สัตยาเคราะห์ : อาวุธทางการเมืองของคานธี

คานธีไม่เคยมีเจตนาร้ายหรือไม่เคยทำให้ผู้อื่นต้องเสียเกียรติ "การเปลี่ยนจิตใจ" ของคู่ต่อสู้เป็นเป้าหมายของท่าน และเมื่อใดก็ตามที่ท่านได้เห็นสัญญาณบางอย่างของการเปลี่ยนจิตใจ ท่านก็จะยอมแม้กระทั่งเสี่ยงต่อการถูกหาว่าโง่เขลา หรือเสี่ยงต่อการถูกลวงโดยการเรียกร้องให้ยุติการต่อสู้ คานธีมีความเชื่อว่า ผู้ที่หลอกลวงในที่สุดแล้วกลับจะกลายเป็นผู้ที่ต้องรับผลของการหลอกลวงนั้น เอง ตามทรรศนะของคานธีแล้ว ความเข้มแข็งภายใน กล่าวคือ ศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในคุณความดีภายในของมนุษย์ และความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะยึดมั่นอยู่กับสัจจะและความรัก เป็นต้นกำเนิดอันแท้จริงของความเข้มแข็งในการต่อสู้ทางจริยธรรม ถ้าหากว่าอุดมคตินั้นบริสุทธิ์และตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัจจะและความรัก พลังและผู้ติดตามก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเอง และการเคลื่อนไหวที่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางสังคมหรือทางการเมืองก็จะเข้ม แข็งขึ้นด้วย
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คำว่า "การต่อต้านแบบไม่ต่อสู้" (passive resistance) ซึ่งคานธีนำมาใช้เป็นวิธีการของท่านนั้น ในที่สุดท่านได้เปลี่ยนมาใช้เป็นคำว่า "สัตยาเคราะห์" (satyagraha) แทน คำนี้ท่านคิดขึ้นจากคำในภาษาสันสกฤตสองคำคือ สัตยะ (satya) (ความจริง ความถูกต้อง) และ อาคฺรหะ (agraha) (ความมั่นคง ความตั้งใจแน่วแน่) การเปลี่ยนชื่อนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะว่า "การต่อต้านแบบไม่ต่อสู้" ถูกแปลความหมายไปในทางที่คับแคบเกินไปว่าเป็นอาวุธของคนอ่อนแอ และยังอาจสามารถยอมรับความเกลียดชังภายใน ซึ่งในที่สุดแล้วสามารถจะนำไปสู่ความรุนแรงได้

ตรงกันข้าม "สัตยาเคราะห์" ชี้แนะโดยตรงว่า วิธีการนี้เป็นวิธีการของความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวมั่นคง ที่จะยืนหยัดอยู่กับความจริงและความถูกต้อง โดยพร้อมที่จะยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง และตามทรรศนะของคานธี ความรักคือหนทางของการเห็นแจ้งความจริง "สัตยาเคราะห์" จึงหมายถึงวิธีการของความรักด้วย ในขณะที่ "การต่อต้านแบบไม่ต่อสู้" อาจมีความหมายไปในทางลบ แต่ "สัตยาเคราะห์" หมายถึง หลักการอันแข็งขันของความรัก

เมื่อจุดประสงค์คือ การปลุกความสำนึกถึงความยุติธรรมในตัวผู้กระทำผิดให้เกิดขึ้นโดยผ่านความรัก บุคคลที่จะใช้วิธีการนี้ก่อนอื่นจะต้องตรวจสอบเรื่องราวทั้งหมดโดยปราศจาก อคติถึงความจริงของกรณีที่เกิดขึ้น ความถูกต้องของสิ่งที่จะปฏิบัติลงไปและคำเรียกร้องที่ขอให้แก้ไข เขาจะต้องชำระตนเองให้บริสุทธิ์ด้วยการละทิ้งความรุนแรงให้ออกไปเสียจากความ คิด คำพูด และการกระทำ เขาจะต้องพร้อมที่จะยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิต ถ้าผู้กระทำผิดหันมาใช้ความรุนแรงเพื่อจะหยุดยั้งการดิ้นรนต่อสู้แบบ "อหิงสา" ของเขา ดังนั้นจะพบว่า วิธีการเช่นนี้สามารถใช้ได้เฉพาะแต่กับบุคคลที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีความกลัว รู้จักบังคับควบคุมตนเอง มีความบริสุทธิ์ทางศีลธรรม และมีความเชื่อมั่นในธรรมชาติแห่งคุณความดีในภายในของมนุษย์ ความพร้อมทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งของการใช้วิธีนี้ บุคคลที่ตัวเขาเองยังขาดสัจจะ ความยุติธรรม และความเป็นอิสระจากความเกลียดชัง ไม่อาจที่จะปลุกเร้าสำนึกใดๆ เกี่ยวกับความยุติธรรม หรือความเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นในบุคคลอื่นได้ "สัตยาเคราะห์" มิใช่เป็นเครื่องมือของคนอ่อนแอ แต่เป็นเครื่องมือของบุคคลผู้ซึ่งมีความกล้าหาญอย่างสูงสุด และบุคคลผู้ซึ่งสามารถเผชิญหน้าด้วยความเบิกบานใจและโดยปราศจากความหวาด หวั่นแม้แต่น้อย ต่อการตอบโต้ไม่ว่าจะเป็น "กระสุนปืน ดาบปลายปืน หรือแม้แต่การตายอย่างช้าๆ ด้วยการทรมาน"

"สัตยาเคราะห์" ไม่อาจจะถูกนำไปใช้อย่างเล่นๆ ได้ "ด้วยเหตุที่สัตยาเคราะห์เป็นวิธีการอันทรงพลังที่สุดวิธีหนึ่ง นักสัตยาเคราะห์ไม่เห็นวิธีอื่นแล้วเท่านั้นจึงได้หันมาใช้สัตยาเคราะห์" เขาจะอธิบายข้อประท้วงอย่างยุติธรรม ด้วยความเยือกเย็นและสงบต่อสาธารณชนและต่อผู้ก้าวร้าว โดยพิจารณาถึงเหตุผลของผู้ก้าวร้าวด้วย ให้เวลาแก่ผู้ก้าวร้าวได้คิด และถึงแม้ว่าต่อมาฝ่ายก้าวร้าวจะไม่ยินยอมแก้ไขความผิดก็ตาม นักสัตยาเคราะห์ก็จะให้ฝ่ายนั้นได้รู้ถึงความตั้งใจของเขาที่จะลงมือทำการ เคลื่อนไหวแบบ "อหิงสา" และก็กระทำจริงตามนั้นด้วย

เขาจะหลีก เลี่ยง "การฉวยโอกาส การปิดบังอำพราง หรือการประนีประนอมอย่างขอไปที" แต่จะกระตือรือร้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันแท้จริงขึ้นเสมอ ถ้าเขาสังเกตเห็นสัญญาณของความรู้สึกสำนึกตัว หรือ "การเปลี่ยนใจ" ในฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นเป้าหมายอันแท้จริงของการต่อสู้ทางจริยธรรมนี้ เขาจะไม่ยอมทำให้ฝ่ายตรงข้ามต้องรู้สึกอับอายหรือเสียเกียรติ "ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของนักสัตยาเคราะห์ ที่จะทำให้ผู้กระทำผิดรู้สึกยุ่งยากลำบากใจ สิ่งที่กระทำนี้มิได้มุ่งหมายไปที่ความกลัวของเขา" "ภาษิตของเราจะต้องเป็นการเปลี่ยนใจด้วยการชักชวนที่สุภาพ และการใช้เหตุผลกับความเข้าอกเข้าใจเสมอ"

การใช้วิธีการของความรัก นี้มีข้อได้เปรียบหลายประการ ขณะที่การต่อสู้แบบรุนแรงทุกอย่างจบลงด้วยความขมขื่นและเป็นสาเหตุสำหรับข้อ พิพาทอันใหม่ วิธีการทางจริยธรรมนี้กลับจบลงด้วยความปรองดองคืนดีกันและความขมขื่นก็สิ้น สุดลงด้วย วิธีนี้ทำให้ผู้กระทำผิดกลายเป็นคนดีและสูงส่งขึ้นด้วยการเปลี่ยนจิตใจของ เขา และทำให้ผู้ต่อสู้เพิ่มความเข้มแข็งในทางจริยธรรมยิ่งขึ้น อันที่จริงแล้ว คานธีต้องการให้นักต่อสู้ทุกคนก่อนที่จะทำการต่อสู้กับผู้กระทำผิด ได้สำรวจวิเคราะห์จิตใจและความประพฤติของตนเองเสียก่อน และพยายามค้นหาความผิด ความบกพร่อง และความอ่อนแอของตนที่อาจยั่วยุผู้กระทำผิดและสร้างศัตรูภายนอก

คัมภีร์ "ภควัทคีตา" ได้กล่าวไว้ว่า "เราเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของตัวเราเอง แต่เราก็สามารถเป็นมิตรที่ดีที่สุดของตัวเราเองด้วย" เราจะเป็นมิตรกับตัวเองและกับคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถปฏิวัติตนเองจาก ภายใน และแก้ไขจุดบกพร่องอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดศัตรู

ข้อที่ได้เปรียบที่สุดของการต่อสู้แบบ "อหิงสา" ก็คือการต่อสู้แบบนี้จะทำให้ผู้กระทำผิดตกอยู่ในฐานะที่ตัดสินใจยากทั้งขึ้น ทั้งล่อง ถ้าผู้กระทำผิดพยายามที่จะกดดันการต่อสู้แบบไม่รุนแรงของผู้ถูกกดขี่ด้วย วิธีการที่รุนแรง เช่น ด้วยการทุบตี การยิง และการฆ่า เขาก็จะค่อยๆ สูญเสียการสนับสนุนจากฝ่ายที่เป็นกลาง ซึ่งจะเห็นอกเห็นใจประชาชนผู้ถูกกดขี่ที่ไม่ตอบโต้และจะทำให้ประชาชนเหล่า นี้เข้มแข็งเติบโตขึ้น ตรงกันข้ามถ้าผู้กระทำผิดไม่กดดันการเคลื่อนไหวแบบ "อหิงสา" ก็จะทำให้ฝ่ายอหิงสาเติบโตขึ้นทุกวันเช่นเดียวกัน จนกระทั่งความผิดถูกแก้ไขไปในที่สุด เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากการต่อสู้แบบ "อหิงสา" ซึ่งคานธีเป็นผู้นำทั้งในแอฟริกาใต้และในอินเดียเป็นเวลาอันยาวนานกว่าสี่ สิบปี

คานธีใช้วิธีการต่อสู้แบบ "อหิงสา" ด้วยการชำระตนเองให้บริสุทธิ์นี้ในทุกๆ กรณีที่เกิดความไม่ยุติธรรม เผด็จการ และการกดขี่ขึ้น ท่านใช้วิธีนี้ในการต่อสู้ดิ้นรนทางการเมืองทุกอย่างเพื่อขับไล่การปกครอง ของอังกฤษออกจากอินเดีย ท่านเรียกร้องให้ประชาชนผู้ถูกกดขี่แสวงหาจิตใจของตนเองและชำระตนเองให้ บริสุทธิ์ พร้อมทั้งให้ขจัดความชั่วร้ายภายในประเทศทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และศีลธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนอ่อนแอและตกต่ำ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบและการกดขี่โดยง่าย ช่วงแห่งปีอันยาวนานภายใต้การนำของคานธีในอินเดีย การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ค่อยๆ คลี่คลายตัวลง พร้อมๆ กับการปฏิรูปและการสร้างสรรค์ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และศีลธรรมจรรยา งานสร้างสรรค์ดำเนินไปควบคู่กับการต่อสู้ทางการเมือง คานธีได้แนะนำอยู่เสมอว่า "การเอารัดเอาเปรียบนั้นเจริญงอกงามอยู่บนบาปของเรา จงละทิ้งบาปเสียแล้วการเอาเปรียบก็จะยุติลง แทนที่จะตำหนิชาวอังกฤษจงตำหนิตนเองและชำระตนเองให้บริสุทธิ์ อย่าได้เกลียดชังชาวอังกฤษแต่จงเกลียดชังระบบของชาวอังกฤษ" ยิ่งคานธีประสบความสำเร็จในการฝึกหัดทหาร "อหิงสา" ในการต่อสู้ต่างๆ ของท่านมากเพียงไร และยิ่งบุคคลเหล่านี้สามารถทนต่อความทุกข์ยากจากความรุนแรงของฝ่ายตรงข้าม ที่ต้องการหยุดยั้งการเคลื่อนไหวแบบ "อหิงสา" มากเพียงไร ประชาชนก็ยิ่งหลั่งไหลเข้าร่วมขบวนการและการต่อสู้ของท่านมากขึ้นเพียงนั้น บางครั้งคานธีเริ่มต้นรณรงค์ เช่น การไม่เชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาล (นั่นคือ การไม่ทำตามกฎหมายที่เลวบางอย่าง) จากกลุ่มชนเพียงหยิบมือเดียว เมื่อบุคคลเหล่านี้ถูกจับกุมหรือถูกทุบตีหรือถูกยิง คนจำนวนร้อยถูกปลุกให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและพากันหลั่งไหลเข้ามาแทนที่ จิตวิญญาณของการยอมทนทุกข์ที่ตั้งอยู่บนหลัก "อหิงสา" ได้ระบาดไปทั่ว คนนับจำนวนพันได้เข้ามาแทนที่คนจำนวนร้อยที่ถูกเข่นฆ่าประหัตประหารและพากัน หลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งประชาชนทั้งประเทศได้เข้าร่วมการต่อสู้อย่างเต็มตัว

คานธีไม่เคยมีเจตนาร้ายหรือไม่เคยทำให้ผู้อื่นต้องเสียเกียรติ "การเปลี่ยนจิตใจ" ของคู่ต่อสู้เป็นเป้าหมายของท่าน และเมื่อใดก็ตามที่ท่านได้เห็นสัญญาณบางอย่างของการเปลี่ยนจิตใจ ท่านก็จะยอมแม้กระทั่งเสี่ยงต่อการถูกหาว่าโง่เขลา หรือเสี่ยงต่อการถูกลวงโดยการเรียกร้องให้ยุติการต่อสู้ คานธีมีความเชื่อว่า ผู้ที่หลอกลวงในที่สุดแล้วกลับจะกลายเป็นผู้ที่ต้องรับผลของการหลอกลวงนั้น เอง ตามทรรศนะของคานธีแล้ว ความเข้มแข็งภายใน กล่าวคือ ศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในคุณความดีภายในของมนุษย์ และความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะยึดมั่นอยู่กับสัจจะและความรัก เป็นต้นกำเนิดอันแท้จริงของความเข้มแข็งในการต่อสู้ทางจริยธรรม ถ้าหากว่าอุดมคตินั้นบริสุทธิ์และตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัจจะและความรัก พลังและผู้ติดตามก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเอง และการเคลื่อนไหวที่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางสังคมหรือทางการเมืองก็จะเข้ม แข็งขึ้นด้วย
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11201. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo