“วิสาขะ” เป็นชื่อเรียกของเดือน ๖ ส่วนคำว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา”
แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๖” ดังนั้น วันวิสาขบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น
๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ในปีอธิกมาส คือปีที่มีเดือน ๘ สองหน)
วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายถือเอาความอัศจรรย์ ๓ ประการ
ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างปี แต่พ้องวันกัน
คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งความอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการที่เกิดในวันวิสาขบูชา
หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ในสมัยพุทธกาล ได้แก่
๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ พระพุทธเจ้าทรงประสูติเมื่อเช้าวันศุกร์
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี โดยมีพุทธประวัติสังเขปดังนี้
เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ
พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ
ซึ่งเป็นพระนครที่เกิดของพระนาง เพื่อประสูติพระราชกุมารในตระกูลของพระนาง
ซึ่งเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น แต่ในขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ
ณ สวนลุมพินีวัน (ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวหทะ) พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส
ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้
๕ วันก็ได้รับการถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า ผู้มีความต้องการสำเร็จ
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ พระองค์ทรงตรัสรู้ในตอนเช้ามืดวันพุธ
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี (หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี)
ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า
พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้อริยสัจสี่ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
ไม่มีผู้เสมอเหมือน ดังนั้น วันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่บังเกิดพระพุทธเจ้าพระนามว่า
“โคตมะ” อุบัติขึ้นในโลก โดยมีพุทธประวัติสังเขปดังนี้
พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย
เรียกว่าการเข้า “ฌาน” เพื่อให้บรรลุ “ญาณ” จนเวลาผ่านไปจนถึง ...
ยามต้น : ทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุติญาณ” คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
ยามสอง : ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ยามสาม : ทรงบรรลุ “อาสวักขญาณ” คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ ๔ (ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน
๖ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
๓. วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป)
ทรงดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ก่อนพุทธศักราช
๑ ปี
การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ถือเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกเพราะพุทธศาสนิกชนได้สูญเสียดวงประทีปของโลก
ซึ่งนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยมีพุทธประวัติสังเขปดังนี้
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลา ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้
๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก
ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะตามคำกราบทูลนิมนต์
พระองค์เสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา
เพื่อเสด็จ ดับขันธุ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้นได้มีนักบวชนอกพระพุทธศาสนาผู้หนึ่งชื่อ
สุภัททะขอเข้าเฝ้า และพระพุทธเจ้าได้ประทานบวชให้ โดยให้พระอานนท์เป็นอุปัชฌาย์
จึงนับเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าประทานบวชให้
เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อม
มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน
และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ” หลังจากนั้น ก็เสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน
ใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ)
แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันวิสาขบูชา
การประกอบพิธีวิสาขบูชาในเมืองไทยเริ่มทำมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า
น่าจะได้รับแบบอย่างมาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกราช
กษัตริย์แห่งลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ดังนั้นกษัตริย์ลังกาในสมัยต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม
ในสมัยสุโขทัย ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์กันทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด
เพราะพระสงฆ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (ตำรับนางนพมาศ) ได้กล่าวถึงบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชา
สมัยสุโขทัยไว้ สรุปใจความได้ว่า
“เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย
ทั่วทุกหมู่บ้านทุกตำบลต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษด้วยดอกไม้ของหอม
จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วทั้งพระนคร เป็นการบูชาพระรัตนตรัยเป็นเวลา
๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง
ๆ ครั้นตกเวลาตอนเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์
ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน เสด็จไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยต่างชวนกันรักษาศีล ฟังพระเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร
บริจาคทรัพย์ แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่และคนพิการ บางพวกก็ชักชวนกันสละทรัพย์ซื้อสัตว์
๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อไถ่ชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระโดยเชื่อว่าจะทำให้ตนมีอายุยืนยาวต่อไป”
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฎหลักฐานว่าได้มีการประกอบพิธีวิสาขบูชา
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงปรากฎหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราช-ประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ให้ปรากฎในแผ่นดินไทยต่อไป
โดยทรงออกประกาศเป็น “พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา” กอปรกับมีพระประสงค์จะให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศลเป็นหนทางเจริญอายุและอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศก
โรคภัย และอุปัทอันตรายต่าง ๆ โดยทั่วกัน ฉะนั้นการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
โดยจัดเป็นพิธียิ่งใหญ่ติดต่อกัน ๓ วัน คือ วันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑
ค่ำ เดือน ๖ และได้ถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อวันวิสาขบูชาเวียนมาถึงในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญเดือน ๖ ประมาณเดือนพฤษภาคม
หรือมิถุนายนของไทย พุทธศาสนิกชนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต (พระสงฆ์ สามเณร) หรือ
ฆราวาส (ประชาชน) จะร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนาเป็นการพิเศษ โดยทำการสักการบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณา
พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั่วไป
จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า “วันพระพุทธ (เจ้า)”
สำหรับการปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันวิสาขบูชา ได้แก่
เวลาเช้า : พุทธศาสนิกชนควรไปทำบุญตักบาตรที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา
เวลากลางวัน : ร่วมกันบำเพ็ญสาธาณประโยชน์ เช่น พัฒนาวัดหรือศาสนสถาน บริจาคทรัพย์
ปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นต้น
เวลาค่ำ : นำดอกไม้ธูปเทียนไปที่วัด เพื่อร่วมประกอบพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ
เสร็จแล้วจึงเข้าไปฟังธรรมในพระอุโบสถ โดยมีขั้นตอนดังนี้
๑) ให้ยืนหันหน้าตรงต่อพระพุทธรูป ส่วนพระสงฆ์อยู่ด้านหน้า และฆราวาสยืนต่อท้ายอยู่ด้านหลัง
พร้อมกันนี้ให้ประนมมือถือดอกไม้
๒) จากนั้นพระสงฆ์ซึ่งเป็นประธานในพิธีจะกล่าวนำคำบูชาเป็นภาษาบาลี เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
ดังนี้
- บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (อิติปิโสภควา อรหังสัมมา...พุทโธภควาติ)
- บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (สวากขาโต ภควตาธัมโม...วิญญูหิติ)
- บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (สุปฏิปันโน ภควโตสาวกสังโฆ...โลกัสสาติ) แล้วจุดธูปเทียน
แล้วเริ่มเดินเวียนเทียน โดยเดินเวียนขวารอบพระอุโบสถ ๓ รอบ โดยรอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ
(ให้น้อมจิตระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า) รอบที่สองสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ
(ให้น้อมจิตระลึกถึงคุณของพระธรรม) และรอบที่สามรอบแรกสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ
(ให้น้อมจิตระลึกถึงคุณของพระสงฆ์)
๓) เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ธูปเทียนดังกล่าวไปปักไว้ในกระถางที่ทางวัดได้จัดเตรียมไว้ให้
๔) จากนั้นจึงเข้าไปในพระอุโบสถ เพื่อทำวัตรสวดมนต์ และฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งปกติจะมีเทศน์ปฐมสมโพธิ
ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน
ปัจจุบัน วันวิสาขบูชามิได้เป็นเพียงวันสำคัญของศาสนิกชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น
หากแต่วันวิสาขบูชายังได้รับการยอมรับจากองค์การ สหประชาชาติให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก
โดยสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก ซึ่งตรงกับวันเพ็ญกลางเดือนหก
และเป็นการกำหนดตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยสหประชาชาติใช้คำว่า “วันเพ็ญกลางเดือนพฤษภาคม”
การที่สหประชาชาติกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก เพราะพระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมของโลก
ซึ่งทางสหประชาชาติเรียกว่า Spirituality หมายความว่าได้หล่อหลอมจิตวิญญาณของมวลมนุษยชาติตามแนวทางแห่งสันติภาพ
ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นเวลากว่า ๒,๐๐๐ ปี
ในคำประกาศของที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ ๕๔ เมื่อวันที่ ๑๓
ธันวาคม ๒๕๔๒ มีการระบุว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก
ที่ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณ ของมนุษยชาติมานาน ควรที่จะยกย่องกันทั่วโลก จึงประกาศให้วันวิสาขบูชาคือวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม
เป็นวันสำคัญสากลนานาชาติ (International Day) เมื่อถึงวันดังกล่าวให้สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ
สำนักงานย่อยทั่วโลก รวมถึงสำนักงานในประเทศไทย ต้องจัดพิธีวันวิสาขบูชาให้สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ทำงานอยู่ในสำนักงานของสหประชาชาติ