"ความสุขมวลรวมประชาชาติ" หรือ GNH นับเป็นการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมที่สมดุล โดยตั้งอยู่บนความตระหนักที่ว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์แสวงหาความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นหลักการของ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" จึงมุ่งตอบสนองต่อความต้องการอันสูงสุดนี้ของพลเมืองทุกคน โดยภูฏานเป็นผู้ประกาศทฤษฎีและดำเนินนโยบายเป็นแบบอย่างแก่โลกในปัจจุบัน
ท่ามกลางกระแส "ไข้เจ้าชายจิกมี" (Jigme fever) นักวิชาการ สื่อมวลชน และชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง
นำโดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี และรองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
และภายใต้การสนับสนุนของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ได้พบปะหารือกันถึงแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทางเลือกเรื่อง
"ความสุขมวลรวมประชาชาติ" (Gross National Happiness หรือ GNH) ซึ่งประเทศภูฏานเป็นผู้นำเสนอ
โดยจะมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมไทยหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง
"ความสุขมวลรวมประชาชาติ" หรือ GNH เป็นแนวความคิดใหม่ในทางเศรษฐศาสตร์มหภาค
(Macro Economics) ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคิดของพุทธศาสนา มีความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับ
"ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ" (Gross National Product หรือ GNP) อันเป็นแนวคิดเก่าของเศรษฐศาสตร์ตะวันตกหรือเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
ปัจจุบันแนวคิดเรื่อง "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล
"ความสุขมวลรวมประชาชาติ" หรือ GNH ได้รับการประกาศเป็นครั้งแรกโดยกษัตริย์จิกมี
ชิงเย วังชุก (King Jigme Singye Wangchuck) แห่งราชอาณาจักรภูฏาน (Bhutan)
ในปี พ.ศ.2515 แนวคิดเรื่อง "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า
ความสุขคือเป้าหมายหรือความต้องการสูงสุดในชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ถ้าการพัฒนาประเทศจะเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางแล้ว
การพัฒนาก็ควรจะนำไปสู่การบรรลุความพึงพอใจของมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
เสาหลักของ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" มี 4 ประการคือ (1) การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค
(2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (3) การรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรม และ (4) การส่งเสริมการปกครองที่ดี
ในการนำเสนอแนวคิดเรื่อง "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" นั้น กษัตริย์วังชุกมิได้ทรงนำเสนอแต่เพียงทฤษฎีเท่านั้น
แต่พระองค์ได้ทรงแสดงออกในเชิงปฏิบัติทางนโยบาย โดยมีราชอาณาจักรภูฏานเป็นแบบอย่างที่สำคัญให้แก่โลก
เสาหลักข้อที่หนึ่ง "การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค" นั้นมิได้ปฏิเสธตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจแบบตะวันตกแต่อย่างใด
เพียงแต่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นจะต้องกระทำไปตามแนว "ทางสายกลาง" โดยนำเอาปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมและปัจจัยทางด้านจิตใจในส่วนลึกของประชาชนเข้ามาพิจารณาประกอบด้วย
เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืนและเสมอภาค บนพื้นฐานของสังคมที่เคารพประชาชนและวัฒนธรรมของตนเอง
ถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นทำให้คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง การเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนเป็นไปอย่างไม่เสมอภาค
การพัฒนานั้นไม่สอดคล้องกับหลัก "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" หรือถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นเพื่อมุ่งประโยชน์ของคนปัจจุบันเป็นหลัก
มีการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง โดยมิได้คำนึงถึงอนาคตระยะยาวของคนในรุ่นต่อๆ
ไป การพัฒนานั้นไม่สอดคล้องกับหลัก "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" หลักการข้อนี้ภูฏานได้แสดงให้โลกเห็นเป็นแบบอย่าง
โดยประชาชนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรน้อย แต่มีความสุขในชีวิตมาก
เป็นระบบเศรษฐกิจแบบ "พอเพียง"
เสาหลักข้อที่สอง "การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ให้หลักประกันที่ว่า การพัฒนาใดๆ
ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาล หรือภาคเอกชน หรือประเพณีท้องถิ่น หรือจากปัจเจกบุคคล
จะต้องไม่ทำลายความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ชาวโลกจำเป็นจะต้องรับรู้ว่า
โลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีสถานะเป็น "ชีวภาพที่อาจตายได้" (mortal organism)
จำเป็นจะต้องได้รับการบำรุงเลี้ยงและปกป้อง ภูฏานได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติว่า
เป็นประเทศแนวหน้าในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีพื้นที่ป่ามากกว่าร้อยละ
70 ของพื้นที่ประเทศ และมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ในระดับสูง
ภูฏานเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย สภาพอากาศหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่
เมื่อโลกกำลังเผชิญกับสภาวะโลกร้อน (global warming) อันเนื่องมาจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
ภูฏานก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน โดยเมื่อโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมาถึงจุดหนึ่งน้ำแข็งบนภูเขาก็จะถล่มลงมา
บางครั้งพัดพาหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาหายไปทั้งหมู่บ้าน สภาวะโลกร้อนจึงคุกคามทุกประเทศในโลกนี้
ภูฏานแม้จะเป็นเพียงประเทศเล็กแต่ก็กำลังกล่าวขานกับชาวโลกให้ตระหนักถึงภัยจากสภาวะโลกร้อน
และเป็นแบบอย่างของการแก้ไขปัญหา
เสาหลักข้อที่สาม "การรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรม" เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน
เพราะคุณค่าของมนุษย์ เช่น ความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจ ความอ่อนโยน ความเสียสละ
ความอ่อนน้อมถ่อมตน การรู้จักให้อภัย การรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง
เป็นต้น กำลังถูกกัดกร่อนจากโลภจริตหรือความโลภ อันเนื่องมาจากลัทธิบริโภคนิยมที่กำลังครอบงำโลกในขณะนี้
อันที่จริงแล้วคุณค่ามนุษย์ดังกล่าว เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้สังคมมีความหมาย
มีความเอื้ออาทรต่อกัน และทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ในภูฏานยังคงแต่งกายตามแบบประเพณีดั้งเดิม นับตั้งแต่กษัตริย์
นักการเมือง ข้าราชการ ตลอดจนถึงประชาชนโดยทั่วไป (เครื่องแต่งกายเป็นแบบเดียวกับเครื่องทรงของเจ้าชายจิกมี
วังชุก ที่เสด็จเยือนไทยเมื่อเร็วๆ นี้ จะแตกต่างกันก็แต่โดยสีของผ้าคลุมบ่าเท่านั้นที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคม)
สถาปัตยกรรมในภูฏานมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น "ซอง" (Dzong) อันเป็นที่ตั้งของทั้งวัด
ปราสาทราชวัง และที่ทำการรัฐในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือแม้แต่บ้านเรือนของสามัญชนก็คงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้
ในเทศกาลวันสำคัญทางพุทธศาสนา ประชาชนจำนวนมากจะมารวมตัวกันที่ "ซอง" เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลอง
โดยมีพระภิกษุเป็นผู้ที่ประกอบพิธีกรรม แต่งกายร่ายรำระบำหน้ากากต่างๆ และขับร้องประโคมดนตรีพื้นบ้าน
เพื่อขับไล่ปีศาจร้ายและเพื่อความเป็นสิริมงคล ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน
(Vajrayana) หรือตันตระ (Tantra) ในภูฏาน การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด
ทำให้ภูฏานมีเสน่ห์ดึงดูดใจชาวโลก จนต้องจำกัดนักท่องเที่ยวในแต่ละปี เพื่อมิให้ประเทศต้องเข้าสู่วังวนของกระแสโลกาภิวัตน์
เสาหลักข้อที่สี่ "การส่งเสริมการปกครองที่ดี" หรือ "ธรรมาภิบาล" (Good Governance)
เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการนำพาประชาชนไปสู่ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ"
ประเทศทั้งหลายในโลกจะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม กำลังถูกแรงกดดันทั้งจากประชาชนท้องถิ่นและชุมชนระหว่างประเทศ
ให้เข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยหรือ "ธรรมาภิบาล" (การปกครองที่ดี)
แม้ว่าภูฏานยังคงอยู่ใต้ระบอบราชาธิปไตย แต่กษัตริย์วังชุกทรงโปรดให้ร่างรัฐธรรมนูญและทำประชาพิจารณ์
ถ้ามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามกำหนดในปีหน้า จะทำให้ภูฏานเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างสันติ
ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงประกาศจะสละราชสมบัติ
เพื่อให้เจ้าชายจิกมี (องค์ที่เสด็จเยือนไทย) เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์แรกต่อไป
กล่าวโดยสรุป "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" หรือ GNH นับเป็นการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมที่สมดุล
โดยตั้งอยู่บนความตระหนักที่ว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์แสวงหาความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ดังนั้นหลักการของ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" จึงมุ่งตอบสนองต่อความต้องการอันสูงสุดนี้ของพลเมืองทุกคน
โดยภูฏานเป็นผู้ประกาศทฤษฎีและดำเนินนโยบายเป็นแบบอย่างแก่โลกในปัจจุบัน
การปรึกษาหารือกันถึงเรื่อง "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ในหมู่นักวิชาการ สื่อมวลชน
และชาวพุทธไทยกลุ่มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไป โดยการพบปะกันครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่
25 สิงหาคม 2549 นี้
---
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.
๒๕๔๙ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๑๐๓๘๒. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.
เปิดให้บริการเว็บไซต์นับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2547