ปัจจุบันมุสลิมในอุษาคเนย์กำลังแสวงหาทิศทางของตนเอง ระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี อิสลามซึ่งกลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ และตะวันตกที่เป็นต้นแบบของเทคโนโลยีและความทันสมัย ซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลต่อโลกทั้งมวล
เมื่อครั้งที่ "อาณาจักรมัชปาหิต" ซึ่งนับถือศาสนาฮินดูได้แผ่อิทธิพลในหมู่เกาะชวา
ทำให้อาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นอาณาจักรพุทธศาสนามหายานเสื่อมลง ชาวศรีวิชัยได้อพยพไปตั้งเมืองใหม่ที่
"มาลักกา" ในแหลมมลายู ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นเค้าของวัฒนธรรมมลายู ในศตวรรษที่
14 พ่อค้าอาหรับได้นำศาสนาอิสลามมาเผยแพร่ โดยเกลี้ยกล่อม "พระเจ้าองควิชัย"
แห่งมัชปาหิตไม่สำเร็จ แต่เกลี้ยกล่อมพระราชโอรสชื่อ "ระเด่นปาตา" ให้เข้ารีตอิสลามได้
ระเด่นปาตากระทำปิตุฆาต สถาปนาตนเองเป็นสุลต่านและเผยแพร่อิสลาม มัชปาหิตจึงกลายเป็นดินแดนอิสลามนับแต่นั้น
ต่อมาผู้ปกครองบรูไนก็ได้เข้ารีตนับถือและเผยแพร่อิสลาม ซึ่งก็เช่นเดียวกับ
"พระเจ้าปาร์ไบสุรา" แห่งมาลักกาที่เข้ารีตนับถือและเผยแพร่อิสลาม โดยเปลี่ยนสถานะเป็นสุลต่าน
(sultan) ผู้มีอำนาจทั้งทางฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร สุลต่านผู้เปรียบเหมือน
"สมมุติเทพ" เป็นผลรวมของวัฒนธรรมฮินดูในเอเชียอาคเนย์กับแนวคิดอิสลามจากตะวันออกกลาง
อิสลามในอินโดนีเซีย
ต้นศตวรรษที่ 20 ภายหลังจากการสู้รบกับอาณาจักรอิสลามแห่งอาเจะห์ (Aceh)
อย่างดุเดือดและยาวนานกว่า 40 ปี รัฐบาลอาณานิคม (Netherlands East Indies)
ของเนเธอร์แลนด์ซึ่งตั้งเมืองหลวงที่ปัตตาเวีย (Batavia) ได้เฝ้าติดตามผู้นำศาสนาอิสลามอย่างระมัดระวัง
โดยมีการแยกแยะระหว่างอิสลามที่เป็นศาสนากับอิสลามที่เป็นพลังทางการเมือง
มีการเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่สุเหร่า โรงเรียนอิสลาม และครูสอนศาสนา เพื่อมิให้ไปปลุกระดมประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ
ถ้ามีการปลุกระดมทางการเมืองก็จะถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาด
ซูการ์โน (Sukarno) ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้ประกาศหลัก "ปัญจศีล"
(pancasila) อันประกอบด้วย "ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว เอกภาพของประเทศ
มนุษยธรรม ประชาธิปไตย และสังคมที่เป็นธรรม" ให้เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง
ภายหลังสิ้นสุดระบอบเผด็จการซูฮาร์โต (Suharto) การเมืองอินโดนีเซียก็เข้าสู่ความสับสนวุ่นวาย
วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.2001 เมกาวตี ซูการ์โนบุตรี (Megawati Sukarnoputri)
บุตรสาวของซูการ์โน ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้นำที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกเริ่มมองเห็นว่า
อิสลามที่ฟื้นตัวขึ้นใหม่กำลังกลายเป็นภัยที่คุกคามอำนาจรัฐ
ในช่วงแห่งการปกครองของเมกาวตีนั้น กลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ (Jemaah Islamiah)
ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มอัลเคด้า (al Qae-da) ได้ลอบวางระเบิดสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองคูตา
(Kuta) บนเกาะบาหลี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.2002 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง
200 คน (เป็นชาวออสเตรเลีย 88 คน และชาวอังกฤษ 26 คน) นับเป็นการท้าทายนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ
และความร่วมมือกับตะวันตกในการต่อต้านการก่อการร้าย การโจมตีทำให้เกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อบาหลี
และต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
ศาสนาในมาเลเซีย
มาเลเซียมีชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมหลากหลายกว่า 60 ชาติพันธุ์ แต่เส้นแบ่งที่สำคัญที่สุดก็คือพลเมืองที่เป็น
"ภูมิบุตร" (Bumiputera) ประกอบด้วยเชื้อสายมาเลย์ (ร้อยละ 64) มีวัฒนธรรมพื้นเมืองของแหลมมลายูและบอร์เนียวในเขตมาเลเซีย
กับพลเมืองที่ "มิใช่ภูมิบุตร" (non-Bumiputera) ส่วนใหญ่แล้วก็คือเชื้อสายจีน
(ร้อยละ 27) และอินเดีย (ร้อยละ 8) ซึ่งมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง แม้ว่าทั้งชาวจีนและอินเดียจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มาเลเซียมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ตาม
ในปี ค.ศ.1969 ชาวมาเลย์ได้ก่อเหตุจลาจลบุกทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีนในกัวลาลัมเปอร์
การจลาจลดำเนินอยู่ 4 วัน มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และทรัพย์สินถูกทำลายเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน วิกฤตการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ
อำนาจต่อรองของชาวจีนและชาวอินเดียในมาเลเซียได้ลดลงอย่างมาก รัฐบาลมาเลเซียดำเนินนโยบายสร้างรัฐมาเลย์อย่างเปิดเผย
ผลประโยชน์ของชาวมาเลย์กลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และ "อุมโน" (UMNO) กลายเป็นพรรคการเมืองที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในมาเลเซีย
ภายใต้การนำของมหาธีร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) นายกรัฐมนตรีคนที่สี่
โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามถูกเพิกถอนเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อให้นักเรียนจำนวนกว่า
126,000 คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามปกติของรัฐ โรงเรียนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นแหล่ง
"ล้างสมอง" (ตามคำพูดของมหาธีร์เอง) ที่บิดเบือนคำสอนทางศาสนาเพื่อผลทางการเมือง
ทำให้เด็กมุสลิมกลายเป็นคนนิยมความรุนแรง นอกจากนี้ มหาธีร์ยังพยายามแยกศาสนาออกจากหลักสูตรของโรงเรียน
โดยให้ไปเรียนในวันหยุดและจะต้องไม่มีเนื้อหาทางการเมืองเข้าไปปะปนอยู่ด้วย
นับเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะควบคุมการสอนศาสนาอิสลามในมาเลเซีย
วัฒนธรรมศาสนาของชาวมาเลย์ที่เคยสงบมาช้านาน ได้ถูกขบวนการ ดักวาห์ (dakwah)
ปลุกระดมเพื่อให้มาเลเซียเป็นรัฐอิสลาม รัฐบาลมาเลเซียต้องออกกฎหมายควบคุมองค์กรทางศาสนาและคำสอนขององค์กรเหล่านี้
และปรามบุคคลที่ต้องการสร้างความแตกแยกทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพาส
(Pas) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เน้นนโยบายสร้างรัฐอิสลาม ภายหลังเหตุการณ์
11 กันยายนในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลมหาธีร์ได้ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน
(Internal Security Act) เพื่อควบคุมตัวมุสลิมหัวรุนแรงที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุกาณ์ดังกล่าว
ทำให้รัฐบาลตะวันตกลดการวิพากษ์วิจารณ์มหาธีร์ลง
อิสลามในบรูไน
บรูไนได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาจากอินเดียในสหัสวรรษแรก และได้ส่งเครื่องราชบรรณาการแก่พระจักรพรรดิจีน
ต่อมาบรูไนอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) ศตวรรษที่ 15 ผู้ปกครองบรูไนทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งมาลักกา
จึงได้เข้ารีตนับถืออิสลาม ทำให้เกิดการแพร่ขยายศาสนาอิสลามไปตามหมู่เกาะต่างๆ
จนกระทั่งถึงภาคใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับศาสนาคริสต์คาทอลิก
ซึ่งสเปนได้นำเข้ามาเผยแพร่ภายหลังจากที่ได้ครอบครองเกาะลูซอน ทางภาคกลางของฟิลิปปินส์
บรูไนเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่ถูกญี่ปุ่นยึดครองในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามบรูไนก็กลับเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง
โดยสุลต่านปกครองภายใต้ที่ปรึกษาชาวอังกฤษและกองทหารกุรข่า (Gurkha) บรูไนได้รับเอกราชในวันที่
1 มกราคม ค.ศ.1984 นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา มีความพยายามที่จะสร้างชาติและวัฒนธรรมภายใต้คำขวัญที่ว่า
"มาเลย์-อิสลาม-กษัตริย์" (Malayu-Islam-Beraja) แต่ปัญหามีอยู่ว่าชนชั้นกลางซึ่งนับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น
จะยอมรับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปอีกสักเท่าใด ในเมื่อสถานะทางการศึกษาและการเงินของชนชั้นกลางเหล่านี้มีสูงขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง
บทสรุป
ดินแดนหมู่เกาะในอุษาคเนย์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยมีศาสนาฮินดูตั้งมั่นที่เกาะบาหลี
แต่อิสลามในอุษาคเนย์มีความหลากหลายสูง ทั้งระบบความเชื่อและการปฏิบัติ นับตั้งแต่ชาวอาเจะห์ที่เคร่งครัดและแสดงออกถึงความเป็นมุสลิมอย่างเปิดเผย
จนถึงประชาชนในชวาภาคกลางและภาคตะวันออกที่นับถืออิสลาม โดยผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและศาสนาที่มีมาแต่เดิม
แต่ด้วยแนวคิดสุดโต่งแห่ง "ลัทธิหวนคืนสู่สังคมเก่า" (Fundamentalism) จากตะวันออกกลางซึ่งต่อต้าน
"ความทันสมัย" (Modernity) แบบตะวันตก ทำให้มีการนำศาสนาอิสลามมาเป็นเครื่องมือในการตีความให้เข้ากับเงื่อนไขท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตน
ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งขึ้นในอุษาคเนย์ รวมทั้งหมู่เกาะมินดาเนาในฟิลิปปินส์
และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ปัจจุบันมุสลิมในอุษาคเนย์กำลังแสวงหาทิศทางของตนเอง
ระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี อิสลามซึ่งกลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ
และตะวันตกที่เป็นต้นแบบของเทคโนโลยีและความทันสมัย ซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลต่อโลกทั้งมวล
***
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.
2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ ** คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.
เปิดให้บริการเว็บไซต์นับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2547