200 ปี แห่งการปฏิรูปพุทธศาสนาของไทย

ปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ทำไมเราจึงไม่ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ให้มีโครงสร้างที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อให้การพระศาสนาทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ หรือมิฉะนั้นทำไมเราจึงไม่คืนอำนาจแก่พระสงฆ์และประชาชน โดยการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เสีย เพื่อให้พระสงฆ์และประชาชนได้ร่วมกันแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อว่าพุทธศาสนาจะได้แตกหน่ออ่อนและเติบกล้าขึ้นอย่างเป็นอิสระ เพื่อเป็นประทีปแก่โลกในการเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์ทั้งปวง
  

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2547 เป็นวันครบรอบ 200 ปีแห่งพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการปฏิรูปพุทธศาสนาในสังคมไทย เราอาจจะถือโอกาสนี้เป็นวาระแห่งการครบรอบ 200 ปีแห่งการปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทย

ยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจถือได้ว่าเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของสยามประเทศก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นยุคที่ยุโรปได้ผ่านการฟื้นฟูศิลปวิทยาการและผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ชาวตะวันตกจึงออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก รวมทั้งในทวีปเอเชีย ด้วยเทคโนโลยีทางทหารที่เหนือกว่าชนพื้นเมืองทั้งปวงอย่างเทียบกันไม่ได้

ยุคสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากตะวันตกอย่างน้อย 3 ประการด้วยกันคือ ลัทธิอาณานิคม ศาสนาคริสต์ และวิทยาศาสตร์จากตะวันตก พร้อมๆไปกับลัทธิอาณานิคม บาทหลวงมิชชันนารี่ได้ออกเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และชาวตะวันตกก็ได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาเผยแพร่ด้วย

เมื่อต้องทรงเผชิญกับภัยคุกคามเช่นนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสำรวจตรวจสอบสังคมไทย ว่าจะมีสิ่งใดที่พอจะเป็นฐานแห่งสติปัญญาในการต่อสู้กับภัยคุกคามดังกล่าว ในที่สุดพระองค์ทรงไม่เห็นสิ่งใดนอกไปจากพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาในสังคมไทยขณะนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวของเทพนิยาย อิทธิปาฏิหาริย์ สิ่งเหนือธรรมชาติ และไสยศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุให้พุทธศาสนาอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่อาจเป็นฐานปัญญาในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากตะวันตกได้

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระดำริที่จะให้มีการปฏิรูปพุทธศาสนาในสังคมไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย การปฏิรูปของพระองค์ดำเนินไปใน 2 แนวทางคือ การปฏิรูปคำสอนของพุทธศาสนา และการปฏิรูปองค์การของพุทธศาสนา ซึ่งพระองค์ทรงกระทำไปพร้อมๆกัน

การปฏิรูปคำสอนพุทธศาสนา

การปฏิรูปคำสอนของพุทธศาสนานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำวิธีวิทยา (Methodology) จากตะวันตกเองมาใช้ กล่าวคือ ทรงนำ “เหตุผลนิยม” (Rationalism) มาตีความพุทธศาสนาของไทยเพื่อให้เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ทรงตัดทอนเรื่องราวอันเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ สิ่งเหนือธรรม ช าติ และไสยศาสตร์ออก เพื่อให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อที่งมงายแบบไสยศาสตร์ของท้องถิ่นไทยในเขตรอบนอกและในชนบท ทำให้ไสยศาสตร์กลายเป็นคนละสิ่งกับพุทธศาสนา

กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงเป็นเชื้อพระวงศ์และต่อมาได้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสานต่องานปฏิรูปของรัชกาลที่ 4 โดยนอกจากจะนิพนธ์หนังสือเรื่อง “นวโกวาท” แล้ว ยังทรงแต่งหนังสือ “พุทธประวัติ” ตามแนวทางปฏิรูปอีกด้วย หนังสือ “พุทธประวัติ” ดังกล่าว ได้กลายเป็นหนังสือของไทยเล่มแรก ที่เล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่ทรงออกค้นคว้าหาความจริง และในที่สุดทรงค้นพบพระธรรมอันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ โดยไม่มีเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ใดๆเจือปน

การปฏิรูปคำสอนของพุทธศาสนา ได้รับการสานต่อสืบทอดกันมาโดยพระสงฆ์สายธรรมยุติในระยะแรกเป็นหลักใหญ่ เนื่องจาก “ธรรมยุติกนิกาย” ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งขึ้นนั้น พระองค์ได้ทรงชักชวนกุลบุตรของขุนนาง ให้ออกบวชเพื่อสืบทอดงานปฏิรูปพุทธศาสนาที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มขึ้น พระภิกษุในสายธรรมยุติในระยะแรกจึงเป็นผู้มีการศึกษาสูง สามารถทำหน้าที่สานต่องานปฏิรูปพุทธศาสนาได้อย่างดียิ่ง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูประบบการศึกษาสมัยใหม่ขึ้น มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดทั่วประเทศ และมีพระภิกษุทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนและอบรมศีลธรรมจรรยาไปด้วยในตัว การศึกษาที่ควบคู่กับศาสนาจึงขยายลงสู่สามัญชนอย่างกว้างขวาง เมื่อระบบการศึกษาพัฒนาขึ้น เกิดวิชาชีพครู และเกิดความรู้เฉพาะด้านมากขึ้น ทำให้โรงเรียนต่างๆเริ่มแยกตัวออกจากวัด อย่างไรก็ตามระบบการศึกษาสมัยใหม่นี้ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษามากขึ้น ส่งผลให้พระภิกษุสายมหานิกายอันเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศ พลอยได้รับการศึกษามากขึ้นด้วย

เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ลูกขุนนางที่จะออกบวช (แบบตลอดชีวิต) ในสายธรรมยุติเริ่มหายากขึ้นทุกที (รูปสุดท้ายที่มีชื่อเสียงได้แก่ พระยานรรัตน์ราชมานิตย์ หรือเจ้าคุณนรฯ) ทำให้นิกายธรรมยุติต้องอนุโลมให้ลูกชาวบ้านเข้ามาบวชแทนเพื่อเป็นการแก้ปัญหาพระสงฆ์ขาดแคลน อภิสิทธิ์ทั้งหลายที่พระภิกษุลูกขุนนางเคยได้รับอย่างไร พระภิกษุลูกชาวบ้านที่เข้ามาบวชในนิกายธรรมยุติก็พลอยได้รับอานิสงค์นั้นไปด้วย และเนื่องจากนิกายธรรมยุติอยู่ใกล้ชิดอำนาจในส่วนกลาง จึงทำให้แนวคิดค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม (conservative) งานปฏิรูปพุทธศาสนาในระยะหลังจึงตกอยู่ที่พระภิกษุสายมหานิกายเป็นหลักใหญ่ พระภิกษุซึ่งเป็นลูกชาวบ้านที่มีการศึกษามากขึ้นและอยู่ห่างไกลจากอำนาจ ทำให้แนวคิดค่อนไปทางเสรีนิยม (liberal) มากกว่า

การปฏิรูปคำสอนของพุทธศาสนา ที่ริเริ่มขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการสานต่อโดยพระภิกษุทั้งสายธรรมยุติและมหานิกาย และมาสำเร็จสมบูรณ์ในงานของท่านพุทธทา สภิกขุ นักปฏิรูปพุทธศาสนาคนสำคัญของไทยในยุคปัจจุบัน

การปฏิรูปองค์การพุทธศาสนา

สำหรับการปฏิรูปองค์การของพุทธศาสนานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับการจัดองค์การของศาสนาคริสต์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่สำนักวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี จึงทรงดำริที่จะปฏิรูปองค์การคณะสงฆ์ไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมการเมืองของสยามประเทศ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำเอาโครงสร้างของฝ่ายอาณาจักรเป็นแบบอย่าง ในการกำหนดรูปแบบการปกครองของฝ่ายศาสนจักร ดังนี้

ฝ่ายอาณาจักร          ฝ่ายศาสนจักร
1. พระมหากษัตริย์    1. สมเด็จพระสังฆราช
2. ขุนนาง                 2. ธรรมยุติกนิกาย
3. ประชาชน             3. พระสงฆ์

ฝ่ายอาณาจักรมีประมุขสูงสุดคือ “พระมหากษัตริย์” ฝ่ายศาสนจักรก็มีประมุขสูงสุดคือ “สมเด็จพระสังฆราช” แต่ในขณะที่พระมหากษัตริย์ทรงมีเหล่า “ขุนนาง” ช่วยทำหน้าที่ในการปกครองประชาชนทั่วประเทศ ฝ่ายศาสนจักรสมเด็จพระสังฆราชกลับไม่มีพระสงฆ์ที่เป็นขุนนางมาช่วยเหลือในการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงจัดตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้น โดยทรงชักชวนกุลบุตรของเหล่าขุนนางให้ออกบวช เพื่อให้เป็นพระสงฆ์ในฝ่ายขุนนาง ทำหน้าที่ช่วยเหลือสมเด็จพระสังฆราชในการปกครองพระสงฆ์ทั่วประเทศ

โครงสร้างของคณะสงฆ์นี้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในขณะนั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกขึ้นในปี พ.ศ.2445 (ร.ศ.121) โดยให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปตามโครงสร้างดังกล่าวข้างต้น

เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ในปี พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2484 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ 2 ขึ้น โดยมีโครงสร้างที่สอดคล้องกับระบอบ “ประชาธิปไตย” ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ดังนี้

ฝ่ายอาณาจักร                                 ฝ่ายศาสนจักร
1. รัฐสภา                                        1. สังฆสภา
2. นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี    2. สังฆนายก และคณะสังฆมนตรี
3. ศาล                                            3. คณะวินัยธรรม

อาณาจักรมี “รัฐสภา” ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ทางศาสนจักรก็มี “สังฆสภา” ทำหน้าที่ออกกฎหมายในฝ่ายคณะสงฆ์ อาณาจักรมี “นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี” ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ทางศาสนจักรก็มี “สังฆนายกและคณะสังฆมนตรี” ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารคณะสงฆ์ โดยแบ่งออกเป็น 4 องค์การ (คล้ายกระทรวง) คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ อาณาจักรมี “ศาล” ทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการ ทางศาสนจักรก็มี “คณะวินัยธร” ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีและอธิกรณ์ต่างๆของฝ่ายสงฆ์

ในปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารและนำบ้านเมืองเข้าสู่ยุคมืดแห่ง “ระบอบเผด็จการทหาร” หลังจากเสร็จสิ้นภาระกิจในการกำจัดศัตรูทางการเมืองแล้ว จอมพลสฤษดิ์ได้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ “ประชาธิปไตย” เสีย แล้วออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ 3 ขึ้นในปี พ.ศ.2505 โดยมีโครงสร้างที่สอดคล้องกับ “ระบอบเผด็จการทหาร” ของตนดังนี้

ฝ่ายอาณาจักร          ฝ่ายศาสนจักร
1. ผู้นำสูงสุด            1. สมเด็จพระสังฆราช
2. คณะรัฐมนตรี        2. มหาเถรสมาคม
3. ประชาชน             3. พระสงฆ์

อาณาจักรมี “ผู้นำสูงสุด” เป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง ทางศาสนจักรก็คือ “สมเด็จพระสังฆราช” เป็นประมุขสูงสุด อาณาจักรมี “คณะรัฐมนตรี” ที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่ช่วยผู้นำสูงสุดในการปกครองประชาชนทั่วประเทศ ศาสนจักรก็คือ “มหาเถรสมาคม” ที่มาจากการแต่งตั้งเช่นเดียวกัน ทำหน้าที่ช่วยเหลือสมเด็จพระสังฆราชในการปกครองพระสงฆ์ทั่วประเทศ

เมื่อคณะ ร.ส.ช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2535 นั้น มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ 3 ในบางมาตรา ที่สำคัญคือ พระราชาคณะที่จะมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ให้เปลี่ยนการพิจารณาจาก “อาวุโสสูงสุดโดยพรรษา” มาเป็น “อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” แทน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ออกโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และแก้ไขเพิ่มเติมโดยคณะ ร.ส.ช. นั้น จึงเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ ไม่อาจจะแก้ปัญหาของคณะสงฆ์ในสังคมยุคใหม่ได้ แต่ก็ ยังคงใช้มากระทั่งถึงปัจจุบัน

กระทรวงศึกษาธิการได้ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้น โดยใช้โครงสร้างของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ ปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เป็นหลักใหญ่ โดยมี “มหาเถรสมาคม” ทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษา และ ให้มี “มหาคณิสสร” (มหา+คณะ+อิสระ) ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์แทน โดยชูประเด็นที่ว่า “มหาคณิสสร” จะประกอบด้วยพระสงฆ์ที่หนุ่มกว่า จึงย่อมจะบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็เกิดคำถามขึ้นในหมู่ประชาชนว่า เมื่อโครงสร้างเป็นเผด็จการแล้ว เผด็จการโดยคนหนุ่มจะแตกต่างอะไรไปจากเผด็จการโดยคนแก่ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา การปฏิรูปพุทธศาสนาซึ่งริเริ่มขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำเนินไปเป็น 2 แนวทางนั้น นับได้ว่าการปฏิรูปคำสอนพุทธศาสนาของไทยประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทำให้พุทธศาสนาของไทยมีคำสอนที่ลึกซึ้งทันสมัย ไม่น้อยหน้าชาติใดๆในโลก และพุทธศาสนาก็หวนคืนมาสู่ความสนใจของประชาชนผู้มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง

ส่วนการปฏิรูปองค์การพุทธศาสนาของไทยนั้น อาจกล่าวได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการจัดองค์การคณะสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมานั้นมีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง กลับไปหายุคมืดแห่ง “ระบอบเผด็จการทหาร” (ซึ่งแย่ยิ่งกว่ายุคของ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เสียอีก) ทั้งๆที่บ้านเมืองได้ผ่านการปฏิวัติในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 2535” มาแล้ว

ปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ทำไมเราจึงไม่ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ให้มีโครงสร้างที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อให้การพระศาสนาทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ หรือมิฉะนั้นทำไมเราจึงไม่คืนอำนาจแก่พระสงฆ์และประชาชน โดยการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เสีย เพื่อให้พระสงฆ์และประชาชนได้ร่วมกันแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อว่าพุทธศาสนาจะได้แตกหน่ออ่อนและเติบกล้าขึ้นอย่างเป็นอิสระ เพื่อเป็นประทีปแก่โลกในการเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์ทั้งปวง
--
Photo : https://pixabay.com/photos/thailand-buddha-buddhism-asia-1459045/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo