การเสวนาทางศาสนา : เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย

การเสวนาทางศาสนาแต่ละครั้งอาจจะมิใช่ข้อยุติสุดท้าย และไม่อาจสามารถคาดหวังถึงผลสำเร็จที่จะเกิดได้ทั้งหมด เนื่องจากความซับซ้อนของตัวขบวนการการเสวนาทางศาสนาเอง และเนื่องจากความเกี่ยวข้องในเรื่องธรรมชาติ อันประกอบด้วย อัตตาของมนุษย์เอง ทำให้การเสวนาทางศาสนาได้รับการมองว่า เป็นขบวนการที่ยากจะเกิดขึ้น และให้ผลดีตามที่ต้องการได้ แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักวิชาการทางศาสนาและผู้มีจิตใจกว้างที่จะ ยอมรับ “ความหลากหลาย และความแตกต่าง” หันมาใช้วิธีการ และประโยชน์ของการเรียนรู้ และเข้าใจศาสนาโดยการเสวนาระหว่างศาสนา ให้มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ วิธีเสวนาระหว่างศาสนาที่เคยมีมาแล้วในอดีตอย่างไม่เป็นทางการ สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนให้มีการศึกษา ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างเป็นทางการต่อไป
 

ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อกล่าวถึงการเสวนาทางศาสนา (Interreligious Dialogue) ศาสนิกชนในหลาย ๆ ศาสนาอาจลงความเห็นว่า การสนทนาหรือการพูดจากันระหว่างศาสนิกชนต่างศาสนานั้น ได้ปรากฏเกิดขึ้นตลอดเวลาของการพัฒนาประวัติศาสตร์อันยาวนานของแต่ละศาสนา กล่าวคือ ความสัมพันธ์ในรูปแบบของการเสวนาทางศาสนาอาจะเกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ ศาสนา ในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของศาสนานั้น ๆ แต่รูปแบบและวิธีการอาจจะยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นข้อเสนอแนะดังเช่นในสมัยปัจุจบัน อาจกล่าวได้ว่า การเสวนาระหว่างศาสนามีจุดกำเนิดเนื่องมาจากความพยายามของคริสตศาสนาที่ต้อง การจะมีความสัมพันธ์ และเข้าใจศาสนาอื่น

การเสวนา ระหว่างศาสนาในปัจจุบันมีจุดกำเนิดสืบเนื่องมาจากการประชุมของมิชชันนารี ระดับโลก ที่กรุงเอดินเบอระ ในปี ค.ศ.1910 [1] อันเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างคริสตจักรทั่ว โลก โดยมุ่งให้คริสตจักรรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ecumenical movement) ได้มีการพูดถึงประเด็นที่มิชชันนารีต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาอื่น มีการกล่าวถึงหนังสือที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคริสตศาสนากับศาสนาฮินดู การประชุมครั้งต่อมาที่เมืองเยรูซาเล็ม (Jerusalem) ในปี 1928 ที่ประชุมได้รับรอง "คุณค่า" ของศาสนาอื่น ๆ และเรียกร้องให้ศาสนิกชนในศาสนาอื่นร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เป็นผลกระทบของ ความคิดแนววิชาการทางโลกที่ไม่อิงศาสนา (secularism) ซึ่งเป็นความคิดที่จะแก้ปัญหาโลกโดยไม่ต้องอาศัยศาสนา [2] อาจกล่าวได้ว่า การประชุมในลักษณะเช่นนี้เป็น "ต้นเค้า" ของการเสวนาระหว่างศาสนาอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน

การเสวนาระหว่างศาสนานั้นอาจเกิดขึ้น ระหว่างศาสนิกชนต่างศาสนา (Interreligious Dialodue) หรือ ในระหว่างศาสนิกชนที่นับถือศาสนาเดียวกัน แต่อยู่คนละนิกาย เช่น คาทอลิก กับโปรเตสแตนท์ พุทธศาสนาเถรวาท กับพุทธศาสนามหายาน ชาวพุทธที่นับถือการอธิบายแบบธรรมกาย และชาวพุทธที่ไม่เห็นด้วยกับการตีความคำสอนของธรรมกาย เป็นต้น การสนทนาแบบนี้จัดว่าเป็น การเสวนาระหว่างผู้นับถือศาสนาเดียวกัน (Intraraligious Dialogue) แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว ประเด็นของปัญหาอยู่ที่ว่าการพูดจา การสนทนาที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ และตลอดมานั้น ลักษณะใดจะจัดเป็นการเสวนาทางศาสนาที่สร้างสรรค์ จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นวิธีการศึกษาศาสนา (methodology) อีกวิธีหนึ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์น่าเชื่อถือ และได้รับการบรรจุให้มีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาศาสนา

การเสวนาทางศาสนาคืออะไร

ในเบื้องต้น เรามักจะเข้าใจว่า การเสวนาทางศาสนาก็คือ การพูดคุยในเรื่องศาสนาระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย เพื่อความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน คำจำกัดความนี้มีส่วนถูก แต่ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด นั่นคือ การที่บุคคล 2 ฝ่าย นำข้อมูลทางศาสนามาแลกเปลี่ยน พูดคุย เปรียบเทียบข้อเหมือน หรือข้อต่างที่เราเรียกว่าศาสนาเปรียบเทียบ (comparative religion) ก็อาจจัดว่าเป็นการเสวนาทางศาสนา แต่ความเข้าใจทั่ว ๆ ไปเช่นนนี้ไม่ครอบคลุมความหมายทั้งหมดของการเสวนาทางศาสนา กล่าวคือ การศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ มิใช่การเสวนาทางศาสนาในความหมายที่กำลังจะกล่าวถึงในบทความนี้ เพราะการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบเป็นการศึกษาศาสนาที่พยายามใช้เครื่องมือที่ เป็นวิธีวิทยาศาสตร์ (scientific method) เป็นการศึกษาข้อมูลทางศาสนาแบบภวนิยม (objective) ให้มากที่สุด โดยไม่ปะปนอารมณ์ ความคิด ความเชื่อที่มีมาก่อนในตัวผู้เรียน (presupposition) ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาของการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบก็คือ ผู้เรียนจะสามารถหลักเลี่ยงอคติ การเปรียบเทียบที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความเชื่อในศาสนาใดศาสนาหนึ่งที่ตนนับถือ หรือคุ้นเคยอยู่ได้มากน้อยเพียงไร

ในทางตรงกัน ข้าม การเสวนาทางศาสนาครอบคลุมถึง การแสดงอารมณ์ ความรู้สึก และความเชื่อทางศาสนาที่แต่ละบุคคลมีอยู่* [จุดมุ่งหมายของการเสวนาในเบื้องต้นก็คือ การได้เพิ่มพูนความเข้าใจ และการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ (spritual growth) ของผู้ที่ร่วมเสวนานั่นเอง] เครื่องมือของการศึกษาแบบนี้เป็นแบบอัตนิยม (subjective) กล่าวคือ การเสวนาทางศาสนานั้นเป็นการที่แต่ละฝ่ายแบ่งปัน หรือแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับข้อยึดเหนี่ยวทางศาสนาที่ตนเชื่อว่าสิ่งนั้น จริง สิ่งนั้นดี มีคุณค่าอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตของตนอย่างไรให้แก่คู่เสวนาให้ได้เรียนรู้ [3] เพราะฉะนั้น การเสวนาทางศาสนานี้ ไม่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความเชื่อที่ต่างกัน และไม่จำเป็นที่จะต้องจบลงด้วยความเห็นที่เหมือนกัน แต่เป็นการ เปิด โอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เรียนรู้ความเชื่อของกันและกัน (learn) ขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ (grow) จนอาจมีการเปลี่ยนแปลง (change) [4] ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น ก่อน ที่จะได้เสวนากัน การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคู่เสวนาให้เข้าใจแต่ละฝ่ายดีขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเดิมของตนที่มีต่อคู่เสวนาที่ไม่ชัดเจน หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นคุณประโยชน์ที่เราหวังพึ่งจากการ เสวนาทางศาสนาแต่ละครั้ง

กล่าวโดยสรุป การเสวนาระหว่างศาสนานั้นใช้ทั้งวิธีภวนิยม (objective) เพื่อเรียนรู้ความเชื่อขอคู่เสวนา แต่ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีอัตนิยม (subjective) ที่คู่สนทนาจะแสดงความมั่นใจ ความศรัทธา เกี่ยวกับความเชื่อของตนให้คู่สนทนาได้เข้าใจและเห็นคล้อยด้วย

เนื่องจาก การเสวนาทางศาสนายอมรับความแตกต่างระหว่างความเชื่อของคู่สนทนา ความกดดัน ความเครียด ความขัดแย้งทางความคิด และความเชื่อ อาจเกิดขึ้นได้เสมอ และสิ่งนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความสำคัญว่านักการศาสนาควรได้เรียนรู้ท่า ที และวิธีวางตนก่อนการเสวนาอย่างไร ให้สามารถเสวนากันได้อย่างสันติ ท่ามกลางความแตกต่างในเรื่องทัศนคติทางศาสนาที่คู่เสวนาต่างมีอยู่ทั้งสองฝ่าย

การเสวนาทางศาสนาจำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้

1. การเสวนาต้องไม่ใช่การประนีประนอมยอมรับการไม่เห็นด้วยและความแตกต่างอย่าง สุ่มสี่สุ่มห้า หรือสักแต่ว่ารับสิ่งที่ต่างกันนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง (lazy tolerance) [5] นั่นคือการเสวนาทางศาสนา จะไม่สนับสนุนความคิดแบบสัมพันธนิยม (relativism)

2. การเสวนาจะต้องไม่ใช่การเผชิญหน้าแบบศัตรู หรือการโต้เถียงเพื่อเอาชนะ

3. การเสวนาต้องไม่ใช่การตัดสินคู่เสวนาก่อนการเสวนาจะเกิดขึ้น (imperialism) [6] กล่าวคือ ต้องไม่ใช่การเข้าไปเสวนาด้วยความรู้สึกยิ่งใหญ่ หรือแม้กระทั่งความรู้สึกต่ำต้อย มีปมด้อยเกี่ยวกับความเชื่อในทางศาสนาของตน ความรู้สึกยิ่งใหญ่ หรือการตัดสินความเชื่อของคู่เสวนา ก่อนที่จะได้เรียนรู้ด้วยการฟัง และการอธิบายจากคู่สนทนานั้น บางครั้งมักแฝงค่านิยมความคิดแบบสัมบูรณนิยม (absolutelism) ว่า สัจธรรมของตนเท่านั้นถูกต้องที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ดีที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสิน และมีอคติต่อคู่เสวนาในที่สุด

4. การเสวนาไม่ใช่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางศาสนา หรือพูดคุยกันอย่างผิวเผินของศาสนิกชนสองฝ่าย

5. การเสวนาต้องไม่มี "วาระแฝง" (hidden agenda) หรือจุดประสงค์อื่นแอบแฝง เช่น เพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่ศาสนา (Proselytizing) [7] หรือการล่อลวงให้ได้ศาสนิกชนเพิ่มขึ้น หากเกิดมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับความเชื่อ ก็ให้เกิดขึ้นตามกระบวนการของการเสวนา เช่น ถ้าคู่เสวนาเรียนรู้ เข้าใจ และเปลี่ยนแปลงมานิยมชมชอบความเชื่อของอีกฝ่าย การเปลี่ยนแปลงศาสนาในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นได้แต่ต้องมิใช่วัตถุประสงค์หลัก เพื่อหาศาสนิกชนเพิ่มโดยอาศัยการเสวนาทางศาสนาเป็นเครื่องมือ

6. การเสวนาต้องไม่ใช้ "วิธีการอบเค้ก" ที่ประกอบด้วยเครื่องปรุงหล่ายอย่างผสมกัน (baking method) [8] ในที่นี่หมายถึง การรวมเอาส่วนดี ๆ ของแต่ละศาสนามารวมอยู่ในศาสนาของตน ทำให้เกิดการปะปนคำสอน (syncretism) หรือจนกระทั่งกลายเป็นความเชื่อศาสนาใหม่แตกต่างไปจากความเชื่อเดิมของตน การกระทำเช่นนี้เป็นผลเสียต่อการเสวนามากกว่าการสร้างสรรค์ เพราะผู้เสวนาแต่ละฝ่ายจะต้องเป็นตัวแทนที่ซื่อสัตย์ และเป็นพยานต่อความเชื่อของตน ผู้มิได้ประกาศตัวว่านับถือศาสนาใด หรืออยู่กลุ่มใดอย่างแน่ชัดจะไม่สามารถบอกคู่เสวนาได้ว่า อะไรเป็นสิ่งผูกพันลึกซึ้งในศาสนานั้น ก็ยากที่จะเป็นตัวแทนของศาสนิกชนในศาสนานั้น ไปเสวนากับอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพราะผู้นั้นจะขาดการตัดสินคุณค่า (value judgement) ที่เกิดจากประสบการณ์ทางศาสนาที่มีได้เฉพาะศาสนิกชนในศาสนานั้นเท่านั้น

การเสวนาทางศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นในยุคโลกาภิวัตน์

การกล่าว เบื้องต้นว่าการเสวนาทางศาสนาคืออะไร และมิใช่อะไรนั้น อีกนัยหนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็น "ที่" ของการเสวนาทางศาสนา ที่หลีกเลี่ยงทั้งสัมบูรณ์นิยม (absolutism) และสัมพัทธนิยม (relativism) ขณะเดียวกันก็ได้ชี้ให้เห็น "ที่" ของการเสวนาทางศาสนาว่า อยู่ในตำแหน่งของความเชื่อทางศาสนาแบบ "พหุนิยม" (religious pluralism) [9] นั่นคือ การยอมรับว่า ในโลกนี้มีศาสนาอยู่หลายศาสนา ความเชื่อทางศาสนาในโลกนี้มีมากกว่าหนึ่งความเชื่อ และแต่ละศาสนาในหลาย ๆ ศาสนานั้นต่างก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ตามแนวทางของตน จุดมุ่งหมายของความเชื่อศาสนาในลักษณะที่เป็นพหุนิยมนี้อาจเป็นจุดเดียวกัน หรือไม่เป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ กล่าวคือ สัจธรรมสูงสุด (ultimate reality) อาจเป็นสิ่งเดียวกัน เช่น อาจเป็นพระเจ้าองค์เดียวกัน หรือเป็นคนละสิ่งที่ไม่เหมือนกัน* [Religious Pluralism จึงอาจต่างจาก perennial philosophy กล่าวคือ ปรัชญาแบบหลังนี้เน้นว่าความเชื่อในศาสนาแต่ละศาสนาอาจมีหนทางในการปฏิบัติ ต่างกันแต่ก็จะนำไปสู่สัจธรรมเดียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดูรายละเอียดในงานของ Streng, Understanding Religious Life. 239.]

ประเด็นสำคัญของพหุนิยมทางศาสนา (Religious Pluralism) อยู่ที่การยอมรับ "ความหลากหลาย" ของศาสนาที่มีมากกว่าหนึ่ง ความหลากหลายนี้แน่นอนว่าอาจเป็นเครื่องชี้ให้เห็น "ความแตกต่าง" ดังเช่น Johj Hick [10] นักวิชาการปรัชญาศาสนาชาวอังกฤษ ได้ชี้ให้เห็นลักษณะแตกต่างที่สำคัญ ๆ ของศาสนาในโลกนี้ เป็นสามกรณีได้แก่ กรณีที่หนึ่ง ศาสนาแต่ละศาสนามีประสบการณ์ต่อสิ่งสูงสุดต่างกันในลักษณะที่เป็นบุคคล (personal) เช่น ศาสนาคริสต์ อิสลาม ฯลฯ เป็นความสัมพันธ์กับสิ่งสูงสุดในรูปของพระเจ้า และลักษณะที่ไม่ใช่บุคคล (nonpersonal) เช่น นิพพานในศาสนาพุทธ เต๋าในศาสนาเต๋า เป็นต้น กรณีที่สอง ศาสนาต่าง ๆ แตกต่างกันด้วยหลักการสอนทางศาสนาและปรัชญา โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต่างกันในเรื่องการพัฒนาคำสอนทางประวัติศาสตร์และทาง วัฒนธรรม และกรณีสุดท้ายเนื่องจากความเชื่อในแต่ละศาสนามีจุดสูงสุดทางศาสนาแตกต่าง กันแต่ละศาสนาจึงกำหนดให้ศาสนิกชนของตนมีกฎ การปฏิบัติ พิธีกรรม ที่ตอบสนองความเชื่อนั้นต่างกันด้วย

เมื่อกล่าวถึงจุดนี้ เราอาจเห็นคล้่อยได้ว่า ศาสนาต่าง ๆ ในโลกนี้มีความแตกต่าง และมีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละศาสนา และการเสวนาทางศาสนา รับรองลักษณะ "ความเป็นพหู" ของความเชื่อด้วยกันเช่นนั้น นั่นคือ ยอมรับว่ามี "ความหลากหลาย" มีความแตกต่างกัน มีหลายศาสนาในโลกนี้ การยอมรับความแตกต่างเรื่องความเชื่อ และการปฏิบัติของศาสนาที่หลาหลายนี้ มีความสอดคล้องกับลักษณะโลกาภิวัตน์ของมนุษย์ กล่าวคือ ลักษณะหนึ่งของโลกาภิวัตน์ คือ การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนา เราไม่สามารถทำให้ทุกคนมีวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาเป็นหนึ่งเดียวได้ เราต้องยอมรับ "การมีอยู่" ของความแตกต่างที่มาจากวัฒนธรรม และความเชื่อที่หลากหลายนั้น ด้วยการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมได้ทำให้ความหลากหลายมาอยู่ใกล้ชิดสัมพันธ์กัน มีความเป็น "โลกเดียว" (global) แต่ขณะเดียวกันลักษณะของโลกาภิวัตน์ก็ยังเพิ่มพูนความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน การมีีวัฒนธรรมท้องถิ่น ความ "เฉพาะท้องถิ่น" (local) อีกด้วย การเสวนาทางศาสนาก็เช่นกัน ขบวนการของการเสวนาเป็นการยอมรับ "การมีอยู่" ของศาสนาในโลกที่เสนอวิธีที่มีคุณค่าทางจิตวิญญาณต่อศาสนิกชนของแต่ละศาสนา ว่ามีมากกว่าหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ ยอมรับความแตกต่าง และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนของแต่ละศาสนานั้น เป็นการยอมรับความหลากหลาย แต่ความหลากหลายและความแตกต่างกันนี้ก็สามรถนำไปสู่ความเข้าใจ และความร่วมมือให้เกิดเอกภาพขึ้นได้ (Unity amid Diversity) ด้วยเหตุผลเช่นนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การเสวนาทางศาสนาไม่ว่าระหว่างบุคคลต่างศาสนาหรือกลุ่มคนในศาสนาเดียวกันแต่ ต่างนิกาย เป็นวิธีการเรียนรู้ทางศาสนาที่เหมาะสมกับยุคโลกาภิวัตน์อีกวิธีหนึ่ง ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะมีท่าที หรือกรอบที่เหมาะสมอย่างไรที่จะเสวนากัน ทั้ง ๆ ที่มีความแตกต่างกันทางความคิด และให้สามารถเกิดการเสวนาที่แสดงออกมาโดยการพูดการฟัง และการปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจและเกิดสันติสุขมากที่สุด

จุดนับพบเบื้องต้นของการเสวนาทางศาสนา

ได้กล่าวไว้ในตอนต้นถึงทัศนคติเกี่ยวกับการเสวนาทางศาสนาว่าควรจะหลีกเลี่ยง อันตรายบางประการ เช่น การหลีกเลี่ยงการใช้มาตรฐานความเชื่อ การปฏิบัติของฝ่ายหนึ่งเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความเชื่อของผู้อื่น (imperialism) การตัดสินเช่นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมั่นใจว่า สัจธรรมที่ได้รับอ้างถึงเกี่ยวกับความเชื่อของตนนั้นถูกต้องที่สุด และสมบูรณ์ที่สุด (absolutism) นั่นคือ คู่สนทนาจะต้องมีใจกว้างที่จะให้โอกาส และรับฟังความเชื่อที่แตกต่างจากความเชื่อของตนได้ ขณะเดียวกันคู่เสวนาจะต้องมีจุดยืน และเป็นตัวแทนความเชื่อที่บุคคลนั้นนับถืออยู่ ข้อตกลงทั้งสองประการนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งในตัวเอง แต่ก็เป็็นข้อเสนอแนะที่สำคัญก่อนที่บุคคลจะเสวนาทางศาสนา กล่าวคือ การเสวนาทางศาสนาแต่ละครั้งมิใช่คำตอบสุดท้ายที่จะใช้ตัดสินความเชื่อที่แตก ต่างของบุคคลอื่นว่าผิด ว่ามีจุดด้อยและข้อบกพร่อง เพราะการที่คู่เสวนาพยายามที่จะอธิบายสัจธรรมที่ตนเชื่อและให้เหตุผลว่า ทำไมสัจธรรมนี้จึงมีความสำคัญ มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของตนอย่างยิ่ง และคิดว่าน่าจะสำคัญและจำเป็นสำหรับอีกฝ่ายหนึ่งด้วยนั้น เป็นการย้ำจุดยืนที่ซื่อสัตย์ และการเป็นต้วแทนของศาสนาที่ตนนับถือ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าคู่สนทนาจะตัดสินผู้อื่น ก่อนที่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้อธิบายความเชื่อและความแตกต่างจากมุมมองของ คู่เสวนาอีกฝ่ายหนึ่ง คำพูดที่ว่า "ฉันมีคำตอบสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุดได้รับมา และผู้เปิดเผยสัจธรรมในศาสนาของฉัน ต้องการให้ฉันใช้ความเชื่อที่่ได้รับการเปิดเผยมานี้ ตัดสินสัจธรรมของเธอ" [11] ลักษณะการตัดสินจากคำกล่าวนี้มิได้เปิดโอกาสให้คู่เสวนาได้มีโอกาสอธิบาย ความเชื่อของตน แต่เป็นการตัดสินความเชื่อของผู้อื่นเรียบร้อยแล้วว่าไม่สมบูรณ์เท่าความ เชื่อที่ถูกต้องที่สุดของตน การมีทัศนคติเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา แต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นอกจากนั้น คู่เสวนาจะเป็นจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และใจกล้าพอที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ความเชื่อและการปฏิบัติในศาสนาของตนอย่างตรงไปตรงมา (self-critical) [12] และซื่อสัตย์อีกด้วย การกล้าสำรวจข้อบกพร่อง และวิจารณ์เพื่อปรับปรุงการประพฤติปฏิบัติบางประการยิ่งจะทำให้ศาสนาของตน มั่นคงมากขึ้น คำแนะนำในข้อนี้จะไม่ขัดแย้งกับการรักษาเอกลักษณ์ความเชื่อของศาสนาของตน กล่าวคือ การกล้าวิจารณ์อาจปรากฏในรูปการตีความคำสอนใหม่หรือมองความเชื่อ และการปฏิบัติจากแง่มุมใหม่ซึ่งอาจเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการตีความคำสอนในศาสนาของตนนี้จะต้องไม่ขัดกับหลักความเชื่อ ประการสำคัญที่บันทึกอยู่ในพระคัมภีร์นั่นเอง เมื่อคู่สนทนาไม่มีอคติ ไม่ว่าในแง่ลบหรือบวกเกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาของตนแล้ว การเสวนาระหว่างศาสนานั้นจะดำเนินไปด้วยความซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน (honesty and sincerity) [14] ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น (trust) ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความจริงใจของคู่เสวนาที่จะเสวนาเพื่อประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ เนื่องจากอุปสรรคที่สำคัญที่ขัดขวางขบวนการเสวนาทางศาสนาก็คือ ความไม่วางใจซึ่งกันและกันว่าเมื่อเปิดใจพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถือโอกาสนำข้อมูลที่ได้จากการเสวนาไปเป็นประโยชน์ในการเผย แผ่ศาสนาเพื่อเพิ่มจำนวนศาสนิกชนในภายหลัง ถ้าการเสวนาเริ่มต้นด้วยความวางใจและจริงใจแล้ว การเสวนาก็จะประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ข้อความตระหนักที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เมื่อเริ่มต้นเสวนานั้น ทั้งสองฝ่ายต้องมีความต้องการที่จะเสวนาซึ่งกันและกัน [14] มิฉะนั้นการเสวนาจะเป็นเพียงการสัมภาณ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางศาสนาธรรมดา ๆ เท่านั้น หัวข้อที่จะนำมาเสวนาก็ควรอยู่ในระดับเดียวกัน คือ ถ้าจะเสวนากันในเรื่องหลักความเชื่อ อีกฝ่ายหนึ่งจำเป็นต้องเสวนาด้วยหลักความเชื่อตามคัมภีร์ด้วย หรือจะเสวนาในระดับความเชื่อหรือข้อปฏิบัติที่แพร่หลายอยู่ในหมู่ศาสนิกชน (popular belife and practice) อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ควรนำความเชื่อที่อยู่ในระดับทฤษฎีมาเสวนา การกล่าวเช่นนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดที่จะเสีย เวลาโต้เถียงในลักษณะที่เป็นการพูด "คนละเรื่องเดียวกััน" นั่นเอง

จากประเด็นข้างต้นนี้จะชี้ให้เห็นว่า การเสวนาทางศาสนาสามารถทำได้กับบุคคลทุกระดับ นับตั้งแต่นักวิชาการทางศาสนาด้วยกันเองจนถึงระดับชาวบ้านที่ไม่เชี่ยวชาญ เรื่องคัมภีร์แต่ได้ปฏิบัติจริง ๆ ตามความเข้าใจของตนเอง ก็สามารถเสวนาแสดงความเชื่อของตนให้อีกฝ่ายรู้และเข้าใจกันได้

การเสวนาทางศาสนาแบบต่าง ๆ [15]
1. การเสวนาในระดับความเชื่อตามคัมภีร์ (Dialogue of Study)
2. การเสวนาโดยเน้นประสบการณ์ทางศาสนาและการปฏิบัติ (Dialogue of Prayer)
3. การเสวนาเพื่อชีวิตโดยเน้นการแก้ปัญหา (Dialogue of Life)

การเสวนาในแบบที่หนึ่ง มักเป็นการเสวนาในระดับนักวิชาการที่ต้องการเรียนรู้เข้าใจความเชื่อของอีก ฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะในระดับที่เป็นทางการ มีการอ้างคัมภีร์ เป็นต้น การเสวนาลักษณะนี้เป็นการเสวนาเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจทางปัญญา ซึ่งอาจนำไปสู่การร่วมมือในทางปฏิบัติได้

การเสวนาแบบที่สอง เป็นการเสวนาโดยการทดลองปฏิบัติ เริ่มด้วยการใช้ความรู้สึกจินตนาการอย่างเห็นอกเห็นใจ (sympathetic imgination) แล้วทดลองปฏิบัติว่า ถ้าเชื่ออย่างนี้แล้วการปฏฺบัติจะเ็ป็นอย่างไร เช่น ใช้วิธี "การก้าวข้ามไปเยี่ยมประสบการณ์" (Passing Over) ของ John Dune [16] ไปร่วมลองปฏิบัติถือศีลอดกับเพื่อนชาวมุสลิมเพื่อเรียนรู้ให้เข้าใจความ สำคัญของความเชื่อมั่นด้วยการปฏิบัติจริง ๆ (แต่ไม่เปลี่ยนศาสนา) เพื่อให้เข้าใจว่าเพื่อนชาวมุสลิมสามารถปฏิบัติเช่นนี้ได้ มีความเชื่อ ความศรัทธาหลักข้อใด มีแรงจูงใจที่สำคัญอย่างไร ที่ทำให้ชาวมุสลิมมีศรัทธาปฏิบัติศีลอดเช่นนี้ได้ เมื่อได้ใช้วิธีลองจินตนาการ และลองร่วมปฏิบัติจริงจนเข้าใจความเชื่อหรือข้อยึดเหนี่ยวที่เกี่ยวเนื่อง กับความเชื่อเรื่องสัจจธรรมสูงสุดที่เป็นแรงจูงใจให้ปฏิบัตินั้นแล้วจึง "ก้าวกลับมายังประสบการณ์ศาสนาเดิม" (Passing Back) กลับมาปฏิบัติศาสนาเดิมของตน วิธีนี้เป็นการเสวนาด้วยการจินตนาการ และการร่วมปฏิบัติกิจกรรมที่อาจทำให้เข้าใจประสบการณ์ทางศาสนา และเข้าใจหลักสัจธธรมสูงสุดหรือจุดหมายปลายทางในศาสนาของคู่เสวนามากยิ่ง ขึ้น ตัวอย่างอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การร่วมกิจกรรม "รถเที่ยงคืน" (Midnight Bus) ที่จัดโดยองค์กรคริสตศาสนาชื่อดีอาโคนี (Deakoie) ที่ประกอบด้วยอาสาสมัครชาวคริสเตียนและไม่ใช่คริสเตียน ขับรถตระเวนไปในย่างต่าง ๆ เพื่อแจกซุบร้อน ๆ และเค้กที่เหลือจากการขายแต่ละวันของร้านต่าง ๆ แก่ผู้ไร้ที่อยู่ (Homeless people) เพื่อประทังความหิวและหนาว กิจกรรมนี้อาสาสมัครที่มิใช่คริสเตียนสามารถร่วมประสบการณ์ และเรียนรู้แรงจูงใจที่อาสาสมัครคริสเตียนที่สละความสุข และเสี่ยงอันตรายในท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เพื่ออกไปช่วยบรรเทาทุกข์ผู้อื่น เพราะต้องการ "แบกไม้กางเขน" (carry the cross) เลียนแบบความเสียสละและรับใช้ผู้อื่นของพระเยซู เป็นต้น

การเสวนาแบบสุดท้าย เป็นการเสวนาโดยเน้นการแก้ปัญหาที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นศาสนิกชนของศาสนาใดก็ ตามกำลังเผชิญอยู่ เช่น ทุกคนในโลกนี้กำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ปัญหาสงครามนิวเคลียร์ ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนและท้าทายบทบาทของศาสนาให้มีส่วนร่วม แก้ไข ศาสนิกชนในแต่ละศาสนาควรได้เสวนากันด้วยการมองสภาพปัญหา สาเหตุ ได้หาวิธีแก้ปัญหาโดยวิถีทางตามคำสอนของศาสนาของตน แล้วร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ทุกคนเผชิญอยู่ดังกล่าว ตัวอย่างของการเสวนารูปแบบนี้ ได้แก่ การร่วมกิจกรรม "ธรรมยาตรา" ที่ร่วมจัดโดยสงฆ์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ NGO เป็นการเดินรอบทะเลสาปสงขลา เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบทะเล สาปสงขลา ผู้ร่วมกิจกรรมเป็นทั้งพระสงฆ์ ชาวพุทธ คริสเตียน มุสลิม และผู้ไม่นับถือศาสนา ในการเดินพระสงฆ์จะหยุดรับอาหารบิณฑบาต ฉัน สวดมนต์ ทำสามธิ สมาชิกในกิจกรรมนี้ก็จะมีส่วนร่วมตั้งแต่สังเกต ร่วมอยู่ในกิจกรรม ร่วมพูดคุย ฟัง ซักถาม ซึ่งอาจมีข้อธรรมรวมอยู่ด้วย กิจกรรมในลักษณะนี้จัดว่าเป็นการเสวนาทางศาสนาที่รวมการนำคำสอน การปฏิบัติศาสนพิธี และการร่วมกันลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาที่คนส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่ การเสวนานี้จะบรรลุจุดประสงค์ อย่างน้อยก็ได้แก่ ความเข้าใจ และความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างศาสนา สามารถนำความแตกต่างทางคำสอนมาร่วมทำประโยชน์ให้มนุษย์โลกได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเสวนาแบบที่หนึ่งอาจถูกมองว่า เป็นงานของนักวิชาการบน "หอคอยงาช้าง" ได้แต่คิด ไม่ได้ปฏิบัติ แต่ก็ยังเป็นรูปแบบของการเสวนาสำคัญ เพราะในการเสวนาแบบที่สอง และสามนั้น ลงมือปฏิบัติแต่ก็ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของการเสวนาแบบแรกมาเป็นพื้น ฐานในการปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเสวนาทางศาสนาเป็นสิ่งจำเป็น และเหมาะกับสังคมไทยหรือไม่

การเสวนาทางศาสนาในประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องด้วยความจริงที่ว่าสังคมไทยอยู่ใต้อิทธิพลของโลกาภัวัตน์ ได้รับอิทธิพลจาก "ความเป็นโลกเดียวกัันนี้" สังคมไทยซึ่งมีรากฐานมาจากพุทธศาสนาไม่อาจแยกตัวไม่เกี่ยวข้องกับศาสนิกของ ศาสนาอื่น ศาสนิกชนไทยจึงควรต้องเตรียมทัศนคติ และท่าทีที่เหมาะสมในการมีปฏิสัมพันธ์กับศาสนิกชนของศาสนาอื่น นอกจากนั้น เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์บางประการก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ควรจะมีการเสวนา ระหว่างศาสนาด้วย กล่าวคือ ในความรู้สึกของคนไทยบางกลุ่มอาจมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ในส่วนลึก เกี่ยวเนื่องจากความพยายามในการเผยแผ่ของศาสนาบางศาสนา คนไทยบางส่วนยังคงหวาดระแวง และไม่มั่นใจที่จะร่วม "เสวนาระหว่างศาสนา" กับศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะศาสนาที่เคยถูกกล่าวอ้างว่าอาจมีจุดประสงค์อื่นเคลือบแฝงมาในรูปของ การเรียนรู้ ในรูปของความพยายามที่จะเข้าใจศาสนาและวัฒนธรรมไทย ความรู้สึกเช่นนี้น่าจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นความ "จำเป็น" ที่น่าจะมีการเสวนาระหว่างศาสนาพุทธ และศาสนานั้น ๆ ด้วยความจริงใจ หรือให้ได้มีโอกาสเสวนาข้อสงสัย และเรียนรู้วิธีการของกันและกัน เพื่อขจัดความหวดระแวง และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าจะมีหลายฝ่ายกล่าว่าสังคมไทยและศาสนาพุทธมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่ไม่ปรากฏการแบ่งแยกเป็นกลุ่มความเชื่อหลายกลุ่มหลายนิกายมากนัก อาจไม่จำเป็นจะต้องมีกิจกรรมในลักษณะสากลสัมพันธ์ภาพ (ecumenical movement) เช่นเดียวกับบางศาสนา ประกอบกับสังคมไทยค่อยข้างมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และมีความสงบสุขในระดับพอสมควร จึงไม่จำเป็นจำต้องมีการเสวนาระหว่างศาสนา เพราะเกรงว่าการเสวนาจะนำตัวผลร้ายมากกว่าผลดี เนื่องจากการเสวนาอาจจะเป็นการไปจี้จุดสงสัย จี้จุดของความหวาดระแวงนั้น สังคมไทยก็ยังน่าทบทวนความเข้าใจเรื่องคุณประโยชน์ของการจัดให้มีการเสวนา ทางศาสนา ดังเช่นตัวอย่างจากเหตุการณ์เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2538 ที่ไม้มีความพยายามขององค์กรศาสนาหนึ่งจะจัดให้มีการสัมมนาระหว่างศาสนาพุทธ และอีกศาสนาหนึ่งจากประเทศอินเดีย แต่ได้ระงับไป เนื่องจากความสงสัยในพฤติกรรมของมูลนิธิต่างประเทศที่เป็นผู้จัดนี้ โดยเกรงว่าอาจจะใช้ประเทศไทยเป็นเวทีที่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนา เพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความสงสัยเจตนาของผู้จัดมิได้เป็นประเด็นที่จะอภิปราย ในที่นี้ แต่ประเด็นที่สำคัญที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ การให้สัมภาษณ์ของข้าราชการในระดับผู้บริหารของไทย ที่ให้สัมภาษณ์ว่า "การที่จะมาจัดสัมมนาในระหว่างศาสนาไม่มีใครทำกัน จะเป็นจุดล่อแหลมให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้" [17] คำให้สัมภาษณ์นี้สะท้องให้เห็นถึงความหวาดระแวงอย่างแพร่หหลาย เกี่ยวกับผลเสียที่อาจสืบเนื่องจากการเสวนาทางศาสนาใด ๆ ในประเทศไทย นอกจากนั้น ความขัดแย้งและไม่เข้าใจกันในหมู่พุทธศาสนิกชนด้วยกันเองในปัจจุบัน เช่น กรณีธรรมกาย และไม่ใช่ธรรมกาย ก็เป็นความจำเป็นที่ใช้ประโยชน์ของการเสวนาทางศาสนามาช่วยผ่อนคลายความขัด แย้งในเรื่องความแตกต่างทางด้านความคิดดังกล่าว จากตัวอย่างที่ยกขั้นมากล่าวนี้้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่น่าจะมีการทำความเข้าใจในเรื่อง หลักการ วัตถุประสงค์ คุณประโยชน์ ท่าทีและทัศนคติที่ควรจะมีในระหว่างศาสนาให้แพร่หลายในหมู่นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพราะการเข้าใจผิด และการหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจกันระหว่างศาสนาอาจนำไปสู่ความไม่สงบสุขของสังคมโดยส่วนรวม

กล่าวโดยสรุป การเสวนาทางศาสนาแต่ละครั้งอาจจะมิใช่ข้อยุติสุดท้าย และไม่อาจสามารถคาดหวังถึงผลสำเร็จที่จะเกิดได้ทั้งหมด เนื่องจากความซับซ้อนของตัวขบวนการการเสวนาทางศาสนาเอง และเนื่องจากความเกี่ยวข้องในเรื่องธรรมชาติ อันประกอบด้วย อัตตาของมนุษย์เอง ทำให้การเสวนาทางศาสนาได้รับการมองว่า เป็นขบวนการที่ยากจะเกิดขึ้น และให้ผลดีตามที่ต้องการได้ แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักวิชาการทางศาสนาและผู้มีจิตใจกว้างที่จะ ยอมรับ “ความหลากหลาย และความแตกต่าง” หันมาใช้วิธีการ และประโยชน์ของการเรียนรู้ และเข้าใจศาสนาโดยการเสวนาระหว่างศาสนา ให้มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ วิธีเสวนาระหว่างศาสนาที่เคยมีมาแล้วในอดีตอย่างไม่เป็นทางการ สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนให้มีการศึกษา ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างเป็นทางการต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1. S. Wesley Ariarajah. (1991). “Interfaith Dialogue” Dictionary of Ecumenical Movement ed. By Nicholas Lossky, Grand Rapids: William B. Eerdmans Publishing Company, 281-2.

2. Ariarajah, 282.

3. Frederick J. Streng. (1985). Understanding Religious Life . (Third Edition), California: Wadsworth Publishing Company, 235.

4. Leonard Swidler (ed.). (1987). “Interreligious and Interideological Dialogue: The Matrix for All Systematic Reflecttion Today”, Toward a Universal Theology of Religion . New York: Orbis Books,6.

5. Brenan R. Hill, Paul Knitter and William Madges. (1990). Faith, Religion and Theology . Connecticut: Twenty-Third Publications, 195.

6. Hill and others, 196.

7. Paul mojzes. (1989). “The What and the How of Dialogue,” Inter-Religious Dialogue ed, by M. Darrol Bryant and Frank Flinn, New York: Paragon House, 1989, 199.

8. Hill and others, 195.

9. Maurice Friedman, “The Dialoque of Touchstones as an Approach to Interreligious Dialogue.” (1989). Dialogue and Syncretism: An Inter-disciplinary Approach . ed By Jerald D. Gort and others, Michigan: William B. Eerdmans Publishing Company, 76.

10. John Hick. (1981). Philosophy of Religion . New Delhi: Prentice-Hall of India, 127-9.

11. Hill and others, 210.

12. Swidler, 15.

13. Swidler, 14.

14. Mojzes, 24.

15. Hill and others, 203-4.

16. Hill and others, 207-8.

17. มติชน . พุธที่ 15 พฤศจิกายน 2538.
--
ที่มา : คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. วารสารสหศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1. หน้า 71-84.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo