ขบวนการ “อหิงสา” ของมหาตมะ คานธี

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวถึงมหาตมะ คานธี ว่า "เป็นผู้นำของประชาชนโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจจากสิ่งภายนอก... เป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ผู้ตำหนิการใช้กำลังรบ เป็นบุคคลผู้เปี่ยมไปด้วยสติปัญญาและความอ่อนน้อมถ่อมตน ผู้มีพละกำลังคือความเด็ดเดี่ยวและความเสมอต้นเสมอปลายอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เป็นบุคคลที่อุทิศกำลังทั้งหมดเพื่อยกระดับจิตใจและความเป็นอยู่ของประชาชน ให้ดีขึ้น เป็นบุคคลที่เผชิญหน้ากับความก้าวร้าวโหดเหี้ยมของยุโรป ด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ธรรมดานี้เอง และทุกครั้งก็สามารถอยู่เหนือกว่า"
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มหาตมะ คานธี (ค.ศ.1869-1948) เป็นนามที่กล่าวขวัญกันทั่วโลกในครึ่งแรกของ ศตวรรษที่ 20 เมื่อท่านสามารถนำประชาชนอินเดียทั้งประเทศเข้าต่อสู้กับจักรวรรดิอันเกรียง ไกรของอังกฤษได้สำเร็จด้วยวิธีการที่ชาวตะวันตกคาดไม่ถึง สามารถเรียกร้องเอกราชกลับคืนสู่ประเทศและศักดิ์ศรีกลับคืนสู่ประชาชน ด้วยหลักการแห่ง "อหิงสา" คือ ความไม่เบียดเบียน อารยธรรมทางด้านจิตใจของชาวเอเชีย ได้พิสูจน์ตัวเองอย่างเด่นชัดว่าอยู่เหนืออารยธรรมทางด้านวัตถุอันพรั่ง พร้อมด้วยสรรพาวุธของชาวตะวันตก ด้วยอำนาจแห่งสัจจะและความรักเท่านั้นที่ปัญหาของมนุษยชาติจะอาจแก้ไขให้ ลุล่วงไปได้

หลักการพื้นฐานที่ มหาตมะ คานธี ใช้ก็คือ "อหิงสา" (ความไม่เบียดเบียน, ความไม่รุนแรง) คานธีเชื่อว่าในส่วนที่ลึกที่สุดนั้นมนุษย์มีคุณธรรมและความจริงซ่อนอยู่ใน ตัว ท่านอธิบายว่าเราอาจจะเคยได้ยินคนที่ปฏิเสธพระเจ้า (God) แต่เราจะไม่ได้ยินคนที่ปฏิเสธความจริง (Truth) แม้แต่บุคคลที่เลวที่สุดหรือโง่ที่สุดก็ยังมีความจริงบางอย่างอยู่ในตัวของ เขา เราทุกคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งความจริงสากลของธรรมชาติทั้งหมด

ด้วยการปฏิบัติแบบ "อหิงสา" ความจริงหรือคุณธรรมในตัวของมนุษย์จะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นในจิตสำนึก และไม่ว่ามิตรหรือศัตรูก็จะกลายเป็นบุคคลที่รักความจริงและความเป็นธรรมใน ที่สุด ถ้าเป็นมิตรก็จะเป็นมิตรที่ดียิ่งขึ้น ถ้าเป็นศัตรูก็จะค่อยๆ เปลี่ยนท่าทีจากศัตรูกลายเป็นมิตรในที่สุด คานธีมีความเชื่อมั่นในมนุษยชาติมาก ว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนเลว หากได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะกลายเป็นคนดีขึ้นมาได้ทุกคนไม่มียกเว้น

ดังนั้น การใช้ความรุนแรง การประหัตประหาร หรือสงคราม จึงถือเป็นความผิดอย่างมหันต์ เพราะเท่ากับเป็นการสิ้นหวังในมนุษยชาติ เป็นการทำลายคุณธรรมและความจริงที่ซ่อนอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน และเป็นการปลุกธรรมชาติฝ่ายต่ำของมนุษย์ให้แสดงพละกำลังออกมา อันกลายเป็นการจองล้างจองผลาญไม่มีที่สิ้นสุด วิธีที่จะเอาชนะความชั่วจึงไม่ได้อยู่ที่การทำลายคนชั่ว แต่อยู่ที่การเปลี่ยนจิตใจของคนชั่วโดยไม่ทำความชั่วตอบ คานธีได้ย้ำเตือนอยู่เสมอว่า ให้เกลียดชังความเลวแต่อย่าเกลียดชังคนเลว เพราะทุกคนมีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีได้เสมอ

หลักสำคัญที่คานธีถือ ปฏิบัติในเรื่อง "อหิงสา" ก็คือ การยอมทนทุกข์เพื่อชำระจิตใจของตัวเองและเปลี่ยนจิตใจของผู้ที่ทำผิด คานธีได้อดอาหารนับจำนวนครั้งไม่ถ้วนในชีวิต เมื่อเห็นผู้ร่วมงานใช้วิธีการรุนแรงหรือกระทำผิด ด้วยความเสียสละและการยอมทนทุกข์ของคานธี ผู้กระทำผิดได้สำนึกกลับตัวเสียใหม่ คานธีถือว่าการอดอาหารเป็นการชำระจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์ และเป็นการชำระจิตสำนึกของส่วนรวมให้บริสุทธิ์ด้วย

ในการปฏิบัติสิ่ง ที่เรียกว่า "การทดลองของข้าพเจ้ากับความจริง" คานธีได้ทำการทดลองทั้งในเรื่องของชีวิต สังคม และการเมือง ตามแนวทางแห่ง "อหิงสา" ในการทดลองเกี่ยวกับชีวิต คานธีได้ฝึกหัดควบคุมตนเองอย่างเคร่งครัดที่สุด ทั้งในด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรค ตลอดทั้งการรักษาพรหมจรรย์ และการไม่เบียดเบียน โดยใช้ชีวิตของตนเองและชีวิตของคนที่ท่านรักที่สุดเป็นเดิมพัน เพื่อแสวงหาความจริงหรือสัจจะในภายใน ท่านกล่าวว่า "สำหรับข้าพเจ้านั้น ความรักที่บริสุทธิ์คือกฎเกณฑ์ทั้งหมดในชีวิตของข้าพเจ้า"

สำหรับการ ทดลองเกี่ยวกับสังคมนั้น คานธีได้ตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งในด้านอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมและ สังคมนิยม อีกทั้งปัญหาเทคโนโลยีกับคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ คานธีได้ให้ทางออกที่เป็นกลางตามแนวทางแห่ง "อหิงสา" ที่ท่านใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลตลอดชีวิตของท่าน คานธีกล่าวว่า "และเมื่อข้าพเจ้ารู้ว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงถูกค้นพบบ่อยครั้งมากกว่าในหมู่คนที่ต่ำที่สุด... ความปรารถนาของข้าพเจ้าจึงอยู่ที่การได้รับใช้ชนชั้นที่ถูกกดขี่ และเมื่อข้าพเจ้าไม่สามารถให้การรับใช้นี้ได้โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ข้าพเจ้าจึงพบตนเองอยู่ในวงการเมือง... ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้รับใช้ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรน... ของอินเดีย และของมนุษยชาติ"

ส่วนการทดลองเกี่ยวกับการเมืองนั้น คานธีได้ใช้วิธีการของ "สัตยาเคราะห์" (Satyagraha) เป็นอาวุธทางการเมือง สัตยาเคราะห์คืออาวุธแห่งสัจจะและความรัก ความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า "สัตยาเคราะห์" เป็นการทดลองความจริงทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังที่สุดของคานธี ขบวนการสัตยาเคราะห์จะยึดมั่นอยู่แต่ในหลักแห่ง "อหิงสธรรม" จะอุทิศตนและทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความถูกต้องและความยุติธรรม

มหาตมะ คานธี ยอมรับว่า มนุษยชาติยากที่จะพัฒนาไปถึงภาวะที่ปราศจากความขัดแย้ง หรือแม้แต่ภาวะที่ความขัดแย้งจะได้รับการแก้ไขโดยไม่ต้องใช้กำลัง คานธีพยายามค้นหาวิธีการอื่นที่จะมาใช้แทนสงคราม วิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงและไม่ทำให้ความเป็นมนุษย์ต้องตกต่ำลง ด้วยความมุ่งหมายอันนี้ทำให้ท่านเสนอหลัก "สัตยาเคราะห์" ขึ้น โดยใช้จริยธรรมขั้นสูงมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ตามตัวอักษรแล้วคำว่า "สัตยาเคราะห์" หมายถึง "การยืนหยัดอยู่ในหลักแห่งความจริง" สมมติฐานเบื้องต้นของสัตยาเคราะห์ก็คือ ไม่มีใครค้นพบสัจธรรมโดยถ่องแท้ทุกแง่ทุกมุม ดังนั้น ใครก็ตามย่อมไม่มีสิทธิยัดเยียดสัจธรรมในบางแง่มุมที่ตนยึดถืออยู่ให้แก่ผู้ อื่น อย่างไรก็ตาม เป็นสิทธิและหน้าที่ของบุคคลนั้น ที่จะสามารถดำเนินชีวิตตามทรรศนะของตนเองและต่อต้านในสิ่งที่เขาเห็นว่าผิด

นักสัตยาเคราะห์ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ ต่อระบบของสังคมที่ไร้ความเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็จะสร้างวิถีชีวิตขึ้นมาใหม่ในลักษณะที่เห็นว่าถูกต้องเป็นธรรม ดังนั้นสัตยาเคราะห์จึงมองได้สองแง่ แง่หนึ่งได้แก่การสร้างสรรค์ อีกแง่หนึ่งได้แก่การต่อสู้คัดค้านอย่างสงบต่อความไม่ถูกต้องทั้งปวง

ในการคัดค้านต่อต้านดังกล่าว นักสัตยาเคราะห์จะเผชิญกับความรุนแรงทุกชนิดที่ "ฝ่ายตรงข้าม" อาจกระทำต่อเขาด้วยความอดทนและด้วยความกล้าหาญ แต่จะไม่ถือว่าฝ่ายตรงข้ามเป็น "ศัตรู" จุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ การเปลี่ยนจิตใจของฝ่ายตรงข้ามมากกว่า สำหรับพวกเขาแล้วจะไม่มีคำว่ามิตรหรือศัตรู ทุกคนอยู่ในครอบครัวของมนุษยชาติเดียวกันทั้งหมด

ในสงครามหรือการประหัตประหาร ผู้ที่มีความรุนแรงเหนือกว่าจะหยิบยื่นความจริงเพียงแง่มุมเดียวให้แก่บุคคล อื่น ชัยชนะไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ผู้ชนะจะเป็นฝ่ายถูกต้องชอบธรรมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าผู้ชนะมักจะอ้างเช่นนี้เสมอก็ตาม ความสามารถในการสู้รบในสงครามเป็นคนละเรื่องกับความถูกต้องชอบธรรม และเกือบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย

นักสัตยาเคราะห์ไม่เพียงแต่จะ พยายามดำเนินชีวิต ในขอบข่ายแห่งสติปัญญาของตนเองเท่านั้น แต่ยังพยายามที่จะยอมรับอะไรก็ตามที่ถูกต้องและยุติธรรมในทรรศนะของฝ่ายตรง ข้ามด้วย ดังนั้น สัตยาเคราะห์จะไปลงเอยที่เมื่อฝ่ายที่ขัดแย้งกันนั้น ได้บรรลุถึงข้อสรุปที่สามารถรวมเอาสิ่งที่ถูกต้องจากทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน ไม่มีการแพ้หรือชนะ จะมีก็แต่เพียงความถูกต้องที่ทั้งสองฝ่ายตกลงเห็นพ้องต้องกัน ขณะเดียวกันสถาบันหรือแบบแผนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดในระหว่างความขัด แย้ง ก็จะถูกขจัดออกไป ตลอดชีวิตของคานธี ท่านพยายามรวบรวมมวลชนชาวอินเดียในอันที่จะ "ปฏิบัติการร่วมกันเพื่อต่อต้านโดยสันติวิธี" เพื่อว่าประชาชนเหล่านั้นจะสามารถร่วมกันขจัดข้อบกพร่องต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายในชีวิตทางสังคมและการเมือง

ในปี ค.ศ.1945 เมื่อญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ คานธีรู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่งต่อโศกนาฏกรรมอันมหันต์ที่มนุษย์ได้ก่อขึ้น โดยกล่าวว่า

"โศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวงจากการทิ้งระเบิดปรมาณู จะต้องมิใช่แก้ไขด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูโต้ตอบ เช่นเดียวกับที่ความรุนแรงต้องมิใช่แก้ไขด้วยความรุนแรง มนุษยชาติจะต้องขจัดความรุนแรงด้วยสันติวิธี ความเกลียดชังจะต้องถูกขจัดออกไปด้วยความรักเท่านั้น"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวถึงมหาตมะ คานธี ว่า "เป็นผู้นำของประชาชนโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจจากสิ่งภายนอก... เป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ผู้ตำหนิการใช้กำลังรบ เป็นบุคคลผู้เปี่ยมไปด้วยสติปัญญาและความอ่อนน้อมถ่อมตน ผู้มีพละกำลังคือความเด็ดเดี่ยวและความเสมอต้นเสมอปลายอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เป็นบุคคลที่อุทิศกำลังทั้งหมดเพื่อยกระดับจิตใจและความเป็นอยู่ของประชาชน ให้ดีขึ้น เป็นบุคคลที่เผชิญหน้ากับความก้าวร้าวโหดเหี้ยมของยุโรป ด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ธรรมดานี้เอง และทุกครั้งก็สามารถอยู่เหนือกว่า"
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1173. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo