100 ปี แห่งชาตกาลของพุทธทาสภิกขุ

พุทธทาสภิกขุเน้นให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ในชีวิตนี้ แต่เดิมนั้นถือกันว่า "นิพพาน" เป็นจุดหมายที่บรรลุถึงได้ยาก จะสามารถเข้าถึงได้ก็แต่เฉพาะนักบวชที่สละโลกและบำเพ็ญเพียรเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายภพหลายชาติเท่านั้น แต่พุทธทาสภิกขุกลับเห็นว่า "นิพพาน" อันเป็นสภาพความพ้นทุกข์ทางใจนั้นเป็นสากล ถ้ามีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็สามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน และ "นิพพาน" ก็เป็นปัจจุบันธรรมที่สามารถเข้าถึงได้ในชีวิตนี้หรือแม้ในขณะปัจจุบัน (ที่นี่และเดี๋ยวนี้) 
        

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ในวันที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2549 ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของพุทธทาสภิกขุ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา พุทธทาสภิกขุได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) 1 ว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก รัฐบาลไทยและประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างก็เตรียมการเพื่อเฉลิมฉลอง เนื่องในวาระครบรอบวันเกิด 100 ปีของท่านในปีนี้

พุทธทาสภิกขุ (พ.ศ.2449-2536) เป็นผู้นำพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปของไทย ท่านได้ปฏิรูปพุทธศาสนาด้วยการลดทอนเรื่องราวแบบเทพนิยายในศาสนาลงให้เหลือน้อยที่สุด และตีความคำสอนทางอภิปรัชญาให้อยู่ในรูปของจิตวิทยา หรือตีความให้อยู่ในรูปอุปมาอุปไมยที่ชี้ไปที่ตัวปัญญาหรือความพ้นทุกข์ (นิพพาน) เช่น ท่านอธิบาย "สวรรค์" (สุคติ) และ "นรก" (ทุคติ) ว่า เป็นเพียงอุปมาอุปไมยของความสุขและความทุกข์ในทางจิตใจ นอกจากนี้ท่านยังได้ตีความสวรรค์ชั้นต่างๆ เช่น กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และภพภูมิที่ต่ำ เช่น นรก เปรต อสุรกาย ว่ามิได้หมายถึงรูปธรรมที่มีอยู่เหนือธรรมชาติ แต่หมายถึงประสบการณ์ทางจิตใจของมนุษย์ ที่อาจเป็นความสุขเหมือนอยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือความทุกข์ที่เหมือนกับตกนรกขุมต่างๆ นั้นได้

พุทธทาสภิกขุเน้นให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ในชีวิตนี้ แต่เดิมนั้นถือกันว่า "นิพพาน" เป็นจุดหมายที่บรรลุถึงได้ยาก จะสามารถเข้าถึงได้ก็แต่เฉพาะนักบวชที่สละโลกและบำเพ็ญเพียรเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายภพหลายชาติเท่านั้น แต่พุทธทาสภิกขุกลับเห็นว่า "นิพพาน" อันเป็นสภาพความพ้นทุกข์ทางใจนั้นเป็นสากล ถ้ามีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็สามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน และ "นิพพาน" ก็เป็นปัจจุบันธรรมที่สามารถเข้าถึงได้ในชีวิตนี้หรือแม้ในขณะปัจจุบัน (ที่นี่และเดี๋ยวนี้)

พุทธทาสภิกขุและนักปฏิรูปพุทธศาสนารุ่นใหม่ให้เหตุผลว่า ความเชื่อทางอภิปรัชญาในรูปของ "ลัทธิกรรมเก่า" นั้นเกิดจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาปะปน และบดบังคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าไว้ หรือเกิดจากการตีความของอรรถกถาจารย์รุ่นหลังที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปจึงได้หันกลับไปหาพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พระสูตร" (สุตตันตะปิฎก) และ "พระวินัย" (วินัยปิฎก) ว่าอยู่ในรูปของพระพุทธวัจนะ และเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

การปฏิรูปคำสอนในพุทธศาสนาด้วยระบบ "เหตุผลนิยม" (Rationalism) ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และได้รับการสานต่อโดยพระภิกษุทั้งฝ่ายธรรมยุติและมหานิกายนั้น มาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในงานของพุทธทาสภิกขุ พุทธทาสภิกขุไม่เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์ไสยศาสตร์ของชนชั้นล่างเท่านั้น แต่ยังได้วิพากษ์วิจารณ์อภิปรัชญาแห่ง "ลัทธิกรรมเก่า" ของชนชั้นปกครองอีกด้วย ทำให้ระบบเหตุผลนิยมครบถ้วยสมบูรณ์ในงานของท่าน นอกจากนี้พุทธทาสภิกขุยังได้เติมเต็มการปฏิรูปคำสอนพุทธศาสนาในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์ของท่านเองโดยแท้ ด้วยการตีความพุทธศาสนาตรงไปยังสภาวะทางจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความเรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท" อันโดดเด่นของท่าน ซึ่งท่านเน้นวงจรทั้งฝ่ายเกิดทุกข์และฝ่ายดับทุกข์ ว่าเป็นเรื่องสภาวะทางจิตใจ "ปฏิจจสมุปบาท" สายหนึ่งจึงกินเวลาเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น

พุทธทาสภิกขุได้ริเริ่มการกลับไปใช้ชีวิตของหมู่สงฆ์ตามแบบครั้งพุทธกาล ท่านได้จัดตั้ง "สวนโมกขพลาราม" (สวนแห่งความหลุดพ้น) ขึ้นที่ตำบลพุมเรียงในปี พ.ศ. 2475 และต่อมาได้ย้ายมาที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบันท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ พุทธทาสภิกขุกล่าวอยู่เสมอว่า "พระธรรมก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือพระธรรม" ท่านจึงสอนให้เฝ้าสังเกตความเป็นไปในธรรมชาติ พร้อมกับการปฏิบัติ "อานาปานสติ" (สติเฝ้าดูลมหายใจ) วิธีการปฏิบัติ "อานาปานสติ" ตามแนวทางของพุทธทาสภิกขุนั้น ขั้นแรกผู้ปฏิบัติจะเฝ้าดูลมหายใจด้วยวิธีการต่างๆ (สมถะ) ในขั้นต่อมาผู้ปฏิบัติจะใช้สมาธิที่เกิดจากการดูลมหายใจ มาพิจารณาถึงธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง (วิปัสสนา) นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติพึงแสวงหา "ปัญญา" ด้วยการศึกษาหาความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ต่างๆ นอกเหนือจากการอ่านและฟังพระธรรมคำสั่งสอนจากท่านผู้รู้ และประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมที่ดี

พุทธทาสภิกขุได้ทำการเผยแผ่พุทธศาสนาและสร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่ ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี สวนโมกขพลารามได้กลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 งานเผยแผ่พุทธศาสนาในชุด "ธรรมโฆษณ์" ของท่านนั้น เป็นผลงานทางความคิดอันยิ่งใหญ่ เป็นงานริเริ่มสร้างสรรค์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดทางพุทธศาสนา และเป็นงานซึ่งเมื่อรวบรวมสำเร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีความยาวยิ่งกว่า "พระไตรปิฎก" ของพุทธศาสนาเถรวาทเสียอีก พุทธทาสภิกขุและสวนโมกขพลารามเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปของชนชั้นกลาง กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา และปัญญาชนในสังคมไทย

ในวาระแห่งการเวียนมาบรรจบครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของพุทธทาสภิกขุในปีนี้ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก (มพล) และองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล) ร่วมกับหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดให้มีการประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อเรื่อง "100 ปีพุทธทาสภิกขุ : ศาสนาเพื่อการพัฒนา" ขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2549 (ณ หอประชุม พสล ในสวนเบญจสิริ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ โทร. 0-2258-0369-73) และวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2549 (ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ ถนนบรมราชชนนี กรุงเทพฯ โทร.0-2441-9326 ค่าลงทะเบียน 500 บาท) เวลา 08.30-17.00 น จึงใคร่ขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้
***
การประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติ
"100 ปีพุทธทาสภิกขุ : ศาสนาเพื่อการพัฒนา" 

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2549
(หอประชุม พสล ในสวนเบญจสิริ ถ.สุขุมวิท โทร.0-2258-0369-73)
08.00-9.00 ลงทะเบียน/พิธีเปิด/สารจาก UNESCO
09.00-10.00 "ธรรมิกสังคมนิยมกับพุทธเศรษฐศาสตร์" โดย ศาสตราจารย์ ดร. อภิชัย พันธเสน
10.00-12.00 "พุทธทาสภิกขุ : มุมมองทางสังคมการเมือง" โดย พระดุษฎี เมธงฺกโร, ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ดำเนินรายการโดย ดร.ภัทรพร สิริกาญจน)
13.00-17.00 การเสนอบทความวิชาการ
กลุ่ม A : แก่นแท้ของพุทธศาสนา
กลุ่ม B : การสนทนาระหว่างศาสนา
กลุ่ม C : พุทธศาสนากับบริโภคนิยม
กลุ่ม D : พุทธทาสภิกขุกับโลกสมัยใหม่ 
 
วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2549
(โรงแรมรอยัลซิตี้ ถ.บรมราชชนนี โทร.0-2441-9326 ค่าลงทะเบียน 500 บาท)
08.00-9.00 ลงทะเบียน/ พิธีเปิด
09.00-10.00 "พุทธเศรษฐศาสตร์กับความสุขประชาชาติ" โดย Professor Dr. Buddhadasa Hewavitharana
10.00-12.00 "100 ปีพุทธทาสภิกขุ : โลกได้เรียนรู้อะไรจากท่าน" โดย คุณประชา หุตานุวัตร, ดร.สุวรรณา สถาอานันท์, ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (ดำเนินรายการโดย ดร.สุมนา ตังคณะสิงห์)
13.00-17.00 การเสนอบทความวิชาการ
กลุ่ม A : แก่นแท้ของพุทธศาสนา
กลุ่ม B : การสนทนาระหว่างศาสนา
กลุ่ม C : พุทธศาสนากับบริโภคนิยม
กลุ่ม D : พุทธทาสภิกขุกับโลกสมัยใหม่
1 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific,and Cultural Organization)
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10291. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า .          

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo