ศาสนาจึงเปรียบเหมือนสิ่งที่มีชีวิต ที่ดำรงอยู่ในจิตใจของมนุษย์ เป็นเรื่องของโลกทรรศน์และการตีความสัจธรรมของแต่ละคน ศาสนาจึงมิใช่พิธีกรรม สัญลักษณ์ หรือลัทธิคำสอน แต่คือความหมายของสิ่งเหล่านี้ที่มีต่อชีวิตมนุษย์ โดยที่มนุษย์เป็นผู้ที่เลือกตีความเอง ศาสนาจึงเป็นพลังสร้างสรรค์เฉพาะตัวของแต่ละบุคคล และมนุษย์ก็มีอิสระที่จะเลือกและเป็นส่วนหนึ่งของพลังสร้างสรรค์นั้น ดังนั้นศาสนาจึงไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ศาสนาที่หยุดนิ่งอยู่กับที่จึงเป็นศาสนาที่ตายแล้ว
เรามักจะเคยได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอว่า "ศาสนาเสื่อม" หรือ "ศาสนากำลังเสื่อม"
แต่ก็มีเสียงค้านสวนขึ้นมาเกือบจะทันควันว่า "ศาสนาไม่มีวันเสื่อม คนต่างหากที่เสื่อม"
หรือ "สังคมต่างหากที่เสื่อม ศาสนาซึ่งเป็นสัจธรรม บริสุทธิ์ 100% เต็ม ไม่มีวันเสื่อม"
ในสังคมที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของศาสนาใดๆ ก็ตาม เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ก็มักจะเกิดข้อโต้แย้งนี้อยู่เสมอ
ข้อโต้แย้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อศาสนาที่แตกต่างกันสองประการ ประการแรกเป็นการมองศาสนาจากมุมมองทางประวัติศาสตร์
ตามทรรศนะของวิลเฟรด สมิธ (Wilfred Smith) นักวิชาการศาสนาชาวแคนาดานั้น ศาสนาทุกศาสนาล้วนแล้วแต่เกิดและดำเนินไปตามประวัติศาสตร์
และประวัติศาสตร์นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ศาสนาจึงมีความรุ่งเรืองและความเสื่อม
มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ ศาสนาเป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตในตัวของมันเอง
ในแง่นี้ศาสนาจึงมิใช่ความคิดที่ตายตัว
ตัวอย่างเช่น พุทธศาสนาเกิดขึ้นในตอนเหนือของอินเดีย ต่อมาได้เจริญรุ่งเรืองไปทั่วแผ่นดินชมพูทวีป
และได้เผยแผ่ไปทั่วทั้งเอเชียกลางอย่างสันติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน)
เป็นเวลานับพันปี ต่อมาพุทธศาสนาได้เสื่อมไปจากอินเดีย เนื่องจากการฟื้นตัวของศาสนาฮินดู
และพุทธศาสนาก็หมดไปจากเอเชียกลางเนื่องจากการแผ่ขยายอำนาจของกองทัพอิสลามในบริเวณนั้น
เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้นถ้าเราจะบอกว่า พุทธศาสนาในอินเดียและในเอเชียกลางไม่เสื่อม
คนอินเดียและคนแถบเอเชียกลางต่างหากที่เสื่อม เมื่อพุทธศาสนามิได้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของผู้คนในอินเดียและในเอเชียกลางอีกต่อไป
เราไม่อาจพูดได้ว่าพุทธศาสนายังคงอยู่ในอินเดียและในเอเชียกลางไม่รู้จักเสื่อม
เช่นเดียวกันถ้าหากวันใดพุทธศาสนาหมดไปจากประเทศไทยด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เราไม่อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาของไทยไม่เคยเสื่อม
ชาวพุทธไทยต่างหากที่เสื่อม
ประการที่สองเป็นการมองศาสนาจากมุมมองของลัทธิคำสอน เป็นการมองไปที่แก่นแท้ของศาสนา
เนื่องจากแก่นแท้ของศาสนาไม่มีประวัติศาสตร์ หรืออยู่เหนือประวัติศาสตร์ ดังนั้นแก่นแท้ของศาสนาจึงไม่เปลี่ยนแปลง
เป็นสัจธรรมที่คงที่ สมบูรณ์ 100% เต็ม ไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อีก
มุมมองนี้เป็นของนักการศาสนาที่เคร่งครัด ที่มุ่งสู่แก่นแท้ของศาสนาที่แน่นอนตายตัว
ในที่นี้จะขอเรียกว่า "ผู้แสวงหาแก่นแท้ของศาสนา" (Essentialist)
ถ้าหากเราถามผู้แสวงหาแก่นแท้ของศาสนาว่า "แก่นแท้ของศาสนาของท่านคืออะไร"
เราก็จะได้คำตอบชุดหนึ่ง และเมื่อเราถามผู้แสวงหาแก่นแท้ของศาสนาที่มาจากศาสนาอื่นหรือจากสำนักอื่น
เราก็จะได้คำตอบอีกชุดหนึ่ง ดังนั้นแก่นแท้ของศาสนาจึงมีหลากหลาย และส่วนใหญ่มักจะไม่ตรงกัน
ทั้งนี้ก็เพราะ "แก่นแท้ของศาสนา" ของคนคนหนึ่ง ก็ขึ้นกับการตีความศาสนาของคนคนนั้น
และโดยที่น้อยคนนักที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาตามที่กล่าวอ้าง แก่นแท้ของศาสนาที่เป็นสัจธรรมสมบูรณ์
100% เต็มของคนแต่ละคน จึงมักขึ้นอยู่กับจินตนาการของคนคนนั้นที่มีต่อสัจธรรมมากกว่าอย่างอื่น
ยกตัวอย่างเช่น แก่นแท้ของพุทธศาสนาคืออริยสัจสี่ แก่นแท้ของศาสนายูดายคือการปลดปล่อยประชาชาติยิวภายใต้การนำของโมเสส
แก่นแท้ของศาสนาคริสต์คือการเข้าถึงอาณาจักรของพระเจ้าโดยผ่านพระเยซูคริสต์
และแก่นแท้ของศาสนาอิสลามคือการได้เข้าเฝ้าพระอัลลอฮ์ โดยการปฏิบัติตามคัมภีร์อัลกุรอ่านและคำสอนของนบีมุฮัมหมัดอย่างเคร่งครัด
เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแก่นแท้ของศาสนาเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ทว่าแต่ละศาสนาต่างก็อ้างว่าตนครอบครองสัจธรรมทั้งสิ้น
พุทธศาสนาได้แตกออกเป็นหลายนิกาย เช่น นิกายเถรวาทมุ่งเน้นที่ศีล สมาธิ ปัญญา
เพื่อการบรรลุนิพพาน นิกายมหายานมุ่งเน้นที่อุดมคติของโพธิสัตว์เพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
และนิกายวัชรยานมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะอวตารกลับมาเกิดใหม่เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีก
เป้าหมายของนิกายเหล่านี้ไม่เหมือนกัน แต่ทุกนิกายต่างก็อ้างว่าเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน
พุทธศาสนานิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิกายเถรวาทในแต่ละประเทศก็มีอัตลักษณ์เฉพาะตน
เช่น เถรวาทในศรีลังกาเน้นปัญญาเชิงวิชาการ เถรวาทในพม่าเน้นสมาธิโดยไม่เคร่งพระวินัย
(เช่น พระสงฆ์ถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิงได้ เป็นต้น) เถรวาทในประเทศไทยเน้นพระวินัย
ส่วนเถรวาทในลาวและกัมพูชาคล้ายคลึงกับของไทย
เถรวาทในประเทศไทยนั้นยังจำแนกออกเป็นหลายสำนัก เช่น "สันติอโศก" เน้นศีล
สาย "พุท-โธ" "ยุบหนอ-พองหนอ" และ "ธรรมกาย" เน้นสมาธิแบบหลับตา สาย "การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน
จิตฺตสุโภ" เน้นสมาธิแบบเคลื่อนไหว พุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลารามเน้นปัญญาในการพิจารณาความจริง
พระพรหมคุณากร (ป.อ.ปยุตฺโต) เน้นปัญญาเชิงวิชาการ เป็นต้น ทุกสำนักต่างก็อ้างว่าครอบครองสัจธรรม
แต่เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดแล้ว แต่ละสำนักมีเนื้อหาและวิธีการที่แตกต่างกันมาก
นักแสวงหาแก่นแท้ของศาสนาจึงเผชิญกับความหลากหลายของการตีความสัจธรรม แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงค้นพบความจริงมานานกว่า
2,500 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเราทุกคนก็ล้วนมีสถานะไม่แตกต่างไปจากเจ้าชายสิทธัตถะเท่าใดนัก
ที่ต้องดั้นด้นแสวงหาจากสำนักหนึ่งไปยังอีกสำนักหนึ่งเพื่อค้นหาสัจธรรม โดยที่แต่ละสำนักต่างก็อ้างว่าครอบครองสัจธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
ดังนั้นสัจธรรมจึงมิใช่ความคิดที่หยุดนิ่งตายตัว แต่กลับเป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวาที่เราแต่ละคนจะต้องแสวงหาด้วยตนเอง
ศาสนาจึงเปรียบเหมือนสิ่งที่มีชีวิต ที่ดำรงอยู่ในจิตใจของมนุษย์ เป็นเรื่องของโลกทรรศน์และการตีความสัจธรรมของแต่ละคน
ศาสนาจึงมิใช่พิธีกรรม สัญลักษณ์ หรือลัทธิคำสอน แต่คือความหมายของสิ่งเหล่านี้ที่มีต่อชีวิตมนุษย์
โดยที่มนุษย์เป็นผู้ที่เลือกตีความเอง ศาสนาจึงเป็นพลังสร้างสรรค์เฉพาะตัวของแต่ละบุคคล
และมนุษย์ก็มีอิสระที่จะเลือกและเป็นส่วนหนึ่งของพลังสร้างสรรค์นั้น ดังนั้นศาสนาจึงไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่
ศาสนาที่หยุดนิ่งอยู่กับที่จึงเป็นศาสนาที่ตายแล้ว
***
ที่มา :หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๙๘๐๘. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.
เปิดให้บริการเว็บไซต์นับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2547