พุทธประวัติสังเขป

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้ เพราะเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาองค์สำคัญยิ่งพระองค์หนึ่งของโลก

สมุดภาพพุทธประวัติสำหรับประชาชน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้ เพราะเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาองค์สำคัญยิ่งพระองค์หนึ่งของโลก

พระพุทธเจ้านั้น เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางมหามายามีประวัติความเป็นมาปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างชัดแจ้ง พระประวัติของพระพุทธองค์นั้นพึงทราบโดยสังเขปดังต่อไปนี้

ชาติภูมิ
ทางภาคเหนือสุดของชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) มีรัฐที่อุดมสมบูรณ์รัฐหนึ่ง ชื่อ "สักกะ" หรือ "สักกชนบท" ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำโรหิณี ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศเนปาล กรุงกบิลพัสดุ์เป็นเมืองหลวงของรัฐนี้ กษัตริย์ศากยวงศ์ทรงปกครองรัฐนี้สืบต่อกันมาโดยลำดับ จนถึงรัชสมัยของพระเจ้าสีหนุ ซึ่งมีพระนางกัญจนาเป็นพระอัครมเหสีต่อมาพระเจ้าสีหนุได้ทรงจัดให้พระราชโอรสองค์ใหญ่พระนามว่า “สุทโธทนะ” ได้อภิเษกสมรสกับพระนางมหามายา พระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ และพระนางยโสธราอัครมเหสี แห่งกรุงเทวทหะ โดยทรงประกอบพระราชพิธีขึ้น ณ อโศกอุทยาน กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระเจ้าสีหนุสวรรคตแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้เสวยราชสมบัติสืบพระวงศ์ต่อมา

ประสูติ
เมื่อก่อนพุทธศักราช 81 ปี พระนางมหามายา อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ทรงพระสุบินว่า ลูกช้างเผือกเชือกหนึ่ง เข้าสู่พระครรภ์ของพระนาง หลังจากนั้นไม่นานนัก พระนางก็ทรงพระครรภ์ เมื่อพระครรภ์แก่จวนครบทศมาสแล้ว พระนางมหามายาทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปประทับที่กรุงเทวทหะชั่วคราว เพื่อประสูติพระโอรสในราชตระกูลของพระนางตามประเพณี ถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี) พระนางก็เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยราชบริวารแต่เวลาเช้า พอใกล้เที่ยงวันก็เสด็จถึงลุมพินีวันราชอุทยาน อันตั้งอยู่กึ่งทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ จึงเสด็จแวะเข้าไปประทับพักผ่อนที่ใต้ต้นสาละ ทันทีนั้นพระนางก็ประชวรพระครรภ์และประสูติพระโอรส (พระพุทธเจ้า) ความทราบถึงพระเจ้าสุทโธทนะ ก็โปรดให้รับพระนางพร้อมด้วยพระโอรสเสด็จกลับสู่กรุงกบิลพัสดุ์

หลังจากประสูติแล้ว 5 วัน ได้มีการประกอบพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระนามพระราชโอรสว่า "สิทธัตถกุมาร" ในพระราชพิธีนี้ได้เชิญพราหมณ์ 108 คน เข้ามาฉันอาหารในพระราชวัง และให้มีการทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะตามธรรมเนียมด้วย คณะพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อตรวจดูพระลักษณะถี่ถ้วนแล้ว ส่วนมากได้ร่วมกันทำนายพระลักษณะว่ามีคติเป็น 2 อย่าง คือ ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะนี้อยู่ครองราชย์สมบัติ ก็จักได้เป็นพระจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกทรงผนวช ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่มีพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งในคณะพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อ โกณฑัญญะ ได้ทำนายพระลักษณะยืนยันว่ามีคติเพียงอย่างเดียว โดยทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะนี้จะต้องเสด็จออกทรงผนวชและจะต้องได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

ครั้นถึงวันที่ 7 นับแต่วันประสูติ พระนางมหามายาพระราชชนนีก็เสด็จสวรรคต เจ้าชายสิทธัตถะจึงอยู่ในความอภิบาลของพระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระมาตุจฉา (พระน้านาง) ของพระองค์ ซึ่งได้ทรงเป็นพระมเหลีของพระเจ้าสุทโธทนะสืบต่อมา

ทรงศึกษาและอภิเษกสมรส
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเจริญวัยแล้ว ก็ทรงได้รับการศึกษาศิลปวิทยาการต่าง ๆ ตามแบบกษัตริย์ในสมัยนั้น โดยพระราชบิดาได้ทรงมอบให้ครูวิศวามิตร ผู้มีชื่อเสียงที่สุดในเวลานั้น เป็นผู้รับภาระถวายการศึกษาอบรม เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระปรีชาเฉลียวฉลาดยิ่ง สามารถจบการศึกษาอบรมแต่เมื่อมีพระชนม์เพียง 15 พรรษา นำความปรีดาปราโมทย์มาสู่พระราชบิดา พระประยูรญาติและพระอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระชนม์ได้ 16 พรรษา ได้ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงพิมพา หรือยโสธรา พระราชธิดาพระเจ้าสุปพุทธะ กษัตริย์ศากยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ พระราชพิธีอภิเษกสมรสได้จัดขึ้น ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ท่ามกลางพระประยูรญาติทั้ง 2 ฝ่าย ภายหลังการอภิเษกสมรส ได้ทรงดำรงพระยศเป็นรัชทายาท แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พระราชบิดาทรงสร้างปราสาทใหม่ให้ประทับ 3 หลัง เพื่อทรงสำราญตลอดฤดูกาล ทรงเพียบพร้อมด้วยโลกิยสุขอยู่จนพระชนมายุได้ 29 พรรษา และพระนางพิมพาพระวรชายาก็ทรงพระครรภ์ในปีนั้น

ทรงผนวช
ในปีที่ทรงมีพระชนมายุได้ 29 พรรษานั้นเอง เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นรัชทายาทได้เสด็จประพาสพระราชอุทยาน 4 ครั้ง ได้ทอดพระเนตรเห็น คนแก่ คนเจ็บไข้ คนตาย และสมณะ ตามลำดับ ในการเสด็จประพาส 3 ครั้ง พระองค์ทรงสลดพระทัยในความทุกข์ยาก และความไม่เที่ยงแท้ ความผันแปรของชีวิต ในครั้งที่ 4 อันเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะนั้น พระองค์ทรงพอพระทัยในการทรงผนวช และเมื่อเสด็จจากการประพาสพระราชอุทยานครั้งสุดท้ายนั้นเอง พระองค์ทรงทราบว่า พระนางพิมพา พระวรชายาของพระองค์ได้ประสูติพระโอรส และทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกทรงผนวชในคืนวันนั้น โดยทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะ เป็นสหาย เสด็จบ่ายพระพักตร์สู่แคว้นมคธตอนใต้ พอเวลาใกล้รุ่งก็เสด็จถึงแม่น้ำอโนมา อันเป็นพรมแดนแห่งสักกะกับแคว้นมัลละ เสด็จข้ามแม่น้ำอโนมาเข้าสู่ฝั่งของแคว้นมัลละ ประทับยับยั้งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น ทรงตัดพระเมาลีของพระองค์ด้วยพระขรรค์ แล้วทรงอธิษฐานเพศบรรพชิตทรง ผนวชเป็นสมณะ ณ ฝั่งแม่น้ำนั้น แล้วรับสั่งนายฉันนะ ให้นำม้ากัณฐกะ และเครื่องทรงกลับกรุงกบิลพัสดุ์ นับแต่รุ่งอรุณวันนั้นเป็นต้นมา พระสิทธัตถะก็เสด็จแรมอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ แต่พระองค์เดียวชั่วเวลาราว 7 วัน

ทรงแสวงหาโมกขธรรมและทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา
ต่อมาพระสิทธัตถะได้เสด็จจากอนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ แล้วไปยังที่ต่าง ๆ จนถึงเขตกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม (ความพ้นทุกข์) ครั้งแรกเสด็จเข้าไปศึกษาอบรมในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และสำนักอุทกดาบสรามบุตร ทรงเห็นว่าลัทธิของ 2 สำนักนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ได้ จึงทรงอำลาจากสำนักดาบสทั้งสองนั้น เสด็จจาริกแสวงหาโมกขธรรมต่อไปจนถึง ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม อันมีแม่น้ำเนรัญชราไหลผ่าน ได้ประทับอยู่ในป่า ณ ตำบลนี้ ทรงเริ่มบำเพ็ญทุกกรกิริยาโดยประการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่ทรงพบทางพ้นทุกข์ได้ ในเวลานั้น พวกปัญจวัคคีย์ คือ ภิกษุ 5 รูป อันได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ มีความเลื่อมใสในพระสิทธัตถะ ด้วยเชื่อว่าพระองค์จะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า จึงได้พากันมาเฝ้าปฏิบัติพระองค์ด้วยความเคารพ

ตรัสรู้
นับแต่ปีที่ทรงผนวชจนถึงปีที่ได้ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอย่างเคร่งครัดนั้น เป็นเวลา 6 ปีแล้ว พระสิทธัตถะทรงแน่พระทัยว่า การบำเพ็ญทุกกรกิริยานั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์แน่ และประกอบกับเวลานั้น ท้าวสักกะได้เสด็จมาเฝ้า ทรงดีดพิณ 3 สายถวาย คือ สายหนึ่งตึงเกินไปมักขาด สายหนึ่งหย่อนเกินไปเสียงไม่เพราะ สายหนึ่งพอดีเสียงไพเราะ ยิ่งทำให้พระสิทธัตถะแน่พระทัยยิ่งขึ้นว่า การทำความเพียรเคร่งครัดเกินไปนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์อย่างแน่แท้ พระองค์จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา ทรงหันมาบำเพ็ญเพียรทางใจ อันได้แก่ สมถะ (ความสงบ) และ วิปัสสนา (ปัญญา) โดยทรงเริ่มเสวยพระกระยาหารตามปกติ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เห็นดังนั้น จึงคลายศรัทธาเลิกเฝ้าปฏิบัติ แล้วพากันไปอยู่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เป็นเหตุให้พระองค์ประทับอยู่แต่พระองค์เดียว ทำให้ได้รับความวิเวกยิ่งขึ้น ทรงเริ่มบำเพ็ญทางใจ ณ ภายใต้ต้นหว้าใหญ่ต้นหนึ่ง

ครั้นอยู่ต่อมาถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เวลาเช้า พระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่โคนต้นไทรต้นหนึ่ง ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา เวลานั้นนางสุชาดา ธิดาสาวของกฎุมพีนายบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา ได้จัดข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองคำ นำไปบวงสรวงเทวดาที่ต้นไทรนั้นตามลัทธินิยมของตน ครั้นเห็นพระสิทธัตถะประทับนั่งอยู่ก็เข้าใจว่าเป็นเทวดา จึงน้อมถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดทองคำ แล้วหลีกไป พระสิทธัตถะทรงรับข้าวมธุปายาสแล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา ทรงสรงสนานพระวรกาย แล้วเสวยข้าวมธุปายาส แล้วทรงลอยถาดลงในกระแสแม่น้ำเนรัญชรา ครั้นแล้วจึงเสด็จไปประทับในดงไม้สาละ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น

ครั้นย่างเข้ายามเย็น พระสิทธัตถะก็เสด็จจากป่าสาละไปยังต้นอัสสัตถพฤกษ์ (มหาโพธิ) ต้นหนึ่ง ซึ่งอยู่ริมฝั่งที่โค้งแม่น้ำเนรัญชราฝั่งตะวันตก ระหว่างทางทรงรับฟ่อนหญ้าคาที่คนหาบหญ้าขายชื่อโสตถิยะน้อมถวาย 8 ฟ่อน ทรงนำไปปูลาดเป็นบัลลังก์ที่ควงไม้มหาโพธินั้น แล้วประทับนั่งบนบัลลังก์นั้น ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกทางแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ คือ ทรงเจริญสมถะและวิปัสสนา ได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในยามสุดท้ายแห่งวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

ครั้นตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ 7 สัปดาห์ ในสถานที่ทั้ง 7 แห่ง แห่งละสัปดาห์ คือ ที่ต้นมหาโพธิ์ ที่อนิมิสเจดีย์ ที่รัตนจงกรมเจดีย์ ที่รัตนฆรเจดีย์ ที่ต้นอชปาลนิโครธ ที่ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) และที่ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) ตามลำดับ

ในสัปดาห์ที่ 5 ระหว่างเวลาที่ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธนั้น พระพุทธองค์ทรงแก้ปัญหาพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งทูลถามปัญหาเรื่องความเป็นพราหมณ์ และมีธิดาพญามารทั้ง 3 คือ นางตัณหา นางราคา และจรตี ได้มาทำการยั่วยวนพระองค์ให้ทรงหันไปลุ่มหลงในทางโลก แต่ไม่เป็นผล ในสัปดาห์ที่ 6 ระหว่างแวะที่ประทับอยู่ที่ใต้ต้นมุจลินท์นั้น มีฝนตกตลอดสัปดาห์ พญานาคชื่อ มุจลินท์ ให้มาถวายอารักขา ป้องกันพระองค์มิให้เปียกฝน และมิให้กระทบลมหนาว ในสัปดาห์ที่ 7 ระหว่างเวลาที่ประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะนั้น มีพ่อค้า 2 คน คือ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ ได้ถวายข้าวสัตตุก้อนและสัตถุผงแก่พระพุทธองค์ และมีความเลื่อมใสได้ประกาศตนเป็นอุบาสก ถือพระพุทธกับพระธรรมเป็นสรณะ นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ทรงแสดงปฐมเทศนา และได้ปฐมสาวก
ครั้นต่อมาถึงตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (เดือน 8) พระพุทธองค์ได้เสด็จจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคมถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันรุ่งขึ้นอันเป็นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ได้ทรงแสดงพระปฐมเทศนา คือ พระธรรมจักกัปปวัตตนะสูตร โปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 อันเป็นเทศนากัณฑ์แรกในพระพุทธศาสนา เมื่อจบธรรมเทศนาแล้ว ท่านโกณฑัญญะ (อัญญาโกณฑัญญะ) ได้ธรรมจักษุ คือ ได้ดวงตาเห็นธรรม อันได้แก่ การได้บรรลุพระโสดาปัตติผล และได้ขออุปสัมปทา นับเป็นพระสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อแต่นั้นมาก็ทรงสั่งสอนท่านทั้ง 4 จนได้บรรลุโสดาปัตติผล และได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาถ้วนทุกองค์ ต่อมาถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือนสาวนะ (เดือน 5) พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดท่านทั้ง 5 จนได้บรรลุพระอรหัตตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ถ้วนทั้ง 4 องค์ ในวันนั้น จึงนับเป็นพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก รวมทั้งพระพุทธองค์ด้วยเป็น 6 องค์

ทรงโปรดชาวเมืองพาราณสี
ต่อมา เมื่อประทับจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน อันเป็นพรรษาแรกนั้นเอง พระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงอนุปทาพิกถาโปรดกุลบุตรชื่อ ยสะ ซึ่งเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีให้ได้บรรลุพระอรหัตตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นพระอรหันต์องค์ที่ 7 ในโลก ทั้งได้ทรงแสดงโปรดเศรษฐีบิดาพระยสะให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก และนับเป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ทั้งได้โปรดมารดาและภรรยาของท่านยสะให้เลื่อมใส ได้ประกาศตนเป็นอุบาสิกา ซึ่งเป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนาที่ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

ต่อแต่นั้นมา 2 - 3 วัน พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ผู้เป็นสหายของท่านยสะทั้ง 4 คน ชื่อ วิมละ สุพาหุ ปณณชิ และควัมปติ ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นพระอรหันต์ในโลกจำนวน 11 องค์ ต่อมาอีกไม่นานนัก สหายของท่านยสะซึ่งเป็นชาวชนบทจำนวน 50 คน ก็ได้บวชตามท่านยสะ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั่วทุกองค์ นับจำนวนพระอรหันต์ในโลกเพิ่มขึ้นเป็น 61 องค์

ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนา
เมื่อมีพระอรหันต์สาวกจำนวนมากถึง 60 องค์ และเวลานั้นก็ได้สิ้นฤดูฝนแล้ว พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นโอกาสดี สมควรส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว จึงมีพระพุทธดำรัสสั่งพระอรหันต์สาวก ให้จาริกไปในที่ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยให้ยกย้ายกันไป มิให้ไปรวมกัน ให้ไปแสดงธรรมประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลาย ส่วนพระองค์เองก็จะเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา กรุงราชคฤห์ เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

ทรงโปรดภัททวัคคีย์และชฎิถ
เมื่อทรงส่งพระสาวกออกจาริกไปแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาแต่พระองค์เดียว ระหว่างทางได้เสด็จแวะเข้าไปพักผ่อนที่ไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง ณ ที่นี้ พระองค์ได้ทรงพบชายหนุ่มจำนวน 30 คน เป็นสหายกันเรียกว่า “ภัททวัคคีย์” ซึ่งได้พากันออกติดตามหาภรรยาของหนุ่มคนหนึ่งที่ได้ขโมยของหนีไป พระพุทธองค์จึงตรัสเตือนว่า จะตามหาหญิงหรือตนเองดี แล้วทรงแสดงธรรมโปรดให้ได้บรรลุมรรคผล ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา (คือ การบวชให้ด้วยพระองค์เองด้วยการตรัสว่าจงมาเป็นภิกษุเถิด) แล้วทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาทั้ง 30 องค์

หลังจากที่ทรงโปรดพวกภัททวัคคีย์แล้ว ตอนบ่ายวันนั้น พระพุทธองค์ก็เสด็จจากไร่ฝ้าย พอเวลาพลบค่ำก็เสด็จถึงตำบลอุรุเวลาริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลนี้ พระองค์ได้ทรงโปรดชฎิล 3 พี่น้อง ที่ตั้งอาศรมบำเพ็ญพรตอยู่ที่ตำบลนี้ คือ ชฎิลผู้พี่ใหญ่ชื่อ อุรุเวลกัสสป น้องคนกลางซื่อ นทีกัสสป น้องคนเล็กชื่อ คยากัสสป คุมบริวาร (รวมทั้งตัวเองด้วย) คนละ 500, 300 และ 200 โดยตั้งอาศรมอยู่ตอนเหนือแม่น้ำเนรัญชรา ที่คุ้งแม่น้ำตอนกลาง และที่คุ้งแม่น้ำตอนใต้สุดโดยลำดับ โดยทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรโปรดชฎิลเหล่านั้นให้ได้บรรลุมรรคผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง 1,000 รูป ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั่วทุกรูป

ทรงโปรดพระเจ้าพิมพิสารและทรงได้พระอัครสาวก
เมื่อทรงโปรดชฎิล 3 พี่น้อง พร้อมทั้งบริวารและทรงพักอยู่ที่ตำบลคยาสีสะพอสมควรแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงพาพระอรหันต์ผู้เป็นชฎิลจำนวน 1,000 รูปนั้น เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ เสด็จเข้าประทับอยู่ที่สวนลัฏฐิวัน ใกล้พระราชวังพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าวนี้ ก็ได้เสด็จไปเฝ้า พร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนจำนวนมาก พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดให้ได้บรรดุธรรมและมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชศรัทธาถวายพระเวฬุวัน (สวนไผ่) เพื่อเป็นวิหาร (วัด) แก่พระสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุข ซึ่งนับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวน 1,000 องค์นั้น ได้ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหารต่อมาจนถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน มาฆะ (เดือน 3) เวลานั้น ปริพาชกมีชื่อ 2 คน คือ อุปติสสะ และ โกลิตะ เป็นสหายกัน ได้พาบริวาร (รวมทั้งตัวเองด้วย) จำนวน 250 คน เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเวฬุวันวิหาร พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาถ้วนทุกคน ปริพาชกที่เป็นบริวารได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั่วทุกคน ส่วนอุปติสสะและโกลิตะ ผู้เป็นหัวหน้ายังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น ครั้นต่อมาอีก 2 วัน พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดท่านโกลิตะ ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้งต่อมาถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 3) พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมแก่ทีฆนชะปริพาชกที่ถ้ำสูกรขตา (ถ้ำที่สุกรขุด) ข้างเขาคิชฌกูฏ ท่านอุปดิสสะนั่งถวายงานพัดพระพุทธองค์อยู่ ได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ต่อมาพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระอุปดิสสะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาปรากฏพระนามว่า พระสารีบุตรอัครสาวก ยกย่องพระโกลิตะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ปรากฏนามว่า พระมหาโมคคัลลานะอัครสาวก

ทรงเปิดประชุมจาตุรงคสันนิบาต
ในตอนบ่ายแห่งวันเพ็ญเดือนมาฆะวันนั้น ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากถ้ำสูกรขตา ข้างเขาคิชฌกูฏมาถึงพระเวฬุวันวิหาร พระสงฆ์อรหันตสาวกจำนวน 1,250 องค์ ก็ได้มาชุมนุมพร้อมกันเฉพาะพระพักตร์ ต่างองค์ต่างมุ่งมาเฝ้าพระพุทธองค์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งการประขุมสงฆ์ครั้งนี้ประกอบด้วยองค์ 4 จึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ

(1) วันนั้นเป็นวันมาฆปุณณมี วันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ เดือนมายะ
(2) พระอริยสงฆ์จำนวน 1,250 องค์ มาประชุมกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
(3) พระอริยสงฆ์ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6
(4) พระอริยสงฆ์ทั้งนั้น ล้วนเป็นเอหิภิกขุคือ ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธองค์เอง พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าการประชุมประกอบด้วยองค์ 4 ดังกล่าวนี้ เป็นโอกาสดียิ่งที่ จะได้ทรงแสดงหลักการสำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงทรงเปิดการประชุมและทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมนั้น

ทรงโปรดพระพุทธบิดา พระนางพิมพา และราหุล
ต่อจากวันเพ็ญเดือนมาฆะนั้นมา พระพุทธองค์ได้ทรงส่งพระอริยสาวกจำนวน 1,250 องค์นั้น ออกไปประกาศพระพุทธศาสนา กิตติศัพท์ได้เลื่องลือไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ว่า พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จจารึกโปรดเวไนยชนให้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระสงฆ์ และเป็นอุบาสกอุบาสิกา ได้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนมาก ขณะนี้กำลังประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงทราบกิตติศัพท์นั้นแล้ว จึงทรงส่งทูตมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ แต่ส่งทูตมาอย่างนี้ถึง 9 ครั้ง พระพุทธองค์ยังมิได้เสด็จ ต่อมา อย่างเข้าปีที่ 2 นับแต่ตรัสรู้ พระเจ้าสุทโธหนะจึงทรงส่งทูตมาอาราธนาอีก โดยทรงมอบให้กาพุทายีอำมาตย์เป็นหัวหน้าคณะทูตที่มาคราวนี้ก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งคณะ ครั้นย่างเข้าฤดูร้อนพระกาพุทายีจึงทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำอาราธนาของพระพุทธบิดา พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์จำนวน 2 หมื่นรูป จึงได้เสด็จไปโดยมีพระกาฬุหายีเป็นผู้นำทางเสด็จดำเนินเป็นเวลา 60 วันก็ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธารามใกล้ป่ามหาวัน ซึ่งพระญาติจัดไว้ถวาย ได้ทรงแสดงเวสสันดรชาดกโปรดพระประยูรญาติให้เลื่อมใส วันรุ่งขึ้นได้เสด็จออกบิณฑบาตโปรดประชาชนในกรุงกบิลพัสดุ์ ในการเสด็จเยือนกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งนี้ นอกจากได้ทรงแสดงเวสสันดรชาดกโปรดพระประยูรญาติให้เลื่อมใสดังกล่าวแล้ว ยังทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาให้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี โปรดพระนางปชาบดีโคตมี และพระนางพิมพาให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน และโปรดให้พระราลกุมารบรรพชาเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา โดยทรงมอบให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่จำเนียรกาลต่อมา พระราหุลได้อุปสมบทและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เสด็จแคว้นโกศล
เมื่อประทับอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์เป็นเวลาพอสมควรแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์กลับไปยังกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ที่สีสปาวัน (ป่าสีเสียดหรือปากะทุ่มเลือด) ครั้งนั้นเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ชื่อ อนาถปีณทิกะ (เดิมชื่อสุทัตตะ) ได้ไปทำธุรกิจที่กรุงราชคฤห์ และเข้าฝ้าพระพุทธองค์ ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้วได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปกรุงสาวัตถี แล้วตนเองได้กลับไปเมืองสาวัตถีก่อน เพื่อเตรียมการรับเสด็จพระพุทธองค์และได้สร้างพระเขตวันมหาวิหารเตรียมถวาย

ต่อมา พระพุทธองค์ได้เสด็จไปเมืองสาวัตถี ตามคำทูลอาราธนาของท่านเศรษฐีนั้น เมื่อเสด็จถึงแล้ว ท่านเศรษฐีก็ถวายการต้อนรับเป็นอย่างดีด้วยความเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง และได้ถวายพระเชตวันมหาวิหารแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุขพระพุทธองค์ทรงรับพระวิหารไว้ในพระพุทธศาสนา ทรงอนุโมทนาแสดงธรรมกถาโปรดตามควรแก่อัธยาศัย ระหว่างที่ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและทรงโปรดพระนางมัลลิกาอัครมเหสีให้ได้ดวงตาเห็นธรรม

ครั้งนั้น เหตุการณ์ภายในเมืองสาวัตถีกำลังปั่นป่วน เพราะมีโจรใจเหี้ยมคนหนึ่งชื่อ "องคุลิมาล" ได้ออกอาละวาดฆ่าคนเป็นจำนวนมาก โดยตัดนิ้วมือของคนที่ถูกฆ่าคนละนิ้วคล้องเป็นพวงมาลัยได้ 999 นิ้ว ยังเหลือเพียงนิ้วเดียวก็จะครบ 1,000 นิ้วตามต้องการ เวลานั้นมารดาขององคุลิมาลคิดถึงลูกมาก ประสงค์จะไปเยี่ยมลูกพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าหากองคุลิมาลได้พบมารดา ก็จะฆ่ามารดาของตนเสีย จะเป็นบาปหนัก จึงเสด็จไปโปรดองคุลิมาลให้มีความเลื่อมใสให้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

พระประยูรญาติทรงผนวชตามเสด็จ
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวันแห่งแคว้นมัลละเวลานั้น กษัตริย์ศากยราชผู้เป็นพระประยูรญาติ 6 พระองค์ คือ พระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ และพระเทวทัต ทรงเลื่อมใสในพระพุทธจริยา ประสงค์จะทรงผนวชตามเสด็จพระพุทธองค์จึงพร้อมกันชวนนายช่างกัลบกชื่อ อุบาลี พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ ที่ประทับ ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ก็ประทานอุปสมบทให้ตามประสงค์ โดยให้นายช่างกัลบกอุปสมบทก่อน กษัตริย์ศากยราชทั้ง 6 องค์นั้นอุปสมบทในภายหลัง พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดตามควรแก่อัธยาศัย ต่อมาท่านเหล่านั้น นอกจากพระเทวทัตและพระอานนท์ ได้ปฏิบัติวิปัสสนาจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระอานนท์ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระเทวทัตนั้นได้บรรลุสมาบัติ มีอิทธิฤทธิ์ตามวิสัยปุถุชน

ทรงห้ามพระประยูรญาติวิวาทเรื่องน้ำ
ครั้งหนึ่ง พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายกรุงกบิลพัสดุ์ และฝ่ายโกลิยนคร ได้วิวาทกันด้วยแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีเพื่อระบายน้ำไปสู่พื้นที่ทำนาในเขตของตน เริ่มด้วยพวกคนงานทะเลาะกัน แล้วลามไปถึงกษัตริย์ ทั้งสองฝ่ายได้เตรียมอาวุธยกกำลังเข้าประจัญหน้ากัน จวนจะเกิดศึกอยู่รอมร่อแล้ว ครั้งนั้น ขณะพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่แคว้นสักกะ ทรงเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น จึงเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายให้ระงับการวิวาทบาดหมางกัน โดยทรงชี้ให้เห็นว่าชีวิตกษัตริย์ ชีวิตคนนั้นแพงกว่าน้ำมากนัก ไม่ควรเห็นน้ำดีกว่าคน พระญาติทั้งสองฝ่ายจึงเลิกวิวาทกันและมีความสามัคคีกัน

ทรงโปรดช้างนาพาคีรี
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหารกรุงราชคฤห์ เช้าวันหนึ่ง ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จออกบิณทบาตในกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตศิษย์ทรยศของพระพุทธองค์ได้ติดสินบนควาญช้าง ให้ปล่อยช้างนาพาคีรี เพื่อทำร้ายพระพุทธองค์ตามแผนการ แต่ด้วยเมตตาจิตของพระพุทธองค์ ข้างตกมันก็หายพยศ กลับคุกเข่าหมอบลงตรงพระพักตร์พระพุทธองค์

ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธบิดา
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ทรงจำพรรษา ณ ที่นี้เป็นพรรษาที่ 5 ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระเจ้าสุทโธทนะทรงประชวรหนักจึงเสด็จไปเยี่ยมพระพุทธบิดาที่กรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์พุทธสาวก ครั้นเสด็จถึงแล้ว ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลังจากนั้น 7 วัน พระพุทธบิดาก็สวรรคต พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์และพระประยูรญาติ จึงพร้อมกันจัดถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธบิดา

พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกถูกประทุษร้าย
การที่พระพุทธองค์ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงมั่นคงในมัธยมประเทศ (ภาคกลางชมพูทวีป) และแพร่หลายไปในที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วนั้น ก็ด้วยการร่วมกำลังกันเผยแผ่ของพุทธบริษัทที่สำคัญ คือ พระสงฆ์ พุทธสาวก และบรรดาพระสงฆ์สาวกนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ พระอัครสาวกทั้ง 2 คือ พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานะเถระซึ่งเป็นกำลังอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ จึงเป็นที่อิจฉาริษยาของมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มากนั้นมีผู้ปองร้ายอยู่ตลอดเวลา ครั้งหนึ่งเมื่อท่านพักจำพรรษาอยู่ที่กาฬศิลา แคว้นมคธ ก็ได้ถูกกลุ่มอาชญากรประทุษร้ายด้วยการว่าจ้างของกลุ่มมิจฉาทิฏฐิ

แม้พระพุทธศาสนาจะได้เจริญแพร่หลายแล้ว จำนวนพุทธสาวกได้เพิ่มขึ้น พุทธบริษัทมากมายจนนับไม่ถ้วน ถึงกระนั้น พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงหยุดยั้งในการทรงบำเพ็ญพุทธกิจ คงเสด็จจาริกไปแสดงธรรมโปรดประชาชนทั่วไปตลอดเวลา 45 พรรษา นับแต่พรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี จนพรรษาสุดท้ายที่หมู่บ้านเวฬุคาม แขวงเมืองเวสาลี ณ ที่นี้ และพรรษาสุดท้ายนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงประชวรหนัก แต่ทรงข่มเสียด้วยพระสติสัมปชัญญะ ครั้นออกพรรษาแล้วล่วงวันเพ็ญเดือนมาฆะ พระพุทธองค์จึงทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือ ทรงกำหนดพระทัยเรื่องพระชนมายุว่าต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือน พระองค์จักปรินิพพาน

ต่อแต่นั้นมา พระพุทธองค์ก็เสด็จจาริกโปรดเวไนยไปในที่ต่าง ๆ จนเสด็จถึงเมืองปาวา เข้าประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ บุตรนายช่างทอง ได้เสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายที่นายจุนทะถวาย ทรงแสดงธรรมโปรดนายจุนทะให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แล้วทรงอำลานายจุนทะเสด็จดำเนินต่อไป ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ไปโดยลำดับจนถึงปาสาลวัน เขตเมืองกุสินารา รับสั่งพระอานนท์ให้ปูลาดที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่หนึ่ง ให้หันพระเศียรไปทางทิศอุดร แล้วประทับสำเร็จสีหไสยา คือ การบรรทมตะแคงขวาเป็นอนุฏฐานไสยา คือ การบรรทมโดยมิได้ทรงกำหนดว่าจะทรงลุกขึ้นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ณ ตอนบ่ายวันเสด็จถึงนั้น และในคืนวันนั้น สุภัททะปริพาชกได้มาเฝ้าขออุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธองค์ ต่อจากนั้นพระองค์ก็ได้ประทานพระโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ครั้นถึงยามสุดท้ายแห่งวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน

ครั้นรุ่งเช้า เมื่อข่าวการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ทราบถึงพวกมัลลกษัตริย์และชาวเมืองกุสินาราแล้ว กษัตริย์และประชาชนก็ได้พากันมานมัสการพระบรมพุทธสรีระ แสดงความโศกเศร้าอาลัยโดยทั่วหน้า ครั้นล่วงไป 7 วันแล้ว จึงเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ มกุฎพันธนเจดีย์ เพื่อถวายพระเพลิงเมื่อพระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยบริวารมาถึง และที่ประชุมพร้อมแล้ว จึงได้พร้อมกันถวายพระเพลิง ครั้นถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว พวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราก็ได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุที่เหลืออัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ สัณฐาคารศาลาภายในพระนคร เพื่อเป็นที่สักการบูชาสืบไป ต่อมามีกษัตริย์และพราหมณ์ตามเมืองต่าง ๆ ได้มาขอพระบรมธาตุ กล่าวคือ กษัตริย์เมืองราชฤห์ เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองอัลลกัปปะ เมืองรามคาม พราหมณ์เมืองเวฎรูทีปกะ และเมืองป่าวา มัลลกษัตริย์ก็แจกจ่ายถวายโดยทั่วกัน ส่วนโทณพราหมณ์ เมืองกุสินาราผู้ทำหน้าที่แบ่งพระบรมธาตุ ได้ทะนานตวงพระธาตุไว้เป็นที่สักการบูชา
--
ที่มา : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. (2560). สมุดภาพพุทธประวัติสำหรับเยาวชน, 17 กุมภาพันธ์ 2560.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo