เว็บไซต์นายร้อยไทย
บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร
 
© คำอธิบาย การแสดงวิธีทำ และข้อคิดเห็นทั้งหมด
ในเว็บเพจนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
หากจะนำไปเผยแพร่ซ้ำ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด
ต้องได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก webmaster@thaicadet.org
 
บทที่ ๕  ประโยคเพื่อการสื่อสาร
 
 

 

 
เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.

การสื่อสารของมนุษย์

          การสื่อสาร (Communication) หมายถึง กระบวนการถ่ายทอดสาร (message) จากบุคคลฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ผู้ส่งสาร (sender) ไปยังบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าผู้รับสาร (receiver) โดยผ่านสื่อ (channel/media)

 

องค์ประกอบของการสื่อสาร

          ๑. ผู้ส่งสาร หมายถึง บุคคลที่ใช้วิธีการต่าง ๆ ถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตนไปสู่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง

          ๒. สาร หมายถึง เรื่องราว หรือสิ่งที่ผู้ส่งสารส่งไปยังผู้รับสาร

          ๓. สื่อ หมายถึง ช่องทางในการสื่อสาร ซึ่งเป็นตัวกลางที่เชื่องโยงระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารให้ติดต่อสื่อสารกันได้ ทราบไหมคะว่า สื่อมีหลายประเภท นั่นคือ

- สื่อบุคคล ได้แก่ ผู้สื่อข่าว ผู้นำความคิด ครู

- สื่อมวลชน ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ภาพถ่าย วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิดีโอ การแสดงบทเวที

          ๔. ผู้รับสาร หมายถึง บุคคลผู้รับสารจากผู้ส่งสารด้วยการอ่าน การฟัง และการชม

 

          ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารระหว่างกันมี ๒ ลักษณะ คือ

          ๑. วจนะภาษา หมายถึง การสื่อสารที่ใช้คำพูด ถ้อยคำ หรือภาษาในการสื่อความหมาย ซึ่งรวมถึงการเขียนด้วย

โดยสรุป วจนะภาษาประกอบด้วย ภาษาพูด และภาษาเขียน

          ๒. อวจนะภาษา คือ การสื่อสารที่ไม่ต้องอาศัยคำพูดเป็นสื่อ แต่ก็สามารถทำความเข้าใจระหว่าง ผู้ส่งสารและผู้รับสารได้

โดยสรุป สื่ออวจนะภาษา ได้แก่ อากัปกริยา จรรยามารยาท สัญญาณ สัญลักษณ์ แสง สี เสียง การแต่งกาย

 

 

ระดับภาษา

          ระดับภาษา หมายถึง ความลดหลั่นของถ้อยคำ และการเรียบเรียงถ้อยคำเพื่อให้เหมาะกับโอกาส กาลเทศะ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสาร โดยทั่วไประดับภาษาแบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ

          ๑. ภาษาแบบแผน เวลาใช้ต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ระเบียบของภาษา ความสุภาพ และมารยาท

- ส่วนใหญ่จะใช้ในการเขียนมากกว่าการพูด ได้แก่ ภาษาที่ใช้เขียนเอกสารราชการทุกชนิด ตำราวิชาการ วิทยานิพนธ์ บทความวิชาการ บทบรรณาธิการ

- การพูดจะใช้ในงานพิธีการ เช่น การกราบบังคมทูลในงานพระราชพิธี คำปราศรัย ประกาศเกียรติคุณ ปาฐกถา โอวาท สุนทรพจน์ กล่าวเปิด-ปิดการประชุม

          ๒. ภาษากึ่งแบบแผน ใช้ในการพูดและเขียนที่ไม่เป็นทางการมากนัก

- การเขียน ได้แก่ ภาษาที่ใช้เขียนจดหมายธุรกิจ ข้อเขียนในวารสาร และนิตยสาร บทความ นวนิยาย เรื่องสั้น ข่าวในหนังสือพิมพ์รายวัน การตอบข้อสอบอัตนัย

- การพูดจะใช้ในการสนทนาระหว่างบุคคลที่ไม่คุ้นเคย การสนทนากับคนที่มีตำแหน่ง และวัยต่างกัน การพูดในที่ชุมชน การอภิปราย การแนะนำตัวบุคคล

          ๓. ภาษาปาก หรือภาษากันเอง ส่วนใหญ่จะใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่เคร่งครัดเรื่องกฎเกณฑ์ของภาษา ภาษาที่ใช้มักจะมีคำสแลง คำกร่อน คำย่อ หรือคำต่างประเทศปะปน เช่น ภาษาที่ใช้สนทนาระหว่างบุคคลคุ้นเคย ภาษาซื้อขาย การโฆษณาหาเสียง การละเล่น และภาษาถิ่น

          ๔. ภาษาต่ำ เป็นคำที่ไม่สุภาพ หรือเป็นคำหยาบ ใช้พูดระหว่างเพื่อนวัยเดียวกัน ไม่นิยมเขียน เป็นลายลักษณ์อักษร ยกเว้นการใช้เขียนนวนิยาย หรือเรื่องสั้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือ ตัวละครในเรื่อง

 

ประโยค

          ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารอาจเป็นเพียงคำ ๆ เดียว เป็นข้อความยาว หรือสั้นก็ได้ ซึ่งข้อความที่มีใจความชัดเจนและสมบูรณ์นั้นเรียกว่า “ ประโยค”

          ประโยค คือ ถ้อยคำหรือข้อความที่มีใจความครบบริบูรณ์ มีเนื้อความชัดเจน นั่นก็คือ ชัดเจนซะจนสามารถทราบได้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร โดยทั่วไปประโยคจะประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ภาคประธาน และภาคแสดง

          ภาคประธาน เป็นผู้กระทำกริยาอาการ เพื่อให้ทราบว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร ซึ่งภาคประธานจะมีส่วนขยายหรือไม่ก็ได้ เช่น

คนบ้า ถูกหมากัด

คนดี คือคนที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น

          ภาคแสดง เป็นส่วนที่แสดงอาการของภาคประธาน ว่าประธานได้ทำกริยาอะไร ซึ่งภาคแสดงนี้ จะช่วยให้ประโยคมีใจความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งภาคแสดงจะมีส่วนขยายหรือไม่ก็ได้

 

          โดยทั่วไป ภาคแสดงประกอบด้วยส่วนย่อย ๔ ส่วน คือ บทกริยา บทขยายกริยา บทกรรม และบทขยายกรรม เช่น

ประโยค

ภาคประธาน

ภาคแสดง

ประธาน

บทขยายประธาน

บทกริยา

บทขยายกริยา

บทกรรม

บทขยายกรรม

ฉันมีพี่น้องสามคน

ฉัน

-

มี

สามคน

พี่น้อง

-

ครูหยิบหนังสือมา ๒ เล่ม

ครู

-

หยิบ

มา ๒ เล่ม

หนังสือ

-

คนติดยากำลังเดินมา

คน

ติดยา

กำลังเดินมา

-

-

-

แมวดำกัดหนูตัวเล็กตาย

แมว

ดำ

กัด

ตาย

หนู

ตัวเล็ก

บ้านสีฟ้าตั้งอยู่ริมทะเล

บ้าน

สีฟ้า

ตั้งอยู่

ริมทะเล

-

-

สุนัขตัวเล็กเห่าเสียดังมาก

สุนัข

ตัวเล็ก

เห่า

เสียงดังมาก

-

-

 

รูปประโยคความเดียวที่ใช้สื่อสารในภาษาไทย

           ประโยคที่ใช้ในภาษาพูด และภาษาเขียนแบ่งเป็น ๔ รูปแบบ คือ

          ๑. ประโยคที่เน้นผู้กระทำ หรือประโยคประธาน (ประโยคกรรตุ) คือ ประโยคที่นำประธาน มาขึ้นต้นประโยค แล้วตามด้วยภาคแสดง (ต้องการเน้นว่า “ ใคร” ทำ “ อะไร” ) เช่น

ช้างพลายตกมันเหยียบควานช้างตาย

รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้สร้างสะพานพระราม ๘

โรงเรียนได้คัดเลือกให้ฉันไปแข่งขันโต้วาที

          ๒. ประโยคที่เน้นผู้ถูกกระทำ (ประโยคกรรม) คือ ประโยคที่นำผู้ถูกกระทำ (หรือกรรม) มาขึ้นต้นประโยค โดยผู้ถูกกระทำจะทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น

ควานช้างถูกช้างพลายตกมันเหยียบตาย

สะพานพระราม ๘ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๙

ฉันได้รับคัดเลือกให้ไปแข่งขันโต้วาที

          ๓. ประโยคที่เน้นกริยา (ประโยคกริยา) คือ ประโยคที่มีคำกริยาขึ้นต้นประโยค ซึ่งคำกริยาที่จะนำมาขึ้นต้นประโยคนั้นจะใช้ได้เฉพาะบางคำ ได้แก่คำว่า “ เกิด มี ปรากฏ” เช่น

เกิดอุทกภัยที่ ๔๖ จังหวัดทั่วประเทศไทย

มีนักเรียนมาเรียนไม่ถึงครึ่งห้อง

ปรากฏว่าพบการทุจริตในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

การทะเลาะวิวาท ในสนามมวยเกิดขึ้นทุกสัปดาห์

          ประโยคที่นำคำกริยามาขึ้นต้นประโยค และคำกริยานั้นทำหน้าที่แทนคำนาม หรือเป็นประธานของประโยค เราเรียกว่า “ ประโยคกริยาสภาวมาลา” เช่น

เต้นแอโรบิคทำให้ร่างกายแข็งแรง

ซึ่งคำว่า “ เต้นแอโรบิค” ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค

ส่วนคำว่า “ ทำให้” เป็นคำกริยา

 

          ๔. ประโยคเชิงคำสั่งหรือขอร้อง คือ ประโยคที่ใช้คำกริยาสั่ง หรือขอร้องให้กระทำ โดยมากมักจะละประธานไว้ในฐานที่เข้าใจ เช่น

จงเลือกคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว (ท่านจงเลือกคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว ) ประโยคที่เน้นผู้ถูกกระทำ (ประโยคกรรม)

กรุณางดใช้เสียง (ท่านกรุณางดใช้เสียง) ประโยคที่เน้นผู้ถูกกระทำ (ประโยคกรรม)

โปรดเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรี และคนชรา (ท่านโปรดเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรี และคนชรา) ประโยคที่เน้นผู้ถูกกระทำ (ประโยคกรรม)

ห้ามสูบบุหรี่ ( ท่านห้ามสูบบุหรี่) ประโยคที่เน้นผู้ถูกกระทำ (ประโยคกรรม)

 

การจำแนกประโยคตามเจตนาของผู้ส่งสาร

          ในการสื่อสารแต่ละครั้งผู้ส่งสาร (ผู้เขียน หรือผู้พูด) มักจะแสดงเจตนาของตนออกไปแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปประโยคที่แสดงเจตนาแบ่งเป็น ๔ รูปแบบ คือ

          (๑) รูปประโยคบอกเล่า คือ ประโยคที่บอกว่าประธานทำอะไร คืออะไร หรือบอกถึงสภาพ ความเป็นจริงทั่วไป เช่น

มนุษย์ต้องรับประทานอาหาร

ตำรวจไล่จับผู้ร้าย

ฉันต้องเรียนหนังสือทุกวัน

          (๒) รูปประโยคปฏิเสธ คือ ประโยคที่มีคำแสดงความปฏิเสธ ตามปกติจะมีคำว่า “ ไม่ มิใช่ หามิได้” เช่น

เขา ไม่ปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน

นายปรีดี พนมยงค์ มิใช่คนขายชาติ

ขอทาน ไม่ได้กินขาวมาหลายวันแล้ว

          (๓) รูปประโยคคำสั่ง หรือขอร้อง ประโยคชนิดนี้โดยมากจะละประธานไว้ มีแต่ภาคแสดง ทั้งนี้เพราะผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างก็เข้าว่า ใครเป็นคนสั่ง สั่งใคร หรือขอร้องใคร เช่น

วางปากกา

งดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ

เมาไม่ขับ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบ

          (๔) รูปประโยคคำถาม คือ ประโยคที่มีใจความแสดงคำถาม ซึ่งประโยคชนิดนี้จะมีคำว่า “ ใคร อะไร ทำไม อย่างไร หรือ ฯลฯ ซึ่งผู้ถามอาจต้องการคำตอบที่เป็นเนื้อความ การตอบรับหรือปฏิเสธ เช่น

          - ต้องการคำตอบเป็นเนื้อความ เช่น

ถามว่า ใครเอาสมุดฉันไป ต้องตอบว่าใครเอาไป

ถามว่า ชื่อเต็มของกรุงเทพฯ คืออะไร ต้องตอบชื่อเต็มของกรุงเทพฯ

ถามว่า สอบเข้าเหล่าไหนกันบ้าง ต้องตอบว่าสอบเข้าเหล่าไหนบ้าง

          - ต้องการการตอบรับหรือปฏิเสธ เช่น

ถามว่า เธอลำบากอะไรไหม ต้องตอบว่าลำบาก หรือไม่ลำบาก

ถามว่า เธอสู้ไหวหรือเปล่า ต้องตอบว่าเรียนไหว หรือเรียนไม่ไหว

ถามว่า เรียนยากไหม ต้องตอบว่าเรียนยาก หรือเรียนมายาก

จะสังเกตว่าประโยคประเภทนี้ต้องการให้เราตอบว่า “ ใช่ หรือไม่ใช่” เท่านั้นเอง

***

ตัวอย่างข้อสอบเก่าเตรียมทหาร

ข้อใดเป็นการสื่อสารแบบ “ วัจนภาษา” (ทบ.๓๘)

ก. การพยักหน้า การยักไหล่

ข. การอภิปราย การร้องเพลง

ค. จดหมาย ประกาศ

ง. การโบกธง การยกมือห้าม

ข้อใดคือภาษาที่ทำให้เกิดสารแสดงอารมณ์และความรู้สึกได้ดีที่สุด (ทบ.๓๘)

ก. น้ำเสียง

ข. ดวงหน้า

ค. นัยน์ตา

ง. ท่าทาง

ข้อใด มิใช่กระบวนการฟังอย่างมีวิจารณญาณ (ทบ.๓๘)

ก. บันทึก

ข. วิเคราะห์

ค. ใคร่ครวญ

ง. ประเมินค่า

ข้อใด มิใช่ลักษณะของการฟังอย่างมีวิจารณญาณ (ทบ.๓๘)

ก. พยายามเข้าใจเนื้อหา

ข. แยกแยะประเด็นสำคัญ

ค. ใคร่ครวญสาระสำคัญของเรื่อง

ง. ซักถามปัญหาข้อข้องใจ

ข้อใด มิใช่ความสามารถในการฟังเพื่อจดบันทึก (ทบ.๓๘)

ก. ฟังแล้วสามารถเข้าใจเรื่องได้

ข. จับประเด็นเรื่องได้ถูกต้อง

ค. จดบันทึกให้เป็นระบบเดียวกัน

ง. วิเคราะห์เรื่องได้

ข้อใด มิใช่การพูดระหว่างบุคคล (ทบ.๓๘)

ก. การอภิปราย

ข. การทักทายปราศรัย

ค. การเจรจาธุรกิจ

ง. การแนะนำตนเอง

สำนวนใดแสดงถึงลักษณะการสนทนาที่ดี (ทบ.๓๘)

ก. พูดดีเป็นศรีแก่ตัว

ข. ลูกขุนพลอพยัก

ค. พูดไปสองไพเบี้ย

ง. ดูตาม้าตาเรือ

“ พูดมีน้ำหนัก” หมายความว่าอย่างไร (ทบ.๓๘)

ก. พูดชัด ออกเสียงถูกต้องตามอักขระภาษา

ข. พูดเสียงดัง

ค. พูดชักแม้น้ำทั้งห้า

ง. พูดมีหลักฐานอ้างอิง

สามารถอยู่บนรถโดยสารที่แออัด เผอิญมีเด็กสาวคนหนึ่งเซมาเหยียบเท้าพร้อมทั้งกล่าวคำขอโทษ สามารถควรตอบอย่างไร (ทบ.๓๘)

ก. ไม่เป็นไรครับ เหยียบอีกก็ได้

ข. ไม่เป็นไรครับ อย่าเหยียบอีกก็แล้วกัน

ค. ไม่เป็นไรครับ คนแน่นจังครับ

ง. ทีหลังดูตาม้าตาเรือหน่อยนะครับ

ข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ใช้ภาษาระดับใด (ทบ.๓๘)

ก. ระดับทางการ

ข. ระดับกึ่งทางการ

ค. ระดับสนทนา

ง. ระดับกึ่งทางการและสนทนา

คำขยายในข้อใดใช้ภาษาในระดับทางการ (ทบ.๓๘)

ก. วิ่งตื๋อ

ข. เย็นเจี๊ยบ

ค. ชราภาพ

ง. หน้าจ๋อย

ข้อใดจัดลำดับข้อความได้เป็นเรื่องราวเดียวกัน (ทบ.๓๘)

(ก.) ไม่จำเป็นจะต้องพึ่งวิศวกรต่างชาติต่อไป

(ข.) วิศวกรเมืองไทยมีปริมาณและความสามารถ

(ค.) ยกเว้นบางสาขา เช่น ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์

(ง.) เพียงพอที่จะปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมได้แล้ว

ก. ก - ข - ค - ง

ข. ค - ข - ก - ง

ค. ข - ก - ง - ค

ง. ข - ง - ก – ค

ข้อความในข้อใดควรเรียงไว้ลำดับที่ ๓ (ทบ.๓๘)

ก. เครื่องแต่งกายนั้น นอกจากจะช่วยในการสร้างบุคลิกภาพแล้วยังบอกกล่าวความเป็นครูด้วย

ข. กระทรวงศึกษาธิการได้กวดขันจรรยามารยาทของครูอาจารย์

ค. ไม่ใช่แต่งกันตามสบายอย่างอาชีพอื่น ๆ

ง. กำหนดให้ครูแต่งกายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสมแก่ตำแหน่ง

ข้อใดเรียงประโยคถูกต้องที่สุด (ทบ.๔๑)

(ก.) โดยทั่วไปบริบทหรือถ้อยคำอื่น ๆ ที่แวดล้อมจะช่วยให้เข้าใจความหมายได้ถูกต้อง

(ข.) คือไม่ออกเสียงพยัญชนะที่ควบ เพราะไม่ได้เอาใจใส่

(ค.) ถ้อยคำที่พูดก็จะไม่น่าฟัง ทำให้เสียบุคลิกภาพของผู้พูด

(ง.) ปัจจุบันการออกเสียงคำควบกล้ำของคนไทยมักไม่ถูกต้อง

(จ.) แต่บางครั้งผู้ฟังก็อาจไม่เข้าใจความหมาย และเมื่ออกเสียงพยัญชนะควบกล้ำไม่ชัดเจน

ก. ค ข ง ก จ

ข. ค ข จ ก ง

ค. ง ข ค จ ก

ง. ง ข ก จ ค

จ. ก จ ข ค ง

การโน้มน้าวใจมีทั้งคุณประโยชน์และโทษ ทั้งนี้เพราะลักษณะของภาษาเป็นแบบใด (ทบ.๓๘)

ก. ให้ข้อเท็จจริง

ข. เร้าอารมณ์

ค. ความรู้สึก

ง. ข้อ ค และข้อ ง

“ ความหมายของภาษามี ๒ ชนิด คือความหมายอย่างกว้าง และความหมายอย่างแคบ”
ข้อใดคือความหมายอย่างแคบ (ทบ.๓๘)

ก. การแสดงออกเพื่อสื่อความหมาย

ข. การสื่อความหมายระหว่างคน

ค. การสื่อความหมายระหว่างสัตว์

ง. ถ้อยคำที่มนุษย์ใช้สื่อความหมาย

การประชุมซึ่งมีวิทยากรประมาณ ๓ - ๖ คน และผู้ดำเนินรายการอีก ๑ คน ผู้ดำเนินรายการจะทำหน้าที่นำการสนทนาไปเรื่อย ๆ ผู้ฟังจะเข้าร่วมการสนทนาด้วยตอนใดก็ได้ ไม่ต้องรอจนจบ และวิทยากรจะเห็นด้วย หรือคัดค้านผู้ฟังคนใดก็พูดออกมาได้ไม่ต้องรอคิว ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นกันเอง

การประชุมแบบนี้เรียกเป็นทางการว่าอย่างไร (ทบ.๔๑)

ก. การอภิปราย

ข. การสัมมนา

ค. การเสวนา

ง. การบรรยาย

จ. การประชุมปรึกษา

“การประชุมเพื่อให้สมาชิก หรือบุคลากรได้รับนโยบาย แนวทางปฏิบัติ หรือข้อเท็จจริง” เป็นการประชุมรูปแบบใด (ทบ.๔๒)

ก. การประชุมแบบปรึกษา

ข. การประชุมชี้แจง

ค. การประชุมสัมมนา

ง. การประชุมปฏิบัติการ

จ. การประชุมอภิปราย

คำในข้อใดเป็นคำไม่สุภาพ (ทบ.๓๘)

ก. ถั่วเพาะ

ข. ขนมขี้หนู

ค. ผักทอดยอด

ง. ดอกขจร

เกิดเป็นคนอย่างเห็นแก่ตนแหละดี ถึงจะมีร่ำรวยสุขสันต์ เนื้อเพลงท่อนนี้อยู่ในลักษณะใด (ทบ.๓๘)

ก. คำสอน

ข. คำขอร้อง

ค. คำตักเตือน

ง. คำสบประมาท

คำขีดเส้นใต้ข้อใดมีความหมายโดยตรง (ทบ.๓๘)

ก. อย่าทำอะไรบุ่มบ่ามนะ

ข. มังกร เมืองนายก เป็นนักมวยอ่อนหัด

ค. อะไร ยังไม่ทันนกกระจอกกินน้ำเลย

ง. เด็กอะไร้ น่าเกลียดน่าชัง

ประโยคใดใช้คำผิดความหมาย (ทบ.๓๘)

ก. อมาวสีถูกจำลองตบจนเลือดกบปาก

ข. ตำรวจมีหน้าที่กำจัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน

ค. ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นนักเรียนเตรียมทหาร

ง. เธอมีอากัปกิริยาเป็นที่พอใจของผู้ที่ได้พบเห็น

คำในข้อใดไม่เข้าพวกกับคำอื่น ๆ (ทบ.๓๘)

ก. ไตร่ตรอง

ข. ใคร่ครวญ

ค. วิเคราะห์

ง. วิจารณ์

ประโยคใดใช้คำถูกต้องเหมาะสม (ทบ.๓๘)

ก. การะเกดนำสูจิบัตรมาแสดงหลักฐานการเกิด

ข. ขอรบกวนยางลบอาจารย์หน่อยครับ

ค. กรุณาส่งหมายกำหนดการประชุมให้คุณสะปันงาด้วย

ง. ป้า! ฉันขอผ่อนผันส่งหนี้อีกเดือนนะจ๊ะ

ประโยคข้อใดใช้คำผิดความหมาย (ทบ.๓๘)

ก. อนาคตของชาติอยู่ในกำมือเยาวชน

ข. เชิญบริจาคโลหิตช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์

ค. คนเราต้องมีศาสนาเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ

ง. คนมีมารยาทย่อมไม่ส่งเสียงอึกทึกในห้องประชุม

ข้อใดเป็นประโยคกรรตุ (ทบ.๔๕)

ก. มีอะไรเกิดขึ้น ผมขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว

ข. มีกับข้าวหลายอย่างวันนี้

ค. โปรดข้ามถนนตรงทางม้าลาย

ง. ปรากฏเหตุการณ์ประหลาดที่บ้านเรือนไทย

จ. เกิดไฟไหม้ที่โรงกลั่นน้ำมัน

ประโยคข้อใดใช้ถ้อยคำขัดแย้งกัน (ทบ.๓๘)

ก. ข้อสอบภาษาไทยปีนี้หมูมาก

ข. ความรักทำให้คนตาบอด

ค. คนร้ายรัวกระสุนใส่เจ้าหน้าที่ตรวจหนึ่งนัด

ง. เด็กคนนี้หน้าตาเป็นผู้ใหญ่

ประโยคในข้อใดมีข้อผิดพลาดบกพร่องในการใช้ภาษา (ทบ.๓๙)

ก. ภาษาที่ใช้ในราชการควรเป็นภาษาที่ได้รับการกลั่นกรองแล้ว

ข. ขอให้ทุกคนจำไว้ว่า ทางไปสู่ความสำเร็จนั้นไม่ได้ปูลาดด้วยดอกกุหลาบ

ค. สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้สุขภาพจิตของชาวเมืองหลวงเสื่อมลงไปทุกวัน

ง. ขอให้ส่งเอกสารรายงานผลการทำงานตามโครงการโดยด่วน

ข้อใดใช้ภาษาไม่เป็นทางการ (ทบ.๔๐)

ก. เกษตรกรอยากได้น้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูก

ข. คณะกรรมการได้พิจารณาเรื่องนี้แล้วลงมติให้กำหนดอัตราลูกจ้างชาวต่างประเทศเป็นกรณีพิเศษ

ค. รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร

ง. โรงเรียนจะประกาศรายชื่อผู้สอบได้เร็ว ๆ นี้

จ. หากมีข้อสงสัยประการใด โปรดติดต่อสอบถามแผนกประชาสัมพันธ์

ข้อใดเรียงลำดับคำเหมาะสม (ทบ.๔๐)

ก. คนเราแต่ละคนไม่มีความสามารถเหมือนกัน

ข. คนที่ว่ายน้ำเก่งนอกจากจะช่วยตัวเองได้แล้ว ยังสามารถช่วยผู้อื่นได้อีก

ค. บงกช! ขยับลุกขึ้นนั่งเสียใหม่

ง. หน้าตาผู้สมัครสอบคมคาย วาจาคมสัน

จ. อาจารย์ผู้คุมสอบพูดจาวนเวียน เดินวกวนจนปวดหัว

 

จากข้อ ๒๔ – ๒๘ เลือกคำที่มีความหมายถูกต้องเหมาะสมกับประโยคต่อไปนี้ (ทบ.๓๘)

ขอให้ทุกคน..........คำห้ามปรามของครูอาจารย์

ก. เข้าใจ

ข. เชื่อฟัง

ค. เห็นใจ

ง. ปฏิบัติตาม

ผู้สื่อข่าวมีความเห็นว่า ขณะนี้พรรคฝ่ายค้านมีท่าที..........ต่อรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย

ก. รุนแรง

ข. เฉื่อยชา

ค. แข็งกร้าว

ง. ประนีประนอม

สหวัฒน์..........น้ำลงในขวดอย่างระมัดระวัง

ก. ใส่

ข. เท

ค. กรอก

ง. หยอด

กระแสข่าวการเมืองในระยะนี้ค่อนข้างจะ..........ทำให้คนไทยอดเป็นห่วง..........ของบ้านเมืองไม่ได้

ก. วุ่นวาย สวัสดิภาพ

ข. วุ่นวาย สถานการณ์

ค. สับสน พฤติกรรม

ง. สับสน เสถียรภาพ

ประโยคในข้อใดขึ้นต้นด้วยผู้กระทำ (ทร.๔๘)

1. ทุ่งดอกบัวตองสีเหลืองแผ่ไปไกลสุดสายตา

2. ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

3. เสียงน้ำตกได้ยินไปไกล

4. เด็ก ๆ ในชุมชนนี้ได้รับอุปการะมากกว่าเขตอื่น

5. สินค้าเหล่านี้ขายในราค่าย่อมเยา

***

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สารัตถสัมพันธ์ เล่มที่ ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๒๐๓ ท ๒๐๔ หลักภาษาไทย เล่ม ๒. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ หลักภาษาไทย เล่ม ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

ประวีณา มีชอบธรรม. (๒๕๔๔). ภาษาไทย (บังคับ). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศูนย์หนังสือเมืองไทย.

พรทิพย์ แฟงสุต. (๒๕๔๔). รวมหลักภาษาไทย ม.ต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์

ยศ พนัสสรณ์. (๒๕๓๖). ภาษาไทย ม.ต้น (ฉบับเตรียมสอบ). กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.

วสุณี รักษาจันทร์. หลักภาษาไทย ม.๑. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน

 

Google
 
 
 
 

เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.
© 2012. All Right Reserved by THAI CADET.ORG / Last Updated : Mon, 10 September, 2012 22:39   Bookmark and Share