หัวใจพระพุทธศาสนา

หลักมัชฌิมาปฏิปทานี้ สามารถนำมาใช้ได้กับกิจกรรมทุกประเภทของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน โดยมีความมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหา กำจัดทุกข์เพื่อช่วยให้มนุษย์บรรลุความดีงาม ซึ่งการปฏิบัติดีและปฏิบัติชอบนั้น มนุษย์ต้องเข้าใจในจุดหมายของตนเอง ซึ่งนับเป็นการกระทำด้วยปัญญา หรือมีสัมมาทิฏฐิ 

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๓ ต่อมาหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ณ เวฬุวันมหาวิหาร จึงได้มีการชุมนุมครั้งใหญ่ของพระสงฆ์สาวก โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธาน เราเรียกวันนี้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” เพราะเป็นวันที่มีการประชุมครบองค์ ๔ คือ

(๑.) พระสงฆ์ซึ่งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกัน
(๒.) พระสงฆ์ที่มาประชุมในวันนั้น ล้วนแต่เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าบวชให้
(๓.) พระสงฆ์เหล่านั้นมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
(๔.) วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆะ (เดือนสาม)

ในวันนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงประทานพระโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อเป็นการสรุปคำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งปวงให้สั้นและเข้าใจได้ง่าย เรียกว่า “หัวใจพระพุทธศาสนา” ซึ่งคำสอนเหล่านั้นได้ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และพุทธศาสนิกชนก็ได้ถือเอาโอวาทปาฏิโมกข์นี้เป็นแม่แบบในการประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานพระโอวาทปาฏิโมกข์ ความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงสวดพระปาติโมกข์ในที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ดังนี้ ขันติ คือ ความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรม อย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อมการทำจิตของตนให้ผ่องใสนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ๑๐/๕๔/๔๐-๑.)

กล่าวโดยสรุปแล้ว หัวใจพระพุทธศาสนา (พุทธโอวาท ๓) ประกอบด้วย

(๑.) สพฺพปาปสสฺ อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
(๒.) กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม
(๓.) สจิตฺต ปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส

เพื่อให้เกิดความเข้าใจจึงขออธิบาย “หัวใจพระพุทธศาสนา” อันเป็นแนวทางปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ทางไว้ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตาม

๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง : สพฺพปาปสสฺ อกรณ ํ

สืบเนื่องมาจากความเจริญทางวัตถุ ที่ได้บีบคั้นหรือบั่นทอนความงดงามทางจิตใจของมนุษย์ ทำให้ศีลธรรมจรรยาของคนเสื่อมทรามลงไป อีกทั้งช่องว่างทางสังคมทำให้คนห่างเหินไปจากพระพุทธศาสนา จึงก่อให้เกิดการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบกัน จนบางครั้งสิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นธรรมธรรมดา ดังนั้น หัวใจพระพุทธศาสนาในส่วนที่ ๑ นี้ มุ่งหวังให้คน “ละความชั่ว” (การละ คือ การเว้น การงด และการไม่ประพฤติปฏิบัติ) เพื่อให้คนได้พบกับหนทางไปสู่ชีวิตที่ดี ซึ่งการละความชั่วนั้นสามารถกระทำได้หลายประการ คือ การปฏิบัติตาม “ศีล ๕” หรือ “เบญจศีล” ที่นับเป็นพื้นฐาน หรือข้อปฏิบัติเริ่มแรกในการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่ดี เพราะผู้ใดถือศีล หรือรับศีลแล้ว แสดงว่าผู้นั้นยอมรับในการที่จะละเว้นความชั่ว

“ศีล” เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ซึ่งข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤตินั้นย่อมมีอยู่ในทุกศาสนา รวมทั้งในพระพุทธศาสนา อันเป็นข้อกำหนดเจตนาของแต่ละคนไว้ในใจ เพื่อสร้างกรอบความประพฤติไว้มิให้ตนเองประพฤตินอกลู่นอกทาง และเมื่อจำกัดความประพฤติของตนได้แล้ว จะทำให้จิตใจบริสุทธิ์ ปลอดโปร่ง ไม่ขุ่นหมอง หรือวิตกใด ๆ ทั้งสิ้น และแม้ว่า “ศีล” จะมิใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้ถึงจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาทีเดียว แต่อย่างน้อย “ศีล” ก็เป็นหนทางปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชนเพื่อที่จะทำความดี และเพื่อการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสงบสุข

สิกขาบท ๕ อย่าง ประกอบด้วย

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์]
๒. อทินนาทานา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์]
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม]
๔. มุสาวาทา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ]
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท] ฯ (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๒๘๖/๑๙๖.)

“เบญจศีล” นับเป็นบันไดขั้นแรกของสมาธิและปัญญา ซึ่งอาจถือได้ว่า “เบญจศีล” เป็นแม่บทใหญ่ที่บุคคลควรนำมากำหนดแนวทางความประพฤติให้เหมาะสมกับสภาวะของตน แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดนี้จะต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของศีล นั่นคือการไม่เบียดเบียน กล่าวคือ กระทำโดยปราศจากอคติหรือความลำเอียงเข้าหาตนเอง

นอกจาก “ศีล” แล้ว ควรนำหลักธรรมที่เข้าคู่กับสิกขาบท ๕ ที่แนะนำให้พุทธบริษัทปฏิบัติควบคู่ไปกับเบญจศีล นั่นคือ “เบญจธรรม” หรือ “เบญจกัลยาณธรรม”

เบญจธรรม หรือเบญจกัลยาณธรรม คือ ธรรม ๕ หรือธรรมอันดีงามห้าอย่าง หรือคุณธรรมห้าประการ๕กับเบญจศีล ซึ่งเป็นธรรมเกื้อกูลแก่การรักษาเบญจศีล ผู้รักษาเบญจศีลควรมีไว้ประจำใจ (พระธรรมปิฎก, ๒๕๓๕ :๑๙๖.) ประกอบด้วย

๑. เมตตาและกรุณา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญ และความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์

๒. สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต

๓. กามสังวร คือความสังวรในกาม ความสำรวมระวัง รู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ ไม่ให้หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส

๔. สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง

๕. สติสัมปชัญญะ คือ ระลึกได้ และรู้ตัวอยู่เสมอ ฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิด รู้สึกตัวเสมอว่าสิ่งใดควรทำ และไม่ควรทำ ระวังมิให้เป็นคนมัวเมา ประมาท

๒. การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม : กุสลสฺสูปสมฺปทา

พุทธศาสนิกชนหลายคนเข้าใจว่า “การงดทำชั่ว” คือการไปถือศีลภาวนา หรือการไม่ให้ตนเองไปเกี่ยวพันกับผู้อื่น หรือพัวพันกับบาป อีกทั้งแผ่เมตตาและความปรารถนาดีไปยังเพื่อนมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นการเพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากพุทธศาสนิกชนเข้าใจเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการมองคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่เพียงด้านเดียว นั่นหมายถึงว่าพุทธศาสนิกชนได้ปฏิเสธ หรืองดการกระทำชั่วแต่เพียงด้านเดียว

“ศีล” เป็นการละเว้นและเป็นการกำจัดความชั่วในเบื้องต้น ซึ่งผู้ที่รักษาศีลหรืองดเว้นไม่กระทำความชั่ว จิตใจจะปลอดโปร่ง ไม่มีเรื่องต้องครุ่นคิด ทำให้จิตใจเกิดสมาธิ และเมื่อจิตใจเกิดสมาธิ ก็จะเข้าใจในการใช้ปัญญา และสามารถคิดหาเหตุผลเพื่อสร้างสรรค์ความดีอันก่อให้เกิดประโยชน์สุขแห่งชีวิตของตน และสังคมส่วนรวม ดังนั้น การทำความดีจึงต้องประกอบด้วยการกระทำในเชิงบวก มิใช่เพียงแต่การถือศีลกินเจ หรือการงดเว้นจากการทำความชั่วเท่านั้น เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน จึงแบ่งหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำความดีออกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

(๑.) มงคล ๓๘ ประการ

มงคล ๓๘ ประการ คือ สิ่งที่ทำให้มีโชคดี หรือธรรมอันนำมาซึ่งความสุขความเจริญ เรียกเต็มว่า อุดมมงคล คือ มงคลอันสูงสุด

มงคล ๓๘ ประการ เป็นหลักธรรมเพื่อความก้าวหน้าและความสุขอันแท้จริงของสังคมโลก พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนหัวข้อธรรมให้พุทธบริษัทปฏิบัติ ๓๘ ข้อ โดยเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความเจริญก้าวหน้าแห่งชีวิต เปรียบเสมือนบันไดชีวิต ๓๘ ขั้น หากผู้ใดปฏิบัติตามได้มากข้อก็จะได้พบกับความก้าวหน้าในชีวิตมากขึ้นไปตามส่วน อีกทั้งหัวข้อธรรม ๓๘ ประการนี้ เป็นหลักปฏิบัติตามพุทธโอวาทที่พุทธศาสนานิกชนควรยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพราะจะก่อให้เกิดความสุข และเป็นอุดมมงคลแห่งชีวิต ตลอดจนก่อให้เกิดความเจริญทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตของตน ใจความตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงมงคล ๓๘ ประการ ดังนี้

“ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ครั้นปฐมยามล่วงไป เทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การบำรุงมารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดา และมนุษย์เหล่านั้น ฯ จบมงคลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกบาฐก ๒๕ / ๘ / ๓; พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ๒๕ / ๓๑๘ / ๒๘๘ - ๙.)

การกระทำความดีตามมงคล ๓๘ ประการนี้ เป็นหลักจริยธรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ เพราะมงคลเหล่านี้จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญอย่างบริบูรณ์ อันเป็นลักษณะของพระธรรมในพระพุทธศาสนาที่มุ่งสร้างจริยธรรมให้เกิดขึ้นในใจศาสนิกชน เพื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ตนกระทำเพื่อชีวิตที่ประเสริฐของตนและ ทำให้จิตใจปลอดโปร่งจากสิ่งเศร้าหมองทั้งปวง

(๒.) สัปปุริสธรรม ๗

เนื่องจากพระพุทธศาสนามีลักษณะของธรรมเพื่อเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงเรียกบุคคลผู้มีศีลธรรมที่สมบูรณ์ว่า “สัตบุรุษ” หรือคนที่ประกอบด้วย “สัปปุริสธรรม ๗”

“สัปปุริสธรรม ๗” คือ ธรรมของสัตบุรุษ หรือธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ หรือคุณสมบัติของคนดี หรือธรรมของผู้ดี (พระเทพเวที, ๒๕๓๕: ๒๔๔ - ๖.) อันประกอบด้วยหลักธรรมดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นธัมมัญญู รู้จักธรรม ๑ อัตถัญญู รู้จักอรรถ ๑ อัตตัญญู รู้จักตน ๑ มตตัญญู รู้จักประมาณ ๑ กาลัญญู รู้จักกาล ๑ ปริสัญญู รู้จักบริษัท ๑ ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ หากภิกษุไม่พึงรู้จักธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นธัมมัญญู แต่เพราะภิกษุรู้ธรรม คือ สุตตะ... เวทัลละ ฉะนั้นเราจึงเรียกว่าเป็นธัมมัญญู ด้วยประการฉะนี้ ฯ” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒๓/๖๕/๙๑.)

เมื่อพิจารณา “ธรรมของสัตบุรุษ” แล้วจะพบว่ามีลักษณะเป็นธรรมของผู้รอบรู้ กล่าวคือ เป็นธรรมของผู้ที่มีความรู้ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรอบรู้ในการกระพฤติปฏิบัติของผู้รอบรู้นั้น ที่เมื่อรู้แล้วย่อมนำพาชีวิตให้เป็นไปในทางที่ดีงาม เพราะรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรกระทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์ได้สั่งสมความดีงามไว้เป็นเกราะกำบังกาย และเกราะกำบังเหล่านี้จะคอยปกป้องรักษาตนไว้ให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง เพื่อนำคนเหล่านั้นไปสู่ความสมบูรณ์ในชีวิตได้

๓. การทำจิตของตนให้ผ่องใส : สจิตฺต ปริโยทปนํ

พุทธธรรมสอนว่า “ความดี” เป็นสิ่งที่รักษาและส่งเสริมคุณค่าของชีวิต ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่ชีวิตและจิตใจ ทั้งนี้ล้วนแต่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือความเป็นอิสระทางใจและทางปัญญา ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่า “จิตใจ” นับเป็นตัวนำการกระทำของพุทธศาสนิกชน ดังนั้น การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม

ดังจะเห็นได้ว่า การกระทำที่สะอาดบริสุทธิ์ และการไม่ทำความชั่วทั้งปวง ย่อมนำไปสู่กรรมดี อนึ่ง การทำจิตของตนให้ผ่องใส ล้วนเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติทั้งสิ้น ซึ่งในเรื่องนี้พุทธธรรมได้สอนให้ชาวพุทธได้พึงชำระกาย วาจา และใจ ซึ่งตรงกับหลักคำสอนที่ว่า “กุศลกรรมบถ ๑๐” คือ ทางแห่งกุศลกรรม หรือทางทำดี หรือกรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติ (พระเทพเวที, ๒๕๓๕: ๒๗๖-๗.)

กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ได้แก่
ก. กายกรรม ๓ คือ เครื่องชำระทางกายเพื่อให้กายสุจริต ได้แก่
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป]
๒. อทินนาทานา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้]
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการประพฤติผิด ในกาม]

ข. วจีกรรม ๔ คือ เครื่องชำระตัวทางวาจา เพื่อให้วาจาสุจริต ได้แก่
๔. มุสาวาทา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเท็จ]
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดส่อเสียด]
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดคำหยาบ]
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเพ้อเจ้อ]

ค. มโนกรรม ๓ คือ เครื่องชำระทางใจเพื่อให้มโนสุจริต ได้แก่
๘. อนภิชฌา [ความไม่โลภอยากได้ของเขา]
๙. อัพยาบาท [ความไม่ปองร้ายเขา]
๑๐. สัมมาทิฏฐิ [ความเห็นชอบ] (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๓๖๐/๒๔๖.)

การประพฤติชอบด้วยกาย วาจา และใจเหล่านี้ สามารถเรียกว่า “สุจริต ๓” คือ ความประพฤติดี ประพฤติชอบ เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความดีนั้น มิได้สอนให้ทำดีเพียงอย่างเดียว หากแต่ได้บอกวิธีทำความดีกำกับไว้ด้วย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่รักจะทำความดี ได้ปฏิบัติให้ถูกทาง ซึ่งนับว่าเป็นการสอนที่สมบูรณ์อย่างยิ่ง ซึ่งการปฏิบัติตามกุศลบถ ๑๐ นี้ จะนำพาพุทธศาสนิกชนไปพบหนทางแห่งความสุข 

อริยสัจ ๔

หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งหลักธรรมที่ครอบคลุมคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนา นั่นคือ “อริยสัจ ๔” หรือ “ธัมมจักกัปปวัตตสูตร” อันเป็นหลักธรรมที่นำหลักความจริงของชีวิตมนุษย์ขึ้นมาพิจารณา โดยหยิบยกประเด็นปัญหาให้เห็นและหาหนทางแก้ไขปัญหา เพื่อพุทธศาสนิกชนทุกคนจะได้จัดการกับชีวิตตนได้อย่างถูกต้องตามวิธีการแห่งปัญญา ตามหลักฐานในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึง “อริยสัจ ๔” ความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๔ อย่างนี้ เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น สิ่ง ๔ อย่างเป็นไฉน ? สิ่งนี้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็น อย่างอื่น สิ่ง ๔ อย่างนี้ เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๑๖๙๗/๒๔๖)

“อริยสัจ ๔” คือ ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ (พระเทพเวที, ๒๕๓๕: ๑๘๑.) ซึ่งความจริงเหล่านี้เป็นผลจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่ทรงนำมาเปิดเผยแก่โลก ซึ่งเป็นธรรมที่เปิดทางให้พุทธศาสนิกชนได้พบสัจจะ หรือความจริงที่เป็นประโยชน์สุขแก่การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

พุทธพจน์จากปฐมเทศนา หรือธรรมจักรกัปปวัตนสูตร พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแห่งอริยสัจ ๔ ความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แล คือ ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหา นั้นแหละความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้แล คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๑๖๖๕/๔๒๖.)

อริยสัจ ๔ ประการนั้น คือ

(๑.) ทุกข์ แปลว่า ความทุกข์ หรือสภาพที่ทนได้ยาก ได้แก่ ปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์ กล่าวให้ลึกลงไปอีกหมายถึง สภาวะของสิ่งทั้งหลายที่ตกอยู่ในกฎธรรมดาแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งประกอบด้วยภาวะบีบคั้น กดดัน ขัดแย้ง มีความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่อาจให้ความพึงพอใจเต็มอิ่มแท้จริง ไม่อาจให้ความพึงพอใจเต็มอิ่มแท้จริง พร้อมที่จะก่อปัญหา สร้างความทุกข์ขึ้นมาได้เสมอ ทั้งที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นแล้ว และอาจเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เมื่อใดเมื่อหนึ่ง ในรูปใดรูปหนึ่งแก่ผู้ที่ยึดติดถือมั่นไว้ด้วยอุปาทาน

(๒.) ทุกขสมุทัย เรียกสั้น ๆ ว่า สมุทัย แปลว่า เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ได้แก่ ความอยากที่ยึดถือเอาตนเป็นที่ตั้ง โดยอาการที่มีเราซึ่งจะเสพเสวย ที่จะได้ จะเป็น จะไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยความเร่าร้อน ร่านรน กระวนกระวาย ความหวงแหน เกลียดชัง หวั่นกลัว หวาดระแวง ความเบื่อหน่าย หรือความคับข้องติดขัดในรูปใดรูปหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่อาจปลอดโปร่งโล่งเบา เป็นอิสระ สดชื่น เบิกบานได้อย่างบริสุทธิ์สิ้นเชิง ไม่รู้จักความสุขชนิดที่เรียกว่าไร้ไฝฝ้า และไม่อืดเฟ้อ

(๓.) ทุกขนิโรธ เรียกสั้น ๆ ว่า นิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่เข้าถึง เมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกตัณหาย้อมใจหรือฉุดลากไป ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย ความเบื่อหน่าย หรือความคับข้องติดขัดอย่างใด ๆ หลุดพ้นเป็นอิสระ ประสบความสุขที่บริสุทธิ์ สงบ ปลอดโปร่งโล่งเบา ผ่องใส เบิกบาน เรียกสั้น ๆ ว่า นิพพาน

(๔.) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เรียกสั้น ๆ ว่า มรรค (มรรค มีชื่อเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า ทางมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ, ทางมีองค์ ๘ ของพระอริยะ, ทางมีองค์ ๘ ที่ทำให้คนเป็นพระอริยะ, ทางมีองค์ ๘ ที่พระอริยะคือพระพุทธเจ้าทรงค้นพบ หรือมรรคาอันประเสริฐมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง สามารถเรียกอย่างสั้นได้ว่า “มรรคมีองค์ ๘”) แปลว่า ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ หนทาง วิธีการ) ที่นำไปสู่ความดับทุกข์ หรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือทางประเสริฐมีครบองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เพราะเป็นทางสายกลาง ซึ่งดำเนินไปพอดีที่จะให้ถึงนิโรธ โดยไม่ติดข้องหรือเอียงไปหาที่สุดสองอย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค (ความหมกมุ่นในกามสุข) และอัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความลำบากแก่ตน คือ บีบคั้นทรมานตนเองให้เดือนร้อน) (พระธรรมปิฎก, ๒๕๔๑: ๘๙๖-๗)

“มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ “มรรค” คือ ทางสายกลางที่นับเป็นประมวลหลักความประพฤติปฏิบัติ หรือระบบจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนภาคปฏิบัติ ที่จะช่วยให้พุทธศาสนิกชนดำเนินสู่จุดหมายตามแนวทางของกระบวนการแห่งธรรม นับเป็นวิธีการใช้กฎเกณฑ์แห่งกระบวนการของธรรมชาติให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตอย่างสูงสุด

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงวิธีดำเนินชีวิตให้บรรลุถึงความดับทุกข์และทรงเรียกปฏิปทานั้นว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" แปลว่า ทางปฏิบัติมีในท่ามกลาง หรือ ทางสายกลาง หมายถึงทางปฏิบัติ วิธีการ หรือทางดำเนินชีวิตที่เป็นกลาง ๆ ตามธรรมชาติ หรือสอดคล้องกับธรรมชาติ พอเหมาะพอดีที่จะให้เกิดผลตามกระบวนการดับทุกข์ของธรรมชาติ ดังนั้น "มัชฌิมาปฏิปทา" ก็คืออริยสัจข้อสุดท้ายหรือ “มรรค” ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นทางสายกลาง ที่อยู่ระหว่างความสุดโต่งของทางสายที่หย่อนเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) และทางสายที่ตึงเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค)

“ทางสายกลาง” หมายความว่า จุดหมายหรือหลักที่แน่ชัด อันนำไปสู่จุดหมายนั้นเพื่อให้บังเกิดผลตามเป้าหมาย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเรียกหนทางนั้นว่า “ทางสายกลาง” อนึ่ง ด้วยเหตุที่ “ทางสายกลาง” นั้นเป็นทางที่มีจุดหมายที่แน่ชัด หรือความเป็นทางสายกลางขึ้นอยู่กับความมีเป้าหมายที่แน่ชัดของแต่ละปัจเจกบุคคล ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้จุดหมายปลายทางของตนเสียก่อนจึงจะเดินทางได้

ด้วยเหตุนี้ ทางสายกลางจึงเป็นทางแห่งปัญญา ที่เริ่มต้นด้วยความเข้าใจในปัญหาของตนและรู้จุดหมายที่จะเดินทางไป โดยนัยนี้ทางสายกลางจึงเป็นทางแห่งความรู้และความมีเหตุผล เป็นทางแห่งการรู้ เข้าใจ ยอมรับ และกล้าเผชิญหน้ากับความจริง เมื่อมนุษย์มีความรู้ความเข้าใจและกล้าเผชิญหน้ากับความจริงของโลกและชีวิต หรือสามารถดำเนินวิถีชีวิตให้ถูกต้องดีงามได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งพิงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบรรดาล จากสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องหรือมองไม่เห็น และเมื่อมนุษย์มีความมั่นใจในตนเอง โดยอาศัยทางแห่งปัญญาเช่นนี้แล้ว มนุษย์ก็จะไม่หวาดกลัวกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือวิสัยของมนุษย์ ซึ่งท่าทีแห่งความมั่นใจเช่นนี้นับเป็นลักษณะประการหนึ่งของทางสายกลาง 

มรรคมีองค์ ๘

หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง “หัวใจพระพุทธศาสนา” กับ “อริยสัจ ๔” แล้วสามารถกล่าวได้ว่า “พระโอวาทปาฏิโมกข์” หรือ “พุทธโอวาท ๓” อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้สรุปคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของพุทธศาสนิกชน นั่นคือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่ล้วนแต่เป็นทางไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา นั่นคือความไม่มีทุกข์และเมื่อพิจารณาต่อไปว่า “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?” คำตอบคือ “อริยสัจ ๔” อันเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนต้องไตร่ตรองดัวยปัญญา จึงจะค้นพบว่าจุดบรรจบกันระหว่าง “พุทธโอวาท ๓” กับ “อริยสัจ ๔” คือ ความไม่มีทุกข์ ซึ่งความไม่ทุกข์ก็คือความสุขนั่นเอง ดังนั้น หลักปฏิบัติในการดับทุกข์ตามแนวทางของ “มรรค ๘” จึงได้รวมเข้าเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่มีบางคนเข้าใจว่า คำสอนเรื่อง “อริยสัจ ๔” เป็นการมองโลกในแง่ร้าย เพราะแสดงให้เห็นแต่ทุกข์ คือ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ล้วนชี้ให้เห็นว่าเป็นทุกข์ทั้งสิ้น แต่พึงสังเกตว่า ในท้ายที่สุดอริยสัจ ๔ ได้ชี้แง่ดีไว้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติบรรลุความสุขอย่างแท้จริง นั่นคือ มรรคมีองค์ ๘

พุทธพจน์ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ของพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงความหมาย เนื้อหา และจุดหมายของมัชฌิมาปฏิปทา ความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน นี้คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกข-นิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ฯ สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริใน ความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ สัมมาวาจา เป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา ฯ สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ ฯ สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ ฯ สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ”
(พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ๑๐/๒๙๙/๒๓๑-๒.)

หลักมัชฌิมาปฏิปทานี้ สามารถนำมาใช้ได้กับกิจกรรมทุกประเภทของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน โดยมีความมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหา กำจัดทุกข์เพื่อช่วยให้มนุษย์บรรลุความดีงาม ซึ่งการปฏิบัติดีและปฏิบัติชอบนั้น มนุษย์ต้องเข้าใจในจุดหมายของตนเอง ซึ่งนับเป็นการกระทำด้วยปัญญา หรือมีสัมมาทิฏฐิ จึงนับว่าเป็นการดำเนินตามแนวทางของมัชฌิมาปฏิปทา แต่ในบางครั้งการปฏิบัติของมนุษย์นั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะดำเนินไปด้วยความไม่รู้หรือเข้าใจในจุดมุ่งหมายในการแสวงหาความอุดมแห่งชีวิต ซึ่งการปฏิบัติที่ผิดพลาดเหล่านี้มักถูกนำมาใช้อ้างเพื่อใช้ในการบำรุงปรนเปรอความอยากของตน หรือแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น มนุษย์จึงควรปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับกระบวนการของธรรมชาติเพื่อความสมบูรณ์แห่งชีวิต.

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. (๒๕๒๕). พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑-๔๕. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.

เทพเวที, พระ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (๒๕๓๕). พจนานุกรมพุทธศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ ๗). กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.ธรรมปิฎก.

ธรรมปิฎก, พระ (ป.อ.ปยุตฺโต). (๒๕๔๑). พุทธธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๘). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

________. (๒๕๔๓). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (๒๕๓๗). พระสูตร และอรรถกถา, แปล. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ. (มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เนื่องในโอกาสครบ ๒๐๐ ปี แห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๒๕).

เมธีธรรมาภรณ์, พระ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (๒๕๓๕). พุทธศาสนากับปรัชญา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๓๙). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ ๖). กรุงเทพฯ: บริษัท อักษรเจริญทัศน์ จำกัด.

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๐). พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ - ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนัก. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ. (๒๕๓๙). คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับพุทธศาสนา เล่ม ๑-๒. กรุงเทพฯ.

สมพงษ์ จิวะนนท์. พุทธศาสนิก. (๒๕๓๗). พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : สารมวลชน.

สุชีพ ปุญญานุภาพ. (๒๕๓๙). พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.     

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo