ศาสนากับสังคมการเมืองในเวียดนาม

เวียดนามได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามหายาน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เวียดนามแตกต่างไปจากเพื่อนบ้านในเอเชียอาคเนย์ พุทธศาสนามหายานได้ผสมผสานกับปรัชญาขงจื๊อและเต๋า รวมทั้งความเชื่อท้องถิ่นของเวียดนาม มหายานในเวียดนามไม่ได้พัฒนาเครือข่ายของสถาบันสงฆ์ อันอาจก่อให้เกิดพลังทางการเมือง ดังที่ปรากฏในพุทธศาสนาเถรวาท
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

เวียดนามในระยะแรกครอบครองพื้นที่เพียงสันดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำแดง ซึ่งเป็นใจกลางของเวียดนามเหนือเท่านั้น ในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราชรัฐนี้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งอาณาจักรจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) ซึ่งชาวจีนเรียกว่า "หนานเย่" (Nan-yueh) หรือ "หนานเวียด" (Nan-viet) ในระยะเวลากว่า 1,000 ปีภายใต้การปกครองของจีน เวียดนามคุ้นเคยกับสถาบันการเมืองและสังคม ระบบการเขียน การศึกษา และศิลปวัฒนธรรมแบบจีน

เวียดนามได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามหายาน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เวียดนามแตกต่างไปจากเพื่อนบ้านในเอเชียอาคเนย์ พุทธศาสนามหายานได้ผสมผสานกับปรัชญาขงจื๊อและเต๋า รวมทั้งความเชื่อท้องถิ่นของเวียดนาม มหายานในเวียดนามไม่ได้พัฒนาเครือข่ายของสถาบันสงฆ์ อันอาจก่อให้เกิดพลังทางการเมือง ดังที่ปรากฏในพุทธศาสนาเถรวาท

อิทธิพลของจีนที่มีต่อเวียดนามขึ้นถึงระดับสูงสุดในสมัยราชวงศ์ถัง (T"ang Dynasty, ค.ศ.618-907) อย่างไรก็ตามเวียดนามไม่เคยสูญเสียความรู้สึกแห่งรัฐชาติของตน ในปี ค.ศ.939 ระหว่างที่เกิดความยุ่งเหยิงทางการเมืองในประเทศจีน เวียดนามได้ฉวยโอกาสนั้นประกาศอิสรภาพและจัดตั้งรัฐเวียดนามขึ้น

หลังการประกาศอิสรภาพ ประวัติศาสตร์เวียดนามมีลักษณะเด่นสองประการ ประการแรกเวียดนามได้พัฒนารัฐขงจื๊อและเจริญรอยตามแบบอย่างวัฒนธรรมจีน โดยมีรูปแบบรัฐบาลคล้ายคลึงกับจีนเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น พระจักรพรรดิเวียดนามที่กรุงฮานอย (Hanoi) อันเป็นเมืองหลวง ทรงบริหารเหล่าข้าราชการที่ได้รับการศึกษาจากตำราขงจื๊อ กฎหมาย โครงสร้างการบริหาร วรรณคดี และศิลปกรรมล้วนตามอย่างจีนทั้งสิ้น ขณะที่ชนชั้นที่มีการศึกษามักนิยมใช้ภาษาจีนมากกว่าภาษาเวียดนาม ประการที่สอง เวียดนามได้แผ่ขยายอิทธิพลลงมาทางใต้อันก่อให้เกิดความตึงเครียดทางวัฒนธรรมขึ้น

ดินแดนทางทิศใต้ของเวียดนามมิได้อยู่ในเขตอิทธิพลของวัฒนธรรมขงจื๊อแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่บนที่ราบสูงของเวียดนาม (Montagnard) ทำให้เกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างชาวเหนือกับชาวใต้ขึ้นในเวียดนาม โดยชาวเหนือส่วนใหญ่มีอุปนิสัยอนุรักษ์ เชื่อฟังกลุ่ม สงวนท่าที และเคารพชีวิตทางสติปัญญา ส่วนชาวใต้ชอบออกสังคม รักอิสระ อุปนิสัยเปิดเผย และชอบเลือกแนวทางศาสนาด้วยตนเอง

การฟื้นฟูวัฒนธรรมขงจื๊อ

สภาพทางภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีลักษณะแคบเรียวยาวตามชายฝั่งทะเล (ความยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร) ทำให้พระจักรพรรดิเกียลอง (Gia Long, ครองราชย์ ค.ศ.1802-1820) ทรงเห็นถึงความยากลำบากในด้านการปกครองและการป้องกันประเทศ จึงทรงย้ายเมืองหลวงจากฮานอย มาอยู่ที่เมืองเว้ (Hue) ทางตอนกลางของประเทศ โดยทรงสร้างพระราชวังตามแบบอย่างพระราชวังในกรุงปักกิ่ง (เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น)

จากทศวรรษที่ 1830 เป็นต้นมา ได้เกิดกบฏขึ้นบ่อยครั้งเพื่อต่อต้านการบริหารงานแบบขุนนางจีนเก่าที่เก็บภาษีสูงแต่ไร้ประสิทธิภาพ การฟื้นฟูแบบฉบับลัทธิขงจื๊อก็ไม่สามารถทำให้รัฐบาลขุนนางรับมือกับการท้าทายจากตะวันตกได้อย่างจริงจัง ชนชั้นปัญญาชนบางคนเริ่มเห็นถึงความจำเป็นในการศึกษาตะวันตกแต่ก็เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้น พระจักรพรรดิเทียวทรี (Thieu Tri, ครองราชย์ ค.ศ.1841-47) และพระจักรพรรดิทูดัก (Tu Duc, ครองราชย์ ค.ศ.1847-83) ทรงดำเนินวิเทโศบายผิดพลาดอย่างมหันต์ ด้วยการเผชิญหน้ากับตะวันตกและปราบปรามศาสนาคริสต์

มิชชันนารีคาทอลิกฝรั่งเศสได้แสดงบทบาทในเวียดนามมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 17 ภายในกลางศตวรรษที่ 19 ประมาณกันว่ามีคาทอลิกในเวียดนามถึง 450,000 คน รัฐบาลเวียดนามหวั่นเกรงศาสนาที่มีการจัดตั้งในรูปองค์กรทุกประเภท ว่าจะเป็นภัยต่ออำนาจรัฐในแบบฉบับขงจื๊อ และศาสนาคริสต์ดูเหมือนว่าจะเป็นภัยในลักษณะนั้น การรณรงค์ปราบปรามจึงเกิดขึ้นหลายครั้ง มีบาทหลวงและชาวคริสต์หลายพันคนเสียชีวิต และหมู่บ้านชาวคริสต์ถูกทำลาย การปราบปรามนี้สร้างความตกตะลึงแก่ชาวคาทอลิกในฝรั่งเศส และกลายเป็นข้ออ้างของฝรั่งเศสในการเข้ายึดครองเวียดนาม

วัฒนธรรมและสังคมการเมืองเวียดนามยุคสมัยใหม่

ในยุคอาณานิคม เวียดนามกลายเป็นดินแดนแห่งความสับสนอลหม่านทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม การพังทลายของรัฐบาลในแบบฉบับขงจื๊อ และชัยชนะของ "ความป่าเถื่อน" จากตะวันตก ทำให้ความเชื่อและค่านิยมในขนบประเพณีดั้งเดิมของเวียดนามเกิดปัญหา ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางของเวียดนามเริ่มศึกษาตามแบบตะวันตกอย่างกระตือรือร้น (แทนที่การศึกษาในแบบฉบับขงจื๊อดั้งเดิม)

ความแตกแยกทางสังคมวัฒนธรรมได้เกิดขึ้นในเวียดนาม บ้างก็เลือกวิธีคิดและการแสดงออกแบบตะวันตก บ้างก็มองไปที่จีนเพื่อสร้างโลกในแบบฉบับขงจื๊อขึ้นมาใหม่ บ้างก็มองไปที่ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามในทศวรรษที่ 1920 วงการวิชาการเวียดนามได้ลงประชามติที่จะใช้ตัวอักษรโรมัน (quoc ngu) แทนตัวอักษรจีน (Chu Nom) ในการเขียนภาษาเวียดนาม อักษรโรมันช่วยให้วรรณกรรมสมัยใหม่ของเวียดนามเติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจ ทำให้หนังสือพิมพ์และหนังสือทางการเมืองเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ความเคลื่อนไหวที่เด่นที่สุด (ในแง่จำนวน) ในหมู่ประชาชนเวียดนามได้แก่ความเคลื่อนไหวทางศาสนา เจาได (Cao Dai) นิกายทางศาสนาที่ตั้งขึ้นทางใต้ในปี ค.ศ.1925 โดยอ้างว่าจะรวมตะวันออก ตะวันตก และเอกลักษณ์วัฒนธรรมเวียดนามเข้าด้วยกัน มีสานุศิษย์กว่า 1 ล้านคนในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 ขณะนั้นพุทธศาสนานิกายฮวาเฮา (Hoa Hao) ก็มีสานุศิษย์เป็นจำนวนมากทางตอนใต้เช่นเดียวกัน และศาสนาคริสต์ก็อ้างว่ามีผู้ติดตามถึงร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ประมาณ 30 ล้านคนในขณะนั้น) ความเคลื่อนไหวทางศาสนาเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ขบวนการชาตินิยมเวียดนามในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ระหว่างสงครามเวียดนาม โลกต้องตกตะลึงเมื่อพระภิกษุในพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งได้เผาตัวตายเพื่อประท้วงสงครามและรัฐบาล ผู้นำชาวพุทธได้สร้างขบวนการต่อสู้ทางการเมือง โดยใช้ปรัชญาการเมืองและสังคมตามหลักการของพุทธศาสนา เรียกร้องให้ยุติสงครามและนำสันติภาพกลับคืนสู่ประเทศ ขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของชาวพุทธเวียดนามนี้เรียกกันว่า "พุทธสังคมนิยม" (Buddhist Socialism)

อิทธิพลของตะวันตกในรูปของอาณานิคมฝรั่งเศสและการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางประวัติศาสตร์และการแบ่งแยกในสังคมเวียดนาม ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนามซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชน โดยสัญญาที่จะนำเอกราชมาสู่ประเทศ กับความสมานฉันท์และความยุติธรรมมาสู่สังคม ประสบความสำเร็จในประการแรกแต่ล้มเหลวในประการหลัง ปัจจุบันเวียดนามภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ยอมรับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ในปี พ.ศ.2538 เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงถึงร้อยละ 8 ต่อปีอย่างต่อเนื่อง เวียดนามได้กลายเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญในหมู่ประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑๐๖๒๐. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖. 

Photo : https://pixabay.com/photos/temple-vietnam-buulong-city-travel-3025271/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo