ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้ฝ่ามรสุมการเมืองด้วยหลักธรรม

ท่านผู้หญิงพูนศุข กล่าวถึงความรู้สึกของท่านว่า "เมื่อฉันรำลึกถึงความหลังคราใด ก็รู้สึกซาบซึ้งที่นายปรีดีได้เสียสละและไม่เห็นแก่ตัว ... และอดภูมิใจไม่ได้ว่าเป็นภริยานักการเมืองที่มุ่งบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยมิเคยฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและครอบครัวเลย ... เหตุการณ์มากมายหลายอย่างได้เข้ามาสู่ชีวิตของฉัน ล้วนสอนให้ฉันได้เข้าใจในสัจจะของโลกอย่างแจ่มชัด ... ฉันตั้งอยู่ในเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต อโหสิกรรมกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ถือโกรธเคืองแค้นใดๆ อีก ... นั่นคือความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของฉันแล้ว" 
     

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของนายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในคณะราษฎร 2475 อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้นำขบวนการเสรีไทย ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และบุคคลสำคัญของโลก ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พุทธศักราช 2550 อันตรงกับวันคล้ายวันเกิดของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สามีที่ครองรักร่วมกันมานานกว่า 54 ปี ท่ามกลางมรสุมการเมืองที่โหมกระหน่ำชีวิตของท่านทั้งสอง ท่านผู้หญิงพูนศุขได้ฝ่าวิกฤตการเมืองด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างน่าสรรเสริญยิ่ง โดยเชื่อมั่นตามพระพุทธวจนะที่ว่า "ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม"

ในวัยสนธยา ท่านผู้หญิงพูนศุขได้เล่าเรื่องราวชีวิตของท่านกับนายปรีดี พนมยงค์ ในหลายโอกาส อันเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่สำคัญของไทย โดยแฝงด้วยคติธรรมอย่างน่าศึกษายิ่ง ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำเรื่องราวของท่านทั้งสองเสนอต่อสังคมไทย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของนักการเมืองและภรรยานักการเมืองผู้ซื่อสัตย์สุจริต ที่มุ่งต่อความอยู่ดีมีสุขของราษฎร และถือเอาประโยชน์สุขของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

นายปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ณ บ้านตรงข้ามวัดพนมยงค์ ตำบลวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียงและนางลูกจันทน์ พนมยงค์ ส่วนท่านผู้หญิงพูนศุข เป็นบุตรของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ (สุวรรณศร) แต่งงานกันเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471 มีบุตรทั้งหมด 6 คนคือ ลลิตา ปาล สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี และวาณี

นายปรีดีเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง สำเร็จวิชากฎหมายภายใน 1 ปี (แทนที่จะเป็น 2 ปีตามหลักสูตรสมัยนั้น) และได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อที่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 7 ปี จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (Docteur en Droit) และเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือคณะกรรมการกฤษฎีกา) พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ยังตั้งโรงพิมพ์นิติสาส์น (ย่านศาลาแดง) เพื่อพิมพ์ตำราวิชากฎหมายอีกด้วย ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2471 นายปรีดีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นายปรีดีมีภาระหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน โดยเริ่มตั้งแต่เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก กรรมการคณะราษฎร และรัฐมนตรี ในวันที่ 1 เมษายน 2476 มีพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงได้ส่งนายปรีดีไปดูการเศรษฐกิจในต่างประเทศ และได้มอบหมายให้ร่าง " เค้าโครงการเศรษฐกิจ " เพื่อความผาสุกของราษฎร อันเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แต่แล้วสภาวะใหม่ พลังใหม่ และความคิดใหม่ ไม่อาจต้านแรงเสียดทานของสภาวะเก่า พลังเก่า และความคิดเก่าได้ นายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกเนรเทศไปยังฝรั่งเศส ท่านผู้หญิงพูนศุขได้ติดตามไปด้วยโดยทิ้งลูกน้อยสองคนไว้กับคุณตาคุณยาย นับเป็นความทุกข์ครั้งแรกของท่านผู้หญิงอันเนื่องมาจากมรสุมการเมือง ขณะอยู่ที่ฝรั่งเศสนายปรีดีมิได้ท้อแท้ หากมุ่งมั่นศึกษาวิชาการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 เพื่อเปิดสภาและให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร นายปรีดีจึงกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน โดยได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลังตามลำดับ รวมทั้งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าสู่ประเทศไทย รัฐบาลจอมพล ป . พิบูลสงคราม ได้ยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข นายปรีดีพร้อมกับคนไทยที่รักชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการใต้ดิน "เสรีไทย" ขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ขณะนั้นนายปรีดีเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 โดยมติของสภาผู้แทนราษฎร และต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแต่ผู้เดียว จึงทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้อย่างเต็มตัว ท่านผู้หญิงพูนศุขได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยด้วย โดยเป็นคนคัดลายมือรหัสวิทยุสำหรับติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร และรับฟังข่าวสารการสู้รบในสมรภูมิต่างๆ เพื่อการประเมินบทบาทของเสรีไทย

วันที่ 8 ธันวาคม 2488 สันติภาพได้กลับคืนสู่ประเทศไทย มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องนายปรีดีในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส" ให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน และในวันที่ 24 มีนาคม 2489 นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมติของสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เป็นวันวิปโยคของชาวไทยทั้งประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ต้องพระแสงปืนสวรรคต ศัตรูทางการเมืองถือโอกาสใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดี โดยใช้ให้คนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" เพียงข้อกล่าวหาคดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 (ต่อมาศาลได้ตัดสินว่านายปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์) ไม่อาจโค่นล้มพลังประชาธิปไตยภายใต้การนำของนายปรีดีได้ การทำรัฐประหารด้วยความรุนแรงจึงเกิดขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้ใช้รถถังบุกทำเนียบท่าช้าง ยิงปืนกราดใส่ตึกที่พัก หมายจะจับตายนายปรีดี ทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองยังต่างประเทศ

ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 (หรือที่เรียกกันว่า "กบฏวังหลวง") ของนายปรีดีกับคณะที่หวังจะฟื้นฟูรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ประสบความล้มเหลว นายปรีดีต้องหลบซ่อนอยู่ที่บ้านผู้รักความเป็นธรรม ณ บ้านสวนฉางเกลือ ฝั่งธนบุรี เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะลี้ภัยไปต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2495 ท่านผู้หญิงพูนศุขถูกตำรวจในยุคของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ จับกุมในข้อหาอุกฉกรรจ์ "กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร" (หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ "กบฏสันติภาพ") เพียงเพราะท่านเป็นภรรยาของนายปรีดี โดยถูกควบคุมตัวที่สันติบาลเป็นเวลา 84 วัน อัยการจึงสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากไม่มีหลักฐาน ส่วนนายปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลย ก็ถูกจับจองจำในคุกด้วยข้อหาเดียวกันเป็นเวลาเกือบ 5 ปี จึงได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในโอกาสกึ่งพุทธกาล

เมื่อต้องผจญกับความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่โถมกระหน่ำ ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปใช้ชีวิตในบั้นปลายกับนายปรีดีที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนนายปรีดีสิ้นอายุขัยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

วันที่ 11 พฤษภาคม 2543 อันเป็นวันครบรอบ 100 ปีชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ค.ศ. 2000-2001 ว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก

ท่านผู้หญิงพูนศุข กล่าวถึงความรู้สึกของท่านว่า "เมื่อฉันรำลึกถึงความหลังคราใด ก็รู้สึกซาบซึ้งที่นายปรีดีได้เสียสละและไม่เห็นแก่ตัว ... และอดภูมิใจไม่ได้ว่าเป็นภริยานักการเมืองที่มุ่งบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยมิเคยฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและครอบครัวเลย ... เหตุการณ์มากมายหลายอย่างได้เข้ามาสู่ชีวิตของฉัน ล้วนสอนให้ฉันได้เข้าใจในสัจจะของโลกอย่างแจ่มชัด ... ฉันตั้งอยู่ในเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต อโหสิกรรมกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ถือโกรธเคืองแค้นใดๆ อีก ... นั่นคือความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของฉันแล้ว"

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก ประจำปี 2548 เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ ณ ตึกสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 โดยท่านยึดคติธรรมประจำใจอยู่เสมอว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2540 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10683. หน้า 6.   

Photo : https://www.sarakadee.com/2019/03/27/ท่านผู้หญิงพูนศุข-พนมยง/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo