วันอัฏฐมีบูชา

วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ (เผาศพพระพุทธเจ้า) วันนี้จึงเรียกว่า “วันอัฏฐมีบูชา” ซึ่งประวัติความเป็นมาของวันอัฏฐมีบูชา คือ เมื่อวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ในพรรษาที่ ๔๕ พระพุทธเจ้าได้ทรงประชวรหนัก ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ทรงปลงอายุสังขาร โดยพระพุทธเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า 
   

//

วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ หรือ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส

วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ (เผาศพพระพุทธเจ้า) วันนี้จึงเรียกว่า “วันอัฏฐมีบูชา” ซึ่งประวัติความเป็นมาของวันอัฏฐมีบูชา คือ เมื่อวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ในพรรษาที่ ๔๕ พระพุทธเจ้าได้ทรงประชวรหนัก ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ทรงปลงอายุสังขาร โดยพระพุทธเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ” (ทีฆนิกาย มหาวรรค. ๑๐/๑๐๐/๑๐๘)

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ๗ วัน มัลลกษัตริย์ แห่งนคร กุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดี กรุงกุสินารา เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ และภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว กษัตริย์และผู้ครองแคว้นต่าง ๆ รวม ๗ แคว้น ได้แก่ (๑.) พระเจ้าอชาตศัตรู เมืองมคธ (๒.) กษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี (๓.) กษัตริย์ศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ (๔.) กษัตริย์ถูลี เมืองอัลกัปปะ (๕.) กษัตริย์โกลิยะ เมืองรามคาม (๖.) มหาพราหมณ์ เมืองเวฏฐทีปกะ และ (๗.) กษัตริย์มัลละ เมืองปาวา ได้ส่งทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ตอนแรกพวกเจ้ามัลละ แห่งนครกุสินารา ไม่ยอมแบ่งให้ จนเกือบจะเป็นชนวนให้เกิดสงครามระหว่างพวกเจ้ามัลละกับกษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง ๗ แคว้น ที่มาขอส่วนแบ่ง

แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งก็ระงับลงได้โดยมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ “โทณะ” เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกษัตริย์และพราหมณ์เหล่านั้น ความว่า “ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงฟังคำอันเอกของข้าพเจ้า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย เป็นผู้กล่าวสรรเสริญขันติ การจะสัมประหารกันเพราะส่วนพระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุคคลเช่นนี้ไม่ดีเลย ขอเราทั้งหลายทั้งปวง จงยินยอมพร้อมใจยินดีแบ่งพระสรีระออกเป็นแปดส่วนเถิด ขอพระสถูปจงแพร่หลายไปในทิศทั้งหลาย ชนผู้เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุมีอยู่มาก ฯ” (ทีฆนิกาย มหาวรรค. ๑๐/๑๕๘/๑๓๒)

ด้วยวาทะของโทณะพราหมณ์ ทำให้มัลละกษัตริย์ยอมปรองดองกับกษัตริย์และพราหมณ์ โดยตกลงกันให้โทณะพราหมณ์เป็นผู้จัดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่แคว้นต่าง ๆ โดยเท่ากัน ซึ่งโทณะพราหมณ์ได้รับทะนานทองที่ใช้ในการตวงพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่ระลึก

ในวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระนั้น นับเป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธมีความโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียประทีปที่นำทางให้มวลมนุษย์ก้าวล่วงสังสารวัฏ ดังนั้นเมื่อวันอัฏฐมีบูชาเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาในแต่ละวัด จะได้พร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้น เป็นการเฉพาะภายในวัด แต่วิถีการปฏิบัติกันมาแต่เมื่อใดนั้น ไม่พบหลักฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา

เมื่อวันนี้เวียนมาบรรจบ พุทธศาสนิกชนบางส่วน ผู้มีความเคารพในพระพุทธองค์ มักนิยมประกอบพิธีบูชา ณ ปูชนียสถานต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนพึงระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล

การประกอบพิธีอัฏฐมีบูชานั้น นิยมทำกันในตอนค่ำ และปฏิบัติอย่างเดียวกับประกอบพิธีวิสาขบูชา เพียงแต่แตกต่างตรงคำบูชาเท่านั้น 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo