ศาสนาแห่ง "ปัญญา" และ "สติ"

สรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาลเป็นเพียงกระแสธรรมชาติล้วนๆ รูปทั้งหลายไม่มีตัวตนที่แท้จริง จักรวาลไม่มี "อัตตาใหญ่" หรือ "จิตจักรวาล" แต่ประการใด มีเพียงกระแสความเป็นไปในธรรมชาติล้วนๆ เท่านั้น มนุษย์จะเข้าถึงความจริงข้อนี้ได้ก็โดยอาศัย "การเจริญสติ" ให้รู้เท่าทันธรรมชาติความเป็นไปทั้งภายในและภายนอก ในแง่นี้พุทธศาสนาจึงอาจจัดได้ว่าเป็นศาสนาแห่ง "ปัญญา" และ "สติ" โดยแท้ 
    

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ในบรรดาศาสนาประเภท "พหุเทวนิยม" (Polytheism) ซึ่งนับถือเทพเจ้าหลายองค์ อันเป็นศาสนาที่มีต้นกำเนิดในจีนและอินเดียเป็นหลักใหญ่นั้น ต่อมาทั้งนักปราชญ์ในจีนและอินเดียได้พัฒนาศาสนาเหล่านั้น จนกระทั่งเกิดเป็นศาสนาแนวใหม่ประเภท "อเทวนิยม" (Atheism) ขึ้น โดยการเปลี่ยนจากการพึ่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์ภายนอก หรืออำนาจดลบันดาลจากเทพเจ้าเบื้องบน หันมาพึ่งสติปัญญาภายในของมนุษย์แทน จนเกิดเป็นศาสนาแห่ง "ปัญญา" และ "สติ" ขึ้นมา

สำหรับศาสนาขงจื้อ ที่เชื่อว่า "ฉ่าง ตี่" (Shang Ti) หรือพระเจ้าที่สูงสุด ได้ส่งกษัตริย์ลงมาปกครองมนุษย์ โดยมีหน้าที่ที่จะต้องปกครองด้วย "คุณธรรม" อันจะทำให้ประชาชนมีความสงบสุขนั้น ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดปกครองแบบ "ทรราช" และประชาชนอดอยากทุกข์ยากแล้ว พระเจ้าจะให้ราชวงศ์นั้นล่มสลาย และเลือกกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมาปกครองแทน จนกลายเป็นแนวคิดในประวัติศาสตร์จีนที่ว่า ถ้าผู้ปกครองเป็นทรราชแล้วประชาชนมีสิทธิลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติได้

ต่อมาในยุคสมัยหนึ่งกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงประพฤติตนเป็นทรราช ประชาชนก็ได้แต่แหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า และรอคอยว่าเมื่อไหร่พระเจ้าที่สูงสุดจะลงโทษกษัตริย์พระองค์นั้น แต่คอยแล้วคอยเล่าก็ไม่ปรากฏสัญญาณใดๆ จากสวรรค์ ผู้คนอดอยากหิวโหยและล้มตายเป็นจำนวนมาก ในที่สุดผู้มีสติปัญญายุคนั้นก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า "หรือว่าพระเจ้าที่สูงสุดจะไม่มีอยู่จริง ?" การตั้งคำถามถึงเรื่องอำนาจดลบันดาลของพระเจ้า ทำให้ชาวจีนเริ่มอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติและความเป็นไปในสังคมด้วยเหตุผลและสติปัญญา อันก่อให้เกิดยุค "ปรัชญาจีน" ขึ้นในเวลาต่อมา

ชาวจีนเริ่มอธิบายว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาลเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงด้วยพลังที่ยิ่งใหญ่ 2 พลัง เรียกว่า "หยิน-หยัง" (Yin-Yang) หยินกับหยังเป็นพลังที่ตรงข้ามกัน แต่ก็ไม่ขัดแย้งกัน ทำงานประสานกันในเชิงสร้างสรรค์ เช่น มืดกับสว่าง กลางวันกับกลางคืน ร้อนกับหนาว แข็งกับอ่อน หญิงกับชาย เป็นต้น เมื่อความคิดในเรื่อง "หยิน-หยัง" พัฒนามาถึงจุดหนึ่ง ชาวจีนเริ่มมาคิดว่าน่าจะมีธรรมชาติอีกขั้นหนึ่งที่ลึกซึ้งกว่า ที่อยู่เบื้องหลังหยินกับหยังอีกต่อหนึ่ง และเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของทุกสิ่งทุกอย่าง ในที่สุดชาวจีนก็ค้นพบธรรมชาติที่ลึกซึ้งที่สุดนั้น และตั้งชื่อโดยสมมุติว่า "เต๋า" (Tao) แนวความคิดเรื่อง "เต๋า" ได้เกิดขึ้นในประเทศจีนมาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่มาชัดเจนในงานเขียนอันยิ่งใหญ่ของเหลาจื้อ (Lao Tzu) และจวงจื้อ (Chuang Tzu) จนกลายเป็น "ปรัชญาเต๋า" (Taoism) ที่มีชื่อเสียงของจีน อันอาจจัดได้ว่าเป็นศาสนาแห่ง "ปัญญา" ของชาวเอเชียตะวันออกและชาวโลก

สำหรับศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ของอินเดียที่เชื่อว่าพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่มี 3 องค์ คือ พระพรหม (ผู้สร้าง) พระวิษณุหรือพระนารายณ์ (ผู้ธำรงรักษา) และพระศิวะหรือพระอิศวร (ผู้ทำลาย) อันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปในโลกธรรมชาติว่า "ทุกสิ่งมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป" นั้น พวกพราหมณ์ซึ่งเป็นอภิสิทธิชนและมีชีวิตที่สุขสบายกว่าคนในวรรณะอื่น (เพราะไม่ต้องทำการผลิต) ต้องการแสวงหา "ความเป็นอมตะ" (Immortality) ของชีวิต จึงได้สร้างทฤษฎี "จิตอมตะ" (อาตมัน) ขึ้น โดยอธิบายว่า เมื่อร่างกายตายลง "จิต" จะไม่ตายตาม แต่จะไปแสวงหาร่างกายใหม่ อันเป็นที่มาของทฤษฎี "การกลับชาติมาเกิดใหม่" (Reincarnation หรือ Rebirth Theory)

พวกพราหมณ์เปรียบร่างกายเหมือนกับเสื้อผ้า เมื่อเราใส่จนเก่าและขาดแล้วก็โยนทิ้งไป แล้วหาเสื้อผ้าตัวใหม่มาสวมใส่แทนฉันใด เมื่อร่างกายตายลง "จิต" อันเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราจะไม่ตายตาม แต่จะไปแสวงหาร่างกายใหม่เพื่อกลับมาเกิดอีกฉันนั้น ตามทรรศนะของพวกพราหมณ์ "จิต" จะล่องลอยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน คอยสอดส่องดูว่าที่ใดบ้างที่มีปฏิสนธิ ก็จะเกิดรายการ "ชิงร้อยชิงล้าน" ขึ้น เพื่อแย่งชิงเอาร่างกายใหม่นั้นมาเป็นของตน เพื่อการกลับมาเกิดอีก ทฤษฎีนี้จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อนำเสนอออกมาแล้วสามารถตอบสนองต่อความต้องการส่วนลึกในจิตใจของมนุษย์ได้ (จิตซึ่งต้องการแสวงหาความเป็นอมตะของชีวิต) ทฤษฎีนี้จึงเป็นที่เชื่อถือกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในอินเดียและดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียรวมทั้งประเทศไทย

ต่อมาพวกพราหมณ์ได้ขยายแนวคิดเรื่อง "ตัวตน" (self) ของมนุษย์ออกไปอีก โดยอธิบายว่าจักรวาลใหญ่ก็มี "ตัวตน" เช่นเดียวกัน เรียกว่า "ปรมาตมัน" หรือ "พรหมัน" (Brahman) ดังนั้น ถ้ามนุษย์บำเพ็ญเพียรจน "จิต" (อาตมัน) บริสุทธิ์แล้ว ก็จะไปรวมกับ "ปรมาตมัน" หรือ "พรหมัน" อันเป็น "จิตใหญ่" ของจักรวาลในที่สุด

เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดีย พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธทฤษฎี "อาตมัน" (จิตอมตะ) ของพวกพราหมณ์ และเสนอทฤษฎี "อนัตตา" (ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง) มาแทนที่ โดยทรงอธิบายว่ามนุษย์มีทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งเป็นเหตุปัจจัยเชื่อมโยงกันอยู่ ไม่มีร่างกายใดจะสามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากจิตใจ และไม่มีจิตใจใดที่จะสามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากร่างกาย ร่างกายและจิตใจเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน "จิต" ของมนุษย์มีอยู่ แต่มีอยู่อย่างไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็น "อนัตตา" (non-self)

ต่อมาพุทธศาสนานิกายฌาน (เซน) อันเป็นผลรวมของพุทธศาสนาจากอินเดียและปรัชญาเต๋าของจีน ได้ขยายทฤษฎี "อนัตตา" ออกไปให้ครอบคลุมสรรพสิ่งภายนอก จนเป็นทฤษฎี "สุญญตา" (ความว่าง) เพื่อหักล้างทฤษฎี "ปรมาตมัน" (จิตจักรวาล) ของพวกพราหมณ์ โดยอธิบายว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาลเป็นเพียงกระแสธรรมชาติล้วนๆ รูปทั้งหลายไม่มีตัวตนที่แท้จริง ("รูปก็คือความว่าง ความว่างก็คือรูป") จักรวาลไม่มี "อัตตาใหญ่" หรือ "จิตจักรวาล" แต่ประการใด มีเพียงกระแสความเป็นไปในธรรมชาติล้วนๆ เท่านั้น มนุษย์จะเข้าถึงความจริงข้อนี้ได้ก็โดยอาศัย "การเจริญสติ" (สติปัฏฐาน 4) ให้รู้เท่าทันธรรมชาติความเป็นไปทั้งภายในและภายนอก ในแง่นี้พุทธศาสนาจึงอาจจัดได้ว่าเป็นศาสนาแห่ง "ปัญญา" และ "สติ" โดยแท้
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10200. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6 

Photo : https://pixabay.com/photos/monk-buddha-statue-sculpture-1782432/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo