การกำหนดโครงสร้างจริยธรรมตำรวจ และวิธีการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจ

คำว่า “จริยธรรมตำรวจ” นั้น ประกอบด้วยคำสามคำรวมกัน มีความหมายรวม ๆ กันว่า “ความประพฤติดี ความประพฤติชอบ หรือกิริยาที่ต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมที่ดี ของข้าราชการตำรวจหรือตามแบบฉบับที่ดีของผู้มีอาชีพเป็นข้าราชการตำรวจ” ซึ่งจริยธรรมตำรวจนี้มีลักษณะเปรียบได้กับจรรยาแพทย์ หรือ มารยาททนายความ มิใช่เป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมหรือการปฏิบัติตามหลักธรรมในทาง ศาสนาเท่านั้น  

 

คำสั่งกรมตำรวจ
ที่ 1388/2525

เรื่อง การกำหนดโครงสร้างจริยธรรมตำรวจและวิธีการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจ

ด้วยกรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า ในปัจจุบันนี้ข้าราชการตำรวจได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในด้านวินัย ความประพฤติ และการปฏิบัติงานจากบุคคลหลายวงการอย่างกว้างขวาง ทำให้ภาพพจน์ของตำรวจอยู่ในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจ ทั้งนี้เพราะงานตำรวจเป็นงานที่ท้าทาย ความรู้ความสามารถ ความกล้าหาญเสี่ยงต่อภัยอันตราย และความทรหดอดทนยากที่บุคคลอื่นจะเข้าใจได้ลึกซึ้งและถูกต้อง โดยลักษณะของงานในอาชีพนี้แล้ว เป็นงานที่มีการปฏิบัติกระทบต่อเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน มักจะไปขัดขวาง การกระทำต่าง ๆ ที่ละเมิดกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ของสังคมที่ดีอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้มีอิทธิพลหรือผู้ต้องการอภิสิทธิ์ แม้ว่ากรมตำรวจจะได้พยายามกระทำทุกวิถีทางให้ข้าราชการตำรวจเป็น ผู้มีความรู้ความสามารถ ในงานสาขาต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ ในการปฏิบัติงานก็มีการควบคุมให้ยึดถือกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งและวินัยตำรวจอย่างเคร่งครัดในทุกระดับ จัดหลักสูตรฝึกอบรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจและให้เป็นผู้ที่สามารถในการ ปฏิบัติงานในหน้าที่ มีการทดสอบสมรรถภาพและประเมินผลอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะมีการดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้วก็ตาม กรมตำรวจก็ยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนนั้นมีมาก มาย เช่น การรักษาความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การสืบสวนสอบสวน การควบคุมแหล่งอบายมุข การให้การบริการแก่ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น การที่จะให้งานต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นบรรลุผล จำเป็นที่จะต้องได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเฉพาะเป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และปฏิภาณไหวพริบแล้ว จะต้องเป็นผู้มี “ จริยธรรมตำรวจ” ป็นเครื่องมือชี้นำทางในการปฏิบัติหน้าที่ให้ไปสู่เป้าหมาย ของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่แท้จริง

คำว่า “จริยธรรมตำรวจ” นั้น ประกอบด้วยคำสามคำรวมกัน มีความหมายรวม ๆ กันว่า “ความประพฤติดี ความประพฤติชอบ หรือกิริยาที่ต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมที่ดี ของข้าราชการตำรวจหรือตามแบบฉบับที่ดีของผู้มีอาชีพเป็นข้าราชการตำรวจ” ซึ่งจริยธรรมตำรวจนี้มีลักษณะเปรียบได้กับจรรยาแพทย์ หรือ มารยาททนายความ มิใช่เป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมหรือการปฏิบัติตามหลักธรรมในทาง ศาสนาเท่านั้น

แต่หมายความรวมถึงหลักการสำคัญสำหรับอาชีพตำรวจและข้อปฏิบัติตามสำหรับอาชีพ ตำรวจ อันเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้มีอาชีพนี้มีคุณธรรม มีวินัย มีมารยาท ประพฤติตนเหมาะสมและปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพเป็นที่นิยมเลื่อมใสศรัทธาของ ประชาชน และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจ ของรัฐบาล ซึ่งในเรื่องจริยธรรมตำรวจนี้ในบางประเทศที่มีกิจการตำรวจเจริญแล้ว ได้กำหนดโครงสร้างจริยธรรมตำรวจไว้เป็นที่แน่นอนชัดเจน แต่สำหรับกรมตำรวจของเรายังมิได้กำหนดให้ชัดเจนแน่นอนลงไป และยังไม่มีการกำหนดวิธีการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจไว้เป็นแนวทางยึดถือ ปฏิบัติ และมีการประเมินผลกันอย่างจริงจัง

โดยความเป็น มาและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรมตำรวจจึงได้กำหนดโครงสร้างจริยธรรมตำรวจ วิธีการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจและการประเมินผลไว้เพื่อเป็นหลักการสำหรับ ยึดถือ และเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และรักษาความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติด้วยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดังนี้

ก. การกำหนดโครงสร้างจริยธรรมตำรวจ

กรมตำรวจได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดโครงสร้างจริยธรรมตำรวจไว้ให้แน่นอน โดยแบ่งองค์ประกอบของโครงสร้างจริยธรรมตำรวจออกเป็น 5 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 คุณธรรมตำรวจ
ส่วนที่ 2 ค่านิยมของตำรวจ
ส่วนที่ 3 อุดมคติของตำรวจ
ส่วนที่ 4 หลักการสำคัญสำหรับอาชีพตำรวจ และ
ส่วนที่ 5 ข้อปฏิบัติสำหรับอาชีพตำรวจ

ซึ่งข้าราชการตำรวจทุกคนต้องเรียนรู้ ยึดถือ และปฏิบัติตามดังนี้

1. ส่วนที่ 1 คุณธรรมตำรวจ
ให้ข้าราชการตำรวจยึดถือและปฏิบัติตามคุณธรรม 4 ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ดังนี้
1.1 การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
1.2 การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดีนั้น
1.3 การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด
1.4 การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

2. ส่วนที่ 2 ค่านิยมของตำรวจ
ให้ข้าราชการตำรวจยึดถือและปฏิบัติตามค่านิยมของตำรวจ 5 ประการตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ดังนี้
2.1 พึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
2.2 ประหยัดและออม
2.3 มีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย
2.4 ปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา
2.5 มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

3. ส่วนที่ 3 อุดมคติของตำรวจ
ให้ข้าราชการตำรวจยึดถือและปฏิบัติตามอุดมคติของตำรวจ 9 ประการตามที่กรมตำรวจได้ประกาศไว้แล้วดังนี้
3.1 เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่
3.2 กรุณาปราณีต่อประชาชน
3.3 อดทนต่อความเจ็บใจ
3.4 ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
3.5 ไม่มักมากในลาภผล
3.6 มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อปวงชน
3.7 ดำรงตนอยู่ในความยุติธรรม
3.8 กระทำการใดด้วยปัญญา
3.9 รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต

4. ส่วนที่ 4 หลักการสำคัญสำหรับอาชีพตำรวจ
ให้ข้าราชการตำรวจได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการสำคัญสำหรับผู้มีอาชีพ ตำรวจ ได้ยึดถือเป็นเครื่องสังวรณ์ไว้มิให้ คิดผิด พูดผิด และกระทำผิด รวม 11 ประการ ดังนี้

4.1 หลักการเกี่ยวกับสถาบันการปกครอง
ข้าราชการตำรวจต้องมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ และพระบรมวงศานุวงค์ ต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ข้าราชการตำรวจต้องมีความเป็นกลางในทางการเมือง ไม่เป็นผู้บริหารหรือกรรมการพรรคการเมืองใดๆ ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการทำให้เสียความยุติธรรม ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์

ข้าราชการตำรวจต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติตามกฏหมาย และระเบียบว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน

ข้าราชการตำรวจต้องเคารพ ให้เกียรติในสถาบันศาลไม่ปฏิบัติการใดอันเป็นการละเมิดอำนาจศาล

4.2 หลักการ เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
ข้าราชการตำรวจต้องเป็นผู้ที่รักและหวงแหนผืนแผ่นดินไทยต้องสนใจต่อข่าวสาร เหตุการณ์และความเคลื่อนไหวที่เป็นภัยต่อประเทศชาติ ต้องรายงานเหตุการณ์ต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่รักษาความมั่นคงปก ป้องคุ้มครองอธิปไตยของชาติ ให้ความร่วมมือกับทางทหารในการระงับปราบปรามภยันตรายใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ

ในการที่จะให้บรรลุผลดังกล่าวข้างต้น ข้าราชการตำรวจต้องรักษาความลับของทางราชการ เป็นผู้เสียสละ อุทิศเวลา ทรัพย์สิน สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ชีวิตร่างกาย ให้แก่ทางราชการและ จะต้องหมั่นฝึกฝนหาความรู้ด้านการข่าว การรักษาความปลอดภัยและศิลปการต่อสู้ เพื่อช่วยเหลือทหารในยามฉุกเฉินหรือในยามสงคราม

4.3 หลักการเกี่ยวกับประชาชน
ข้าราชการตำรวจต้องเคารพและรักษาสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ และตามกฏหมายอื่นโดยเคร่งครัด ต้องคุ้มครองป้องกันชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการให้การบริการในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่เลือกเหล่ากำเนิด ศาสนา ลัทธิ หรือฐานะ ให้ความสงเคราะห์ เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือประชาชนในการประกอบอาชีพโดยสุจริต

ข้าราชการตำรวจทุกคนต้องพึงระลึกเสมอว่า การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจทั้งในด้านการรักษาความมั่นคง และการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมจะบรรลุผลสำเร็จได้ดี ต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากประชาชน จึงต้องปฏิบัติต่อประชาชนเยี่ยงมิตรและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน

4.4 หลักการเกี่ยวกับขบวนการยุติธรรม
ข้าราชการตำรวจได้ถูกกำหนดให้มีหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน หาตัวผู้กระทำผิด และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะพิสูจน์ หรือฟ้องร้องผู้กระทำผิด การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งในขบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องปฏิบัติงานสัมพันธ์กับอัยการ ศาล และราชทัณฑ์ จึงต้องมีความรอบรู้งานระเบียบแบบธรรมเนียมการปฏิบัติ เกี่ยวกับขบวนการยุติธรรมทุกสาขา สามารถประสานกับฝ่ายอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้นได้อย่างกลมกลืน แนบเนียน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการสอบสวนและการพิจารณาคดีแก่ประชาชน ไม่ก่อให้เกิดการผิดพลาดในการพิจารณาลงโทษ หรือการใช้ตัวบทกฎหมายผิดพลาด หรือปล่อยให้มีการกลั่นแกล้งใส่ความกันอันเป็นหลักการสำคัญในขบวนการ ยุติธรรมที่จะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น

4.5 หลักการเกี่ยวกับกฎหมาย
ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติในฐานะของผู้รักษากฏหมายโดยเฉพาะ กฏหมายที่มีโทษทางอาญา เมื่อมีผู้ละเมิดกฎหมายจะต้องเป็นผู้ดำเนินการขั้นต้น ตั้งแต่การรับแจ้งความ รับคำร้องทุกข์ การสืบสวน การจับกุม การค้น การตั้งข้อหา การสอบสวนคดี การให้ประกัน การฝากขังและการสั่งฟ้องไม่ฟ้องคดี

ข้าราชการตำรวจจะต้องปฏิบัติอยู่ภายใต้ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ จะทำการเกินเหตุมิได้ หากทำเกินกว่าเหตุหรือตั้งข้อหาผิดจะต้องถูกกล่าวโทษหรือถูกฟ้องร้อง อันจะเป็นทางให้ขาดความเชื่อถือ หรือถูกลงโทษทัณฑ์ขาดความเจริญก้าวหน้าในราชการ

ฉะนั้น ข้าราชการตำรวจจึงจะต้องเป็นผู้ที่ยอมรับว่า ความรู้เกี่ยวกับตัวบทกฏหมายเป็นสิ่งสำคัญ จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้โดยไม่ประมาท

4.6 หลักการเกี่ยวกับการบริหารงาน
ข้าราชการตำรวจระดับผู้บังคับบัญชา ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องการบริหารงานและการพัฒนางานอย่างกว้าง ๆ และอย่างละเอียด หลักการบริหารงานกว้าง ๆ ได้แก่การรู้จักใช้คน วัสดุครุภัณฑ์ เครื่องมือสื่อสาร อาวุธยุทธภัณฑ์ เงินงบประมาณ ในการปฏิบัติหน้าที่และการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด ก่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุด รวมทั้งการจัดระบบขั้นตอนและวิธีการทำงานให้ตรงเป้าหมายของการบริหารงานคือ มีความสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา ถูกต้อง ยุติธรรม และเกิดความพอใจแก่ทุก ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหรือการบริการต่อข้าราชการตำรวจด้วยกันหรือกับ ประชาชนทั่วไป ต้องจัดให้มีระบบสั่งการ ควบคุม ตรวจสอบที่แน่นอน

ในการบริหารงานบุคคลนั้น ต้องถือระบบคุณธรรมและความสามารถเป็นหลัก เพื่อส่งผลกระทบไปสู่การปฏิบัติงานอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูง

ในการแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาการบริหารงาน ต้องทราบถึงสาเหตุของปัญหา ทำการวิเคราะห์ วางแผนการปฏิบัติและจัดให้มีการประเมินผล เพื่อปรับปรุงแก้ไขงานให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี และมีความนิยม เลื่อมใส ศรัทธาระบบการบริหารงานและตัวข้าราชการตำรวจเป็นอย่างดี

4.7 หลักการเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่
ข้าราชการตำรวจต้องคำนึงถึงขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่กฎหมาย ระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ และคำสั่งของผู้บังคับบัญชากำหนดหรือมอบหมายต้องไม่ละเมิดขอบเขตอำนาจของตน เอง ต้องไม่กระทำการใดเกินขอบเขตอำนาจ ต้องไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติผิดกฎหมายเสียเอง ต้องไม่ข่มเหงรังแกประชาชน โดยใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้กระทำผิดก็ให้ดำเนินการไปตามพยานหลักฐานและขั้น ตอนของกฏหมาย

4.8 หลักการเกี่ยวกับความรับผิดชอบในหน้าที่
ข้าราชการตำรวจจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยความเต็มใจ โดยใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์อย่างเต็มที่ เพื่อให้งานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตรงตามเป้าหมายของทางราชการ ต้องมีความอดทน ขยันหมั่นเพียร ใช้ปฏิภาณไหวพริบ ความมานะพยายาม จนงานสำเร็จผล ไม่เกียจคร้าน ละทิ้งหน้าที่โดยยังไม่มีผู้อื่นรับผิดชอบงานต่อจากตน หรือทำงานอย่างเฉื่อยชา จนทำให้งานเสียหาย ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธา

ข้าราชการตำรวจต้องพึงระลึกว่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นไม่ว่าหน้าที่ใด เป็นสิ่งที่มีเกียรติ และน่าภาคภูมิใจ จึงจะต้องปฏิบัติให้สมกับเกียรติที่ได้รับนั้น

4.9 หลักการสร้างศักดิ์ศรีเกียรติยศและปลูกศรัทธาจากประชาชน
ข้าราชการตำรวจที่มีเจตนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างศักดิ์ศรีเกียรติยศและปลูก ศรัทธาจากประชาชนให้เกิดขึ้น จะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยทางมิชอบ อันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม ต้องเป็นผู้ที่กล้าหาญ เสียสละ มีความรอบรู้ และขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่และการให้การบริการ แก่ประชาชน ให้กระทำโดยเท่าเทียมเสมอหน้ากัน ด้วยหลักมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ไม่เบียดเบียน ดูหมิ่น เหยียดหยามประชาชน วางตัวเป็นกลางในการสืบสวนสอบสวน ไม่ลำเอียง มีอคติต่อฝ่ายใดจนเสียความเป็นธรรม ให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนตามฐานานุรูปโดยไม่เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ มุ่งกระทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมากที่สุด เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ข้าราชการตำรวจก็จะต้องมีศักดิ์ศรี เกียรติยศและได้รับความนิยม เลื่อมใสจากประชาชนขยายวงกว้างออกไปอย่างหาที่สุดมิได้

4.10 หลักการเสริมสร้างความสามัคคีของข้าราชการตำรวจ
กรมตำรวจเป็นหน่วยงานใหญ่ มีกำลังพลมาก มีงานหลายลักษณะให้ปฏิบัติ จึงจำเป็น ต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ในสาขาต่าง ๆ มาปฏิบัติงาน เพื่อสนองความต้องการของประชาชนและประเทศชาติ การที่นำบุคคลซึ่งมีความรู้ต่างสาขากันมาปฏิบัติงาน ย่อมมีความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ปทัสถาน ความคิด ตลอดจนนิสัยใจคอที่แตกต่างกันออกไป เมื่อมาปฏิบัติงานร่วมกันก็อาจเกิดความขัดแย้งในทางความคิดหรือการปฏิบัติ บางคนเข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป หากไม่มีเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยละลายพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้ ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ไปในแนวทางเดียวกันแล้ว ความสามัคคีกลมเกลียวก็จะไม่บังเกิดขึ้น จะมีความอิจฉาริษยา ชิงดีชิงเด่นกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน มาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวินัย ระเบียบ ข้อบังคับ และกฏหมายที่มีอยู่ ไม่ละเอียดอ่อนพอที่จะละลายพฤติกรรมในทางความขัดแย้งกันได้โดยง่าย จึงเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่จะนำเอาศิลปการปกครองคนมาใช้ รวมทั้งเร่งเสริมสร้างจริยธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจ โดยการอบรมชี้นำให้เห็นความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมไปในแนวทางเดียวกัน และชี้ข้อดี ข้อเสีย ของการแตกความสามัคคี ซึ่งจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียต่อกรมตำรวจ สังคม และประเทศชาติให้เด่นชัด

ข้าราชการตำรวจที่ดีจึงต้องช่วยกันสร้างสรรค์สามัคคีให้เกิดขึ้นทุกวิถีทาง เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาและข้าราชการตำรวจทุกคน จะต้องเลือกประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่จะก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกัน หากข้าราชการตำรวจทุกคน ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยจะได้ทำความเข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน ส่งความรัก ความเมตตา เอื้ออารี ประสานประโยชน์ และให้อภัยซึ่งกันและกันแล้ว คาดว่าความสามัคคี จะต้องเกิดขึ้นและแผ่ไพศาลขยายวงกว้างออกไปทั่วทั้งกรมตำรวจ อันจะก่อให้เกิด การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและภาพพจน์ที่ดีในสายตาประชาชน

4.11 หลักการประชาสัมพันธ์และการประสานงาน
ข้าราชการตำรวจต้องปฏิบัติงานผูกพันเกี่ยวข้องกับประชาชนและหน่วนราชการอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็เกิดความกระทบกระทั่ง ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ข่าวสารต่างๆ ถูกบิดเบือนให้เข้าใจผิด ทั้งโดยไม่เจตนาและโดยเจตนาเพราะมีประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง ทำให้ประชาชนและข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ มองข้าราชการตำรวจไปในทางไม่ดีไม่งาม ทั้งเรื่องที่เป็นจริงและไม่เป็นจริง การปล่อยให้ภาพพจน์ของข้าราชการตำรวจเป็นไปในลักษณะเดิม โดยมิได้มีการแก้ไข ย่อมนำความเสื่อมเสียมาสู่วงการตำรวจ ทั้งด้านการประสานงาน ด้านชื่อเสียง เกียรติยศและศักดิ์ศรี จึงเป็นหน้าที่ของข้าราชการตำรวจทุกคนที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ดี เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการประชาสัมพันธ์ ในการทำความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีต่อประชาชน และสื่อมวลชน ข้าราชการตำรวจทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องการประชาสัมพันธ์ และเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดี การเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดีต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีปฏิภาณไหวพริบ ใช้กิริยาวาจานุ่มนวลไพเราะ ให้เกียรติยกย่องผู้อื่น ชอบให้การช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้อื่นอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะเกิดการประสานงานที่ดี จะได้รับความร่วมมือร่วมใจ ตามมาอย่างแน่นอน

5. ส่วนที่ 5 ข้อปฏิบัติสำหรับอาชีพตำรวจ
ให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติตามข้อปฏิบัติสำหรับผู้มีอาชีพตำรวจ เพื่อผลความสำเร็จที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

5.1 การปฏิบัติตนในที่สาธารณะ
การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจไม่ว่าจะต่อผู้ใด จะต้องดำเนินไปโดยคำนึงถึงการสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ ประชาชน แก่ข้าราชการตำรวจทุกคน จะต้องปฏิบัติตนให้มีลักษณะสุภาพ อ่อนน้อม น่าเคารพยำเกรง ดังนั้น ข้าราชการตำรวจจึงไม่อยู่ในฐานะที่ประชาชนจะดูถูกหรือเกรงกลัว เพราะประชาชนทุกคนไม่มีหน้าที่จะต้องมากลัวตำรวจ ตำรวจย่อมให้บริการแก่ประชาชนทันทีเมื่อเห็นสมควรหรือเมื่อได้รับการร้องขอ โดยชอบ จะต้องปฏิบัติงานโดยไม่มีอคติ และยึดหน้าที่เป็นหลัก จะต้องช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม พยายามบรรเทาสาธารณภัย ไม่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับทุกข์ ช่วยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

5.2 การปฏิบัติเมื่อเข้าจับกุมหรือระงับการกระทำผิดกฎหมาย
การแสดงถึงการอุทิศจิตใจให้แก่หน้าที่และยืนยันเจตนารมย์ในการรักษากฎหมาย ให้ถึงที่สุดไม่ว่ากรณีใดๆ เมื่อมีความจำเป็นจะต้องใช้อาวุธและกำลังจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม ซึ่งกฏหมายกำหนดไว้เท่านั้น ขอบเขตอำนาจ เหล่านี้จะต้องทำความเข้าใจไว้ให้ดีตลอดเวลา ว่ามีอำนาจเพียงใดและขอบเขตจำกัดแค่ไหน การปฏิบัติจะต้องแสดงออกไปโดยใช้มาตรการรุนแรงน้อยที่สุดและเท่าที่จำเป็น เท่านั้น

5.3 การปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวน
ในฐานะข้าราชการตำรวจเป็นผู้ให้ความยุติธรรมระหว่างผู้ถูก กล่าวหาและผู้ต้องหา ข้าราชการตำรวจต้องรักษาบทบาทของการไม่มีอคติต่อฝ่ายใด สนใจรับฟัง ถ้อยแถลงการกล่าวอ้างและพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายจะนำมาแสดง อำนวยความสะดวกให้ทุกคนมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ไม่ปฏิบัติการทำนองเยาะเย้ย ดูหมิ่นผู้ใดแม้จะเป็นผู้ที่กระทำผิดจริง พอใจที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายเท่านั้น

ดังนั้น ข้าราชการตำรวจจะต้องหมั่นฝึกฝนตนเองให้มีจิตใจหนักแน่นไม่ฟังความข้างเดียว ไม่ด่วนสรุปหรือตัดสินใจโดยปราศจากข้อมูลและพยานหลักฐาน แต่ใช้วิจารญาณอย่างดีที่สุดประกอบการปฏิบัติหน้าที่

5.4 การรับของขวัญ รางวัล หรือให้อภิสิทธิ์
ภารกิจตามหน้าที่ของข้าราชการตำรวจเป็นที่ยอมรับว่าหนักและยากเป็นงานที่ ต้องควบคุมตัวเอง ต้องทำตนให้มีเกียรติและเสียสละ จึงต้องระมัดระวังอย่าให้ตกไปอยู่ในฐานะที่ประชาชนคนหนึ่งคนใดจะมาหวังสิทธิ พิเศษจากข้าราชการตำรวจ เช่น การรับของขวัญ ของกำนัลหรือรับสิทธิ์พิเศษจากประชาชนไม่ว่าจะเป็นของมีค่าหรือสินน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะการกระทำเหล่านี้อาจจะถูกมองไปในแง่มีบุญคุณต่อกัน รักใคร่ชอบพอกัน อันอาจจะชักนำให้ปฏิบัติการนอกหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่

5.5 การเป็นประจักษ์พยาน 
ข้าราชการตำรวจทุกคนจะต้องคำนึงถึงการพิจารณาคดีและให้ความเป็นธรรมทั้งสอง ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ จะต้องมีความแน่ใจกับพยานหลักฐานที่จะใช้ประกอบการพิจารณาโดยไม่มีอคติหรือ มุ่งร้าย ดังนั้น ข้าราชการตำรวจจะต้องไม่คำนึงถึงบุคคลด้วย ฐานะทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สังคม เศรษฐกิจ หรือฐานะอื่นใด นอกจากความเป็นคนเท่าเทียมกันเพื่อให้คำให้การของข้าราชการของตำรวจเป็นสิ่ง ที่น่าเชื่อถือและมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง

ข้าราชการตำรวจจะต้องยอมเสียสละเวลา ในการพัฒนาแนวความคิดความชำนาญงาน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการให้การ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง แห่งคดี เพราะในบางครั้งมีแต่เพียงคำให้การของข้าราชการตำรวจเท่านั้น ที่จะใช้เป็นประจักษ์พยาน

5.6 การปฏิบัติตนในฐานะผู้บังคับบัญชา
ข้าราชการตำรวจจะต้องเอาใจใส่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ประพฤติตนเป็นตัวอย่างสามารถเป็นที่ปรึกษาและที่พึ่งของผู้ใต้บังคับบัญชา มีความรับผิดชอบและไม่ผลักความรับผิดชอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชา มีลักษณะผู้นำที่พร้อมจะนำ ผู้ใต้บังคับบัญชา ฟันฝ่าอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา หมั่นอบรมตักเตือน ให้ความรู้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาเกี่ยวกับงานในหน้าที่รับผิดชอบ  

5.7 การปฏิบัติตนในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา
ข้าราชการตำรวจจะต้องเคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา รักษาระเบียบวินัยและความสามัคคีในหมู่คณะ พร้อมที่จะอุทิศตนให้แก่หน้าที่ราชการ โดยไม่หลีกเลี่ยงเกี่ยงงอน มีศรัทธาในหน้าที่และผู้บังคับบัญชา

5.8 การปฏิบัติตนในฐานะเพื่อนร่วมงาน
ข้าราชการตำรวจจะต้องมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน สร้างความสามัคคีปรองดองในหมู่คณะ รวมกันปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยยึดวัตถุประสงค์ส่วนรวม ของหน่วยเป็นหลัก ไม่อิจฉาริษยาหรือสร้างปัญหา แต่ตรงกันข้าม พยายามเสริมสร้าง พัฒนางานทั้งในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนและของหน่วยให้ดีขึ้น

5.9 การปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจ
ข้าราชการตำรวจจะต้องคำนึงเสมอว่า ประชาชนมองตนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อนอกเวลาราชการหากประพฤติตนไม่สมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เคารพกฏหมาย ย่อมส่งผลสะท้อนกลับมาสู่หน้าที่การงาน ทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม หรือหน่วยงานทั้งหมด ประชาชนต้องการจะเห็นว่าข้าราชการตำรวจประพฤติตนดี น่าเอาเป็นตัวอย่างทั้งในและนอกหน้าที่ รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด และวางตนให้เหมาะสม แก่กาลเทศะ พยายามสร้างครอบครัวให้ดีมีความสุข ไม่หมกหมุ่นในอบายมุขทั้งหลาย เพื่อเป็นการรักษาเกียรติยศและขนบธรรมเนียมที่ดีไว้ ผู้ที่เชื่อและเคารพในเกียรตินี้ย่อมไม่ทำอะไรให้เกิดการเสื่อมเสีย ในทางตรงข้าม ทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างศรัทธาให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั้งในด้านศีลธรรม ความเข้มแข็งอดทน และการอุทิศตนต่อการงาน

5.10 การเยี่ยมเยียนผู้ได้รับบาดเจ็บ
ข้าราชการตำรวจที่มีคุณธรรมและเป็นนักประชาสัมพันธ์ย่อมจะต้องพิจารณาเห็น ว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการเจ็บป่วยจิตใจย่อมไม่ปกติ ต้องการผู้ที่มา เยี่ยมเยียนและเอาใจใส่ ฉะนั้น ไม่ว่าผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากผลในทางคดี ในฐานะผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาหรือบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุชนิดต่าง ๆ เช่น ถูกรถยนต์ชน ถูกไฟไหม้ หากข้าราชการตำรวจจะได้ใช้เวลาที่ว่าง จากราชการสำคัญอื่น ๆ ไปเยี่ยมเยียนและอาจมีสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปฝาก ก็จะทำให้เป็นที่ชื่นอกชื่นใจ ของผู้เจ็บป่วยและญาติมิตรของเขา เป็นทางให้ได้รับความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนคดี ในการป้องกันอาชญากรรม และช่วยเสริมสร้าง ความมั่นคงให้แก่ชาติ เพราะเป็นการดึงมวลชนมาเป็นฝ่ายรัฐบาล

5.11 การปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านใกล้เคียง เยาวชนและเด็ก
ข้าราชการตำรวจพึงระลึกว่าตนเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างภาพพจน์ที่ ดีให้กับข้าราชการตำรวจเป็นส่วนรวมและกรมตำรวจ ฉะนั้น หากได้เริ่มประพฤติปฏิบัติกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงในระแวกหมู่บ้านที่อาศัย อยู่อย่างมีมนุษยสัมพันธ์ โดยใช้กริยาวาจา ไพเราะนุ่มนวล ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเมื่อเขาได้รับความเดือดร้อน หรือมีธุระจำเป็น ก็ช่วยให้คำแนะนำ บอกวิธีการแก้ปัญหาหรือช่วยเป็นธุระจัดทำให้ ก็จะทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดี โดยเฉพาะการปฏิบัติที่เป็นมิตรกับเยาวชนและเด็ก จะทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องเขาเกิดความพอใจรักใคร่และให้ความร่วมมือกับข้า ราชการตำรวจ เป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ข้าราชการตำรวจเป็นส่วนรวมและกรม ตำรวจ

ข. วิธีการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจ
เพื่อให้การเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจได้ปลูกฝังลึกเข้าไปในจิตใจของ ข้าราชการตำรวจจนเกิดเป็นความรู้ ความคิดที่ดี เป็นนิสัยความเชยชิน เป็นค่านิยมประจำตัวของข้าราชการตำรวจทุกนาย ในการที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ แก่ประชาชนและประเทศชาติ แก่กรมตำรวจและแก่ตนเอง

กรมตำรวจจึงใคร่ขอกำหนดวิธีการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจไว้ดังนี้

1. ให้รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ในการวางมาตรการ ควบคุมและสั่งการ เกี่ยวกับการดำเนินการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจของหน่วยงาน ในสังกัดกรมตำรวจทุกระดับ โดยมีศูนย์ประชาสัมพันธ์กรมตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินกรรมวิธี

2. ให้ศูนย์ประชาสัมพันธ์กรมตำรวจร่วมกับกองวิชาการ ดำเนินการจัดพิมพ์เอกสารแจกจ่าย เผยแพร่และอธิบายความหมายของจริยธรรมตำรวจไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ของกรมตำรวจ รวมทั้งจัดวิทยากรบรรยายเรื่องจริยธรรมตำรวจ ให้ทราบซึ้งเข้าไปในจิตใจ ของข้าราชการตำรวจทุกคน ให้ถือว่าการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยให้การประชา สัมพันธ์ของกรมตำรวจดีขึ้น

3. ให้ผู้บัญชาการศึกษาพิมพ์เอกสารเรื่องจริยธรรมตำรวจ แจกจ่ายให้กับผู้เข้ารับการอบรมทุกหลักสูตร โดยจัดให้มีชั่วโมงบรรยายเรื่องจริยธรรมตำรวจ จะจัดไว้ในชั่วโมงของ หลักสูตร หรือจะจัดไว้เป็นหลักสูตรเพิ่มเติม โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ให้มีการทดสอบหรือการวัดผลด้วย

4. ให้ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่ามีหน้าที่ในการวางมาตรการควบคุม ดูแลการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจของหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ กรมตำรวจวางไว้ และให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดข้อปฏิบัติปลีกย่อยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง จริยธรรมตำรวจ เพื่อให้ เหมาะสมกับหน่วยงานและหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยนั้น ๆ

5. ให้จเรตำรวจกำหนดแผนการตรวจงานจริยธรรมตำรวจไว้ในแผนการ ตรวจงานประจำปี โดยให้ถือว่า เป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งที่จะต้องตรวจ ให้ตรวจหลักฐานเกี่ยวกับการฝึกอบรมจริยธรรมตำรวจของหน่วยงานที่ไปตรวจ ให้ทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่องจริยธรรมตำรวจในระหว่างที่ไปตรวจงานด้วย โดยทำการทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่องจริยธรรมตำรวจโดยกระทำทางวาจา หรือลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนและเร่งเร้าอีกครั้งหนึ่ง

6. ให้ผู้บังคับบัญชาตำแหน่งผู้บังคับการ ผู้กำกับการ สารวัตรใหญ่ สารวัตร และตำแหน่ง เทียบเท่า จัดให้มีการอบรมเรื่องจริยธรรมตำรวจ แก่ข้าราชการ ตำรวจ ในปกครองทุก ตำแหน่งและชั้นยศ ให้มีการทดสอบหรือวัดความรู้ความเข้าใจโดยทำหลักฐานไว้ให้หน่วยเหนือ ตรวจสอบได้ทุกเวลา โดยให้กระทำเป็นประจำทุกช่วง 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง

7. ให้ข้าราชการตำรวจทุกคนถือเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาตนเอง ให้เป็นผู้ที่มีจริยธรรมตำรวจครบถ้วนบริบูรณ์ตามเป้าหมายที่กรมตำรวจวางไว้ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติสังคมตำรวจและตนเอง เพื่อที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง

ค. การประเมินผล
ให้มีการประเมินผลการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจ เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำมาปรับปรุง วิธีการเสริมสร้างจริยธรรม และประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ที่มีจริยธรรมดีเด่น ดังนี้

1. ให้ศูนย์ประชาสัมพันธ์กรมตำรวจวางระเบียบและหลักเกณฑ์ ในการประเมินผลหน่วยงานและตัวข้าราชการตำรวจไปให้หน่วยงานระดับต่าง ๆ ถือปฏิบัติ

2. ให้ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ สารวัตรใหญ่ สารวัตรและตำแหน่งเทียบเท่า ประเมินผลการเสริมสร้างจริยธรรมเป็นรายหน่วยและรายบุคคล แล้วรายงานไปยังกองบัญชาการหรือเทียบเท่า

3. ให้กองบัญชาการรวบรวมเอกสารการประเมินผลดังกล่าวมาในข้อ 1 ไปยังกรมตำรวจ โดยผ่านศูนย์ประชาสัมพันธ์กรมตำรวจ

4. ให้ศูนย์ประชาสัมพันธ์กรมตำรวจนำผลของการประเมินมาให้ดำเนินการ ดังนี้

4.1 นำมาปรับปรุงระบบและวิธีการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หากว่าการปฏิบัติแต่เดิมนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร

4.2 ให้นำคะแนนการประเมินผลของหน่วยงานหรือตัวข้าราชการตำรวจ ที่ได้รับการประเมินดีเด่นในด้านจริยธรรมกรมตำรวจ ไปใช้ในการให้รางวัล หรือประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้กำลังใจและเป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานหรือข้าราชการตำรวจคนอื่น ๆ

4.3 นำผลการประเมินมาใช้กับกิจการอื่น ๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการปกครองบังคับบัญชาและการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ

5. ให้ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจที่มีคะแนนสูงสุด จากการประเมินผลในด้านจริยธรรม นำผลคะแนนนั้นไปใช้ดังนี้

5.1 นำไปใช้การพิจารณาให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ เมื่อ ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีผลการปฏิบัติงานดีเด่น

5.2 สำหรับผู้ที่มีคะแนนในการประเมินผลต่ำ หรือมีจริยธรรมตำรวจบกพร่องมาก ให้ผู้บังคับบัญชาอบรมตักเตือนเป็นกรณีพิเศษ หากไม่ดีขึ้นในระยะที่กำหนดให้พิจารณาโทษทัณฑ์ตามสมควรแก่กรณี

6. ให้ถือว่างานเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจเป็นงานสำคัญอันหนึ่งของกรมตำรวจ ซึ่งอยู่ในสายงานบริหารของกรมตำรวจ ห้รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอน วิธีการ และเป้าหมายที่กรมตำรวจกำหนดไว้

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 24 กันยายน 2525

พลตำรวจเอก สุรพล จุลละพราหมณ์
(สุรพล จุลละพราหมณ์)
อธิบดีกรมตำรวจ 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo