Brand
Brand

พลิกฟื้นประวัติศาสตร์...ที่สาวัตถี

ประวัติศาสตร์เมืองสาวัตถีถูกพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ ให้เป็นดินแดนของพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั่วโลก ด้วยการอุทิศชีวิต และแรงกายแรงใจอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยของอุบาสิกาบงกช สิทธิพล นับตั้งแต่นี้ไปชาวพุทธผู้จาริกแสวงบุญจากทั่วโลกจะมีสถานที่อันร่มรื่นในดินแดนของพระพุทธเจ้า เป็นสถานที่พัก และบำเพ็ญสมาธิภาวนา จะมีอาหารมังสวิรัติ และน้ำดื่มที่สะอาดไว้บริโภค บัดนี้พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลงสู่ประเทศอินเดีย ดินแดนแห่งพุทธภูมิอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว รอแต่วันที่จะแตกช่อเติบโตขึ้นเพื่อความสุขของมนุษยชาติ และเพื่อสันติภาพของโลก

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ 
     อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ 
     คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สาวัตถี (Shravasti) ประเทศอินเดีย เป็นเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งของวัดพระเชตวันมหาวิหาร อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาล เป็นเมืองที่อยู่อาศัยของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และบ้านขององคุลีมาล มีแม่น้ำไหลผ่านซึ่งครั้งหนึ่งแม่น้ำสายนี้เคยสัมพันธ์กับชีวิตของนางปฏาจาราผู้สูญเสียสามี บุตร และพ่อแม่ในคราวเดียวกันจนเสียสติ พระพุทธองค์ต้องทรงเข้ามาโปรดจนนางได้ดวงตาเห็นธรรม และพุทธประวัติอีกหลายตอนที่สัมพันธ์กับเมืองนี้

กาลเวลากว่า ๒๕๐๐ ปีได้ผ่านไป สาวัตถีกลายเป็นสถานที่รกร้าง ห่างไกลจากความเจริญ วัดพระเชตวันมหาวิหารกลายเป็นซากปรักหักพังที่ถูกทอดทิ้ง ชาวพุทธเกือบจะไม่มีเหลืออยู่ในแถบนั้น ชาวอินเดียที่สาวัตถีกลายเป็นฮินดู และมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ในชนบทที่ห่างไกลของอินเดียชาวบ้านจะถ่ายปัสสาวะและอุจจาระตามพื้นดินเรี่ยราดไปหมด นี่คือสภาพของสาวัตถีก่อนที่ประวัติศาสตร์บทใหม่จะบังเกิดขึ้น

วันที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ ตรงกับวันวิสาขบูชาของชาวพุทธในอินเดีย ณ เมืองสาวัตถี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย อุบาสิกาบงกช สิทธิพล หรือที่สานุศิษย์เรียกท่านว่า "แม่ในแดนธรรม" ได้ประกอบพิธีเททองหล่อยอดพระเกศของพระพุทธรูปปางประทานพร ที่มีชื่อว่า "พระพุทธมหามงคลชัย มหาเมตตาธรรม ประทานพร เพื่อสันติภาพโลก" ซึ่งต่อไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะกลายเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๙๙ เมตร สูง ๑๕ เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดพระมหาเกศ ๓๓ เมตร ท่ามกลางแขกผู้เกียรติเป็นจำนวนมาก ทั้งจากอินเดีย ไทย ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ รวมทั้งท่านธรรมรัตนะภิกขุจากฝรั่งเศส และรองสมเด็จพระสังฆราช ประเทศลาว

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของพระพุทธศาสนาในอินเดีย ที่พระสงฆ์จากทั่วประเทศเป็นจำนวนถึง ๕๐๐ รูป แม้จะต่างนิกายกันแต่ก็มาร่วมชุมนุมในสถานที่เดียวกัน เพื่อเป็นสักขีพยานในความพยายามที่จะพลิกฟื้นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ ณ เมืองสาวัตถี ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วโลก โดยมีอุบาสิกาบงกช สิทธิพล และสานุศิษย์เป็นผู้บุกเบิกมาเป็นเวลากว่า ๘ ปี เพื่อพลิกแผ่นดินพุทธภูมิอันรกร้างแห้งแล้ง ให้กลายเป็นดินแดนอันร่มรื่นด้วยต้นไทรขนาดใหญ่ถึง ๙,๙๙๙ ต้น บนผืนดินกว่า ๑๕๐ เอเคอร์ รอบๆ ซากปรักหักพังของวัดพระเชตวันมหาวิหาร

บนผืนดินอันกว้างใหญ่ที่ปูด้วยหญ้าอันเขียวขจีนั้น เป็นที่ตั้งของอาคารขนาดใหญ่ที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทยอันวิจิตรประณีตถึง ๕ หลัง ภายในอาคารและพื้นปูด้วยหินอ่อนอย่างดี เพื่อประกาศถึงความรักความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ที่ชาวพุทธมีต่อพระศาสนาของตน และเพื่อเป็นที่รองรับของชาวพุทธผู้จาริกแสวงบุญจากทั่วโลก แม้จะยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ก็มีชาวพุทธจากทุกสารทิศหลั่งไหลมาจาริกแสวงบุญอย่างไม่ขาดสาย ณ "แดนมหามงคลชัย" เมืองสาวัตถี จนถึงปัจจุบันนับได้กว่า ๑๐๐ ประเทศแล้ว

คืนวันเพ็ญวิสาขบูชา พระจันทร์เต็มดวงเหนือท้องฟ้าเมืองสาวัตถี อุบาสิกาบงกช ได้นำคณะชาวพุทธกว่า ๑๐๐ ชีวิต เข้าไปประกอบพิธีเวียนเทียนรอบซากอุโบสถวัดพระเชตวันมหาวิหาร จากนั้นท่าน และคณะได้พากันนั่งสมาธิท่ามกลางความเงียบสงัดและอากาศที่เย็นภายในวัด นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผู้เขียนที่ได้เวียนเทียน และนั่งสมาธิในค่ำคืนวันวิสาขบูชา ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เคยทรงประทับสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ และประชาชนอยู่เป็นเวลากว่า ๒๕ ปี หลังจากมีการสนทนาธรรมกันจนถึงเวลาเที่ยงคืนแล้วจึงได้แยกย้ายกันกลับที่พัก

วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ เวลาเช้า ชาวบ้านรอบๆ วัดพระเชตวันมหาวิหารจำนวน ๕,๐๐๐ คน อันประกอบด้วยคนพิการ เด็ก คนแก่ แม่หม้ายที่ขาดผู้ดูแล และคนยากจน ได้พากันหลั่งไหลเข้าไปใน "แดนมหามงคลชัย" เพื่อรับบริจาค "มหาทาน" ที่อุบาสิกาบงกช และสานุศิษย์ได้จัดเตรียมไว้ให้ ๕,๐๐๐ ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยเสื่อ ๓ ผืน ถังโลหะสำหรับตักน้ำ แป้งโรตี ถั่ว น้ำตาล มันฝรั่ง หัวหอม และอื่นๆ โดยมีผู้สื่อข่าวอินเดียมาทำข่าว และเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยควบคุม และอำนวยความสะดวกเป็นจำนวนมาก (ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าองค์การกุศลอื่นได้แจกทานให้คนยากจนเป็นจำนวน ๑,๐๐๐ คน เกิดจลาจลเหยียบกันตายไปถึง ๒๐ คน ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ) นับเป็นการแสดงน้ำใจของชาวพุทธที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ยากไร้ โดยไม่เลือกชาติชั้นวรรณะหรือศาสนา ณ ใจกลางดินแดนของพระพุทธเจ้า

ประวัติศาสตร์เมืองสาวัตถีถูกพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ ให้เป็นดินแดนของพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั่วโลก ด้วยการอุทิศชีวิต และแรงกายแรงใจอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยของอุบาสิกาบงกช สิทธิพล นับตั้งแต่นี้ไปชาวพุทธผู้จาริกแสวงบุญจากทั่วโลกจะมีสถานที่อันร่มรื่นในดินแดนของพระพุทธเจ้า เป็นสถานที่พัก และบำเพ็ญสมาธิภาวนา จะมีอาหารมังสวิรัติ และน้ำดื่มที่สะอาดไว้บริโภค บัดนี้พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลงสู่ประเทศอินเดีย ดินแดนแห่งพุทธภูมิอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว รอแต่วันที่จะแตกช่อเติบโตขึ้นเพื่อความสุขของมนุษยชาติ และเพื่อสันติภาพของโลก

อุบาสิกาบงกช สิทธิพล ได้รับรางวัล "สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก" เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๗ และรางวัลเกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลกในปีเดียวกัน

***

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๕๖๔. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.

THAI CADET

“เราจะปั้นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง ให้เป็นนักเรียนเตรียมทหาร”

THAI CADETเป็นติวเตอร์ขนาดเล็กที่เน้นการสร้างผลงานทางวิชาการเพื่อสอบเตรียมทหาร (คอร์สเรียนออนไลน์, หนังสืออ่านสอบเตรียมทหาร, คลังข้อสอบ ฯลฯ) และเป็นที่ปรึกษาใจดีสำหรับนักเรียนเตรียมสอบเตรียมทหารทุกคน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (ภาพถ่ายโรงเรียนเตรียมทหาร และนักเรียนเตรียมทหาร ภายในเว็บไซต์แห่งนี้ ห้ามคัดลอก หรือนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร) 

เปิดให้บริการเว็บไซต์นับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2547

© 2547-2563. All Right Reserved by THAI CADET