สันติภาพมินดาเนาบทเรียนปัญหาชายแดนใต้ (ตอนที่ 2)

เรามุ่งมั่นที่จะสร้างโลกที่ยุติธรรมกว่านี้ ณ ที่ซึ่งทุกคนมีศักดิ์ศรี ความเสมอภาค และเสรีภาพ เราจะส่งเสริมการเติบโตของบุคคลอย่างเป็นองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ศรัทธาความเชื่อที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติกับวัฒนธรรมหลักของสังคม เราจะเปิดโอกาสให้บุคคลที่สนใจและเหมาะสมได้เป็นอาสาสมัครเพื่อประสบการณ์อันทรงคุณค่าในการทำงานร่วมกับชุมชน และเราจะส่งเสริมบุคคลในกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นางเทเรสิต้า ควินทอส-เดเลส (Teresita Quintos-Deles) ที่ปรึกษาด้านสันติภาพของประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย แห่งฟิลิปปินส์ ได้นำเสนอนโยบายและรูปธรรมของแผนสันติภาพ ในการต่อสู้กับขบวนการ "แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร" (MILF หรือ Moro Islamic Liberation Front) และขบวนการแบ่งแยกดินแดน "อาบู ไซยัฟ" (Abu Sayyaf) ที่เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ในการประชุมยูเนสโก้ (UNESCO) ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน พ.ศ.2548 ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

สถานการณ์การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ: ภารกิจ 2 ชุด

1.การจัดตั้งสันติภาพกับการรักษาสันติภาพ เพื่อที่จะยุติการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในรูปของการก่อการร้ายในทุกรูปแบบอย่างถาวร และเพื่อที่จะลดระดับของความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้ง

2.การสร้างสันติภาพกับการป้องกันความขัดแย้ง เพื่อที่จะแก้ไขสาเหตุหลักของการก่อการร้าย ขจัดมูลเหตุของความทุกข์ยาก ฟื้นฟูสภาพและพัฒนาพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และรักษาเยียวยาบาดแผลทางสังคมที่เกิดจากการต่อสู้ภายในด้วยกำลังอาวุธ

ปัจจัยหลัก 7 ประการ: เป้าหมายและก้าวแห่งความสำเร็จ

การจัดตั้งสันติภาพกับการรักษาสันติภาพ
1. ดำเนินการเจรจาสันติภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุข้อตกลงสันติภาพสุดท้ายกับกลุ่มกบฏหลักทุกกลุ่ม
ปัจจัยของ "การเจรจาสันติภาพ"
1.1 มาตรการสร้าง
1.2 ความเชื่อมั่น (CBMs หรือ Confidence-building measures)
1.3 กลไก
1.4 การหยุดยิง
1.5 การเจรจาอย่าง
1.6 เต็มพิกัด
โครงการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหารากเหง้าของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ
ข้อตกลงทางการเมือง
การยุติการประทุษร้าย และการจัดวางกำลัง

2. ใช้มาตรการเพื่อลดระดับของความรุนแรง ที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ
โซนสันติภาพ/ สถานที่ปลอดภัย/ พื้นที่ เพื่อสันติภาพ
การรณรงค์โดยพลเมือง เพื่อนำไปสู่ "การหยุดยิง"
ใช้ประเพณี/ กลไกท้องถิ่น เพื่อยุติข้อขัดแย้ง
ทำให้ "การเจรจาสันติภาพ" เป็นเรื่องท้องถิ่น ภายใต้การนำของประชาสังคม

3. ดำเนินการเพื่อให้ ข้อตกลงสันติภาพสุดท้าย มีผลบังคับใช้
ให้ความช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่/ การพัฒนาแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก

4. ผลักดันโครงการคืนสู่สังคม การฟื้นฟูสถานะ และการอภัยโทษ เพื่อให้ผู้กลับใจได้กลับคืนสู่สังคมกระแสหลัก
รวมโครงการระดับชาติทั้งหมดสำหรับผู้ก่อความไม่สงบที่กลับใจ ให้เป็นองค์การเดียว
ให้ความเอาใจใส่ในการส่งมอบเครื่องยังชีพแก่ผู้ก่อความไม่สงบที่กลับใจ
การมอบ "เกียรติบัตรแห่งการคืนสู่สังคม" แก่ผู้กลับใจ
การสร้างสันติภาพกับการป้องกันความขัดแย้ง

5. การฟื้นฟูสภาพและการพัฒนาพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง

5.1 เน้นบริการทางสังคมที่สำคัญ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัย โรงเรียน น้ำดื่ม ไฟฟ้า ศูนย์สันทนาการ ถนน ปัจจัยยังชีพ บริการทางการเงินรายย่อย และการครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นต้น

5.2 ตั้งเป้าหมายในพื้นที่เร่งด่วนที่ควรได้รับก่อน

5.3 เปิดช่องทางเพื่อให้ได้รับทุนจากแหล่งทุนต่างๆ เช่น ทุนจากองค์การสหประชาชาติ ทุนจากสหภาพยุโรปเพื่อผู้พลัดถิ่น เป็นต้น

6. เร่งโครงการพัฒนาชาวมินดาเนาที่เป็นมุสลิม และปฏิบัติการเชิงสร้างสรรค์เพื่อชาวมุสลิม
6.1 เร่งโครงการพัฒนาเพื่อชาวมินดาเนาที่เป็นมุสลิม
ปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระของการคลังท้องถิ่น
เชื่อมโยงชาวมินดาเนาที่เป็นมุสลิม กับการเลือกตั้งระดับเมืองและจังหวัด
ปรับปรุงแผนเพื่อสุขภาพและการศึกษา
ปรับปรุงระบบการถือครองที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง
ส่งเสริมโครงการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในบางพื้นที่

6.2 ปฏิบัติการเชิงสร้างสรรค์เพื่อชาวมุสลิม
แบ่งสัดส่วนการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการให้เหมาะสม
การไม่เลือกปฏิบัติในปฏิบัติการตำรวจ/ทหาร ในการต่อต้านการก่อการร้าย
ความเสมอภาคในการเข้าเรียนและการจ้างงาน

7. การสนทนาระหว่างเชื้อชาติ/ศาสนา โดยอาศัยฐานจากชุมชน เพื่อการเยียวยารักษาและความปรองดอง
การมีส่วนร่วมในชุมชนขององค์กรภาคเอกชน ผู้นำศาสนา กลุ่มที่หลากหลายทางชาติพันธุ์และความเชื่อ

โครงการนำร่องที่เป็นประโยชน์ในพื้นที่เป้าหมาย

นโยบายและแผนสันติภาพที่นางเทเรสิต้า ควินทอส-เดเลส นำเสนอนี้ ปรากฏอยู่ในเอกสารที่เรียกว่า "มาตรการหมายเลข 9: เป้าหมายที่ยุติธรรมสำหรับกระบวนการสันติภาพ" โดยมีปรัชญาที่สอดคล้องกับโครงการอาสาสมัครเอ็ดมันด์ ไรซ์ (Edmund Rice Volunteer Scheme) ซึ่งในเนื้อหาระบุว่า "เรามุ่งมั่นที่จะสร้างโลกที่ยุติธรรมกว่านี้ ณ ที่ซึ่งทุกคนมีศักดิ์ศรี ความเสมอภาค และเสรีภาพ เราจะส่งเสริมการเติบโตของบุคคลอย่างเป็นองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ศรัทธาความเชื่อที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติกับวัฒนธรรมหลักของสังคม เราจะเปิดโอกาสให้บุคคลที่สนใจและเหมาะสมได้เป็นอาสาสมัครเพื่อประสบการณ์อันทรงคุณค่าในการทำงานร่วมกับชุมชน และเราจะส่งเสริมบุคคลในกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์"

เช่นเดียวกับในประเทศฟิลิปปินส์ ความก้าวหน้าในอนาคตของการยุติปัญหาการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับว่ามุสลิมในภาคใต้จะมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน นอกเหนือจากการแก้ปัญหาความยากจน การปกครองท้องถิ่นที่ไม่เป็นธรรม การยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และประเพณีความเชื่อแล้ว นโยบายการศึกษาที่เป็น "เบ้าหลอม" (Melting Pot) เช่น ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย สิทธิกับหน้าที่พลเมือง และวัฒนธรรมไทย เป็นต้น จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ หากปัจจัยต่างๆ ทางสังคมกำหนดเงื่อนไขให้มุสลิมมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยแล้ว ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขในที่สุด.
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9955. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6. 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo