พระสงฆ์ไทยกับสิทธิในการเลือกตั้ง

หากพระสงฆ์และแม่ชีได้รับสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว เสียงแห่งมโนธรรมและจริยธรรม จะนำการเมืองไทยให้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น
  

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรใกล้จะสิ้นสุดวาระ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อันเป็นองค์กรอิสระตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอย่างคึกคักเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ประชาชนทั่วประเทศต่างก็จะได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

ในอีกมุมหนึ่งของสังคมไทย ประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อยถูกละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ เพียงเพราะว่าบุคคลเหล่านั้นถูกเรียกว่า "พระสงฆ์" ในแง่หนึ่งพระสงฆ์คือสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา แต่ในอีกแง่หนึ่งพระสงฆ์ก็คือประชาชนที่มีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังมาตรา ๕ ที่ว่า "ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน"

กระทรวงกลาโหม กำหนดให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ต้องไปเกณฑ์ทหารในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง แต่กระทรวงมหาดไทย กลับปฏิเสธสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของพระสงฆ์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การตีความสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์ในฐานะประชาชน ของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยจึงขัดแย้งกัน ทั้งๆ ที่ต่างก็เป็นหน่วยงานของรัฐทั้งคู่

รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖ ระบุว่า "การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ในเมื่อพระสงฆ์เป็นทั้งนักบวชในพระพุทธศาสนาและประชาชนในเวลาเดียวกัน การตีความของกระทรวงกลาโหมน่าจะถูกต้องกว่ากระทรวงมหาดไทย กฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ห้ามพระสงฆ์ไม่ให้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง จึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและมิชอบด้วยกฎหมาย ดังมาตรา ๖ ที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"

ข้ออ้างโดยทั่วไปที่ห้ามมิให้พระสงฆ์ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงในการเลือกตั้งก็คือ พระสงฆ์ไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ส่วนการเมืองเป็นเรื่องสกปรก พระสงฆ์จึงไม่ควรเข้าไปแปดเปื้อนกับความสกปรกของการเมือง ถ้าหากข้อสมมติฐานที่ว่า การเมืองคือสิ่งสกปรก (ไร้จริยธรรม) เป็นจริงแล้ว พระสงฆ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจริยธรรม ก็ยิ่งจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องให้มาก เพื่อที่จะชำระล้างการเมืองที่สกปรกให้เป็นการเมืองที่สะอาดให้ได้ อาจถือเป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์ด้วยซ้ำไป

ในฐานะผู้นำทางจริยธรรม พระสงฆ์มีหน้าที่อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน รวมทั้งแก่นักการเมืองด้วย ปัจจุบันการสั่งสอนอบรมทางวาจาอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่นักการเมือง จำเป็นจะต้องสั่งสอนอบรมด้วยการปฏิบัติในเชิงโครงสร้างด้วย การที่พระสงฆ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองต้องฟังพระสงฆ์มากขึ้น พระสงฆ์ซึ่งมีอำนาจทางจริยธรรมอยู่ในมือ ก็จะมีส่วนช่วยให้การเมืองมีจริยธรรมมากขึ้น

ในฐานะผู้นำชุมชน พระสงฆ์อาจใช้อำนาจทางจริยธรรมของตน ช่วยแก้ปัญหาการซื้อเสียง หรือการทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบอื่นๆ เมื่อพระสงฆ์และชุมชนรวมตัวกันและมีพลังในเชิงจริยธรรม นักการเมืองก็จะคิดถึงจริยธรรมมากขึ้น และการเมืองก็จะพลอยมีจริยธรรมเพิ่มขึ้นด้วย

ในสังคมไทยนั้นศาสนากับการเมืองสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกมาโดยตลอด ในอดีตรัฐเข้าไปจัดการปัญหาของคณะสงฆ์ เช่น รัฐเป็นผู้แต่งตั้งผู้นำคณะสงฆ์ ตรวจสอบพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ และจับผู้ปลอมปนมาบวชให้สึกออกไป เป็นต้น ปัจจุบันนักการเมืองเป็นฝ่ายเข้าไปควบคุมกิจการของคณะสงฆ์ เช่น นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโดยตรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลกรมการศาสนา เป็นต้น เมื่อนักการเมืองเป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการของคณะสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์ก็น่าจะมีสิทธิเลือกนักการเมืองเหล่านั้นด้วยโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

อีกประการหนึ่ง นักบวชหรือเจ้าหน้าที่ในศาสนาอื่น แม้จะทำหน้าที่นักบวช เช่น บาทหลวงในศาสนาคริสต์ หรือโต๊ะอิหม่านในศาสนาอิสลาม เป็นต้น ก็ล้วนแล้วแต่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งสิ้น ทำให้นักการเมืองมีความเกรงใจนักบวชหรือเจ้าหน้าที่ทางศาสนาเหล่านั้น ตรงกันข้ามพระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาของคนไทยส่วนใหญ่ กลับถูกละเลยสิทธิอันชอบธรรมนี้ไป ทำให้นักการเมืองไม่เกรงใจหรือไม่ฟังเสียงของทางฝ่ายพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ไม่มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบนักการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้ง

การใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเป็นคนละสิ่งกับการเล่นการเมือง การที่พระสงฆ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (ดังเช่นในประเทศพม่า) มิได้หมายความว่าพระสงฆ์จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (แม้ว่าประเทศพระพุทธศาสนาอย่างศรีลังกา พระสงฆ์มีสิทธิทั้งลงคะแนนเลือกตั้งและสมัครผู้แทนราษฎร และเวลานี้ก็มีพระสงฆ์ศรีลังกานั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ด้วยก็ตาม) ถ้าหากพระสงฆ์จะลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็อาจกระทำได้โดยการสึกหาลาเพศก่อน แล้วจึงลงสมัครเลือกตั้ง ดังเช่นที่ข้าราชการมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน แต่ไม่มีสิทธิสมัครผู้แทนราษฎร ข้าราชการจะสมัครเป็นผู้แทนราษฎรได้ก็ต่อเมื่อลาออกจากราชการแล้วเท่านั้น

ในเรื่องที่เกี่ยวกับบัตรประจำตัวนั้น ข้าราชการมีสิทธิที่จะถือทั้งบัตรข้าราชการและบัตรประชาชนในเวลาเดียวกันฉันใด พระสงฆ์ก็ควรจะมีสิทธิถือทั้งใบสุทธิและบัตรประชาชนในเวลาเดียวกัน (ตามสิทธิที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ) ฉันนั้น

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยควรจะทบทวนสิทธิของแม่ชีไทยด้วย เพราะแม่ชีไทยถือบัตรประชาชนในฐานะคนไทยคนหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิเสธสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งมาโดยตลอด นับเป็นสิ่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะมาตรา ๓๐ ที่ว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน" และมาตรา ๓๘ ที่ว่า "...บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น"

หากพระสงฆ์และแม่ชีได้รับสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว เสียงแห่งมโนธรรมและจริยธรรม จะนำการเมืองไทยให้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น.
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9780. คอลัมน์หน้าต่างครอบครัว, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/theravada-monk-buddhist-religion-1750856/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo