ไสยศาสตร์กับชนชั้นในสังคมไทย

ไสยศาสตร์แห่งอภิปรัชญาอาจจัดเป็นไสยศาสตร์ระดับสูง ขณะที่ไสยศาสตร์แห่งความศักดิ์สิทธิ์และการทำนายทายทักอาจนับเป็นไสยศาสตร์ ระดับกลาง และไสยศาสตร์แห่งการทรงเจ้าเข้าผีและไสยดำอาจถือได้ว่าเป็นไสยศาสตร์ระดับต่ำ
  

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ในท่ามกลางวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ไสยศาสตร์ได้ปรากฏขึ้นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นขบวนการ "ผีบุญ" แห่งภาคอีสานในอดีต ลัทธิบูชา "พระสุพรรณกัลยา" ลัทธิบูชา "จตุคามรามเทพ" หรือแม้กระทั่งขบวนการ "โหราศาสตร์" ในปัจจุบัน ไสยศาสตร์จึงเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานของสังคมไทย ซึ่งบูชายกย่อง "อำนาจ" ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม และเชื่อมโยงกับความผันผวนทางเศรษฐกิจของผู้คนในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้ แม้ว่าไสยศาสตร์จะค่อยๆ ลดความสำคัญลงตามลำดับ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาสมัยใหม่ และการปฏิรูปพุทธศาสนา แต่ไสยศาสตร์ก็ยังคงมีบทบาทและอิทธิพลในสังคมไทยปัจจุบัน

ไสยศาสตร์นอกจากจะมีพื้นฐานมาจากการยกย่องบูชา "อำนาจ" ของสังคมไทย และเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เชื่อมโยงกับวิกฤตเศรษฐกิจ และความทุกข์ยากของประชาชนแล้ว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ยังสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องของชนชั้นในสังคมไทยอีกด้วย ในขณะที่ชนชั้นกลางโดยทั่วไปซึ่งถูกผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโดยตรง จะหันเข้าหาไสยศาสตร์ในรูปแบบซึ่งอาจให้ผลตอบแทนทางรูปธรรมที่ชัดเจน เช่น วัตถุเงินทองในระยะสั้นนั้น ชนชั้นปกครองและชนชั้นล่างของไทยกลับตกอยู่ใต้อิทธิพลของ "ไสยศาสตร์แห่งอภิปรัชญา" ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นไสยศาสตร์ในทางความคิดซึ่งมีอิทธิพลที่ลึกซึ้งต่อความเชื่อของผู้คนแห่ง ชนชั้นนั้นเป็นอันมาก ลัทธิ "กรรมเก่า" ของชนชั้นปกครอง ลัทธิ "กรรมเก่า" ของชนชั้นปกครอง ได้อธิบายสถานะของชนชั้นทางสังคมในชาติปัจจุบันให้เชื่อมโยงกับ "กรรมเก่า" ในอดีตชาติว่า ผู้ที่มีอำนาจและเงินทองในชาติปัจจุบันเป็นเพราะเขาได้ทำกรรมดีมาก่อนใน อดีตชาติ ส่วนผู้ที่ยากจนและไร้อำนาจนั้นเป็นเพราะในอดีตชาติเขาทำบุญมาไม่พอหรือทำ กรรมชั่วมาก่อน ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้จัดเป็นไสยศาสตร์ทางอภิปรัชญา ที่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้แก่ชนชั้นปกครองและระบบสังคมที่เป็นอยู่ และต้องการให้ประชาชนยอมรับในสถานะทางชนชั้นของตนในปัจจุบัน "พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง" เน้นการตีความเรื่อง "กฎแห่งกรรม" ในเชิงอภิปรัชญา โดยการเชื่อมโยงความมั่งมีศรีสุขหรือความทุกข์ยากในปัจจุบันให้เข้ากับ "กรรมเก่า" ในอดีตชาติ

ดังนั้น บุคคลที่มีสถานะทางสังคมที่สูงในปัจจุบันก็คือ บุคคลที่เคยสร้างสมบุญกุศลมามากในอดีตชาติ จึงสมควรที่จะได้เป็นผู้ปกครองประเทศ ธรรมเนียมการอธิบายลำดับชั้นของสังคมไทยเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงจักรวาลวิทยาทางศาสนาในเชิงอภิปรัชญา โดยอธิบายว่าในขณะที่พระพรหม พระอิศวร และเหล่าเทวดา ได้ปกครองสวรรค์ชั้นสูงเนื่องมาจากบุญกุศลอันยิ่งใหญ่นั้น ผู้มีอำนาจก็ได้ปกครองสังคมมนุษย์อันเนื่องมาจากบุญบารมีที่ยิ่งใหญ่เช่น เดียวกัน "ไสยศาสตร์" มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลและงมงาย การเน้นในเรื่องวิญญาณและอิทธิปาฏิหาริย์ที่เหนือธรรมชาติ ทำให้ไสยศาสตร์ของไทยเข้ากันไม่ได้กับการตีความโดยใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง ของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป

ลัทธิ "วันสิ้นโลก" ของชนชั้นล่าง ลัทธิ "วันสิ้นโลก" เป็นอภิปรัชญาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม หรือของผู้ที่ไม่พอใจต่อสภาพชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่ ลัทธิ "วันสิ้นโลก" จะย้ำคำสอนที่ว่า วาระสุดท้ายของโลกกำลังจะมาถึงแล้ว ระบบอำนาจและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกำลังจะถึงกาลอวสาน ผู้คนจะล้มตายเป็นจำนวนมาก สิ่งต่างๆ จะกลับตาลปัตรไปหมด เช่น ก้อนกรวดจะกลายเป็นเงินทอง และเงินทองจะกลับกลายเป็นก้อนกรวด เป็นต้น ผู้มีบุญจะมาเกิดเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่เชื่อในคำสอนนี้ ลัทธิ "วันสิ้นโลก" จึงเป็นศาสนาของผู้ถูกกดขี่ เป็นไสยศาสตร์ทางอภิปรัชญาที่ปลอบประโลมใจของคนทุกข์ยากหรือคนสิ้นหวัง ให้เกิดความหวังว่าสังคมใหม่กำลังจะมาถึง คำสอนนี้จะปรากฏในยุคสมัยที่ผู้คนทุกข์เข็ญไร้ที่พึ่งและไร้ทางออก และอาจจะกลายเป็นพลังที่ผลักดันให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ได้ เช่น การลุกฮือของประชาชนชาวอีสานภายใต้การนำของ "ผู้มีบุญ" ในระหว่างปี พ.ศ.2445 ถึง พ.ศ.2502 (ซึ่งถูกทางราชการเรียกว่า "กบฏผีบุญ") หรือการร้องรำทำเพลงเพื่อต้อนรับ "ผู้มาโปรดใหม่" ของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงในทวีปอเมริกา ในห้วงเวลาแห่งความสิ้นหวังที่ถูกคนขาวเข่นฆ่าปราบปราม

ลัทธิ "วันสิ้นโลก" นี้อาจจะปรากฏในยุคสมัยที่ผู้คนมีปัญหาทางด้านจิตใจ หรือมีความไม่พอใจต่อสภาพชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่ก็ได้ เช่น "วันสิ้นโลก" ของลัทธิโอม ชินริเคียว ในญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายโซโกะ อาซาฮารา ศาสดาผู้มีดวงตาพิการ ซึ่งพาบรรดาสาวกไปสู่การฆาตกรรม และได้ก่อวินาศกรรมสะเทือนขวัญโดยการวางก๊าชพิษซาริน ในขบวนรถไฟและสถานีรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2538 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 10 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 5,000 ราย ลัทธิพิธี "เสด็จพ่อ ร.5" ของชนชั้นกลาง ในสมัยที่เศรษฐกิจไทยกำลังเป็นฟองสบู่ฟูเฟื่องอยู่นั้น ชนชั้นกลางในสังคมเมืองได้เพิ่มปริมาณและขยายตัวขึ้นในวงกว้าง ส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางที่เข้าถึงอำนาจได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจนกลายเป็นชน ชั้นสูง แต่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็เข้าไม่ถึงอำนาจนั้น การประกอบธุรกิจของกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองมีความเสี่ยงสูงอันเนื่องมา จากนโยบายและการใช้อำนาจรัฐ เมื่อความต้องการที่จะเข้าถึงอำนาจรัฐเพื่อประกันความเสี่ยงในธุรกิจของตน ไม่บรรลุผล ลัทธิพิธี "เสด็จพ่อ ร.5" ของกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองก็อุบัติขึ้น ลัทธิพิธีนี้เชื่อว่า ภายหลังการสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกลายเป็น "เทพ" คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขของทวยราษฎร์ด้วยพระเมตตา เนื่องจากทรงเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนัก วัตถุแห่งการเคารพบูชาจึงมิได้เป็นสัญลักษณ์อื่นใด นอกจากพระบรมรูปที่เหมือนจริงของพระองค์ พระบรมรูปทรงม้ากลายเป็นมหาวิหารที่เป็นศูนย์กลางของลัทธิพิธี วันอังคารซึ่งเป็นวันพระราชสมภพเป็นวันสำคัญ ค่ำวันนั้นสาวกของลัทธิพิธีจะตั้งโต๊ะบูชาที่ลานพระบรมรูป ถวายเครื่องสักการะประกอบด้วยดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องเซ่นต่างๆ ที่มิใช่ของคาว เช่น ผลไม้ บรั่นดี และซิการ์ เป็นต้น สาวกส่วนใหญ่เชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์ของ ร.5 นั้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการทำมาค้าขึ้น เมตตามหานิยม และการปกป้องคุ้มครองภัย การเรียก ร.5 ด้วยคำว่า "เสด็จพ่อ" เป็นการเน้นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่าง ร.5 กับสาวกเป็นอย่างมาก การห้อยพระบรมรูปที่คอ และการประกอบพิธีบูชา ร.5 ได้โดยตรง (โดยไม่ต้องผ่าน "คนกลาง" ใดๆ ให้ยุ่งยาก) นับว่า "เสด็จพ่อ ร.5" เข้าถึงได้ง่าย สิ่งเหล่านี้สะท้อนความใฝ่ฝันของคนชั้นกลางที่ต้องการจะเข้าถึงและใกล้ชิด "อำนาจ" และเมื่อไม่อาจทำได้ในโลกของความเป็นจริง จึงหันเข้าหาลัทธิพิธีนี้เพื่อตอบสนองความต้องการที่ขาดหายไปนั้นในทางจิตใจ มหาชนจึงนิยมและหลั่งไหลเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

แม้ว่าลัทธิพิธีนี้จะมีลักษณะ "มวลชน" ดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ขาดความเป็น "ชุมชน" ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนดังในลัทธินิกายอื่นๆ โดยต่างคนต่างมา ต่างคนต่างทำพิธี เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไป นอกจากไสยศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะของชนชั้นทางสังคมแล้ว ยังมีไสยศาสตร์ที่เป็นกลางๆ ที่ไม่สังกัดชนชั้นอีกด้วย โดยไม่ว่าจะเป็นคนที่มาจากชนชั้นใดก็ตาม จะมีความเชื่อในไสยศาสตร์เหล่านี้ เช่น ความศักดิ์สิทธิ์ การทำนายทายทัก การทรงเจ้าเข้าผี และไสยดำ เป็นต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิ "โหราศาสตร์" ซึ่งเป็นลัทธิที่เชื่อในเรื่องอำนาจของดวงดาวต่อชะตาชีวิตของมนุษย์หรือต่อ ชะตาของบ้านเมืองโดยส่วนรวม สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในทางจิตวิทยาได้ชั่วครั้งชั่วคราว ด้วยการทำนายทายทักเรื่องของ "ตัวเอง" เป็นส่วนใหญ่ การดูดวงชะตาราศีจึงเป็นที่นิยมกันมากในหมู่สามัญชนทุกชนชั้น

โดยสรุป ไสยศาสตร์แห่งอภิปรัชญาอาจจัดเป็นไสยศาสตร์ระดับสูง ขณะที่ไสยศาสตร์แห่งความศักดิ์สิทธิ์และการทำนายทายทักอาจนับเป็นไสยศาสตร์ ระดับกลาง และไสยศาสตร์แห่งการทรงเจ้าเข้าผีและไสยดำอาจถือได้ว่าเป็นไสยศาสตร์ระดับ ต่ำ
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11355. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/candle-lamp-room-inside-furniture-3272201/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo