ทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรม (Just War Theory)

ปัจจุบันแนว คิดสงครามที่เป็นธรรมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และมีอิทธิพลต่อนักคิดและนักปรัชญาบางกลุ่มในอันที่จะแสวงหาข้อยุติเกี่ยว กับความชอบธรรมในการทำสงคราม ตลอดจนการสร้างเงื่อนไขบางประการเพื่อให้การทำสงครามเป็นที่ยอมรับได้ แต่อย่างไรก็ดี แนวคิดสงครามที่เป็นธรรมก็มิได้เป็นที่ยอมรับสำหรับกลุ่ม สันตินิยม (Pacifism)
 

ดวงเด่น นุเรมรัมย์
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจริยศาสตร์ศึกษา 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แม้ว่าสงครามระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร กับประเทศอิรักจะยุติลงแล้ว แต่เมื่อเราย้อนกลับไปพิจารณาถึงมูลเหตุแห่งสงครามที่เกิดขึ้นจะพบว่า เหตุผลหลักที่สหรัฐฯ และพันธมิตรใช้กำลังทางทหารโจมตีอิรักนั้น คือ เหตุผลเรื่องอาวุธเคมีหรือชีวภาพ แต่นอกเหนือจากเหตุผลดังกล่าวนี้แล้ว ประเด็นหนึ่งที่อเมริกายกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการทำสงครามต่อต้านอิรักก็ “เพื่อความชอบธรรม” หรือ เป็นการทำ “สงครามที่เป็นธรรม”

สงครามที่เป็นธรรม หมายถึง สงครามที่ไม่ขัดกับศีลธรรม หรือแม้กระทั่งเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่หากไม่ปฏิบัติแล้วจะเกิดความเสียหาย ทั้งนี้ พิจารณาภายใต้เงื่อนไขหนึ่ง ๆ ของการเริ่มต้น และการปฏิบัติสงคราม (University of New Hampshire, 2001)

ในเบื้องต้น จะได้เสนอความเป็นมาของแนวคิดสงครามที่เป็นธรรมเพื่อศึกษาถึงพัฒนาการของแนวคิดดังกล่าว จากการศึกษาพบว่า นักเขียนสมัยโบราณไม่ได้หยิบยกเรื่องศีลธรรมของสงครามมาอภิปรายกัน แต่เพลโตและอริสโตเติ้ลกลับเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐในอุดมคติน่าจะมี การบัญญัติในเรื่องดังกล่าว (Fagothey, A. 1963: 452) และงานของอริสโตเติ้ลบางชิ้นก็ได้กล่าวถึงสงครามที่เป็นธรรม อย่างน้อยที่สุดก็จากงานเขียนเรื่อง "Politics" ที่ดำเนินเรื่องภายใต้ความคิดสงครามที่เป็นธรรม (May, L. & Sharratt S., Eds., 1994 :200)

สำหรับนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับสงครามที่เป็นธรรมส่วนใหญ่ยอมรับว่า บุคคลแรกที่บันทึกเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติทางศีลธรรมในการสงครามคือนักบุญออ กัสติน (Saint Augustine: ค.ศ. 354-430) (Fagothey, A. 1963: 453) ออกัสตินให้ทรรศนะว่าสงครามเป็นผลมาจากบาปในโลกนี้ กล่าวคือ ตามความเชื่อในศาสนาคริสต์ อดัมกับอีฟซึ่งเป็นมนุษย์คู่แรกของโลกได้กระทำการฝ่าฝืนและไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้า จึงเกิดบาปและความชั่วร้ายต่าง ๆ ตามมา และสงครามก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากบาปที่มนุษย์คู่แรกกระทำไว้ ตามความคิดเห็นของออกัสติน ความรุนแรงกับสงครามเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นบาป และเหตุที่สงครามเป็นบาปก็เพราะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า และความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันเอง (Hill, B. R., Knitter, P. and Madges, W. 1990: 361)

ออกัสตินให้ทรรศนะว่า สงครามที่เป็นธรรมเป็นความชั่วร้ายที่สุดทางกายภาพประการหนึ่งที่อาจเกิด ขึ้นในโลก แต่มันได้รับการยินยอมให้เกิดขึ้นอย่างชอบธรรมต่อเมื่อสอดคล้องกับบางสภาวะ และเพื่อการปกป้อง (Fagothey, A. 1963: 453) แต่เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ถูกคุกคามหรือเหยื่อผู้บริสุทธิ์ ต้องเปรียบเทียบกันระหว่างสิทธิของเหยื่อผู้บริสุทธิ์ กับสิทธิของผู้รุกราน ว่าสิทธิของฝ่ายใดจะมากกว่ากัน ซึ่งในกรณีนี้สิทธิของเหยื่อผู้บริสุทธิ์ย่อมเหนือกว่าผู้ที่รุกรานโดย ปราศจากความชอบธรรม จึงให้ทำสงครามตอบโต้ได้ แต่การใช้กำลังทางกายภาพจะต้องยุติธรรม กล่าวคือเป็นการป้องกันตัว ไม่ใช่การคุกคามหรือรุกราน อีกทั้งการทำสงครามนั้นจะต้องนำมาใช้โดยสถาบันที่มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมาย เช่น กษัตริย์ และการทำสงครามนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความรัก ออกัสตินมองว่าเงื่อนไขข้อนี้สำคัญที่สุด กล่าวคือ เหตุที่การทำสงครามต้องอยู่บนพื้นฐานของความรักเนื่องจากมนุษย์มีศักดิ์ศรี แม้ว่าจะเป็นศัตรูก็มีศักดิ์ศรี ดังนั้นต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่ไม่จำเป็น และต้องประนีประนอมกับศัตรูให้เร็วที่สุด (Hill, B. R., Knitter, P. and Madges, W. 1990: 361).

นอกจากนี้ ออกัสตินยังย้ำความคิดที่ว่า เหตุจูงใจสำคัญในการทำสงครามก็เพื่อฟื้นฟูสันติภาพ เขากล่าวว่า

เราไม่ได้แสวงหาความสงบเพื่อที่จะสู้ แต่เราสู้เพื่อที่จะมีความสงบ ดังนั้น จงมีความสงบเมื่อต่อสู้ ท่านจะได้พิชิตทุกคนที่ท่านสู้ด้วย และทำให้พวกเขาได้ไปสู่สันติสุข (The Christian Classics Ethereal Library, 2000)

ในเวลาต่อมา ระหว่างปี ค.ศ. 1095-1291 เกิดสงครามระหว่างศาสนิกชนของศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม เรียกว่า “สงครามครูเสด” สาเหตุของสงครามเนื่องมาจากผู้นับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) ได้เข้ายึดครองกรุงเยรูซาเร็ม ซึ่งเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ที่คริสต์ศาสนิกชนเดินทางไปจาริกแสวงบุญ เมื่อเป็นเช่นนี้ทางฝ่ายผู้นับถือศาสนาคริสต์จึงได้ต่อต้านการรุกรานของพวก นอกศาสนา (ชาวคริสต์เรียกทุกคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ว่าพวกนอกศาสนา) ทางฝ่ายของศาสนจักรแห่งกรุงโรม โดยพระสันตะปาปาอูบอง ที่ 2 (URBAN II : ค.ศ.1042-1099) ได้ชี้ให้ชาวคริสต์เห็นถึงภัยจากการรุกรานของพวกมุสลิม และทรงสัญญาว่าจะยกบาปและหนี้สินให้แก่ทุกคนที่เข้าร่วมรบในสงคราม (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533: 318) จึงได้จัดเทศนาครั้งใหญ่ขึ้นเมื่อวันที่ 18-28 พฤศจิกายน ค.ศ.1095 ณ วิหารแครมองต์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส และประกาศให้สงครามครั้งนี้เป็น "สงครามตามปรารถนาของพระเจ้า" (God Wills It) หรือ “สงครามศักดิ์สิทธิ์” (Holy War) เพื่อต่อต้านมุสลิม และให้ยึดครองกรุงเยรูซาเร็มคืนจากมุสลิม การเทศนาครั้งนั้นนับว่ามีส่วนกระตุ้นให้ชาวยุโรปผู้นับถือศาสนาคริสต์จำนวน มากเข้าร่วมรบ ซึ่งเรียกว่าพวกครูเสด (Crusaders มาจากคำว่า Cross หรือไม้กางเขน อันเป็นสัญลักษณ์แทนชาวคริสต์) (วัชระ ฤทธาคนี, 2544: 24-25)

ภายหลังการประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์ของพระสันตะปาปาอูบองที่ 2 สงครามครูเสดจึงได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งการเริ่มต้นของสงครามครั้งนั้นก่อให้เกิดการต่อสู้ระหว่างผู้นับถือ ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม โดยมีระยะเวลาในการต่อสู้ยาวนานถึง 196 ปี

ในช่วงปลายของสงครามครูเสด นักบุญโธมัส อไควนัส (Saint Thomas Aquinas: ค.ศ.1224-1274) ได้เขียนหนังสือเรื่อง “ซูมมะ ธิออล-ลอจิก้า” (Summa Theologica: เขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1265-1275) โดยได้พัฒนาเนื้อหาบางตอนเกี่ยวกับสงครามที่เป็นธรรมที่ออกัสตินเสนอไว้ ตลอดจนอไควนัสได้เพิ่มเติมทรรศนะส่วนตัวเข้าไปด้วย ในงานเขียนชิ้นนี้อไควนัสได้แสดงทรรศนะว่าเพื่อให้การทำสงครามเป็นไปด้วย ความชอบธรรม ต้องประกอบด้วยปัจจัยสำคัญสามประการ คือ

ประการที่หนึ่ง อำนาจของผู้ปกครอง ผู้ซึ่งควบคุมสั่งการให้ดำเนินสงคราม เนื่องจากสงครามไม่ใช่หน้าที่ของบุคคลธรรมดาทั่วไปที่จะประกาศสงคราม เพราะเขาสามารถแสวงหาความชอบธรรมของเขาจากศาลยุติธรรมที่เขามีอำนาจอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น สงครามไม่ใช่หน้าที่ของบุคคลธรรมดาทั่วไปที่จะเรียกประชุมประชาชน ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในยามสงคราม และความเอาใจใส่เกี่ยวกับประโยชน์สุขของผู้คนในชาติถูกมอบให้กับบุคคลผู้ ซึ่งมีอำนาจ มันเป็นหน้าที่ของเขาที่จะดูแลประโยชน์สุขของผู้คนในนคร ราชอาณาจักร หรือจังหวัดที่ขึ้นกับพวกเขา และมันเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับพวกเขาที่จะอาศัยดาบ เพื่อปกป้องประโยชน์สุขของผู้คนในชาติจากภัยคุกคามภายใน เมื่อพวกเขาลงโทษผู้กระทำชั่วดังคำกล่าวของผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ (Apostle) ที่ว่า “ผู้ครอบครองนั้น หาได้ถือดาบไว้เฉย ๆ ไม่ ท่านเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า และจะเป็นผู้ลงพระราชอาญาแทนพระเจ้าแก่ทุกคนที่ประพฤติชั่ว” (โรม. 13: 4) ดังนั้น ด้วยเหตุนี้มันเป็นหน้าที่ของพวกเขา ในการอาศัยดาบเพื่อใช้ในการปกป้องประโยชน์สุขของผู้คนในชาติจากศัตรูภายนอก เช่นกัน ดังนั้นจึงมีคำกล่าวถึงผู้ซึ่งมีอำนาจว่า “จงช่วยคนอ่อนเปลี้ยและคนขัดสนให้พ้น ช่วยกู้เขาจากมือของคนอธรรม” (พระธรรมสดุดี. 81: 4) และสำหรับเหตุผลนี้ออกัสตินได้กล่าวว่า “ธรรมชาติของการได้มาซึ่งความสงบในหมู่ผู้คนเป็นความจำเป็นที่อำนาจในการ ประกาศสงคราม และอำนาจในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสงคราม ควรอยู่ในมือของผู้ที่มีอำนาจสูงสุด”

ประการที่สอง ความมุ่งหมายที่ชอบธรรม กล่าวคือ ผู้ที่ถูกรุกรานสมควรจะถูกรุกราน เพราะพวกเขาสมควรจะได้รับมันจากความผิดซึ่งพวกเขาได้ก่อขึ้น ดังคำกล่าวของออกัสตินที่ว่า “สงครามที่เป็นธรรมจำกัดความได้ว่าเป็นสงครามที่กระทำไปเพื่อลงโทษ โดยก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติหรือเมืองใด ๆ ก็ตามที่ได้ละเลยที่จะลงโทษพลเมืองของตนที่กระทำความผิด หรือละเลยที่จะคืนสิ่งที่ยึดเอาไปอย่างไม่เป็นธรรม”

ประการที่สาม มันเป็นสิ่งจำเป็นว่าผู้เข้าร่วมสงครามควรจะมีเจตนาที่ชอบธรรม เพื่อที่ว่าพวกเขาจะสร้างเสริมสิ่งที่ดีงาม หรือหลีกเลี่ยงความชั่วร้าย ดังคำกล่าวของออกัสตินที่ว่า "ศาสนาที่แท้จริงถือว่าความสงบสุข จะคงอยู่ตราบเท่าที่สงครามที่ดำเนินอยู่มิได้เกิดขึ้นเพื่อที่จะทำให้มี อำนาจมากขึ้น หรือมีความโหดร้ายทารุณ แต่เป็นไปด้วยเป้าหมายในการรักษาความสงบสุข เพื่อลงโทษผู้กระทำชั่ว และเพื่อส่งเสริมความดีงาม" แต่เป็นไปได้ว่าการประกาศสงครามโดยผู้มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมายและ เพื่อความชอบธรรมอาจแฝงไว้ซึ่งความไม่ถูกต้อง เนื่องจากเจตนาที่ชั่วร้าย ดังคำกล่าวของออกัสตินที่ว่า "อารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการจะทำร้ายกัน ความกระหายที่จะแก้แค้น ความไม่สงบและฟุ้งซ่านของจิตวิญญาณ ความชอบที่จะกบฎ ความมีกิเลสในอำนาจ และลักษณะคล้าย ๆ สิ่งเหล่านี้สมควรจะถูกตำหนิในสงคราม" (The Christian Classic Ethereal, 2001)

ดังนั้น การดำเนินสงครามที่ได้รับการถูกอนุญาตว่าชอบธรรม จะต้องคำนึงถึงความถูกต้องในการใช้ปัจจัย รวมถึงเงื่อนไขสามประการของสงครามที่เป็นธรรม คือ อำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย (Lawful Authority) สาเหตุอันชอบธรรม (Just Cause) และวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง (Right Intent) (Fagothey, A. 1963: 454)

ภายหลังจากยุคของออกัสตินและอไควนัสจนกระทั่งปัจจุบัน นักวิชาการและนักกฎหมาย เช่น ฟรานซิสโก เดอ วิคโทเรีย (Francisco de Victoria: 1548-1617), ฟรานซิสโก ซัวเรส (Francisco Suarez: 1548-1617), ฮิวโก้ โกรติอุส (Hugo Grotius: 1583-1645), ซามูเอล พิวเฟนดอฟ (Samuel Pufendorf: 1548-1704), คริสเตียน วอฟฟ์ (Christian Wolff: 1679-1754) และ เออเมอร์ริช เดอ แวทเทิ้ล (Emerich de Vattle: 1714-1767) ก็ได้ศึกษาแนวคิดสงครามที่เป็นธรรมในอดีต และได้สร้างทฤษฎีใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยพยายามแบ่งแยกว่าสงครามที่เป็นธรรมนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันล้วนแต่มีแนวคิดของออกัสติ นและอไควนัสเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น (The Internet Encyclopedia of Philosophy, 1998)

จากการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมจาก The Internet Encyclopedia of Philosophy (1998) พบว่าตามหลักสากล ทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมประกอบด้วย 2 ส่วน (ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาละติน) คือ Jus Ad Bellum และ Jus In Bello กล่าวคือ

1. Jus Ad Bellum ("Right to [go to] war") คือ การคำนึงถึงความชอบธรรม ซึ่งต้องปฏิบัติก่อนที่จะมีการประกาศสงคราม ประกอบด้วยสาระสำคัญ 5 ประการ คือ

1.1 สาเหตุอันชอบธรรมในการก่อเหตุ (Just Cause) การที่จะประกาศสงครามได้นั้นต้องมีเหตุผลอันชอบธรรม เป็นต้นว่า การต่อสู้ป้องกันตัวจากการรุกรานของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เป็นธรรม คุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์ ปกป้องสิทธิเสรีภาพและรัฐจากการถูกล่วงล้ำสิทธิ ตลอดจนเป็นการลงโทษผู้กระทำผิด เป็นต้น

1.2 อำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย (Lawful Authority) การตัดสินใจประกาศสงครามต้องเป็นไปโดยผู้ปกครองประเทศที่มีอำนาจเหมาะสม หรือผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ตลอดจนองค์กรซึ่งเป็นที่ยอมรับของสากล โดยผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง และต้องประกาศให้สาธารณชน (รวมถึงพลเมืองของตนเองและของศัตรู) รับทราบด้วย

1.3 จุดมุ่งหมายที่ชอบธรรม (Just Intent) คือความมุ่งมั่นในการทำสงครามเพื่อที่จะนำมาซึ่งสันติภาพ ไม่ใช่เป็นการทำสงครามเพื่อล้างแค้น หรือเพื่อเกียรติศักดิ์ของผู้ร่วมสงคราม

1.4 มาตรการสุดท้าย (Last Resort) ก่อนการประกาศสงครามต้องแน่ใจว่าประเทศนั้น ๆ ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อขจัดข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาทางการทูตเป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้เป็นอันดับต้น ๆ จนถึงที่สุดแล้ว เมื่อไม่มีวิถีทางใดที่ดีไปกว่าการลงโทษผู้รุกรานจึงจะประกาศสงครามได้

1.5 ความหวังที่จะได้รับชัยชนะ (Reasonable Hope of Success) จุดมุ่งหมายของการทำสงครามคือ ต้องทำสงครามจนได้ชัยชนะโดยเร็วที่สุด และหากทราบดีว่าผลของการสู้รบนั้นคือไม่สามารถไปสู่ความสำเร็จหรือเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ได้ ก็ต้องหาทางสกัดกั้นหรือขจัดความรุนแรง เพราะหากฝืนสู้รบไปก็เป็นการไร้ประโยชน์และจะมีแต่ผลเสียติดตามมา

2. Jus In Bello ("[What is] right in war") คือการปฏิบัติประพฤติตนท่ามกลางภาวะสงคราม ประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ประการ คือ

2.1 การแยกแยะความแตกต่าง (Discrimination) กล่าวคือ ผู้ทำหน้าที่ในการรบต้องแยกระหว่างประชาชนที่บริสุทธิ์กับทหารของฝ่ายตรง ข้าม หลีกเลี่ยงความรุนแรงที่โหดร้ายป่าเถื่อนและไม่เป็นธรรม อีกทั้งเชลยศึกต้องได้รับการปฏิบัติอย่างดีและมีเกียรติ ยกตัวอย่างในกรณีที่กลุ่มทหารรัฐบาลตาลีบันยอมจำนนมอบตัวแก่ทหารของกลุ่ม พันธมิตรฝ่ายเหนือ ซึ่งในการนี้นักรบอาสาสมัครและชาวมุสลิมที่ไม่ใช่ชาวอัฟกัน ได้ถูกส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิดด้วยเหตุผลทางด้านสิทธิมนุษยชน และป้องกันการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปโดยอำนาจยุติธรรม (มติชน, 26 พ.ย. 44: 20.) นอกเหนือจากวิธีการปฏิบัติต่อเชลยศึกแล้ว ทรัพย์สินของคู่สงครามต้องไม่ถูกทำลายให้ได้รับความเสียหายมากเกินความจำ เป็นอีกด้วย

2.2 ความเป็นสัดส่วน (Proportionality) หมายถึงความพอเหมาะพอดีในการใช้กำลังในสงคราม ซึ่งประเทศหนึ่ง ๆ ควรจะใช้กำลังที่พอสมควรในการบรรลุถึงเป้าหมาย รวมถึงการตระหนักถึงเงื่อนไขในการใช้กำลังอาวุธเพียงเพื่อให้สงครามยุติลง เท่านั้น การใช้อาวุธร้ายแรงซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างสูง ถือเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วน

ปัจจุบันแนว คิดสงครามที่เป็นธรรมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และมีอิทธิพลต่อนักคิดและนักปรัชญาบางกลุ่มในอันที่จะแสวงหาข้อยุติเกี่ยว กับความชอบธรรมในการทำสงคราม ตลอดจนการสร้างเงื่อนไขบางประการเพื่อให้การทำสงครามเป็นที่ยอมรับได้ แต่อย่างไรก็ดี แนวคิดสงครามที่เป็นธรรมก็มิได้เป็นที่ยอมรับสำหรับกลุ่ม สันตินิยม (Pacifism) ซึ่งจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป
--
บรรณานุกรม

คณะกรรมการพระคัมภีร์คาทอลิกแห่งประเทศไทย. (2542). พระคัมภีร์ภาษาไทย ฉบับใหม่. กรุงเทพฯ.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์. (2533). อารยธรรมสมัยโบราณ - สมัยกลาง. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ดวงเด่น นุเรมรัมย์. (2545). พุทธจริยศาสตร์กับแนวคิดเรื่องสงครามที่เป็นธรรม: กรณีศึกษาทรรศนะของนักวิชาการในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

ทาลิบันแตกยับ-อินเดีย ยุโรปผวานุก (26 พฤศจิกายน 2544). มติชน. หน้า 20.

วัชระ ฤทธาคนี, พลอากาศตรี. (2544). สงคราม: ปรากฏการณ์ของมนุษยชาติ จากศิลาสู่นภานุภาพ. (ผู้แต่ง). [เอกสารไม่ตีพิมพ์].

Fagothey, A. (1963). Right and Reason: Ethics in Theory and Practice. (3rd edition). California: The C.V. Mosby Company.

Hill, B. R., Knitter, P. and Madges, W. (1990). Faith, Religion, and Theology. (23rd Publications).

May, L. and Sharatt, S. C., Eds. (1994). Applied Ethics: A Multicultural Approach. Prentice-Hall Inc.

The Christian Classics Ethereal Library. (2000). St. Thomas Aquinas: The Summa Theologica. [Online]. Available: http://www.ccel.org/a/aquinas/summa/home.html [2000, October 11].

The Internet Encyclopedia of Philosophy. (1998). Just War Theory [Online]. Available: http://www.utm.edu/research/iep/j/justwar.htm [2000, October 13].

University of New Hampshire. (No Date). War-What is it Good For, [Online]. Available: http://pubpages.unh.edu/~wad/Course_Maternal/justwar.html [2001, June 5].

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo