ปาณาติบาตกับสงคราม

ในการทำสงคราม หรือแม้แต่การทำสงครามที่เป็นธรรม มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิกขาบทข้อที่หนึ่ง เนื่องจากการทำสงครามเกี่ยวข้องกับการทำลายชีวิตมนุษย์ ดังนั้นผู้เขียนจะได้ศึกษาว่าในสิกขาบทข้อที่หนึ่งนี้ พระพุทธศาสนามีหลักในการวินิจฉัยปาณาติบาตอย่างไร เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อไป
     

ดวงเด่น นุเรมรัมย์. บัณฑิตวิทยาลัย
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต 
สาขาจริยศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ในเบื้องต้นจำจะได้กล่าวถึง "จริยธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนา"เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจต่อไป

จริยธรรมพื้นฐานคือหลักธรรมขั้นต่ำสุดที่มนุษย์จะต้องมี อันเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุด เพื่อความสงบสุขของสังคม หากไม่มีหลักธรรมขั้นพื้นฐานนี้ผู้คนในสังคมจะไม่อาจอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข (สมภาร พรมทา, ๒๕๓๕: ๗๒) ซึ่งหลักจริยธรรมอันเป็นพื้นฐานของการประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธคือ “เบญจศีล หรือศีลห้า” และ “เบญจธรรม หรือเบญจกัลยาณธรรม”

เบญจศีล คือ ความประพฤติชอบทางกายและวาจา การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาปกติตามระเบียบวินัย ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว การควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), ๒๕๔๓: ๒๐๖-๒๐๗) ประกอบด้วย

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากการปลงชีวิต เว้นจากการฆ่าการประทุษร้ายกัน)
๒. อทินนาทานา เวรมณี (เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ เว้นจากการลักโกง ละเมิด ลิขสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน)
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี (เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน)
๔. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง)
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี (เว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ) (ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค. ๑๑/๒๘๖/๑๙๖)

ในการทำสงคราม หรือแม้แต่การทำสงครามที่เป็นธรรม มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิกขาบทข้อที่หนึ่ง เนื่องจากการทำสงครามเกี่ยวข้องกับการทำลายชีวิตมนุษย์ ดังนั้นผู้เขียนจะได้ศึกษาว่าในสิกขาบทข้อที่หนึ่งนี้ พระพุทธศาสนามีหลักในการวินิจฉัยปาณาติบาตอย่างไร เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ ประเด็นในการศึกษาหลักเบญจศีลข้อหนึ่งที่ว่า “ปาณาติปาตา เวรมณี” (เจตนางดเว้น จากการฆ่าสัตว์) มีดังต่อไปนี้ คือ 

๑. ความหมายของปาณาติบาต
๒. องค์ปาณาติบาต
๓. ประเภทของปาณาติบาต
๔. โทษของปาณาติบาต
๕. การวินิจฉัยปาณาติบาต

๑. ความหมายของปาณาติบาต

ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค ให้ความหมายว่า “ปาณาติบาต” คือ การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป (ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค. ๑๑/๓๕๙/๒๔๕)

ในสารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ภาค ๑ (๒๕๔๒: ๕๑๔) อธิบายว่า ปาณาติบาตได้แก่การฆ่าสัตว์ คือ การสังหารสัตว์ โดยอรรถได้แก่วธกเจตนา (เจตนาผู้ฆ่า) ซึ่งเป็นไปทางกายทวาร และวจีทวาร ทวารใดทวารหนึ่ง อันยังประโยชน์ที่จะเข้าไปตัดรอนซึ่งชีวิตินทรีย์ของผู้อื่นให้ตั้งขึ้น

ในปรมัตถโชติกา มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา อธิบายว่า “ปาณาติบาต” เมื่อแยกตามภาษาบาลีแล้วจะมีอยู่ ๒ คำ คือ “ปาณ” และ “อติปาต” กล่าวคือ “ปาณ” หมายถึง สิ่งที่มีชีวิตโดยทั่วไป และคำว่า “อติ” ในคำว่า อติปาต นั้น มีความหมายอยู่ ๒ นัย คือ รวดเร็ว และก้าวล่วงความเบียดเบียน ส่วนคำว่า “ปาต” แปลว่า ให้ตกไป เมื่อรวมกันเป็น “อติปาต” แปลว่า การทำให้ตกไปอย่างเฉียบพลัน ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้วจะได้รูปศัพท์ว่า “ปาณาติปาต” แปลว่า การทำให้ชีวิตนั้นตกไปโดยเร็ว หรือการก้าวล่วงความเบียดเบียนชีวิตสัตว์ให้ตกไป (ปรมัตถโชติกา มหาอภิธัมมัตถสังหฎีกา เล่ม ๒, ๒๕๓๔: ๘๑-๘๒) อนึ่ง เมื่อวิเคราะห์คำว่า “โดยเร็ว” แล้ว ควรจะได้แก่การให้สัตว์หรือสิ่งที่มีชีวิตนั้น ๆ ตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดอายุของตน

๒. องค์ปาณาติบาต

ในสารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ภาค ๒ (๒๕๔๒: ๓๗๕) ได้กล่าวถึงหลักวินิจฉัยการกระทำที่จะได้ชื่อว่าเป็นปาณาติบาตนั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

๑. ปาโณ คือ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา คือ รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตตํ คือ เจตนาจะฆ่า
๔. อุปกกโม คือ ความเพียรที่จะเข้าไปฆ่า
๕. เตน มรณํ คือ สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น

๓. ประเภทของปาณาติบาต

การทำปาณาติบาตนั้นมีหลายวิธี ในสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย แปล ภาค ๑ (๒๕๐๘: ๔๙๕) กล่าวถึง “ประโยคปาณาติบาต ๖” หรือ วิธีการฆ่า ๖ ประเภท ได้แก่

๑. สาหัตถิกประโยค คือ การประหารด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกายของบุคคลผู้ฆ่าเอง (ทำการฆ่าด้วยตนเอง)

๒. อาณัตติกประโยค คือ การสั่งว่าจงแทง จงตีให้ตายอย่างนี้ของบุคคลผู้สั่งคนอื่น (ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า หรือใช้วาจาทำการฆ่า)

๓. นิสสัคคิยประโยค คือ การซัดเครื่องประหารมีลูกศร หอกยนตร์ และหิน เป็นต้น ไปด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกายของบุคคลผู้มีความประสงค์จะฆ่าคนที่อยู่ในที่ไกล (ใช้อาวุธ เป็นเครื่องทำการฆ่า)

๔. ถาวรประโยค คือ การขุดหลุมพราง วางระดานหก วาง (เครื่องประหาร) ไว้ใกล้ และจัดยา (พิษ) ของบุคคลผู้มีความประสงค์จะฆ่าด้วยเครื่องมือที่เคลื่อนที่ไม่ได้ (ฆ่าด้วยหลุมพราง หรือมีการวางแผนนานาประการเพื่อให้สัตว์นั้นตาย)

๕. วิชชามยประโยค คือ การร่ายเวทย์เพื่อจะให้เขาตาย (สังหารด้วยวิชาคุณ หรือพิธีทางไสยศาสตร์)

๖. อิทธิมยประโยค คือ การประกอบฤทธิ์อันเกิดแต่ผลแห่งกรรม (สังหารด้วยฤทธิ์)

๔. โทษของปาณาติบาต

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๓๘: ๒๔-๒๖) ได้กล่าวถึงเกณฑ์การวินิจฉัยเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ตามหลักพระพุทธศาสนาว่า การกระทำแบบใดจะมีโทษมากหรือโทษน้อย มีบาปมากหรือบาปน้อย โดยมีหลักการที่ควรพิจารณาดังนี้

๑. ดูที่ตัวสัตว์นั้นเองว่า มีคุณมากหรือคุณน้อย มีโทษมากหรือโทษน้อย ถ้าสัตว์นั้นมีคุณความดีมาก เช่น บิดา มารดา เมื่อฆ่าก็เป็นบาปมากมีโทษมาก ผู้ใดมีคุณประโยชน์ต่อสังคมมาก มีคุณธรรมมาก เราไปฆ่าก็เป็นบาปมาก ถ้าฆ่ามนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการทำความดีมาก ก็เป็นบาปมากกว่าฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการทำความดีงามได้น้อยระหว่างสัตว์เดียรัจฉานด้วยกัน ถ้าเป็นสัตว์ที่มีคุณน้อย หรือเป็นสัตว์ที่มีโทษ การฆ่าก็เป็นบาปน้อย แต่ไม่ว่าในกรณีใดก็คือการทำลายชีวิตทั้งนั้น อันนี้ต้องยอมรับความจริง เป็นการยอมรับขั้นหนึ่งว่ามีการฆ่า แต่แยกได้ในแง่ที่ว่ามันเป็นบาปมากหรือบาปน้อย

๒. ดูที่เจตนาของผู้กระทำว่า ทำด้วยเจตนาหรือความรู้สึกอย่างไร ถ้าทำด้วยกิเลสแรง มีความรู้สึกเกลียดชัง เคียดแค้น มุ่งร้าย มุ่งทำลาย กลั่นแกล้ง รังแก ข่มเหง เบียดเบียน อย่างนี้ถือว่าเป็นบาปมากมีโทษมาก แต่ถ้ามีเจตนาไม่รุนแรง หรือมีเจตนาในทางที่ดี ก็มีโทษน้อย เช่นในกรณีของคนที่ป้องกันตัวเป็นต้น ซึ่งไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายทำลายใคร ไม่ได้ทำด้วยเจตนาที่จะเบียดเบียนคนอื่น

๓. ดูที่ความพยายาม ถ้ามีการตระเตรียมการ มีการวางแผนการอย่างจริงจัง ทำด้วยความหมายมั่นอย่างรุนแรง จองล้างจองผลาญเต็มที่ ไม่ยอมหยุดไม่ยอมเลิกรา ก็บาปมาก แต่ถ้าทำด้วยอารมณ์วูบ แม้จะมีกิเลสมาก เช่นโกรธรุนแรง ก็บาปเบากว่า

นอกจากนี้ในกรณีของการฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน โดยทั่วไปยังบาปน้อยบาปมากต่างกันตามขนาดร่างกายของสัตว์นั้น ๆ ด้วย เพราะฆ่าสัตว์ใหญ่ การลงมือหรือการกระทำก็ใหญ่ แรงกระทบต่อจิตก็มาก ฆ่าสัตว์เล็ก การลงมือหรือการกระทำก็เล็กน้อย แรงกระทบต่อจิตหรือความเคลื่อนไหวของจิตก็น้อย

๕. การวินิจฉัยปาณาติบาต

การกระทำปาณาติบาตถือว่าเป็นการฆ่าสัตว์ หรือเป็นการเข้าไปตัดรอนชีวิตของสัตว์ให้ตาย ซึ่งการวินิจฉัยว่าการกระทำใดผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาองค์ปาณาติบาตทั้ง ๕ ประการ อันได้แก่ สัตว์นั้นมีชีวิต รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตที่คิดจะฆ่า มีความพยายามที่จะฆ่า และสัตว์นั้นตายด้วยความพยายาม ซึ่งการกระทำใดครบทั้งองค์ ๕ ถือว่าการกระทำนั้นเป็นปาณาติบาต แต่ถ้าการกระทำใดไม่ครบองค์ปาณาติบาต ๕ ประการ ถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นปาณาติบาต หรือไม่ผิดศีลข้อปาณาติบาตนั่นเอง พิจารณาได้จากสารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ภาค ๒ (๒๕๔๒: ๓๗๕) ความว่า “การฆ่านั้นย่อมสำเร็จได้ ก็ด้วยการครบองค์ ๕ เหล่านี้...เมื่อไม่ครบองค์ ๕ การฆ่าไม่สำเร็จ”

และเนื่องจากการกระทำปาณาติบาตมีหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งแต่ละวิธีมีเป้าหมายเหมือนกัน คือเพื่อให้สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตนั้นตาย ดังนั้น การพิจารณาโทษของปาณาติบาตต้องพิจารณาจากองค์ประกอบว่า สัตว์ที่ฆ่ามีขนาดใหญ่หรือเล็ก มีความเพียรพยายามมากหรือน้อย และมีเจตนารุนแรงหรือไม่รุนแรง มาพิจารณาร่วมด้วย
--
บรรณานุกรม

ดวงเด่น นุเรมรัมย์ุ์. (๒๕๔๕). พุทธจริยศาสตร์กับแนวคิดเรื่องสงครามที่เป็นธรรม: กรณีศึกษาทรรศนะของนักวิชาการในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

ธรรมปิฎก, พระ (ป.อ.ปยุตฺโต). (๒๕๓๘). ทำแท้ง:ตัดสินอย่างไร ชีวิตเริ่มต้นเมื่อไร? การทำแท้ง ในทัศนะของพระพุทธศาสนา. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด.

________. (๒๕๔๐). ธรรมนูญชีวิต. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.

________. (๒๕๔๑). พุทธธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๘). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

________. (๒๕๔๓). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (๒๕๓๗). พระสูตร และอรรถกถา, แปล. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ. (มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เนื่องในโอกาสครบ ๒๐๐ ปี แห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๒๕).

สมภาร พรมทา. (๒๕๓๕). พุทธศาสนากับปัญหาจริยศาสตร์: ทัศนะของพุทธศาสนาเกี่ยวกับปัญหาโสเภณี ทำแท้ง และการุณยฆาต. (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พุทธชาด.

สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย แปล ภาค ๑. (๒๕๐๘). กรุงเทพฯ. (พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล จากพระเมรุพระศพสมเด็จพระสังฆราชญาโนทยมหาเถระ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร).

สัทธัมมะโชติกะ ธัมมาจริย, พระ. (๒๕๓๔). ปรมัตถโชติกา มหาอภิธัมมัตถสังหฎีกา เล่มที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. สารีบุตรเถระ, พระ. (๒๕๔๒).

สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ภาค ๑ และภาค ๒. (สิริ เพ็ชรไชย, ผู้แปล) กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดทิพยวิสุทธิ์.

Photo : https://pixabay.com/photos/war-soldier-rifle-dark-brave-5064697/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo