คำถาม - คำตอบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้า คือท่านผู้ตรัสรู้สัจธรรม พระองค์ทรงค้นพบความจริงอันสูงสุด และมิได้บังคับให้ผู้ใดเชื่ออย่างงมงายในคำสอนของพระองค์ ความมีเหตุผลของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อยู่ที่การเปิดโอกาสให้มีการสอบสวนอย่างถี่ถ้วนในทุกขั้นตอนแห่งวิถีทางไปสู่การตรัสรู้ เพื่อที่จะเข้าใจสภาพแห่งปรากฏการณ์ทั้งปวง จำเป็นจะต้องอาศัยปัญญาญาณกำกับตลอดสาย

อ้างอิงจาก : คำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับพุทธศาสนา เล่ม 2. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ. (2539).
พระพุทธศาสนา คืออะไร ? พระพุทธศาสนาอาจมีคำจำกัดความและคำอธิบายจากประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. พระพุทธศาสนา คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้า คือ ท่านผู้ตรัสรู้ หรือผู้รู้อย่างแจ่มแจ้ง) ซึ่งแนะนำให้ยกฐานะของมนุษยชาติขึ้นสู่ความบริสุทธิ์ สะอาด (ด้วยศีล) ความสงบระงับ (ด้วยสมาธิ) และความเข้าใจแจ่มแจ้ง (ด้วยปัญญา)

2. พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงก่อตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก เพื่อความสงบสุขของคนหมู่มาก เพื่อความสุขของคนหมู่มาก และเพื่ออนุเคราะห์โลก บุคคลจากทุกสาขาความเป็นอยู่ อาจนำคำสอนไปประพฤติปฏิบัติได้ตามความสามารถ และความพอใจของตน

3. พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการพิจารณาเหตุผลและการปฏิบัติเพื่อช่วยตนเอง พึ่งตนเอง และขยายความช่วยเหลือไปสู่ผู้อื่นด้วยความปรารถนาดี (เมตตา) และความคิดช่วยให้พ้นทุกข์ (กรุณา)

4. พระพุทธศาสนา เป็นทั้งปรัชญาและการปฏิบัติ แม้จะยอมรับความมีอยู่ของเทพ แต่ก็มิได้สอนให้เชื่อในเทพผู้ยิ่งใหญ่ว่าเป็นส่วนสำคัญของศาสนา แต่กลับสอนผู้นับถือให้มีคุณธรรม เช่น ความละอายใจที่จะทำความชั่ว (หิริ) และความเกรงกลัวที่จะทำความชั่ว (โอตตัปปะ) อันเป็นคุณธรรมที่ทำให้คนเป็นเทพแทน พระพุทธศาสนาสอนให้พุทธศาสนิกชนมีคุณสมบัติ คือ ศรัทธา ความเชื่อที่ถูก ศีล ความประพฤติดีงาม สุตตะ การหาความรู้ จาคะ การเอื้อเฟื้อให้ปัน และปัญญา ความรู้แจ้งเห็นจริง (โปรดสังเกตว่า ทุกแห่งที่สอนให้มีศรัทธา จะสอนปัญญาไว้กำกับเป็นข้อสุดท้ายเสมอ) คุณธรรมเหล่านี้ทำให้คนเป็นเทพในชีวิตนี้ (โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน) พระพุทธศาสนาสอนว่า เทพโดยความบริสุทธิ์ เป็นอิสระจากกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง นับว่าเป็นผู้ประเสริฐ

5. พระพุทธศาสนาอาจกล่าวโดยสรุปเพื่อความเข้าใจอย่างกว้าง ๆ ดังต่อไปนี้
ประเทศที่เกิด อินเดีย
กาลเวลาที่เกิด ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตศก
ผู้ก่อตั้ง พระพุทธเจ้า (ท่านผู้ตรัสรู้) ผู้เป็นเจ้าชายสิทธัตถะมาก่อน ผู้มีพระนามทางพระโคตรว่า "โคตมะ" แห่งศากยวงศ์
หลักคำสอน เว้นความชั่วทั้งปวง ทำความดี และชำระจิตใจให้สะอาด
ประเภทของศาสนา เป็นศาสนาสากล คือ แพร่ออกไปสู่หลายประเทศ เป็นศาสนาอเทวนิยม คือ มิได้ถือว่ามีเทพเจ้าเป็นศูนย์กลางของคำสอน
นิกายที่สำคัญ - เถรวาท (ใช้คำสอนดั้งเดิมเป็นหลัก ไม่เปลี่ยนแปลงหลักคำสอน) - มหายาน (เพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงหลักบางประการไปจากเดิม)
การรวมตัวของความแตกต่าง องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เป็นองค์การระดับโลก เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก มีศูนย์ส่วนภูมิภาค ๑๒๓ แห่ง ใน ๓๗ ประเทศ (พ.ศ.2539) สำนักงานใหญ่ขององค์การนี้ตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย [องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก 616 สวนเบญจสิริ ซอยเมธีนิเวศน์ (แยกซอยสุขุมวิท 24) ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ 10110 (www.wfb-hq.org)

 

พระพุทธศาสนามีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์อย่างไร พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในประเทศอินเดีย ประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ และเป็นที่รู้จักกันในนามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำสอนของพระองค์รวบรวมไว้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า "พระไตรปิฎก" ซึ่งตามศัพท์หมายถึง ตะกร้า ๓ ใบ คือ พระวินัยปิฎก ซึ่งว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก ซึ่งว่าด้วยพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก และพระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยปรัชญาชั้นสูง

พระพุทธศาสนาเป็นอเทวนิยม ไม่ถือเอาเทพเจ้าเป็นสำคัญ พระพุทธศาสนามี 2 นิกายหลัก คือ เถรวาท (นิกายดั้งเดิม) และมหายาน (นิกายซึ่งพัฒนาขึ้นในภายหลัง) นิกายเถรวาทนับถือกันในประเทศศรีลังกา ไทย พม่า ลาว และเขมร ส่วนมหายาน มีผู้นับถือในประเทศจีน ญี่ปุ่ม เกาหลี เวียดนาม ไต้หวัน และธิเบต

 

จุดมุ่งหมายแห่งการสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คืออะไร ในพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงเป็นครั้งแรก คือ “พระธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร” พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อ คือ พระธรรม

พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า “ทางสายกลาง” ซึ่งทำให้เกิดดวงตา ทำให้เกิดปัญญา เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการตรัสรู้ (คือรู้อย่างแจ่มแจ้ง) และเพื่อนิพพาน (สภาพที่ดับกิเลสและทุกข์ทั้งปวง) จุดมุ่งหมายแห่งการสอนจึงอยู่ที่ “ความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง การตรัสรู้ และนิพพาน”

ในธรรมเทศนาเรื่องหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงสรปคำสั่งสอนของพระองค์ด้วยคำว่า “วิมุตติ คือ ความหลุดพ้นทางจิดจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง อันไม่กลับมากำเริบอีก เป็นจุดหมายปลายทาง”

เมื่อทรงส่งพระสาวกรุ่นแรก ๖๐ รูป ไปประกาศพระศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราพ้นแล้วจากบ่วง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็พ้นแล้ว จากบ่วงที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ ท่านทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อเกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่เทพและมนุษย์ทั้งหลาย” จากพระพุทธวัจนะข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า “นิพพาน หรือวิมุตติ” เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญแห่งการสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงส่งเสริมพระสาวกให้ปฏิบัติทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา เพื่อขจัดกิเลส และกองทุกข์ทั้งปวง แล้วให้ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความกรุณา

โดยย่อ พระพุทธเจ้าทรงสอนประชาชนถึงวิธีที่จะมีความสุข ความเจริญ ทั้งทางโลกและทางธรรม ผู้ดำเนินตามคำสอนของพระองค์อาจเลือกวิถีชีวิตที่ตนสามารถปฎิบัติได้

 

สถานภาพของพระพุทธศาสนาในบรรดาศาสนาปัจจุบันของโลก เป็นอย่างไร ศาสนาที่ยังมีผู้นับถืออยู่ในโลกอาจจะจัดประเภทได้ 2 ประเภท (ตามหลักคำสอน) ดังต่อไปนี้

1. ศาสนาประเภทเทวนิยม : เชื่อในความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าองค์เดียวหรือหลายองค์

2. ศาสนาประเภทอเทวนิยม : ไม่เชื่อในความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าองค์เดียวหรือหลายองค์

พระพุทธศาสนาอยู่ในประเภทอเทวนิยม เน้นในคุณธรรม ซึ่งมนุษย์ทุกคนอาจพัฒนาขึ้นมาได้ พระพุทธศาสนาถือว่าความรู้ดี และความประพฤติดี (วิชา - จรณะ) ทำให้บุคคลประเสริฐในเทพและในมนุษย์ ความรู้ดีและความหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ (วิชชา - วิมุตติ) เป็นอุดมคติสูงสุดทางพระพุทธศาสนา

 

จำนวนประชากรที่เป็นชาวพุทธในประเทศไทยมีเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นับถือศาสนาอื่น กล่าวตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี ๒๕๔๓ ประชาชนชาวไทยจำแนกตามศาสนา ดังต่อไปนี้

จำนวนศาสนิกชนทั่วประเศ ๖๐,๖๑๗,๒๐๐ คน

ศาสนาพุทธ ๕๗,๓๒๔,๖๐๐ คน

ศาสนาอิสลาม ๒,๘๑๕,๙๐๐ คน

ศาสนาคริสต์ ๔๓๘,๖๐๐ คน

ศาสนาฮินดู ๒,๙๐๐ คน อื่น ๆ ๑๙,๙๐๐ คน

ไม่มีศาสนา ๖,๐๐๐ คน

ไม่ทราบ ๔,๕๐๐ คน

*** ที่มา : สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. ๒๕๔๓ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (รายงานผลล่วงหน้า) หมายเหตุ เก็บรวบรวมข้อมูล ณ เดือนเมษายน ๒๕๔๓

แหล่งข้อมูล: หนังสือข้อมูลพื้นฐานด้านการศาสนา ประจำปี ๒๕๔๕ กองแผนงาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (มกราคม ๒๕๔๕)

 

การปกครองคณะสงฆ์ของไทยมีรูปแบบอย่างไร พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภก การปกครองคณะสงฆ์ไทยเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐ค แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 และบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นประธาน

การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค จัดแบ่งเขตดังนี้ 1. ภาค 2. จังหวัด 3. อำเภอ 4. ตำบล

จำนวนและเขตปกครองดังกล่าวเป็นไปตามที่กำหนดในมหาเถรสมาคม

การปกครองคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาค มีพระภิกษุเป็นผู้ปกครองตามลำดับชั้น ดังต่อไนี้ 1. เจ้าคณะภาค 2. เจ้าคณะจังหวัด 3. เจ้าคณะอำเภอ 4. เจ้าคณะตำบล

วัดหนึ่งมีเจ้าอาวาสได้ 1 รูป แต่ถ้าเห็นสมควรอาจมีรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้

 

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก คืออะไร องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก หรือที่เรียกโดยย่อว่า พ.ส.ล. เป็นองค์การระหว่างประเทศพุทธศาสนา ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ในประเทศศรีลังกา ซึ่ง ณ ที่นั้น ได้มีผู้แทนจาก ๒๗ ประเทศ จากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ มาร่วมประชุมพร้อมกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ผู้แทนชาวพุทธทั่วโลก ทั้งนิกายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ต่างมารวมกันอยู่ใต้ร่มธงฉัพพรรณรังษี

องค์การระหว่างประเทศของชาวพุทธแห่งนี้ ได้ก่อให้เกิดเอกภาพและความเข้าใจกันขึ้นในระหว่างชุมชนชาวพุทธทั่วโลก อาจจะกล่าวได้ว่า พ.ส.ล. ได้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์อันสำคัญที่สุด คือ เอกภาพระหว่างชาวพุทธทั่วโลก ซึ่งเป็นมูลฐานแห่งความร่วมมือ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า และเสถียรภาพของพระพุทธศาสนาสืบไป

 

ประเทศไทยมีบทบาทในองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก อย่างไรบ้าง ประเทศไทยได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งเริ่มแรก ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกขึ้น ในประเทศศรีลังกา ในปีพุทธศักราช 2493 และในฐานะที่เป็นสมาชิกก่อตั้งขององค์การนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ ซึ่งกำหนดให้มีทุกสองปีสม่ำเสมอตลอดมา และได้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมสนับสนุนให้มวลสมาชิกรักษาศีล และปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

2. เสริมสร้างความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น และภราดรภาพในหมู่ศาสนิก

3. เผยแพร่หลักธรรมอันบริสุทธิ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

4. ก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสันติภาพ และความกลมเกลียวกันในหมู่มนุษย์ และความผาสุกให้แก่มวลชน ตลอดจนให้ความร่วมมือกับองค์การอื่น ๆ ซึ่งประกอบกิจกรรมอันมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประเทศไทยได้รับเลือกจากองค์การ พ.ส.ล. ให้เป็นที่ตั้งสำนักงานถาวร ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ โดยมีสำนักงานเลขาธิการระหว่างประเทศทำงานตลอดเวลา เพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั่วโลก เหตุผล ซึ่งที่ประชุมใหญ่ขององค์การ พ.ส.ล. ตกลงรับข้อมตินี้เป็นเอกฉันท์ก็คือ

1. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทย

2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังทรงเป็นพุทธมามกะด้วย

3. รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สำนักงานเลขาธิการ พ.ส.ล. ตลอดมา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมควรจะกล่าวไว้ด้วยว่า รัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนประจำปีเพื่อทำนุบำรุง และเพื่อให้มีบริการอันมีประสิทธิภาพของสำนักงานใหญ่มาจนกระทั่งบัดนี้

 

ธงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา มีความหมายอย่างไร
ธงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ที่เรียกกันว่า “ธงฉัพพรรณรังษี” (พระรัศมี 6 สี) ซึ่งองค์การ พ.ส.ล. ได้ประกาศใช้เป็นธงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาในการประชุมเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ นั้น มีหกสี เรียงตามแนวนอนดังนี้ น้ำเงิน เหลือง แดง ขาว ส้ม และ สีซึ่งเรียกตามภาษาบาลีว่า “ประภัสสร”

ธงหกสีนี้เดิมพันเอก เฮนรี เอส ออลคอท พุทธศาสนิกชนชาวอเมริกันเป็นผู้ออกแบบ และชาวพุทธศรีลังกาได้ใช้ต่อมา อย่างไรก็ตาม ธงนี้เริ่มมีผู้นิยมใช้มากขึ้นเมื่อได้ใช้เป็นธงทางการขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เริ่มแรกตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2493

การออกแบบธงนี้ได้อาศัยความเชื่อว่า "ไม่ว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ณ แห่งใด พระองค์จะเปล่งพระรัศมี ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นแสงแห่งปัญญา และสันติสุขไปสู่มวลชนทั้งหกทิศ คือ ตะวันออก ตะวันตก เหนือ ใต้ เบื้องบนและเบื้องล่าง

อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนชาวไทยยังคงใช้ธงธรรมจักร ซึ่งมีรูปพระธรรมจักรบนพื้นสีเหลืองกันโดยทั่วไป ซึ่งคณะสงฆ์ไทยเป็นผู้ประกาศใช้เป็นทางการ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2501 เป็นต้นมา

 

 

ชาวพุทธควรเชื่ออย่างไร และเชื่ออะไร พระพุทธเจ้า คือท่านผู้ตรัสรู้สัจธรรม พระองค์ทรงค้นพบความจริงอินสูงสุด และมิได้บังคับให้ผู้ใดเชื่ออย่างงมงายในคำสอนของพระองค์ ความมีเหตุผลของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อยู่ที่การเปิดโอกาสให้มีการสอบสวนอย่างถี่ถ้วนในทุกขั้นตอนแห่งวิถีทางไปสู่การตรัสรู้ เพื่อที่จะเข้าใจสภาพแห่งปรากฏการณ์ทั้งปวง จำเป็นจะต้องอาศัยปัญญาญาณกำกับตลอดสาย

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนชาวกาลามะ ผู้อาศัยอยู่ในเกสปุตตนิคม ในราชอาณาจักรหรือแคว้นดกศล ถึงท่าทีอันเหมาะสมเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา พระองค์ตรัสว่า

อย่าเชื่อหรือถือเอาสิ่งใด ๆ เพียงการฟังตาม ๆ กันมา, อย่าเชื่อเพียงที่ถือสืบกันมา, อย่าเชื่อเพียงข่าวลือ, อย่าเชื่อโดยการอ้างตำรา, อย่าเชื่อโดยนึกเอา, อย่าเชื่อโดยการคาดคะเน, อย่าเชื่อเพียงตรึกคิดไปตามอาการ, อย่าเชื่อเพียงเพราะตรงกับความคิดเห็นของตน, อย่าเชื่อเพียงเพราะน่าเชื่อถือ, อย่าเชื่อเพราะว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา, และแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนชาวกาลามะต่อไปว่า ให้พิจารณาทุกสิ่งด้วยตนเองอย่างถี่ถ้วน

"เมื่อท่านรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ดี นักปราชญ์ติเตียน เมื่อรับไว้และปฏิบัติแล้ว จะนำไปสู่อันตราย ก็จงสละทิ้งเสีย ในทางตรงกันข้าม เมื่อท่านทราบด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกติเตียน นักปราชญ์สรรเสริญ เมื่อรับไว้และปฏิบัติแล้ว จะนำไปสู่ประโยชน์ ความสุข ก็จงรับไว้ปฏิบัติ"

 

 

 

ในพระพุทธศาสนา มีรูปแบบแห่งการปฏิบัติโดยเฉพาะหรือไม่ กล่าวตามหลักพระพุทธศาสนา ทุกคนเป็นอิสระที่จะพิจารณาและตรวจสอบคำสอนทางพระพุทธศาสนา ก่อนที่จะตัดสินใจนับถือ แม้ภายหลังการนับถือแล้ว บุคคลมีอิสระที่จะเลือกส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งคำสอนมาปฏิบัติได้

พระพุทธเจ้าได้ประทานรูปแบบแห่งการปฏิบัติหลายอย่างให้เหมาะสมแก่ประชาชนผู้มีรสนิยม และแนวโน้มต่าง ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม มีคำสอนแบบฉบับที่เหมาะสมแก่ชาวพุทธทั่วไป ดังต่อไปนี้

1. เว้นความชั่วทั้งปวง บำเพ็ญความดี และชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้ว

2. การเอื้อเฟื้อให้ปัน การมีศีล และการพัฒนาทางจิตที่เรียกว่า ภาวนา (อันแบ่งเป็นการเจริญสมาธิ และการเจริญปัญญา ที่เรียกว่า สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา)

3. ศีล สมาธิ และปัญญา (ซึ่งเป็นรูปแบบย่อแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่นำไปสู่ความดับทุกข์)

 

 

บุคคลอาจดำรงชีวิตแบบชาวพุทธได้อย่างไร การดำรงชีวิตแบบชาวพุทธ บุคคลควรละเว้นการทำความชั่ว บำเพ็ญคุณงามความดี และชำระจิตใจของตนให้สะอาด

"การเว้นและการบำเพ็ญ" ตามหลักศีลธรรมแห่งการดำรงชีวิตแบบชาวพุทธ มีดังต่อไปนี้

1. เว้นการฆ่า : แผ่เมตตา (คิดจะให้เป็นสุข) กับกรุณา (คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์) แห่ทุกชีวิต

2. เว้นการลักขโมยหรือฉ้อโกง และประกอบอาชีพสุจริต

3. เว้นการประพฤติผิดในกาม และสำรวมระวังในกาม

4. เว้นการพูดปด และพดความจริง

5. เว้นสิ่งเสตพติดมึนเมา และสำรวมระวัง มีสติ

บุคคลบำเพ็ญศีล 5 และธรรม 5 ดังกล่าวข้างต้นมากเพียงใด ก็จะประสบความสุข ความสงบแห่งชีวิตมากเพียงนั้น

อนึ่ง การพยายามทำจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์สะอาดจากความโลภ ความโกรธ และความหลง ไปทีละเล็กละน้อย ในชีวิตประจำวัน ก็นับเป็นแนวทางอันเป็นอุดมคติของชาวพุทธ

 

มีคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ที่ว่า พระสงฆ์ควรมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมเพิ่มขึ้นจากการสอนธรรมะ เราได้ทราบจากประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเรียกประชุมกลุ่มพระสาวกรุ่นแรก ๖๐ รูป ก่อนส่งไปทำงานประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรงแนะให้แยกย้ายกันเดินทางไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก และเพื่ออนุเคราะห์โลก นี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงแนะนำพระสาวกของพระองค์ให้ช่วยสังคม การช่วยเหลือควรกระทำโดยเหมาะสมแก่สถานภาพของพระสงฆ์ การปฏิบัติตามคำสอนก็ดี การทำตนเองให้เป็นแบบอย่างก็ดี การสั่งสอนประชาชนก็ดี เป็นภารกิจหลักของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา โดยปกติ วัดเป็นศูนย์กลางแห่งชุมชนและงานสังคมสงเคราะห์ในกรณีที่มีอุบัติกัยเกิดขึ้น พระสงฆ์จะ ช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยได้ การช่วยสังคมในรูปแห่งการบริจาคทานและกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ พระสงฆ์ก็ได้รับอนุญาตให้ทำได้ในกรณีที่ไม่ขัดกับพระวินัย

 

เหมาะสมหรือไม่ที่จะเชื่อว่า การเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนั้น จะต้องปฏิบัติกรรมฐาน หรือบำเพ็ญสมาธิและปัญญาเท่านั้น และไม่เกี่ยวข้องกับการรับใช้สังคมเลย การเป็นชาวพุทธนั้น ก็เพียงถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ กล่าวคือ ถ้าผู้ใดตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้นั้นก็นับได้ว่าเป็นชาวพุทธ นี้เป็นไปตามคำตอบของพระพุทธเจ้า ต่อคำถามของเจ้าชายมหานามะ เรื่องการเป็ชาวพุทธ

อย่างไรก็ดี มีคำแนะนำเพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่เรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ" หรือ ที่ตั้งแห่งการทำบุญที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดังต่อไปนี้

1. การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ปัน

2. การมีศีล และ

3. การพัฒนาสมาธิและปัญญา ๒ ประการ คือ การทำใจให้สงบ (สมาธิหรือสมถะ) และหารทำปัญญาให้เกิดขึ้น (วิปัสสนา) ทั้งสองอย่างนี้ รวมเรียกว่า ภาวนา หรือการอบรมจิตและปัญญา

จากคำแนะนำที่กล่าวข้างต้นก็เป็นที่ชัดเจนว่า การเอื้อเฟื้อให้ปัน และการรับใช้สังคมในรูปแห่งการยื่นมือเข้าช่วยเหลือ และการปฏิบัติทางจิตใจอื่น ๆ นับว่าเป็นข้อปฏิบัติเพิ่มเติมของพุทธศาสนิกชน

 

ทำไมพระสงฆ์จึงต้องครองจีวรที่ทำจากผ้าซึ่งนำมาตัดต่อกัน แล้วพระที่ครองจีวรสีคล้ำเคร่งกว่าพระทั่วไปหรืออย่างไร พระสงฆ์เป็นผู้ที่ละทิ้งบ้านเรือน และไม่มีทรัพย์สมบัติส่วนตัว แต่เดิมนั้นท่านต้องรวบรวม เศษผ้าทิ้งแล้วมาซักให้สะอาด นำมาตัดเย็บต่อกันเป็นผืน จากนั้นจึงนำไปย้อมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ ได้แก่ เปลือกหรือแก่นไม้ ผ้าจีวรส่วนมากจะค่อนไปทางสีน้ำตาล สีจีวรอ่อนแก่ทั้งในสมัยพุทธกาลและในสมัยนี้ ไม่ได้หมายถึงความเคร่งครัดของพระสงฆ์ผู้นุ่งห่ม

พระอานนท์เถระ ผู้ทรงเป็นพระอนุชา และพุทธอุปัฏฐากเป็นผู้ออกแบบการตัดเย็บจีวร โดยใช้แบบคันนาในแคว้นมคธเป็นแม่แบบตามพระบัญชาของพระพุทธองค์ ซึ่งได้สรรเสริญ และให้ใช้เป็นมาตรฐานสืบมา

ในประเทศไทย พระสงฆ์ที่ครองจีวจสำคล้ำ มักเป็นพระที่อยู่ในป่า แต่ในปัจจุบันพระที่อยู่ในเมืองบางรูปก็นิยมใช้จีวรสีคล้ำเช่นกัน สาเหตุที่ทรงมีพระบัญญัติให้ใช้ผ้าตัอต่อ เพราะต้องการให้แตกต่างจากผ้าของคฤหัสถ์ และเพื่อไม่จูงใจโจร

 

ทำไมพระสงฆ์จึงต้องออกบิณฑบาตรในตอนเช้า ในการที่เราจะเห็นความหมายของกิจวัตรข้อนี้ได้ เราต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสังคมชาวพุทธเสียก่อน สังคมชาวพุทธนั้น ประกอบด้วยพุทธบริษัท ๔ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ทั้งภิกษุและภิกษุณีนั้นเป็นผู้ที่ได้ละบ้านเรือนออกบวช เพื่อใช้ชีวิตในการศึกษาและปฏิบัติ แล้วก็ควรนำคำสอนมาเผยแผ่อบรมสั่งสอนคฤหัสถ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ซึ่งเป็นคฤหัสถ์นั้น ยังคงดำเนินชีวิตตามโลกียวิสัย จึงมีความรับผิดชอบในการที่จะจัดหาปัจจัย ๔ ที่จำเป็นแก่การยังชีวิตของ เพศสมณะให้แก่พระสงฆ์ ได้แก่ จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย และเภสัช สังคมพุทธจึงอยู่กันด้วยความเอื้ออาทร และมีความรับผิดชอบต่อกันและกันเช่นนี้

เมื่อพระออกบิณฑบาต พิจารณาจากแง่มุมของพระท่านออกมาโปรดสัตว์ ให้โอกาสแก่คฤหัสถ์ที่จะได้ทำบุญ โดยการจัดหาอาหารถวายพระภิกษุสงฆ์ เพราะถือว่าเป็น "นาบุญ" เป็นบุคคลที่ควรรับของที่คฤหัสถ์ถวาย นอกจากนั้นการที่คฤหัสถ์ดูแลความเป็นอยู่ของพระ ก็ย่อมเป็นการสร้างความมั่นคงถาวรให้เกิดแก่พระพุทธศาสนาและสถาบันศาสนาโสตหนึ่ง และนับได้ว่า เป็นการยกระดับการปฏิบัติของคฤหัสถ์ไปพร้อม ๆ กัน

 

 

คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าด้วยเรื่องชาติ ชั้นวรรณะ มีว่าอย่างไร ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะในพระพุทธศาสนา ในบางประเทศระบบชั้นวรรณะเป็นโครงสร้างสำคัญยิ่งทางสังคม อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนา ไม่มีอคติทางชาติ ชั้นวรรณะ และเพศ ทุกคนมีความเสมอภาคในศักยภาพทางจิตวิญญาณที่จะบรรลุธรรม

พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า ความดีหรือความชั่วของคน มิได้ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด หรือทรัพย์สมบัติ แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามีสิทธิเท่าเทียมกัน เช่น สิทธิในการออกเสียงในการประชุม ความแตกต่างกันมีอยู่เพียงลำดับอาวุโส ซึ่ง เป็นไปตามการบวชก่อนหรือหลัง

พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ โดยชี้ไปที่ความรู้ดี และความประพฤติดีว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด พะพุทธองค์ตรัสสอนว่า บุคคลผู้มีความรู้ดี และความประพฤติดีเป็นผู้ประเสริฐสุดในเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

 

พระพุทธศาสนามีทรรศนะต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นที่รู้กันดีว่าพรพุทธเจ้าได้ทรงวางกฎ และระเบียบไว้แก่สาวกของพระองค์ เพื่อให้เอาใจใส่ดูแลสิ่งแวดล้อมมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. ไม่พึงเทน้ำล้างบาตรที่มีข้าวสุกลงในละแวกบ้าน

2. ไม่พึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเสลดน้ำลายลงบนต้อไม้ใบหญ้า

3. ไม่พึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือน้ำลายลงในน้ำ

4. ไม่พึงตัด หรือทำลายพืชพันธุ์ไม้ที่มีชีวิต

5. ไม่พึงผ่าป่า

6. ไม่พึงทิ้งขยะทางหน้าต่าง

7. ไม่พึงปล่อยให้ห้องสุขาสกปรก โดยมิได้ทำความสะอาดเอง หรือขอให้ผู้อื่นทำความสะอาด

พุทธศาสนิกชนได้รับการส่งเสริมให้รักษาดุลยภาพระหว่างธรรมชาติกับการพัฒนาทางวัตถุ และการหมุนเวียนนำวัสดุที่ใช้แล้วมาแปรรูปใหม่ ก็มีการกล่าวถึงมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว พระพุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตเป็นส่วหนึ่งของธรรมชาติ ทุกสิ่งต่างอาศัยกันและกัน ดังนั้น แนวคิดต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และความตระหนักในปัญหาของระบบนิเวศ จึงมีปรากฏเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนามานานแล้ว

ถ้าเราเข้าไปหมู่บ้านชนบท เราจะได้เห็นวัดวาอารามที่ร่มรื่นสงบเย็น อากาศบริสุทธิ์ ธรรมชาติสวยงามด้วยต้นไม้ ดอกไม้ ตลอดจนได้เห็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่กับชาวบ้านอย่างเป็นสุข พึ่งพาอาศัยกัน

 

เป็นความจริงหรือไม่ที่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นทุนิยม คือมองโลกในแง่ร้าย ความเชื่อที่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นทุนิยม คือมองโลกในแง่ร้าย เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดในอริยสัจข้อแรกที่สอนว่า สัตว์มีชีวิตทั้งปวงจะต้องได้รับความทุกข์อันเกิดจากจาก ความเกิด ความแก่ และความตาย เมื่อบุคคลยอมรับความจริง คือทุกข์ ข้อนี้ ก็จะพิจารณาสอบสวนถึงสาเหตุแห่งความทุกข์ และปฏิบัติตามมรรคา ซึ่งนำไปสู่ความดับทุกข์

ในความหมายนี้ เราย่อมเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนามิใช่ทั้งทุนิยม หรือสุนิยม (มองโลกในแง่ดี) หากแต่น่าจะเป็นสัจนิยม คือนิยมความจริงมากกว่า พระพุทธเจ้าอาจเปรียบได้กับนายแพทย์ผู้ค้นหาสมุฏฐานได้ว่า มนุษย์มีโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง แต่มิได้ทรงหยุดเพียงนั้น พระองค์ทรงชี้ว่า โรคภัยไข้เจ็บนั้นอาจจะแก้ไขได้ และทรงบอกถึงตัวยาที่จะรักษา พระพุทธศาสนาแสวงหาการเอาชนะความทุกข์ของมนุษยชาติ ปัจเจกบุคคลพึงพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อที่จะคลี่คลายปัญหาชีวิต ชาวพุทธได้รับการสอนให้เผชิญหน้ากับโลกตามความเป็นจริง และพยายามเอาชนะพลังผูกมัดของโลก ในที่สุดก็จะบรรลุถึงความหลุดพ้นทางจิตใจที่เรียกว่า "นิรวาณ" หรือ "นิพพาน"

 

เหตุไฉนชาวพุทธจึงสร้าง และบูชาพระพุทธรูป ชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเตือนให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประชาชนในประเทศทั้งหลายสร้างธงชาติขึ้นในรูปลักษณะ และสีต่าง ๆ เพื่อแทนชาติของตน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญสูงสุด ควรแก่การเคารพ การปฏิบัติเช่นนั้น มิได้หมายความเพียงการเคารพผ้า หรือสีของผ้าเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นการเคารพสถาบันสูงสุดของชาติฉันใด การสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธเจ้า และเป็นที่เคารพบูชา ก็เป็นฉันนั้น

ความเคารพมิได้มุ่งอยู่เพียงแต่ไม้หรือโลหะ ซึ่งสร้างจำลองขึ้น แต่ทำให้นึกน้อมไปถึงพระคุณ ๓ ประการ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้า

การที่ชาวพุทธเคารพบูชาพระพุทธรูป ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเตือนใจว่า จะต้องพัฒนาปัญญา ความบริสุทธิ์ และความกรุณา (คิดจะช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์) ให้เกิดขึ้นในตนเอง เพื่อเป็นการดำเนินตามพระคุณทั้ง ๓ ประการ ของพระพุทธเจ้าไปในขณะเดียวกันด้วย

 

การทำบุญ หมายความว่าอย่างไร ถ้าแปลตามศัพท์แล้ว คำว่า "บุญ" หมายถึง "การชำระ การทำให้บริสุทธิ์สะอาด" การทำบุญ จึงหมายความว่า "การชำระใจให้บริสุทธิ์จากความโลภ ความโกรธ และความหลง" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนศาสนิกชนให้ทำบุญด้วยการบริจาคทาน การรักษาศีล และภาวนา (การทำความสงบและปัญญาให้เกิดขึ้น) เมื่อเรารู้ความหมายที่แท้จริงของการทำบุญ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เราจึงตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่า การทำบุญนั้นมีหลายวิธี เมื่อไรก็ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น แม้ขณะที่เราอาจจะนั่งอยู่บนเก้าอี้อย่างสบาย และพยายามที่จะขัดเกลาความโลถ ความโกรธ ความหลง และกิเลสต่าง ๆ ก็นับเป็นการทำบุญได้เหมือนกัน

 

การทำทาน มีความหมายว่าอย่างไร ทาน การให้ เป็นการแสดงออกซึ่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันเป็น ข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งในวิธีการบำเพ็ญบุญ 3 ประการ คือ ทาน ศีล และภาวนา หรือการทำคุณธรรมให้เกิดให้มีขึ้น ภาวนานั้นมี 2 อย่าง คือ สมถภาวนา การทำความสงงบให้เกิดขึ้น กับ วิปัสสนาภาวนา การทำปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงให้เกิดขึ้น

ทาน หรือการให้นั้นมี 3 แบบ ดังนี้

1. การอนุเคราะห์ เป็นการให้แก่ผู้ที่ยากจน ผู้ที่เดือดร้อน เช่น เด็กกำพร้า เป็นต้น

2. การสงเคราะห์ เป็นการให้แก่เพื่อนหรือมิตรสหาย เพื่อเป็นการผูกมิตร

3. การให้เพื่อบูชาคุณ เช่น การให้แก่บุคคลเพื่อความกตัญญู ได้แก่ มห้แก่บิดา มารดา หรือการถวายทานแก่บุคคลที่เคราพ เช่น พระภิกษุสงฆ์

ในความหมายของการให้อย่างแท้จริง ชาวพุทธควรให้ หรือบริจาคโดยไม่หวังผลตอบแทน กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การให้เพื่อการลดความเห็นแก่ตัว ฉะนั้น การให้จึงเป็นวิธีหนึ่งแห่งการทำให้ความทะยานอยาก และความยึดมั่นถือมั่นให้ลดน้อยลง

 

การที่ชาวพุทธรับไตรสรณคมณ์นั้น หมายความว่าอย่างไร ขั้นตอนของการเป็นชาวพุทธ คือ การรับไตรสรณคมณ์ ขอถือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึกถึง

ในการรับพระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั้น อาจมีระดับความเข้าใจที่แตกต่างกัน ความหมายของพุทธะในขั้นต้นนั้น หมายถึง พระพุทธรูป ซึ่งเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ทรงชี้ทางเพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้ปฏิบัติตาม เพื่อบรรลุความหลุดพ้น พุทธะในความหมายขั้นสูงขึ้นหมายถึง ความเป็นพุทธะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติทางจิตวิญญาณอันสูงสุด ที่พวกเราชาวพุทธอาจเข้าถึงได้ หากปฏิบัติตามแนวทางคำสอนของพระพุทธองค์

ในการทำความเข้าใจกับธรรมะก็เช่นกัน ในขั้นต้นอาจหมายถึง พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์คำสอนในพระพุทธศาสนา ในระดับสูงหมายถึง คำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งเมื่อเข้าถึงก็ย่อมทำให้บุคคลนั้นรู้แจ้งในพระธรรมอันประเสริฐ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยรับสั่งว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต, ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม" นั้น หมายความว่า เมื่อผู้นั้นปฏิบัติ ก็ย่อมเข้าถึงการตรัสรู้ด้วยตนเอง

คำว่า "สงฆ์" ก็อาจจะเข้าใจได้หลายระดับ ขั้นต้นหมายถึง พระภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ แต่ในระดับสูงหมายถึง พระอริยสงฆ์ ซึ่งเป็นบุคคลในอุคมคติ โปรดสัตว์ในการเทศน์สอนและชี้นำสรรพสัตว์

ในการรับไตรสรณคมน์ จึงเป็นการน้อมรับเอาคุณสมบัติที่ปรากฏในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาปรับให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของเรานั่นเอง

 

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คืออะไร พุทธศาสนิกชนต้องนับถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสมณะ (ที่พึ่ง ที่ระลึก)

พระพุทธ หมายถึง พระผู้ตรัสรู้ คือรู้อย่างจำรัส หรือแจ่มแจ้ง

พระธรรม หมายถึง ความจริง หรือสัจธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และนำมาสั่งสอน

พระสงฆ์ หมายถึง พระพุทธสาวก ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พระสงฆ์ ในระดับสูงได้แก่ ท่านผู้บรรลุ

ความเป็นพระอริยบุคคล 4 ประเภท ความหมายของพระรัตนตรัย หรือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จัดได้ 3 ระดับ ดังต่อไปนี้

ระดับที่ 1 พระพุทธ คือ ท่านผู้ตรัสรู้ ซึ่งมีพระพุทธรูปเป็นองค์แทน

พระธรรม คือ ความจริงหรือสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และนำมาสั่งสอนซึ่งมีพระไตรปิฎก หรือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นองค์แทน

พระสงฆ์ คือ พระอริยสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีภิกษี ภิกษุณี โดยทั่วไปเป็นองค์แทน ผู้ซึ่งยังไม่เป็นพระอริยบุคคล 4 พระสงฆ์ในระดับนี้ เรียกว่า สมมติสงฆ์

ระดับที่ 2 พระพุทธ หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เอง พระองค์คือ เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งวงศ์ศากยะ ผู้สละละทิ้งชีวิตแบบชาวโลกเพื่อแสวงหาสัจธรรม หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้น

พระธรรม หมายถึง ความจริง หรือสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ และเผยแผ่ให้พุทธศาสนิกชนทั้งบรรพชิต และคฤหะสถ์ได้เรียนรู้และปฏิบัติ

พระสงฆ์ หมายถึง สาวกของพระพุทธองค์ผู้เป็นพระอริยบุคคลแล้ว

ระดับที่ ๓พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเป็นหนึ่งเดียวในระดับนี้

พระพุทธ ก็คือ พระธรรมคำสั่งสอน ดังพระพุทธวัจนะที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" แสดงว่า พระพุทธภาวะ คือ พระธรรม และพระธรรมก็คือพุทธภาวะนั่นเอง พระสงฆ์ในอุดมคติก็คือพระธรรมที่ปรากฏในตัวท่านั้นเอง

 

 

 

ในพระพุทธศาสนา สตรีสามารถจะบรรลุธรรมได้หรือไม่ พระพุทธองค์ทรงเป็นศาสดาพระองค์แรกที่ทรงยอมรับความทัดเทียมกันในการบรรลุธรรมของหญิงและชาย โดยทั่วไปแล้ว สังคมมักจำกัดบทบาทของสตรี แต่การตรัสรู้ธรรมนั้น ไม่มีการจำกัดทางเพศ ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณีได้ และได้พิสูจน์ตนเองว่ามีค่า สมกับที่พระพุทธองค์ทรงให้การยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ภิกษุณีบางรูป เช่น พระปฎาจาราภิกษุณี ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา เป็นต้น ในฝ่ายอุบาสิกานั้น นางสิสาขา ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในการให้ทาน พระนางสามาวตี ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเมตตา เป็นต้น กล่าวโดยย่อ ผู้หญิงได้แสดงให้เห็นว่า มีความสามารถทัดเทียมกับผู้ชายในการปฏิบัติ และสืบพระศาสนา ในปัจจุบันผู้หญิงที่ปฏิบัติธรรมตามคำสอนในพระพุทธศาสนาก็สามารถบรรลุธรรมได้

 

ในบางประเทศผู้หญิงสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้จริงหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล ผู้หญิงที่บวชเรียกว่า ภิกษุณี สายการบวชภิกษุณีนับแต่ครั้งพุทธกาล มีความเป็นมาต่อเนื่องกันนานกว่า 1,000 ปี และสูญไปพร้อมกับภิกษุสงฆ์ เมื่อประเทศอินเดียถูกรุกรานในพุทธศตวรรษที่ 17

คณะภิกษุณีโดยการนำของพระนางสังฆมิตตาเถรี พระธิดาในพระเจ้าอโศกมหาราช ได้รับการนิมนต์จากพระเจ้าเทวารัมปิยติสสะ ให้ไปประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในลังกา เมื่อ พ.ศ. 246 ภิกษุณีสงฆ์ในลังกามีความเป็นอยู่ต่อเนื่องกันมานานกว่าพันปี ก่อนที่จะถูกชาวต่างชาติรุกราน

ต่อมา ใน พ.ศ. 976 คณะภิกษุณีสงฆ์จากลังการ ได้รับนิมนต์ไปบวชให้แก่สตรีชาวจีน ทำให้เกิดภิกษุณีสงฆ์จีนสืบสายมาจนทุกวันนี้

ภิกษุณีสงฆ์สายจีนนั้นได้แพร่หลายไปสู่ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศใกล้เคียง ศูนย์ที่สำคัญของภิกษุณีสงฆ์ปัจจุบันอยู่ที่ไต้หวัน และเกาหลี

ใน พ.ศ. 2531 วัดซีไหล ซึ่งเป็นวัดจีนในลอสแองเจลิส ได้จัดการบวชภิกษุณีถึง 200 รูป เพื่อเป็นการสร้างเสริมภิกษุณีสงฆ์ให้กล้าแข็งขึ้น

ในช่วง 2 - 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สตรีชาวพุทธได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในพระพุทธศาสนาทุกระดับ เมื่อพิจารณาว่าผู้หญิงมีจำนวนถึงกึ่งหนึ่งของประชากรโลก เรื่องนี้จึงเป็นแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปได้ในการพัฒนาพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวม

 

 

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพลวัตร หรือพลังทางศีลธรรมที่ก่อให้เกิดการกระทำ หรือความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พระพุทธวจนะในทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย (หมวดพระสูตรว่าด้วยธรรมะเป็นข้อ ๆ หมวด ๑๐๗ เฉลยคำถามนี้ได้ ดังต่อไปนี้

“เราไม่กล่าวสรรเสริญการหยุดในกุศลธรรม จึงไม่ต้องกล่าวถึงว่า จะสรรเสริญความเสื่อม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญการหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรม”

จากข้ออ้างที่กล่าวมานี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพลวัต หรือพลังทางศีลธรรม ที่ก่อให้เกิดการกระทำหรือควมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

 

 

อนัตตา คืออะไร เราจะนำแนวความคิดนี้มาใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างไร อนัตตา หรือ มิใช่ตัวตน เป็นคำสอนหลักในพระพุทธศาสนา การที่จะเข้าใจหลักอนัตตา ได้อย่างชัดเจนจะต้องมีปัญญารู้แจ้ง แนวคิดเรื่องอนัตตา อาจอธิบายได้ 2 ระดับ ดังนี้

ในชั้นต้น อนัตตา อาจเข้าใจได้โดยผ่านกระบวนการของเหตุผล และอาจใช้ความเข้าใจเช่นนั้นได้ในการพัฒนาจริยธรรม ถ้าเราตระัหนักถึงเรื่องอนัตตา ก็จะช่วยให้เราเป็นอิสระจากความทะยานอยาก หลงผิด และความเห็นผิดที่ว่า เรามีตัวตนที่แท้จริง ด้วยวิธีการนี้ เราจึงสามารถขจัดความยึดมั่นถือมั่น และเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว

ในชั้นสูง อนัตตา เป็นสัจธรรมของสรรพสิ่งที่เป็นอยู่ และมีอยู่ ความจริงแท้ของสรรพสิ่งนั้น มิใช่สิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยความรู้ธรรมดาสามัญ เว้นเสียแต่เราจะได้ตรัสรู้

ทันทีที่ตรัสรู้ ความยึดมั่นในตัวตน และความทะยานอยากก็จะสิ้นสุด

หลักต่อไปนี้ เป็นสาระสำคัญในการประยุกต์แนวคิดเรื่องอนัตตา กับชีวิตประจำวันของเรา

. ไม่ทำการใด ๆ เพียงเพื่อประโยชน์ตน หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของตนโดนส่วนเดียว

2. จงทำทุกอย่างเพื่อลด ละ การให้ความสำคัญแก่ตนเองเพียงฝ่ายเดียว

3. ไม่ถือความคิดของตนว่าสำคัญเหนือความคิดของผู้อื่น

ในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนั้น เราควรเป็นคนใจกว้างพิจารณาเรื่องราวไปตามหลักเหตุผล มากกว่าความต้องการเฉพาะของตนเอง อย่างไรก็ตาม ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น ก็ยังเป็นความยึดมั่นอย่างหนึ่ง จะต้องละเสียด้วย ความไม่ยึดมั่นตามหลักมัชฌิมาปฏิปทานั้นจะต้องมีปัญญากำกับด้วย

 

 

บุคคลเป็นเทพในชาตินี้ได้อย่างไร การเป็นเทพในชีวิตนี้ หรือชาตินี้ (โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน) คือการมีคุณสมบัติที่เหมาะสมหมวดใดหมวดหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1. ประกอบด้วย - ความละอายต่อความชั่ว(หิริ) - ความเกรงกลัวต่อความชั่ว (โอตตัปปะ)

2. ประกอบด้วย - ความเชื่ออย่างมีเหตุผล (ศรัทธา) - ความประพฤติดีงาม - การสดับตรับฟัง หรือการเรียนรู้ (สุตะ) - การเอื้อเฟื้อให้ปัน (จาคะ) และ - ความฉลาด (ปัญญา)

3. ประกอบด้วย - ไมตรีจิตคิดจะช่วยให้เป็นสุข (เมตตา) ตรงข้ามกับพยาบาท หรือคิดปองร้าย - เอ็นดูหรือสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ (กรุณา) ตรงข้ามกับวิหิงสา หรือการเบียดเบียน - พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี (มุทิตา) ตรงข้ามกับความริษยา และ - วางใจเป็นกลาง (อุเบกขา) ตรงข้ามกับความลำเอียง

 

เทพที่กล่าวถึงในพระพุทธศาสนามีกี่ประเภท มี 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

1. เทพโดยสมมติ โดยการนัดหมายกันรับรู้ หรือสมมติเทพ หมายถึงพระมหากษัตริย์

2. เทพโดยกำเนิด หรืออุปปัตติเทพ (อ่านว่า อุ-ปะ-ปัต-ติ-เทพ) หมายถึง ผู้ที่เกิดเป็นเทพ

3. เทพโดยความบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ หรือวิสุทธิเทพ หมายถึง พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ผู้ดับกิเลส (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) ที่ทำให้ใจเศร้าหมองได้อย่างสิ้นเชิง เทพประเภทนี้จัดว่าสูงสุด

มีพระพุทธวจนะว่า (ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้ดี และความประพฤติดี เป็นผู้ประเสริฐสุดในบรรดาเทพและมนุษย์

คำว่า “รู้”ในที่นี้หมายถึง ปัญญาที่ทำให้กิเลสและความทุกข์หมดสิ้นไป ส่วนคำว่า “ความประพฤติ” หมายถึง มาตรฐานขั้นสูงแห่งการปฏิบัติทางศีลธรรมและจิตใจ

 

พระพุทธเจ้าสอนวิธีเพื่อบรรลุประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์อยู่ 3 ระดับ รวมทั้งวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุประโยชนืเหล่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน คือ

1. ประโยชน์ปัจจุบัน หรือทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม) - ความขยันหมั่นเพียรในการเลี้ยงชีพ - การรู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ - การคบเพื่อนที่ดี - การดำรงชีวิตโดยเหมาะสม (ไม่ฟุ่มเฟือย หรือฝืดเคืองเกินไป)

2. ประโยชน์อนาคต หรือ สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์แห่งศีลธรรม และคุณธรรม) - ศรัทธา ความเชื่อ - ศีล ความประพฤติดีงาม - จาคะ การเอื้อเฟื้อให้ปัน - ปัญญา ความรู้ความฉลาด

3. ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือปรมัตถะ (ประโยชน์สูงสุดด้วยการเป็นอิสระจากกิเลส และกองทุกข์) - ศีล ความประพฤติดีงาม - สมาธิ การทำจิตใจให้ตั้งมั่น - ปัญญา ความรู้ความฉลาด

โดยพิสดารวิธีปฏิบัติทั้ง 3 เพื่อประโยชน์อย่างยิ่งนี้ อธิบายในรูปอริยมรรค หรือมรรคอันประเสริฐ มีองค์ 8 คือ 1. ความเห็นชอบ 2. ความดำริชอบ 3. การเจรจาชอบ 4. การกระทำชอบ 5. การเลี้ยงชีพชอบ 6. ความเพียรชอบ 7. ความระลึกชอบ 8. การทำจิตให้ตั้งมั่นชอบ

 

 

 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo