วัยรุ่นไทยกับกระแสลัทธิแม่มด

เด็กวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังแสวงหา กระแสความนิยมในลัทธิแม่มดในหมู่เด็กวัยรุ่นไทย จึงเป็นภาพสะท้อนอย่างหนึ่งของการแสวงหาของเด็กวัยรุ่นในสังคมไทยปัจจุบัน ขณะที่ผู้ใหญ่กำลังแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ในโลกแคบๆ ของผู้ใหญ่อยู่นั้น เด็กวัยรุ่นได้แสวงหาเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการของเด็ก การมีอำนาจวิเศษในตนเองนับเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีเสน่ห์ในช่วงวัยแห่งชีวิตของเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลมากจนเกินไป แต่ควรจะคอยดูแลอยู่ห่างๆ ให้คำปรึกษาหารือที่ดี และคอยเป็นที่พึ่งให้ในยามที่เด็กต้องการ
  

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวคราวเกี่ยวกับกระแสความนิยมลัทธิแม่มด (witchcraft หรือ witchery) ในหมู่วัยรุ่นของไทย ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งครูบาอาจารย์ในโรงเรียน ต่างเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับบุตรหลาน หรือนักเรียนในความดูแลของตน ว่ากำลังตกอยู่ในลัทธิความเชื่อที่งมงายจากต่างประเทศ หรือกำลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มบุคคลทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ที่จะชักจูงเด็กเหล่านั้นไปในทางที่ผิด

สำหรับประวัติความเป็นมาของ ลัทธิแม่มดนั้น แต่เดิมในยุโรปสมัยโบราณ ผู้หญิงเป็นผู้ที่ควบคุมพลังทางจิตวิญญาณของสังคม เนื่องจากผู้หญิงเป็นทั้งผู้ให้กำเนิด และเลี้ยงดูเด็กทารกให้เจริญวัย เป็นผู้ปรุงยาสมุนไพรเพื่อการรักษาโรค ดูแลเกษตรกรรม และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นดิน ผู้หญิงจึงเป็นผู้นำของ ภูมิปัญญาท้องถิ่น (wicca) อย่างแท้จริง มีการบูชาธรรมชาติ เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ ภูเขา แม่น้ำ และต้นไม้สีเขียวทั้งหลาย เป็นต้น ในสมัยนั้นประชาชนนิยมบูชา เทพธิดา หรือเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิง (goddess) มากกว่าเทพเจ้าเพศชาย นับเป็นศาสนาของสังคมในยุคก่อนที่ผู้ชายจะเป็นใหญ่ (pre-patriarchal)

ต่อมาเมื่อศาสนาคริสต์เกิดขึ้นและแพร่หลายไปในยุโรป บาทหลวงซึ่งเป็นเพศชายเริ่มต่อสู้แย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางจิตวิญญาณนั้นจากเพศหญิง บาทหลวงผู้ชายเริ่มกล่าวหาและประณามผู้หญิงซึ่งเป็นผู้นำของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ปรุงยาสมุนไพร รักษาโรค และทำหน้าที่ผดุงครรภ์เหล่านั้นว่า แม่มด คำว่า แม่มด (witch) จึงเป็นคำที่ใช้กล่าวอ้างเพื่อที่จะประณาม ปราบปราม หรือทำลายผู้หญิงซึ่งเป็นเจ้าของภูมิปัญญาและผู้ควบคุมพลังจิตวิญญาณของสังคมในขณะนั้น

ในยุโรปยุคกลางหรือแม้แต่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ทั้งในยุโรปและอเมริกา มีการออกตามล่า แม่มด กันอย่างขนานใหญ่ ผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น แม่มด จะถูกจับมัดติดกับเสา และถูกเผาไฟทั้งเป็น หรือมิฉะนั้นก็จะถูกขว้างปาด้วยก้อนหินจนถึงแก่ชีวิต นับเป็นการปราบปรามพลังแห่งจิตวิญญาณและสติปัญญาของเพศหญิงอย่างขนานใหญ่ในยุโรป เพื่อที่จะสถาปนาสังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ขึ้นมาแทนที่ นับต่อจากนั้นศาสนาที่ผู้ชายเป็นใหญ่ จึงได้เข้าแทนที่ศาสนาที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ

สำหรับประเทศไทยนั้นกระแสนิยมลัทธิแม่มดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอิทธิพลของหนังสือเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ซึ่งแต่งโดย เจ. เค. โรลลิ่ง (J. K. Rolling) ที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งในหมู่เด็กและวัยรุ่นในตะวันตก และต่อมาเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก เหตุที่หนังสือและภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับความนิยมในหมู่เด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างสูงนั้น เนื่องจากตัวเอกของเรื่องคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ นั้น เป็นเด็กผู้ชายที่มีอำนาจเวทมนตร์คาถาอยู่ในมือ สามารถมีอำนาจเหนือผู้ใหญ่ทั้งหลายที่อยู่รอบข้างได้ ผู้ใหญ่ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะครอบงำหรือกดขี่เด็ก จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

