เว็บไซต์นายร้อยไทย
บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร
 
© คำอธิบาย การแสดงวิธีทำ และข้อคิดเห็นทั้งหมด
ในเว็บเพจนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
หากจะนำไปเผยแพร่ซ้ำ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด
ต้องได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก webmaster@thaicadet.org
 
บทที่ ๑๐ ประโยคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
 
 
เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.

          ก่อนหน้านี้ พี่เคยพูดถึง “ประโยค” ไว้แล้ว ในบทที่ ๖ เรื่อง ชนิดของประโยคในภาษาไทย คงจำกันได้นะคะว่า ประโยคในภาษาไทยมี ๓ ชนิด คือ

 

          ๑. ประโยคความเดียว (เอกรรถประโยค) คือ ประโยคที่มีใจความสมบูรณ์เพียงใจความเดียว โดยมุ่งกล่าวถึงสิ่งใจสิ่งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ประโยคความเดียวจึงมีประธาน และกริยาเพียงตัวเดียวเสมอ (อาจมีกรรม หรือส่วนขยายก็ได้)

 

รูปประโยคความเดียว

ภาคประธาน

ภาคแสดง

กรรม

ฉันรักโรงเรียนเตรียมทหาร

ฉัน

รัก

โรงเรียนเตรียมทหาร

 

          ๒. ประโยคความรวม (อเนกรรถประโยค) คือ ประโยคที่รวมเอาประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมเข้าด้วยกัน โดยมีคำสันธานเชื่อมให้ประโยคต่อเนื่องกัน

(ประโยคความเดียว + คำสันธาน + ประโยคความเดียว)

          โดยประโยคความเดียว หรือประโยคย่อย จะมีใจความสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อแยกประโยคความรวมออกจากกันแล้วก็ยังสามารถเข้าใจได้

 

ประโยคความรวม

ประโยคความเดียว
(ประโยคย่อย)

คำสันธาน
(คำเชื่อม)

ประโยคความเดียว
(ประโยคย่อย)

เด็กชายสมรภูมิอยากเป็นทหารอากาศ แต่แม่อยากให้เป็นตำรวจ

เด็กชายสมรภูมิอยากเป็นทหารอากาศ

แต่

แม่อยากให้เป็นตำรวจ

 

          จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ประโยคข้างต้นมีประโยคความเดียว ๒ ประโยค มารวมกัน โดยมีคำสันธาน “ แต่” เชื่อมประโยคทั้งสองเข้าด้วยกัน

 

          สำหรับประโยคความรวมนั้นมีหลายชนิด ได้แก่

๑. ประโยคความรวมที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน (อันวยาเนกรรถประโยค)

๒. ประโยคความรวมที่มีเนื้อความขัดแย้งกัน (พยติเรเนกรรถประโยค)

๓. ประโยคความรวมที่มีเนื้อความเป็นเหตุเป็นผลกัน (เหตวาเนกรรถประโยค)

๔. ประโยคความรวมที่มีเนื้อความให้เลือก (วิกัลปเนกรรถประโยค)

          ซึ่งรายละเอียดของเรื่องนี้ น้อง ๆ สามารถย้อนกับไปดูได้ในบทที่ ๖ นะคะ

 

          ๓. ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค) คือ ประโยคที่รวมเอาประโยคความเดียว ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมกัน และมีคำสันธานเป็นตัวเชื่อม โดยประโยคความซ้อนนี้ จะมีประโยคความเดียวหนึ่งประโยคที่เป็นใจความสำคัญ เรียกว่า “ประโยคหลัก หรือมุขยประโยค” ส่วนประโยคอื่น ๆ ทำหน้าที่ขยายประโยคหลัก เรียกว่า “ ประโยคย่อย หรืออนุประโยค”

ซึ่งประโยคย่อยอาจเป็นประธาน หรือกรรมของกริยา หรืออาจขยายคำใดคำหนึ่งในประโยคหลัก ก็ได้ และเมื่อแยกประโยคความซ้อนออกจากกันแล้ว ประโยคทั้ง ๒ จะมีน้ำหนักหรือความสำคัญไม่เท่ากัน เพราะประโยคหนึ่งเป็นประโยคหลัก และอีกประโยคเป็นประโยคย่อย

ประโยคความซ้อน

ประโยคหลัก
(มุขยประโยค)

คำสันธาน
(คำเชื่อม)

ประโยคย่อย
(อนุประโยค)

ประชาชนไทยร่วมร้องเพลงพ่อแห่งแผ่นดินอันมีความไพเราะจับใจ

ประชาชนไทยร่วมร้องเพลงพ่อแห่งแผ่นดิน

อัน

มีความไพเราะจับใจ

สำหรับในบทที่ ๑๐ นี้ พี่จะพูดถึง “ ประโยคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น” หมายถึง

  • ประโยคความเดียวที่ประธาน หรือกริยาของประโยค ถูกขยายด้วยคำ หรือกลุ่มคำ (วลี) ที่ยืดยาว
  • ประโยคที่เป็นประโยคความรวม ประกอบด้วยประโยคย่อย (หรือประโยคเล็ก) หลาย ๆ ประโยคเกาะเกี่ยวกันอยู่อย่างสลับซับซ้อน
  • ประโยคความซ้อนซึ่งประกอบด้วยประโยคหลักและประโยคย่อยที่สลับซับซ้อน

 

          “ประโยคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น” สามารถพบได้ทั้งใน “ประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน” และด้วยความที่ประโยคชนิดต่าง ๆ นี้ประกอบด้วยคำ หรือกลุ่มคำเป็นจำนวนมากที่อยู่กันอย่างซับซ้อน จึงมักทำให้ผู้อ่าน หรือผู้ฟังเกิดความสับสนมาก หากว่าไม่ได้พิจารณาให้ดี เช่น

          “นักเรียนนายเรืออากาศเดชเดชา ซึ่งเป็นหัวหน้านักเรียนนายเรืออากาศชั้นปีที่ ๒ และเป็นอดีตหัวหน้านักเรียนเตรียมทหารสอบได้เป็นอันดับที่หนึ่งในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิค”

          จากตัวอย่างจะเห็นว่าประโยคนี้ มีความซับซ้อนมาก (จัดเป็นประโยคความเดียว ที่มีความซับซ้อนในภาคประธาน) ทั้งที่ความจริงแล้วต้องการบอกเพียงว่า “นายเรืออากาศเดชเดชาสอบได้เป็นอันดับที่หนึ่งในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิค” โดยคำว่า “ซึ่งเป็นหัวหน้านักเรียนนายเรืออากาศชั้นปีที่ ๒ และเป็นอดีตหัวหน้านักเรียนเตรียมทหาร” เป็นส่วนที่ทำให้ประโยคมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

 

 

ประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

          แม้ประโยคความเดียวจะมีใจความสำคัญอยู่เพียงหนึ่งเดียว (เช่น ฉันกินข้าว) แต่บางครั้งภาคประธาน และภาคแสดงของประโยคความเดียวถูกขยายด้วยกลุ่มคำที่สลับซับซ้อน จึงทำให้ “ ประโยคความเดียว” กลายเป็น “ ประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น”

๑. ความซับซ้อนในภาคประธาน

           ประธานมีส่วนขยายเป็นกลุ่มคำที่มีบุพบทนำหน้า ซึ่งในบางครั้งจะมีการละคำบุพบทไว้ในฐานที่เข้าใจ เช่น

(๑) ลูกชาย (ของ) พี่สาว (ของ) ย่าเป็นทหารอากาศ

(๒) หัวหน้า (ของ) พรรคการเมือง เสียงข้างมากที่ถูกกล่าวหาว่าขายสมบัติชาติได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว

  • ประธานเป็นกลุ่มคำที่นำหน้าด้วยคำว่า “ การ” และ “ ความ” เช่น

(๑) การส่งเสริมให้คนไทยรู้จักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

(๒) ความยุติธรรมในการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเป็นสิ่งที่สังคมไทยพึงปรารถนา

  • ประธานมีส่วนขยายเป็นคำ และกลุมคำ (วลี) ปะปนกัน เช่น “ภาพวาดพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากโปรดพระพุทธมารดาฝีมือจิตรกรเอกแห่งแผ่นดิน ได้รับรางวัลจิตรกรรมไทยประจำปีนี้”

          จากตัวอย่างนี้ ประธานของประโยค คือ ภาพวาด

          คำขยาย คือ พระพุทธเจ้า, เสด็จลง, จากโปรด, พระพุทธมารดา, ฝีมือ, จิตรกรเอก, แห่ง, แผ่นดิน

          จะเห็นได้ว่า การที่บทขยายมีความยืดยาวทำให้เกิดความซับซ้อนในภาคประธานของประโยค

 

๒. ความซับซ้อนในภาคแสดง

  • ภาคแสดงเป็นกลุ่มกริยาหลาย ๆ คำ เช่น

(๑) ผู้เข้าสอบทุกคนพยายามบากบั่นพากเพียรอ่านหนังสือ

(๒) เครื่องบินขับไล่บินจู่โจมเข้าไปทิ้งระเบิดในจุดยุทธศาสตร์

          จะเห็นได้ว่า คำกริยาหลายคำเรียงกันเป็นกลุ่มคำซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค

  • ตัวแสดงมีส่วนขยายอยู่หลายแห่งในประโยค เช่น

(๑) ภายในปีนี้ฉันจะต้องสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารให้ได้ตามความปรารถนา

ประธานของประโยค คือ ฉัน

คำว่า ภายในปีนี้ ทำหน้าที่เป็นภาคแสดง และอยู่หน้าประธานของประโยค

คำว่า ให้ได้ตามความปรารถนา ขยายภาคแสดง (ภายในปีนี้) และอยู่หลังภาคแสดง

(๒) ด้วยเหตุผลอันสมควร ศาลรัฐธรรมนูญโดยการพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทยได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย

ประธานของประโยค คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

คำว่า ด้วยเหตุผลอันสมควร ขยายภาคแสดง “ ยุบ” และอยู่หน้าประธานของประโยค

คำว่า โดยการพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขยายภาคแสดง “ ยุบ” และอยู่ระหว่างประธานกับภาคแสดง

คำว่า โดยถูกต้องตามกฎหมาย ขยายภาคแสดง “ ยุบ” และอยู่หลังภาคแสดง

  • ตัวแสดงมีส่วนขยายต่อเนื่องกันหลายทอด เช่น นักเรียนนายเรืออากาศ ค่อย ๆ หยิบหนังสือออกจากถุงบินใต้ชั้นตรงหน้า

จากตัวอย่างนี้ ค่อย ๆ เป็นคำวิเศษณ์ ขยายคำว่า หยิบ

ออก เป็นคำกริยา ขยายคำว่า หยิบ

จากถุงบิน เป็นกลุ่มคำที่นำหน้าด้วยบุพบ ขยายคำว่า หยิบออก

จะเห็นได้ว่า ภาคแสดง ถูกขยายต่อ ๆ กันไปอย่างซับซ้อน

 

          แค่ส่วนแรกที่พี่พูดถึง “ประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น” น้อง ๆ อาจจะมึนไปแล้ว แต่ไม่มีอะไรยากเกินไปค่ะ เพราะประโยคความเดียวยังงัยก็ยังเป็นประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียววัน ยันค่ำ ดังนั้น แม้ประโยคจะยาวยืดแค่ไหนก็ตามต้องพยายามหา ประธาน และ กริยาให้เจอ แล้วดูว่าประโยคต้องการบอกอะไร

          เช่น “เซอร์วินสตัน เชอรซิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีรูสเวลแห่งสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกันวางแผนต่อต้านฮิตเลอร์จนประสบชัยชนะในที่สุด” ซึ่งแม้ประโยคจะยาวยืดก็ตาม แต่ประโยคนี้ต้องการบอกเพียงว่า “ เซอร์วินสตัน เชอรซิลล์ และประธานาธิบดีรูสเวล วางแผนต่อต้านฮิตเลอร์จนชนะ”

          แต่ที่ประโยคมันซับซ้อนเสียจนยืดยาวก็เพราะมีคำ และกลุ่มคำขยายส่วนต่าง ๆ ของประโยคซะจนกลายเป็น “ ประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น” ค่ะ

 

 

ประโยคความรวมที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

          ทบทวนกันอีกครั้งนะคะว่า ประโยคความรวม (อเนกรรถประโยค) คือ ประโยคที่รวมเอาประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมเข้าด้วยกัน โดยมีคำสันธานเชื่อมให้ประโยคต่อเนื่องกัน ซึ่งรูปแบบของประโยคความรวมก็คือ

 

“ ประโยคความเดียว + คำสันธาน + ประโยคความเดียว”

 

เช่น เด็กชายสมรภูมิอยากเป็นทหารอากาศ แต่แม่อยากให้เป็นตำรวจ

จากประโยคตัวอย่างนี้ ประโยคความเดียวประโยคที่ ๑ คือ เด็กชายสมรภูมิอยากเป็นทหารอากาศ

                            คำสันธาน คือ แต่

                           ประโยคความเดียวประโยคที่ ๒ คือ แม่อยากให้เป็นตำรวจ

          โดยประโยคความเดียว หรือประโยคย่อยทั้ง ๒ ประโยคนี้ จะเห็นว่ามีใจความสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อแยกประโยคความรวมออกจากกันแล้วก็ยังสามารถเข้าใจได้ว่า

  • เด็กชายสมรภูมิอยากเป็นทหารอากาศ
  • แม่อยากให้เด็กชายสมรภูมิเป็นตำรวจ

------------------------------ ยังไม่จบ ------------------------------

 

***

ตัวอย่างข้อสอบเก่าเตรียมทหาร

 

 
 

***

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สารัตถสัมพันธ์ เล่มที่ ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๒๐๓ ท ๒๐๔ หลักภาษาไทย เล่ม ๒. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ หลักภาษาไทย เล่ม ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

ประวีณา มีชอบธรรม. (๒๕๔๔). ภาษาไทย (บังคับ). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศูนย์หนังสือเมืองไทย.

พรทิพย์ แฟงสุต. (๒๕๔๔). รวมหลักภาษาไทย ม.ต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์

ยศ พนัสสรณ์. (๒๕๓๖). ภาษาไทย ม.ต้น (ฉบับเตรียมสอบ). กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.

วสุณี รักษาจันทร์. หลักภาษาไทย ม.๑. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน

 

Google
 
 
 
 

เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.
© 2012. All Right Reserved by THAI CADET.ORG / Last Updated : Mon, 10 September, 2012 23:03   Bookmark and Share