“ศักดิ์สิทธิ์” กับ “ธรรมดา” : ความเท่าเทียมของศาสนา ?

ทฤษฎีของเดอร์ไคม์จึงมีข้อจำกัด โดยใช้ได้แต่กับศาสนาในความหมายแบบตะวันตกและศาสนาแบบปฐมบรรพ์เท่านั้น ไม่อาจครอบคลุมพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาในความหมายแบบตะวันออกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พุทธศาสนาของปัญญาชน" ซึ่งมุ่งเน้นการแสวงหาอิสรภาพภายในจิตใจของมนุษย์มากกว่าจะเกี่ยวข้องกับโลกของสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" อันตรงข้ามกับสิ่ง "ธรรมดา" เหมือนศาสนาในความหมายแบบตะวันตกหรือศาสนาปฐมบรรพ์ ดังคำอธิบายของเดอร์ไคม์ในทฤษฎีอันโด่งดังของเขา

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

อีมีล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เสนอทฤษฎีว่า "ทุกศาสนามีความเป็นศาสนาโดยเท่าเทียมกัน" โดยให้เหตุผลว่า ศาสนาแต่ละศาสนาล้วนเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบที่สำคัญสองสิ่งคือ สิ่งที่เรียกว่า "ศักดิ์สิทธิ์" (sacred) ในความหมายที่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ กับสิ่ง "ธรรมดา" (profane) ในความหมายที่เป็นสิ่งธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนในยุโรป หรือศาสนาปฐมบรรพ์ของคนพื้นเมืองตามชนบทที่มีความเชื่ออย่างง่ายๆ ก็ตาม

ศาสนาที่มีโครงสร้างอย่างง่ายๆ เช่น ลัทธิบูชารูปเคารพ (Totemism) ของชนเผ่าอะบอริจิ้น (aboriginal) ในทวีปออสเตรเลีย อันเป็นรูปแบบหนึ่งของศาสนาปฐมบรรพ์ (primitive religion) เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่อง "ศักดิ์สิทธิ์" กับ "ธรรมดา" อย่างชัดเจนกล่าวคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องการล่าสัตว์ หรือการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารหรือวัฒนธรรมทางวัตถุใดๆ ล้วนแต่เป็นสิ่ง "ธรรมดา" ถ้าหากเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ความแห้งแล้ง โรคระบาด หรือภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่เบียดเบียนหรือสงครามก็ตาม ชนเผ่าอะบอริจิ้นก็จะเข้าหาสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองจากภัยเหล่านั้น โดยรวมก็คือ ความเชื่อทางศาสนาของชนเผ่าอะบอริจิ้นเกี่ยวข้องกับสิ่งสำคัญพื้นฐานสองสิ่งคือสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" และสิ่ง "ธรรมดา"

สำหรับศาสนาที่มีโครงสร้างอันสลับซับซ้อน อย่างเช่นศาสนาคริสต์ในตะวันตกนั้น มีการจัดองค์กรในระดับสูง(institutionalized religion) เช่น มีพระสันตะปาปา(Pope) เป็นประมุขสูงสุด โดยประทับอยู่ที่สำนักวาติกัน (Vatican) ในกรุงโรม มีการจัดระเบียบการปกครองในฝ่ายศาสนจักร โดยมีพระคาร์ดินัล (Cardinal) อาร์คบิชอพ (Arc-bishop) และอื่นๆ ปกครองลดหลั่นกันตามลำดับชั้น มีการบริหารงบประมาณกันอย่างเป็นระบบ และการปกครองศาสนจักรครอบคลุมไปในทุกประเทศ(ที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์) ทั่วโลก (ยกเว้นในบางประเทศที่มีนโยบายพิเศษเฉพาะตน เช่น จีน เป็นต้น)

ในด้านโครงสร้างทางความเชื่อนั้น ศาสนาคริสต์จัดอยู่ในศาสนาประเภท "เอกเทวนิยม" (Monotheism) ที่เชื่อในเรื่องการมีอยู่ของ "พระเจ้าองค์เดียว" และมนุษย์จะรอดพ้นได้ก็โดยผ่าน "ศาสดา"(Prophet) คือ พระเยซู (Jesus) แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น สำหรับ "พระเจ้า" (God) ในศาสนาคริสต์นั้นแสดงตนออกมาในสามลักษณะคือ "พระบิดา" (Father) "พระจิต" (Spirit) และ "พระบุตร" (Son) และพระเยซูซึ่งเป็น "พระบุตร" ของพระเจ้านั้นเกิดจากท้องแม่ซึ่งเป็นหญิงสาวพรหมจรรย์ชื่อมาเรีย(แม้ว่าจะมีคู่หมั้นชื่อโจเซฟก็ตาม) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นลักษณะของสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" ในศาสนาคริสต์ทั้งสิ้น

แต่ถึงแม้จะมีโครงสร้างทางความเชื่อ และโครงสร้างการจัดองค์กรที่สลับซับซ้อนอย่างไรก็ตาม ศาสนาคริสต์ในฐานะที่เป็น "ศาสนา" (Religion) ก็หนีไม่พ้นสิ่งพื้นฐานสองสิ่งคือ "ศักดิ์สิทธิ์" กับ "ธรรมดา" ตามทรรศนะของเดอร์ไคม์แล้วความ "ศักดิ์สิทธิ์" ในศาสนาคริสต์ที่สลับซับซ้อน โดยสาระสำคัญแล้วก็ไม่แตกต่างไปจากความ "ศักดิ์สิทธิ์" อย่างง่ายๆ ในศาสนาปฐมบรรพ์ของชนเผ่าอะบอริจิ้นในออสเตรเลียแต่อย่างใด เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็น "สิ่งเหนือธรรมชาติ" เช่นเดียวกัน เมื่อเหนือธรรมชาติแล้วแม้จะพิสดารโอฬารพันลึกอย่างไรก็ตาม ก็อยู่ในประเภทสิ่งเหนือธรรมชาติเหมือนกัน

ในทรรศนะของเดอร์ไคม์สิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" กับสิ่ง "ธรรมดา" เป็นคู่ตรงข้าม (duality) ที่มีลักษณะหรือคุณสมบัติที่ตรงข้ามกันสุดกู่ยิ่งกว่าคู่ตรงข้ามใดๆ เช่น มืดกับสว่าง ร้อนกับหนาว หญิงกับชาย ดีกับชั่ว หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต เป็นต้น เพราะคู่ตรงข้ามดังกล่าวเรายังอาจจัดประเภทหรือหาคุณสมบัติร่วมในบางลักษณะของมันได้ แต่สิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" กับสิ่ง "ธรรมดา" นั้นเป็นคนละมิติกันอย่างสิ้นเชิง และเราไม่อาจหาลักษณะร่วมใดๆ ได้เลยในโลกทัศน์ของตะวันตก ศาสนาทั้งหลายจึงเป็น "ทวินิยม" (dualism) เพราะแบ่งโลกออกเป็นสองโลกกล่าวคือ โลกของสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" กับโลกของสิ่ง "ธรรมดา" และศาสนาทั้งหลายก็เป็น "จิตนิยม" (Idealism) เพราะถือว่าโลกของสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" (หรือโลกแห่งจิต) อยู่เหนือโลกของสิ่ง "ธรรมดา" (หรือโลกแห่งวัตถุ)

พุทธศาสนามิใช่ศาสนาในความหมายแบบตะวันตก คำถามที่ติดตามมาก็คือ ทฤษฎีของเดอร์ไคม์จะสามารถครอบคลุมพุทธศาสนาได้หรือไม่ ในฐานะที่เป็น "พุทธศาสนาของสามัญชน" (Popular Buddhism) ชาวพุทธอาจกราบไหว้พระพุทธรูปในฐานะที่เป็นสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" หรือเชื่อถือในอำนาจลี้ลับของไสยศาสตร์ หรืออิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ ในแง่นี้ทฤษฎีของเดอร์ไคม์ก็อาจครอบคลุมถึงพุทธศาสนาได้ แต่ในฐานะที่เป็น "พุทธศาสนาของปัญญาชน" (Intelligent Buddhism) ชาวพุทธจะเคารพพระพุทธรูปในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และจะไม่ข้องแวะกับสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่จะปฏิบัติตามหลัก "ศีล สมาธิ ปัญญา" (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเจริญสติ" ตามแนวสติปัฏฐาน 4) เพื่อความพ้นทุกข์ทางจิตใจ (psychological suffering) ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกของสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" แต่ประการใด

ทฤษฎีของเดอร์ไคม์จึงมีข้อจำกัด โดยใช้ได้แต่กับศาสนาในความหมายแบบตะวันตกและศาสนาแบบปฐมบรรพ์เท่านั้น ไม่อาจครอบคลุมพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาในความหมายแบบตะวันออกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พุทธศาสนาของปัญญาชน" ซึ่งมุ่งเน้นการแสวงหาอิสรภาพภายในจิตใจ (Psychological Liberation) ของมนุษย์มากกว่าจะเกี่ยวข้องกับโลกของสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" อันตรงข้ามกับสิ่ง "ธรรมดา" เหมือนศาสนาในความหมายแบบตะวันตกหรือศาสนาปฐมบรรพ์ ดังคำอธิบายของเดอร์ไคม์ในทฤษฎีอันโด่งดังของเขา
--
ที่มา :หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9983. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.             

Photo : https://pixabay.com/photos/monk-buddha-statue-sculpture-1782432/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo