ธรรมชาติของชีวิต

การศึกษาสภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในชีวิตของมนุษย์ ตามหลักปฏิจจสมุปบาท กฎแห่งไตรลักษณ์ และเบญจขันธ์นั้น ทำให้ชีวิตดำเนินอยู่ด้วยปัญญา กล่าวคือ เป็นการอยู่อย่างรู้เท่าทันสภาวะ และรู้จักอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ อยู่อย่างไม่มีความยึดมั่นในตัวตน อยู่อย่างอิสระ และอยู่อย่างไม่มีทุกข์
  

มิตรสหายท่านหนึ่ง 

ตามหลักพุทธธรรมถือว่าความเป็นไปของสรรพสิ่งนั้น ไม่มีสิ่งใดอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ (กฎไตรลักษณ์) อีกทั้งไม่มีตัวการอื่นใดที่อยู่นอกเหนือออกไปอีก ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะเป็นผู้สร้างหรือผู้บันดาล หากแต่กระบวนการทั้งหลายในธรรมชาตินั้นย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย (ปฏิจจสมุปบาท) มิใช่เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย และในบรรดาสรรพสิ่งเหล่านั้นรวมถึง “ชีวิตมนุษย์” ด้วย

หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงเรื่องราวเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ คือ ปฏิจจสมุปบาทและ ไตรลักษณ์ซึ่งหลักธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ถือได้ว่าเป็นกฎเดียวกัน แต่แสดงในคนและแง่มุม ทั้งนี้เพื่อให้มองความเห็นความเป็นจริงอย่างเดียวกัน นั่นคือ “กฎธรรมชาติ”

๑. ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมอีกหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงของกฎธรรมชาติ หรือหลักความเป็นจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของสรรพสิ่ง ซึ่งหลักปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นหลักธรรมที่สำคัญอีกบทหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ ความว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑๒/๓๔๖/๓๑๘.)

หลักปฏิจจสมุปบาท ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มี ๒ หลักด้วยกัน คือ หลักสากลที่ให้ตัวบท และหลักประยุกต์ที่แจกแจงหัวข้อธรรม คือ

๑. หลักสากลอธิบายกระบวนการเกิดดับของสรรพสิ่งในโลกทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เรียกว่า “สมุทยวาร” หลักปฏิจจสมุปบาทสากลนี้เพียงแต่บอกกว้าง ๆ ว่า ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นต้องมีเหตุสนับสนุน โดยไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ได้ตามลำพังแม้เพียงชั่วขณะเดียว และไม่มีการระบุลงไปว่าสิ่งนั้นคืออะไร หรือเหตุนั้น ๆ ประกอบด้วยอะไรบ้างโดยมีตัวบทดังนี้

ก. อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
อิมสฺสุปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ข. อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ

๒. หลักประยุกต์เป็นการนำหลักสากลมาอธิบายกระบวนการเกิดดับของสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตมนุษย์ หลักประยุกต์นี้ไม่อาจอธิบายกระบวนการเกิดของสิ่งไร้ชีวิต เพราะว่าสิ่งไร้ชีวิตไม่มีวิญญาณ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ความว่า

“พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาทเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขาร เป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูป เป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ฯ
(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๑๖/๒/๑.)

หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงความจริงของธรรมชาติให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมีลักษณะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่า "ไตรลักษณ์" ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการแห่งปัจจัย อนึ่ง กระบวนธรรมของหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น มีลักษณะที่หมุนเวียนเป็นวัฏฏะ หรือวงจร อันไม่มีจุดเริ่มต้นไม่มีจุดจบ ไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย

ปัญหาธรรมชาติของชีวิตประการหนึ่ง ซึ่งถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่ครั้นพุทธกาล คือ “ตายเกิดหรือตายสูญ” ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ได้กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ และในการนี้พระพุทธเจ้าทรงให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า พระองค์ขอไม่ทรงพยากรณ์ (ทำให้แจ้ง) ในปัญหาที่ถามนี้ โดยนัยนี้ ผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท จึงไม่สงสัยในปัญหาอภิปรัชญาต่าง ๆ ที่เรียกว่า "อันตคาหิกทิฏฐิ" และจึงเป็นเหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงนิ่งเสีย ไม่ตรัสตอบปัญหาเหล่านี้เมื่อใครมาทูลถาม ทรงตรัสว่าเป็น "อัพยากตปัญหา" เพราะเมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทหรือเข้าใจการที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่มีประโยชน์ และไม่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานแต่ประการใด

จากพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ในเรื่องนี้ ก็เพื่อให้พุทธศาสนิกชนพึงเข้าใจให้ถ่องแท้ในคำสอนของพระพุทธศาสนา นั่นคือการสอนความจริงที่สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตได้ หรือเพื่อแก้ปัญหาชีวิต ในทางตรงกันข้าม ส่วนที่เป็นความจริงแต่มิได้เป็นประโยชน์พระองค์ก็จะไม่ทรงสอน แต่ปัญหาที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์นั้นคือเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะมีประโยชน์และเป็นไปเพื่อมรรคผล

อย่างไรก็ตาม ความจริงประการหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ความจริงในการกำเนิดของชีวิตและได้ตรัสไว้ ความว่า มีตัณหา (ความอยาก) ก็มีชาติ (การเกิด) สิ้นตัณหาก็สิ้นชาติ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ยังมีกรรม วิญญาณ และตัณหาอยู่ ก็ยังจะต้องไปเกิดในภพต่าง ๆ ซึ่งการเกิดในมนุษย์นั้นคือ การกำเนิดในครรภ์ของมารดา พุทธพจน์บทหนึ่งได้กล่าวถึง เหตุแห่งการเกิดในครรภ์ ความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ ความเกิดแห่งทารกก็มี ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และทารกที่จะมาเกิด ยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู แต่ทารกที่จะมาเกิดยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดมารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย มารดามีระดูด้วย ทารกที่จะมาเกิดก็ปรากฏด้วย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้ ความเกิดแห่งทารกจึงมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาย่อมรักษาทารกนั้นด้วยท้องเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง เมื่อล่วงไปเก้าเดือน หรือสิบเดือน มารดาก็คลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น ด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นซึ่งเกิดแล้ว ด้วยโลหิตของตนด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก.” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑๒/๔๕๒/๔๘๗.) จากพุทธพจน์ที่ยกมานี้ เป็นการอ้างอิงถึงจุดกำเนิดของชีวิตมนุษย์ที่เป็นไปตามกระแสแห่งกฎธรรมชาติทั้งสิ้น ที่ต้องประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่มาสัมพันธ์กัน ที่เกิดขึ้นสืบต่อกับไปอย่างมิได้ขาดสาย อันเป็นภาวะที่ไม่เที่ยง ในกรณีของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ภาวะแห่งการมีชีวิตของมนุษย์นั้นเกิดจากการรวมตัวขององค์ประกอบพื้นฐาน ที่เรียกว่า “ขันธ์ ๕” หรือ “เบญจขันธ์” อันประกอบด้วย

๑. รูป ได้แก่ ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือสสารพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติ และพฤติการณ์ต่าง ๆ ของสสารพลังงานเหล่านั้น

๒. เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ

๓. สัญญา ได้แก่ ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการ เครื่องหมาย ลักษณะต่าง ๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์นั้นได้

๔. สังขาร ได้แก่ องค์ประกอบ หรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่จิตให้ดี หรือชั่วหรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่างๆ

๕. วิญญาณ ได้แก่ ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ

ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้างต้นว่า ชีวิตประกอบด้วยขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกเหนือไปจากขันธ์ ๕ ที่จะเข้ามาควบคุมให้กระบวนการแห่งขันธ์ ๕ นี้ดำเนินไป ในการพิจารณาเรื่องชีวิต เมื่อยกขันธ์ ๕ นี้ขึ้นเป็นที่ตั้งแล้ว ก็จะทำให้มนุษย์เข้าใจในกระบวนการแห่งชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ว่าขันธ์ ๕ นั้นพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงทุกขณะตามวิถีทางแห่งธรรมชาติที่ว่าี่ไม่มีส่วนใดหรือสิ่งใดในโลกที่คงตนอยู่กับที่ ดังนั้น การเข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ นั้นล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น

ขันธ์ ๕ เป็นไปตามกระบวนการที่ดำเนินไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือมีอยู่ในรูปกระแสแห่งปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยสืบต่อกัน ไม่มีส่วนใดในกระแสที่คงอยู่ได้ มีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายตัวไปพร้อมกับปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อ ๆ ไปอีก ส่วนต่าง ๆ สัมพันธ์กัน เนื่องอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กัน จึงทำให้เกิดกระแสหรือกระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างมีเหตุผล นอกจากนี้ ขันธ์ ๕ หรือชีวิต ยังเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อยู่ในภาวะแห่งอนิจจตา (ไม่เที่ยง ไม่คงที่) อนัตตา (ไม่มีส่วนใดที่มีตัวตนที่แท้จริง และไม่อาจยึดถือเป็นตัวตนได้) ทุกขตา (ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัวอยู่ทุกขณะ และพร้อมที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ได้เสมอ ในกรณีที่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่รู้)

๒. ไตรลักษณ์

"ไตรลักษณ์" คือ ลักษณะ ๓ ประการ แห่งสังขารธรรมทั้งหลาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ (ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารธรรมทั้งปวง) กล่าวคือ พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม หลักทั้งสามนี้ก็คงมีอยู่เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงค้นพบและนำมาเปิดเผยแสดงต่อเวไนย (พระเทพเวที,๒๕๓๕: ๑๐๔, ๑๐๘.) อันประกอบด้วย

๑. อนิจจัง (ไม่เที่ยง) หมายความว่า สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีความคงที่ตายตัว

๒. ทุกขัง (ความเป็นทุกข์) หมายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีลักษณะที่เป็นทุกข์ มองดูน่าสังเวชใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้ไม่มีความเห็นอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งนั้น ๆ

๓. อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ไม่มีลักษณะอันใดที่มนุษย์ยึดถือได้ว่ามันเป็นตัวเราของเรา พุทธศาสนิกชนที่เห็นสภาวะธรรมในกฎแห่งไตรลักษณ์ จะเข้าใจถึงสภาพของสังขารทั้งหลายที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลายตลอดเวลา แม้แต่โลกและชีวิตก็ล้วนไม่เที่ยง หรือยั่งยืนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่สามารถคงสภาพเดิมอยู่ได้ อันจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามธรรมชาติของมัน ดังนั้น ผู้ที่เห็นไตรลักษณ์จะสามารถกำหนดท่าทีแห่งจิตใจของตนเองได้อย่างถูกต้อง ในยามที่จิตใจถูกบีบคั้น หรือยามที่พลัดพรากจากกัน ก็จะไม่หวั่นไหวจากสิ่งดังกล่าวที่มากระทบ เพราะจิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระ ไม่ไปผูกพันยึดมั่นเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด การศึกษาสภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในชีวิตของมนุษย์ ตามหลักปฏิจจสมุปบาท กฎแห่งไตรลักษณ์ และเบญจขันธ์นั้น ทำให้ชีวิตดำเนินอยู่ด้วยปัญญา กล่าวคือ เป็นการอยู่อย่างรู้เท่าทันสภาวะ และรู้จักอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ อยู่อย่างไม่มีความยึดมั่นในตัวตน อยู่อย่างอิสระ และอยู่อย่างไม่มีทุกข์

เมื่อเห็นความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลายแล้ว จะทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของเวลาและชีวิตอันสั้น ระมัดระวังตนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสื่อมสลายของสังขารในเวลาอันมิสมควร และดำรงอยู่ด้วยความไม่ประมาท อีกทั้งช่วยให้เกิดความกระตือรือร้นในการทำความดี สร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดความสมบูรณ์และก้าวหน้าให้แก่ชีวิตตนเอง.
---
บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. (๒๕๒๕). พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑-๔๕. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.

เทพเวที, พระ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (๒๕๓๕). พจนานุกรมพุทธศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ ๗). กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.ธรรมปิฎก.

ธรรมปิฎก, พระ (ป.อ.ปยุตฺโต). (๒๕๔๑). พุทธธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๘). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

________. (๒๕๔๓). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (๒๕๓๗). พระสูตร และอรรถกถา, แปล. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ. (มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เนื่องในโอกาสครบ ๒๐๐ ปี แห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๒๕).

เมธีธรรมาภรณ์, พระ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (๒๕๓๕). พุทธศาสนากับปรัชญา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๓๙). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ ๖). กรุงเทพฯ: บริษัท อักษรเจริญทัศน์ จำกัด.

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๐). พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ - ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถา น. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนัก. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ. (๒๕๓๙). คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับพุทธศาสนา เล่ม ๑-๒. กรุงเทพฯ.

สมพงษ์ จิวะนนท์. พุทธศาสนิก. (๒๕๓๗). พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : สารมวลชน.

สุชีพ ปุญญานุภาพ. (๒๕๓๙). พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.       

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo