่ หก-ร้อย-ห้า-สิบ-เจ็ด ทับ-สอง- ห ฺนึ่ง

กลุ่มตัวเลขที่มีเลข ๐ นำหน้า อ่านเรียงตัวเสมอ

เช่น บ้านเลขที่ ๐๘๖๔/๑๑๐๘ อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่ สูน-แปด-หก-สี่-ทับ-หฺนึ่ง-หฺนึ่ง-สูน-แปด

          ๘.) การอ่านรหัสไปรษณีย์

          รหัสไปรษณีย์ เป็นกลุ่มตัวเลขที่กำหนดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้ทราบถึงปลายทางของสิ่งที่ส่งทางไปรษณีย์ และใช้แทนรายละเอียดพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้การคัดแยกและส่งต่อสิ่งของทางไปรษณีย์ไปยังปลายทางเป็นไปด้วยความถูกต้องและรวดเร็ว

          รหัสไปรษณีย์ประกอบด้วยตัวเลข ๕ ตัว ตัวเลข ๒ ตัวแรกหมายถึงจังหวัด ส่วนตัวเลข ๓ ตัวหลัง หมายถึงที่ทำการไปรษณีย์ของจังหวัดนั้น ๆ เช่น รหัสไปรษณีย์ ๓๒๑๙๐ ตัวเลข ๓๒ หมายถึงจังหวัดสุรินทร์ ส่วนเลข ๑๙๐ หมายถึงที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งรับผิดชอบการนำจ่ายสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ในพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์

          การอ่านเลขรหัสไปรษณีย์ให้อ่านตัวเลขแบบเรียงตัว

เช่น รหัสไปรษณีย์ ๓๒๑๙๐ อ่านว่า สาม-สอง-ห ฺนึ่ง-เก้า-สูน

          ๙.) การอ่านเลขแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์

          ๑. แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้อ่านหมายเลขประจำหมวดกับตัวอักษรบอกหมวดก่อน แล้วจึงอ่านตัวเลขแบบเรียงตัว ตามด้วยชื่อจังหวัดที่จดทะเบียน

เช่น เลขทะเบียน ๕ช-๒๔๓๗ กรุงเทพมหานคร

อ่านว่า ห้า-ชอ-ช้าง สอง-สี่-สาม-เจ็ด ก ฺรุง-เทบ-มะ-หา-นะ-คอน

          ๒. แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ นั้น ให้อ่านตัวเลขรหัสแสดงประเภทรถยนต์ก่อน แล้วจึงอ่านตัวเลขแบบเรียงตัว ตามด้วยชื่อและรหัสจังหวัดที่จดทะเบียน

เช่น เลขทะเบียน ๘๐-๒๔๓๗ กรุงเทพมหานคร ๐๑

อ่านว่า แปด-สูน สอง-สี่-สาม-เจ็ด-ก ฺรุง-เทบ-มะ-หา-นะ-คอน-สูน-ห ฺนึ่ง

          ๑๐) การอ่านหมายเลขโทรศัพท์

          การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ แต่เดิมกำหนดให้อ่านเลข "๒" ว่า "โท" เพื่อให้เสียงอ่านเลข "๒" กับเลข "๓" แตกต่างกัน เนื่องจากหมายเลขโทรศัพท์ประกอบด้วยตัวเลขหลายตัว บางครั้งอาจมีเลข ๒ และ ๓ อยู่เรียงกันหลายตัว เสียงอ่านเลข ๒ กับเลข ๓ มีเสียงใกล้เคียงกัน ปัจจุบันระบบโทรศัพท์พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาก จึงให้อ่านหมายเลขโทรศัพท์ "๒" ว่า สอง หรือจะอ่านว่า "โท" ก็ได้

          ๑. หมายเลขโทรศัพท์ในประเทศ

          องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ทั่วประเทศ ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยกำหนดรูปแบบเลขหมายใหม่เพื่อรองรับการใช้งานเบื้องต้น ๙๐ ล้านเลขหมาย รวมหมายเลขรหัสทางไกล หรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่เดิมเข้ากับหมายเลขโทรศัพท์ เป็นหมายเลข ๙ หลัก

          การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งเดิมจะอ่านหมายเลขรหัสทางไกล หรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อนแล้วจึงอ่านหมายเลขโทรศัพท์ ปัจจุบันการเขียนและการอ่านหมายเลขโทรศัพท์ตามระบบที่เปลี่ยนใหม่ เป็นดังนี้

           ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเดิมมีรหัสทางไกล ๐๒ เขียนดังนี้

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๓๑ ๓๒๓๔*

อ่านว่า หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน-สอง-ห้า-สาม-หฺนึ่ง สาม-สอง-สาม-สี่ หรือ

หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน-โท-ห้า-สาม-หฺนึ่ง สาม-โท-สาม-สี่

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๖๔๓ ๕๑๕๑-๒๒

อ่านว่า หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน-สอง-หก-สี่-สาม ห้า-หฺนึ่ง-ห้า-หฺนึ่ง ถึง สอง-สอง

          ในต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเดิมมีรหัสทางไกล (๐๓๒) เขียนดังนี้

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๓๒๒๑ ๑๒๓๔

อ่านว่า หฺฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน สาม-สอง-สอง-หฺนึ่ง หฺนึ่ง-สอง-สาม-สี่ หรือ

หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ สูน สาม-โท-โท-หฺนึ่ง หฺนึ่ง-โท-สาม-สี่

หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีรหัส ๐๑ ๐๙ ๐๖ เขียน

ดังนี้ ๐ ๑๕๕๓ ๐๗๔๓ ๐ ๙๕๕๓ ๐๗๔๓ ๐ ๖๕๕๓ ๐๗๕๓

การอ่านให้อ่านเช่นเดียวกับโทรศัพท์ภายในประเทศ

          ๒. หมายเลขโทรศัพท์ระหว่างประเทศ

          หมายเลขโทรศัพท์ระหว่างประเทศจะประกอบด้วยเครื่องหมาย "+" ซึ่งเป็นเครื่องหมายรหัสทางไกลต่างประเทศ ( International Prefix) เพื่อให้ทราบว่าในการเรียกทางไกลต่างประเทศต้องหมุนหรือกดรหัสทางไกลต่างประเทศก่อน ตามด้วยตัวเลขที่เป็นรหัสประเทศ รหัสเมือง และหมายเลขโทรศัพท์ ตามลำดับ แบ่งเป็น ๒ ประเภท

          ๒.๑ การเรียกออกต่างประเทศ

          รหัสเรียกออกทางไกลต่างประเทศสำหรับประเทศไทย คือ ๐๐๑ และ ๐๐๗ ซึ่งเป็นรหัสเรียกออกทางไกลต่างประเทศเฉพาะประเทศมาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา

เช่น ๐๐๑ + ๓๓ ๘๘ ๓๗๑-๖๙๑

อ่านว่า ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด สูน-สูน-หนึ่ง ระ-หัด-ปฺระ-เทด สาม-สาม

ระ-หัด-เมือง แปด-แปด หฺมาย-เลข-โท-ระ-สับ สาม-เจ็ด-หนึ่ง-หก-เก้า-หฺนึ่ง

๐๐๗ + ๙๕-๑ ๒๒๑๘๘๑

อ่านว่า ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด สูน-สูน-เจ็ด เก้า-ห้า

หฺนึ่ง สอง-สอง-หฺนึ่ง-แปด-แปด-หนึ่ง หรือ ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด สูน-สูน-เจ็ด เก้า-ห้า หฺนึ่ง โท-โท-หฺนึ่ง-แปด-แปด-หฺนึ่ง

           ๒.๒ การเรียกเข้าจากต่างประเทศ

รหัสเรียกเข้าทางไกลจากต่างประเทศ คือ ๖๖

เช่น ๖๖ ๒๒๘๒ ๒๒๖๙

อ่านว่า ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด หก-หก สอง-สอง-แปด-สอง สอง-สอง-หก-เก้า

หรือ ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด หก-หก โท-โท-แปด-โท โท-โท-หก-เก้า

          โทรศัพท์ระบบบริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ ( audiotex) ซึ่งมีเลขจำนวน ๑๐ ตัวประกอบด้วย ตัวเลขกลุ่มแรก ๔ ตัว เป็นรหัสบอกระบบ กลุ่มที่สอง จำนวน ๓ ตัว เป็นรหัสของเจ้าของกิจการนั้น และกลุ่มที่สามมีจำนวน ๓ ตัว เป็นรหัสประเภทการบริการ การเขียนหมายเลขโทรศัพท์ระบบนี้ ให้เขียนแยกเป็น ๓ กลุ่ม การอ่านให้อ่านแบบเรียงตัว

เช่น ๑๙๐๐ ๑๑๑ ๐๐๐

อ่านว่า หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ- หฺนึ่ง-เก้า-สูน-สูน หฺนึ่ง-หฺนึ่ง-หฺนึ่ง สูน-สูน-สูน

          โทรศัพท์ระบบบริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์โดยใช้พนักงานรับสาย ( BUG) จะมีเลขจำนวน ๔ ตัว ซึ่งเจ้าของกิจการเป็นผู้กำหนดขึ้นเองเพื่อให้จดจำง่าย ให้เขียนหมายเลขทั้ง ๔ ตัว เป็นกลุ่มเดียวกัน และอ่านตัวเลขแบบเรียงตัว

เช่น ๑๒๑๓ อ่านว่า หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ หฺนึ่ง-สอง-หฺนึ่ง-สาม

          ๑๑.) การอ่านหมายเลขทางหลวง

แต่เดิมทางหลวงสายสำคัญ ๆ ปรกติใช้ชื่อสกุลของบุคคลที่มีความสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับทางสาย นั้น ๆ เช่น เป็นผู้บุกเบิก ผู้ก่อสร้าง มาตั้งเป็นชื่อถนน แต่เมื่อมีการสร้างทางมากขึ้น การใช้ชื่อสกุลมีความยุ่งยากและสับสน ทั้งไม่สามารถทราบได้ว่าทางสายนั้นอยู่ทางบริเวณภาคใดของประเทศ จึงได้มีการนำระบบหมายเลขมาใช้กำกับทางหลวงต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงสัมปทาน และทางหลวงพิเศษ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

          ๑. ทางหลวงที่มีเลขหนึ่งตัว หมายถึง ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงพิเศษที่เป็นถนนสายหลัก เชื่อมการคมนาคมระหว่างภาคต่อภาค ได้แก่

- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ หรือ ถนนพหลโยธิน เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคเหนือ

ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงราย

- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ หรือ ถนนมิตรภาพ เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งต้นที่จังหวัดสระบุรี และไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย

- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ หรือ ถนนสุขุมวิท เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่จังหวัดทางภาคกลางรวมถึงชายทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด

- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ หรือ ถนนเพชรเกษม เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคใต้

ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดเชียงราย

- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดหนองคาย

- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดจันทบุรี

- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๘ เป็นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ เป็นถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ

          ๒. ทางหลวงที่มีเลขสองตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงพิเศษที่เป็นสายประธานตามภาคต่าง ๆ เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายอุดรธานี-นครพนม ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕๑ หมายถึง ทางหลวงซึ่งเชื่อมต่อจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี

          ๓. ทางหลวงที่มีเลขสามตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินสายรอง เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒ หมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายชัยภูมิ-เขมราฐ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๔ หมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคกลางสายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา

          ๔. ทางหลวงที่มีเลขสี่ตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น เช่น ทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๖ หมายถึงทางหลวงในภาคใต้สายแยกทางหลวงหมายเลข ๔ (ราชกรูด-หลังสวน)

          ในการอ่านหมายเลขทางหลวงให้อ่านเรียงตัว ดังนี้

หมายเลขทางหลวง ๒๑ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง สอง-หฺนึ่ง

หมายเลขทางหลวง ๓๑๔ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง สาม-หฺนึ่ง-สี่

 

การอ่านคำที่มีเครื่องหมายวรรคตอน

          ในบทที่ ๑๑ พี่ได้พูดถึงเรื่อง “ เครื่องหมายวรรคตอน” มาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ในการเขียนภาษาไทย แต่ในหัวข้อนี้ พี่จะบอกเล่าถึงวิธีการอ่านเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ เพื่อน้อง ๆ จะได้อ่านเครื่องหมายต่าง ๆ ให้ถูกต้องงัยคะ

          ๑. การอ่านไปยาลน้อย (ฯ)

          ไปยาลน้อยใช้สำหรับละคำยาว ๆ ซึ่งเรารู้จักกันดี โดยจะเขียนแต่คำหน้า และละส่วนท้ายไว้ เวลาอ่านต้องอ่านคำเต็ม เช่น

โปรดเกล้าฯ อ่านว่า โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

น้อมเกล้าฯ อ่านว่า น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม

ฯพณฯ อ่านว่า พะ - นะ- ท่าน

          ๒. การอ่านไปยาลใหญ่ (ฯลฯ) มีวิธีการใช้ ๒ แบบ คือ

          แบบที่ ๑ ใช้สำหรับละข้อความข้างท้าย โดยจะตามหลังข้อความที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ซึ่งข้อความเหล่านั้นยังมีอีกมาก แต่ไม่ได้นำมาแสดงไว้

ฯลฯ ถ้าอยู่หลังข้อความใด ๆ ให้อ่านว่า “ อื่น ๆ, เป็นต้น, ละ, และอื่น ๆ”

เช่น สำนักนายกรัฐมนตรีมีหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ

เวลาอ่านต้องอ่านดังนี้ค่ะ

          “สำนักนายกรัฐมนตรีมีหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ และอื่น ๆ” หรือ

          “สำนักนายกรัฐมนตรีมีหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น”

          แบบที่ ๒ ใช้ละคำ หรือข้อความที่อยู่ตรงกลาง โดยเขียนแต่ตอนต้น และตอนจบเอาไว้

ฯลฯ ถ้าอยู่กลางข้อความ ให้อ่านว่า “ ละถึง”

เช่น บรรดานักเรียนพากันสวดมนต์ อิติปิ โส ฯลฯ ภควาติ

เวลาอ่านต้องอ่านดังนี้ค่ะ

บรรดานักเรียนพากันสวดมนต์ อิติปิ โส ละถึง ภควาติ

          ๓. การอ่านไม้ยมก (ๆ)

          ไม้ยมกใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยค เพื่อแสดงการซ้ำคำ ซ้ำความ หรือซ้ำประโยค โดยเวลาอ่านจะอ่านซ้ำคำ ซ้ำคำ หรือซ้ำประโยคที่อยู่ข้างหน้า เช่น

เล็ก ๆ น้อย อ่านว่า เล็ก เล็ก น้อย น้อย

วันหนึ่ง ๆ เธอทำอะไรบ้าง อ่านว่า วันหนึ่ง วันหนึ่ง เธอทำอะไรบ้าง

          ๔. การอ่านบุพสัญญา หรือบุรพสัญญา ( ?? )

          บุพสัญญาใช้เขียนแทนคำหรือข้อความที่อยู่ในบรรทัดเหนือข้างบน เพื่อจะได้ไม่ต้องเขียนซ้ำอีก โดยเวลาอ่านต้องอ่านให้เต็มคำหรือข้อความข้างบน ซึ่งหากคำหรือข้อความยาวสามารถเติมเครื่องหมายบุพสัญญาได้มากกว่า ๑ ตัว โดยจะวางไว้ตรงตำแหน่งใดก็ได้ เช่น

นักเรียนเตรียมทหารขัตติยะ สอบไล่ได้อันดับที่ ๑
             ”          สนธิ               ”          ๒
             ”          ชลิต              ”          ๓

เวลาอ่านต้องอ่านให้เต็มว่านักเรียนเตรียมทหารขัตติยะ สอบไล่ได้อันดับที่ ๑

นักเรียนเตรียมทหารสนธิ สอบไล่ได้อันดับที่ ๒

นักเรียนเตรียมทหารชลิต สอบไล่ได้อันดับที่ ๒

          ๕. การอ่านอักษรย่อ

          การใช้อักษรย่อ จะพบมากในหนังสือราชการ หรือหนังสือพิมพ์ค่ะ ซึ่งมีขึ้นก็เพื่อความสะดวกมนการเขียน หรือประหยัดพื้นที่กระดาษ แต่เมื่อเราจำเป็นต้องอ่านออกเสียง ก็ต้องอ่านให้เต็มนะคะ เช่น

ทบ. อ่านว่า กองทัพบก

รร.ตท. อ่านว่า โรงเรียนเตรียมทหาร

กห อ่านว่า กระทรวงกลาโหม

น.ส. อ่านว่า นางสาว

          NOTE: น้อง ๆ จะเห็นว่าเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ที่พี่ได้พูดถึงมาในบทนี้ เราจะพบกันมากเวลาอ่านหนังสือภาษาไทย ซึ่งเครื่องหมายวรรคตอนเหล่านี้มีขึ้นก็เพื่อความสะดวกในการเขียนเล่าเรื่อง หรือบรรยายเนื้อหาต่าง ๆ

แต่จำไว้นะคะว่า เมื่อใดก็ตามที่เราต้องอ่านออกเสียงให้คนอื่นฟัง หากพบเครี่องหมายวรรคตอนพวกนี้ เราต้องอ่านคำเต็ม เพราะไม่อย่างนั้น การที่เราอ่านคำย่อ หรือไม่เข้าใจว่าเครื่องหมายดังกล่าวอ่านอย่างไร อาจจะทำให้เราอ่านผิด และอายเพื่อน ๆ ได้ค่ะ

***

ตัวอย่าง

คำประวิสรรชนีย์ข้อใดเขียนผิด (ทบ.๔๕)

ก. ธีรภัทรสวมเสื้อขาดกะรุ่งกะริ่ง

ข. คนขยันขันแข็งจะขมักเขม้นในการทำงาน

ค. ดรรชนีนางมีนิสัยรักความสะดวกสบาย

ง. คดีนี้จะประนีประนอมกับเจ้าทุกข์ได้ไหม

จ. ทิดขามคะยั้นคะยอให้คำปลิวขายที่ดินให้

 

" ฤ" ในข้อใดออกเสียงได้ ๒ แบบ (ทบ.๔๕)

ก. กฤษณา สฤษฏิ์

ข. ตฤณมัย ฤทธิ์

ค. ทฤษฎี ฤณ

ง. ศฤงคาร ปฤจฉา

จ. พฤนท์ อมฤต

 

ฑ ในข้อใดอ่านต่างจากข้ออื่น (ทบ.๔๕)

ก. ภัณฑารักษ์ ขัณฑสกร

ข. ปาณฑพ ทัณฑกรรม

ค. ทัณฑฆาต บิณฑบาต

ง. มณฑล มณฑา

จ. มณเฑียร มณโฑ

 

คำในข้อใดอ่านผิดอักขรวิธี (ทบ.๓๘)

ก. ตำรับ อ่านว่า ตำ – หรับ

ข. บำราศ อ่านว่า บำ – หราด

ค. กำราบ อ่านว่า กำ – หราบ

ง. กำเนิด อ่านว่า กำ – เหนิด

 

คำในข้อใดอ่านผิดอักขรวิธี (ทบ.๓๘)

ก. ภรรยา อ่านว่า พัน – ยา

ข. จรรยาบรรณ อ่านว่า จัน – ยา – บัน

ค. บรรยาย อ่านว่า บัน – ระ – ยาย

ง. มรรยาท อ่านว่า มัน – ยาด

 

ข้อใดตัว “ ฤ” อ่านออกเสียง /ริ/ ทั้งสองคำ (ทบ.๓๘)

ก. ทฤษฎี นฤนาท

ข. คฤหาสน์ สฤษฎิ์

ค. พฤนท์ กฤษณา

ง. ฤกษ์ ศฤงคาร

 

คำในข้อใดอ่านถูกต้อง (ทบ.๓๘)

ก. พลความ อ่านว่า พะ – ละ – ความ

ข. อาชญากรรม อ่านว่า อาด – ชะ – ยา – กำ

ค. อุดมคติ อ่านว่า อุ – ดะ – มะ – คะ – ติ

ง. อาสาฬหบูชา อ่านว่า อา – สาน – หะ – บู – ชา

 

คำทุกคำในข้อใด ไม่ใช่คำสมาส แต่นิยมอ่านแบบสมาส (ทบ.๔๒)

ก. มูลค่า ทุนทรัพย์ กลเม็ด

ข. กรมท่า กาฬสินธุ์ กลศาสตร์

ค. ผลไม้ ศักยภาพ ราชการ

ง. พลเรือน ศิลปกรรม ธรรมชาติ

จ. คุณค่า เกษียรสมุทร วรรณวิจักษณ์

***

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สารัตถสัมพันธ์ เล่มที่ ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๒๐๓ ท ๒๐๔ หลักภาษาไทย เล่ม ๒. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ หลักภาษาไทย เล่ม ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

ประวีณา มีชอบธรรม. (๒๕๔๔). ภาษาไทย (บังคับ). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศูนย์หนังสือเมืองไทย.

พรทิพย์ แฟงสุต. (๒๕๔๔). รวมหลักภาษาไทย ม.ต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์

ยศ พนัสสรณ์. (๒๕๓๖). ภาษาไทย ม.ต้น (ฉบับเตรียมสอบ). กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.

วสุณี รักษาจันทร์. หลักภาษาไทย ม.๑. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน

 

Google
 
 
 
 

เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.
© 2012. All Right Reserved by THAI CADET.ORG / Last Updated : Mon, 10 September, 2012 23:12   Bookmark and Share