สันติภาพมินดาเนาบทเรียนปัญหาชายแดนใต้ (ตอนที่ 1)

ความก้าวหน้าในอนาคตของการยุติปัญหาการก่อการร้ายในมินดาเนา ขึ้นอยู่กับว่ามุสลิมในภาคใต้ของเกาะจะมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์แค่ไหน นอกเหนือจากการแก้ปัญหาความยากจน การปกครองท้องถิ่นที่ไม่เป็นธรรม การยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และประเพณีความเชื่อแล้ว นโยบายการศึกษาที่เป็น "เบ้าหลอม" (Melting Pot) เช่น ภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ เป็นต้น จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ หากปัจจัยต่างๆ ทางสังคมกำหนดเงื่อนไขให้มุสลิมมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมฟิลิปปินส์แล้ว ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขในที่สุด
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาโรโย ได้กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ณ ควิริโน แกรนสแตนด์ ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2547 มีความตอนหนึ่งว่า "ในไม่ช้า สันติภาพก็จะกลับคืนสู่เกาะมินดาเนา กบฏทั้งหมดจะวางอาวุธลงและหันมาจับจอบและคันไถแทน พวกเขาทั้งหมดจะกลมกลืนเข้ากับสังคมเป็นหนึ่งเดียวกัน จนกระทั่งว่าเรื่องราวการต่อสู้ทั้งหลายในอดีตนั้นจะกลายเป็นเพียงตำนานเท่านั้น"

ภายหลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในกลางทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลของประธานาธิบดีคอราซอน อะคีโน ได้ดำเนินนโยบายทางการเมืองที่ไม่เอาผิดกับผู้ก่อการร้ายที่กลับใจ พร้อมไปกับปฏิบัติการทางทหารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ "กองทัพประชาชนใหม่" (NPA หรือ New People"s Army) สิ้นสุดลง นโยบายดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับขบวนการ "แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร" (MILF หรือ Moro Islamic Liberation Front) อย่างได้ผล แม้ว่าจะเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า "อาบู ไซยัฟ"(Abu Sayyaf) ขึ้นที่เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ก็ตาม

รัฐบาลปัจจุบันของประธานาธิบดีกลอเรีย อาโรโย ได้ดำเนินนโยบายสืบต่อจากนโยบายของนางคอราซอน อะคีโน อย่างต่อเนื่อง ในการประชุมยูเนสโก(UNESCO) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ว่าด้วยเรื่อง "ศาสนาในสันติภาพและความขัดแย้ง: ปฏิกิริยาต่อลัทธิหวนคืนสู่สังคมเก่าและการใช้ความรุนแรง" (Religion in Peace and Conflict: Responding to Fundamentalism and Militancy) ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน พ.ศ.2548 ที่ผ่านมา นางเทเรสิต้า ควินทอส เดเลส (Teresita Quintos-Deles) ที่ปรึกษาด้านกระบวนการสันติภาพของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้นำเสนอแผนและนโยบายสันติภาพที่น่าสนใจ ในการต่อสู้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เกาะมินดาเนาดังนี้

คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ (National Unification Commission) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2535 ได้กล่าวถึงสาเหตุหลัก 5 ประการของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธคือ

1.ความยากจนข้นแค้นและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

2.การปกครองที่ไร้คุณภาพ

3.ความล่าช้าหรือล้มเหลวของระบบยุติธรรม การใช้อำนาจในทางที่ผิด การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการฉ้อราษฎร์บังหลวง

4.โครงสร้างที่ไม่เสมอภาคของระบบการเมือง

5.ความแปลกแยกของชุมชนวัฒนธรรมท้องถิ่น

คำสั่งคณะผู้บริหารที่ 125 พ.ศ.2536 แก้ไขปรับปรุงเป็น คำสั่งคณะผู้บริหารที่ 3 พ.ศ.2544 มีเนื้อหาดังนี้

หลักการพื้นฐานแห่งกระบวนการสันติภาพ

1.กระบวนการสันติภาพที่ครอบคลุม ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของชุมชนอันสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึก คุณค่า และหลักการ ซึ่งมีความสำคัญต่อชาวฟิลิปปินส์ทั้งมวล ดังนั้น กระบวนการสันติภาพดังกล่าวจะต้องไม่ถูกจำกัดความโดยรัฐบาลเพียงลำพัง หรือโดยกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้กันอยู่เท่านั้น แต่จะต้องถูกจำกัดความโดยชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมดในฐานะชุมชนหนึ่ง

2.กระบวนการสันติภาพที่ครอบคลุม มุ่งหมายที่จะผลักดันให้เกิดองค์ประกอบทางสังคมอย่างใหม่ เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรม เสมอภาค หลากหลาย และมีความเป็นมนุษย์ กระบวนการสันติภาพดังกล่าวมุ่งสร้างสังคมที่มีความหลากหลายทางการเมืองอย่างแท้จริง ณ ที่ซึ่งปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลมีอิสระที่จะเข้าร่วมรณรงค์อย่างสันติ เพื่อผลักดันโครงการทางการเมืองของตน โดยปราศจากความกลัว ด้วยการใช้สิทธิและเสรีภาพซึ่งได้รับการรับรองโดยบทบัญญัติในเรื่องสิทธิ ณ ที่ซึ่งประชาชนสามารถจะแข่งขันเพื่ออำนาจทางการเมือง โดยผ่านระบบการเลือกตั้งที่ยุติธรรม อิสระ และซื่อตรง

3.กระบวนการสันติภาพที่ครอบคลุม มุ่งแสวงหาทางออกที่เป็นไปตามหลักการและโดยสันติ ในการแก้ปัญหาภายในจากการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ โดยการไม่ตำหนิติเตียนหรือการให้ยอมจำนน แต่โดยเคารพในศักดิ์ศรีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

หนทาง 6 ประการสู่สันติภาพ

1.มุ่งเน้นการปฏิรูปทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เพื่อแก้ปัญหารากเหง้าของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธและความปั่นป่วนทางสังคม

2.สร้างความเห็นร่วมกันและสร้างสันติภาพให้เข้มแข็ง ด้วยการปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชน

3.เจรจาข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ และการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงสันติภาพอย่างเต็มประสิทธิภาพ

4.ทำโครงการเพื่อความร่วมใจ การกลับคืนสู่สังคม และการฟื้นฟูสถานะของผู้กลับใจกับชุมชนของตน

5.ให้ความใส่ใจต่อผลกระทบที่เกิดจากการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ เช่น การปกป้องคุ้มครองประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบ และลดผลกระทบของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่มีต่อชุมชน

6.สร้างและธำรงไว้ซึ่งบรรยากาศอันจะนำไปสู่สันติภาพ โดยผ่านการศึกษาเพื่อสันติภาพ และสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่าย

หลักการแห่งกระบวนการสันติภาพมินดาเนา พ.ศ.2544

1.วิสัยทัศน์สูงสุดสำหรับมินดาเนาคือการบรรลุสันติภาพและการพัฒนา

2.กรอบสำหรับสันติภาพและการพัฒนาของเรา จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ความเป็นเอกราชของชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดน

3.สังคมมินดาเนาเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และจะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน อีกทั้งจะโอบอุ้มประเพณีของแต่ละชาติพันธุ์เข้าไว้เป็นสถาบัน

4.การก่อการร้ายไม่ว่ารูปแบบใดจะต้องถูกตำหนิ ผู้กระทำความผิดในการก่อเหตุร้ายจะถูกจับกุม และจะถูกดำเนินคดีไปตามกระบวนการยุติธรรม

ความก้าวหน้าในอนาคตของการยุติปัญหาการก่อการร้ายในมินดาเนา ขึ้นอยู่กับว่ามุสลิมในภาคใต้ของเกาะจะมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์แค่ไหน นอกเหนือจากการแก้ปัญหาความยากจน การปกครองท้องถิ่นที่ไม่เป็นธรรม การยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และประเพณีความเชื่อแล้ว นโยบายการศึกษาที่เป็น "เบ้าหลอม" (Melting Pot) เช่น ภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ เป็นต้น จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ หากปัจจัยต่างๆ ทางสังคมกำหนดเงื่อนไขให้มุสลิมมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมฟิลิปปินส์แล้ว ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขในที่สุด.
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9948. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo