การออกบัตร "สมาร์ทการ์ด" แก่พระสงฆ์ตามข้อเสนอของพระวินยาธิการนั้น จึงน่าจะเป็นการออกทดแทนใบสุทธิ อันจะทำให้ใบสุทธิเป็นบัตรที่ทันสมัย (บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกคณะสงฆ์ไทยอย่างครบถ้วน) ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ควรมีสิทธิถือบัตรประชาชนในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งด้วย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ก่อนหน้ารัฐประหารของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ภายใต้การนำของ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก
อันทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 และรัฐบาลของ พ.ต.ต.ทักษิณ ชินวัตร สิ้นสุดลงนั้น
มีข่าวจากพระวินยาธิการ หรือ "ตำรวจพระ" ว่า จะมีการออกบัตร "สมาร์ทการ์ด"
ให้แก่พระสงฆ์ทุกรูปในคณะสงฆ์ไทย นอกเหนือจากใบสุทธิที่พระสงฆ์ถืออยู่ในปัจจุบัน
ถ้ามองตามเจตนารมณ์ของพระวินยาธิการที่ว่า การออกบัตร "สมาร์ทการ์ด" ที่บรรจุข้อมูลส่วนตัวของพระสงฆ์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับบัตรประชาชน
เพื่อควบคุมมิให้พระสงฆ์ออกไปเรี่ยไรหรือประพฤติในทางอื่นที่ผิดไปจากสมณวิสัยนั้นนับว่าเป็นเจตนาที่ดี
แต่ประเด็นปัญหาที่ตามมาก็คือ การออกบัตร "สมาร์ทการ์ด" ที่มีลักษณะคล้ายบัตรประชาชนแต่ไม่ใช่บัตรประชาชน
จะทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย) แม้จะอยู่ในประเทศเดียวกัน ภายใต้กฎหมายสูงสุดฉบับเดียวกัน
ถือบัตรประจำตัวที่แตกต่างไปจากคนไทยส่วนใหญ่ และได้รับสิทธิทางกฎหมายไม่เท่าเทียมกับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ
แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี พ.ศ.2540 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่คณะปฏิรูปการปกครองฯ
ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์
และจะจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ พร้อมไปกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จใน
1 ปี หลังจากนั้นจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยตามปกติต่อไป
ถ้าหากว่าทุกอย่างเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เราก็จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอีกครั้งหนึ่ง
ภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปีนับจากนี้
ถ้าหากว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ภายในปลายปีหน้า บทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาก็คงจะเหมือนเดิมเป็นส่วนใหญ่
เพราะมิใช่เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ และถ้าหากว่าบทบัญญัติทางด้านศาสนายังคงสาระเดิมไว้
ก็จะมีประเด็นที่น่าคิดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์ในฐานะพลเมืองไทยอย่างหนึ่ง
และพระสงฆ์ในฐานะสมาชิกของคณะสงฆ์ไทยอีกอย่างหนึ่ง
หน่วยงานของรัฐบาลตีความสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์ไม่ตรงกัน การตีความที่ไม่ตรงกันนี้น่าจะทำให้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของรัฐ
ตีความขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยกระทรวงกลาโหมตีความว่าพระสงฆ์คือประชาชนคนไทยคนหนึ่ง
ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่เข้ารายงานตัวและเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบเกณฑ์ แม้จะมีการผ่อนผันให้แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการผ่อนผันแล้ว
พระสงฆ์รูปนั้นก็ต้องเข้าเกณฑ์ทหารอยู่ดี ถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด
ก็ต้องทำหน้าที่รับใช้ชาติในการป้องกันประเทศ
แต่กระทรวงมหาดไทยตีความอีกอย่างหนึ่งว่า พระสงฆ์มิได้เป็นประชาชนไทยคนหนึ่ง
ดังนั้นสิทธิอันพึงมีพึงได้ของพระสงฆ์ในฐานะประชาชนก็มิควรได้รับ กล่าวคือ
พระสงฆ์ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือรับสมัครเลือกตั้ง พระสงฆ์ไม่มีสิทธิได้รับบัตรประจำตัวประชาชน
และสิทธิอื่นๆ อันเกิดขึ้นจากการถือบัตรประชาชน เช่น การได้รับหนังสือเดินทางตามขั้นตอนปกติของประชาชนทั่วไป
เป็นต้น
นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังออกกฎระเบียบ อันน่าจะขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศว่า
ถ้าหากพระสงฆ์รูปใดเข้าไปในหน่วยราชการเพื่อขอยื่นเรื่องให้ออกบัตรประชาชนให้
พระสงฆ์รูปนั้นจะต้องถูกจับสึกในทันที ระเบียบข้อนี้น่าจะขัดต่อกฎหมายสูงสุดอย่างร้ายแรง
พระสงฆ์ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง ต้องการถือบัตรประชาชนในฐานะพลเมืองของประเทศ
มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องให้ลาสิกขาบท อันเป็นความผิดร้ายแรงเทียบเท่ากับปาราชิก
ความลักลั่นของการตีความสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์ในฐานะพลเมืองไทยนั้น ทำให้พระสงฆ์กลายเป็นบุคคลชั้นสามของประเทศ
(สิทธิอันไม่เสมอภาคของสตรีเมื่อเทียบกับบุรุษ ทำให้สตรีกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้)
โดยพระสงฆ์มิได้รับสิทธิใดๆ ในฐานะพลเมืองไทยแต่ประการใด แต่มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเท่ากับคนไทยทุกคน
(ดังเช่นการเกณฑ์ทหาร) พระสงฆ์จึงมีแต่หน้าที่แต่ขาดสิทธิในฐานะพลเมืองไทย
รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 มาตรา 38 (รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะต้องมีมาตรานี้ด้วยอย่างแน่นอน)
ระบุว่า "...บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา
นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ
แตกต่างจากบุคคลอื่น"
นักบวชในศาสนาอื่นๆ ที่เป็นพลเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวงในศาสนาคริสต์
หรือเจ้าหน้าที่ในศาสนาอิสลาม (เช่น อิหม่าม โต๊ะครู ฯลฯ) หรือผู้ประกาศศาสนาฮินดูหรือศาสนาสิกข์
อันเป็นศาสนาที่เป็นทางการของไทย ล้วนแล้วแต่ได้รับสิทธิในฐานะพลเมืองไทยทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิในการถือบัตรประชาชน
และสิทธิอื่นๆ ที่ตามมาจากการถือบัตรประชาชน แต่ทำไมพระสงฆ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทย
จึงมิได้รับสิทธิเทียบเท่ากับนักบวชในศาสนาอื่นของไทย ทั้งที่เป็นศาสนาที่เป็นทางการเช่นเดียวกัน
เรื่องนี้จะมิเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวหรือ
ประเทศที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 5 ประเทศคือ
ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา ในประเทศพุทธศาสนาเถรวาทดังกล่าวทั้งหมด
ยกเว้นไทยเพียงประเทศเดียว พระสงฆ์มีสิทธิเทียบเท่ากับพลเมืองของประเทศทุกประการ
กล่าวคือ พระสงฆ์มีสิทธิถือบัตรประชาชน และมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง อันทำให้พุทธศาสนามีบทบาทในการควบคุมกำกับจริยธรรมของนักการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
ความข้อนี้ทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยล้าหลังกว่าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด
การถือใบสุทธิของพระสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องอยู่แล้ว เพราะใบสุทธิก็คือบัตรที่แสดงความเป็นสมาชิกของคณะสงฆ์ไทย
เช่นเดียวกับบัตรข้าราชการที่แสดงความเป็นสมาชิกของราชการไทย ขณะที่ข้าราชการไทยมีสิทธิในการถือบัตรข้าราชการและบัตรประชาชนในเวลาเดียวกัน
พระสงฆ์ไทยก็ควรจะมีสิทธิในการถือใบสุทธิและบัตรประชาชนเช่นเดียวกัน
การออกบัตร "สมาร์ทการ์ด" แก่พระสงฆ์ตามข้อเสนอของพระวินยาธิการนั้น จึงน่าจะเป็นการออกทดแทนใบสุทธิ
อันจะทำให้ใบสุทธิเป็นบัตรที่ทันสมัย (บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกคณะสงฆ์ไทยอย่างครบถ้วน)
ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ควรมีสิทธิถือบัตรประชาชนในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งด้วย
ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
---
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๑๐๔๒๔.
เปิดให้บริการเว็บไซต์นับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2547