พุทธศาสนาในพม่า

ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) บุตรสาวของออง ซาน วีรบุรุษของพม่า ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งปี ค.ศ.1990 แต่รัฐบาลทหารกลับล้มการเลือกตั้งนั้น และกักตัวออง ซาน ซูจี ไว้ที่บ้าน จนนำไปสู่การประท้วงจากนักศึกษา พระสงฆ์ และประชาชนพม่าอย่างกว้างขวาง โดยได้รับการสนับสนุนในทางสากลจากนานาประเทศกระทั่งสถานการณ์เข้าสู่ยุคปัจจุบัน 
   

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ตามตำนานพุทธศาสนามาถึงชายฝั่งพม่าตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพ่อค้าชาวมอญสองคนนำพระเกศาของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานในวัดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon) ที่มีชื่อเสียง สมัยพระจักรพรรดิอโศกมหาราชแห่งอินเดีย (ประมาณ 310 ปีก่อน ค.ศ.) พระธรรมทูตได้เดินทางเผยแผ่พุทธศาสนามายังดินแดนมอญแห่งสุวรรณภูมิ ตราบกระทั่งถึงยุคอาณาจักรพุกาม (Pagan) เรืองอำนาจเท่านั้น (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 11) ที่พุทธศาสนาเถรวาทได้หยั่งรากลึกลงสู่วัฒนธรรมพม่า และกลายเป็นศาสนาแห่งรัฐของพม่านับแต่นั้น

การแตกนิกายของคณะสงฆ์พม่า

การแตกนิกาย (gaing) ของพุทธศาสนาในพม่านั้น มีความเก่าแก่เท่าๆ กับประวัติศาสตร์คณะสงฆ์แห่งพม่าเลยทีเดียว พระเจ้าอนุวัตร (Anawrahta) แห่งอาณาจักรพุกามได้รวบรวมคณะสงฆ์ให้เป็นปึกแผ่นภายใต้แนวทางของสำนัก "ชินอรหัน" (Shin Arahan) ทำให้พุทธศาสนาของพม่าเกิดเอกภาพขึ้นประมาณหนึ่งศตวรรษ ต่อมาในสมัยพระเจ้าอุษนา (Uzana) คณะสงฆ์ได้แยกออกเป็นสองฝ่ายคือ อรัญวาสี (พระป่า) กับคามวาสี (พระบ้าน)

คริสต์ศตวรรษที่ 15 พระบ้านได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักอินวา (Inwa) ในตอนบนของพม่า ส่วนตอนล่างของพม่านั้นพระเจ้าธรรมเจดีย์ (Dhammaceti) แห่งเมืองบาโก (Bago) ได้รวบรวมคณะสงฆ์ให้เป็นปึกแผ่น โดยการให้พระสงฆ์อุปสมบทใหม่ทั้งหมดภายใต้พุทธศาสนานิกายมหาวิหาร (Mahavihara) จากศรีลังกา (ประมาณ ค.ศ.1480) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 พระสงฆ์พม่าโดยรวมเกิดความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ราชวงศ์โคนบวง (Konbaung) จึงได้เข้ามาตรวจสอบคณะสงฆ์ จนเกิดเป็นเอกภาพขึ้นมาอีกประมาณ 7 ทศวรรษ

คณะสงฆ์พม่าเกิดแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง เมื่ออูจาการา (U Jagara) เจ้าสำนักพระป่าชเวกิง (Shwegyin) ผู้เคร่งครัดในพระวินัย ได้รับนิมนต์จากพระเจ้ามินดง (Mindon) ให้เข้าไปพำนักในเมืองมัณฑเลย์ (Mandalay) อันเป็นเมืองหลวงในปี ค.ศ.1860 โดยพระเจ้ามินดงทรงให้คำมั่นว่า คณะสงฆ์ของท่านจะได้อยู่อย่างเป็นเอกเทศโดยไม่ต้องปะปนกับพระสงฆ์อื่นๆ ทำให้เกิดเป็น "นิกายชเวกิง" (Shwegyin Gaing) ขึ้นในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันพระสงฆ์ที่เหลือทั้งหมดซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศ และอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระสังฆราช (Thathanabaing) ก็ได้กลายเป็น "นิกายธุธรรมะ" (Thudhamma Gaing) นับแต่นั้น

พุทธศาสนาในพม่าได้แตกแยกออกเป็นนิกายย่อยอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ธรรมานุธรรมะ มหาดวายะ (Dhammanudhamma Mahadwaya) ไวลูวุน (Weiluwun) ธรรมวินัยนุโลม มูลาดวายะ (Dhammavinayanuloma Muladwaya) ธรรมยุติกะ (Dhammayuttika) จาตุภูมิกะ มหาสติปัฏฐาน เฮนเกทวิน (Catubhummika Mahasatipatthana Hngettwin) คณะวิมุตกาโด (Ganavimut-Gado) และอนุกจอัง ดวายะ (Anaukchaung Dwaya) เป็นต้น นิกายเหล่านี้แตกต่างกันเพียงรายละเอียดของพระวินัยและข้อวัตรปฏิบัติเท่านั้น เมื่อพม่าได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1948 นั้น นิกายธุธรรมะและนิกายชเวกิงได้กลายเป็นนิกายหลักของพม่า โดยนิกายชเวกิงก้าวหน้ามากที่สุดในแง่ของการจัดองค์กรและการมีระเบียบแบบแผนที่รัดกุม

การปฏิรูปคณะสงฆ์ในพม่า

ตลอดประวัติศาสตร์นั้น พม่าได้พยายามชำระสะสางพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ด้วยการปฏิรูปคณะสงฆ์ ซึ่งรวมถึงการกลับไปหาพระวินัยดั้งเดิม และการจัดองค์กรสงฆ์เสียใหม่เพื่อให้เกิดเอกภาพขึ้น ชาวพม่าได้ยกย่องพระเจ้าอนุวัตรแห่งอาณาจักรพุกามว่าเป็นกษัตริย์ "ธรรมราชา" (Dhammaraja) พระองค์แรก ผู้ทรงอุปถัมภ์ค้ำจุนพุทธศาสนาเถรวาทและทรงรวบรวมคณะสงฆ์ให้เป็นปึกแผ่น นับจากนั้นอีกแปดศตวรรษ กษัตริย์เกือบทุกพระองค์แห่งอาณาจักรพุกาม (Pagan) พินยา (Pinya) อินวา (Inwa) ทวนคู (Toungoo) อมรปุระ (Amarapura) และมัณฑเลย์ (Mandalay) ทางตอนเหนือของพม่า และอาณาจักรบาโก (Bago) ของมอญทางตอนล่างของพม่า ได้พยายามเจริญรอยตามอุดมคติของ "ธรรมราชา" ด้วยการปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา และส่งเสริมสนับสนุนคณะสงฆ์

คริสต์ศตวรรษที่ 15 พระเจ้าธรรมเจดีย์แห่งอาณาจักรบาโกของมอญ (ผู้ทรงเคยผนวชมาก่อน) ทรงปฏิรูปพุทธศาสนาโดยการกำหนดให้คณะสงฆ์เคร่งครัดในพระวินัย และทรงให้พระสงฆ์บวชใหม่อีกครั้งหนึ่งในนิกายมหาวิหาร (Mahavihara) จากศรีลังกา อันกลายเป็นแบบฉบับของการปฏิรูปคณะสงฆ์ของพม่าในเวลาต่อมา นับเป็นการย้ำบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองที่มีต่อคณะสงฆ์ตามแบบอย่างพระจักรพรรดิอโศกมหาราชแห่งอินเดีย

ในอีกสี่ศตวรรษต่อมา พระเจ้ามินดง (Mindon) ทรงเปิดการประชุมสังคายนาพุทธศาสนาครั้งที่ 5 ขึ้นในปี ค.ศ.1871 โดยทรงโปรดให้พระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบพระไตรปิฎกให้ถูกต้อง แล้วโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกทั้งหมดลงบนแผ่นหินอ่อน ซึ่งรู้จักกันต่อมาว่า "ศิลาจารึกแห่งมัณฑเลย์" (Mandalay Inscriptions) ต่อมาพระเจ้าธิบาว (Thibaw) กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าทรงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชและพระสงฆ์อาวุโสชั้นนำอื่นๆ ว่ากล่าวตักเตือนคณะสงฆ์มิให้ย่อหย่อนในพระวินัย และมิให้ประพฤติตนแบบอลัชชี (นักบวชนอกรีต)

พุทธศาสนากับสังคมพม่ายุคสมัยใหม่

ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีภายใต้ลัทธิอาณานิคม นโยบายการไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนาของอังกฤษทำให้เกิดช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาขึ้น การอุปถัมภ์ค้ำจุนของรัฐที่มีต่อพุทธศาสนาได้หยุดชะงักไป อย่างไรก็ตาม ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของพระสงฆ์พม่าก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมขึ้นในเวลาต่อมา การก่อตั้งสภากลางสามัคคีสงฆ์ (General Council of Sangha Samaggi, GCSS) ขึ้นในปี ค.ศ.1922 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิรูปองค์กรคณะสงฆ์เพื่อการต่อสู้ทางการเมืองนั้น ไม่อาจดึงดูดพระสงฆ์ส่วนใหญ่ได้ ทั้งๆ ที่เกิดกระแสชาตินิยมอย่างรุนแรงขึ้นมาในพม่า

ระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1942-45) รัฐบาลของ ดร.บาเมียว (Dr.Ba Maw) ที่ญี่ปุ่นหนุนหลังอยู่ ได้จัดตั้งสภากลางสงฆ์ทุกนิกาย (Grand Council of the Sangha of All Orders) ขึ้นเพื่อรวมพระสงฆ์พม่าในทุกนิกายให้เป็นหนึ่งเดียว ภายหลังจากที่อังกฤษได้เข้ายึดครองพม่าอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1945 ผู้นำพระสงฆ์ (sayadaw) ทางตอนล่างของพม่าได้พยายามที่จะฟื้นฟูสภากลางสงฆ์ขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะความแตกต่างทางนิกายได้ ในปี ค.ศ.1947 ออง ซาน (Aung San) ผู้นำพม่าประสบความสำเร็จในการเจรจาที่กรุงลอนดอนเพื่อให้มีการเลือกตั้งขึ้นในพม่า ออง ซานได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกลอบสังหารเสียก่อน และกลายเป็นวีรบุรุษของการต่อสู้เพื่อเอกราช อูนุ (U Nu) ได้เข้ามาสานงานต่อ จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948

ทศวรรษที่ 1950 นายกรัฐมนตรีอูนุได้พยายามฟื้นฟูพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นสถาบันหลักในโครงสร้างของรัฐ มีการสังคายนาพุทธศาสนาครั้งที่ 6 ในปี ค.ศ.1954 อูนุพยายามผลักดันนโยบาย "พุทธสังคมนิยม" (Buddhist Socialism) ในแบบฉบับของพม่า โดยรัฐจะให้หลักประกันในด้านปัจจัยสี่ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) แก่ประชาชน และพุทธศาสนาให้แนวทางในด้านจิตใจและจริยธรรม ความพยายามของอูนุยังไม่ประสบผลสำเร็จนักก็เกิดรัฐประหารขึ้นก่อน รัฐบาลทหารพม่าได้แยกตัวออกจากเรื่องของศาสนา โดยปล่อยให้คณะสงฆ์ดำเนินการด้านศาสนาไปตามลำพัง

การชุมนุมเรียกร้องของชาวพุทธประสบความสำเร็จในวันที่ 27 พฤษภาคม 1980 เมื่อมีการผ่านร่างกฎหมาย 3 ฉบับ (การจัดระเบียบคณะสงฆ์ การแก้ไขความขัดแย้งด้านพระวินัย และการถือหนังสือสุทธิของพระสงฆ์) การลงมติ 4 ข้อ (การปฏิรูประบบการสอบพระปริยัติธรรม การห้ามพิมพ์พระพุทธรูปและเจดีย์ในสิ่งตีพิมพ์ที่ไม่เหมาะสม การห้ามบุคคลภายนอกพักอาศัยในเขตสงฆ์ และการจับพระปลอมสึก) และการเลือกตั้งองค์กรศาสนาที่สำคัญอีก 3 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อรักษาพระศาสนาให้บริสุทธิ์ รุ่งเรือง และยั่งยืน ภายหลังการชุมนุม เจดีย์มหาวิชายะ (Mahavijaya) ได้ถูกสร้างขึ้นบนเนินเขาเล็กๆตรงข้ามกับเจดีย์ชะเวดากอง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการรวมตัวครั้งสำคัญของคณะสงฆ์พม่า

ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) บุตรสาวของออง ซาน วีรบุรุษของพม่า ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งปี ค.ศ.1990 แต่รัฐบาลทหารกลับล้มการเลือกตั้งนั้น และกักตัวออง ซาน ซูจี ไว้ที่บ้าน จนนำไปสู่การประท้วงจากนักศึกษา พระสงฆ์ และประชาชนพม่าอย่างกว้างขวาง โดยได้รับการสนับสนุนในทางสากลจากนานาประเทศกระทั่งสถานการณ์เข้าสู่ยุคปัจจุบัน
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๑๐๕๐๑ คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖. 

Photo : https://pixabay.com/photos/mandalay-burma-pagoda-temple-635418/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo