ทฤษฎี “ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ”

พุทธศาสนาจากอินเดียเมื่อเข้าสู่ประเทศจีนแล้ว ได้ถูกหล่อหลอมด้วยอารยธรรมจีนจนกระทั่งกลายเป็น "พุทธศาสนาของจีน" และกลายเป็นหนึ่งในสามศาสนาที่สำคัญของจีนไปในที่สุด เมื่อพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดินจีน ครั้งแรกมีแต่เพียงสถาบันภิกษุเท่านั้น ต่อมาเมื่อกุลธิดาจีนต้องการออกบวช จีนจึงได้ส่งราชทูตเดินทางโดยทางเรือไปยังเกาะลังกา เพื่อนิมนต์ภิกษุณีศรีลังกา ไปเป็น "ปวัตตินี" ในการอุปสมบทภิกษุณีของจีน อันเป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันภิกษุณีในประเทศจีน และต่อมาประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนามในที่สุด
    

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ภายหลังจากที่พุทธศาสนามหายานก่อกำเนิดขึ้นในอินเดียแล้ว ก็ได้เจริญรุ่งเรืองอยู่นานหลายศตวรรษ ต่อมาก็ได้เผยแผ่ลงไปยังเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรขอมและอาณาจักรศรีวิชัย ส่วนอีกสายหนึ่งซึ่งเป็นสายหลักได้ขึ้นไปทางทิศเหนือและรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนเอเชียกลาง (ประเทศอัฟกานิสถาน อุเบกิสถาน เตอร์กิสถาน และรัฐอิสระต่างๆ ทางใต้ของรัสเซียในปัจจุบัน) นานกว่า 700 ปี โดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาที่ถูกค้นพบเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปยืนที่สูงที่สุดและเก่าแก่ที่สุด (กว่า 2,000 ปี) ที่แกะสลักบนเทือกเขาบามิยันในอัฟกานิสถานเป็นประจักษ์พยานสำคัญ (ซึ่งถูกรัฐบาลตาลีบันยิงทำลายไปเมื่อเร็วๆ นี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนานาอารยประเทศ)

แม้ว่าอินเดียและจีนจะมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่ก็ถูกเทือกเขาหิมาลัยที่สูงใหญ่และยาวเหยียดขวางกั้นอยู่ ในสมัยโบราณทั้งอินเดียและจีนจึงเกือบจะไม่ได้ติดต่อกันเลย อารยธรรมอินเดียและอารยธรรมจีนจึงพัฒนาไปคนละทิศคนละทาง จากอินเดียพุทธศาสนามหายานต้องเดินทางขึ้นไปยังเอเชียกลางก่อน แล้วจึงค่อยๆ ลัดเลาะตามเส้นทางสายไหม (silk road) อันเป็นเส้นทางการค้าแต่โบราณจนกระทั่งเข้าสู่จีนในที่สุด เนื่องจากความทุรกันดารและเต็มไปด้วยภยันตรายจากโจรผู้ร้าย ผู้ที่นำพุทธศาสนาผ่านเส้นทางสายไหมสู่จีนในยุคแรกจึงมีเพียงพระภิกษุเท่านั้น

จีนเป็นชาติเก่าแก่และเป็นอู่อารยธรรมของโลก โดยมีปรัชญาและศาสนาที่สำคัญอยู่ก่อนคือปรัชญาเต๋า (Taoism) และปรัชญาขงจื้อ (Confucianism) พุทธศาสนาจากอินเดียเมื่อเข้าสู่ประเทศจีน ต้อง "ปะทะทางอารยธรรม" (clash of civilization) กับปรัชญาที่ลึกซึ้งของจีน ทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นในโลกของปรัชญาและศาสนา กล่าวคือ พุทธศาสนาของอินเดียเมื่อปะทะเข้ากับปรัชญาเต๋าของจีน ก่อให้เกิดพุทธศาสนาอย่างใหม่ขึ้น เรียกว่า "พุทธศาสนานิกายฌาน (เซน)" ซึ่งมีเนื้อหาคือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แต่มีวิธีการแสดงออกแบบลัดสั้น ตรงจุด และฉับพลันแบบเต๋า และเมื่อพุทธศาสนาของอินเดียปะทะเข้ากับปรัชญาขงจื้อของจีน ก็ก่อให้เกิดแนวความคิดใหม่ในโลกแห่งปรัชญาและศาสนา นั่นคือ ทฤษฎี "ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ" (Buddha-nature Theory)

นักปราชญ์จีนมีความสนใจในปัญหา "ธรรมชาติของมนุษย์" มาตั้งแต่โบราณแล้ว โดยนักปราชญ์กลุ่มที่หนึ่งมีความเชื่อว่า "มนุษย์เกิดมาไม่ดีไม่ชั่ว" ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นกลางๆ ความดีความชั่วเกิดขึ้นทีหลัง นักปราชญ์กลุ่มที่สองเชื่อว่า "มนุษย์มีทั้งดีและชั่วติดมาแต่กำเนิด" มนุษย์เกิดมามีทั้งดีและชั่วผสมผเสกันมาในสัดส่วนที่แตกต่างกัน บางคนมีความดีมากกว่าความชั่ว แต่บางคนก็มีความชั่วมากกว่าความดี เหล่านี้เป็นต้น นักปราชญ์กลุ่มที่สามเห็นว่า "มนุษย์บางคนเกิดมาดี บางคนเกิดมาชั่ว" ธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยบางคนเกิดมาเพื่อจะเป็นนักปราชญ์ ส่วนบางคนเกิดมาเพื่อจะเป็นโจร เป็นต้น นักปราชญ์กลุ่มที่สี่มีความเชื่อว่า "มนุษย์เลวมาแต่กำเนิด" เพราะมนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนแล้วแต่เห็นแก่ตัวทั้งสิ้น สังคมจึงต้องสร้างขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา และกฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้บังคับมิให้คนเอารัดเอาเปรียบกัน

เม่งจื้อ (Meng Tzu) สานุศิษย์คนสำคัญของขงจื้อ (Confucius) ซึ่งเป็นผู้นำของนักปราชญ์กลุ่มที่ห้า กลับมีความเห็นว่า "มนุษย์ดีมาแต่กำเนิด" มนุษย์เกิดมามี "เมล็ดพันธุ์แห่งความดี" ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปรียบเหมือนกับเมล็ดพืชหากตกในสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น ดินดี มีปุ๋ย น้ำ อากาศ และแสงแดดที่เหมาะสม เป็นต้นแล้ว เมล็ดพืชก็จะเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ออกดอกออกผลสมบูรณ์ แต่ถ้าเมล็ดพืชไปตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ตกอยู่กลางทะเลทราย เป็นต้น เมล็ดพืชนั้นก็จะตายหรือไม่เติบโตเท่าที่ควร

ฉันใดก็ฉันนั้น เด็กทารกที่เกิดมาหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับโอกาสทางการศึกษา และการฝึกฝนทางจริยธรรม เป็นต้นแล้ว ก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม แต่ถ้าเด็กทารกนั้นเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น ครอบครัวแตกแยก ขาดโอกาสทางการศึกษา และขาดการฝึกอบรมทางจริยธรรม เป็นต้น ก็จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหา กลายเป็นภาระของสังคมไป ดังนั้นครอบครัว การศึกษา และสภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งรวมเรียกว่า "วัฒนธรรม" จึงเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ

แม้ว่าทรรศนะเรื่อง "ธรรมชาติของมนุษย์" จะมีความแตกต่างหลากหลายในปรัชญาจีน แต่ในที่สุดแล้วทฤษฎี "ธรรมชาติมนุษย์ดีมาแต่กำเนิด" ของเม่งจื้อ ก็ได้รับชัยชนะในประวัติศาสตร์ จนกระทั่งกลายเป็นตัวแทนทางความคิดของปรัชญาขงจื้อ (Confucianism) และโลกทรรศน์ของชาวจีนโดยรวมไปในที่สุด เมื่อพุทธศาสนาจากอินเดียเข้ามาสู่ประเทศจีน ต้องปะทะเข้ากับปรัชญาขงจื้อและโลกทรรศน์ของจีนดังกล่าว ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นในโลกแห่งปรัชญาและศาสนา นั่นคือ ทฤษฎี "ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ"

ตามทฤษฎี "ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ" เด็กทารกเกิดมามี "เมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นพุทธะ" ติดตัวมาแต่กำเนิดทุกคนโดยไม่มียกเว้น ปัญหามีเพียงว่าเด็กทารกนั้นจะเติบโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมใด ถ้าหากว่าเด็กคนหนึ่งเกิดมาในครอบครัวที่ดี ได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม ในที่สุดแล้วเด็กคนนี้ก็จะกลายเป็น "พุทธะ" (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) คนหนึ่ง แต่เด็กอีกคนหนึ่งถ้าหากว่าเกิดมาในครอบครัวที่แตกแยก ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสในการปฏิบัติธรรม เด็กคนนั้นในที่สุดแล้วก็จะกลายเป็น "โมฆะบุรุษ" (ผู้ไม่รู้ธรรมะ) กลายเป็นปัญหาของสังคมไป

พุทธศาสนาจากอินเดียเมื่อเข้าสู่ประเทศจีนแล้ว ได้ถูกหล่อหลอมด้วยอารยธรรมจีนจนกระทั่งกลายเป็น "พุทธศาสนาของจีน" (Chinese Buddhism) และกลายเป็นหนึ่งในสามศาสนาที่สำคัญของจีนไปในที่สุด เมื่อพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดินจีน ครั้งแรกมีแต่เพียงสถาบันภิกษุเท่านั้น ต่อมาเมื่อกุลธิดาจีนต้องการออกบวช จีนจึงได้ส่งราชทูตเดินทางโดยทางเรือไปยังเกาะลังกา เพื่อนิมนต์ภิกษุณีศรีลังกา (สายธรรมคุปต์) ไปเป็น "ปวัตตินี" (อุปัชฌาย์ฝ่ายหญิง) ในการอุปสมบทภิกษุณีของจีน อันเป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันภิกษุณีในประเทศจีน และต่อมาประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนามในที่สุด
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11418. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/travel-images-thailand-buddha-1708493/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo