เว็บไซต์นายร้อยไทย
บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร
 
© คำอธิบาย การแสดงวิธีทำ และข้อคิดเห็นทั้งหมด
ในเว็บเพจนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
หากจะนำไปเผยแพร่ซ้ำ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด
ต้องได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก webmaster@thaicadet.org
 
บทที่ ๑๒ คำราชาศัพท์
 

 

 
เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.

          ในอดีต “คำราชาศัพท์” หมายถึง ศัพท์ที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ หรือราชภาษา แต่ในปัจจุบัน “ราชาศัพท์” หมายรวมถึงคำที่ใช้กับภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ สุภาพชนด้วย

          ในที่นี้จะแบ่งการใช้ศัพท์ตามที่มีประเพณีกำหนด ออกเป็น ๓ ตอน คือ

ตอนที่ ๑ ว่าด้วยราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์

ตอนที่ ๒ ว่าด้วยศัพท์ที่ใช้สำหรับพระภิกษุ

ตอนที่ ๓ ว่าด้วยถ้อยคำสำหรับสุภาพชน

 

ตอนที่ ๑ ว่าด้วยราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์

          การศึกษาราชาศัพท์ให้เกิดความเข้าใจ และจดจำได้ คือการศึกษาจากตัวอย่างที่ใช้ถูกต้องตาม แบบแผน เช่น หมายกำหนดการของสำนักพระราชวัง ประกาศของสำนักระราชวัง เป็นต้น

          คำราชาศัพท์ที่มีโอกาสพบ และควรเข้าใจความหมาย ได้แก่

๑. คำนาม

๒. คำสรรพนาม

๓. คำกริยา

 

๑. คำนาม

          ๑.) คำว่า “ พระบรม พระบรมราชา” ใช้นำหน้าคำนามเพื่อเชิดชูพระราชอิสริยศหรือพระเกียรติ เช่น พระบรมเดชานุภาพ พระบรมวงศานุวงศ์ พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชโองการ

          ๒.) คำว่า “ พระบรม” ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น เมื่อใช้กับสมเด็จพระบรมราชินี ให้ตัดคำว่า “ บรม” ออก เช่น พระนามาภิไธย พระราชานุเคราะห์ พระราโชวาท เป็นต้น

          ๓.) คำว่า “ พระราช” ใช้นำหน้าคำนามที่สำคัญรองลงมา เช่น พระราชวังดุสิต พระราชทรัพย์ พระราชดำริ

          ๔.) คำว่า “ พระ” ใช้นำหน้านามสามัญทั่วไป เช่น พระที่นั่ง พระหัตถ์ พระบาท

          ๕.) คำว่า “ ต้น” หรือ “ หลวง” เมื่อประกอบท้ายคำศัพท์สามัญแล้ว จะทำให้คำกลายเป็นคำราชาศัพท์ทันที เช่น ช้างต้น ม้าต้น เรือต้น เรือนต้น เครื่องต้น พระแสงปืนต้น ลูกหลวง หลานหลวง พระราชวังหลวง ฯลฯ

 

๒. คำสรรพนาม คำสรรพนามราชาศัพท์ คือ คำแทนชื่อที่จำแนกใช้ตามชั้นของบุคคล ซึ่งถือว่า มีฐานันดรศักดิ์ต่างกัน ตามประเพณีนิยม จึงต้องบัญญัติคำใช้ให้เหมาะสมกับฐานะของแต่ละบุคคล

 

๓. คำกริยา คำกริยาราชาศัพท์ที่ใช้ในปัจจุบัน มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • กริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้วสามารถนำไปใช้ได้ทันที เช่น กริ้ว ตรัส ทรงประทับ พระราชทาน ประชวร โปรด สรง เสด็จ เสวย
  • คำกริยาที่ตามหลังคำว่า “ เสด็จ” จะใช้คำสามัญหรือคำที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้วก็ได้ เช่น เสด็จเข้า เสด็จออก เสด็จยืน เสด็จลง เสด็จไป เสด็จมา เสด็จประพาส เสด็จประทับ เสด็จพระราชดำเนิน ฯลฯ
  • คำที่ตามหลังคำว่า “ ทรง” จะเป็นคำนามหรือคำกริยาก็ได้ แต่เมื่อประสมกันแล้วถือว่าเป็นคำกริยาราชาศัพท์ แบ่งได้ดังนี้

ก. ใช้ “ ทรง” นำหน้าคำกริยาสามัญ

เช่น ทรงฟัง ทรงรำพึง ทรงจาม ทรงวาง ทรงทราบ ทรงยินดี ทรงของใจ

ข. ใช้ “ ทรง” นำหน้าคำนามสามัญ

เช่น ทรงช้าง ทรงม้า ทรงปืน ทรงรถ ทรงดนตรี ทรงกีฬา ทรงเรือใบ ทรงเครื่อง

ค. ใช้ “ ทรง” นำหน้าคำนามราชาศัพท์ เพื่อให้กลายเป็นคำกริยาราชาศัพท์

เช่น ทรงพระเมตตา ทรงพระกรุณา ทรงพระอุตสาหะ ทรงพระวินิจฉัย ทรงพระสุบิน ทรงพระอักษร ทรงพระประชวร

  • ไม่ใช้ “ทรง” นำหน้าคำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว เช่น จะไม่ใช้ ทรงเสด็จ ทรงเสวย ทรงประทับ ทรงรับสั่ง ทรงโปรด ทรงตรัส ทรงประสูติ เสด็จ (แต่จะใช้ว่า เสวย ประทับ รับสั่ง โปรด ตรัส ประสูติ) ยกเว้นคำเดียวคือ “ ทรงผนวช”
  • คำราชาศัพท์ที่มีคำว่า “ทรงพระราช” นำหน้า ใช้กับพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระบรมราชกุมารี
  • ไม่ใช้คำว่า “มี เป็น” นำหน้าคำราชาศัพท์ คือไม่ใช่ว่าทรงมีพระราชดำรัส ทรงเป็นพระราชโอสร แต่ใช้ให้ว่า มีพระราชดำรัส เป็นพระราชโอรส
  • คำกริยาราชาศัพท์บางคำยังลดหลั่นการใช้ หรือใช้ตามลำดับชั้น เช่น

คำ

ราชาศัพท์

ชั้นบุคคล

ตาย

สวรรคต

พระเจ้าแผ่นดิน, พระราชินี, พระยุพราช

สิ้นพระชนม์

เจ้านายตั้งแต่พระองค์เจ้าขึ้นไป

สิ้นชีพตักษัย สิ้นชีพิตักษัย

หม่อมเจ้า

ถึงแก่พิราลัย

สมเด็จเจ้าพระยา

ถึงแก่อสัญกรรม

เจ้าพระยา (ผู้ที่เทียบเท่าด้วย)

ถึงแก่อนิจกรรม

พระยา (ผู้ที่เทียบเท่า)

ถึงแก่กรรม

สุภาพชน

มรณภาพ ถึงแก่มรณภาพ

พระสงฆ์

สั่ง

มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้า

พระเจ้าแผ่นดิน

มีพระราชเสาวนีย์เหนือเกล้าสั่ง

พระราชินี

มีพระราชบัญชาสั่ง, มีพระราชโองการสั่ง

พระยุพราช

มีรับสั่ง

เจ้านายชั้นสูง

เกิด

ทรงพระราชสมภพ

พระเจ้าแผ่นดิน

ประสูติ

เจ้านายชั้นสูง

กิน

เสวย

พระเจ้าแผ่นดิน, เจ้านายชั้นสูง, พระสังฆราช

ฉัน

พระสงฆ์

รับประทาน

สุภาพชน

จดหมาย

พระราชหัตถเลขา พระราชสาสน์

พระมหากษัตริย์

ลายพระหัตถ์

พระราชินี พรยุพราช

พระสมณสาสน์

พระสังฆราช

ลิขิต

พระสงฆ์

จดหมาย หนังสือ

สุภาพชน

คำสั่ง

พระบรมราชโองการ

พระมหากษัตริย์

พระราชเสาวนีย์ พระเสาวนีย์

พระราชินี

พระราชโองการ พระราชบัญชา

พระยุพราช

พระบัญชา รับสั่ง

เจ้านาย

 

การใช้คำขึ้นต้น คำสรรพนาม และคำลงท้ายในการพูด 

ใช้กับ

คำขึ้นต้น

คำสรรพนาม

คำลงท้าย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชินีนาถ

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท

ปกเกล้าปกกระหม่อม

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

สมเด็จพระบรมราชินี

สมเด็จพระบรมราชชนนี

สมเด็จพระยุพราช

สมเด็จพระบรมราชกุมารี

ขอพระราชทานกราบบังคมทูล

ทราบฝ่าละอองพระบาท

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าละอองพระบาท

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

หรือ ควรมิควรแล้วแต่จะ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

สมเด็จเจ้าฟ้า

พระบรมวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า

ขอพระราชทานกราบทูล

ทราบฝ่าพระบาท

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า

โปรดกระหม่อม

พระอนุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ

และพระวรวงศ์เธอ (ทรงกรม)

กราบทูลทราบฝ่าพระบาท

บุรุษที่ ๑-(ชาย) เกล้ากระหม่อม

(หญิง) เกล้ากระหม่อมฉัน

บุรุษที่ ๒-ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

พระอนุวงศ์ชั้นพระวรวงศ์เธอ

(ที่มิได้ทรงกรม) และหม่อมเจ้า

ทูลฝ่าพระบาททรงทราบ

บุรุษที่ ๑-(ชาย) กระหม่อม

(หญิง) หม่อมฉัน

บุรุษที่ ๒-ฝ่าพระบาท

แล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

ขอประทานกราบทูล

ทราบฝ่าพระบาท

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า

โปรดกระหม่อม

สมเด็จพระสังฆราช

ทูลฝ่าพระบาททรงทราบ

บุรุษที่ ๑-(ชาย) เกล้ากระหม่อม

(หญิง) เกล้ากระหม่อมฉัน

บุรุษที่ ๒-ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

          ในการกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ถ้าผู้กราบบังคมทูลไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคย ผู้กราบบังคมทูลควรจะได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึง ชื่อ นามสกุล ตำแหน่งหน้าที่การงานของตน โดยใช้คำกราบบังคมทูลว่า

          “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อ สกุล และตำแหน่งหน้าที่การงาน) ”         

          ในการเฝ้ารับเสด็จ หากไม่สามารถจะใช้คำราชาศัพท์ในการกราบบังคมทูลได้ ก็ให้กราบบังคมทูลด้วยถ้อยคำสุภาพ

          ในการกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บางกรณีใช้ข้อความขึ้นต้นตามแบบแผนที่ได้กำหนดไว้ ดังนี้

๑. กราบบังคมทูลถึงความสะดวกสบาย หรือการรอดพ้นอันตราย ใช้คำว่า เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม

๒. กราบบังคมทูลพระกรุณาถึงข้อความอันไม่น่าชื่นชมต่าง ๆ เช่น สกปรก หรือน่ารังเกียจ ใช้คำว่า ไม่ควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณาหามิได้

๓. กราบบังคมทูลพระกรุณาถึงการที่ได้ทำพลาด ทำผิด หรือการกระทำอันไม่เหมาะสม ใช้คำว่า พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อม

๔. กราบบังคมทูลพระกรุณาถึงข้อความซึ่งเป็นการขอร้อง ใช้คำว่า ขอพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม

๕. กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นการรำลึกในพระคุณ ใช้คำว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม

๖. กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นความกลาง ๆ เพื่อจะได้ทรงเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้คำว่า การจะควรมิควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

๗. กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นการขออนุญาตกระทำสิ่งใด ใช้คำว่า ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต

๘. กราบบังคมทูลพระกรุณาถึงการที่ตนได้รู้ ใช้คำว่า ทราบเกล้าทราบกระหม่อม

๙. กราบบังคมทูลพระกรุณาถึงการกระทำสิ่งใดถวาย ใช้คำว่า สนองพระมหากรุณาธิคุณ หรือ สนองพระเดชพระคุณ

๑๐. กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเฝ้า หรือขอถวายสิ่งใด ใช้คำว่า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส

 

ตอนที่ ๒ ว่าด้วยศัพท์ที่ใช้สำหรับพระภิกษุ

          ๑. การใช้ถ้อยคำสำหรับพระภิกษุแตกต่างจากการใช้คำราชาศัพท์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือพระราชวงศ์ เพราะพระภิกษุนั้นไม่ว่าบุคคลอื่นจะพูดกับท่าน หรือเมื่อท่านพูดกับคนอื่นก็จะใช้ศัพท์อย่างเดียวกัน เสมอไป

เช่น คำว่า อาพาธ (เจ็บ, ป่วย) เป็นศัพท์สำหรับพระภิกษุ

          ในกรณีที่ คนอื่นกล่าวถึงท่าน พระมหาสุริยัญ อาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลสงฆ์

          ท่านกล่าวกับคนอื่น ขณะนี้อาตมา อาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลสงฆ์

คำว่า ประชวร (เจ็บ, ป่วย) เป็นศัพท์สำหรับพระราชวงศ์

          ในกรณีที่ คนอื่นกล่าวถึงพระองค์ท่าน พระองค์เจ้าพระองค์นั้น ประชวรมาหลายวันแล้ว

          พระองค์ท่านกล่าวกับคนอื่น ฉัน เจ็บมาหลายวันแล้ว

          ๒. สมเด็จพระสังฆราชใช้ราชาศัพท์เสมอพระเจ้าวรวงศ์เธอ เช่น

คำขึ้นต้น ใช้ว่า กราบทูล (ออกพระนามเต็ม)

สรรพนามแทนผู้พูด ใช้ว่า เกล้ากระหม่อม (สำหรับชาย)

เกล้ากระหม่อมฉัน (สำหรับหญิง)

สรรนามแทนพระองค์ท่าน ใช้ว่า ฝ่าพระบาท

คำลงท้าย ใช้ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

          ๓. พระภิกษุที่เป็นราชวงศ์ คงใช้ราชาศัพท์ตามลำดับชั้นแห่งพระราชวงศ์ ยกเว้นแต่สมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระราชวงศ์ให้ใช้

คำขึ้นต้น ใช้ว่า ขอประทานกราบทูล (ออกพระนามเต็ม)

สรรพนามแทนผู้พูด ใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า

สรรนามแทนพระองค์ท่าน ใช้ว่า ใต้ฝ่าพระบาท

คำลงท้าย ใช้ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

          ๔. การเรียกขานพระภิกษุที่ทรงสมณศักดิ์ ต้องใช้ให้เหมาะสมแก่สมณศักดิ์ เช่นคำว่า “ ท่าน” มีวิธีการใช้ ดังนี้

สมเด็จพระราชาคณะ ใช้ว่า พระคุณเจ้า

พระราชาคณะชั้นธรรม ใช้ว่า พระคุณท่าน

พระชั้นรอง ๆ ลงมา ใช้ว่า ท่าน

สรรพนามราชาศัพท์ ที่พระภิกษุใช้

บุรุษที่

สรรพนามที่ใช้

โอกาสที่ใช้

อาตมา

ภิกษุ ใช้กับบุคคลธรรมดา หรือมีฐานะสูง (ใช้โอกาสที่ไม่เป็นทางการ)

อาตมภาพ

ภิกษุ ใช้กับพระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป

(ใช้โอกาสที่เป็นทางการ เช่น แสดงพระธรรมเทศนา)

เกล้ากระผม

ภิกษุ ใช้กับภิกษุที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือสมณศักดิ์สูงกว่า

ผม กระผม

ภิกษุ ใช้กับภิกษุด้วยกัน

มหาบพิตร , สมเด็จพระบรมบพิตร

ภิกษุ ใช้กับพระเจ้าแผ่นดิน

บพิตร

ภิกษุ ใช้กับพระราชวงศ์

คุณโยม

ภิกษุ ใช้กับบิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่

โยม

ภิกษุ ใช้กับผู้มีอาวุโสกว่า

คุณ, เธอ , อุบาสก (ประสก), อุบาสิกา (สีกา)

ภิกษุ ใช้กับบุคคลทั่วไป

สรรพนามราชาศัพท์ ที่ใช้กับพระภิกษุ

บุรุษที่

สรรพนามที่ใช้

โอกาสที่ใช้

ข้าพระพุทธเจ้า

บุคคลธรรมดา กราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

เกล้ากระหม่อม

บุคคลธรรมดา กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช

กระผม ดิฉัน

บุคคลธรรมดา ใช้กับภิกษุทั่วไป

ใต้ฝ่าพระบาท

บุคคลธรรมดา กราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

ฝ่าพระบาท

บุคคลธรรมดา กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช

พระคุณเจ้า

บุคคลธรรมดา ใช้กับสมเด็จพระราชาคณะ

พระคุณท่าน

บุคคลธรรมดา ใช้กับพระราชาคณะชั้นธรรม

ท่าน คุณ

บุคคลธรรมดา ใช้กับภิกษุทั ่วไป

คำขานรับ ที่พระภิกษุใช้กับฆราวาส

คำขานรับ

โอกาสที่ใช้

ขอถวายพระพร

ภิกษุ ใช้กับพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชวงศ์

เจริญพร

ภิกษุ ใช้กับฆราวาสทั่วไป

ครับ ขอรับ

ภิกษุ ใช้กับภิกษุด้วยกัน

 

ตอนที่ ๓ ว่าด้วยถ้อยคำสำหรับสุภาพชน

          การใช้ถ้อยคำสำหรับบุคคลทั่วไปจำเป็นต้องใช้ให้เหมาะสมกับฐานะ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้สื่อสาร กาละและเทศะ ซึ่งการสื่อสารระหว่างสุภาพชนควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่อไปนี้

๑. คำห้วน หรือคำกระด้าง เช่น เออ โว้ย หือ หา ไม่รู้

๒. คำหยาบ ไม่ควรใช้ เพราะจะติดเป็นนิสัย เช่น ไอ้ อี ขี้ เยี่ยว

๓. คำคะนอง หรือคำสแลง หมายถึง คำที่อยู่ในความนิยมเป็นพัก ๆ เช่น เก๋ เจ๋ง ซ่าส์ ฯลฯ

๔. คำผวน หรือคำที่เวลาผวนกลับแล้วเป็นคำหยาบ เช่น เสือกะบาก (สากกะเบือ)

๕. คำที่ต้องไม่ใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการความสุภาพ หรือในที่ชุมชน เช่น กิน หัว เกือก ผัว เมีย เอามา ฯลฯ

คำที่ไม่ควรใช้ในการ
สื่อสารที่เป็นทางการ

คำที่ควรใช้แทน

 

คำที่ไม่ควรใช้ในการ
สื่อสารที่เป็นทางการ

คำที่ควรใช้แทน

ตีน

เท้า

 

เห็นด้วย

เห็นสมควร

ปวดหัว

ปวดศีรษะ

 

ของตากแดด

ของผึ่งแดด ของตากแห้ง

กิน

รับประทาน

 

เอามา

นำมา

รู้แล้ว

ทราบแล้ว

 

รู้

ทราบ

หมา

สุกร

 

หัว

ศีรษะ

หมา

สุนัข

 

ผัว เมีย

สามี ภรรยา

ควาย

กระบือ

 

วัว

โค

 

การใช้คำขึ้นต้น คำสรรพนาม และคำลงท้ายในการเขียนหนังสือ 

ใช้กับ

คำขึ้นต้น

คำสรรพนาม

คำลงท้าย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพรบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า (ออกชื่อเจ้าของหนังสือ)

ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูล

พระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา

โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า...(ลงชื่อ) (หรือจะเอาคำว่า

ขอเดชะมาไว้ท้ายชื่อเจ้าของหนังสือก็ได้)

สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพรบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า (ออกชื่อเจ้าของหนังสือ)

ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูล

ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา

โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า...(ลงชื่อ) (หรือจะเอาคำว่า

ขอเดชะมาไว้ท้ายชื่อเจ้าของหนังสือก็ได้)

สมเด็จพระราชินี

สมเด็จพระบรมราชชนนี

สมเด็จพระยุพราช

( สยามมกุฎราชกุมาร)

สมเด็จพระบรมราชกุมารี

ขอพระราชทานกราบบังคมทูล ... (ออกพระนาม)...

ทราบฝ่าละอองพระบาท

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าละอองพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา

โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า...(ลงชื่อ)

สมเด็จเจ้าฟ้า

ขอพระราชทานกราบทูล...(ออกพระนาม)....

ทราบฝ่าพระบาท

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า

โปรดกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า...(ลงชื่อ)

พระบรมวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า

ขอประทานกราบทูล...(ออกพระนาม)...

ทราบฝ่าพระบาท

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า

โปรดกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า...(ลงชื่อ)

พระเจ้าวรวงศ์เธอ

(ที่มิได้ทรงกรม)

พระอนุวงศ์ชั้นพระวรวงศ์เธอ

(ที่ทรงกรม)

กราบทูล...(ออกพระนาม)...ทราบฝ่าพระบาท

บุรุษที่ ๑-(ชาย) เกล้ากระหม่อม

(หญิง) เกล้ากระหม่อมฉัน

บุรุษที่ ๒-ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

พระอนุวงศ์ชั้นพระวรวงศ์เธอ

(ที่มิได้ทรงกรม)

ทูล...(ออกพระนาม)...ทราบฝ่าพระบาท

บุรุษที่ ๑-(ชาย) กระหม่อม

(หญิง) หม่อมฉัน

บุรุษที่ ๒-ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า

ทูล...(ออกพระนาม)...

บุรุษที่ ๑-(ชาย) กระหม่อม

(หญิง) หม่อมฉัน

บุรุษที่ ๒-ฝ่าพระบาท

แล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

ขอประทานกราบทูล...(ออกพระนาม)...

บุรุษที่ ๑-ข้าพระพุทธเจ้า

บุรุษที่ ๒-ใต้ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า

โปรดกระหม่อม

สมเด็จพระสังฆราช

กราบทูล..........

บุรุษที่ ๑-(ชาย) เกล้ากระหม่อม

(หญิง) เกล้ากระหม่อมฉัน

บุรุษที่ ๒-ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระราชาคณะ

รองสมเด็จพระราชาคณะ

นมัสการ..........

บุรุษที่ ๑-(ชาย) กระผม

(หญิง) ดิฉัน

บุรุษที่ ๒-พระคุณเจ้า

ขอนมัสการด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

พระราชาคณะ

นมัสการ..........

บุรุษที่ ๑-(ชาย) ผม

(หญิง) ดิฉัน

บุรุษที่ ๒-พระคุณเจ้า

ขอนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูง

พระภิกษุสงฆ์ทั่วไป

นมัสการ..........

บุรุษที่ ๑-(ชาย) ผม

(หญิง) ดิฉัน

บุรุษที่ ๒-ท่าน

ขอนมัสการด้วยความเคารพ

ประธานองคมนตรี

นายกรัฐมนตรี

ประธานรัฐสภา

ประธานวุฒิสภา หรือ

ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ประธานศาลฎีกา

กราบเรียน..........

บุรุษที่ ๑-ข้าพเจ้า กระผม ผม ดิฉัน

บุรุษที่ ๒-ท่าน

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

บุคคลธรรมดา

เรียน..........

บุรุษที่ ๑-ข้าพเจ้า กระผม ผม ดิฉัน

บุรุษที่ ๒-ท่าน

ขอแสดงความนับถือ

***

ตัวอย่าง

“ราษฎรจังหวัดเลย....................สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระองค์....................กับราษฎร”

ราชาศัพท์ข้อใดเหมาะสมกับข้อความข้างต้น (ทบ.๓๘)

ก. รับเสด็จฯ.....มีพระราชปฏิสันถาร

ข. รับเสด็จฯ.....ทรงมีพระราชปฏิสันถาร

ค. ถวายการต้อนรับ.....มีพระราชปฏิสันถาร

ง. ถวายการรับเสด็จ.....ทรงมีพระราชปฏิสันถาร

 

พระสงฆ์สวดมนต์อวยพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงหายจากพระอาการประชวร

“ สวดมนต์อวยพร” ตรงกับคำกริยาราชาศัพท์ข้อใด (ทบ.๓๘)

ก. ถวายพระพร

ข. ถวายพระพรชัยมงคล

ค. ถวายอดิเรก

ง. ถวายพระพรลา

 

คำราชาศัพท์ของคำว่า “ ยาถ่าย” คือข้อใด (ทบ.๓๘)

ก. พระโอสถถ่าย

ข. พระโอสถมวน

ค. พระโอสถเส้น

ง. ประโอสถประจุ

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงธรรม

“ ทรงธรรม” เป็นกริยาราชาศัพท์ มีความหมายตรงกับข้อใด (ทบ.๓๘)

ก. สนทนาธรรม

ข. ตั้งอยู่ในธรรม

ค. ฟังเทศน์

ง. ทรงคุณธรรม

***

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สารัตถสัมพันธ์ เล่มที่ ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๒๐๓ ท ๒๐๔ หลักภาษาไทย เล่ม ๒. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ หลักภาษาไทย เล่ม ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

ประวีณา มีชอบธรรม. (๒๕๔๔). ภาษาไทย (บังคับ). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศูนย์หนังสือเมืองไทย.

พรทิพย์ แฟงสุต. (๒๕๔๔). รวมหลักภาษาไทย ม.ต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์

ยศ พนัสสรณ์. (๒๕๓๖). ภาษาไทย ม.ต้น (ฉบับเตรียมสอบ). กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.

วสุณี รักษาจันทร์. หลักภาษาไทย ม.๑. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน

 

Google
 
 
 
 

เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.
© 2012. All Right Reserved by THAI CADET.ORG / Last Updated : Mon, 10 September, 2012 23:10   Bookmark and Share