หนังสือและภาพยนตร์เรื่องนี้จึงโดนใจเด็กและวัยรุ่นมากที่สุด เพราะเด็กและวัยรุ่นไม่ว่าชาติใดภาษาใดนั้นมักจะถูกครอบงำด้วยอำนาจของผู้ใหญ่ โดยที่เด็กเองไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทัดทาน หรือคัดค้านอำนาจครอบงำจากผู้ใหญ่นั้นได้ เด็กส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนอย่างเปรียบกันไม่ได้ เด็กส่วนใหญ่จึงมีความรู้สึกอยากจะโตเร็วๆ เพื่อที่จะได้มีอำนาจต่อรองกับผู้ใหญ่ หรือมีอำนาจเสมอกับผู้ใหญ่

เมื่อเด็กยังไม่สามารถโตได้เร็วดังใจคิด การมีอำนาจวิเศษอยู่ในมือจึงเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา เมื่อเด็กชายที่ชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แสดงอำนาจวิเศษเหนือผู้ใหญ่ออกมาให้เห็น เด็กจึงรู้สึกชื่นชอบและแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้กลายเป็นวีรบุรุษในดวงใจน้อยๆ ของเด็กไปทั่วโลก

เมื่อลัทธิแม่มด ได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในบริบทสมัยใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ เป็นลัทธิความนิยมในวิชาเวทมนตร์คาถาอาคม ที่ทำให้ผู้ฝึกฝนปฏิบัติเกิดอำนาจวิเศษขึ้นในตัวเอง และสามารถใช้อำนาจวิเศษนั้นในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ใหญ่ซึ่งมีอำนาจเหนือตนเอง ทำให้ลัทธิแม่มด กลายเป็นกระแสความนิยมขึ้นมาในหมู่เด็กวัยรุ่นในสังคมปัจจุบัน

ลัทธิแม่มด จึงแตกต่างไปจากไสยศาสตร์ (superstition) ทั่วไป ในแง่ที่ว่า ไสยศาสตร์นั้นเป็นลัทธิความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติที่อยู่นอกตัว ผู้ที่เชื่อถือไสยศาสตร์จึงเป็นผู้ที่แสวงหาที่พึ่งจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ภายนอก ส่วนลัทธิแม่มดนั้นเชื่อกันว่าเป็นศาสตร์หรือวิชาเฉพาะแขนงหนึ่ง ที่ผู้สนใจศึกษาเล่าเรียนและนำมาฝึกฝนปฏิบัติแล้ว จะเกิดอำนาจเหนือธรรมชาติขึ้นในตนเอง และผู้ปฏิบัติสามารถนำอำนาจเหนือธรรมชาตินั้นไปใช้ต่อรองกับบุคคลอื่นได้ ดังนั้น ลัทธิแม่มดจึงมีเสน่ห์สำหรับเด็กวัยรุ่นเป็นอย่างยิ่ง

ลัทธิแม่มด สมัยใหม่เกิดขึ้นและแพร่หลายในหมู่เด็กวัยรุ่นในตะวันตกก่อน และด้วยระบบการสื่อสารที่รวดเร็วในยุคปัจจุบัน ต่อมาจึงแพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งเข้ามาในประเทศไทย ด้วยการชักนำของบรรดา พ่อมด และแม่มดทั้งหลายจากตะวันตก มีการสื่อสารกันโดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การนัดพบปะกันตามสถานที่ต่างๆ การบรรยายพิเศษโดยแขกรับเชิญจากต่างประเทศ การรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นชมรม เช่น ชมรม แม่มดแห่งสยาม (Witches of Siam) เป็นต้น

เด็กวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังแสวงหา กระแสความนิยมในลัทธิแม่มดในหมู่เด็กวัยรุ่นไทย จึงเป็นภาพสะท้อนอย่างหนึ่งของการแสวงหาของเด็กวัยรุ่นในสังคมไทยปัจจุบัน ขณะที่ผู้ใหญ่กำลังแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ในโลกแคบๆ ของผู้ใหญ่อยู่นั้น เด็กวัยรุ่นได้แสวงหาเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการของเด็ก การมีอำนาจวิเศษในตนเองนับเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีเสน่ห์ในช่วงวัยแห่งชีวิตของเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลมากจนเกินไป แต่ควรจะคอยดูแลอยู่ห่างๆ ให้คำปรึกษาหารือที่ดี และคอยเป็นที่พึ่งให้ในยามที่เด็กต้องการ

ส่วนเด็กวัยรุ่นนั้นไม่ควรหมดเปลืองเวลากับเรื่องนี้มากจนเกินไป เพราะจะทำให้เสียการเรียนหรือเสียหน้าที่การงาน เมื่อผ่านพ้นวัยแห่งการแสวงหานี้ไปแล้ว ความนิยมในกระแสลัทธิแม่มดก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเอง
--
ที่มา :หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9752. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/candles-pumpkins-witch-skull-1868640/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo